วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์
บุญกิจ สุทธิญาณานนท์ : ถ่ายภาพ

tpbd interview

ต้นปีที่ผ่านมา หลายคนคงเริ่มได้ยินคำใหม่ๆ ในวงการสื่อสารมวลชนที่เรียกกันว่า ทีวีสาธารณะ ทีวีสาธารณะได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทยแล้วในช่อง TPBS หรือ ไทย พี บี เอส (Thai Public Broadcasting Service) ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๑ และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๑ เป็นต้นไป ซึ่งมีผลให้กรมประชาสัมพันธ์ต้องโอนกิจการสถานีโทรทัศน์ TITV ไปอยู่ในการกำกับดูแลขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยโดยทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ๕ คน เป็นผู้บริหารองค์การฯ โดยมีนายขวัญสรวง อติโพธิ เป็นประธานกรรมการ

UNESCO ได้กล่าวถึงบทบาทและความจำเป็นของสื่อสาธารณะซึ่งรวมถึงทีวีสาธารณะเอาไว้ว่า

“สื่อสาธารณะมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างโอกาสเข้าถึงสและสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่สาธารณะของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาสสื่อสาธารณะเป็นเครื่องมือในการให้การศึกษาและวัฒนธรรมสพัฒนาความรู้สและเป็นเวทีสร้างปฏิสัมพันธ์ในหมู่พลเมือง ด้วยเหตุที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทสและมีระดับการศึกษาต่ำสที่ผ่านมาสื่อวิทยุและโทรทัศน์จึงเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากที่สุด”

หลักการสำคัญอีกประการของทีวีสาธารณะคือสมุ่งเน้นการก่อเกิดประโยชน์สาธารณะสโดยไม่อยู่ใต้อาณัติของอิทธิพลทั้งด้านการเมืองและธุรกิจสตลอดจนปลอดพ้นจากอำนาจรัฐ แต่เมื่อเกิดทีวีสาธารณะหรือช่อง TPBS ขึ้นเป็นครั้งแรก ดูเหมือนจะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรว่า รายการ ของทีวีช่องนี้คงไม่ต่างจากสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ กล่าวคือรูปแบบรายการเชยจนไม่มีคนดู บางคนก็วิจารณ์ว่าจะกลายเป็นทีวีของพวกเอ็นจีโอหรือไม่ก็มีแต่มือสมัครเล่นไปทำรายการ

หากลองเปรียบเทียบกับทีวีสาธารณะในประเทศอื่น อาทิ BBC ของอังกฤษ หรือ NHK ของญี่ปุ่น จะพบว่าทีวีสาธารณะเหล่านี้เป็นช่องที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ ในประเทศ และรายการไม่ได้เชย แต่ทันสมัย มีเนื้อหาชวนติดตาม ที่สำคัญคือทีวีสาธารณะเหล่านี้มีจุดยืนและหลักการอันแตกต่างจากทีวีเชิงพาณิชย์ทั่วไปอย่างแน่นอน

นักวิชาการด้านสื่อท่านหนึ่งได้พูดถึง BBC ที่มีประวัติอันยาวนานและประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งไว้ว่า

“ทุกวันนี้บีบีซีมิใช่เป็นแค่สถานีข่าว แต่เป็นสถาบันทางวัฒนธรรม เป็นแหล่งเพาะนักเขียนศิลปินรุ่นใหม่ เป็นห้องเรียนทางอากาศ เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บสมบัติของชาติ เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนเวลาเกิดวิกฤตคับขัน เมื่อเกิดภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของสาธารณะ เป็นเวทีกลางของการถกเถียงโต้แย้งทางความคิดที่หลากหลาย ป้อนข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงสมดุลให้แก่ประชาชน เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าทางปัญญา-วัฒนธรรม กระตุ้นให้ตื่นตัวต่อสภาวะแวดล้อม และบทบาทล่าสุด เป็นหัวรถจักรฉุดลากสังคมอังกฤษให้เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังปฏิวัติระบบการสื่อสารไปทั่วโลกขณะนี้”

ท่ามกลางข้อกังขาต่างๆ นานาต่อทีวีสาธารณะเมืองไทย คุณเทพชัย หย่อง รักษาการผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย มาตอบคำถามว่าทีวีสาธารณะในบ้านเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต

เส้นทางชีวิตก่อนถึงวันเข้ารับตำแหน่งรักษาการ ผอ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยเป็นมาอย่างไรครับ

ผมเป็นคนหาดใหญ่ น้องชายแท้ๆ ของ สุทธิชัย หยุ่น อายุห่างกัน ๑๐ ปี ตอนที่พ่อแม่ไปแจ้งอำเภอ เขียนนามสกุลเขาอ่านกันไม่ออก จึงกลายเป็นหย่อง ชื่อนี้เลยติดตัวมาตลอดจนถึงจุดหนึ่งก็ช่างมันเถอะ บ้านผมเป็นจีนกวางตุ้ง แซ่หยุ่นกันหมด มีผมนี่แหละหย่อง ครั้งหนึ่งก่อนผมไปทำงานเนชั่น ผมไปสมัครงานที่บางกอกโพสต์ประมาณปี ๒๕๑๘ ตอนนั้นจบอัสสัมชัญพาณิชยการ สมัครเป็นพนักงานพิสูจน์อักษร สอบได้คะแนน ๙๙ เต็ม ๑๐๐ เขาจะรับเข้าทำงานแล้ว แต่ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นผู้บริหารที่เป็นฝรั่งกลับมาบอกว่า ผมขอโทษ ผมรับคุณเข้าทำงานที่นี่ไม่ได้หรอก เพราะเพิ่งทราบว่าคุณเป็นน้องชาย สุทธิชัย หยุ่น ตอนนั้นสุทธิชัยยกพวกออกจากบางกอกโพสต์ไปทำเนชั่น เป็นคู่แข่งกัน แล้วเขาจะรับน้องชายคู่แข่งได้ไง ผมเสียใจมากเพราะเป็นคนที่สนใจภาษาอังกฤษ ถ้าไปสมัครเนชั่น สุทธิชัยก็ไม่รับผมอยู่ดี โชคดีที่มีจังหวะตอนเขาไปเมืองนอก ๒ สัปดาห์ แล้วทางเนชั่นขาดคนพิสูจน์อักษร ช่วงนั้นคนไทยที่ภาษาอังกฤษดีๆ หายาก ผมไปสมัครเลย คนที่เนชั่นก็ไม่รู้ว่าเราเป็นใคร เขาว่าพรุ่งนี้มาทำงานได้เลยนะ ผมก็ไปทำ พอสุทธิชัยกลับมาถามว่ามาทำอะไรที่นี่ ผมว่ามาทำงานแล้ว ไล่ออกไม่ได้ละ ก็อยู่มาตลอด เป็นนักข่าวบ้าง สายการเมือง สายอาเซียน ทำงานมาเรื่อยจนเนชั่นมาถือหุ้นที่ไอทีวี และผมได้กลายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวคนแรก ราวปี ๒๕๔๓ ก็เกิดกรณีชินคอร์ปเข้าเทกโอเวอร์ ไอทีวี ผมประท้วงเขาเลยไล่ผมออกกลับไปอยู่เนชั่น เป็นบรรณาธิการเครือซึ่งดูแลนโยบายสื่อทั้งหมดของเนชั่น ทำรายการวิทยุ เขียนคอลัมน์ จนได้รับการทาบทามมาที่นี่

เหตุผลที่รับตำแหน่งนี้คืออะไร

อันดับแรกผมไม่ได้คาดคิดนะ ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าคงจะไปสมัครตอนที่เขารับผู้อำนวยการถาวร ซึ่งอีกกี่เดือนก็ไม่รู้ คิดแค่นั้น ไม่คิดใกล้ขนาดนี้ จนเมื่อราวเดือนก่อนมีคนมาทาบทามให้มาเป็น ผอ. ชั่วคราวที่นี่ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นการทาบทามจริงจังแค่ไหน ผมไม่รู้ว่ามีแคนดิเดตกี่คน ผมบอกโดยหลักการว่าสนใจ แต่ยังตอบไม่ได้จนกว่ามันจะชัดเจนว่าโครงสร้างเป็นอย่างไร กรรมการมีใครบ้าง ตอนนั้นผมเดินทางไปทำเรื่องเลือกตั้งประธานาธิบดีที่อเมริกา คนที่เกี่ยวข้องโทร. ไปบอกว่าเป็นการทาบทามอย่างเป็นทางการแล้ว ผมยังไม่ตกลงเพราะมันปุบปับมาก จนเขาขอคำตอบวันที่ ๑๓ มกราคมเพราะต้องเอาเรื่องเข้า ครม. ผมเลยตัดสินใจตกลง แล้วก็แจ้งคุณสุทธิชัย หยุ่น กับฝ่ายบริหารเนชั่นว่าถูกทาบทามมาแบบนี้ ผมเห็นใจเนชั่นด้วยที่ต้องถูกมองว่ามีผลประโยชน์หรือเปล่า ผมเลยเสนอทางออกที่ดีที่สุดคือผมลาออก เกษียณไปเลยดีกว่า กลับไปเนชั่นไม่ได้แล้ว ขายหุ้นเนชั่นคนถามว่าคุ้มไหม มันคงวัดกันที่ค่าของเงินไม่ได้ เพียงแต่ถ้าเรามั่นใจว่าสิ่งที่เราทำเป็นเรื่องที่เราฝัน เรื่องอื่นก็เป็นเรื่องรองทั้งหมด ทุกวันนี้มาทำยังไม่รู้เลยนะเงินเดือนเท่าไร ยังไม่มีการคุยกันแม้แต่ครั้งเดียว ผมคิดว่าผมมาเพราะอยากจะมา อย่างอื่นว่ากันอีกที

ผมมาทำตรงนี้เพราะอยากให้เมืองไทยมีสถานีโทรทัศน์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนจริงๆ ผมเชื่อพลังข้อมูลข่าวสารว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แรงเสียดทานมากเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ เรามารับตำแหน่งนี้คนก็อาจจะมีข้อกังขา ก็ไม่ว่ากัน เราเป็นสื่อตรวจสอบเขามาเยอะ ถูกตรวจสอบบ้างก็ต้องยอมรับตรงนี้ แต่ที่หนักใจคือเรื่องของเวลาที่กระชั้นมาก ต้องออกอากาศเร็ว ถ้ามีเวลาสัก ๖ เดือนในการเตรียมการ วางแผน เชิญคนที่เกี่ยวข้องมาทำรายการ ทดลองแล้วสรุปกัน ผมคิดว่าจะสมบูรณ์มาก ครั้นจะฉายสารคดีตลอด ๖ เดือนก็ทำไม่ได้ ประชาชนด่าตายว่าเอาทีวีมาทำอย่างนี้ได้ยังไง จึงต้องเร่งออกอากาศ แต่เราจะทำให้ดีที่สุดในกรอบที่มี เบื้องต้นต้องยอมรับว่าเราถูกกำหนดด้วยกรอบเวลา ความสับสนในการเปลี่ยนถ่ายทำให้การเตรียมพร้อม ระยะต้นมีเวลาน้อยมาก มาถึงตอนนี้แค่ ๒ สัปดาห์ เราเริ่มจากศูนย์นะ เวลาที่มีจำกัดไปในเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน เพิ่งมองไปข้างหน้าได้ไม่กี่วัน

ทำไมการเปลี่ยนผ่านจากทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะหรือ TPBS ต้องฉุกละหุกจนเกิดกรณีจอมืดขึ้นมา

ถ้ามองย้อนกลับไปมันก็ไม่ได้ฉุกละหุกเหมือนที่เห็นหรอก ย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของไอทีวีที่ต่อมากลายเป็นทีไอทีวี ก็มีสัญญาณมาตลอดว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทุกคนก็รู้ว่าสถานภาพของทีไอทีวีมันนับถอยหลังเพราะถูกรัฐบาลโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเอาคลื่นคืนไป เนื่องจากผิดเงื่อนไขของการบริหารตามสัญญาสัมปทาน อันเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบทีไอทีวีชัดเจน แล้วต่อมารัฐบาลได้ออกกฎหมายโดยผ่านความเห็นชอบของ สนช. ที่เรียกว่า พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้จัดตั้งองค์กรนี้ขึ้น อันถือเป็นองค์กรมหาชนตามกฎหมายพิเศษ ไม่ใช่หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และ พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดให้มีทีวีสาธารณะชื่อว่า TPBS โดยใช้คลื่นระบบยูเอชเอฟที่ยึดคืนมาจากทีไอทีวี ก็ชัดเจนว่าวันเวลาของทีไอทีวีนั้นจบไปแล้ว เพียงแต่รอวันเวลาที่ทีวีสาธารณะจะเกิดขึ้น เราก็รู้ล่วงหน้าเป็นเดือนแล้วว่ากฎหมายนี้ผ่านเข้าไปในสภาแล้ว รู้ว่ายังไงวันหนึ่งทีวีสาธารณะต้องเกิด เพียงแต่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นวันไหน ต้องรอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยเสียก่อน และทันทีที่ทรงลงพระปรมาภิไธยกฎหมายจะมีผล ๑ วันหลังจากนั้น พอทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ ๑๓ มกราคม ดังนั้นหลังเที่ยงคืนของวันที่ ๑๔ มกราคมต้องแปลงสภาพทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะแล้ว ผมคิดว่ามันฉุกละหุกในแง่ของการเตรียมการรองรับความเปลี่ยนแปลงมากกว่า แต่มันไม่ได้ฉุกละหุกในแง่ของหลักการที่จะเป็นทีวีสาธารณะ

ปรัชญาของทีวีสาธารณะคืออะไร

หากกล่าวโดยสรุป ปรัชญาของทีวีสาธารณะชัดเจนว่าต้องเป็นทีวีที่ตอบสนองความต้องการของคนทุกกลุ่มให้มากที่สุด ต่างจากทีวีในปัจจุบันที่เน้นกำไรเป็นหลัก โฆษณามาก่อน รายการไหนคนดูมาก ชาวบ้านชอบ ก็จะได้รายได้มาก ไม่คิดว่าตอบสนองความต้องการของคนดูมากแค่ไหน แต่ทีวีสาธารณะคิดว่าจะทำอย่างไรจึงเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายที่สุด หมายความว่าต้องมีรายการที่คนทุกระดับสนใจ ตอบสนองความอยากรู้ของสังคมได้ และการนำเสนอข่าวสารจะต้องมีความเป็นอิสระ เป็นเวทีกลางในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือกลุ่มอิทธิพลใดๆ นี่คือภารกิจท้าทายเพราะไม่ง่ายที่จะทำ