โครงสร้างของกรรมการเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิงจากรัฐบาล

กรรมการนโยบายบริหารทีวีสาธารณะจะมาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งตามกฎหมายคณะกรรมการสรรหาจะมาจากตัวแทนองค์กรทางสังคมและตัวแทนของรัฐ อาทิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ องค์กรนักข่าว กลุ่มสิทธิเด็ก องค์กรผู้บริโภค สภาคนพิการ สมาพันธ์สมาคมวิทยุโทรทัศน์ และตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม คนเหล่านี้จะเป็นคนเลือกกรรมการนโยบาย เสนอให้รัฐบาลแต่งตั้ง จึงมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าเราจะได้คนที่เป็นกลาง มีคุณสมบัติเหมาะสมกับภารกิจ ส่วนงบประมาณมาจาก ๑.๕ % ของภาษีที่กรมสรรพสามิตเก็บจากภาษีบุหรี่และเหล้า เป็นเงินประมาณ ๑,๗๐๐-๒,๐๐๐ ล้านบาท ที่เรียกว่าภาษีบาป นี่ก็เงินประชาชน ดังนั้นกรรมการที่มาบริหารดูแลต้องคำนึงถึงความโปร่งใสในการใช้เงิน ต้องอธิบายได้ว่าใช้อย่างไร เหตุผลคืออะไร

แต่คนทั่วไปก็ยังเชื่อว่า ทีวีสาธารณะคุณภาพคงไม่ต่างจากทีวีช่อง ๑๑ ของกรมประชาสัมพันธ์

หลายคนอาจมองภาพทีวีสาธารณะในแง่ลบมาตั้งแต่ต้น เพราะมันมีคำว่าสาธารณะอยู่ คนไทยรู้สึกกับคำว่าสาธารณะไม่ดีนัก นึกถึงสวนสาธารณะก็สกปรก ส้วมสาธารณะก็สกปรก รถเมล์หรืออะไรก็ตามแย่ไปหมด พวกนี้ทำให้รู้สึกว่าต้องห่วยเพราะรัฐบาลให้เงิน แต่ว่าทีวีสาธารณะผมคิดว่าจะแตกต่าง เพราะทีวีสาธารณะเป็นสิ่งที่คนต้องดูทุกวัน คุณภาพที่ออกมาต้องดี ไม่ใช่ว่าได้เงินจากรัฐบาลแน่ๆ ปีหนึ่ง ๑,๗๐๐-๒,๐๐๐ ล้านบาท ก็ไม่ต้องทำดีมาก มันไม่ได้ ถ้าห่วยก็โดนชาวบ้านด่า เพราะมันใช้ภาษีของราษฎรชัดๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นเงินจากภาษีบาป คือจากภาษีเหล้า-บุหรี่ มันก็คือภาษี รายการทีวีที่คนจะดูได้ด้วยความชื่นชอบ ชื่นชม ก็ต่อเมื่อมันมีคุณภาพ ดูสนุก มีสีสัน นี่คือหัวใจของรายการทีวีสาธารณะ หลายคนอาจจะมองในเชิงลบว่าเป็นทีวีเอ็นจีโอหรือเปล่า เป็นทีวีที่มีแต่สารคดีหรือเปล่า มีแต่คนมานั่งคุยกันหรือเปล่า ผมบอกว่าไม่ใช่ มันไม่เคยอยู่ในความคิดของผมหรือคนที่มาบริหารขณะนี้ เราคิดว่าจะทำยังไงให้ทีวีช่องนี้เป็นทีวีช่องที่ดีที่สุด

แต่ภาพของกรรมการชุดนี้ดูเหมือนจะไปสัมพันธ์กับเอ็นจีโอหลายกลุ่ม มีการคุยกับคนกลุ่มนี้ว่าจะทำรายการอะไรเข้ามา โดยคนเหล่านี้อาจมีความตั้งใจดี แต่ความสามารถเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

การที่พวกเราเดินสายไปขอคำปรึกษานั้นไม่ใช่แค่เอ็นจีโอนะ เราเดินสายไปคุยกับผู้ผลิตรายการเยาวชนและครอบครัว กลุ่มผลิตการ์ตูน วันพรุ่งนี้เราก็จะไปคุยกับกลุ่มผู้ผลิตละครที่อยู่ในสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ที่มีคุณจำนรรค์ ศิริตัน แห่งบริษัทเจเอสแอลเป็นนายกสมาพันธ์ฯ และยังจะคุยกับผู้ผลิตรายย่อยและคนกลุ่มอื่นๆ อีก มันต้องเป็นเวทีกว้างที่สุด ไม่ใช่แค่ไปคุยกับเอ็นจีโออย่างเดียว แน่นอนเขามีข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนมาก เราก็ไปฟังแนวความคิดของเขา สิ่งที่ทำให้สบายใจคือกลุ่มเอ็นจีโอที่เราไปคุยด้วยประกาศเลยว่าไม่ต้องการให้ทีวีช่องนี้มีภาพเป็นทีวีเอ็นจีโอตั้งแต่ต้น เขารู้ว่าถ้าเป็นภาพแบบนั้นเมื่อไรก็อยู่ไม่ได้ นี่เราเห็นตรงกัน เราเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่ม คนพิการ นักเรียน กลุ่มสหกรณ์ต่างๆ เราก็ไปคุย กลุ่มที่เราไปคุยด้วยไม่ใช่หมายความว่าเขาต้องเป็นคนสร้างรายการอย่างเดียว บางทีเราเอามาทำเองก็ได้ หรือเราเอาข้อมูลมาให้บริษัทผู้ผลิตที่มีความสามารถหรือถ้าเขาสามารถทำรายการที่มีสาระแล้วก็ดูสนุกด้วยก็ให้เขาได้ลองทำ ผมคิดว่าทีวีช่องนี้พยายามเปิดโอกาสให้กลุ่มคนหลากหลายมาใช้ได้ แต่บนเงื่อนไขว่าเป็นรายการที่ดูดีด้วย ไม่ใช่ว่าให้รายการให้เวลาไปแต่คุณผลิตอย่างไรก็ได้มาออกอากาศ แบบนั้นผิดวัตถุประสงค์ การเดินสายไปพูดคุยกับคนหลายกลุ่มนั้นเราได้ความเห็นที่หลากหลายมาก ทำให้เราชัดเจนกับทิศทางของมันมากขึ้น

นึกภาพทีวีสาธารณะจะมีหน้าตาอย่างไร

ผมคิดว่ามันเป็นของใหม่ในเมืองไทย อธิบายยังไงคนไทยก็ยังนึกภาพไม่ออกอยู่ดี ก็เหมือนกับตอนที่เราเริ่มทำไอทีวีใหม่ๆ เมื่อ ๑๑ ปีก่อน บอกว่าทีวีช่องนี้จะเป็นช่องของข่าวสาร และสาระ คนนึกไม่ออก คนก็นึกว่าจะเป็นเหมือนช่อง ๑๑ ไหม ผมบอกได้ตอนนี้ว่าไม่เหมือนกับช่อง ๑๑ อย่างแน่นอน ผมคิดว่าทีวีช่องนี้ทำมาเพื่อให้มีคนดู ไม่ใช่ทำขึ้นเพื่อจะเป็นกลไกของหน่วยงานรัฐเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเอง เป้าหมายชัดเจน งบประมาณปีหนึ่งไม่เกิน ๑,๗๐๐-๒,๐๐๐ ล้านบาท มันทำให้เราสามารถลงทุนจ้างคน ลงทุนในการทำข่าว ผลิตรายการดีๆ ได้ ตราบใดก็ตามที่มันไม่ได้บริหารโดยระบบราชการ ยิ่งเป็นกรรมการนโยบายที่ถาวรแล้วก็จะมีโอกาสในการสรรหาคนมากขึ้น ผมคิดว่าจริงๆ แล้วคนในวงการ คนนอกวงการที่อยากทำช่องที่ดีมีสาระมีมาก นี่คือเวทีที่จะดึงคนเหล่านี้มา ขนาดยังไม่ออกอากาศยังมีคนมาเสนอรายการเยอะมาก กลุ่มคนที่เราไปคุยด้วยก็มีไอเดียมาก คนเหล่านี้อัดอั้นมานาน คนที่อยากทำรายการเด็กที่คนดูได้ทั้งครอบครัว หาเวทีลงไม่ได้ พอมีเวทีนี้เขาเสนอไอเดียเข้ามาดีมาก และผมคิดว่ามันทำได้ด้วย

ผมคิดว่าเป็นจุดอ่อนของทีวีทั่วไปที่ทำให้รายการที่มีคุณค่าต่อสังคมไม่ได้ออกอากาศช่วงดีๆ คือมักจะได้เวลาหากไม่ใช่ตอนเช้ามืดก็ไปออกอากาศตอนบ่ายๆ ช่วงเวลาไพรม์ไทม์ที่ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าก็จะเป็นละครน้ำเน่าไป นี่คือความแตกต่าง เพราะทีวีสาธารณะพอคุณเปิดมาแล้วจะรู้สึกว่านี่คือรายการที่สะท้อนความเป็นไปของสังคมไทยจริงๆ มันสะท้อนความหลากหลายจริงๆ มันสามารถตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นหรือข้อมูลที่สังคมต้องการได้

ในแง่โครงสร้างการทำงาน ทีวีสาธารณะจะเป็นผู้ลงทุนให้แก่ผู้ผลิตรายการทั้งหมดใช่ไหม

ในทางปฏิบัติเราไม่มีโฆษณา ดังนั้นทุกรายการที่ได้มาเราจ่ายเงินให้เขาไปผลิต ก็หมายถึงเราจะตั้งอนุกรรมการด้านเนื้อหาและรายการเพื่อพิจารณารายการที่เสนอเข้ามา หรือรายการที่เราไปชวนเขาทำต้องโปร่งใส สมมุติว่ารายการนี้เนื้อหาเป็นแบบที่ตกลงไว้ คิดว่าค่าผลิตเท่าไร เราก็จะหางบประมาณให้ อย่างเราคุยกันว่าจะตั้งกองทุนขึ้นมากองทุนหนึ่ง ให้ผู้ผลิตหนังสั้นปีหนึ่งสร้างหนัง ๓-๔ เรื่อง เอามือสมัครเล่น มืออาชีพเข้ามาประเมินอยากสร้างหนังสั้นอะไร วางพล็อตมา เรื่องนี้อาจจะใช้เงินสัก ๔ แสนบาท กรรมการก็จะพิจารณาดูว่าใช้ได้ไหม ใช้ได้ทำมา เอาไปเลย เราคุยเรื่องนักดนตรีอินดี้ที่ไม่สังกัดค่ายดนตรีใหญ่ๆ ฝีมือเก่งมากแต่ไม่มีเวทีเล่นเพราะไม่พร้อมจะไปเล่นเพลงตามตลาดได้ เราอาจจะจัดเวทีให้เขาออกรายการ สอนดนตรีให้คนทั่วไป ใช้งบประมาณเท่าไร บางทีเขาไม่ทำเองก็หาผู้สร้างมาทำ เราอาจจะช่วยเขาจัดการ งบประมาณมาจาก TPBS ผมคิดว่ามีคนที่อยากใช้เวทีตรงนี้เยอะมาก บางคนเป็นศิลปินไม่มีเวทีแสดง เราก็จัดเวทีให้ได้ หรือศิลปินต่างจังหวัดอยากเอารายการมาออก หรือเราจัดรายการให้เขามาชุมนุมกันที่นี่ เป็นต้น นี่คือเวทีที่เราอยากทำมาก เป็นเวทีที่ทำให้คนมีความสามารถ มีจินตนาการมาแสดงออกกันได้

ทุกวันนี้เราออกอากาศรายการสารคดีต่างประเทศทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นรายการของ Discovery หรือของ National Geographic ผมยังเป็นห่วงว่าถ้าเลิกรายการนี้แล้วคนจะด่าเอา (หัวเราะ) เพื่อนผมบอกว่าตอนนี้แม่เขาดูช่องนี้ทุกวัน นี่คือสิ่งที่ผมกำลังบอกว่าโอกาสที่คนไทยจะได้ดูรายการดีๆ น้อย แน่นอนรายการสารคดีย่อมจะมีอยู่ต่อไป เราต้องให้เวทีนี้เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันทางด้านนี้ ให้คนที่มีจินตนาการดี มีความพร้อม มีความตั้งใจทำรายการตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าเมืองไทย

มีหลายบริษัททำสารคดีเก่งๆ แต่เดิมมันไม่มีช่องทางออกอากาศ ถ้าเราหาโฆษณาให้เขา หาทุนให้เขา เราอาจสามารถสร้างผู้ผลิตรายการดีๆ รุ่นใหม่ได้ ทุกคนคงจะเป็นไม่ได้ แต่เราจะต้องเปิดกว้างที่สุด แน่นอนต้องผ่านการกลั่นกรอง เหมาะสมไหม คุณภาพได้หรือเปล่า ไม่ใช่มีแค่ไอเดียดีแต่คุณภาพไม่ถึง โปรดักชันห่วย ออกอากาศมาคนดูด่าตายเลย มันก็ต้องมีการควบคุมคุณภาพการผลิตระดับหนึ่ง

ทีวีสาธารณะนอกจากข่าวและสารคดีแล้ว มีละครด้วยหรือเปล่าครับ

พูดถึงเรื่องละครก็เช่นกัน มันทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าเราต่างจากช่อง ๑๑ เราไม่ปฏิเสธละคร ผมยืนยันว่าต้องมี แต่เป็นละครที่มีสาระ ได้ความรู้ ดูสนุก ละครเด็ก ผู้ใหญ่ได้หมด ผมพูดหลายเวทีนะครับ ผมยกตัวอย่างชีวิตของมด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์) เป็นชีวิตที่เขาสู้เพื่อคนอื่นมาทั้งชีวิต ตอนเป็นนักศึกษาเข้าป่า ออกมาก็ยังสู้เพื่อความยุติธรรมในสังคมอย่างไม่เปลี่ยนแปลง น่าจะทำเป็นพล็อตละครสักเรื่อง ใส่ความเป็นละครเข้าไปสิ มีบทรัก โศก หัวเราะ ร้องไห้ คนดูได้อะไรจากละครเรื่องนี้ ไม่ใช่ความสนุกอย่างเดียวแล้ว มันได้แรงบันดาลใจว่าสังคมยังมีคนแบบนี้อยู่หรือ คนที่ต่อสู้เพื่อคนอื่นโดยไม่คิดถึงตัวเองเลย ผมเชื่อว่าในเมืองไทยมีคนแบบนี้อีกเยอะมาก คนที่เป็นแบบอย่างที่ดีได้ แล้วสร้างเป็นละครขึ้นมา เป็นละครที่คนสามารถใช้เป็นแรงบันดาลใจ ละครทีวีเรื่องโอชิน แดจังกึม ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนดูได้ เรายังคุยกันว่าเราจะสร้างละครประวัติศาสตร์สักเรื่องก็ได้ อาทิทำเรื่องเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ คอนสแตนติน ฟอลคอน ผมว่าสนุกจะตาย ใช้งบ ๖๐-๗๐ ล้านบาท ก็ลองดูสิว่าจะหาหน่วยงานอื่นๆ มาช่วยได้ไหม

tpbd interview2

รังเกียจสปอนเซอร์ไหมครับ

ตามกฎหมายแล้วห้ามมี ห้ามมีอะไรที่เป็นเชิงพาณิชย์ นี่เป็นจุดแข็งที่ทำให้เราไม่ต้องไปกังวลเรื่องสปอนเซอร์โฆษณาว่ารายการนี้จะมีไหม ไปเจาะลึกสปอนเซอร์จะเคืองไหม มีคนถามว่าทีวีปัจจุบันหลายเรื่องไม่ไปขุดคุ้ยเบื้องหน้าเบื้องหลังเพราะสปอนเซอร์เขาไม่ยอม ทีวีช่องนี้อิสระไม่ต้องห่วงเรื่องนี้มากนัก

TPBS จะมีสตูดิโอสำหรับฝึกทำรายการทีวีด้วย

นี่เป็นแผนระยะยาวมากกว่า เราไปคุยกับผู้ผลิตรายการ เขาบอกว่าค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งในการผลิตรายการคือการเช่ากล้อง สตูดิโอ ถ้าใครทำให้เกิดสตูดิโอสาธารณะได้มันจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงไปมาก ทางคณะกรรมการนโยบายชั่วคราวรับฟังแล้วก็มองว่าไม่เลว แต่อาจเป็นแนวทางระยะยาวว่าจะทำได้ไหม เปิดโอกาสให้เฉพาะรายย่อยมาผลิตรายการ นี่เป็นความคิดที่ดีมาก

ทีวีเชิงพาณิชย์ช่องอื่นๆ อาจจะมีวิธีวัดเรตติ้งรายการ โดยดูจากโฆษณาว่าเข้ามามากน้อยเพียงใด แล้วทีวีสาธารณะมีวิธีวัดเรตติ้งของรายการอย่างไร

มีกลไกอยู่คือสภาผู้ชม เป็นองค์กรที่มีตัวแทน ๕๐ คน เลือกมาจากหลากหลายวิชาชีพทั่วประเทศ ตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหาร เนื้อหารายการ รับฟังเรื่องเสนอ ร้องเรียนกรรมการนโยบายเห็นตรงกันว่าเราจะต้องเพิ่มบทบาทของสภาผู้ชมให้มากขึ้น ให้มีบทบาทในการตรวจสอบจริงๆ กฎหมายเขียนว่าให้ประชุมปีละครั้ง ซึ่งผมคิดว่ามันไม่พอ อาจต้องประชุมบ่อยขึ้น อาจจะมีอนุกรรมการ มีที่ปรึกษา เพื่อให้กลไกเหล่านี้คอยป้อนข้อมูลให้แก่ผู้บริหารช่องนี้ตลอดเวลา และต้องจริงจังกับเสียงสะท้อนจากสภานี้จริงๆ หรืออาจมีการตั้งกลุ่มย่อย สร้างเครือข่ายให้กว้างขึ้น

สภาผู้ชมที่มีอยู่จะเป็นเครื่องวัดได้ระดับหนึ่ง แต่การตรวจสอบที่ได้ผลที่สุดคือสื่อมวลชนด้วยกัน และคนในสังคม ผมคิดว่ารายการทีวีดีไม่ดีฟังเสียงสะท้อนไม่ยาก ผมพูดเสมอว่าหนังได้รางวัลตุ๊กตาทองมักไม่มีคนดูเต็มโรงหรอก ความพึงพอใจของคนวัดกันไม่ยาก ดูก็รู้แล้วว่ารายการมันห่วยหรือดี เรื่องเรตติ้งแน่นอนต้องมีวิธีการวัดจากการสำรวจความคิดเห็น เสียงสะท้อนที่เข้ามาผ่านช่องทางต่างๆ ทางเว็บบอร์ด จดหมาย หรือผ่านสื่อมวลชน ทีวีสาธารณะก็ต้องมีการตรวจสอบตัวเองอาจมีการทำสำรวจเอง ตั้งกลุ่มโฟกัส เพิ่มบทบาทสภาผู้ชม สภาผู้ชมจะเป็นช่องทางในการฟังความเห็นของประชาชนได้ว่ารายการเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันเราก็ต้องทำสำรวจด้วยว่ารายการที่ออกมาในแต่ละเดือนนั้นประชาชนมองดีไม่ดีอย่างไร ถามว่าจะมีเรตติ้งสูงเท่าละครน้ำเน่าหรือไม่ เราไม่หวังอย่างนั้น

เรื่องความเข้มข้นของการทำข่าว ไอทีวีมีจุดเด่นมาก คิดว่าความสามารถของ TPBS จะเป็นอย่างไร

ช่องนี้ดีกว่าแน่เพราะไม่มีข้อจำกัดทางการเมืองเข้ามา อย่างน้อยข่าวเราน่าจะดึงความมั่นใจกลับมาได้ ผมคิดว่าฝ่ายข่าวเราเคยร่วมงานกันมาตั้งแต่ ๑๑ ปีก่อน ทุกคนยังมีไฟ มีความตั้งใจที่จะทำรายการข่าวที่ดี ผมเองกับทีมข่าวไอทีวีเก่าคุยกันแล้วรู้สึกตรงกันว่า การทำข่าวทีวีเมืองไทยมันจำเจมาก เปิดดูทุกคืนจะรู้เลยว่าข่าวทุกวันมีตัวละครหลักๆ กำหนดไม่กี่คน เอ่ยชื่อได้ประมาณ ๓๐ คน แล้วคนที่ให้สัมภาษณ์ส่วนมากเป็นนักการเมือง ภาคราชการก็มีปลัดไม่กี่คน ถามว่ามันแฟร์ไหมในการรับรู้ข่าวสาร คนเหล่านี้บางทีพูดไม่มีเนื้อหาก็เป็นข่าวได้ บางคนพูดอะไรไม่ประเทืองปัญญาก็เป็นข่าว ดูจบก็ไม่รู้ว่าได้อะไรขึ้นมา แต่ผมคิดว่าการทำข่าวทีวีช่องนี้จะต้องลงไปในเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคมมากกว่านี้

ยกตัวอย่างปัญหาเรื่องภาคใต้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ที่ผ่านมาทีวีทุกช่องรายงานเหมือนมันเป็นแค่ข่าวอาชญากรรม ตายกี่คน ยิงที่ไหน จบ ไม่เคยไปดูปัญหาจริงๆ ว่ารากเหง้าของมันคืออะไร การปฏิบัติการแต่ละครั้งมีความหมายอย่างไร ทำไมปัญหามันมากขนาดนี้ คนในพื้นที่รู้สึกอย่างไร จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างไร คนมุสลิมที่ถูกมองในเชิงลบเขารู้สึกอย่างไร ล่าสุดข่าวฆ่ากันบริเวณที่ก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทีวีก็รายงานเหมือนเป็นข่าวอาชญากรรม แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องความขัดแย้งของการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ ถามว่าอยู่ดีๆ คนในชุมชนที่อยู่ด้วยกันมาช้านาน ลุกขึ้นมาฆ่ากันเป็นเรื่องใหญ่ไหม ผมว่าใหญ่นะ นี่คือสิ่งที่สื่อมวลชนจะต้องเข้าไปตรวจสอบว่าอะไรที่ทำให้คนที่อยู่ด้วยกันมาทำกันได้ หรือกรณีปัญหาที่บ้านกรูดหรือจะนะก่อนหน้านี้ ต้องไปลงพื้นที่ หาข้อมูล ไปแยกส่วนเหตุการณ์ต่างๆ ออกมา

การเมืองก็เหมือนกัน คุณดูทีวีก็จะเห็นตัวละครเป็นนักการเมืองไม่กี่คนออกหน้าจอทุกวัน แต่ใครจะรู้ว่าหัวใจของรัฐสภาคือกรรมาธิการ เพราะกรรมาธิการเป็นคนกลั่นกรองและชงเรื่องทุกอย่าง กฎหมายทุกฉบับจะออกได้ต้องมีกรรมาธิการ งบประมาณผ่านไม่ผ่านอยู่ตรงนี้ กรรมาธิการมีเป็นสิบชุด แต่สื่อมวลชนให้ความสนใจน้อย เพราะมันเป็นขั้นตอนที่มีรายละเอียดมาก ไปสนใจในสภาที่มันทำง่ายกว่า สนุกกว่า ด่ากันไปมา แต่นั่นไม่ใช่หัวใจของระบอบรัฐสภา หัวใจอยู่ที่กรรมาธิการ จะโกงจะกินอยู่ตรงนี้ ทุกพรรคถึงอยากมีคนของตัวเองไปอยู่ในกรรมาธิการไง มันมีผลประโยชน์ทั้งสิ้น ดีก็ดีแย่ก็แย่ แล้วสื่อมวลชนไม่ไปตรวจสอบ งบประมาณทั้งหลายที่โดนโยกไปจังหวัดนั้นจังหวัดนี้มันไม่ได้มาจากสภาใหญ่ มาจากกรรมาธิการทั้งนั้น แต่กลไกเหล่านี้ถูกมองข้าม หรืออย่างสภา กทม. อบต. ก็เหมือนกัน ไม่มีใครไปตรวจสอบทั้งที่เป็นประชาธิปไตยฉบับย่อลงมา ผมยกตัวอย่างเพื่อจะบอกว่าการทำข่าวมันต้องลงไปในเนื้อหาแล้ว นี่คือความแตกต่างที่ทีวีสาธารณะจะไปเจาะข่าวเหล่านี้มานำเสนอให้มากขึ้น