tpbd interview3

วัฒนธรรมการทำข่าวของสื่อบ้านเราชอบไปตามนักการเมือง

มันเป็นความเคยชินของนักข่าว และยังมีข้อจำกัดด้วย คือทีวีบ้านเราโครงสร้างไม่เอื้อให้กล้ารายงานข่าวที่ท้าทายกับอำนาจรัฐ เพราะมันเป็นสัญญาสัมปทาน กรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้าของช่อง ๑๑ สำนักนายกรัฐมนตรีคุมช่อง ๓ และช่อง ๙ ทหารคุมช่อง ๕ และช่อง ๗ นี่ก็บอกได้แล้วว่าทำไมหลายเรื่องแตะไม่ได้ แล้วอย่าลืมว่าทีวีทุกช่องเป้าหมายคือหารายได้ บริษัทที่ได้สัมปทานต้องลงทุนวิ่งเต้นอะไรบ้าง เพื่ออะไร ไม่ใช่ต้องการมารายงานความเป็นจริงให้ประชาชนทราบ แต่เป้าหมายคือทำยังไงให้ธุรกิจได้กำไร มันเป็นคำตอบในตัวว่าหลายเรื่องทำไมพวกเขาไม่ไปแตะไม่ไปยุ่ง พอรายงานข่าวไปสักพักก็มีโทรศัพท์กริ๊งเดียวจากคนมีอำนาจว่าเรื่องนี้ขอนะ จบแล้ว แต่ผมคิดว่าบทบาทของสื่อมวลชนทั่วไปคือรายงานความเป็นไปของบ้านเมืองอย่างอิสระ และตรวจสอบกลไกรัฐนี่สำคัญที่สุด

บทบาทของข่าวทีวีในการรายงานข่าวแบบตรวจสอบกลไกรัฐในอดีตเคยมีหรือไม่

ผมคิดว่ามันเคยเกิดขึ้นระดับหนึ่งสมัยไอทีวียุคแรก เสียดายที่มันอยู่ได้ไม่นาน ยุคนี้คนไอทีวีเก่าที่มาทำงานกับเรา เขาก็มีประสบการณ์ที่มากขึ้น มีมุมมองที่กว้างหลากหลายมากขึ้น ปัจจัยใหม่ๆ ในสังคมเป็นแรงกระตุ้น โครงสร้างมันเอื้ออำนวยด้วย ผมคิดว่าการตรวจสอบ การทำข่าวเชิงลึกต้องเกิดขึ้น แน่นอนความเป็นกลางต้องมี สื่อมวลชนโดยเฉพาะทีวี ความเป็นกลางเป็นสิ่งสำคัญ ความน่าเชื่อถือจะมากับความเป็นกลาง ถ้าเมื่อไรมีภาพว่าสื่อมวลชนฉบับนี้รับใช้ใคร สื่อมวลชนฉบับนี้สนิทสนมกับพรรคใด หรือทีวีช่องนี้อยู่ใต้อาณัติใคร การทำข่าวจะหมดความน่าเชื่อถือทันที ผมคิดว่าต้องรักษาตรงนี้ไว้ ในความหมายที่ว่าการกระทำจะต้องไม่ให้ตีความได้ว่าไปเชียร์ใคร แต่ในบางสถานการณ์ก็ต้องมีจุดยืนชัดเจนว่าอะไรเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ต้องทำให้คนดูเห็นต้องอธิบายได้ว่าทำไมทำอย่างนั้น

ตอนนี้คุณทักษิณอยู่ต่างประเทศจะไปสัมภาษณ์ไหมครับ

ในแง่ของการเป็นข่าว ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ต้องไปสัมภาษณ์คุณทักษิณแน่นอน แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่สัมภาษณ์หรือไม่ อยู่ที่ว่าคุณถามอะไรเขามากกว่า จะถามในฐานะสื่อที่หาข้อเท็จจริง หรือไปเป็นเวทีให้เขาพูดในสิ่งที่อยากจะพูด มันต่างกันมาก ถ้าแบบหลังอย่าไปดีกว่า ถ้าไปแบบแรก หาคนมือถึงหน่อย หาคนที่ซักเขาได้ ตรวจสอบเขาได้ แบบนั้นควรที่จะไป นี่คือบทบาทของสื่อ ที่ผ่านมาคนต่างกลัวกันว่าทหารจะพอใจไหม ผมคิดว่าไม่ได้อยู่ที่ไปไม่ไป อยู่ที่ว่าไปแล้วคุณทำได้ดีแค่ไหนมากกว่า อย่าลืมว่านักการเมืองสมัยนี้ฉลาดมากขึ้น เวลาให้สัมภาษณ์เขาจะรู้ได้ว่าเขาจะสามารถใช้สื่อนี้เพื่อประโยชน์ได้แค่ไหน ทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์เขาต้องคิดว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากการให้สัมภาษณ์ เราต้องรู้ทัน ฉลาดพอที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือ

ข้อแตกต่างระหว่างการทำข่าวทีวีกับการทำข่าวหนังสือพิมพ์

ทีวีสำคัญเรื่องภาพ รายการคุยข่าวทั้งหลายที่เห็นทุกวันนี้ไม่ใช่ข่าวทีวีหรอก มันเป็นรายการวิทยุ ข่าวทีวีที่ดีมันต้องคำนึงถึงเรื่องภาพ ไม่อย่างนั้นคุณจะมีจอเอาไว้ทำอะไร เพื่อดูภาพ ไม่ใช่ฟังเสียง ความยากของการทำข่าวทีวีคือทำยังไงจะมีภาพที่ดีและสอดคล้องกับเรื่องที่เกิดขึ้น TPBS ให้ความสำคัญกับตรงนี้ ข่าวอะไรก็ตามถ้าเป็นทีวีแล้วมันจะต้องดำเนินไปด้วยภาพ เหมือน สารคดี คุณไม่ได้เดินเรื่องแค่บทความใช่ไหม ต้องมีภาพ ก็ไม่ต่างกัน คนทีวีต้องยอมรับระดับหนึ่งว่ามีข้อจำกัดทางเวลา มันอาจจะฉาบฉวย แต่การทำข่าวทีวีที่ดีน่าจะทำได้ถ้าเราเลือกประเด็นที่ชัดเจน ทำให้คนหันมาสนใจได้ ความท้าทายอยู่ตรงนั้น

คิดยังไงกับรายการคุยข่าวที่พิธีกรเอาหนังสือพิมพ์มาอ่าน

ผมไม่ได้มองว่านี่เป็นรายการข่าว ผมมองว่านี่เป็นรูปแบบหนึ่งของรายการบันเทิงมากกว่า ข่าวส่วนมากที่เอามาอ่านเป็นข่าวสัพเพเหระ ข่าวชาวบ้านเป็นหลัก ผมคิดว่ามันทำให้ภาพรายการข่าวทีวีดูไม่ดี เพราะการที่คุณต้องไปพึ่งหนังสือพิมพ์นั้นเป็นเรื่องที่แปลกมาก หนังสือพิมพ์เป็นข่าวที่เก่ามากแล้วนะ คุณอ่านตอนเจ็ดโมงเช้า แต่หนังสือพิมพ์ปิดข่าวตั้งแต่สองทุ่มเมื่อคืน สายมาตั้ง ๑๒ ชั่วโมง ทั้งที่ข่าวทีวีควรจะเป็นข่าวที่เกิดขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วนที่สุด มันกลับตาลปัตรหมด เอาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานมาอ่าน รายการที่ควรจะใหม่และสดก็ไม่สด มันไม่ทำให้เกิดจินตนาการในการทำข่าวทีวี ทุกช่องแข่งแบบนี้กันหมด ขายความเป็นดารามากกว่าเนื้อหา เอาความสะดวกเข้าว่าเป็นเรื่องหลัก ซึ่งส่วนตัวในฐานะที่เป็นคนทำข่าว โดยเฉพาะทำข่าวทีวีมาตลอด ผมคิดว่าพวกนี้ไม่ใช่คนทำข่าวทีวีที่แท้จริง

ที่ผ่านมารายการหลายรายการของไอทีวีใช้มืออาชีพแล้วประสบความสำเร็จมาก คนดูค่อนข้างหวั่นใจว่าถ้าพลิกใหม่หมดจะทำให้ความเป็นมืออาชีพหายไปไหม

เข้าใจความรู้สึกของแฟนๆ ทีไอทีวีหรือไอทีวี แต่จริงๆ แล้วหลังชินคอร์ปเทกโอเวอร์ไอทีวี ก็มีเสียงบ่นว่าความเป็นมืออาชีพหายไปมากพอสมควรเพราะมันถูกแทรกแซง ถึงขั้นไล่พนักงาน ๒๐ กว่าคนที่คัดค้านออกไป แล้วคนที่ติดตามข่าวก็จะเห็นการตรวจสอบที่มีความเข้มข้นลดลง อย่าลืมว่าช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมาเราไม่เห็นไอทีวีตรวจสอบฝ่ายการเมืองเลย ไปตรวจสอบส่วนอื่นที่ไม่ใช่การเมือง ไม่ได้ดูว่าโครงการของรัฐบาลทั้งหลายมีใครโกงไหม นี่เป็นสัญญาณที่บอกว่ามีสิ่งผิดปรกติเกิดขึ้น

เรื่องความเป็นมืออาชีพของหลายรายการที่มีหลายคนกลัวว่าจะไม่ดีเท่าเดิม มันก็ต้องพิสูจน์ว่าเปลี่ยนแปลงแล้วดีกว่าเดิม มันไม่มีทางให้ความมั่นใจได้มากกว่านั้น หนึ่งคือรายการข่าวซึ่งเป็นจุดขายของไอทีวีมาตลอด มันต้องเข้มข้นและดีกว่าเดิม สอง รายการแบบเจาะลึกก็ต้องเข้มข้นกว่าเดิม รายการที่เกี่ยวกับชุมชนอยู่แล้วก็ต้องอิงกับธุรกิจน้อยลง ต้องมาทำเชิงปกป้องผลประโยชน์สังคมมากขึ้น มันต้องพิสูจน์ที่หน้าจอ หลังออกอากาศสักระยะคงต้องมาประเมินกัน ถ้าแย่กว่าเก่าผู้บริหารก็ต้องพิจารณาตนเองว่าไม่ควรทำหน้าที่นี้ต่อไป

งบประมาณต่อปีไม่เกิน ๒,๐๐๐ ล้าน ถือว่าเหมาะสมไหม

ผมว่าเหมาะสม อยู่ได้ ไม่น่ามีปัญหา ตอนไอทีวีออกอากาศใหม่ๆ ๓-๔ ปีแรก รายได้พันล้านต้นๆ ช่วงนั้นต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐปีหนึ่ง ๔๐๐-๕๐๐ ล้านบาท แล้วขึ้นไปเรื่อยๆ เขาก็อยู่ได้ มันน่าจะเป็นมาตรวัดได้ว่าไม่เกิน ๒,๐๐๐ ล้านอยู่ได้ไหม และแต่ละปีเราจะให้น้ำหนักของการทำรายการต่างกันไป สมมุติเราอยากจะสร้างละครดีๆ สักเรื่อง ใช้งบ ๒๐๐ ล้านบาท มาดูซิว่างบที่จะเจียดไปจะทำยังไง ไปกระทบส่วนไหนไหม ต้องทำอะไรบ้าง แน่นอนงบฝ่ายข่าวที่ต้องมีประจำก็ต้องชัดเจนว่าเดือนละเท่าไร ปีละเท่าไร ถ้าทำเองได้คงทำเองระดับหนึ่ง แต่อย่างที่บอกว่าเจตนาสำคัญของทีวีช่องนี้คือเป็นช่องทางให้แก่ผู้ผลิตรายการรายย่อย กลาง ชนบท กทม. ให้มาทำรายการดีๆ หมายความว่าเราต้องพร้อมให้เงินสนับสนุน

ทีวีสาธารณะเน้นหนักกลุ่มคนดูว่าเป็นคนเมืองหรือคน

ต่างจังหวัดเป็นหลักมันชัดเจนว่าควรจะเป็นของคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะข่าวต้องพูดถึงคนต่างจังหวัดมากขึ้น ที่ผ่านมาข่าวทีวีจะเน้นข่าวในกรุงเทพฯ ถึง ๙๐ % แต่บางรายการอาจจะผลิตเพื่อตอบสนองบางกลุ่ม ผมจึงระมัดระวังเวลาคุยกับคนทำรายการว่า เวลาทำต้องมองคนดูกว้าง ไม่ควรทำเฉพาะกลุ่ม แน่นอนมันก็ต้องมีบ้าง อาทิ รายการเกี่ยวกับเกษตร แต่ว่ารายการทั่วไป แม้แต่รายการเด็ก อย่าไปคิดว่าเพื่อเด็กอย่างเดียว ผู้ใหญ่ต้องดูได้ด้วย ไม่ใช่ว่าหน่อมแน้มจนเด็กด้วยกันยังไม่อยากจะดูเลย ตรงนี้ท้าทายความสามารถในการทำมาก นโยบายที่วางไว้คือต้องตอบสนองคนทุกชนชั้น เป้าหมายเป็นแบบนั้น แต่เราไม่ได้บอกว่าทุกรายการต้องเป็นแบบนั้น ถ้ามีรายการที่ชัดเจนว่าใครก็ดูได้ หรือให้คนกลุ่มหนึ่งรู้จักสังคมอีกแบบ ถือว่าสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว ก็ต้องสารภาพว่าทั้งหมดนี้เป็นความฝันด้วยส่วนหนึ่ง จะเกิดขึ้นได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความพยายามของเราด้วย หวังว่าเงื่อนไขที่มีจะเอื้อให้ทำได้

คิดอย่างไรที่นักวิชาการบางคนบอกว่าไม่เห็นด้วยกับทีวีสาธารณะเพราะเกิดในยุคเผด็จการ คมช.

ผมคิดว่าไม่เร็วก็ช้า ทีวีสาธารณะไม่ว่าจะรัฐบาลไหนมันต้องเกิดขึ้น หากย้อนกลับไปดูจะเห็นว่ามีความพยายามผลักดันให้มีทีวีสาธารณะก่อนที่ไอทีวีจะมีปัญหาเสียอีก ตอนนั้นมีความพยายามดันช่อง ๑๑ ให้เป็นทีวีสาธารณะ แต่พอไอทีวีมีปัญหาโดนยึดสัมปทานคืนแล้วแปรสภาพเป็นทีไอทีวี รัฐบาลก็เลยมองว่ามันน่าจะง่ายกว่าหากแปลงทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ ดังนั้นมันต้องเกิดแน่นอนเพียงแต่มันเกิดช่วงนี้ ถ้าในรัฐบาลปรกติอาจจะไม่เกิดก็ได้ อาจมีแรงเสียดทานมากกว่านี้ มีผลประโยชน์มาแทรก

ผมไม่มองว่าเกิดจาก สนช. คมช. รัฐบาลที่มาจากทหาร ผมเห็นด้วยกับหลักการทีวีสาธารณะ และถ้าเราผลักดันให้เกิดขึ้นได้ก็ควรร่วมกับมัน แต่ในเบื้องต้นผมไม่เห็นด้วยในหลักการที่จะแปลงทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ ผมและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ประกาศจุดยืนชัดคือ ต้องการให้รัฐบาลแปลงช่อง ๑๑ มากกว่า แล้วให้ทีไอทีวีไปร่างเงื่อนไขใหม่ แต่ว่าเป็นทีวีเสรีเหมือนเดิม เงื่อนไขคือต้องไม่เน้นเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนเป็นหลัก เนื่องจากช่อง ๑๑ ไม่ค่อยตอบสนองความต้องการของประชาชนเท่าที่ควร มันควรเป็นทีวีสาธารณะมากที่สุด มันควรจะจบแบบนี้ แต่เมื่อเกิดแบบนี้ขึ้นคงช่วยไม่ได้ ถ้าหลักการสอดคล้องกับสิ่งที่เราเห็น แล้วเราเข้าไปช่วยได้จริงมันน่าลอง ผมอยู่วงการสื่อมา ๓๐ ปี อยู่ไอทีวีช่วงหนึ่ง ๖-๗ ปี ผมเชื่อพลังข่าวสารอย่างมากว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคม ยิ่งทีวีเป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้กว้างมาก ถ้ามีทีวีช่องหนึ่งเกิดขึ้นแล้วเราได้ใช้ประสบการณ์ความสามารถไปทำให้ข้อมูลข่าวสารมีประโยชน์กับประชาชน เราก็ควรทำ

คิดว่ารัฐบาลใหม่จะแทรกแซงทีวีสาธารณะหรือไม่

ผมหวังว่าเขาจะไม่ทำ แน่นอนคงต้องยอมรับความจริงว่านักการเมืองกับการแทรกแซงสื่อมันเกิดมาทุกยุคทุกสมัย อยู่ที่จะมากจะน้อย แรงหรือไม่แรง เราหวังอย่างยิ่งว่าทีวีช่องนี้จะสามารถพิสูจน์ตัวเองได้เร็วที่สุดในแง่การยอมรับจากประชาชนผ่านเนื้อหาที่นำเสนอ จนประชาชนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของ พึ่งพาได้ ไว้ใจได้ ถึงจุดนั้นเมื่อไรโอกาสที่นักการเมืองจะมาแทรกแซงจะน้อยลง ถ้าทำไปแล้วก็งั้นๆ นักการเมืองมาแทรกแซงก็คงไม่มีใครโวยวาย หลายประเทศอย่างที่รัสเซีย ยูเครน เราอาจจะเห็นข่าวว่าพอรัฐบาลจะไปยึดทีวี ก็มีประชาชนมาห้อมล้อม แสดงว่าทีวีช่องนั้นทำอะไรที่ดีทำให้คนปกป้อง เราหวังว่าทีวีช่องนี้จะไปถึงจุดนั้นได้ แล้วมันจะเป็นหลักประกันอันเดียวที่จะทำให้เราไม่ถูกแทรกแซง ไม่มีหลักประกันใดดีกว่านี้อีกแล้ว กลไกในกฎหมาย สภาผู้ชม การสรรหากรรมการ มันเป็นกลไกในกระดาษ เหมือนกับที่เราคาดหวังกับ กกต. ป.ป.ช. ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่ามันถูกแทรกแซงได้ทั้งหมด ถ้าทีวีช่องนี้ทำได้จนเป็นที่รักของประชาชน มันจะเป็นหลักประกันที่สำคัญที่สุดในการป้องกันการแทรกแซง