อาทิตย์ ประสาทกุล : รายงาน

elect phutan1

ชาวภูฏานผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งแสดงบัตรประชาชนขณะกำลังเข้าแถวรอลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (ภาพ : EPA/ STR)

ตั้งแต่เช้าวันจันทร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ จนกระทั่งถึงเวลาปิดหีบหย่อนบัตรเลือกตั้งในเวลา ๑๗.๐๐ น. ชาวภูฏานพากันออกจากบ้านพักในหุบเขาหิมาลัยเดินทางไปยังจุดเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในชีวิต

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งปฐมฤกษ์นี้เป็นผลมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก (Jigme Singye Wangchuck) สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ ๔ พระราชบิดาในสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันที่ต้องการให้ภูฏานเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (constitutional monarchy) พระองค์ได้สละราชสมบัติให้แก่ พระราชโอรสองค์โต คือ มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก (Jigme Khesor Namgyel Wangchuck) เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๔๙ และมีพระราชประสงค์ให้มีการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๑ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลภูฏานได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง โดยศึกษารูปแบบรัฐธรรมนูญจากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยมานานกว่า ๒ ปีแล้ว

ว่ากันว่าเหตุผลประการสำคัญที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก ตัดสินใจนำภูฏานเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ก็เพราะพระองค์ทรงเห็นการล่มสลายของราชวงศ์เนปาลประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้นด้วยความรุนแรง และไม่อยากเห็นอนาคตของราชวงศ์ภูฏานเป็นเช่นนั้น

ภูฏานจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ๔๗ เขตเลือกตั้ง ซึ่งแบ่งตามสัดส่วนของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวภูฏานเลือกผู้แทนในเขตเลือกตั้งของตัวเองได้ ๑ คน

elect phutan2

การซ้อมลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในการเลือกตั้งจำลองซึ่งจัดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว(ภาพ : J.Adam Huggins/ The New York Times)

elect phutan3

โปสเตอร์รณรงค์การเลือกตั้งในภูฏาน (ภาพ : EPA/ STR)

คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรกลางที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อตระเตรียม ประสานงาน และจัดให้มีการเลือกตั้งที่ยุติธรรม รวมทั้งเตรียมความพร้อมให้ประชาชนชาวภูฏานได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในชีวิตคนภูฏานที่อยู่ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาตั้งแต่ปี ๒๔๕๐ เป็นเวลากว่าศตวรรษ

…และแล้ววันสำคัญของชาวภูฏานก็มาถึงวันเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภูฏาน… ก่อนหน้านั้นประชาชนชาวภูฏานก็พอรู้จักการเลือกตั้งผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ที่ทางการประโคมมาตลอดตั้งแต่เมื่อปีกลาย อีกทั้งก่อนการเลือกตั้งจริงยังจัดให้มีการเลือกตั้งจำลองโดยให้ประชาชนได้ซ้อมเข้าคูหาลงคะแนนเลือกพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเป็นตัวอย่าง คือพรรคเขียว ฟ้า แดง เหลือง โดยที่พรรคแต่ละสีก็มีนโยบายของตัวเอง

พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในครั้งนี้มีเพียง ๒ พรรคการเมือง ทั้งสองพรรคมีแนวนโยบายที่แทบจะไม่ต่างกันเลย คือมุ่งสู่การพัฒนาบนพื้นฐานของแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness-GNH) ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการส่งเสริมวัฒนธรรม และการมีระบบการปกครองที่ดี (good governance) นอกจากนี้สมาชิกของทั้งสองพรรคประกอบด้วยข้าราชการระดับสูงซึ่งเคยเป็นที่รู้จักของสาธารณชน

พรรคแรกมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า People’s Democratic Party หรือพีดีพี มีนายนีดับ (Sangay Ngedup) พระมาตุลา (ลุง) ในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก เป็นหัวหน้าพรรค นายนีดับมีพื้นฐานจากครอบครัวนักธุรกิจใหญ่ในภูฏานและนายนีดับคนนี้มีน้องชายเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำเมืองทิมพู เมืองหลวงของภูฏานด้วย

อีกพรรคหนึ่งมีชื่อเป็นภาษาซงข่า (ภาษาท้องถิ่นของภูฏาน) ว่า พรรค Druk Phuensum Tshogpa หรือ ดีพีที ซึ่งมีความหมายว่า “พรรคภูฏานรวมเป็นหนึ่ง” (Bhutan Harmony Party) มีนายวายทินเลย์ (Jigme Y. Thinley) เป็นหัวหน้าพรรค นายวายทินเลย์ผู้นี้เคยเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเอกอัครราชทูตภูฏาน ตำแหน่งล่าสุดก่อนที่จะลาออกมาสมัครรับเลือกตั้งคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและวัฒนธรรม

elect phutan4

ภายในเต็นท์หน่อยเลือกตั้งแ้ห่งหนึ่ง

elect phutan5

ชายชาวภูฏานอวดรอยหมึกบนนิ้วมือซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเขาได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแล้ว (ภาพ : Manish Swarup / AP)

เมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้น คณะกรรมการการเลือกตั้งภูฏานประกาศว่า ชาวภูฏานออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ๒๕๓,๐๑๓ คน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น ๓๑๘,๔๖๕ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๙.๔ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศที่ไม่เคยจัดให้มีการเลือกตั้งมาก่อนดังเช่นภูฏาน(การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งล่าสุดของไทยเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ มีสัดส่วนผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ ๗๔.๕)

ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการปรากฏว่า พรรคดีพีทีของนายวายทินเลย์ได้รับคะแนนเสียงอย่างล้นหลาม โดยมีสมาชิกพรรคได้รับเลือกตั้งถึง ๔๔ คน จากจำนวนที่นั่งทั้งสิ้น ๔๗ ที่นั่ง ชนะผู้สมัครจากพรรคพีดีพีขาดลอย

แม้แต่นายนีดับ หัวหน้าพรรคพีดีพี ก็ยังไม่ได้รับเลือกตั้งในเขตที่ตัวเองลงสมัคร

โฆษกพรรคดีพีทีออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ชัยชนะที่ท่วมท้นในครั้งนี้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย และไม่มีใครในพรรคคาดหวังว่าพรรคจะได้ที่นั่งมากมายถึงเพียงนี้

สื่อทั้งในและต่างประเทศวิเคราะห์ว่าชัยชนะของพรรคดีพีทีในครั้งนี้น่าจะมาจากความนิยมชมชอบในตัวหัวหน้าพรรคดีพีทีเอง เพราะในอดีตนายวายทินเลย์เป็นข้าราชการระดับสูงที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในสมัยรัฐบาลของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี ซิงเย วังชุก เป็นบุคคลที่ชาวภูฏานคุ้นเคยดี เคยเห็นหน้าค่าตาและได้ยินชื่อเสียงจากสื่อต่างๆ นอกจากนี้เขายังมีทักษะการพูดที่อ่อนหวาน นุ่มนวล มีเหตุผล จับใจคนที่ได้ฟังปราศรัยของเขา

ผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งทั้งสิ้น ๔๗ คน เข้าประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรกในอาคารรัฐสภาที่สร้างขึ้นตามแบบสถาปัตยกรรมภูฏานอันโอ่อ่า ตั้งอยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำกับอารามหลวงเมืองทิมพู (Thimpu Dzong) อาคารแห่งนี้คือที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศในปัจจุบัน และเคยเป็นที่ประชุมของสภาแห่งชาติ

elect phutan6

นายวายทินเลย์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน

พรรคดีพีทีที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากเป็นพรรครัฐบาล มีนายวายทินเลย์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้แต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ๑๐ คนทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ โดยมีพรรคพีดีพีเป็นพรรคฝ่ายค้าน

นายวายทินเลย์ นายกรัฐมนตรีคนแรกของภูฏานภายใต้ระบอบประชาธิปไตย สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติดีที่สุดคนหนึ่ง และเป็นผู้ที่สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ก่อนให้ความไว้วางใจมาก

นอกจากนี้เขามีความคุ้นเคยกับประเทศไทยและคนไทยเป็นอย่างดี สมัยเรียน นายวายทินเลย์ เป็นเพื่อนชั้นเรียนเดียวกันกับท่านทูตฐากูร พานิช เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เคยเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการหลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลูกชายคนเล็กของเขาก็สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากวิทยาลัยนานาชาติมหิดล

ภูฏานใหม่ภายใต้การนำของนายวายทินเลย์จึงน่าจะเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ และไม่น่ามีอะไรจะต้องเป็นห่วง

กลับมาที่ผลการเลือกตั้ง มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสัดส่วน ๔๔ ต่อ ๓ ระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครัฐบาลกับสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน แม้เป็นตัวเลขที่น่ายินดีกับพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง แต่สำหรับในระบอบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักสมดุลแห่งอำนาจ (balance of power) ชัยชนะที่ท่วมท้นเช่นนี้จะเป็นอุปสรรคที่น่ากลัวต่อพัฒนาการทางการเมืองของภูฏาน

“ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอุดมคติ เพราะพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านจะไม่คานอำนาจกัน กลไกของประชาธิปไตยที่ดีจะต้องมีพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง” นายการ์มา อูระ (Karma Ura) ผู้อำนวยการศูนย์ภูฏานศึกษาในเมืองทิมพูแสดงความเห็นกับนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของอินเดีย

อย่างไรก็ตามความหวังของการทำหน้าที่คานอำนาจรัฐบาลจึงตกอยู่ที่วุฒิสภา ระบบการเมืองการปกครองใหม่ของภูฏานกำหนดให้มีสมาชิกวุฒิสภา ๒๕ คน มาจากการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระราชาธิบดี ๕ คน และที่เหลืออีก ๒๐ คนมาจากการเลือกตั้งที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๐ สมาชิกวุฒิสภาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง จึงทำให้มั่นใจได้ว่าอย่างน้อยพวกเขาจะมีความเป็นกลางทางการเมือง

เหนือสิ่งอื่นใด สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก และพระราชบิดา ก็ยังเพียบพร้อมไปด้วยพระบารมีที่เปี่ยมล้นเป็นที่เคารพยำเกรงของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา รวมทั้งข้าราชการชั้นสูงทุกคน

ตลอดระยะเวลา ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา ภูฏานได้เผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ไม่น่าเชื่อว่าสำหรับประเทศที่เพิ่งมีโทรทัศน์ท้องถิ่นดูในปี ๒๕๔๒ จะถูกกระแสทุนนิยมโหมซัดอย่างเร็วปรี่ วัฒนธรรมตะวันตกมาจากคนรุ่นใหม่ในภูฏานที่ได้รับการศึกษาจากต่างประเทศทั้งอินเดีย ไทย เนปาล ปากีสถาน รวมทั้งประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

สินค้าจากจีน อินเดีย และไทยได้หลั่งไหลข้ามพรมแดนเข้าไปในภูฏาน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งโทรทัศน์จอแบน โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือรถยนต์โดยเฉพาะรถกระบะรถโตโยต้าไฮลักซ์ซึ่งปัจจุบันมีคู่แข่งเป็นรถกระบะจีนยี่ห้อ “กำแพงเมืองจีน” (Great Wall) ที่มีราคาถูกกว่า เหล่านี้ถือเป็นของใช้ฟุ่มเฟือยของชนชั้นสูงและชนชั้นกลางภูฏานที่เริ่มก่อตัวและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

ใน ๑-๒ ปีนี้ ภูฏานจะมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ภายในมีโรงภาพยนตร์ทันสมัย มีอุตสาหกรรมสร้างภาพยนตร์เป็นของตนเอง และจะมีธนาคารที่เอกชนเป็นเจ้าของเป็นแห่งแรก ยังไม่นับรวมโรงแรมระดับ ๕ ดาว และ ๗ ดาวที่กำลังจะผุดขึ้นมากมายเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

บนพื้นฐานของสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ความท้าทายของรัฐบาลใหม่ของภูฏานเห็นจะมีอยู่อย่างน้อย ๓ ประการ

ประการแรก รัฐบาลจะนำความเจริญและความเป็นสมัยใหม่สู่ภูฏานอย่างไร โดยที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นไปของสังคมภูฏานที่ปิดตัวต่อโลกมาเกือบศตวรรษให้น้อยที่สุด

ประการต่อมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะแปรเปลี่ยนแนวนโยบายที่มุ่งสู่ความสุข (In pursuit of happiness) ที่ได้ประกาศไว้ให้เป็นรูปธรรมได้อย่างไร รวมทั้งจะป้องกันและควบคุมปัญหาการคอร์รัปชันเพื่อนำมาซึ่งการปกครองที่ดีอย่างไร

ประการสุดท้าย รัฐบาลจะรับมือและจัดการกับปัญหาชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยชาวเนปาลประมาณ ๑ แสนคนที่อยู่ทางใต้และตะวันออกของประเทศอย่างไร คนเนปาลเหล่านี้นับถือศาสนาฮินดู พูดภาษาเนปาลี มีวัฒนธรรมประเพณีแตกต่างจากคนภูฏานส่วนใหญ่ซึ่งมีวัฒนธรรมแบบทิเบต เป็นพุทธ และพูดภาษาซงข่า คนเนปาลในภูฏานส่วนหนึ่งได้อพยพลี้ภัยไปอยู่ในค่ายผู้อพยพในเนปาล โดยเฉพาะหลังจากการขับไล่ชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลตั้งแต่ปี ๒๕๓๓

ขอต้อนรับประเทศประชาธิปไตยใหม่ล่าสุดของโลก และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรกของดินแดนแห่งมังกรสายฟ้า

ขอขอบคุณ :
คุณณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ สำหรับความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภูฏาน