Hope - จากบรรณาธิการ ฉบับที่ 459

ผลการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๖ ประชาชนที่ไปเลือกตั้งเทเสียงมาให้ฝ่ายค้านเดิมหรือที่เรียกว่าฝ่ายประชาธิปไตย มีคะแนนรวมทิ้งห่างฝ่ายพรรครัฐบาลเดิมซึ่งสืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร

หลายคนมีความหวังว่าประเทศไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้เสียทีโดยเฉพาะการได้แกนนำจัดตั้งรัฐบาลคือพรรคก้าวไกล ซึ่งได้คะแนนเสียงเฉือนชนะพรรคเพื่อไทยอย่างที่เซียนการเมืองคาดไม่ถึง

การจัดตั้งรัฐบาลคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก และอาจเกิดความพลิกผันจากปัจจัยหลายอย่าง 

ย้อนมองประเด็นสำคัญจากการเลือกตั้งครั้งนี้  คือการที่ประชาชนได้ใช้สิทธิตัดสินอนาคตของตัวเอง ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย (แม้จะมีความกังวลกันมากกับการทำหน้าที่ของ กกต.) และชัยชนะของพรรคก้าวไกลก็ยังแสดงถึง “กระแส” ที่มีเหนือกว่า “กระสุน” (เงิน) จากผลงานโดดเด่นที่เคยแสดงในรัฐสภา การประกาศจุดยืนและนโยบายการนำพาประเทศที่ชัดเจน ประกอบกับภาพลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ ทำให้กระแสการกาพรรคก้าวไกลพุ่งสูง  รวมทั้งบางคนอาจมองเห็นปัญหาหากเลือกพรรคเดิม ๆ จากทั้งสองฝั่ง

ไม่มีใครรู้หรอกว่าในช่วง ๔ ปีข้างหน้า คณะพรรครัฐบาลใหม่จะทำผลงานได้ดีตามที่หาเสียงไว้แค่ไหน แต่วัฏจักรการเลือกตั้ง ๔ ปีก็จะเป็นฤดูการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มภายใต้ต้นไม้ประชาธิปไตยซึ่งที่ผ่านมาแทนที่จะมีโอกาสเติบโตงอกงาม กลับถูกตัดยอดทิ้งจากการทำรัฐประหารบ่อยครั้ง จนทำให้พัฒนาการทางประชาธิปไตยล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

มองไปยาวๆ หากระบอบประชาธิปไตยมั่นคง ถึงใครจะมาเป็นผู้บริหารประเทศก็ไม่อาจดำรงอำนาจได้ตลอดไป เพราะอย่างช้าสุดทุก ๔ ปีประชาชนจะมาร่วมกันกำหนดทิศทางของตนเองอีกครั้ง ว่าจะไปต่อกับพรรครัฐบาลขณะนั้น หรือเปลี่ยนไปหาพรรคใหม่ที่ให้ความหวังมากกว่า

มนุษย์ยังมีโอกาสทุก ๔ ปี แต่ธรรมชาติไม่มีโอกาสเช่นนั้นหลายปีมาแล้วที่ธรรมชาติอยู่ภายใต้การทำรัฐประหารที่เรียกว่า “ปลูกป่า”

หลายคนอาจเข้าใจว่าการปลูกป่าเป็นเรื่องดี เป็นกิจกรรมช่วยโลกให้มีพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้น มีต้นไม้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเดี๋ยวนี้จะได้ยินคำโฆษณากันมากขึ้นว่าเป็น “คาร์บอนเครดิต”

แต่ความจริงป่าทุกแห่งเกิดขึ้นจากการคัดเลือกของธรรมชาติผ่านกระบวนการทางวิวัฒนาการมานับแสนนับล้านปี ทำให้มีสิ่งมีชีวิตหลากหลายอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นระบบนิเวศในพื้นที่แห่งนั้น

ส่วนการปลูกป่า มนุษย์ถืออำนาจสิทธิ์ขาด ตัดสินใจโดยไม่ฟังเสียงธรรมชาติ กำหนดตามความเห็นของมนุษย์ว่าที่ตรงไหนจะให้ต้นไม้ชนิดใดเข้ามาอยู่ จากไม่กี่ชนิดที่ตนเองรู้จักมักคุ้นตัดสินพื้นที่ธรรมชาติหลายแห่งว่าเสื่อมโทรม สั่งประหารถางตัดทุกชีวิตที่อยู่มานานแล้วทิ้ง เพื่อปลูกต้นไม้อื่นที่ชอบแทน ทั้งที่ไม่ว่าจะเป็นพืชพันธุ์เล็ก ๆ หรือดงไม้พุ่มเตี้ย จะสวยงามหรือน่าเกลียด ต่างก็มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของสถานที่นั้น

การปลูกป่าที่ทำกันอยู่ แท้จริงแล้วคือการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ คือการให้สัมปทานผูกขาดแก่บางชีวิตที่มนุษย์คาดหวังผลประโยชน์ตอบแทน

ถ้าธรรมชาติมีสิทธิลงคะแนนเสียง เธอคงเลือกพรรคที่ยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลาย เปิดเสรีภาพให้สิ่งมีชีวิตทุกเผ่าพันธุ์ได้เติบโตอย่างอิสระตามศักยภาพของพื้นที่ โดยไม่ให้มนุษย์เข้ามายุ่งเกี่ยว

ปี ๒๕๖๖ ประชาชนคนไทยเริ่มมีความหวังกับความก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตย

แต่ประชาธรรมชาติยังคงไร้ความหวังภายใต้เผด็จการตัวร้ายที่ชื่อ “มนุษย์”

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี
suwatasa@gmail.com