วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์ ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

kasian01

สำหรับคนที่ติดตามการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งแบ่งขั้วในสังคมไทยเวลานี้ ในที่สุดจะนำไปสู่สถานการณ์รุนแรงถึงขั้นสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตหรือไม่

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาได้ทำให้ประชาชนแตกแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ศรัทธาในตัวคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ และกลุ่มที่เห็นว่าคุณทักษิณเป็นภัยต่อประเทศชาติ จากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตและข้อกล่าวหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทักษิณหลายครั้ง และจบลงด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ด้วยเหตุผลสำคัญคือป้องกันไม่ให้ความแตกแยกขัดแย้งรุนแรงจนนำไปสู่การนองเลือด

แต่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ พรรคพลังประชาชน หรือพรรคไทยรักไทยเดิม ก็ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานพร้อมๆ กับการกลับมาเมืองไทยของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ย้ำเสมอว่าจะยุติบทบาททางการเมือง ขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าคุณทักษิณอยู่เบื้องหลังพรรคพลังประชาชนและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มาโดยตลอด

เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของคุณสมัคร สุนทรเวช ประชาชนทั่วไปก็เชื่อว่าความขัดแย้งที่ทุกฝ่ายเคยมีจะหาทางสมานฉันท์กันได้ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าจากราคาน้ำมันและราคาข้าวของทุกชนิดถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วน่าจะทำให้ทุกฝ่ายละทิ้งความขัดแย้งทางการเมือง หันหน้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ

ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายจะพักรบ คุมเชิงกันชั่วคราว

แต่เพียงไม่กี่เดือนรอยร้าวก็เริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อผู้นำรัฐบาลใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตน มีการยึดกุมสื่อไว้ในมือ ย้ายข้าราชการชั้นสูงหลายตำแหน่ง และล่าสุดเมื่อพรรคพลังประชาชนประกาศว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ก็ได้กลายเป็นชนวนและตัวเร่งปฏิกิริยาให้การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายรุนแรงขึ้น

ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วนอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย มีรากมาจากรัฐประหาร ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้เชื่อว่า พรรคพลังประชาชนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านการลงประชามติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่คนเพียงกลุ่มเดียว และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็รวบรัดตัดตอน ไม่ฟังเสียงของประชาชน

อารมณ์ความไม่พอใจของมวลชนทั้งสองฝ่ายเริ่มคุกรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จากความเห็นที่สวนทางกัน ต่างฝ่ายต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายผ่านสื่อต่างๆ โดยตั้งอยู่บนอคติโกรธเกลียดมากกว่าเหตุผลจนส่อเค้าว่าสถานการณ์อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง

แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่เคยออกมาเตือนสติสังคมไทยในเวลานี้ก็ไม่มีใครยอมฟังอีกต่อไป

สังคมไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน