เรื่องและภาพ : บารมี เต็มบุญเกียรติ

kwangpa01

ในดินแดนสูงชันเต็มไปด้วยผาหินเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ชนิดหนึ่ง วิวัฒนาการอันยาวนานทำให้สีสันของพวกมันกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ทั้งรูปร่างยังเหมาะกับการเคลื่อนไหวไปมาบนผาหินอย่างปราดเปรียว ความที่พวกมันดำรงชีพในถิ่นอาศัยเฉพาะเจาะจงและมีความสามารถในการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมค่อนข้างต่ำ อีกทั้งหลงเหลือจำนวนประชากรในธรรมชาติไม่มากนัก เมื่อเผชิญกับการล่าและผืนป่าถูกบุกรุกทำลาย จึงมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงยิ่งขึ้น

ปัจจุบันพวกมันกระจายพันธุ์ตามแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติ แถบเทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาริมแม่น้ำปิง ทว่าแหล่งอนุรักษ์เหล่านี้ถูกปิดล้อมด้วยถนน เขื่อน หมู่บ้าน ที่ทำกิน ฯลฯ ส่งผลให้เส้นทางอพยพหากินเดิมถูกปิดกั้น พื้นที่อันจำกัดนี้ยังซ้อนทับกับพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งนับวันจะเพิ่มขึ้นๆ นั่นหมายความว่าโลกบนผาสูงชันลดน้อยลงเต็มที
อนาคตของเผ่าพันธุ์บนผาสูงจึงน่าเป็นห่วงไม่น้อย

ชื่อไทย : กวางผา
ชื่อสามัญ : Goral, Chinese Goral, Long-tailed Goral
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Naemorhedus griseus (Milne-Edwards, ๑๘๗๒)
อันดับ : Artiodactyla
วงศ์ : Bovidae
สถานภาพ : ใกล้สูญพันธุ์ (endangered species) ตามการจัดลำดับของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN), จัดอยู่ในบัญชี Appendix I ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES), สัตว์ป่าสงวน ๑ ใน ๑๕ ชนิด ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕

ราว ๒๐ ปีก่อน…รุ่งเช้าบนยอดดอยหัวหมด สายหมอกขาวโพลนกว้างไกลสุดสายตา เราพากันเดินลัดเลาะปีนป่ายเพื่อหามุมถ่ายรูป เดินไปไกลเต็นท์จนข้ามผ่านมาถึงอีกยอดหนึ่ง จู่ ๆ เพื่อนร่วมทีมก็ชี้ไปยังอีกด้านของผาไกลออกไปร่วม ๕๐๐ เมตร สัตว์สี่เท้าราว ๗-๘ ตัวเคลื่อนตัวลงจากไหล่เขาสู่พื้นล่าง มันวิ่งลงผาเร็วจนน่าอัศจรรย์ จุดเล็ก ๆ ที่เราเห็นเปลี่ยนตำแหน่งไปมาอย่างรวดเร็ว ไม่นานมันก็กลืนหายไปกับสภาพแวดล้อม

เรามองหน้ากัน ไม่มีการยินดี ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีใครตื่นเต้น มีเพียงความเห็นจากเพื่อนคนหนึ่งว่าคงเป็นวัวที่ชาวบ้านนำมาปล่อยทิ้งไว้

การเดินทางครั้งนั้นนับเป็นการเดินเที่ยวป่าครั้งแรกของผม และเป็นครั้งแรกที่ได้พบเห็นสิ่งมีชีวิตที่ว่านั่น ซึ่งผมมารู้ภายหลังว่ามีความสำคัญและหายากเพียงใด

kwangpa16

นอกจากสีสันที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมแล้ว การที่พวกมันมักยืนนิ่งเป็นเวลานานๆ และเดินในทางด่านรกชัน ทำให้ไม่อจพบเห็นตัวได้ง่ายนัก (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว)

kwangpa11

หน้าผาฝั่งปะทะหมอกมีความชุ่มชื้นสูงเป็นแหล่งพรรณไม้พืชอาหารหลากหลายชนิด จึงเป็นอีกหนึ่งมุมโปรดของพวกมัน(เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว)

kwangpa02

กวางผามีลักษณะทั่วไปคล้ายเลียงผาแต่มีขนาดเล็กกว่า ขนสีน้ำตาลเทา บริเวณท้องมีสีจางกว่าลำตัว ขาหน้าทั้งสี่มีสีน้ำตาลแดง ขาท่อนล่างมีสีครีมคล้ายใส่ถุงเท้า บริเวณตา ริมฝีปาก คอ อก และโคนหางมีแต้มสีขาว เขาสั้นโค้งไปด้านหลัง หว่างเขาถึงหลังหูมีกระจุกขนเป็นยอดแหลมสีน้ำตาลเข้มชัดเจน และมีแผงขนสีน้ำตาลไหม้พาดผ่านจนถึงหาง หางสั้นและเป็นพุ่ม (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว)

kwangpa05

กวางผามักอาศัยหน้าผาหลบอันตรายจากผู้ล่าที่มีถิ่นอาศัยในป่าดินบนสันเขาและที่ราบด้านล่าง (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย)

kwangpa06

เรามักเชื่อกันว่ากวางผาชอบออกมายืนอาบแดดแต่จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมพบว่า พวกมันมักออกมายืนตามก้อนหินเป็นประจำ ไม่ว่าวันนั้นจะมีแดดมีหมอกหรือสายฝนโปรยปราย

จากนั้นผมมีโอกาสขึ้นลงดอยอีกหลายครั้งในโครงการสำรวจพรรณไม้บนดอยเชียงดาว ครั้งหนึ่งระหว่างทางขากลับเราหยุดกินข้าวกันที่เชิงดอยสามพี่น้อง วิวเบื้องหน้าคือทิวเขาทอดตัวยาวมาจากดอยพีระมิด ชื่อว่าดอยหนอก มีหน้าผาสูงชันและต้นค้อเชียงดาวขึ้นกระจายทั้งยอดสลับกับหินก้อนเล็กใหญ่ ผมคว้ากล้องสองตากวาดมองไปบนยอดเขา และแล้วก็พบสัตว์ชนิดหนึ่ง แวบแรกคิดไปถึงเลียงผา แต่ดูสักพักก็พบว่าไม่น่าใช่ เมื่อตั้งใจดูจึงค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นกวางผา-สัตว์ป่าสงวน ๑ ใน ๑๕ ชนิดของไทย ครั้นเห็นมันกระโจนจากก้อนหินลงไปยังทุ่งหญ้าเชิงเขา ท่ากระโจน
นี้เองทำให้ผมนึกถึง ‘วัว’ ที่ดอยหัวหมดในวันนั้น มันเป็นท่าทางเดียวกัน ความไม่รู้ในตอนนั้นทำให้ผมมองข้ามและเกือบจะหลงลืมบางอย่างไป

ปี ๒๕๔๒ ผมกลับมาค้นคว้าข้อมูล พบว่าถิ่นอาศัยและการกระจายพันธุ์ของกวางผานั้นอยู่ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย จ. แม่ฮ่องสอน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่เลา-แม่แสะ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ. เชียงใหม่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ. เชียงใหม่และตาก ประมาณการว่าที่ดอยม่อนจองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อยมีกวางผาอยู่ราว ๒๐ ตัว ตามแหล่งอนุรักษ์อื่น ๆ คาดว่าน่าจะมีอยู่ราว ๑๐ ตัว ถ้าจะติดตามบันทึกภาพคงไม่ใช่เรื่องง่าย

ต่อมาหนึ่งในทีมงานสำรวจพรรณไม้บนดอยเชียงดาวบันทึกภาพกวางผาได้ที่สันดอยพีระมิดด้านต่อกับยอดดอยหลวงเชียงดาว เป็นภาพกวางผา ๒ ตัวยืนอยู่บนผาหินปูน แสดงให้รู้ว่ามันอาศัยในถิ่นที่มีสภาพแวดล้อมแบบใด และจากคำบอกเล่าของ มงคล สาฟูวงศ์ ผู้ช่วยนักวิจัยจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ทำให้ได้รู้ว่าการเก็บข้อมูลกวางผามีมานานแล้ว ในช่วงแรกทีมสำรวจเก็บข้อมูลพื้นฐาน ดูการแพร่กระจาย สำรวจรอยเท้าและกองมูล ไปจนถึงเฝ้าดูพฤติกรรม มีการเก็บมูลไปจำแนกชนิดพืชอาหารและทำโป่งเทียมให้สัตว์ป่า

ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมีดอยหลวงเชียงดาวเป็นยอดสูงสุด มีดอยบริวารคือดอยพีระมิด
ดอยสามพี่น้อง ดอยหลวง ดอยกิ่วลม ดอยหนอก ดอยกิ่วป่าม่วง ซึ่งทางเขตฯ เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นชมเฉพาะดอยหลวงเชียงดาวและดอยกิ่วลม เพื่อให้ยอดดอยที่เหลือเป็นถิ่นอาศัยของกวางผา ทั้งยังเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ของพรรณไม้หายากซึ่งบางชนิดไม่พบที่ใดในโลก

ทุกครั้งที่ไปสำรวจพรรณไม้ ผมมักส่องกล้องมองหากวางผาตามยอดเขา ครั้งหนึ่งที่ตามหาเอื้องน้ำต้นเชียงดาว กล้วยไม้ดินหายากชนิดหนึ่งของโลก (มักขึ้นตามสันเขาและหน้าผาเปิดโล่งที่มีความสูงมากกว่า ๑,๙๐๐ เมตร โดยเฉพาะด้านที่มีความชื้นสูง ๆ หรือด้านที่หน้าผาปะทะลมและหมอก) ผมไต่ไปตามสันดอยของยอดดอยหลวงเชียงดาวจนไปอยู่ที่ดอยกิ่วลมซ้าย ระหว่างทางผมเจอ ‘หม่อง’ หรือที่หลบนอนของกวางผาโดยบังเอิญ บริเวณนั้นมีหินกำบังลม มีแนวหญ้าล้มเป็นแถบ เดินขึ้นไปสันเขาด้านบนยังมีรอยกัดกินเหยื่อเลียงผา พืชในวงศ์เทียนที่มีลำต้นอวบน้ำ ตามหินก้อนใหญ่ ๆ มีมูลของมันถ่ายทิ้งไว้ แต่ด้วยเวลาอันจำกัดผมจึงไม่ได้กลับไปซุ่มดูว่ากวางผาวนเวียนมาบริเวณนั้นอีกหรือไม่

การเดินทางขึ้นดอยเชียงดาวยังต่อเนื่องมาอีกหลายปี ครั้งหนึ่งเราเข้ามาในช่วงแล้งและตั้งแคมป์ที่ตีนดอยสามพี่น้อง มีพรานป่ามาจุดไฟเผาหญ้าเพื่อต้อนสัตว์ไม่ไกลจากแคมป์เท่าไรนัก คืนนั้นเราเห็นไฟลุกลามเป็นวงกว้างสู่ยอดเขา บนยอดดอยสามพี่น้องนี้เองที่เพื่อนนักเดินทางคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเขาพบซากกวางผาที่ถูกล่า พรานตัดเฉพาะหัวและแล่เนื้อไปทิ้งหนังและขากองไว้ …เส้นทางที่ไกลและปลอดนักท่องเที่ยวบางครั้งก็ไม่ดีเสมอไปสำหรับกวางผา

ชีวิตบนเขาหินปูนและหมู่ไม้อัลไพน์

ปลายธันวาคม ๒๕๕๐ ผมกลับขึ้นดอยหลวงเชียงดาว จ. เชียงใหม่ เย็นวันแรกผมตัดสินใจไปดูทำเลที่นั่งซุ่ม จากจุดที่ขึ้นไปนั่งส่องกล้องไกลออกไปราวครึ่งกิโลเมตร มองเห็นกวางผา ๓ ตัววิ่งเล่นกระโจนขึ้นหินก้อนสูงกว่าระดับหัวคน วิ่งขึ้นวิ่งลงไล่กันอย่างคล่องแคล่ว ผมนั่งดูมันพร้อมบอกลา
แสงสีแห่งวัน แม้ระยะจะค่อนข้างไกล แต่การได้เห็นพวกมันในอิริยาบถผ่อนคลายเช่นนี้เป็นรางวัลชิ้นงามและถือเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายสำหรับวันสิ้นปี

เช้าแรกของปีใหม่ ความเย็นปลุกผมตื่นขึ้น ผมกลับไปจุดเดิมอีกครั้ง น้ำค้างเย็นเยียบทำเอากางเกงเปียกชื้นไปทั้งตัว ยามหนาวแรกมาเยือนหญ้าเริ่มแห้ง ต้นสาบเสือเป็นอุปสรรคหนึ่งของการเข้าหาเป้าหมาย เพราะเสียงย่ำไปบนต้นที่แห้งกรอบนั้นดังพอจะทำให้กวางผาตื่นตระหนกและหลบไปอยู่ในมุมที่มันคิดว่าปลอดภัย

วันนี้ผมลงไปลึกกว่าจุดเมื่อวานร่วมร้อยเมตร แต่เมื่อส่องหาพบว่ามันเปลี่ยนจุดไปไกลขึ้น ระยะไกลเกินกว่าจะเก็บภาพ วันทั้งวันจึงหมดไปกับการเฝ้าดูพฤติกรรมของพวกมัน กวางผาเดินหากินไปเรื่อย ๆ อาหารหลักคือหญ้าหลากชนิด เมื่อกินอิ่มมันจะหาที่นอนเคี้ยวเอื้อง และจะนอนเคี้ยวเอื้องอยู่นานจนไม่เป็นอันทำอะไรเลยนับชั่วโมง

kwangpa09

กวางผาเป็นสัตว์กินพืชจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับวัว ควาย เมื่อมันกิ่นอิ่มมันมักจะนอนเคี้ยวเอื้องเป็นเวลานาน เพื่อช่วยให้การย่อยอาหารที่มีกากและเส้นใยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในภาพกำลังยืนเคี้ยวเอื้องหลังจากนอนเคี้ยวเอื้องอยู่เป็นนาน(อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์)

ราวบ่ายสามโมงผมเดินกลับไปที่ยอดดอยหลวงเชียงดาวเพื่อเก็บภาพพระอาทิตย์ตก ระหว่างนั้นผมใช้กล้องสองตาส่องไปตามสันเขาที่อยู่ด้านหน้า ผมแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง เพราะบนหินใหญ่ด้านหน้านั้นมีกวางผาสองแม่ลูกยืนเคียงข้างกัน สีของมันกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ระยะห่างระหว่างเรามีเพียงอากาศกั้นและมันก็อยู่ไกลจากแคมป์ด้านล่างไม่ถึงครึ่งกิโล

มันไม่ได้แสดงท่าทีแตกตื่นกับเสียงเอ็ดตะโรของนักท่องเที่ยว คาดว่าคงคุ้นชินกับเสียงและมีระยะปลอดภัยอยู่ เมื่อเห็นว่ามันไม่ตื่นกลัวผมจึงแบกเลนส์ไต่ลงไปตามหน้าผาเพื่อให้ได้ระยะใกล้ที่สุดจนมองกลับขึ้นมาไม่เห็นคนจากข้างบน เส้นทางที่เดินลงไปผ่านโพรงถ้ำใหญ่ภายในเป็นห้องกว้าง
พื้นมีรอยกีบและบนหินก็มีดินเลอะอยู่ คาดว่าเป็นทางเข้าออกสู่ด้านใน คงเป็นหม่องที่กวางผาใช้หลบนอนในช่วงฝนยามปลอดคน

ผมไต่ลงไปจนสุดทาง กวางผาแม่ลูกยังยืนท่าเดิมราวกับสตัฟฟ์ไว้ แต่โชคไม่เข้าข้างเมื่อดวงอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาเร็วกว่าที่คิด ถ่ายภาพได้ไม่กี่ภาพก็ค่อย ๆ ปีนกลับขึ้นมาที่จุดเดิมอย่างยากเย็น เมื่อหันไปอีกทีกวางผาตัวลูกหายไปแล้ว เหลือเพียงตัวแม่ที่ยืนอยู่จนดวงอาทิตย์ตก

วันต่อมาผมลงไปสังเกตการณ์ที่เดิม ภาพเดิม ๆ ย้อนกลับมาอีกครั้ง กวางผายังอยู่ที่เดิม ระยะห่างของวันนี้ไม่ต่างกับเมื่อวาน คราวนี้ผมเลยเข้าไปใกล้อีก และตัดสินใจทำซุ้มบังไพรทิ้งไว้เพื่อให้ได้ระยะที่ดีขึ้น

วื้ด ๆ ๆ…พั่บ ๆ ๆ ๆ เสียงใบค้อต้องลมดังเป็นระยะ ราวตีห้าครึ่งของวันใหม่เริ่มมองเห็นสายหมอกขาวไหลตามแรงลม บางครั้งบดบังทิวทัศน์เบื้องหน้าหายไป แสงแรกแห่งวันค่อย ๆ ไล่โทนจากแดงมาส้มจนจืดจาง ฝูงนกกะรางหัวแดงร้องดังมาจากแนวไม้ด้านล่าง ผมนั่งมองทิวทัศน์ตรงหน้ามา ๓ ชั่วโมงแล้ว ทิศทางแสงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยตามองศาของดวงอาทิตย์ ด้านหน้าซุ้มนกจาบปีกอ่อนสีกุหลาบบินมาเกาะต้นไม้แห้งให้ดูเพลิน ๆ หันกลับมาทางหน้าผาฝั่งขวาสุดก็เห็นกวางผายืนอยู่แล้ว คราวนี้ใกล้กว่าเดิมระยะประมาณร้อยเมตร เป็นกวางผาโตเต็มวัย ไม่นานกวางผาเด็กก็กระโจนออกมา แล้วกระโดดไต่ไปตามผาในเส้นทางเดียวกัน มันยืนบนหินใกล้ ๆ กัน ไม่นานก็เดินหายไปในทางด่าน

สองชั่วโมงผ่านไปมันโผล่ออกมาอีกครั้ง คราวนี้ยืนอยู่นานและมองไปที่เบื้องล่าง จ้องมองอยู่อย่างนั้นถ้ามันไม่ขึ้นมายืนบนหินก็ไม่มีโอกาสเห็นได้เลย

พรืด ๆ สวบสาบ ๆ…ใกล้ ๆ บังไพรมีเสียงดังกระชั้นขึ้นเรื่อย ๆ ผมนั่งแทบไม่กระดิก พอเสียงใกล้เข้ามากวางผาตัวนั้นหันมองตามเสียง ไม่ถึง ๕ วินาทีมันก็กระโจนลงไปเกือบร้อยเมตรทางด้านล่างที่ตัดดิ่งลงไปเกือบ ๗๐ องศา และวิ่งหายไปด้วยความรวดเร็ว เจ้าของเสียงคือลูกหาบแบกน้ำขึ้นมา เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมรู้ว่ากวางผานั้นมีหูที่ดีเลิศ แม้ไกลร่วมร้อยเมตรยังได้ยิน ทั้งยังเคลื่อนไหวได้ว่องไวมากบนหน้าผา

ครั้งนี้ผมเจอกวางผาตามยอดต่าง ๆ รวมกันมากถึง ๑๐ กว่าตัว มีแนวโน้มว่าปริมาณจะสูงขึ้นเพราะเห็นกระจายตัวอยู่ตามยอดต่าง ๆ แต่มันคงประสบปัญหาไม่ต่างกับสัตว์อื่น คือพื้นที่หากินรายล้อมด้วยหมู่บ้านและถนนตัดผ่าน อพยพไปไหนไม่ได้ อยู่ในเกาะป่าที่ถูกเมืองล้อมจนเกิดการผสมพันธุ์กันเองในเครือญาติ ทำให้ลูกที่เกิดมามีสายพันธุ์ไม่แข็งแรง หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อนาคตของกวางผาคงไม่ต่างจากสมเสร็จบนยอดเขาพนมเบญจา จ. กระบี่ ที่เส้นทางการอพยพ
ถูกสวนยางพาราปิดล้อม หรือฝูงโลมาในโตนเลสาบสงขลาที่ถูกเขื่อนปิดกั้น ในไม่ช้าพวกมันอาจพบจุดจบไม่ต่างกันคือสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไปจากแหล่งธรรมชาติทีละแห่ง ๆ

หนึ่งเดือนถัดมา ผมกลับขึ้นมาอีกครั้งพร้อมหาที่ทำบังไพรใหม่ คราวนี้ระยะค่อนข้างดี ผมเข้าบังไพรแต่เช้ามืดและกลับค่ำ ๔ วันติดต่อกันแต่ไม่เจอกวางผาสักตัว ไกลออกไปทางด้านล่างตรงนั้นผมเคยส่องกล้องสองตาเห็นพวกมันอยู่ตามยอดดอยบริเวณใกล้ ๆ กัน สายลมพัดพาความชุ่มชื้น
มาสู่ยอดดอย หน้าผาฝั่งรับลมนั้นดูเขียวขจีและชุ่มชื้น บางทีพวกมันอาจหลบไปหากินอยู่ฝั่งนั้น

ผมกลับขึ้นดอยหลวงเชียงดาวอีกครั้งช่วงฤดูหนาว เส้นทางเดิมบัดนี้มีสาบเสือขึ้นปกคลุมไปทั่ว กว่าจะมาถึงจุดที่เคยซุ่มดูใช้เวลาเกือบชั่วโมง ไม่แน่ใจว่ากวางผาฝูงเดิมยังวนเวียนอยู่แถวนี้หรือไม่ แต่เพราะอาหารบริเวณนี้สมบูรณ์และอยู่ห่างไกลนักท่องเที่ยว ผมจึงเชื่ออยู่ลึก ๆ ว่ามันไม่น่าจะย้ายที่หากินไปไหน

ผมกลับมาอยู่ในบังไพร โลกแคบ ๆ ที่ทำให้ผมได้ใกล้ชิดกับพวกมัน เมื่อใช้กล้องส่องไปตามหินก็สะดุดตากับยอดด้วนๆ ของเหยื่อเลียงผา พรรณไม้อีกชนิดที่กวางผาชื่นชอบ บนหน้าผาอีกฟาก ฟองหินเหลืองกับหญ้าดอกลายบานสะพรั่ง เทียนเชียงดาวสีม่วงสดขึ้นตามซอกหินเป็นกระจุก พืชกลุ่มขิงข่าหลายชนิดใบเริ่มเหลืองก่อนจะแห้งเหี่ยวทิ้งใบเหลือไว้แต่เหง้าแสดงถึงลมหนาวเริ่มมาเยือน

หมอกหนาทึบไหลตามลมมา ภาพตรงหน้าเริ่มจางหาย จนเมื่อลมพาหมอกพัดจางไป กวางผาตัวแรกก็ปรากฏกาย มันยืนในจุดใกล้ ๆ กับที่ประจำ แต่คราวนี้เดินลงมาจากยอด ลัดเลาะใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ ตามก้อนหินปูนที่เรียงรายอยู่ หยุดกินหญ้าและกระโจนขึ้นหินก้อนสูงเพื่อเล็มยอดเหยื่อเลียงผาที่อยู่ด้านล่าง มองจากกล้องส่องทางไกลมันเป็นกวางผาตัวใหญ่โตเต็มวัย มีขนสีขาวยาวออกมาจากหู เดินหากินอยู่ราว ๑๐ นาทีก็หายลงไปในหุบเบื้องล่าง

kwangpa15

กวางผามีหูที่ดีเลิศ เมื่อได้ยินเสียงผิดปรกติจะหยุดยืน และหันหน้ามาเงี่ยหูฟังทันที (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว)

kwangpa07

ร่างสีดำนั้นคือเลียงผาตัวโตเต็มวัย มันเดินหายไปทางสันเขาและโผล่ขึ้นมาด้านบนใกล้ๆ กับกวางผา คาดว่าคงจะกลับขึ้นไปหลบนอนตามริมผาเพราะปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่ามากกว่าด้านล่าง(อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์)

kwangpa08

ในช่วงที่อาหารสมบูรณ์กวางผามักเลือกกินเฉพาะยอดอ่อนของพืช ส่วนในฤดูแล้งที่น้ำมีจำกัดมันมักกินพืชที่มีลำต้นอวบน้ำมากกว่าปรกติ ในภาพกำลังแทะเล็มยอดอ่อนของเหยื่อเลียงผา พรรณไม้ที่พวกมันโปรดปราน (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว)

วันที่ ๒ ของการติดตาม ทิศทางแสงตอนเช้านี้ดีมาก แล้วโชคก็เข้าข้างเพราะวันนี้กวางผาออกมาต้อนรับแสงแรกบนยอดเขา ผมไม่เคยเห็นมันขึ้นไปถึงบนนั้น แต่เป็นที่ที่จินตนาการไว้ว่าอยากให้มันมายืน บนยอดสูงสุดมันยืนตากแดดสักพักก็เดินมาแทะเล็มยอดอ่อน แหล่งสะสมอาหารซึ่งถือเป็นอาหารชั้นเลิศของฤดูกาลนี้

ราวบ่ายโมงเมื่อไม่พบกวางผาในบริเวณนี้ ผมจึงออกจากซุ้มเร็วกว่าปรกติเพื่อจะไปสำรวจอีกฝั่งของดอยหลวงเชียงดาว ครึ่งชั่วโมงก็เดินขึ้นไปถึงสันเขา ขณะนั่งพักผมส่องกล้องลงไปดูอีกครั้ง ไม่น่าเชื่อบนหินก้อนใหญ่ที่อยู่ไกลออกไปทางด้านหน้าซุ้มบัดนี้มีกวางผาตัวหนึ่งกำลังนอนเคี้ยวเอื้องอยู่ ระยะนี้ถ้าอยู่ที่ซุ้มจะค่อนข้างดีมาก ผมตัดสินใจกลับลงไปอีกครั้ง เพราะเวลาที่มันเคี้ยวเอื้องจะนอนอยู่นาน ถ้าค่อย ๆ เข้าไปช้า ๆ โอกาสที่จะได้ภาพมีค่อนข้างสูง ขาลงผมใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ นาทีมาอยู่ใกล้ ๆ จุดที่ตั้งซุ้ม ใช้แนวหินและต้นไม้กำบังตัวไว้ กวางผาตัวนั้นเป็นกวางผาวัยรุ่น นอนอยู่สักพักก็ลุกขึ้นยืนเคี้ยวเอื้องอีกนาน จากนั้นล้มตัวนอนต่ออีกพักใหญ่ก่อนจะเดินลงไปหากินที่ทุ่งหญ้า

บ่ายสามโมงผมกลับขึ้นยอดดอยหลวงเชียงดาว เสียงโหวกเหวกของนักท่องเที่ยวที่ดังก้องหุบทำให้ผมเห็นการเคลื่อนไหวอีกด้าน บนดอยกิ่วลมต่ำลงมาจากยอดราว ๓๐ เมตร กวางผาเด็กกระโจนออกมาจากเงาไม้ คาดว่ามันคงนอนพักผ่อน เมื่อตกใจตื่นจึงวิ่งขึ้นสู่ยอดด้านบน มองดูดี ๆ พบว่ามีอีก ๓ ตัววิ่งไปก่อนหน้านั้น จุดหมายคือยอดเขาและหลบหายลับไปในอีกฝั่ง

แปดโมงเช้าวันรุ่งขึ้นเราพบมันนอนอยู่บริเวณโป่งดิน การกินโป่งจะช่วยให้พวกมันได้รับแร่ธาตุที่จำเป็นอย่างแคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม และฟอสฟอรัส กวางผาหลายตัวกินดินจากบริเวณนี้ และกวางผาฝูงนี้มีที่พักผ่อนและหากินอยู่ใกล้ ๆ โป่ง บางครั้งวิ่งตามกันลงมาที่ทุ่งหญ้า

ช่วงสาย ๆ กวางผา ๓ ตัวนอนอยู่ใต้โคนไม้ใหญ่ พวกมันนอนสลับกับลุกยืนเคี้ยวเอื้องอยู่อย่างนั้นนานนับชั่วโมง จนบ่าย ๆ ก็เริ่มลงมาหากินที่ทุ่งหญ้าและกลับขึ้นไปบริเวณเดิมอีกครั้ง คราวนี้เห็นมันเดินขึ้นมาพร้อมกันถึง ๖ ตัว ในฝูงมีตัวเด็กอยู่ตัวหนึ่ง มันวิ่งขึ้นไปบนหินก้อนใหญ่และกระโดดลอยตัวกลางอากาศ พร้อมสะบัดตัวและงอขาหน้าลง บางครั้งโดดชี้ขาหลังขึ้นและบิดตัว มันกระโดดเล่นอยู่อย่างนั้นเพียงลำพังนานนับสิบนาที จากนั้นกวางผาตัวใหญ่กว่าวิ่งเข้ามาหา เจ้าตัวเล็กวิ่งหนี เจ้าตัวใหญ่วิ่งไล่กันเป็นวงกลม จากนั้นเจ้าตัวเล็กมุดเข้าใต้ท้อง ลอดขาหลังเจ้าตัวใหญ่วิ่งพันแข้งพันขากันไปมา มันกระโดดวนเวียนหยอกเย้าตัวใหญ่อยู่หลายนาที

กวางผาฝูงนี้เริ่มกระจายตัวอีกครั้ง สองตัวเดินเล็มหญ้าลงไปที่ทุ่งหญ้า ด้านบนถัดไปไม่ไกลจากกวางแม่ลูก อีกสองตัวเดินตามกันอยู่ในอาณาเขตแห่งความรัก เจ้าตัวหลังก้มลงใช้หน้าถูสีข้างตัวหน้า ดมและมุดหัวไปเลียอวัยวะเพศของตัวหน้า จากพฤติกรรมคาดว่าเป็นตัวผู้ และอาจกำลัง
เกี้ยวกัน

บนภูผาเจ้าตัวผู้พยายามจะขึ้นทับแต่ตัวเมียไม่ยอม มันขยับเดินหนี เจ้าตัวผู้เดินตาม แล้วจู่ ๆ กิจกรรมการเกี้ยวก็หยุดชะงักเมื่อลิงฝูงหนึ่งเข้ามาหากินใกล้ ๆ ทำลายบรรยากาศโรแมนติก กวางผากับลิงอาจไม่ค่อยถูกกัน ผมนึกถึงงานศึกษาของ รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ เรื่องนิเวศวิทยาของกวางผา รัตนวัฒน์เล่าว่า ขณะติดตามพฤติกรรมกวางผาพบฝูงลิงวอกหากินผ่านเข้ามา ลิงมักวิ่งไล่ ส่วนกวางผาจะเป็นฝ่ายหนีมากกว่า แต่บางครั้งกวางผาตอบโต้โดยการย่อขา ก้มหัวลงพร้อมจะพุ่งเขาใส่ลิงวอก โดยจะพุ่งใส่ช่วงลำตัวของลิง และจะทำเช่นนี้จนกว่าฝูงลิงจะหนีไปหากินบริเวณอื่น ไม่เพียงเท่านั้นรัตนวัฒน์ยังพบรูปแบบการเกื้อกูลกันของกวางผากับนกอีกด้วย เช่นนกปรอดเทาหัวขาวและนกกระปูดเล็กที่อาศัยกินปรสิตตามตัวกวางผาเป็นอาหาร เป็นการพึ่งพากันในธรรมชาติ

ฝูงลิงจากไปทางด้านล่าง กวางผาเลิกเกี้ยวกันแล้ว ๑ ใน ๒ ตัวลงไปที่ทุ่งหญ้า กวางผาที่กระจัดกระจายเมื่อครู่เริ่มเข้ามารวมกลุ่มอีกครั้ง มีตัวหนึ่งแยกจากกลุ่มวิ่งขึ้นไปยังยอดเขา สักพักมันก็หยุดยืนกางขาหลังออก ย่อก้นลงถ่ายมูลและฉี่ เสร็จเรียบร้อยจึงวิ่งกลับลงมาที่ทุ่งหญ้า หลังจากนั้นผมสังเกตเห็นมันขึ้นไปถ่ายมูลซ้ำที่เดิมอีกหลายวัน สงสัยว่าอาจเป็นการทำสัญลักษณ์เพื่อประกาศอาณาเขตไม่ให้กวางผาฝูงอื่นล่วงล้ำเข้ามา ไม่เช่นนั้นทำไมมันไม่ถ่ายมูลที่ทุ่งหญ้า กลับวิ่งขึ้นเขาให้เหนื่อย แต่จะเป็นด้วยเหตุนั้นจริงหรือไม่ก็ยากจะคาดเดา

ผมเชื่อว่าจ่าฝูงของกวางผาฝูงนี้คือเจ้าตัวผู้ที่มีขนหูสีขาวยาวออกมา รูปร่างล่ำสันและมีเขายาวสวยงาม มันกลับขึ้นมาที่เชิงเขาใกล้ ๆ กับซุ้มบังไพร ค่อย ๆ ไต่ขึ้นไปบนก้อนหินอย่างทะมัดทะแมง ระหว่างเดินขึ้นมันก้ม ๆ เงย ๆ เล็มเทียนเชียงดาว เหยื่อเลียงผา คำหิน และหญ้าต่าง ๆ กินเป็นระยะ พืชหลายชนิดเป็นพืชหายากและพบเฉพาะยอดดอยแห่งนี้เท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่าพวกมันช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ให้ไปงอกงามไกลต้นแม่ด้วยการถ่ายมูล กวางผาจึงเป็นหนึ่งในผู้กระจายเมล็ดพันธุ์พืชบางชนิดอย่างไม่ตั้งใจ

มันเดินขึ้นไปจนสุดแล้วกระโจนพรวดขึ้นก้อนหินก้อนเดียวกับตัวเมื่อวาน จากนั้นยืนหันหน้าไปทางทุ่งหญ้าและเห่าเรียกฝูง “แฮ็กซ์ แฮ็กซ์ แฮ็กซ์ ๆ” เสียงดังกังวานก้องหุบ โดยเสียงแรกจะเห่าและเว้นระยะประมาณ ๓ วินาที ร้องดังต่อเนื่องกัน ๓-๔ ครั้งแล้วหยุดราว ๑๐ วินาที แล้วจะเห่าเรียกอีก ทำซ้ำอยู่อย่างนี้หลายครั้ง เวลาเห่ามันจะโยนคอไปด้วย

ไม่นานมันวิ่งลงหินลับหายไป กวางผาด้านล่างที่ทุ่งหญ้าตามเจ้าตัวนี้ขึ้นมาทั้งฝูงและหายไปในเหลี่ยมเขาทางซ้ายทำให้ผมมั่นใจว่ากวางผาตัวผู้เป็นผู้นำฝูง อย่างน้อยก็ในฤดูผสมพันธุ์

kwangpa08

จากมุมนี้มองเห็นแผงขนสีน้ำตาลไหม้พาดยาวตามแนวสันหลังไปจนจรดโดนหางและหางที่สั้นเป็นพุ่มของมันได้ชัดเจน (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว)

ผมได้ยินเสียง “แฮ็กซ์ แฮ็กซ์ แฮ็กซ์ ๆ” อีกครั้ง คราวนี้เสียงดังมากเพราะระยะที่ได้ยินใกล้และกระชั้นขึ้นมาเรื่อย ๆ เมื่อมองไปในบริเวณจุดเดิมไม่มีกวางผาสักตัว เอามือป้องหูถึงรู้ว่ามันอยู่ด้านล่างนี่เอง กวางผา ๔ ตัวคาดว่าเป็นคนละฝูงวิ่งขึ้นมาจากด้านล่างทางขวา ตัวหนึ่งเข้ามาใกล้มากจนผมต้องกดมุมกล้องลงเกือบสุด มันเดินกินหญ้าอยู่หน้าซุ้มในระยะห่างไม่ถึง ๑๕ เมตรในแนวดิ่ง มุมนี้ทำให้มองเห็นแผงขนสีน้ำตาลไหม้ตรงหว่างเขาไล่ลงไปจรดหางได้อย่างชัดเจน อีก ๓ ตัววิ่งตามขึ้นมาและร้องเสียงดังก้องหุบ การร้องนั้นอาจบอกเพื่อนร่วมฝูงถึงสิ่งแปลกปลอม แต่สำหรับการส่งเสียงร้องขณะวิ่งเล่นและหากินนั้นถือเป็นการโต้ตอบสื่อสารกันตามปรกติ เพื่อบอกตำแหน่งและเตือนภัย

ล่วงมาถึงบ่ายสี่โมงกว่าแล้ว กวางผาตัวที่อยู่ใกล้ยิ่งเข้ามาใกล้อีกในระยะห่างเพียงสิบกว่าเมตร มันเดินกินหญ้าและหยุดยืนนิ่งนานนับสิบนาที ผมมองมันด้วยตาเปล่าได้ชัดเจน ราวครึ่งชั่วโมงมันจึงเริ่มขยับกระโจนขึ้นหินน้อยใหญ่อย่างคล่องแคล่ว บางทียืนอยู่บนพื้นหินลาดเอียงได้เป็นเวลานานอีก ๓ ตัวอยู่ไม่ไกลกันนัก เห็นเพียงหัวโผล่มางับหญ้าสูง ๆ พอก้มลงกอหญ้าก็บังร่างมิดหายไป สุภาษิตที่ว่า สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ยังใช้ได้กับกวางผา เพราะขณะที่มันวิ่งเล่น จังหวะหนึ่งที่มันกระโจนขึ้นหินก้อนเล็กนิดเดียว มันเสียหลักจนเกือบพลัดตก แต่ก็ทรงตัวได้ในเวลาไม่นาน หลังจากนั้นมันยืนนิ่งอยู่นาน มีช่วงหนึ่งมันยกขาหลังขึ้นมาเกาหน้า จากนั้นพุ่งตัวลงไปด้านล่างและหันหน้ามองมาทางซุ้มบังไพร มันอาจจะได้ยินเสียงชัตเตอร์ ผมจึงหยุดบันทึกภาพ จังหวะนี้เองผมได้เห็นขนใต้คอสีขาวของมันอย่างชัดเจน ริมฝีปากบนมีขนสีขาวมองคล้ายคนหนวดหงอก รอบตามีรอยประจาง ๆ สีขาว

กวางผามีประสาทสัมผัสดีเลิศในการรับกลิ่นและการได้ยิน หากได้กลิ่นแปลกปลอมจะยื่นหน้าไปในอากาศและสูดหายใจเข้าต่อเนื่อง หากได้ยินเสียงมันจะหันหน้ามาทางแหล่งกำเนิดเสียง ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่ามันมองเห็น แต่จริง ๆ แล้วสายตาของมันไม่ดีนัก และที่มันมองตรงมายังต้นเสียงเป็นนานเพื่อใช้หูฟังทิศทางเสียงมากกว่า

ด้วยระยะที่ใกล้กลิ่นแปลกปลอมอาจลอยไปเข้าจมูก มันทำท่าสงสัยและหันมามองบ่อยครั้ง ครั้นเห็นว่าไม่มีอะไรผิดปรกติจึงก้มลงกินหญ้าต่อ ผมอยู่ในซุ้มจนดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ปล่อยให้มันหายไปกับแสงสลัวจึงรีบเดินกลับที่พัก การเฝ้าดูพฤติกรรมอย่างใกล้ชิดทำให้ผมคาดเดาจังหวะของกวางผาได้บ้าง และความคิดว่าจะบันทึกภาพกวางผาบนดอยหลวงเชียงดาวก็เริ่มขยายออกไป อยากเดินทางไปในสถานที่อื่น ๆ เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมของกวางผาในต่างถิ่นที่ และสถานที่ที่คิดขึ้นได้ในแวบนั้นก็คือ ดอยม่อนจอง ภูผาที่ทำให้คนไทยรู้จักกับ “ม้าเทวดา”

ม่อนจอง จุดเริ่มต้นการอนุรักษ์กวางผาไทย

ลมหนาวกลับมาอีกครั้ง ผมมายืนอยู่บนยอดดอยม่อนจองในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จ. เชียงใหม่ บริเวณที่มีการสำรวจพบกวางผามากที่สุดในประเทศไทย ไม่แน่ใจว่านานเท่าไรแล้วที่ผมได้ยินชื่อดอยแห่งนี้เป็นครั้งแรก จำได้ว่าได้ยินจากรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง กล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ทุ่มเททำงานเพื่อการสำรวจกวางผา และหนึ่งในทีมสำรวจพลัดตกเขาเสียชีวิต เป็นข่าวใหญ่ทีเดียวในช่วงนั้น

ผมเดินทางมาถึงหน่วยพิทักษ์ป่ามูเซอเพื่อเปลี่ยนรถและติดต่อลูกหาบที่นี่ ใกล้ ๆ หน่วยฯ มีศาลเจ้าพ่อคำนึง ณ สงขลา ผมนึกถึงรายการในวันนั้น บุคคลที่เสียชีวิตในครั้งนั้นก็คือคุณคำนึงนี่เอง เวลานั้นเขาเป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่ามูเซอ และได้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมงานสำรวจกวางผากับ ดร. แซนโดร โรวาลี ซึ่งได้รับทุนจากนิตยสาร National Geographic ให้มาศึกษากวางผาที่ดอยม่อนจองในปี ๒๕๒๘ ในคณะมีคุณสืบ นาคะเสถียร ดร. ชุมพล งามผ่องใส จากคณะวนศาสตร์ ม. เกษตรศาสตร์ และคุณกฤษณ์ เจริญทอง หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าม่อนจอง ร่วมเดินทางไปด้วย

คุณกฤษณ์เล่าว่าในวันเกิดเหตุ “ช่วงเช้ามีไฟไหม้ทุ่งหญ้าทางด้านล่าง คาดว่าน่าจะเป็นไฟที่เกิดจากชาวบ้านเผา แต่ไม่คาดคิดว่ามันจะไหม้ขึ้นมาถึงด้านบนได้ พวกเราจึงออกสำรวจไปตามปรกติ พี่สืบเห็นกวางผาเดินลงไปทางหน้าผาด้านล่าง เข้าใจว่าน่าจะเป็นถ้ำที่หลบนอน จึงไต่ตามลงไปดูกับคำนึง แต่พี่สืบฟิล์มหมด ผมจึงกลับขึ้นมาที่ด้านบนเพื่อเอาฟิล์มกลับลงไปใหม่ ตอนผมขึ้นมาพวกนั้นก็ยังลงไปเรื่อยๆ จนมองจากด้านบนไม่เห็น ดร. ชุมพลตามลงไปอีกแต่อยู่สูงกว่า ยังไม่ทันที่ผมจะเอาฟิล์มลงไปให้ มีลมกระโชกแรงพัดเข้ามาปะทะหน้าผาและพาเอาเปลวไฟขึ้นมาด้วย

“ขณะนั้นที่หน้าผาแต่ละคนต่างหันหน้าหลบเข้าหน้าผา พี่สืบฟุบหน้าหลบในขณะที่เปลวเพลิงผ่านไปอย่างรวดเร็ว เผาไหม้ผมและชุดของทีมสำรวจ หลังจากไฟสงบจึงพบว่าคำนึงหายไป พวกเราเดินตะโกนเรียกหาก็ไม่พบ ปีนไปชะโงกดูตามผาก็ไม่เห็น จึงตัดสินใจลงไปหาที่ทุ่งหญ้าโดยลงจากทางหน้าผาและใช้เชือกช่วยยึดมัดกับต้นไม้ไต่ลงไป พอไปถึงด้านล่างเดินหาก็ยังไม่พบ จึงใช้กล้องส่องหาตามหน้าผา เมื่อไม่เจอจึงเดินไปที่หมู่บ้านให้ตามคนมาช่วย กว่าจะพบศพนี่นานเป็นเดือน ๆ ร่างของคำนึงนั้นตกไปอยู่ระหว่างซอกเขา จะลงไปจากข้างบนก็ยาก จะขึ้นมาจากข้างล่างก็ชัน ทำให้การเก็บกู้ศพเป็นไปด้วยความยากลำบาก”

การสำรวจกวางผาสัตว์ลึกลับที่ยากจะพบตัวในครั้งนั้นจึงยุติลง กว่าที่คนภายนอกจะได้รู้จักเรียนรู้เรื่องราวของพวกมัน มีคนส่วนหนึ่งต้องทุ่มทั้งกายทั้งใจและเวลาเพื่อศึกษา และมีคนคนหนึ่งที่ทุ่มเทไปทั้งชีวิต

รถพาเราไต่ระดับขึ้นไปตามสันดอย ผ่านป่าสนจนมาสุดทางรถ เดินไปสักพักเริ่มมีหน้าผาหิน ช่างเป็นสถานที่ที่เหมาะกับพวกมันจริง ๆ เราเลือกพักบนแคมป์ด้านบนเพื่อจะได้เดินสำรวจได้ไกล ๆ ก่อนจะเดินไปที่พักเพื่อนคนหนึ่งชี้ลงไปที่หน้าผา บอกว่าจากจุดนี้ลงไปเมื่อ ๙ ปีที่แล้วเขาถ่ายภาพกวางผาได้หลายตัว ดอยม่อนจองนี้โล่งและชัน การเข้าหากวางผาในระยะใกล้ ๆ ทำได้ยาก การซุ่มต้องเปลี่ยนวิธีเพราะบังไพรจะดูเป็นส่วนเกินของธรรมชาติมากกว่า เย็นนั้นเรานั่งมองดวงอาทิตย์ตกที่ริมผา ลมเย็น ๆ พัดมาพร้อมไอหมอกสีขุ่นมัว แสงแดดค่อย ๆ จางหายไป เราจึงขนของเดินลงไปที่แคมป์

ภาพกว้างของม่อนจองภายใต้แสงเช้านี้ ฝั่งด้านตะวันออกนั้นเป็นป่าดิบสมบูรณ์ ส่วนด้านตะวันตกเป็นหน้าผามีความลาดชันสูง มีไม้ขึ้นกระจายอยู่เป็นหย่อม ๆ ส่วนใหญ่เป็นหญ้าเพราะมีไฟไหม้อยู่เป็นประจำ ทำให้ต้นไม้ใหญ่มีไม่มาก หน้าผาที่ลาดลงส่วนใหญ่เป็นหิน ความชันเฉลี่ยอยู่ที่ ๗๐ องศา ด้านล่างเป็นลานหินสลับทุ่งหญ้ากว้าง มีหินก้อนใหญ่และผาหินบางส่วนที่แยกตัวออกไปจากแนวเทือกเขา

kwangpa17

กวางผามีศัตรูในธรรมชาติน้อยมาก เนื่องจากสภาพถิ่นที่อาศัยเป็นหน้าผาสูงชัย ปลอดจากสัตว์ผู้ล่าจะมีก็เพียงมนุษย์-ภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุดสำหรับพวกมัน (อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์)

kwangpa10

บริเวณลานหินที่มีน้ำไหลพัดพาแร่ธาตุต่างๆ มายามที่น้ำระเหยไปเหลือไว้แต่เกลือแร่จึงกลายเป็นแหล่งอาหารเสริมชั้นดีของกวางผา (อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์)

ผมเดินไปตามทางเพื่อไปผาเล็ก ๆ ก่อนถึงทางขึ้นดอยหัวสิงห์ จะเซอ มูเซอรุ่นเก่าบอกว่าตรงนี้เมื่อก่อนมีกวางผาอยู่นับสิบ หินแต่ละก้อนเต็มไปด้วยกวางผา ๓-๔ ตัวออกมานอน แต่เดี๋ยวนี้หาดูยากแล้ว เราปีนลงไปหาที่เหมาะ ๆ ทางด้านล่างที่เป็นลานหินขนาดใหญ่ มีทุ่งหญ้าและไม้พุ่มเล็กๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป ผมส่องกล้องไปตามก้อนหินใหญ่ๆ ทุกก้อนไล่จากซ้ายไปขวา ตั้งแต่เช้าจรดเที่ยงก็ยังไม่พบ บางทีกวางผาอาจหลบนอนพักผ่อนอยู่ เราเดินออกไปสำรวจทางด้านหลังดอยหัวสิงห์ เส้นทางเต็มไปด้วยดอกหญ้าเหลี่ยมขึ้นสลับทำให้พื้นหญ้าที่เดินมีสีม่วงแซมไปทั่วทุกทิศทาง กุหลาบพันปีต้นใหญ่ใกล้ดอยหัวสิงห์กำลังเริ่มตูมดอก อีกไม่นานมันจะผลิบานและเป็นแหล่งน้ำหวานให้นกนานาชนิด

ด้านบนเราพบผีเสื้อหางติ่งแววเลือนและผีเสื้อแดงอินเดียบินหากินอยู่ตามยอด ไม่แน่มันอาจจะมากินเกลือแร่จากฉี่ที่สัตว์หรือคนถ่ายทิ้งไว้ ระหว่างนั้นเพื่อนที่ล่วงหน้าไปอีกหน้าผาหนึ่งก็กลับมาแล้วผิวปากเรียกพร้อมกับทำท่างอมือเข้าหาตัวแบบท่าม้ากระโดด ท่านี้จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากกวางผา

“มีอยู่ตัวหนึ่ง ด้านล่างนู่นเลย ไกลมาก ๆ” เพื่อนกระซิบบอก ผมส่องกล้องกวาดลงไปดูรอบ ๆ

“มีอีกตัวหนึ่ง นอนอยู่ลานหินกว้าง ๆ ด้านซ้ายถัดไปสัก ๕ เมตร” ผมชี้ให้เพื่อนดูกวางผาอีกตัวพร้อมส่งกล้องให้เจ้าหน้าที่ที่ไปกับเราดูด้วย จากนั้นผมปลดกระเป๋ากล้องกองทิ้งไว้ ถือลงไปเฉพาะเลนส์ ๕๐๐ มม. เพื่อความคล่องตัว การเข้าหากวางผานั้นทำได้ยากกว่าที่เชียงดาว และต้องคอยระวังเพราะทางชัน ผมมองลึกลงไปเพื่อดูว่าเส้นทางไหนจะลงไปได้ใกล้ที่สุด สักพักเราสามคนลงมาจากจุดเดิมราว ๕๐ เมตร

กวางผาตัวที่นอนอยู่ยืนขึ้นแล้วเดินไปทางขวา ไปหยุดนอนห่างจากเดิมราว ๆ ๗๐ เมตรบนก้อนหินใต้ไม้ใหญ่หันไปดูอีกตัวยังยืนอยู่ในท่าเดิม ผมค่อย ๆ ไต่ลงไปอีกและหยุดเก็บภาพเป็นระยะ ๆ พอมันหันมาก็หมอบลงให้ต่ำที่สุดจนมาปักหลักที่หินก้อนหนึ่งและนั่งเฝ้าดูเผื่อว่าจะมีตัวอื่นอยู่ใกล้ ๆ มันนอนเคี้ยวเอื้องอยู่ที่เดิมและอยู่อย่างนี้อีกเป็นชั่วโมง เรากลับขึ้นไปและเดินต่อไปที่ดอยหัวสิงห์น้อยที่อยู่ไกลออกไป

kwangpa04

บางครั้งกวางผาจะเดินไต่ไปตามสะพานหินธรรมชาติที่แคบและชันเพื่อขึ้นไปกินยอดไม้ของพืชบางชนิด หลายครั้งปีนขึ้นไปเพื่อหลบนอนพักผ่อน (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว)

บนทางเดินผมพบมูลของกวางผาตามรายทาง มีร่องรอยของด่านใหม่ ๆ หลายแห่ง ตกเย็นระหว่างเดินกลับขึ้นเขาลูกหนึ่ง ผมได้ยินเสียงที่คุ้นเคย “แฮ็กซ์ๆๆ” เบาๆ ลอยมาตามสายลม มองไปทางด้านล่างก็ไม่พบ ทางด้านซ้ายก็ไม่มี “แฮ็กซ์ๆๆ” เสียงดังมาอีกครั้ง คราวนี้ผมจับทิศได้ มันมาจากหน้าผาที่อยู่เหนือขึ้นไป แล้วภาพที่ไม่คาดคิดก็ปรากฏต่อสายตา กวางผา ๒ ใน ๓ ตัวกำลังกระโดดเล่นกันอยู่บนหน้าผา มันกระโดดข้ามก้อนหิน เห็นท้องของมันชัดเจน ฉากหลังเป็นท้องฟ้า การกระโจนไปมาบนหน้าผาที่ลาดชันเกือบถึงยอดสูงสุดซึ่งมีความชันไม่ต่ำกว่า ๖๕ องศานั้นสมฉายาว่า “ม้าเทวดา” ที่ชาวมูเซอใช้เรียกขานจริง ๆ มันไต่ระดับลงมาด้วยความรวดเร็วแล้วมาหยุดบนก้อนหินยืนกินยอดไม้ที่อยู่ข้างล่าง ฟ้าเริ่มมืดลงเรื่อย ๆ เวลาของวันนี้หมดแล้ว ผมจึงต้องรีบกลับขึ้นข้างบน ระยะทางยังอีกไกลและหมอกหนาวเริ่มพัดมาไม่ขาดสาย

ตีห้าผมกับเพื่อนกลับขึ้นมาบนสันดอยม่อนจองอีกครั้ง จุดหมายคือไปให้ทันเช้าในจุดที่เจอเมื่อวาน เราขึ้นสู่ยอดดอยหัวสิงห์ และเดินต่อไปเรื่อย ๆ ที่หัวสิงห์น้อย บริเวณนี้เองที่คุณคำนึงเสียชีวิต และเป็นอีกบริเวณที่จะเซอบอกว่าเมื่อก่อนมีกวางผาชุกชุม ด้วยระยะทางที่ยาวไกลเราจึงใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเดิน

ผมรีบลงไปที่จุดซุ่ม มองลงไปเห็นจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ เคลื่อนไปมา เมื่อใช้กล้องส่องถึงเห็นว่าเป็นลิงอ้ายเงียะ ลิงที่มีหน้าตาเหมือนคนไว้ผมแสกกลาง เคราขาวและหางยาว ลิงฝูงนี้หากินไปมาระหว่างป่าร่องเขาด้านล่างกับแนวผาหินทางด้านบน จนบ่าย ๆ ระหว่างเดินกลับผมเห็นกวางผาตัวหนึ่งยืนอยู่บนผนังผาซึ่งเป็นหน้าผาตัดดิ่งมุมฉากลงไป ตรงที่มันเดินนั้นเป็นรอยแตกของผามองเห็นแค่หัวกับตัวโผล่มา แต่มันก็ผลุบหายไปอีกด้าน ผมเดินกลับข้ามฟากมานั่งซุ่มอยู่ แล้วก็ได้พบอะไรบางอย่าง อีกฝั่งของหน้าผาซึ่งไม่น่าจะมีทางขึ้นมาได้มีคนเดินขึ้นมา มองจากกล้องสองตาเห็นสะพาย
ปืนแก๊ปมาด้วย บางทีกวางผาตัวนี้อาจจะหนีขึ้นมาจากข้างล่าง ระยะห่างระหว่างพรานกับกวางผาไม่น่าเกิน ๔๐ เมตร ผมลุกออกจากที่ซุ่มและเดินไปหาเขา เมื่อพรานคนนั้นเห็นเข้าจึงรีบเดินตัดลงไปอีกทางลับหายไป นี่คงเป็นสาเหตุหลักของการที่กวางผาลดจำนวนลงมากจากดอยม่อนจองอย่างรวดเร็ว ผมกลับขึ้นมาที่ดอยหัวสิงห์และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ ดูจะเซอคงไม่พอใจและเชื่อว่าเป็นชาวบ้านที่มาจากเขาทางด้านหลังที่มีหมู่บ้านอยู่ โชคดีที่วันนั้นไม่มีเสียงปืนดังขึ้น

รุ่งขึ้นเรากะว่าจะกลับไปที่เดิม แต่เหตุการณ์เมื่อวานอาจทำให้กวางผาตื่นและหลบลงไปในป่าพื้นราบ เราจึงไปเฝ้าพวกมันตรงหน้าผาใกล้ดอยหัวสิงห์ ช่วงเช้าป่าร่องเขาที่อยู่ด้านล่างยังมืดดำจากเงาของเทือกเขา จนสาย ๆ แสงถึงจะลอดส่องลงมา เรากะจะปักหลักกันที่นี่แต่เช้า โดยให้จะชีกับจะเออ มูเซอ ๒ คนช่วยแบกน้ำกับอุปกรณ์ทำอาหารมาทำบนสันเขา เมื่อคืนผมได้คุยกับจะชี พอเขารู้ว่าผมออกไปถ่ายภาพและเจอกวางผาทุกวันเลยอยากตามมาด้วย เขาบอกว่าหาบของมา ๖ ปียังไม่เคยเห็นกวางผาเลยสักตัว โดยเฉพาะม่อนจองในวันนี้ ไม่อาจพบกวางผาได้บ่อยเหมือนเมื่อก่อน

หลังกินข้าวราว ๆ ชั่วโมง สิ่งที่จะชีอยากเจอก็ปรากฏกาย ผมเรียกจะชีกับจะเออมาดูภาพจากกล้องเพื่อให้เขารู้ตำแหน่ง จากนั้นจึงส่งกล้องสองตาให้เขาดู กวางผาตัวนี้นอนนิ่งอยู่บนหน้าผาลาดเอียง หันหน้าตรงมา สีของมันกลมกลืนกับบรรยากาศรอบตัว ขนาดจะชีมองจากกล้องที่ตั้งเล็งไว้เขายังถามว่าอยู่ไหน ๆ จนเมื่อมันเริ่มขยับเขาจึงยิ้มออก ด้วยระยะที่ไกลมาก ๆ เราจึงเดินกลับไปทางลงตรงริมผาใกล้ ๆ กับที่พบมัน

วื้ด ๆ พึ่บ ๆๆๆ เสียงนกแอ่นและนกนางแอ่นบินฉวัดเฉวียนผ่านไปในระยะใกล้ ไกลออกไปหน้าผาอีกฝั่งหนึ่งเต็มไปด้วยนกนางแอ่นนับร้อยที่บินมาเกาะอาบแดด บนทางที่ก้าวลงไปพบว่าด่านสัตว์นั้นตัดไปมามากมายหลายด่าน แต่ด้วยความที่เป็นหน้าผาชันมันจึงเดินตัดลงไปแบบค่อยๆ เลาะขอบลงไป ไม่ได้ตัดลงตรง ๆ เมื่อลงไปจนได้ความห่างที่เหมาะสมผมจึงปักหลัก ไม่นานหมอกก็พัดไหลมา ฉากสุดท้ายผมเห็นกวางผาตัวนั้นยืนขึ้น ใช้ขาขุดอะไรสักอย่างคาดว่าเป็นหญ้า และก้มลงนอนต่อ นานนับชั่วโมงที่สายหมอกห่มคลุม พออากาศเปิดมันก็หายไปแล้ว เราค่อย ๆ ไต่ไปตามผา ร่วม ๒ ชั่วโมงจึงพบมันอยู่ไม่ไกลจากจุดเดิม มันเดินชิดเข้ามาทางหน้าผามากขึ้น พื้นที่มันยืนอยู่นั้นเป็นผนังหินแกรนิตซึ่งต่างไปจากเชียงดาวที่เป็นหินปูน มันยืนขึ้นและนอนเคี้ยวเอื้อง จากนั้นก็นอนลงที่เดิมจนตกเย็น

ผมอยู่ที่นี่อีก ๒ คืน สำรวจพบรอยและด่านหลายจุด แม้ครั้งนี้จะพบพวกมันไม่มาก แต่โล่งใจที่กวางผาแห่งม่อนจองยังไม่ลดจำนวนลงมากนัก จะเซอเล่าให้ฟังว่าด้านล่างที่พรานขึ้นมาเคยมีคนเลี้ยงวัวมาเจอศพพรานคนหนึ่งนั่งพิงต้นไม้ ไม่แน่ใจว่าตายด้วยสาเหตุอะไร ผมเดินกลับลงจากดอยม่อนจอง พลันในใจคิดว่า ที่นี่มีคนมาเสียชีวิตอย่างน้อย ๒ คน คนหนึ่งมาเพื่อปกป้องกวางผา ส่วนอีกคนมาเพื่อล่า

หากบ้านหลังสุดท้ายของกวางผาถูกทำลาย เรื่องราวของ “ม้าเทวดา” เสน่ห์ที่เคยมีอยู่คู่ดอยม่อนจองแห่งนี้ คงเหลือทิ้งไว้เพียงตำนาน

กิ่วแม่ปานกับการอยู่รอดของกวางผา

ผมกลับขึ้นดอยอินทนนท์พร้อมทีมงานกรีนเอเชีย เพื่อไปถ่ายทำเรื่องราวชีวิตของกวางผา เราเข้าไปติดต่อทางอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ. เชียงใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการถ่ายทำและขอเข้าออกพื้นที่ก่อนเวลาเพื่อถึงจุดซุ่มก่อนกวางผาออกหากิน โดยเลือกทำงานที่เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน เส้นทางสูงชันกับอากาศที่เบาบางทำให้เราเหนื่อยง่ายกว่าปรกติ เราปีนลงไปเฝ้าที่หน้าผาด้านล่าง จากมุมนี้สามารถเห็นพื้นที่ค่อนข้างกว้าง ด้านซ้ายเป็นหินขนาดใหญ่ตั้งตระหง่าน มีชื่อเรียกว่า ผาแง่มน้อย ส่วนด้านขวาเป็นเทือกที่ต่อมาจากยอดดอยทอดยาวลงไป ผาฝั่งนี้สูงชัน ตรงกลางเป็นลานหินมีไม้ต้นใหญ่ขึ้นสลับ ใกล้ ๆ กับจุดซุ่มมีกุหลาบพันปีต้นใหญ่ จากจุดนี้ถ้าเราตั้งขาตั้งกล้องติดพื้น เมื่อมองมาจากข้างล่างไม่มีทางเห็นได้เลย จึงไม่ต้องทำบังไพร ใช้เพียงผ้าพรางคลุมขาตั้งไว้ก็เพียงพอ

ลงไปไม่นานกวางผาตัวหนึ่งก็ออกมายืนเด่นอยู่ที่พื้นราบด้านล่าง ที่น่าประหลาดใจคือกวางผาค่อย ๆ โผล่ออกมา กระจัดกระจายไปตามจุดต่าง ๆ คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า ๑๐ ตัว ที่ลานหินใกล้ ๆ ทางด่านล่างพบกวางผา ๔ ตัว กวางผาแม่ลูกทยอยออกมาจากป่าทึบ พวกมันออกมาเดินกินหญ้านานนับชั่วโมง ระหว่างที่เล็มหญ้า จู่ ๆ เจ้าตัวแม่ก็ก้มลงเลียลานหิน จากนั้นตัวลูกเข้ามาเลียบริเวณใกล้ ๆ กัน เมื่อพวกมันเดินจากไป อีก ๒ ตัวที่เหลือก็เข้ามาเลียที่จุดเดิม สายน้ำคงพัดพาธาตุอาหารมา เมื่อแดดแรงและน้ำซับระเหยไป เกลือแร่ที่เหลือจึงติดอยู่ตามลานหินให้กวางผาฝูงนี้ได้ใช้เป็นแร่ธาตุเสริมสร้างร่างกาย

ช่วงเย็นทุ่งหญ้าเป็นสีทอง แสงเริ่มน้อยลงทุกที ระหว่างที่ผมเก็บของได้ยินเสียง “แฮ็กซ์…แฮ็กซ์” ดังขึ้นในระยะใกล้มาก ผมหยุดนิ่งสักพัก คาดว่ากวางผาคงได้ยินเสียงผม เมื่อมองหาจึงพบกวางผาตัวหนึ่งยืนอยู่ในระดับความสูงเดียวกัน ห่างออกไปราว ๔๐ เมตร บนหน้าผาอีกเว้าหนึ่งถัดไปจากเว้าผาที่เราลงมาซุ่ม

มันมองเขม็งมา ผมยืนนิ่งไม่ขยับเขยื้อน หน้าที่จ้องมองเขม็งของมันทำให้หลาย ๆ คนเชื่อว่ากวางผามองเห็นได้ไกล แต่จากประสบการณ์ผมเชื่อว่ากวางผามีสายตาไม่ดีนัก และในสภาพแสงที่ใกล้จะหมดวันเช่นนี้มันยิ่งไม่น่ามองเห็น คงจะตกใจกับเสียงผิดปรกติมากกว่า กวางผาไวต่อกลิ่นและเสียงที่แตกต่าง หากมีกลิ่นและเสียงผิดแปลกไปมันจะยืนนิ่ง ร้อง และยกขาหน้าขึ้นใช้กีบกระทืบดิน สักพักมันละสายตาและเริ่มวางใจ กวางผาเด็กอีกตัวเดินตามออกมา มันค่อย ๆ วิ่งกระโดดลงผาไป เมื่อใช้กล้องสองตาดูชัด ๆ ผมเชื่อว่ากวางผาตัวนี้กำลังจะมีลูก มันค่อย ๆ โดดลงไปช้า ๆ ตามหินจนลงไปถึงลานหินด้านล่าง

ก่อนหกโมงเช้าผมกลับมาที่จุดเดิม ราวเจ็ดโมงกว่ากวางผาเด็กก็โผล่มาให้เห็น ตามมาด้วยตัวที่ตั้งท้อง และอีก ๓ ตัวโผล่ออกมาใกล้ ๆ กับจุดเดิมที่เห็นเมื่อเย็นวาน วันนี้ผมได้เห็นพฤติกรรมอีกอย่างที่ไม่เคยเห็น นั่นคือการลับเขา มันก้มหน้าลงจนสุดแล้วมุดหัวเข้าไปใต้ลำตัวโดยใช้เขาลับไปกับพื้นหิน ทำเช่นนี้อยู่หลายครั้ง

kwangpa13

กวางผาวัยรุ่นในฝูงเดียวกันมักฝึกชนเขา บางครั้งก็วิ่งไล่กันกินพื้นที่กว่า ๘๐ ตารางเมตร (อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์)

kwangpa14

หลังจากฤดูผสมพันธุ์ในหน้าหนาว แม่กวางผาจะอุ้มท้องราว ๖-๘ เดือนในฤดูแล้ง และตกลูกช่วงหน้าฝนที่อุดมไปด้วยพืชอาหาร ในภาพคือแม่กวางผาที่กำลังตั้งท้อง (ซ้าย) และลูกอ่อนอายุราวขวบปีได้ (ขวา) (อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์)

และกิจกรรมที่กวางผาคู่นี้ทำเป็นประจำคือการชนเขา เริ่มจากตัวหนึ่งใช้เขาไถตามลำตัวอีกฝ่าย อีกตัวหันกลับมาและใช้หน้าผากดันกัน ในกวางผาตัวเต็มวัยการชนเขาจะดุเดือดกว่า บางครั้งตัวอยู่สูงกว่าจะยกหัวขึ้นและก้มหน้ากระแทกลงไปอย่างเร็วที่ตัวล่าง แต่จากลักษณะที่เห็นเหมือนเป็นการซ้อมชนมากกว่าการต่อสู้กัน พวกมันวิ่งขึ้นไปตามไหล่เขาจากวงแคบ ๆ แค่ไม่กี่เมตรไปจนถึงวิ่งขึ้นไปตามหน้าผาชันระยะสัก ๓๐ เมตร จากนั้นวิ่งลงมาที่เดิม วิ่งไล่กันอยู่อย่างนี้หลายรอบ พอทันกันจะชนเขากัน ทำเช่นนี้อยู่นานราวครึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงหยุดเดินหากินอยู่ใกล้ ๆ กัน

ที่กิ่วแม่ปานนี้เองผมพบกวางผาออกมาหากินพร้อม ๆ กันมากที่สุดถึง ๑๒ ตัว แต่อาจเป็นกวางผาต่างฝูงใช้พื้นที่ร่วมกัน เมื่อสังเกตเส้นทางของมันไปในทางเดียวกัน ผ่านหินก้อนเดียวกัน เพียงแต่กลุ่มใหญ่อยู่ที่ ๖ ตัว และที่เหลือกระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ที่ ๖ ตัวนี้ผ่านมา ด้วยปริมาณที่มากและกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ชอบกระทำในพื้นที่โล่งทำให้ผมได้เห็นพฤติกรรมอื่น ๆ อย่างเช่นการบิดตัวหลังจากนอนเคี้ยวเอื้อง การเลียลำตัวทำความสะอาด การดมมูลของสัตว์ตัวอื่น พฤติกรรมเหล่านี้แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง (egocentric behavior) และพฤติกรรมทางสังคม (social behavior) เช่น การป้องกันอาณาเขต การจับคู่ผสมพันธุ์ ฯลฯ พฤติกรรมทางสังคมของกวางผาที่กิ่วแม่ปานนั้นเห็นได้ชัดเจนกว่าเชียงดาวเพราะกวางผารวมกันเป็นฝูงใหญ่

จากการซุ่มดูหลายวันผมพบว่า กวางผาฝูงนี้เริ่มออกหากินในช่วงเช้าโดยทยอยเดินออกมาในบริเวณเดียวกัน พอสาย ๆ จะมาจับกลุ่มนอนตากแดดเคี้ยวเอื้องอยู่บนก้อนหิน ช่วงบ่าย ๆ จะวิ่งเล่นและหากินอีกรอบ บางตัวยังคงนอนเคี้ยวเอื้องอยู่อย่างนั้น เวลาที่ตัวอื่นเดินจากไป มันจะลุกขึ้นเดินตามโดยทิ้งระยะห่าง

บ่ายแก่ ๆ มีเสียงเครื่องบินเอฟ ๑๖ ดังขึ้นบนฟากฟ้า เครื่องบินลำนั้นบินวนรอบยอดดอยอินทนนท์ รอบแรกเสียงโซนิกบูมที่ดังขึ้นทำให้กวางผาทั้ง ๑๒ ตัวแหงนหน้าขึ้นมองฟ้า เมื่อเครื่องบินวนกลับมาพร้อมเสียงดังกระหึ่มอีกครั้ง กวางผาแต่ละตัววิ่งเตลิดกระจัดกระจายหนีลงเขาด้วยความรวดเร็ว
ตัวที่ตั้งท้องนั้นลงไปช้ากว่าตัวอื่น และตัวเด็กตัวหนึ่งเกิดพลัดหลงกับฝูงจึงพยายามเห่าเรียก เสียงร้องของมันดังอยู่นานร่วมครึ่งชั่วโมงจึงหายไป

ผมเฝ้าดูจนถึงช่วงเย็น แต่ก็ไม่พบกวางผาอีกเลย ตอนเดินกลับขึ้นสันกิ่ว ผมได้ยินเสียงแปลก ๆ ดัง “แค็ก…แค็ก” เสียงสั้นและทุ้มกว่าที่เคยได้ยิน ไกลออกไปไม่เท่าไรมีเลียงผา ๒ ตัวเดินตามกันลงมา มันคงออกจากที่นอนเพื่อมาหากินและใช้ทางด่านเดียวกับกวางผา ผมย่อตัวนั่งดูมันเดินลับเข้าไปในพุ่มไม้ เลียงผามีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับกวางผา ส่วนใหญ่มันออกหากินเวลากลางคืน ขนสีดำช่วยอำพรางตัวมันได้ดีในความมืด เมื่อความมืดห่มร่างของมันหายไปผมจึงเดินกลับขึ้นสันกิ่ว

เช้าวันรุ่งขึ้นเราไม่พบกวางผาในบริเวณเดิมอีกเลย พวกมันหนีไปอยู่ทางหน้าผาด้านขวาไกลออกไปจากจุดเดิม มองเห็นเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ และตรงจุดที่กวางผาวิ่งหนีหายไปเมื่อวานขณะนี้มีร่างสีดำกำลังเคลื่อนที่เข้ามา เจ้าของร่างคือเลียงผาตัวเต็มวัย ๒ ตัว มันเดินหายไปทางสันเขาและโผล่ขึ้นมาที่ด้านบนใกล้ ๆ กับกวางผา คาดว่าคงจะกลับขึ้นไปหลบนอนตามริมผาเพราะปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่ามากกว่าด้านล่าง กวางผาที่อยู่ไม่ห่างกันก็กำลังมองดูความเคลื่อนไหวของมัน สักพักเลียงผาทั้งสองตัวเดินผ่านกวางผาและหายไปทางสันเขาด้านหลัง กวางผาหากินอยู่ในบริเวณนั้นอีก ๒ วัน จนวันที่ ๓ มันถึงกลับมาใกล้กับที่เคยหากินประจำ

. . .

kwangpa12

ลูกกวางผากระโจนไปมาตามหน้าผาอย่างคล่องแคล่ว และมักวิ่งเล่นกระโดดไปมาริมหน้าผาโดยจะกระโจนตัวกลางอากาศแล้วสะบัดตัวกลับมาที่เดิม ท่วงท่านั้นมีตั้งแต่กระโดดยกขาหน้างอเข้าหาตัวไปจนถึงโดดชูขาหลังชี้ฟ้า (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว)

ไม่ถึงเดือนผมกลับมาที่ดอยม่อนจองอีกครั้ง วันหนึ่งเราเจอกวางผาแม่ลูกคู่หนึ่ง เจ้าตัวเล็กนั้นมุดเข้าไปใต้ท้องแม่กินนม ช่วงนี้แม่กวางผาจะอยู่ไม่ห่างลูก และจุดที่เราพบมันก็อยู่ชิดติดริมผา แม่กวางผามักพาลูกเดินหากินไปบนผาค่อนข้างชัน อาจเพราะเป็นบริเวณที่สัตว์ผู้ล่าเข้าถึงได้ยาก ครั้งนี้เรายังพบกวางผาอีก ๕ ตัว และได้เจอลูกอ่อนที่ยังไม่หย่านม ซึ่งหมายถึงลูกกวางผาตัวนั้นมีอายุไม่ถึง ๒ เดือน ที่น่าทึ่งคือลูกกวางผาตัวเล็ก ๆ สามารถวิ่งและกระโจนจากหินสูงเกือบ ๒ เมตรลงพื้นได้อย่างคล่องแคล่ว จัดเป็นพื้นฐานการดำรงชีพอย่างแรก ๆ ของมัน

ศัตรูทางธรรมชาติของกวางผาคือเสือโคร่งและเสือดาว บนยอดดอยม่อนจองเคยมีคนพบซากกวางผาถูกเสือโคร่งล่า เสือที่มีความปราดเปรียวไม่เท่ากวางผาน่าจะใช้การดักซุ่มอยู่บนยอดเขา ส่วนที่ดอยหลวงเชียงดาวเคยมีทีมงานวิจัยจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวพบซากกวางผาถูกเสือดาวล่าบริเวณตีนดอยเชียงดาว ในจุดที่เรียกกันว่า ร่องหลวง ที่มีความสูงเพียง ๑,๑๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล

kwangpa03

กวางผาเป็นสัตว์สังคมชอบอยู่ร่วมฝูงและมีอาณาเขตแน่นอน เวลาพักผ่อนมักมานอนรวมกันบนก้อนหินขนาดใหญ่ (อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์)

ภัยจากการล่าของมนุษย์ยังเป็นปัญหาหลักของกวางผาแห่งดอยม่อนจอง นิสัยชอบอยู่รวมฝูงและมีอาณาเขตแน่นอนส่งผลร้ายต่อตัวพวกมันเอง โดยพรานป่าจะใช้วิธีดูจากร่องรอยการกินและกองมูลที่ถ่ายทิ้งไว้ หากพบหม่องหรือที่หากินประจำ การล่าก็ไม่ใช่เรื่องยาก พรานจะไปดักซุ่มอยู่ บางคนใช้ไม้ตีให้เกิดเสียงดังเพื่อต้อนพวกมันแล้วให้พรานอีกคนซุ่มดักยิงตรงทางด่าน วิธีนี้มักได้ผล

อีกทั้งแหล่งที่อยู่ของกวางผายังถูกบุกรุกแปรสภาพเป็นพื้นที่ทำกินมาโดยตลอด ทำให้พื้นที่อาศัยของพวกมันลดน้อยลง ต้องหลบหนีไปแหล่งอื่นและถูกฆ่าตายในที่สุด นอกจากนี้ความเชื่อที่ว่าน้ำมันกวางผามีสรรพคุณใช้เป็นยาสมานกระดูกได้เช่นเดียวกับน้ำมันเลียงผา ทำให้กวางผาถูกฆ่า
เพื่อเอาน้ำมันอีกด้วย สถานการณ์ความอยู่รอดของกวางผาไทยจึงอยู่ในขั้นน่าวิตกอย่างยิ่ง

จากการติดตามบันทึกภาพพวกมันมาเป็นเวลานาน และหลังจากภาพสุดท้ายของการทำงานเสร็จสิ้นลง ผมยังไม่อาจรู้ได้ว่าอนาคตของกวางผาจะเป็นอย่างไร กวางผานั้นมีศัตรูในธรรมชาติน้อยมาก เนื่องจากสภาพถิ่นที่อยู่ของมันเป็นหน้าผาสูงชัน แต่ศัตรูที่น่ากลัวที่สุดสำหรับพวกมัน ก็คือ
มนุษย์เรานี่เอง

กินเวลากว่า ๘ ปีมาแล้วนับจากวันแรกที่ได้พบกวางผา และอีก ๓ ปีสำหรับความพยายามในการบันทึกภาพฝูงกวางผาในสถานที่ต่าง ๆ เป็นช่วงเวลาที่ผมได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างไปพร้อมกัน ได้พบพรรณไม้สายพันธุ์กึ่งอัลไพน์ที่หายากยิ่ง เห็นความเปลี่ยนแปลงของเชียงดาวต่างฤดูกาล ได้รับมิตรภาพจากการเดินทาง และที่สำคัญการได้เข้าใกล้สัตว์ฝูงหนึ่งเพื่อเรียนรู้ ศึกษา และบันทึกภาพพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกมาโดยไม่หวาดระแวง ทำให้ผมได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตของพวกมันมากขึ้น นอกจากนั้นเจ้ากวางผาในที่ต่าง ๆ ยังสอนให้ผมเรียนรู้ความอดทน เพราะไม่เพียงต้องบันทึกภาพที่เป็นธรรมชาติของพวกมันเท่านั้น หากยังรวมถึงเรื่องราวชีวิตที่จะถูกถ่ายทอดผ่านตัวอักษรให้ผู้คนได้เข้าใจวิถีแห่งสัตว์มหัศจรรย์บนภูผา และตระหนักถึงความพยายามของพวกมันที่จะเรียนรู้และดำรงอยู่ในสังคมร่วมกับมนุษย์ ในโลกธรรมชาติที่หดแคบและเหลือน้อยลงทุกวัน…ด้วยสัตว์ต่างสายพันธุ์ที่ร่วมโลกใบนี้อย่างเรา ๆ บางครั้งก็ไม่ได้มาแบบมิตรเสมอไป

ข้อมูลประกอบการเขียน :
รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์. “นิเวศวิทยาของกวางผาในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย”. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ๒๕๔๐.
เว็บไซต์ www.doitung.go.th
เว็บไซต์ www.trekkingthai.com

ขอขอบคุณ :
ทีมงานกรีนเอเชีย, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, คุณประทีป โรจนดิลก หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว, คุณอดิสรณ์ กองเพิ่มพูล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าอมก๋อย, คุณกฤษณ์ เจริญทอง หัวหน้าพื้นที่เตรียมการเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน, คุณอนันต์ สอนง่าย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, คุณชิติพัทธ์ โพธิ์รักษา ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, คุณมงคล สาฟูวงษ์, คุณรัตนวัฒน์ ไชยรัตน์, คุณปรีชา ประเสริฐอาภรณ์, คุณปิยะ โมคมุล, ดร. ปิยเกษตร สุขสถาน, เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์, เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว, เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย, ชาวบ้านหมู่บ้านมูเซอ