interview03

รัฐบาลอ้างว่าเงินเฟ้อมาจากสาเหตุว่าน้ำมันแพงจริงหรือไม่ครับ
พอบอกอย่างนั้นก็เลยไม่ต้องแก้ใช่ไหม มันจริงบางส่วน แต่ไม่จริงถึงขั้นที่ว่าไม่ต้องทำอะไร ถ้าบอกว่าเกิดจากราคาน้ำมันอาจทำให้เข้าใจว่าต้องแก้ด้านอุปทานอย่างเดียว ปัญหาคือเราขาดนโยบายที่จะแก้ด้านอุปทาน ไม่นับเรื่องเอาน้ำมันถูกๆ มาขาย นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาแต่เป็นการสร้างปัญหา แต่ถ้าจะไปแก้ในแง่ที่ว่าส่งเสริมการผลิตให้ productivity มากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น มาชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น นี้คือการแก้ที่ถูกทาง คำถามคือแล้วจะใช้นโยบายอะไรล่ะที่จะแก้ได้ทันที นโยบายอย่างนี้ต้องทำต่อเนื่องและต้องทำมานาน ฉะนั้นในท้ายที่สุดการที่เราขาดนโยบายระยะยาวเลยทำให้นโยบายระยะสั้นอย่างเช่นอัตราดอกเบี้ยหรือนโยบายภาษี ต้องนำมาใช้บ้าง เพียงแต่ว่าต้องนำมาใช้อย่างพอเหมาะพอควร ถ้าบอกว่าไม่ให้ใช้เลยน่ะไม่ได้ เช่นบอกว่าเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันแล้วบอกว่าห้ามขึ้นดอกเบี้ย อย่างนี้เป็นไปไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นเงินเฟ้อจะยิ่งรุนแรงใหญ่เลย แล้วถ้าเกิดเงินเฟ้อรุนแรงมากๆ ความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมก็จะแย่ลงไปด้วย ถ้าคุมสถานการณ์ไม่อยู่นะครับ เผลอๆ อาจจะเกิดวิกฤตการเงินก็ได้ กรณีของไทยยังโชคดีว่าเราผลิตสินค้าอาหารเอง ก็เลยทำให้ตัวเลขการผลิตเรายังค่อนข้างจะดี

ทำไมในหลาย ๆ ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันถึงก้าวกระโดดขึ้นสูงมาก
ผมคิดว่าหลักใหญ่คือความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้น ช่วงหนึ่งมาจากภาวะความไม่สงบในตะวันออกกลาง แต่นานวันเข้าความต้องการสินค้าตัวนี้มันขยายตัวไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย ประเทศที่มีขนาดของเศรษฐกิจใหญ่เหล่านี้โตเร็วมากและโตเร็วต่อเนื่อง จีนกับรัสเซียนี่ชัดเจนเพราะว่าความต้องการสินค้าเปลี่ยนไป ความต้องการอาหารก็เปลี่ยนไป พฤติกรรมการบริโภคก็เปลี่ยนไป ตรงนี้แหละทำให้ความต้องการพลังงานประเภทคาร์บอนขยายตัวอย่างรวดเร็ว และประเทศเหล่านี้ก็เป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวยถึงขนาดจะไปใช้เทคโนโลยีที่ดีด้วย ก็ยังอยู่ในระดับที่ใช้รถยนต์ ผมคิดว่านี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น

สองคือมีความไม่แน่นอนเรื่องของการผลิตน้ำมัน เนื่องจากว่าอุตสาหกรรมนี้มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือ เป็นอุตสาหกรรมที่ลงทุนสูง มีความเสี่ยงสูง ฉะนั้นถ้าจะสร้างโรงกลั่นที่แพงมากก็ต้องคิดหนัก ใช้เวลานาน ขณะเดียวกันตัวเลขน้ำมันสำรองทั่วโลกก็ยังไม่น่าเชื่อถือว่ามีปริมาณจริงแค่ไหน คือตัวเลขนี้เป็นการรายงานของบริษัทน้ำมันของประเทศต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความลับทางธุรกิจ ถ้าเราอยากให้ประเทศเราเป็นมาร์เกตแชร์ใหญ่ๆ เราก็บอกตัวเลขเยอะๆ ทำให้มีความไม่แน่นอนในการประเมินอุปสงค์อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ คนส่วนใหญ่เชื่อว่าน้ำมันอาจจะหมดเร็วกว่าที่คิด ก็ต้องแย่งกันซื้อน้ำมันไว้ ราคาก็แพงขึ้น และน้ำมันเป็นอุตสาหกรรมที่แปลก คือมันมีช่วงที่ราคาน้ำมันต่ำมากๆ และสูงมากๆ เราเคยเห็นราคาน้ำมันดิบ ๑๐ กว่าเหรียญต่อบาร์เรล ตอนนี้วิ่งไปที่ ๑๒๐ เหรียญต่อบาร์เรลแล้ว เป็นอะไรซึ่งเราจะต้องประเมินเสมอ ไม่แน่ว่ามันอาจจะลงฮวบฮาบไปที่ ๗๐ เหรียญต่อบาร์เรล แล้วทำให้อุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพขาดทุนย่อยยับเลยก็ได้ โรงงานพลังงานชีวภาพในอเมริกาน่าจะล้มเลยนะถ้าราคาน้ำมันวิ่งไปที่ ๖๐-๗๐ เหรียญต่อบาร์เรลนานๆ ฉะนั้นความไม่แน่นอนมันมีมากขึ้นในโลก การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจะต้องเอาปัจจัยพวกนี้มาประกอบ และทำอย่างไรจะให้ประชาชนในประเทศปรับตัวเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่มีความเสี่ยง ความไม่แน่นอนสูงขึ้น ถ้าประเทศไหนทำตรงนี้สำเร็จจะได้เปรียบ คือสามารถบาลานซ์ระหว่างความเสี่ยง (risk) กับผลตอบแทน (return) ให้ประชาชนเรียนรู้ว่าสองสิ่งนี้เป็นของคู่กันเสมอ ถ้าทำได้มากคนก็จะเก่งขึ้น อย่างสิงคโปร์เขาสำเร็จตรงนี้ คือยอมให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยง ยอมให้เกิดความไม่แน่นอน โดยเขาปล่อยเสรีมากขึ้น คนที่ประกอบธุรกิจทั่วๆ ไปเช่นขับรถแท็กซี่ยังซื้อเงินตราต่างประเทศได้เลย ตรงนี้แหละที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องของแนวคิด ปรัชญาในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ

อาจารย์คิดว่านโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ให้ลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจเดินมาถูกทางหรือยัง
ไม่ถูกทาง แบงก์ชาติพยายามที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่ก็ยังถือว่าปรับน้อยนะ ถ้าย้อนไป ๑ ปีที่ผ่านมา ดอกเบี้ยแพงกว่านี้ในขณะที่เงินเฟ้อต่ำกว่านี้อีก แต่ตอนนี้ลำบาก เพราะพอเศรษฐกิจชะลอตัว คนก็จะเรียกร้องว่าอย่าขึ้นดอกเบี้ยอีกเลย ทั้งที่ดอกเบี้ยก็ต่ำอยู่แล้ว ดอกเบี้ยนโยบาย ๓.๕ เปอร์เซ็นต์ไม่ถือว่าสูงนะ ถือว่าอยู่ระดับปานกลางค่อนข้างต่ำด้วยซ้ำไป ทิศทางดอกเบี้ยในขณะนี้จึงไม่ใช่ต้นเหตุของวิกฤต ถ้าจะบอกว่าเศรษฐกิจชะลอตัวเพราะว่าดอกเบี้ยสูงจึงไม่น่าจะถูกต้อง แต่ถ้าบอกว่าเศรษฐกิจต้องได้รับการกระตุ้นให้ถูกจุดเพิ่มขึ้น อันนั้นโอเค เช่นว่าจะตัดภาษีตรงไหนเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือรัฐจะมาลงทุนเพิ่มขึ้นตรงไหนหรือไม่ ถ้าดอกเบี้ย ๙ หรือ ๑๐ เปอร์เซ็นต์แล้วเศรษฐกิจไปไม่รอดสิ อาจจะเป็นไปได้ว่าต้นทุนดอกเบี้ยเป็นตัวการ จากตัวเลขนี้ถ้าโครงการลงทุน
ล้มเหลวคงไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ย คงเป็นเพราะมีการปล่อยกู้ไม่เหมาะสมมากกว่า เป็นการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาดของรัฐและนายธนาคาร ไม่ใช่เพราะตัวดอกเบี้ยเอง ถ้าดอกเบี้ยขึ้นมาแค่ ๐.๕ เปอร์เซ็นต์แล้วทำให้บริษัทแย่ขนาดเป็น NPL นี่อธิบายยากนะ

กลับมาเรื่องแบงก์ชาติ ผมคิดว่าแบงก์ชาติมีเครื่องมือ ๒ อัน หนึ่งคือนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่จะทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยถูกหรือแพงมากน้อยแค่ไหน พูดง่ายๆ คือบริหารสภาพคล่องของระบบการเงิน สองคือเรื่องการดูแลระบบการเงินให้มีเสถียรภาพและยั่งยืน ซึ่งแบงก์ชาติควรจะทำมากขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอาสินเชื่อที่มาจากเงินออมของประชาชนไปใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายหรือไปใช้อย่างผิดประเภท นี่เป็นงานที่ผมคิดว่าแบงก์ชาติจะต้องศึกษาพัฒนามากขึ้น แต่ก็เห็นใจว่าแบงก์ชาติไม่ได้คุมหมด เพราะธนาคารของรัฐก็ยังคุมโดยกระทรวงการคลังบางส่วน แต่ถึงอย่างไรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน การทำให้สถาบันการเงินมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ทั้งเรื่องการบริหารความเสี่ยง ทั้งเรื่องการดูแลเงินของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจก็เพียงแต่ว่าทำอย่างไรไม่ให้นโยบายการเงินไปสร้างภาระในเชิงเงินเฟ้อหรือในเชิงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่มีเหตุผลหรือเป็นประชานิยม แบงก์ชาติทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นความเชื่อถือก็หมดเลย จะเอาการเมืองมาเป็นตัวบอกทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยไม่ได้

interview04

ตอนนี้มีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างฝ่ายการเมืองกับแบงก์ชาติหรือเปล่าครับ
มีมาก เพราะว่าฝ่ายการเมืองในปัจจุบันเป็นฝ่ายการเมืองที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจ พูดง่ายๆ เป็นนักธุรกิจมากขึ้นกว่าเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีที่แล้ว ซึ่งยุคนั้นนักการเมืองมาจากราชการ ผลประโยชน์จากธุรกิจน้อย ฉะนั้นโดยพื้นฐานนักธุรกิจที่เป็นนักการเมืองเขาก็อยากให้มีการก่อสร้างเยอะๆ เพราะทุกครั้งที่เขาอนุมัติโครงการเป็นผลประโยชน์ที่เขาจะได้ ก็อยากให้แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ เศรษฐกิจจะได้เฟื่องฟู แต่ความเฟื่องฟูนี้หมายถึงผลประโยชน์ที่นักการเมืองได้ด้วย ทั้งในแง่ของคะแนนเสียงและในแง่ผลประโยชน์ที่ตัวเองไปช้อนเอามาได้ อันนี้เป็นแรงกดดันใหญ่ที่แบงก์ชาติจะต้องได้รับผลกระทบ แล้วแบงก์ชาติก็คงทำอะไรไม่ได้มากเนื่องจากเป็นลูกน้องนักการเมือง ในท้ายที่สุดพอเวลาผ่านไปนักการเมืองก็จะต้องเข้ามาในแบงก์ชาติโดยอัตโนมัติ

การที่พรรคการเมืองเกือบทุกพรรคหันมาใช้นโยบายประชานิยมกันหมดแล้ว อาจารย์มองอย่างไร
ผมคิดว่าเป็นความไม่รับผิดชอบในแง่ของผู้บริหารประเทศ มันเป็นความต้องการทางการเมืองเมื่อคุณลงสู่สนามเลือกตั้ง แต่เมื่อคุณเป็นรัฐบาลบริหารประเทศแล้วคุณต้องมีวินัยมากขึ้น คุณต้องรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี เพราะผู้บริหารประเทศไม่ได้บริหารเพื่อวันนี้อย่างเดียว แต่ต้องบริหารเพื่ออนาคตด้วย จึงไม่มีเหตุผลที่จะใช้นโยบายที่ไม่ดีเพียงเพื่อให้ได้เสียง มันมีทางเลือกที่ดีกว่านั้น ยกตัวอย่างนโยบายมาตรการรถเมล์-รถไฟฟรี ๖ เดือนของรัฐบาล สมมุติ ๖ เดือนใช้เงินไป ๕ หมื่นล้านบาท ถ้าทำครบปีก็ประมาณ ๑ แสนล้านบาท เอาไปสร้างรถไฟฟ้าได้อย่างน้อย ๑ สายแล้ว เพียงแต่ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดทันที อะไรที่สูญเปล่าไปอย่างนี้มันเยอะมากในสังคมไทย เอาเข้าจริงผมคิดว่าเอาไปทำอย่างอื่นยังดีกว่านี้ เอาไปลงทุนทางการศึกษา ไปให้ทุนการศึกษาแก่เด็กเรียนดี ดีกว่าเอาไปทิ้งๆ จบแล้วก็จบกัน ไม่มีอะไรเป็นหลักเป็นฐาน ในละตินอเมริกามีการศึกษาเรื่องประชานิยมก็ปรากฏว่าได้ไม่คุ้มเสีย เหมือนเอาเงินอนาคตมาใช้

แต่ในหลายประเทศทั่วโลกก็ใช้นโยบายประชานิยม แล้วเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น
ละตินอเมริกาเป็นประเทศที่แย่ที่สุดในเรื่องประชานิยม เขาถึงฟื้นตัวไม่ได้ ในช่วงที่ละตินอเมริกาเจอปัญหาวิกฤตน้ำมันช่วงปี ค.ศ. ๑๙๗๐-๑๙๘๐ รัฐบาลไม่เข้มแข็ง รัฐบาลต้องการเสียงจากประชาชนก็เลยใช้วิธีประชานิยม ใครสามารถผูกใจประชาชนได้ย่อมได้เปรียบ คนจนปากท้องไม่ดีก็รู้สึกว่าใครก็ตามเอามาให้วันนี้ดีกว่าไปพูดถึงวันหน้า เขาไม่อยากฟังวันหน้า เขาอยากได้ตอนนี้ เลยดูมีความน่าชื่นชมในทางการเมือง แต่พอใช้ไปแล้วมันเหมือนกับคนที่แก้ปัญหาผิดโรค โรคก็
ไม่หาย กลับอาการหนักขึ้นเพราะไม่ได้รับการรักษา ละตินอเมริกาเลยเป็นหนี้มหาศาลเพราะรัฐบาลใช้เงินมาก งบประมาณขาดดุลต่อเนื่องจนกระทั่งเรื้อรัง พอถึงจุดหนึ่งคนไม่เชื่อถือแล้วว่าประเทศจะไปไหวหรือเปล่า ค่าเงินก็ตกมาก เงินก็เฟ้ออย่างรุนแรง พอเกิดสถานการณ์อย่างนั้นก็กลายเป็นประเทศที่เป็นหนี้สินรุงรัง ขณะที่ประเทศในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไม่เคยใช้นโยบายประชานิยม ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียที่ใช้นโยบายประชานิยม สมัยรัฐบาลนายเอสตราดาให้คำมั่นสัญญากับประชาชนว่าจะให้นั่นให้นี่ แล้วก็เอาเงินมาแจกจริงๆ แต่สเกลจะเล็กกว่ารัฐบาลทักษิณ ทุกวันนี้เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ก็ยังไม่ฟื้น เต็มไปด้วยความแตกแยกขัดแย้ง มีความไม่เป็นธรรมมากมาย ทำไมคนนี้ได้อย่างง่ายๆ แล้วคนอื่นต้องเสียอย่างง่ายๆ สังคมก็มีรอยร้าว

มีคนพูดถึงรัฐสวัสดิการว่าจะมาแข่งกับประชานิยมได้จริงหรือเปล่าครับ
สังคมไทยต้องการรัฐสวัสดิการในหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาฟรีกับการรักษาพยาบาลฟรี โดยรัฐมีระบบว่าจะเก็บเงินจากประชาชนเท่าไร และให้ประชาชนเท่าไร แต่ประชานิยมมันกว้างกว่านั้น มันเหมือนกับมาแจกฟรี ให้โดยที่ไม่ได้อุ้มชูเขาจริง ขณะที่รัฐสวัสดิการจะมั่นคงแข็งแรง
กว่า และได้ทั่วประเทศทุกระดับชั้นไม่เฉพาะคนจน และมีความชัดเจนว่าใครเข้าข่ายไม่เข้าข่าย แต่ไม่ได้ให้เพื่อความครึกโครมทางการเมือง ให้เพราะว่ารัฐควรเข้ามาดูแลเรื่องเหล่านี้จริงๆ เช่น รัฐควรให้การศึกษาแก่ประชาชน เพียงแต่ว่ารัฐสวัสดิการมีปัญหาคือต้องพึ่งระบบราชการ ระบบของรัฐ

มีอาจารย์หลาย ๆ ท่านให้ความเห็นว่าพรรคการเมืองในอนาคตถ้าจะแข่งขันกับนโยบายประชานิยมก็ควรจะชูนโยบายเรื่องสวัสดิการ
ก็มีส่วน เห็นด้วยว่าในแง่การหาเสียง เรื่องรัฐสวัสดิการก็เป็นทางหนึ่งที่จะไปแข่งกับประชานิยมได้ อย่างน้อยทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองได้อะไรบ้างในการโหวตให้กับพรรคการเมืองนั้นๆ แต่ผมคิดว่าความจริงใจในทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ คุณหาเสียงก็เรื่องหนึ่ง แต่เมื่อคุณมาเป็นรัฐบาลแล้วจะต้องใช้เม็ดเงินอย่างเหมาะสมเพราะเป็นเงินของประชาชน ไม่ใช่เงินคุณ คุณมีหน้าที่มาดูแลเงินของประชาชนก็ต้องดูแลอย่างเหมาะสม จะเป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่เป็นรัฐสวัสดิการก็เรื่องหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือทุกรายการที่ใช้ต้องมีเหตุมีผล ดูว่าทำอย่างนี้ไปแล้วในอนาคตระยะยาวจะมั่นคงหรือไม่ ได้ผลแน่นอนไหม ออกดอกออกผลหรือไม่ โครงการทั้งที่เป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่เป็นรัฐสวัสดิการก็ต้องยึดหลักนี้ทั้งหมดถ้ารัฐสวัสดิการนั้นให้สวัสดิการที่ไม่มีคุณภาพแก่ประชาชนและประชาชนยากจนเท่านั้นถึงจะได้สวัสดิการชั้นต่ำ นั่นก็อาจจะไม่ใช่คำตอบก็ได้ เราต้องคิดอะไรมากกว่าแค่คำตอบง่ายๆ