ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่องและภาพ

Sihanoukville - สีหนุวิลล์ แดนจีนในถิ่นกัมพูชา

ย้อนเวลากลับไปกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ สถานการณ์ในเมือง “สีหนุวิลล์” ได้รับความสนใจไปทั่วโลก เมื่อรัฐบาลกัมพูชาอนุญาตให้เรือสำราญเวสเตอร์ดัม (MS Westerdam) ซึ่งต้องสงสัยว่ามีลูกเรือติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ หรือ โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเวลานั้นเข้าจอดเทียบท่าเรือน้ำลึก ส่งผู้โดยสารและลูกเรือกว่าสองพันคนขึ้นสู่ฝั่ง

สีหนุวิลล์ (Sihanoukville) เป็นเมืองเอกของจังหวัดพระสีหนุ (Preah Sihanouk) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศกัมพูชา ติดกับอ่าวไทย แม้อยู่ห่างจากด่านคลองใหญ่ จังหวัดตราด ของประเทศไทยไม่ถึง ๒๕๐ กิโลเมตร แต่คงมีคนไทยน้อยคนนักที่จะรู้จักและเคยสัมผัสเมืองท่าชายทะเลแห่งนี้ และคงไม่รู้ว่าในช่วงเวลาไม่กี่ปี สีหนุวิลล์ถูกแต่งแต้มเติมสีจากนักลงทุนชาวจีนจนพลิกโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ…

นับตั้งแต่รัฐบาลกัมพูชาอนุมัติให้มีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวน ๗ แห่งขึ้นในจังหวัดพระสีหนุ อนุญาตให้กลุ่มทุนจากจีนเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ไม่นานสีหนุวิลล์ก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปจนจำแทบไม่ได้

จากที่เคยมีสภาพเป็นป่าใหญ่ชายทะเล แวดล้อมด้วยต้นไม้ กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง

ไม่นานแผ่นดินภายใต้อธิปไตยกัมพูชาส่วนนี้ก็ถูกขนานนามว่าเป็น “แดนจีนในถิ่นกัมพูชา” ด้วยไม่ว่าจะหันหน้าเหลียวมองไปทางใด ก็จะเห็นร้านค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม คอนโดมีเนียม ห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง ตลอดจนคาสิโน ที่มีตัวอักษรจีนปรากฏอยู่คู่กับภาษากัมพูชาทุกมุมเมือง

ไม่แน่ว่าการเข้ามามีอิทธิพลของจีนในสีหนุวิลล์แลกัมพูชาอาจเป็นเหตุผลลึกๆ ที่ทำให้เรือสำราญซึ่งถูกปฏิเสธจากนานาประเทศได้รับอนุญาตให้เทียบท่าสีหนุวิลล์ในวันนั้น…

ไม่กี่ปีต่อมา

สถานการณ์ในสีหนุวิลล์กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อปรากฏภาพเมืองทั้งเมืองเต็มไปด้วยตึกร้าง โดยมีอาคารสูงนับพันแห่งที่ยังสร้างไม่เสร็จ

กลางปี ๒๕๖๕ การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว แต่ดูเหมือนการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมการก่อสร้างในสีหนุวิลล์จะยังไม่ฟื้นตัว

ร่วม ๓ ปีแล้ว ที่การก่อสร้างไม่ขยับขับเคลื่อน ทั้งๆ ที่อาคารอย่างน้อย ๑,๑๕๐ หลังในเมืองยังสร้างไม่เสร็จ

เมืองที่เคยคึกคักเพราะนักลงทุนจีน แรงงาน และมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาใช้ชีวิต กลายเป็นเมืองที่เงียบเหงา แคมป์คนงานในไซต์งานก่อสร้างถูกทิ้งร้าง เช่นเดียวกับเครื่องจักรถูกวางทิ้งไว้

เกิดอะไรขึ้นกับเมืองพักตากอากาศที่เคยเนื้อหอมที่สุดของกัมพูชา

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการหยุดพักระงับการลงทุนชั่วคราว หรือเป็นการทอดทิ้งอย่างถาวรของนักลงทุนจากเมืองจีน

เบื้องหลังสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แล้วเสร็จภายในเมืองพักตากอากาศชายทะเลที่งดงามที่สุดของกัมพูชา ชวนให้ย้อนกลับมาทบทวนว่า ปลายทางของความสัมพันธ์ทั้งมิติการลงทุนและรับความช่วยเหลือด้านต่างๆ ระหว่างจีนกับประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง…ปลายทางคืออะไร

เพราะไม่แน่ว่าต่อไปความเปลี่ยนแปลงลักษณะเดียวกันอาจเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

หมายเหตุ : ภาพถ่ายช่วงต้นปี ๒๕๖๓ ขอขอบคุณ Internews’s Earth Journalist Network และชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม

(1)

sihanouville01

จังหวัดพระสีหนุมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ ๓ ของกัมพูชา รองจากกรุงพนมเปญและเสียมราฐ รัฐบาลกัมพูชากำหนดให้จังหวัดพระสีหนุเป็นเมืองยุทธศาสตร์รองรับนโยบายเส้นทางการค้าระหว่างประเทศของจีน ที่เรียกว่าโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (OBOR : One Belt One Road) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการแถบและเส้นทาง (BRI : Belt and Road Initiative)

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้นมา มีการหลั่งไหลเข้ามาของนักลงทุนชาวจีน ผู้ประกอบกิจการ แรงงาน นักท่องเที่ยว พร้อมเม็ดเงินมหาศาล

นับตั้งแต่ทุนใหญ่จากประเทศจีนก้าวเข้ามา แทบทุกตารางเมตรของสีหนุวิลล์อันเป็นเมืองเอกของจังหวัดพระสีหนุกลายเป็นพื้นที่ก่อสร้าง โครงการคอนโดมีเนียมและอาคารสูงระฟ้าผุดขึ้นมากมายไม่รู้กี่พันกี่หมื่นยูนิต บ้านเมืองถูกวางผังใหม่ วงเวียนกลางเมืองถูกปรับโฉมให้โดดเด่นอลังการ

นอกจากเมืองพักตากอากาศ ทุนจีนและรัฐบาลกัมพูชายังหวังปลุกปั้นสีหนุวิลล์ให้กลายเป็นเมืองกาสิโนด้วย

(2)

sihanouville02

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นต้นมา ภายหลังนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ประกาศเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนอย่างเต็มตัว ส่วนหนึ่งคือการเปิดรับทุนจากประเทศจีนให้เข้ามาพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างเกือบทุกอย่างในสีหนุวิลล์ ในที่นี้รวมถึงโครงการสร้างเขื่อน ทางรถไฟ ท่าเทียบเรือยอร์ช ถนนหนทาง แม้แต่ด้านการเกษตรจีนก็ได้รับสัมปทานให้เข้ามาปลูกปาล์มน้ำมัน
ทุกวันนี้คนจีนกลายเป็นประชากรหลักในสีหนุวิลล์ ไม่ว่าร้านค้า ภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก หันไปทางไหนก็มักมีภาษาจีนติดอยู่คู่กับภาษากัมพูชาเสมอ

(3)

sihanouville03

คนกัมพูชาในฐานะเจ้าของกิจการในสีหนุวิลล์ลดน้อยลงทุกที ส่วนมากอยู่ในฐานะผู้ใช้แรงงานระดับล่าง อาทิ คนงานก่อสร้าง พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือไม่ก็เจ้าของแผงค้าขายสินค้าเล็กๆ น้อยๆ
ถ้าหากเป็นแรงงานระดับสูง อาทิ วิศวกร ช่างฝีมือ นายทุนจีนมักหนีบมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ แม้แต่พนักงานในห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารก็เป็นคนจีน พูดคุยภาษาจีนเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการจีนให้มากที่สุด

หลายปีที่ผ่านมา ชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวและอยู่อาศัยในสีหนุวิลล์ ส่วนหนึ่งเข้ามาตั้งรกรากกลายเป็นคนท้องถิ่นแทนที่คนกัมพูชาตัวจริงที่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานออกไปนอกเมือง เนื่องจากปัจจัยการครองชีพ และโครงสร้างพื้นฐานของบ้านเมืองที่ไม่เกื้อหนุนต่อการดำรงชีวิต นำมาสู่การสูญเสียที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และการถูกคุกคามให้ย้ายถิ่นฐาน

(4)

sihanouville04

ประเมินว่า ๒-๓ ปีหลังทุนจีนเข้ามาในสีหนุวิลล์ มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาในสีหนุวิลล์มากกว่า ๑๒๐,๐๐๐ คน และมีกว่า ๗๐,๐๐๐ อาศัยอยู่ในฐานะเจ้าของกิจการคาสิโน ร้านอาหาร และโรงแรม สภาพแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งสถานพยาบาลจึงถูกปรับให้รองรับความต้องการของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวชาวจีนมากที่สุด
ว่ากันว่าเมื่อสีหนุวิลล์เมืองใหม่สร้างเสร็จ นักท่องเที่ยวจากจีนแทบจะไม่ต้องปรับตัวอะไรเมื่อเดินทางมา เพราะทุกอย่างถูกปรับสภาพเป็นสิ่งที่คนจีนคุ้นเคยดีอยู่แล้ว

โครงการบางอย่างมีกำหนดว่าจะต้องแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๖ อาทิ อพาร์ตเม้นระดับ ๕ ดาว ร้านค้าปลอดภาษี โรงภาพยนตร์ ถนนหรูหราสำหรับเดินชอปปิ้ง แต่จากสถานการณ์ล่าสุดที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ พบว่าชาวจีนที่อาศัยอยู่ในสีหนุวิลล์ค่อยๆ ลดจำนวนลงจนกลายเป็นเมืองที่ซบเซา

(5)

sihanouville05

วงเวียนรูปสิงโตสีทองขนาดใหญ่กลางสีหนุวิลล์ ล้อมรอบด้วยตึกใหม่ที่ภายในเป็นห้างสรรพสินค้า บ่อนคาสิโน ทุกอาคารติดป้ายภาษาจีน ภายในอาคารเหล่านี้มักมีแต่คนจีนทั้งคนซื้อคนขาย ในห้างสรรพสินค้าเสียงตามสายที่ใช้หลักๆ ก็เป็นภาษาจีน

ประเมินว่านักลงทุนชาวจีนเป็นเจ้าของธุรกิจในสีหนุวิลล์มากกว่าร้อยละ ๙๐

แต่ล่าสุดโครงการก่อสร้างอาคารหลายแห่งหยุดชะงัก ไม่เว้นแม้กระทั้งอาคารบางหลังที่ตั้งอยู่ใกล้กับวงเวียนสิงโตทองกลางเมืองแห่งนี้ จนเริ่มมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายระหว่างเจ้าของที่ดินชาวกัมพูชากับนายทุนชาวจีน

(6)

sihanouville06

ถนนเข้าเมืองเคยเป็นทางสัญจรเล็กๆ ถูกตัดเป็นถนนหลายเลน นี่เป็นทางหลักที่ใช้เข้าออกสีหนุวิลล์ ทอดผ่านพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (Sihanoukville SEZ หรือ SSEZ) ซึ่งตั้งอยู่นอกเมือง
รายงานระบุว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ที่สุดในกัมพูชา แบ่งออกเป็นโซนอุตสาหกรรม โซนท่องเที่ยว โซนที่พักอาศัย ตั้งอยู่ในทำเลที่สะดวกต่อการคมนาคมขนส่ง เชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข ๔ รวมถึงท่าเรือสีหนุวิลล์อันเป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งเดียวของกัมพูชา

นอกจากถูกกำหนดให้เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและการบริการ รัฐบาลกัมพูชาต้องการให้จังหวัดพระสีหนุเป็นประตูสู่การติดต่อทางการค้าและการลงทุน, เป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ และเป็นเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรม

(7)

sihanouville07

“มาเก๊าแห่งอาเซียน” คือสมญาใหม่ของสีหนุวิลล์ ที่นี่มีคาสิโนที่ได้รับอนุญาตแล้วมากกว่า ๑๕๐ แห่ง สร้างเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว ๖๐-๗๐ แห่ง แต่ละแห่งใหญ่โอ่อ่า ยามค่ำประดับแสงสีตระการตา

ที่ประเทศจีน คาสิโนเป็นสิ่งต้องห้าม ยกเว้นก็แต่เพียงมาเก๊าที่ได้รับสมญานามว่า “ลาสเวกัสแห่งเอเชีย” สวนทางกับสีหนุวิลล์ที่ทั้งจีนและกัมพูชาต่างผลักดันให้มีคาสิโนผุดขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

ย้อนเวลากลับไปในปี พ.ศ.๒๕๖๐ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สีหนุวิลล์เติบโตอย่างก้าวกระโดดคือผลพวงจากอุตสาหกรรมการพนันออนไลน์ ดึงดูดแรงงานและคนต่างถิ่นเข้ามาแสวงโชคในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ราวปี พ.ศ.๒๕๖๒ มีการประกาศให้การพนันออนไลน์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทางการจีนส่งสัญาณให้รัฐบาลกัมพูชาเข้มงวดเรื่องการปราบปรามพนันออนไลน์ รวมถึงการลักลอบใช้สีหนุวิลล์เป็นฐานทำงานเกี่ยวกับอาชญากรรมไซเบอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจภายในเมืองสีหนุวิลล์เริ่มซบเซา

(8)

sihanouville08

เมื่อเอ่ยคำว่าสีหนุวิลล์ในกัมพูชา เมืองชายทะเลแห่งนี้เป็นเป้าหมายที่คนกัมพูชาอยากมาเที่ยวให้ได้สักครั้งในชีวิต ด้วยหาดทรายยาว น้ำทะเลใสสะอาด สื่อต่างประเทศเคยยกย่องให้ชายหาดของสีหนุวิลล์สวยงามติดอันดับของเอเชีย และเป็นปลายทางของแบคแพคเกอร์ต่างชาติ ก่อนที่จะกลายเป็นเมืองคาสิโนในปัจจุบัน
จากภาพคือชายหาดโอจือเตียลซึ่งหันออกสู่อ่าวไทย ด้านหลังมีแผ่นป้าย “The most Beautiful Bays in the WORLD” อยู่คู่รูปปั้นม้าน้ำ ใกล้ๆ มีบ้านพักตากอากาศของนายกรัฐมนตรี ฮุนเซน

(9)

sihanouville09

ป้ายบอกทิศทางและระยะทางจากสีหนุวิลล์ไปยังเมืองสำคัญต่างๆ ทั้งในกัมพูชาและต่างประเทศ

หลายปีหลังรัฐบาลกัมพูชาเปิดให้ทุนจีนเข้ามาเป็นตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้เมืองท่าชายทะเลแห่งนี้จะกลายเป็นเมืองที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ อีกทั้งยังเกิดภาวะชะงักงันที่ทำให้หลายฝ่ายพากันตั้งคำถาม

ไม่ว่าจะเป็นการหยุดชะงักชั่วคราว หรือทอดทิ้งอย่างถาวร การพัฒนาอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวทำให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างคาดไม่ถึง อาทิ ปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินสืบเนื่องจากรัฐบาลกัมพูชาเวนคืนที่ดินมาขายและปล่อยเช่าให้กับนายทุนจีน ทำให้คนท้องถิ่นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ถูกขับไล่ ปัญหายาเสพติดและการฟอกเงินจากธุรกิจพนันทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ปัญหาน้ำเน่าเสียและขยะสะสม ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศชายฝั่ง น้ำท่วมขังจากสิ่งปลูกสร้างขวางเส้นทางน้ำ

ไม่แน่ว่าปัญหาและความเปลี่ยนแปลงลักษณะเดียวกันอาจเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่พึ่งพาการลงทุนจากประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป ?