rice01
เรื่อง : จักรพันธุ์ กังวาฬ
ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์

rice02

ชาวนากำลังใช้รถเกี่ยวข้าว ทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักร เช่น รถไถ รถเกี่ยวข้าว ทำนาแทนแรงงานคนและสัตว์

บางคนบอกว่าเมืองไทยคืออาณาจักรข้าว คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเมื่อพิจารณาจากการที่คนไทยรู้จักทำนาปลูกข้าวกินมาแต่โบราณ ปัจจุบันข้าวเป็นอาหารหลักที่เรากินแทบทุกมื้อ ชาวนาถูกเปรียบให้เป็นกระดูกสันหลังของชาติไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ ๖๐ ล้านไร่ เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวสารมากที่สุดในโลกติดต่อกันมาหลายปี เมื่อปี ๒๕๕๐ มูลค่าการส่งออกข้าวของไทยสูงถึง ๑๒๓,๗๐๐ ล้านบาท ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตอาหารทั่วโลกในช่วงต้นปีที่ผ่านมา อาหารต่าง ๆ รวมทั้งข้าวมีราคาแพงขึ้น จึงส่งผลสะเทือนต่อประเทศไทยและคนไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

วิกฤตอาหารครั้งนี้เกี่ยวเนื่องกับวิกฤตพลังงานของโลก เมื่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรหลายประเทศจึงหันมาปลูกพืชพลังงานทดแทน ผลผลิตพืชอาหารจึงลดลง ธัญพืชที่เป็นอาหารสำคัญของชาวโลก เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด รวมทั้งข้าว มีราคาแพงขึ้นและเริ่มขาดแคลน หลายประเทศเกิดปัญหาวิกฤตอาหารจนถึงขั้นจลาจล

ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ข้าวมีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการบริโภคข้าวมีมากขึ้นตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่สต็อกข้าวทั่วโลกกลับลดลงต่อเนื่อง จากปริมาณสูงสุด ๑๔๐ ล้านตันข้าวสารเมื่อปี ๒๕๔๔ ลดลงเหลือประมาณ ๖๐ ล้านตันเมื่อปี ๒๕๕๐ ประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคข้าวรายใหญ่ของโลก มีปริมาณสต็อกข้าวลดลงจาก ๙๗ ล้านตันเมื่อปี ๒๕๔๔ เหลือไม่ถึง ๓๐ ล้านตันในปี ๒๕๕๐

รวมทั้งปัจจัยสำคัญจากสภาวะโลกร้อน หลายประเทศต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างรุนแรง ภาวะความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศออสเตรเลียอย่างต่อเนื่องทำให้ผลผลิตข้าวสาลีเสียหาย เมื่อปีที่แล้วประเทศจีนเกิดน้ำท่วมใหญ่และหิมะปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ขณะที่ประเทศอินเดียก็ประสบปัญหาความแห้งแล้งยาวนาน ส่วนเวียดนามต้องเผชิญกับฤดูหนาวที่ยาวนาน รวมทั้งเกิดการระบาดของโรคข้าวและแมลง

เมื่อทั้งจีน อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งต่างเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญของโลกพากันชะลอและหยุดส่งออกข้าวในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อต้นปี ๒๕๕๑ เพื่อเพิ่มปริมาณสต็อกข้าวสำรองภายในประเทศ ปริมาณข้าวในตลาดโลกจึงลดลงอย่างมาก สวนทางกับราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

เฉพาะในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๐ ข้าวหอมมะลิมีราคาเฉลี่ยเกวียนละ ๘,๓๘๘ บาท แต่ในเดือนมีนาคม ๒๕๕๑ ราคาพุ่งขึ้นถึงเกวียนละเกือบ ๑๓,๐๐๐ บาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๖๔ ในเวลาเพียงปีเดียว นับเป็นปรากฏการณ์อันน่าตกตะลึงที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ชาวนา ผู้ประกอบการโรงสี นักธุรกิจพ่อค้าข้าว จนถึงชาวบ้านผู้บริโภค

ห้วงเวลานั้น เรื่องของข้าวกลายเป็นหัวข้อข่าวที่ทุกคนให้ความสนใจ ขณะที่คนทั่วไปเริ่มตื่นตระหนกที่จู่ ๆ ข้าวสารก็มีราคาแพงขึ้นอย่างลิบลิ่ว ทั้งยังขาดแคลนจนหาซื้อยาก แต่ต่อมากลับเกิดเหตุการณ์ชาวนาหลายจังหวัดรวมตัวกันปิดถนน บางส่วนถึงกับเคลื่อนขบวนเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินและราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ชวนให้งุนงงสงสัยว่าใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ข้าวราคาแพงครั้งนี้

นิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๔๑ เคยนำเสนอสารคดีพิเศษเรื่อง “ข้าวไทย รสชาติ เมล็ดพันธุ์ และการเดินทาง” มาบัดนี้เมื่อเวลาผ่านไป ๑๐ ปี สถานการณ์ในประเทศและนอกประเทศมีความเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการเกิดวิกฤตด้านอาหารและพลังงาน เราจึงตัดสินใจออกติดตามการเดินทางของข้าวไทยอีกครั้งหนึ่ง นับแต่ยังเป็นเมล็ดพันธุ์ ไปสู่ผืนนา เข้าสู่โรงสี และผ่านบริษัทส่งออกสู่ตลาดโลก เพื่อค้นหาว่าแต่ละช่วงตอนมีปัญหาและอุปสรรคอะไรซุกซ่อนอยู่ และข้าวไทยจะมีแนวโน้มไปทางใดท่ามกลางโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความผันผวน

rice03

เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บรักษาไว้ที่ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปทดสอบการงอก และนำไปปลูกเพื่อเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์

rice04

ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ จ.ปทุมธานี เก็บรักษาตัวอย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ ๒๐,๐๐๐ สายพันธุ์

rice05

หลายชนเผ่าทางภาคเหนือยังปลูกข้าวไร่ โดยใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

๑.

เราเดินทางมาที่ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ อ. ธัญบุรี จ. ปทุมธานี เพราะศูนย์ฯ แห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพันธุ์ข้าวจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย

ภายในอาคารชั้นเดียวพื้นที่ ๑,๒๘๕ ตารางเมตร ประกอบด้วยห้องอนุรักษ์ระยะสั้น อุณหภูมิ ๑๕ องศาเซลเซียส เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณ ๓-๕ ปี ห้องอนุรักษ์ระยะปานกลาง อุณหภูมิ ๕ องศาเซลเซียส เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ประมาณ ๒๐ ปี และห้องอนุรักษ์ระยะยาว อุณหภูมิ -๑๐ องศาเซลเซียส สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ได้นานถึง ๕๐ ปี

ดร. สมทรง โชติชื่น นักวิชาการเกษตร ๘ ว ผู้เป็นหลักในการดูแลศูนย์ฯ นำเราเข้าไปชมห้องอนุรักษ์ระยะสั้นอุณหภูมิห้อง ๑๕ องศาเซลเซียสให้ความรู้สึกเย็นยะเยือก ภายในห้องยังปรับให้มีความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน ๖๐ %

พื้นที่ห้องกว้างขวาง แต่ติดตั้งชั้นวางซึ่งเป็นโครงเหล็กขนาดใหญ่สูงจรดเพดานเรียงเป็นแถวชิดตลอดแนวผนังสองฝั่ง เหลือไว้เพียงทางเดินกลางห้อง มีขวดโหลแก้วใสบรรจุข้าวเปลือกนานาพันธุ์วางเรียงเต็มแต่ละชั้นแลดูละลานตา

ดร. สมทรงอธิบายว่า “ปัจจุบันศูนย์ฯ แห่งนี้เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวไว้ประมาณ ๒๐,๐๐๐ สายพันธุ์ ในจำนวนนี้เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของไทยประมาณ ๑๗,๐๐๐ พันธุ์ นอกนั้นเป็นข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์หรือผสมพันธุ์ขึ้นใหม่ รวมทั้งข้าวป่าและสายพันธุ์ข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ”

เฉพาะตัวอย่างข้าวพันธุ์พื้นเมืองกว่าหมื่นชนิดแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของพันธุ์ข้าวไทยได้เป็นอย่างดี ข้าวเปลือกแต่ละพันธุ์ที่บรรจุในขวดโหลมีความแตกต่างกันทั้งลักษณะของเมล็ดที่มีทั้งเล็กและใหญ่ บ้างเรียวยาว บ้างสั้นป้อม และสีสันของเปลือกที่มีทั้งสีเหลือง สีน้ำตาลอ่อน หรือสีแดงเข้ม

“ข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีลักษณะหลากหลายมาก” ดร. สมทรงกล่าว “เกิดจากพันธุกรรมของแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกัน ประเทศไทยอยู่ในเขตศูนย์กลางการแพร่กระจายของพันธุ์ข้าว แล้วแต่ละภาคของประเทศยังมีความแตกต่างกันทั้งสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ เรามีทั้งพื้นที่เหมาะสำหรับปลูกข้าวไร่ ข้าวนาสวน ข้าวน้ำลึก พันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในแต่ละพื้นที่จึงต้องมีความเฉพาะเจาะจงหรือสามารถปรับตัวได้ดี ดังนั้นความหลากหลายของพันธุ์ข้าวจึงเกิดจากทั้งการคัดเลือกโดยวิวัฒนาการธรรมชาติ และการคัดเลือกของชาวนาตั้งแต่อดีต เพื่อให้มีพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่และความชอบของคนท้องถิ่น”

ป้ายกระดาษบนขวดโหลแต่ละใบช่วยให้เราได้รู้จักชื่อข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งหลายชนิดอาจฟังแปลกหูหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน เช่น ข้าวเหลืองทอง เหลืองปะทิว เหลืองควายล้า ข้าวเรือนหัก ข้าวยุ้งหัก ข้าวหอมมะลิ หอมนายพล หอมเดือนสาม ข้าวขาวเศรษฐี ขาวบ้านนา ฯลฯ

ทว่าในปัจจุบันพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเหล่านี้อาจเหลือเพียงชื่ออยู่ในความทรงจำของชาวนารุ่นเก่า แม้ขณะนี้เรามองเห็นเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองละลานตาภายในห้องที่เย็นยะเยือก แต่โลกภายนอกนั้นผืนนาทั่วประเทศไทยปลูกข้าวอยู่ไม่กี่พันธุ์เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นข้าวปรับปรุงพันธุ์ที่ราชการแนะนำให้ชาวนาปลูก

ดร. สมทรงกล่าวว่า “ปัจจุบันนี้ชาวนาทั่วประเทศส่วนใหญ่ปลูกข้าวอยู่ประมาณ ๑๕ พันธุ์ เป็นข้าวปรับปรุงพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง เช่น ชัยนาท ๑, สุพรรณบุรี ๑, ปทุมธานี ๑, พิษณุโลก ๒ ถ้าเป็นข้าวเหนียว เช่น กข ๖ ส่วนข้าวพันธุ์พื้นเมืองหายากแล้ว มีปลูกอยู่บ้างในบางจังหวัด โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวไร่ที่ปลูกบนพื้นที่ภูเขาแถบภาคเหนือ”

ดร. สมทรงอธิบายความแตกต่างระหว่างข้าวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวปรับปรุงพันธุ์ว่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่เป็นข้าวนาปี มีลักษณะไวต่อช่วงแสง นั่นคือจะออกดอกในวันที่กลางคืนยาวกว่ากลางวันเท่านั้น ซึ่งก็คือฤดูหนาว จึงปลูกได้ปีละครั้ง แล้วต้นสูง ใบใหญ่ ล้มง่าย ไม่ตอบสนองต่อปุ๋ย ผลผลิตต่ำแต่คุณภาพดี

ส่วนข้าวปรับปรุงพันธุ์เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุการเก็บเกี่ยวสั้น ปลูกได้ปีละหลายครั้ง ปลูกได้ทั้งนาปรังและนาปี ต้นเตี้ยเพื่อไม่ให้หักล้ม ตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดี ให้ผลผลิตสูง

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวในประเทศไทยเริ่มต้นราวปี ๒๕๑๒ โดยนักวิจัยจากกรมการข้าวในสมัยนั้นได้นำข้าวไทยพันธุ์เหลืองทองมาผสมกับข้าวพันธุ์ IR8 ของสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีต้นเตี้ยและให้ผลผลิตสูงถึง ๑,๐๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ กระทั่งได้ข้าว กข ๑ เป็นข้าวที่ให้ผลผลิตสูงพันธุ์แรกของไทย โดย กข ย่อมาจากกรมการข้าวนั่นเอง

ข้าวปรับปรุงพันธุ์รุ่นต่อมายังใช้ชื่อข้าว กข เช่น กข ๒, กข ๓, กข ๗ จนถึง กข ๒๗ ภายหลังจึงตั้งชื่อตามสถานีวิจัยที่เป็นผู้พัฒนาพันธุ์ เช่น ข้าวชัยนาท ๑ หรือ สุพรรณบุรี ๑

“สาเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่เรื่อย ๆ เพราะแม้ข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์เดิมมีคุณภาพดี ให้ผลผลิตสูง ต้านทานโรคและแมลงอยู่แล้ว แต่พอปลูกไปสัก ๔-๕ ปี เชื้อโรคและแมลงจะสามารถปรับตัวจนสามารถทำลายข้าวพันธุ์นี้ได้” ดร. สมทรงอธิบาย

“ดังนั้นเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ศูนย์ฯ ของเราอนุรักษ์ไว้ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์สำหรับผสมกับพันธุ์ข้าวไทยเองหรือพันธุ์ข้าวต่างประเทศ เพื่อสร้างข้าวพันธุ์ใหม่ให้มีคุณภาพและผลผลิตที่ดีกว่าเดิม”

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวอาจนับว่าเป็นการเริ่มต้นแห่งยุค “ปฏิวัติเขียว” ในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการทำนาปลูกข้าว

 

๒.

แนวคิดสำคัญอย่างหนึ่งของการปฏิวัติเขียว คือเปลี่ยนระบบการทำนาจากปลูกเพื่อกิน เป็นปลูกเพื่อขาย ผู้สรุปประเด็นนี้ให้เราฟังคือ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี

“การปฏิวัติเขียวในเอเชียเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๐๓ ยึดจากการจัดตั้งสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติเป็นหลักกิโลเมตรแรก จนถึงปัจจุบันผ่านมาเกือบ ๕๐ ปีแล้ว” วิฑูรย์กล่าว

“การปฏิวัติเขียวโดยการใช้ข้าวพันธุ์ใหม่ ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้ยาฆ่าแมลง ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจริง แต่ก็ไปทำลายระบบการผลิตอาหารแบบเดิม”

วิฑูรย์อธิบายต่อว่า “สมัยก่อนชาวนาทำนาปีละครั้ง ที่เรียกว่านาปี ในช่วงน้ำหลากจะมีปลามาหากินในนาข้าว ชาวนาจะจับปลาหลังช่วงน้ำลดหรือช่วงเก็บเกี่ยว ที่เคยมีคำพูดว่า ‘ข้าวใหม่ปลามัน’ คือข้าวใหม่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวจะหอมนุ่ม แล้วปลาที่จับได้เป็นปลามัน คือปลาที่อยู่ในนาข้าวจนเติบโตเต็มที่ ช่วยสะท้อนภาพสังคมสมัยนั้นได้อย่างดี”

ในอดีต เมื่อชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางไว้กินในครอบครัว ข้าวส่วนที่เหลือกินค่อยนำไปขาย ส่วนอาหารพวกผักปลากบเขียด ก็สามารถหาได้ตามท้องนานั่นเอง

เมื่อชาวนาหันมาปลูกข้าวปรับปรุงพันธุ์ การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจำนวนมากทำให้ปลาและสัตว์ต่าง ๆ ไม่อาจอาศัยในนาข้าวได้อีกต่อไป เท่ากับชาวนาสูญเสียแหล่งอาหารในผืนนาตนเองไปโดยปริยาย

“ดังนั้นเจตนาของปฏิวัติเขียวที่บอกว่าต้องการผลิตอาหารก็ไม่จริง เพราะว่าระบบนี้ไม่ผลิตอาหาร แต่ผลิตข้าวเพื่อให้กลายเป็นสินค้า แล้วยังไปทำลายระบบอาหารที่มีอยู่แต่เดิม นั่นคือผักปลาทั้งหลายที่มีอยู่ในนา” วิฑูรย์กล่าว

วิฑูรย์เล่าว่าทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ไม่มียุ้งฉางของตนเอง ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จะถูกส่งขายทั้งหมดโดยไม่เก็บไว้กิน แล้วค่อยนำเงินรายได้จากการขายข้าวมาใช้จับจ่ายซื้อข้าวสารและอาหารจากตลาดแทน ค่าครองชีพแต่ละครัวเรือนจึงเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนั้น การทำนายังมีต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากค่าปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง อีกทั้งค่าจ้างเครื่องจักรกลที่นำเข้ามาใช้แทนแรงงานคนและสัตว์ เช่น รถไถ รถเกี่ยวข้าว ในยุคที่น้ำมันแพงขึ้น รายจ่ายส่วนนี้จึงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ระบบการผลิตที่เปลี่ยนไปส่งผลกระทบที่สำคัญอีกอย่างคือ เมื่อชาวนาส่วนใหญ่หันมาปลูกข้าวปรับปรุงพันธุ์ แม้ให้ผลผลิตสูง แต่การปลูกข้าวพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งอย่างหนาแน่นในพื้นที่กว้าง การทำนาปรังในพื้นที่เดิมปีละหลายครั้ง และการใช้ปุ๋ยในปริมาณมาก ทำให้เมื่อเกิดโรคและแมลงระบาดจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว นับเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวสำหรับชาวนา

“ลองคิดดูว่าเมื่ออาหารที่หาได้จากในนาลดลง ชาวนามีรายจ่ายค่าอาหารเพิ่มขึ้น ต้นทุนการทำนาก็เพิ่มขึ้น เขาอาจต้องไปกู้เงินมาซื้อปุ๋ย ซื้อยา จ่ายค่าเช่านา หรือเป็นค่าอาหารของตัวเองด้วยซ้ำ แล้วถ้าปีไหนเกิดโรคระบาด น้ำท่วมหรือฝนแล้งจนนาข้าวเสียหายหรือราคาข้าวตกต่ำ หนี้สินจะเพิ่มขึ้นทันที เพราะฉะนั้นนับตั้งแต่กระบวนการผลิตอย่างนี้เกิดขึ้น ชาวนาก็ตกอยู่ในห่วงโซ่ของหนี้สินที่ไม่มีทางออก ชาวนาแถบภาคกลางเช่นที่ จ. สุพรรณบุรี บางครอบครัวเป็นหนี้ ๔-๕ แสนบาท”

ช่วงต้นปี ๒๕๕๑ แม้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม ทว่าล่วงเข้าต้นเดือนมิถุนายนกลับมีเหตุการณ์ชาวนาหลายจังหวัดชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินและราคาข้าวตกต่ำ

เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาร่วม ๑,๐๐๐ คนจาก ๕ จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แพร่ นครสวรรค์ พะเยา กำแพงเพชร และตาก เคลื่อนขบวนด้วยรถปิกอัป รถอีแต๋น และรถไถขนาดใหญ่ รวม ๑๐๐ คันเข้ากรุงเทพฯ ไปปักหลักชุมนุมบริเวณสะพานพระราม ๘ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา

เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะสะท้อนให้เห็นภาวะหนี้สินของชาวนาไทยได้เป็นอย่างดี

rice10

กลุ่มเกษตรกรและชาวนาจากจังหวัดต่างๆ เคลื่อนขบวนเข้ามาชุมนุมในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้สินและราคาพืชผลตกต่ำ

rice06

ภายในโกดังแห่งหนึ่งที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เช่าจากเอกชนเพื่อเก็บข้าวเปลือกที่ชาวนานำมาจำนำกับรัฐบาล เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าใช้เชือกร้อยเพื่อยึดกระสอบทุกใบก่อนใช้คีมกดตราตะกั่วสัญลักษณ์ อคส. บนใบระบุจำนวนกระสอบข้าวและวันที่ประทับตราเพื่อกันกระสอบข้าวสูญหายหรือถูกขนย้าย

rice07

รถบรรทุกนำข้าวสารจากโรงสีมาส่งที่โรงงานบริษัทผู้ส่งออก ข้าวสารเหล่านี้จะผ่านกระบวนการผลิตแยกสิ่งสกปรก ขัดสี ก่อนบรรจุถุงหรือกระสอบเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าต่างประเทศ

๓.

ปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๕๑ เรามีโอกาสได้พบกับ กิมอั้ง พงษ์นารายณ์ แกนนำสภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มเกษตรกรและชาวนา ครอบคลุม ๑๑ จังหวัดในภาคกลาง วันนั้นเธอเข้ากรุงเทพฯ มาประชุมกับสมาชิกเครือข่ายฯ และนักวิชาการที่สำนักงาน
กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อหาหนทางแก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน

ปัจจุบันกิมอั้งอายุ ๔๗ ปี เป็นคนจังหวัดชัยนาท ครอบครัวเป็นชาวนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ

“สมัยก่อนรุ่นแม่พี่ทำนาปี ปีหนึ่งทำนาครั้งเดียว หว่านแล้วไม่ต้องใส่ปุ๋ยก็ได้ข้าว น้อยครั้งจะขาดทุน เราเอาข้าวเก็บใส่ยุ้ง แล้วพ่อค้ามาเร่ถามว่าจะขายหรือยัง ตอนหลังรัฐมาส่งเสริมให้ปลูกข้าวนาปรัง ระยะเวลาเก็บเกี่ยวแค่ ๔ เดือน ได้ผลผลิตมากเท่าตัว ปีหนึ่งทำนาได้ ๓ รอบ แต่ชาวนากลับขาดทุนจนเป็นหนี้”

กิมอั้งเล่าว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวนาเริ่มก่อหนี้ เนื่องจากต้นทุนการทำนาที่เพิ่มมากขึ้น

“ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาจากเราต้องใช้ปุ๋ยเคมี แล้วใช้ยาฆ่าแมลงอีก ปุ๋ยเคมีไม่ใช่แค่แพง แต่มันเป็นตัวทำลายธรรมชาติ เวลาใช้ไปนาน ๆ ดินที่เคยร่วนซุยจะแห้งและแข็งมาก พอดินมันเสียแล้วก็ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มอีก แล้วแมลงมันมีลักษณะที่ว่าวันนี้เราฉีดยาตัวนี้ลงไป ตัวที่ตายก็ตาย แต่ไอ้ตัวไหนรอด มันจะพัฒนาขึ้นทันที ครั้งหน้าเราฉีดยาตัวนี้เท่าเดิมไม่พอแล้ว ต้องเพิ่มปริมาณ แล้วเพิ่มยาตัวใหม่
ด้วย เขาจะมียาฆ่าแมลงตัวใหม่ออกมาเรื่อย ๆ

“แล้วการทำนาปีละ ๓ ครั้ง ชาวนาจะลงแขกอย่างสมัยก่อนไม่ได้ ต่างคนต่างต้องทำนาของตัวเอง ก็ต้องจ้างรถเกี่ยวข้าว ก่อนหน้านี้ก็ต้องจ้างรถไถ รถตีดิน เสียทั้งค่าน้ำมัน ค่าจ้างแรงงาน หักลบแล้วมีแต่หนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

ชาวนาเริ่มตกอยู่ในวังวนหนี้สิน หลายคนใช้วิธีกู้หนี้ใหม่ไปใช้หนี้เก่า เช่นกู้เงินสหกรณ์ไปใช้หนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้วกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ไปใช้หนี้สหกรณ์ หากไม่ไหวก็กู้เงินนอกระบบจากนายทุนเงินกู้ในหมู่บ้านเพื่อไปใช้หนี้ธนาคาร ถึงที่สุดเมื่อไม่สามารถชดใช้หนี้ได้แล้ว ชาวนาหลายรายต้องถูกเจ้าหนี้ยึดที่ดินที่เอาไปจำนอง หรือจำใจขายนาเพื่อเอาเงินไปปลดหนี้ กระทั่งปัจจุบันชาวนาจำนวนมากต้องเช่าที่นาจากนายทุนมาทำนา เพราะไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง

“ประมาณ ๑๐ ปีก่อน ชาวนาเริ่มเสียที่ดินแก่นายทุนจำนวนมาก เป็นนายทุนที่ปล่อยเงินกู้ในหมู่บ้าน เพราะพอไปกู้เงินแล้วเอาที่นาไปจำนองไว้กับเขา นายทุนเขาจะให้กู้มาเรื่อย ๆ แล้วคิดดอกทบ พอสักระยะหนึ่งเขาจะบอกว่าเงินต้นท่วมแล้วนะ ถ้าไม่ยกนาให้เขาจะไม่เหลืออะไรเลย ชาวบ้านก็ไปเซ็นโอนให้เขาเลย แต่ว่ายังทำนาที่เดิม โดยเสียค่าเช่าให้เขา

“อย่างที่หมู่บ้านของพี่ ชาวบ้านมากกว่าครึ่งไม่มีที่ดินของตัวเอง ต้องเช่านาเขาทำ บางคนมีที่นาของตัวเองไม่มากแค่ ๕-๑๐ ไร่ ก็ต้องเช่านาเพิ่มอีก ๓๐-๔๐ ไร่ เดิมนายทุนเขาคิดค่าเช่านาเป็นข้าวเปลือก ถ้านาปีไร่ละ ๑๕ ถัง นาปรังไร่ละ ๑๐ ถัง แต่พอช่วงข้าวขึ้นราคาเมื่อต้นปีนี้ เขาขึ้นค่าเช่านาเป็นไร่ละ ๒๐ ถังรวด

“แล้วนายทุนพวกนี้จะบีบบังคับให้ชาวนาทำนาปีละ ๓ ครั้ง เพราะเขาจะได้ค่าเช่า ถ้าชาวนาคนไหนเห็นว่าทำนาขาดทุนแล้วครั้งหนึ่ง ปีนั้นจะทำนาเพียง ๒ ครั้ง นายทุนเขาไม่ยอม คุณไม่ทำนา ๓ ครั้ง ก็ให้คนอื่นเช่าต่อ”

กิมอั้งอธิบายว่าทุก ๒-๓ ปีจะถึงวงจรที่หนูระบาดในนาข้าว พวกมันใช้เวลาเพียง ๒-๓ คืนก็กินข้าวหมดถึง ๒๐ ไร่ หรือหากมีเพลี้ยกระโดดระบาดลงนาข้าว เพียง ๕-๗ วันข้าวก็เสียหายหมดทั้งนา

“ส่วนคนที่มีที่นาของตัวเอง ส่วนใหญ่หยุดทำนาไม่ได้ เพราะว่าสองข้างเป็นนาเช่า คนอื่นทำนาแล้วปล่อยน้ำลงมาเต็มนาเขา หญ้าจะขึ้นรกมาก ทั้งงู หนู จะไปอยู่ในนั้น คราวหน้าจะทำนายาก ก็เลยต้องทำนากันไปทั้ง ๆ ที่ขาดทุน

“พอทำนาขาดทุน ก็ยิ่งกลับเข้าสู่วังวนปัญหาหนี้สิน สมมุติกู้เงิน ธ.ก.ส. มาทำนา ๕ หมื่นบาท ระยะเวลา ๔ เดือนเขาให้ส่งเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ถ้าคุณไม่ส่งตามกำหนด คุณจะเป็นลูกหนี้ชั้นเลวและเสียดอกเบี้ยเพิ่ม ชาวนาเลยต้องไปกู้นายทุนมาส่ง ธ.ก.ส. แล้วกู้เงินธนาคารพาณิชย์มาส่งนายทุน พอบ้างไม่พอบ้าง คราวนี้มันกลายเป็นหนี้ที่แก้ไม่หลุด นายทุนก็กินทั้งค่าเช่านาและดอกเบี้ยเงินกู้”

กิมอั้งยังเล่าว่าช่วงที่ข้าวขึ้นราคา นอกจากนายทุนขึ้นค่าเช่านาแล้ว ต้นทุนการผลิตต่าง ๆ ยังมีราคาเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

“อย่างเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับปลูก ที่เราเคยซื้อถังละ ๑๑๕ บาท วันนี้ขึ้นเป็นถังละ ๒๓๐-๒๕๐ บาท ยาฆ่าหญ้าจากขวดละ ๔๐๐ บาท ตอนนี้ขวดละ ๘๐๐ บาท ปุ๋ยจากลูกละ ๖๐๐ บาท ตอนนี้เพิ่มเท่าตัวลูกละ ๑,๒๐๐ บาท

“ที่ข้าวขึ้นราคาเพราะต่างประเทศปลูกข้าวไม่ได้ การส่งออกข้าวลดลง แต่ถามว่าปุ๋ยในประเทศขึ้นราคาตามมาขนาดนี้ รัฐบาลควบคุมได้ไหม วันนี้รัฐบาลรับจำนำข้าว ๑๔,๐๐๐ บาทคือการแก้ปัญหาไม่ให้ม็อบชาวนาเข้ากรุงเทพฯ แต่ว่าไม่ได้แก้ปัญหาให้ชาวนาเลย ปัญหาแท้จริงอยู่ที่หนี้สินพอกพูน ต้องเสียดอกเบี้ย เสียเงินต้น ที่ทำกินตกเป็นของนายทุน ชาวนาไม่มีที่ดินของตัวเอง ไม่เป็นอิสระ ทำยังไงก็ขึ้นอยู่กับเขา”

ในช่วงที่ราคาข้าวในตลาดโลกและในประเทศไทยพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ หลายคนอาจสงสัยว่าผลประโยชน์ตกอยู่ในมือชาวนาเต็มเม็ดเต็มหน่วยแค่ไหน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ราคาข้าวเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม-เมษายน แต่ปรากฏว่าชาวนาส่วนใหญ่ที่ทำนาปีขายข้าวไปตั้งแต่ฤดูเก็บเกี่ยวของนาปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๐ ถึงเดือนมกราคม ๒๕๕๑ มีชาวนาประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ที่ทำนาปรังแล้วเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ นั่นหมายความว่าตอนที่ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงถึงตันละกว่า ๑,๐๐๐ เหรียญ ข้าวได้หลุดจากมือชาวนาหมดแล้ว คงต้องพูดว่าโรงสีและพ่อค้าส่งออกเป็นผู้ได้ประโยชน์ แต่คาดว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่อยู่ในมือโรงสีเพราะมียุ้งฉางมากกว่า และผู้ส่งออกเฉพาะบางรายที่มีไซโลเก็บข้าว

“ประเด็นที่ ๒ ก็คือช่วงนั้นผู้บริโภคต้องซื้อข้าวแพงใช่ไหม แต่ปรากฏว่าข้าวที่เราไปซื้อในตลาดขณะนั้นเป็นข้าวเก่าเมื่อ ๔ เดือนที่แล้ว เพราะข้าวที่เหมาะสมสำหรับการบรรจุถุงต้องเป็นข้าวเก่า ดังนั้นข้าวที่พ่อค้าข้าวถุงขายในราคากิโลกรัมละ ๕๐ บาท ความจริงเป็นข้าวที่พ่อค้าข้าวถุงซื้อจากโรงสีเมื่อราว ๖ เดือนก่อน เพราะฉะนั้นคือต้นทุนต่ำมากแล้วมาขายในราคาสูง”

rice08

การทดสอบข้าวหอมมะลิ โดยวิธีนำเมล็ดข้าวไปต้มแล้วกดทับด้วยแผ่นกระจก ข้าวเมล็ดใดมีไตหรือเป็นจุดขาวกลางเม,้ดแสดงว่าเป็นข้าวขาวปลอมปนมา

rice09

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน ขณะอยู่ในระหว่างขึ้นตอนการตรวจดีเอ็นเอข้าวหอมมะลิ โดยการนำเมล็ดข้าวมาบดให้เป็นแป้ง แล้วสกัดดีเอ็นเอให้อยู่ในรูปสารละลายนำไปเข้าเครื่องทำปฏิกิริยา ก่อนเข้าเครื่อง DNA Sequencer เพื่อแปรผลเป็นแถบสีในจอคอมพิวเตอร์

rice11

กระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาข้าวสารแพงโดยนำข้าวสารในสต็อกของรัฐมาจัดทำข้าวถุงธงฟ้าขายในราคาประหยัด วางขายตามจุดจำหน่ายในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดมีประชาชนเดินทางไปซื้ออย่างคึกคัก

 

๔.

เมื่อชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ข้าวเปลือกที่ได้อาจขายให้พ่อค้าคนกลาง หรือขนไปขายให้โรงสีโดยตรง โรงสีจะสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสาร โรงสีอาจส่งขายข้าวสารให้แก่พ่อค้าขายส่งในประเทศหรือบริษัทผู้ส่งออกโดยตรง หรือดำเนินการผ่านนายหน้าคนกลางที่เรียกว่า หยง

เช้าวันนั้นเราเดินทางมาที่โรงงานของบริษัทเอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา บริษัทนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เป็นอันดับต้นของประเทศไทย

ลานจอดรถกว้างใหญ่มีรถบรรทุกจอดเรียงรายอยู่เนืองแน่น รถเหล่านี้บรรทุกข้าวสารจากโรงสีต่าง ๆ ทั่วประเทศมาส่งให้แก่โรงงาน

กฤตภาส กฤชสุวรรณวุฒิ ผู้จัดการโรงงาน เป็นคนพาเราเดินชม และอธิบายกระบวนการผลิตข้าวสารเพื่อส่งขายแก่ลูกค้าต่างประเทศ

“มีโรงสีที่ได้มาตรฐานประมาณ ๕๐ แห่งทั่วประเทศส่งขายข้าวสารให้เราเป็นประจำโดยผ่านหยง” กฤตภาสกล่าว

ขั้นตอนแรก เจ้าหน้าที่ของโรงงานจะไปสุ่มตัวอย่างข้าวสารจากรถบรรทุกแต่ละคันเพื่อมาทดสอบด้านกายภาพ นั่นคือตรวจดูลักษณะภายนอกว่ามีข้าวหักปลอมปนมาในสัดส่วนที่ยอมรับได้หรือไม่ รวมทั้งข้าวเมล็ดเหลืองหรือเมล็ดเสีย

ข้าวสารที่ส่งมาจากโรงสีมีทั้งข้าวขาว ข้าวเหนียว ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิ เฉพาะข้าวหอมมะลิเท่านั้นที่ต้องส่งไปทดสอบทางเคมีในห้องแล็บ

กฤตภาสพาเราไปยังห้องแล็บบริเวณชั้นสองของอาคารสำนักงานโรงงาน เจ้าหน้าที่หญิงสวมเสื้อกาวน์สีขาวนั่งประจำโต๊ะ เธอกำลังนั่งเรียงเมล็ดข้าวบนแผ่นกระจกอย่างตั้งอกตั้งใจ

การทดสอบวิธีนี้เพื่อต้องการดูว่าตัวอย่างข้าวหอมมะลิที่สุ่มมานั้นมีข้าวขาวปลอมปนมาหรือไม่ โดยนำตัวอย่างข้าวจำนวน ๑๐๐ เมล็ดไปต้มที่เวลาประมาณ ๑๗ นาที จากนั้นเอาเมล็ดข้าวมาวางเรียงเป็นแถวบนแผ่นกระจกใสขนาดประมาณฝ่ามือผู้ใหญ่ แล้วใช้กระจกอีกแผ่นกดทับจนแนบติดกัน หากข้าวที่ถูกกดเมล็ดใดมีไต หรือจุดสีขาวขนาดเล็กบริเวณกลางเมล็ด นั่นคือข้าวขาวที่ปลอมปนมา

“มาตรฐานกำหนดว่า ในข้าว ๑๐๐ เมล็ด จะมีข้าวปลอมปนได้ไม่เกิน ๘ เมล็ด” กฤตภาสกล่าว

การทดสอบข้าวหอมมะลิด้วยกระบวนการทางเคมียังมีอีก ๒ วิธีคือ การแช่ด่าง และการทดสอบอมิโลส (amylose) ซึ่งเป็นแป้งชนิดหนึ่งที่อยู่ในเมล็ดข้าว

นอกจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ยังกำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิที่จะส่งเป็นสินค้าออกต่างประเทศว่าต้องผ่านการตรวจดีเอ็นเออีกด้วย สำหรับโรงงานแห่งนี้ส่งตัวอย่างข้าวหอมมะลิไปตรวจดีเอ็นเอที่ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอ เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ. นครปฐม

เมื่อออกจากห้องแล็บ กฤตภาสพาเราเดินตัดลานปูนซีเมนต์เพื่อไปยังอาคารโกดังข้าวขนาดมหึมา รถบรรทุกข้าวสารที่ผ่านการตรวจคุณภาพแล้วมาจอดเทียบรอบนอกโกดัง บริเวณหลุมสำหรับลงข้าว

กระบะท้ายรถบรรทุกคันหนึ่งค่อย ๆ ยกตัวขึ้นทางด้านหน้ารถ ข้าวสารในกระบะจึงไหลพรั่งพรูลงไปในหลุมที่พื้น รถอีกคันที่จอดอยู่ด้านข้างบรรทุกข้าวสารบรรจุกระสอบ คนงานต้องเปิดกระสอบเทข้าวสารลงไปในหลุม

ข้าวสารภายในหลุมถูกลำเลียงไปกับสายพาน เพื่อนำไปจัดเก็บในไซโลที่ติดตั้งในอาคารโกดัง

เราเดินเข้าไปในอาคารโกดังที่ม่านฝุ่นฟุ้งกระจาย ไซโลหรือถังเก็บข้าวขนาดยักษ์ความจุ ๑๐๐ ตัน ยืนตระหง่านเรียงต่อกันเป็นแนว เมื่อเดินลึกเข้าไปก็ถึงพื้นที่ของกระบวนการผลิต

กฤตภาสอธิบายว่าโรงงานมีสายการผลิต ๕ สาย ประกอบด้วยกลุ่มเครื่องจักรอัตโนมัติ เราได้เห็นถึงโครงสร้างที่สลับซับซ้อน และการทำงานที่ส่งเสียงโครมครืนสนั่นหวั่นไหว

ข้าวสารจากไซโลจะถูกลำเลียงตามสายพานมาสู่แต่ละสายการผลิตเพื่อ “ขัดสีฉวีวรรณ” โดยผ่านเครื่องทำความสะอาด เพื่อคัดแยกสิ่งที่ปลอมปนในข้าวสาร ทั้งเศษฝุ่น เศษเชือก ก้อนหิน หรือเมล็ดพืชอื่นออกไป

จากนั้นผ่านเครื่องขัดมันโดยใช้น้ำฉีดเพื่อให้เมล็ดข้าววาวเป็นมัน ต่อมาเข้าเครื่องยิงเม็ดสี หรือ sortex ทำงานโดยยิงลำแสงซึ่งสามารถคัดแยกข้าวเปลือกเมล็ดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลคล้ำออกไปได้ ขั้นสุดท้ายข้าวจะผ่านเครื่องแยกเมล็ด ทั้งตะแกรงกลมและตะแกรงเหลี่ยม เพื่อคัดแยกเมล็ดข้าวที่หักไม่สมบูรณ์ออกไป

ข้าวสารที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้วจะถูกนำไปบรรจุห่อตามน้ำหนักที่ลูกค้าต้องการ

ที่ท่าเรือของโรงงานริมแม่น้ำบางปะกง คนงานกำลังขนกระสอบข้าวสารลงเรือโป๊ะที่จอดเทียบท่าอยู่ มองเห็นกระสอบข้าวสารวางเรียงเกือบเต็มลำเรือ

“เรือโป๊ะลำหนึ่งบรรทุกข้าวได้ ๑,๐๐๐ ตัน แล้วจะขนถ่ายไปลงเรือสินค้าขนาดใหญ่ที่เกาะสีชัง” กฤตภาสกล่าว “โรงงานของเรามีกำลังการผลิตข้าวสารกระสอบใหญ่ ขนาด ๕๐ กิโลกรัม ได้วันละ ๔,๐๐๐ ตัน ส่วนข้าวถุงเล็ก ขนาด ๕ กิโลกรัม ได้วันละ ๑,๐๐๐ ตัน ช่วงที่ผ่านมาเราส่งออกข้าวเฉลี่ยแล้ววันละ ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ พันตัน ไม่ต่ำกว่านี้”

ข้าวที่กำลังขนถ่ายลงเรือโป๊ะอยู่นี้ ลูกค้าเป็นบริษัทค้าข้าวระหว่างประเทศจากฝรั่งเศสที่มาสั่งบริษัทเอเซียโกลเด้น ไรซ์ ผลิตในแบรนด์ของตน เพื่อส่งขายให้ประเทศในทวีปแอฟริกา

“ลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นลักษณะนี้ คือเป็นโบรกเกอร์เหมือนพ่อค้าคนกลาง มาสั่งเราผลิตข้าวให้ในแบรนด์ของบริษัทเขา เพื่อส่งออกประเทศลูกค้าอีกที”

เราถามเขาว่าในช่วงที่ข้าวมีราคาแพง บริษัทผู้ส่งออกข้าวน่าจะได้รับผลประโยชน์มาก

“ไม่หรอกครับ ถ้าเรามีวัตถุดิบรองรับอยู่ก็อาจมีรายได้ดี แต่ความจริงแล้วเราตกลงซื้อขายข้าวล่วงหน้ากับลูกค้าต่างประเทศ (ในช่วงที่ข้าวยังราคาถูก) แม้เราติดต่อซื้อขายข้าวล่วงหน้ากับโรงสีก็จริง แต่บางครั้งโรงสีมีปัญหาในการส่งมอบ โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนค่อนข้างมีปัญหา เพราะข้าวแพงขึ้น โรงสีไม่ยอมมาส่งข้าวราคาต่ำที่เราตกลงซื้อไว้ล่วงหน้า เขาเอาไปขายบริษัทที่รับซื้อในราคาสูงกว่า เราก็ต้องยอมรับสภาพขาดทุน โดยซื้อข้าวราคาสูงมาส่งมอบให้ลูกค้าต่างประเทศ เราต้องรักษาลูกค้าไว้” กฤตภาสกล่าว

ขณะที่ สมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัทเอเชีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด ซึ่งเราเดินทางไปพบเขาที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ บอกกับเราว่า

“ช่วงที่ข้าวราคาแพงที่สุดเมื่อเดือนมีนาคมถึงเมษายนราคาเพิ่มขึ้นร้อยกว่าเปอร์เซ็นต์ภายในเวลา ๔ เดือน บอกได้เลยว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่เคยมีปรากฏการณ์อย่างนี้มาก่อน ผมเชื่อว่าทุกภาคส่วนของวงการข้าวได้ประโยชน์ ทั้งชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก”

อย่างไรก็ตาม หลังเดือนเมษายนกระทั่งถึงต้นเดือนมิถุนายนกลับเกิดภาวะราคารับซื้อข้าวเปลือกตกต่ำลง กระทั่งชาวนาบางกลุ่มประกาศจะชุมนุมปิดถนน รัฐบาลโดยนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงเปิดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าในราคาเกวียนละ ๑๔,๐๐๐ บาท ที่ความชื้นไม่เกิน ๑๕ % เพราะพบว่าข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกเหนียวถูกกดราคาให้ตกต่ำผิดปรกติ

สมบัติกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ถามว่ากลไกราคาข้าวถูกกำหนดด้วยปัจจัยอะไรบ้าง ยากจะตอบ คือมันต้องขึ้นกับดีมานด์-ซัปพลายแต่ละปี ผู้ส่งออกเองก็ไม่ได้ไปกำหนดอะไรหรอกครับ บางทีมีหลายกระแสสังคมบอกว่าผู้ส่งออกเป็นผู้กำหนดตลาด ไปกดราคา ทำให้ราคาลงบ้าง จริง ๆ ไม่ใช่อย่างนั้น คือเราก็เป็นผู้ผลิตเท่านั้นเอง ขายได้เท่าไหร่ เราก็มาซื้อในตลาดเท่านั้น ไม่สามารถจะไปชี้นำอะไรได้มากมาย

“ผมคิดว่ารัฐบาลตั้งราคาจำนำข้าว ๑๔,๐๐๐ บาท ค่อนข้างสูงเกินไป ชี้นำตลาดมากเกินไปนิด ในความเห็นของผม ราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในจุดที่สมดุล คือได้ประโยชน์ทั้งชาวนาและไม่กดดันลูกค้าต่างประเทศ น่าจะประมาณเกวียนละ ๑๒,๐๐๐ บาท ถ้าราคาส่งออกข้าวประมาณตันละ ๗๐๐-๘๐๐ เหรียญสหรัฐ เชื่อว่าตลาดน่าจะรับได้ แต่ถ้าเราไปชี้นำกระทั่งราคาสูงเกินไป อาจ
เป็นปัญหาในอนาคต กลไกขับเคลื่อนการขายข้าวจะไม่คล่องตัวเท่าที่ควร ลูกค้าบางประเทศที่ไม่มีแรงซื้อ เขาอาจเปลี่ยนรูปแบบการบริโภค เช่นลดการบริโภคข้าวลง บางประเทศอาจจำเป็นต้องนำเข้าข้าวในระยะสั้น แต่ระยะยาวเขาก็ต้องดิ้นรนที่จะเพาะปลูก เพิ่มผลผลิตของตัวเอง ยิ่งเรากดดันให้ราคาตลาดสูง ยิ่งเร่งให้เขาต้องทำอะไรมากขึ้น”

สมบัติให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศที่นำเข้าข้าวจากประเทศไทย ทั้งนำเข้าโดยตรงหรือซื้อผ่านบริษัทค้าข้าวระหว่างประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ อเมริกา นำเข้าข้าวหอมมะลิ ส่วนแอฟริกาใต้ ไนจีเรีย นำเข้าข้าวนึ่งเป็นหลัก และประเทศที่นำเข้าข้าวขาว ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ประเทศในแอฟริกา และประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น อิรัก อิหร่าน

สมบัติกล่าวว่า “ประเทศไทยอาจไม่ได้เป็นผู้ผลิตข้าวปริมาณมากที่สุดในโลก แต่เราเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ ๑ ของโลกติดต่อกันมาหลายปี ข้าวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย เป็นสินค้าที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละแสนกว่าล้านบาท แต่ปีนี้อาจถึงกว่า ๒ แสนล้านบาท”

เมื่อปี ๒๕๕๐ ประเทศไทยส่งออกข้าวประมาณ ๙ ล้านตัน

เมื่อถามว่าในกระบวนการค้าข้าว ส่งออกข้าว มองว่ามีปัญหาในส่วนไหนบ้าง สมบัติให้ความเห็นว่า

“กระบวนการจากโรงสีสู่การส่งออก ถือว่าไม่มีปัญหาอะไร ส่วนรัฐบาลเองก็จำเป็นต้องออกมาช่วยชาวนา แต่ผมคิดว่าระยะยาวเราควรแก้ไขเรื่องผลผลิตข้าวต่อไร่ซึ่งยังน้อยอยู่ ต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ แล้วรัฐบาลอาจจะช่วยสนับสนุนเรื่องปุ๋ยราคาถูกแก่ชาวนา”

rice12

กระสอบบรรจุข้าวสารเรียงซ้อนเป็นกองพะเนินอยู่ในเรือขนถ่ายสินค้า เพื่อส่งออกต่างประเทศ แม้ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวต่อไร่อยู่ในเกณฑ์ต่ำแต่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ ๑ ของโลกติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

 

๕.

แม้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวปริมาณมากที่สุดในโลกติดต่อกันหลายปี ทว่าผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยโดยเฉลี่ยกลับอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ประมาณ ๔๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามก็มีอัตราผลผลิตข้าวต่อไร่สูงกว่าไทย ประมาณ ๗๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ผู้เชี่ยวชาญในวงการข้าวหลายฝ่ายจึงมีความเห็นตรงกันว่า ควรแก้ปัญหาข้าวไทยโดยการเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ ทั้งโดยการเพิ่มพื้นที่ชลประทานและการปรับปรุงพันธุ์ข้าว

ดร. สมทรง โชติชื่น จากศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“ผลผลิตข้าวต่อไร่โดยเฉลี่ยของประเทศไทยต่ำ เพราะพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ประมาณ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ซึ่งอยู่ในเขตภาคอีสานและภาคเหนือยังไม่มีระบบชลประทาน จึงต้องทำนาปีโดยอาศัยน้ำฝน ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวในภาคกลางประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์มีระบบชลประทาน สามารถควบคุมน้ำได้ จึงปลูกข้าวนาปรังได้อย่างน้อย ๒ ครั้งต่อปี หรือ ๕ ครั้งใน ๒ ปี ได้ผลผลิตข้าว ๘๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ เราสามารถสร้างระบบชลประทานในพื้นที่ทำนาด้วยน้ำฝนได้ แต่รัฐบาลต้องลงทุนอย่างจริงจัง โดยอาจสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่”

และแม้ขณะนี้มีหลายหน่วยงานดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไทยอยู่ แต่ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคือกรณีที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพี ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสม หรือข้าวไฮบริด (hybrid) และเริ่มจำหน่ายแก่ชาวนาทั่วไปในบางพื้นที่ โดยอ้างว่าข้าวลูกผสมให้ผลผลิตสูงถึง ๑,๖๐๐ กิโลกรัมต่อไร่

กระทั่งหลายคนกล่าวว่า ข้าวลูกผสมคือทางออกของข้าวไทยในอนาคต

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ แห่งมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงความเป็นมาของข้าวลูกผสมว่า

“พันธุ์ข้าวลูกผสมเกิดจากประเทศจีน โดยการค้นพบพันธุ์ข้าวที่เกสรตัวผู้เป็นหมัน เพราะโดยธรรมชาติแล้วในเมล็ดข้าวมีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมีย ข้าวจึงเป็นพืชที่ผสมตัวเอง ทีนี้เมื่อพบข้าวที่เกสรตัวผู้เป็นหมัน นั่นหมายถึงทำให้เกิดช่องทางให้มีการผสมข้าวระหว่างสองสายพันธุ์เกิดขึ้น”

การสร้างพันธุ์ข้าวลูกผสมทำโดยใช้พันธุ์ข้าวที่เกสรตัวผู้เป็นหมันเพื่อเป็นต้นแม่ และข้าวอีกพันธุ์หนึ่งสำหรับเป็นต้นพ่อ โดยทั้งคู่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าจะให้ลูกผสมที่ดี แล้วปลูกในแปลงซึ่งมีแถวต้นแม่สลับกับต้นพ่อ การผสมข้ามพันธุ์จะเกิดขึ้นโดยแถวต้นพ่อจะถ่ายละอองเกสรมายังแถวต้นแม่ ต้นแม่จะเกิดการติดเมล็ด เป็นเมล็ดข้าวลูกผสม ซึ่งจะมีลักษณะแข็งแรง และให้ผลผลิตที่สูงกว่าพ่อแม่เสมอ

ว่ากันว่าพันธุ์ข้าวลูกผสมในประเทศจีนบางพื้นที่ให้ผลผลิตสูงถึง ๒,๐๐๐ กิโลกรัมต่อไร่

อย่างไรก็ตาม เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมมีราคาสูง นอกจากนั้นเมื่อนำไปปลูกในนาจนออกรวงแล้ว เมล็ดที่ได้ยังไม่สามารถนำมาเป็นเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อได้อีก เพราะแม้จะปลูกขึ้น แต่ต้นข้าวอาจไม่เจริญเติบโต หรือผลผลิตจะลดน้อยลงมาก

ดังนั้นหากชาวนาปลูกข้าวลูกผสม เขาต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกรอบการเพาะปลูก

ดร. สมทรงเผยว่าขณะนี้ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีก็กำลังพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสมอยู่เช่นกัน แต่ยังไม่ถึงขั้นแนะนำสู่สาธารณะได้ เขาให้ความเห็นว่า

“สำหรับข้าวลูกผสม เราไม่สามารถที่จะปลูกแล้วเก็บเมล็ดเพื่อนำไปปลูกต่อไปเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่ปลูก ชาวนาต้องไปซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมมาใหม่ ชาวนาจึงต้องตัดสินใจว่าคุ้มไหมกับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาก กับการลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มีราคาสูงเช่นกัน และปัจจัยการผลิตที่มากกว่าเดิม เพราะข้าวลูกผสมต้องการปุ๋ยมากกว่าข้าวทั่วไป เนื่องจากมันตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดี ยิ่งใส่ปุ๋ยมากก็ยิ่งได้ผลผลิตมาก”

ดร. สมทรงยังให้ข้อมูลว่าขณะที่ข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้ผลผลิตประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวปรับปรุงพันธุ์ เช่นข้าว กข รุ่นต่าง ๆ ให้ผลผลิตราว ๖๐๐-๗๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนข้าวลูกผสมให้ผลผลิต ๘๐๐-๑,๐๐๐ กว่ากิโลกรัมต่อไร่

ขณะที่ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มีท่าทีคัดค้านการเผยแพร่ข้าวลูกผสมอย่างชัดเจน เพราะเห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่พยายามหาทางผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวของประเทศไทย

“ที่ผ่านมาบริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ประสบความสำเร็จมาแล้วในการผลักดันพันธุ์พืชผักลูกผสม จากเดิมที่ชาวบ้านเคยปลูกผักอย่างถั่วฝักยาว ถั่วไร่ แตงกวา แล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อได้เลยโดยไม่ต้องเสียเงิน เดี๋ยวนี้เกษตรกรหันมาปลูกผักลูกผสม ต้องเสียเงินซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกฤดูเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าวโพดซึ่งเป็นพืชไร่สำคัญ ปัจจุบันชาวไร่ปลูกข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมทั้งสิ้น

“กล่าวได้ว่าบริษัทเห็นช่องทางในการขยายผลประโยชน์ เพราะในบรรดาตลาดเมล็ดพันธุ์ของประเทศไทย ตลาดใหญ่ที่สุดคือเมล็ดพันธุ์ข้าว ความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวต่อปีสูงนับล้านตัน เพราะฉะนั้นถ้าคุณสามารถควบคุมหรือครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ จะมีผลประโยชน์มหาศาล รวมทั้งผลประโยชน์ต่อเนื่องจากการขายสารเคมีการเกษตร เพราะเมล็ดพันธุ์ลูกผสมล้วนแต่ปรับปรุงขึ้นเพื่อตอบสนองต่อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และยาปราบวัชพืช หากมองในระยะยาวคือชาวนาจะไม่สามารถกลับไปหาการผลิตแบบเดิมได้อีกแล้ว เหมือนกรณีชาวไร่ข้าวโพดในขณะนี้”

นอกจากประเด็นเรื่องพันธุ์ข้าวลูกผสม ปัญหาที่น่าจับตามองเพราะอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตคือปรากฏการณ์ที่ชาวนาจำนวนมากต้องสูญเสียที่ดินของตนเองแก่นายทุนเจ้าหนี้ หรือโดนสถาบันการเงินต่าง ๆ ยึดที่ดินวิฑูรย์ให้ข้อมูลว่า “ขณะนี้โฉนดที่ดินของชาวบ้านราว ๓ ล้านครอบครัวทั่วประเทศติดจำนองอยู่กับ ธ.ก.ส. เพราะฉะนั้นนโยบายของรัฐบาลภายภาคหน้าสำคัญมาก ถ้าไม่มีนโยบายผ่อนปรนหนี้ให้ชาวนา ที่นาแทบทั้งประเทศจะตกไปอยู่ในมือนายทุนรายใหญ่ รวมถึงนายทุนต่างชาติ หากรัฐบาลเปิดทางให้พวกนี้เข้ามา

“หากเป็นเช่นนั้น ระบบการทำนาของไทยจะไม่อยู่ในมือเกษตรกรรายย่อยอีกต่อไป แต่จะเกิดเกษตรกรรายใหญ่ หรือบริษัทใหญ่เพียงรายเดียวเป็นเจ้าของที่ดินทำนานับหมื่นนับแสนไร่ อาจถึง ๔-๕ แสนไร่ โดยชาวนาทั้งประเทศกลายเป็นแรงงานรับจ้าง…ถ้าถึงจุดนั้นจะเกิดวิกฤตกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของไทยแน่นอน เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่จะแสวงหากำไร ประเทศไหนเสนอราคาดี เขาย่อมส่งข้าวไปขายที่นั่น โดยไม่คำนึงว่าปริมาณข้าวในประเทศจะขาดแคลนหรือไม่”

เมื่อเกิดวิกฤตอาหารโลก ธัญพืชสำคัญไม่ว่าข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี ขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นมาก ผลพวงประการหนึ่งก็คือ บรรดาประเทศแถบตะวันออกกลางที่ร่ำรวยจากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทว่าผลิตอาหารในประเทศได้ไม่เพียงพอจนต้องนำเข้าอาหารในสัดส่วนสูง เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ได้เปลี่ยนมาใช้ยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อแก้ปัญหาด้านอาหาร โดยกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตรนอกประเทศ เช่น ในปากีสถาน ซูดาน ฯลฯ

หรือประเทศจีนที่กำลังพยายามซื้อหรือเช่าที่ดินในแอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อปลูกพืชพวกถั่วเหลืองและปาล์มน้ำมัน รวมทั้งเกาหลีใต้ก็ลงทุนทำเกษตรในที่ดินของประเทศมองโกเลีย

สำหรับประเทศไทยเอง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปรากฏรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ได้ชักชวนกลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่ชาวซาอุดีอาระเบียเข้ามาลงทุนเช่าที่ดินทำนา และทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าข้าวในประเทศไทย

แม้ภายหลังกระแสข่าวนี้เงียบหายไป แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตความพยายามเช่นนี้อาจหวนกลับมาอีกครั้ง…

 

๖.

ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศระบุว่า ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม-๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๑ ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งหมดจำนวน ๗.๓๖๗ ล้านตันข้าวสาร

สำหรับสถานการณ์ข้าวไทยล่าสุดขณะกำลังเขียนต้นฉบับเรื่องนี้ ภายหลังนายสมัคร สุนทรเวช ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รายงานข่าวกล่าวว่าอาจส่งผลให้การบริหารงานข้าวในประเทศมีปัญหาอย่างหนัก ทั้งเรื่องการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลไม่ทันกับข้าวที่รับจำนำเข้ามาใหม่ จนอาจเกิดปัญหาข้าวล้นสต็อก ส่งผลกระทบให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำอีกครั้ง…

เรื่องราวสถานการณ์ข้าวช่างเต็มไปด้วยความผันผวน มีแง่มุมซับซ้อนหลากหลาย และส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อชีวิตคนไทยทุกคน ไม่ว่าด้านโภชนาการ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง

และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังจานข้าวขาวหอมกรุ่นที่วางอยู่บนโต๊ะอาหารตรงหน้าเรานั่นเอง

ข้าวไทยจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไรในอนาคต ?

เอกสารประกอบการเขียน
วรากรณ์ สามโกเศศ. “ต่างชาติเช่าที่นาไม่ใช่เรื่องอิงนิยาย”. มติชนรายวัน
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๑.
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. “ข้าวไทย รสชาติ เมล็ดพันธุ์ และการเดินทาง”.
สารคดี ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๑๖๓ กันยายน ๒๕๔๑.
สมพร อิศวิลานนท์, “สถานการณ์ข้าวไทย : ยุคปฏิวัติเขียวกำลังจะผ่านไป
…แต่ยุคข้าวแพงกำลังจะตามมา”. จดหมายข่าวประชาคมวิจัย
ปีที่ ๑๔ ฉบับที่ ๘๐ กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๕๑.

ขอขอบคุณ
มูลนิธิชีววิถี
บริษัทเอเชีย อินสเปคชั่น จำกัด
บริษัทเอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด
บริษัทเอเชีย อินเตอร์ไรซ์ จำกัด
โรงสีสินอุดม
ศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ
ห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี
คุณนิคม พุทธา
คุณกิมอั้ง พงษ์นารายณ์