กวดแล้วสอบติดจริงหรือ ?

ในปี ๒๕๔๗ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำวิจัยเพื่อตอบข้อกังขาที่ว่า กวดวิชามีผลต่อการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อจริงหรือไม่

ผลวิจัยออกมาชัดเจนว่ากลุ่มนักเรียนกวดวิชามีโอกาสสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้มากกว่า ๑.๕๗ เท่าเมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้กวดวิชา โดยเฉพาะเด็กที่กวดชนิด “ติวก่อนสอบ”มีโอกาสสอบติดมากขึ้นเป็น ๒ เท่า

ทว่างานวิจัยระบุว่า ข้างต้นเป็นผลศึกษาที่ยังไม่ได้ “ควบคุมอิทธิพลของตัวแปรอื่นๆ”ร่วมด้วย และเมื่อควบคุมตัวแปรก็พบว่า การกวดวิชาไม่มีผลต่อการสอบเอนทรานซ์โดยตรงเสียทีเดียว แต่เป็นผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือ GPA ที่ดีในโรงเรียนต่างหากที่เป็นตัวแปรหลักให้เด็กเอนท์ติด นั่นหมายความว่า เด็กที่เรียนดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะกวดวิชาหรือไม่ก็ตาม ก็มีโอกาสในการสอบคัดเลือกได้สูงเท่าๆ กัน

แต่ปัญหาก็คือว่า เจ้าเด็กเรียนเก่งเรียนดีทั้งหลายที่ว่านี้ ต่อให้เก่งแค่ไหนก็ยังไปเรียนกวดวิชา ส่วนเด็กที่เรียนไม่เก่งเองก็ไปกวดวิชาด้วยเช่นกัน เพื่อหวังจะทำคะแนนสอบเข้าได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

เพราะฉะนั้น หากเด็กเก่งไปกวด และเด็กไม่เก่งก็ไปกวด คนที่สอบติดก็คือกลุ่มเด็กเก่งอยู่ดี

น้องตั้ม เกรดเฉลี่ย ๓.๕๐ กำลังเรียนชั้น ม. ๖ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ใช้เวลาทั้งวันธรรมดาและวันเสาร์-อาทิตย์เรียนคอร์สเตรียมเอนทรานซ์วิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และชีววิทยา

“ยังไม่รู้เลยว่าจะเข้าที่ไหน แต่ก็เรียนเฉพาะวิชาหลักๆ ฮะ ปรกติไม่ค่อยชอบเรียนกวดวิชา แต่นี่จะเอนท์ก็เลยขอที่บ้านมาเรียน ฟังจากเพื่อนๆ บอกว่าที่ไหนดีก็ไปเรียนที่นั่น”น้องตั้มแจง

ส่วนน้องลั้ง บุญล้อม สรรค์ชัยภิญโญ เรียนชั้น ม. ๖ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เกรดเฉลี่ย ๓.๙๑ ยังมานั่งเรียนกวดวิชาวิทย์โอเน็ต แม้ว่าในส่วนของโอเน็ตนั้นเป็นข้อสอบพื้นฐานและไม่ยากเท่าไรนัก

น้องลั้งบอกเราว่าอยากสอบเข้ารัฐศาสตร์ IR (สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) จุฬาลงกรณ์-
มหาวิทยาลัย วิชาที่ลั้งต้องสอบคือวิชาโอเน็ตทั้ง ๕ วิชา กับเอเน็ตอีก ๒ วิชา คือภาษาฝรั่งเศสกับสังคม (ปัจจุบันน้องลั้งอยู่ ม. ๖ เพราะฉะนั้นจึงยังใช้เกณฑ์การวัดผลแอดมิชชันส์แบบเดิม ก่อนจะเปลี่ยนไปใช้ระบบใหม่ในปี การศึกษา ๒๕๕๓)

“เรื่องเรียนพิเศษจัดการเองหมด สิ่งที่เราต้องทำก็คืออธิบายให้พ่อแม่ฟังว่าระบบแบบนี้เรียนที่โรงเรียนอย่างเดียวมันไม่พอ…คำว่าจะเอนท์ติดหรือไม่ติดมันคงใช้กับเมื่อหลายปีมาแล้ว แต่ตอนนี้มันอยู่ที่ว่าจะติดที่ดีหรือเปล่ามากกว่า เพราะตอนนี้หลับตาทำมันก็ติดอยู่แล้ว สำหรับความรู้เราตอนนี้เราไปเข้าสอบได้เลย เราจะเลือกคณะอะไรก็ได้มันติดอยู่แล้ว ตอนนี้อยากเข้าที่ดีก็ต้องเวิร์กฮาร์ดหน่อยค่ะ

“ความจริงอ่านหนังสือเองก็ได้ไง แต่เหมือนตอนนี้ทุกคนเรียนกันเยอะขนาดนี้เป็นเพราะว่า เออ เราเห็นคนนู้นก็เรียนคนนี้ก็เรียน ทุกคนในห้องเรียนกันหมด”

น้องลั้งสบายใจมากกว่าที่จะดั้นด้นจากบ้านย่านรังสิตมากวดวิชา แทนที่จะว้าวุ่นใจหากไม่ได้เรียนเพิ่มเหมือนคนอื่นๆ เขา

ขายวิชา เป็นเทน้ำเทท่า

เจ็ดโมงเช้าวันเสาร์ ควรจะเป็นเวลาที่เราเพิ่งตื่นและ นั่งดื่มไมโลโอวัลตินอุ่นๆ อยู่ริมระเบียงบ้าน

แต่ในวันและเวลาเดียวกันนี้ บนชั้น ๒ โรงหนังลิโด้ สยามสแควร์ ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ “ลงทะเบียน”สำหรับผู้ที่ต้องการเรียนกวดวิชาชีววิทยารอบสอนสดกับอาจารย์เอกฤทธิ์ วีระพันธุ์ ที่โรงเรียนกวดวิชายูเรก้า

“๗.๐๐ น.”ฉันเห็นป้ายประกาศเขียนอย่างนั้น จึงไปถึงที่นั่นตามเวลาที่ระบุไว้ ช่างภาพของเราไปถึง
ได้พักใหญ่แล้ว ฉันได้แต่ตะลึงกับบรรดาผู้ปกครองที่มากันพร้อมหน้าจนบริเวณหน้าโรงเรียนกวดวิชายูเรก้าแทบจะไม่เหลือที่ให้ยืน ถามผู้ปกครองท่านหนึ่งบอกว่ามาตั้งแต่ตีห้า อีกท่านบอกว่ามาตั้งแต่ตีสาม ทว่าคิวแรกที่ได้ลงทะเบียนให้ลูกสมใจนั้นเธอมาตั้งแต่ห้าทุ่มของเมื่อวาน อากาศตรงนี้ไม่ค่อยถ่ายเทเท่าไรนัก ทำให้ฉันเริ่มหายใจไม่ออก (ทั้งที่เพิ่งมา) แล้วคนที่มาเมื่อวานล่ะ ถึงกับอดนอนเพื่อมาต่อแถวอย่างนั้นหรือ

“ก็เนี่ยค่ะ จะรีบกลับไปนอนแล้ว”ผู้ปกครองท่านหนึ่งซึ่งต่อแถวอยู่ในคิวต้นๆ ตอบด้วยสีหน้าเพลีย
หลานของเธอเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เราหมายจะคุยกับผู้ปกครองที่ได้คิวแรกแต่ไม่ทันเสียแล้ว “ไปก่อนนะคะ จะรีบไปโอนเงินเข้าธนาคาร” ผู้ปกครองหมายเลข ๑ เหงื่อพราว จูงลูกชายเดินออกไปจากที่ลงทะเบียนอย่างรวดเร็ว

หากหยิบโบรชัวร์ของโรงเรียนกวดวิชาขึ้นมาดูจะพบว่า แทบทุกแห่งมีอธิบายระบบลงทะเบียนเรียนผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารโดยละเอียด บางโรงเรียน เช่น เคมี อ. อุ๊ จะให้โอนเงินเข้าธนาคารก่อนแล้วนำสลิปมาแสดงที่โรงเรียนในภายหลัง ซึ่งส่วนใหญ่ระบบจะปฏิเสธการโอนโดยอัตโนมัติภายใน ๓-๕ นาทีแรก เนื่องจากมีผู้โอนเงินเข้าจนคอร์สกวดวิชานั้นๆ เต็มแล้ว

“ตอนสมัครเรียนเคมี อ. อุ๊ ม. ๔ นี่ ตอนโอนเงินเข้าธนาคารคุณแม่ต้องใช้เส้นจองก่อนเลย ไม่งั้นก็อาจจะหลุดไปเลยไม่ได้เรียน จะเรียนคอร์สสดก็ต้องเส้นอย่างเดียวเลยค่ะ”เด็กสาว ม. ๖ ที่เคยเรียนเคมี อ. อุ๊กระซิบบอก

เมื่อมีการบอกต่อว่าเต็มเร็ว ผลก็คือคอร์สต่อไปก็ยิ่งเต็มเร็วขึ้น และเร็วขึ้น

เมื่อคนเรียนเยอะขึ้นก็ต้องมีการขยายสาขา และจากกรุงเทพฯ ขยายไปยังเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ภาคเหนือมีเชียงราย เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ภาคอีสานมีขอนแก่น โคราช อุบลราชธานี อุดรธานี ภาคใต้มีสุราษฎร์ หาดใหญ่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช ตัวอย่างเคมี อ. อุ๊ เปิดสอนมาตั้งแต่ราว ๒๐ ปีก่อน ขยายสาขาอย่างรวดเร็วในหลายปีแรก ต่อมาขยายทีละ ๓ สาขาในทุกๆ ๒ ปี ปัจจุบันมีทั้งหมด ๑๙ สาขาทั่วประเทศ ยิ่งสาขามากก็ยิ่งทำให้คนเชื่อในแบรนด์เคมี อ. อุ๊มากยิ่งขึ้นตามลำดับ เพราะเชื่อในกฎที่ว่า หากคนเรียนเยอะ แสดงว่าตัวโปรดักต์ต้องดีจริง

หากจะถามกันถึงเทคนิคทางการตลาดโดยตรง อนุสรณ์ ศิวะกุล สามีและหุ้นส่วนของอาจารย์อุ๊บอกว่า “ที่นี่ใช้วิธีให้เรียนฟรีก่อนตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาในปีแรกๆ โดยโฆษณาว่านี่คือคอร์ส ‘แนะแนวเทคนิคการทำข้อสอบเอนทรานซ์วิชาเคมี’ ทุกวันนี้ก็ยังเปิดให้เรียนฟรีก่อนทุกครั้งเมื่อมีการเปิดสาขาใหม่ในต่างจังหวัด”

คุณบัณฑิต ผู้อำนวยการ สช. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่อนุญาตให้จัดตั้งและควบคุมมาตรฐานของโรงเรียนกวดวิชาโดยตรง รวมถึงโรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทอื่นด้วย มองว่า “การโฆษณาว่าเรียนที่นี่แล้วเข้ามหา’ลัยนั้นๆ ได้แน่นอนนี่เกินจริง ไม่มีใครได้ร้อยทั้งร้อยแบบนั้น ถามว่าเรามีการไปตรวจสอบไหม เราก็ไป แต่โรงเรียนมีอยู่เยอะมาก เจ้าหน้าที่ สช. มีแค่ ๒๕ คน ก็ไปไม่ไหว

“เราเคยคิดจะทำ School Mapping หมายความว่า ในอาณาเขตกรุงเทพฯ โรงเรียนสอนวิชาสามัญควรมีเท่านี้ โรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษควรมีเท่านี้ มีความเห็นหนึ่งถามขึ้นว่า คุณมีสิทธิ์อะไรไปกำหนดเขา นี่เป็นสิทธิพื้นฐานที่โรงเรียนกวดวิชาจะเปิดแข่งขันได้ ใครอยู่ไม่รอดก็ตายไป ไม่ใช่โรงเรียนกวดวิชาจะดังเสมอนะจัดตั้งมาเยอะมากแล้วสุดท้ายก็ตายไปเพราะไม่มีผู้เรียนก็มี มันเป็นการแข่งขันกันในตลาด ใครดีก็ได้ ใครร้ายก็เสียไป”

ธุรกิจพันล้าน หรืออาจจะหมื่นล้าน

รายได้ที่แท้จริงของธุรกิจนี้มักถูกทำให้เป็นปริศนา เพราะขึ้นชื่อว่าเป็น “สถานศึกษา”ผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชาแทบทุกแห่งมักปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายได้ที่แท้จริงของตนเอง หรือแม้แต่จำนวนตัวเลขนักเรียนที่ชัดเจนตายตัว เพราะไม่อยากให้ภาพออกมาในเชิง “ธุรกิจ” มากเกินไป อย่างน้อยนี่คือ “โรงเรียน”และปรัชญาของโรงเรียนนั้นควรจะเป็นแหล่งมุ่งให้ความรู้ ไม่ใช่มุ่งทำกำไร

และเพราะขึ้นชื่อว่าเป็นสถานศึกษา ธุรกิจกวดวิชาจึงไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย

“นี้เป็นปรัชญาทั่วไปทั้งโลกเลยที่ต้องส่งเสริมเรื่องการศึกษา เพียงแต่ว่าโรงเรียนกวดวิชานี่จะถูกเขม่นหน่อย เนื่องจากดูเหมือนว่าจะมีรายได้สูง”คุณพรชัย เจ้าของโรงเรียนกวดวิชายูเรก้ากล่าว เขาใช้คำว่า “ดูเหมือน”แต่เราก็ยังสงสัยเหมือนกับที่หลายคนสงสัยอยู่ดีว่า อันที่จริงก็ “สูงจริง”ใช่หรือเปล่า

หนังสือพิมพ์ ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ อ้างข้อมูลจาก “แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชารายหนึ่ง”ระบุถึงโรงเรียนกวดวิชาที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด ๓ อันดับแรก ได้แก่ ๑. เคมีอ. อุ๊ มีรายได้ไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ล้านบาทต่อปี ๒. Applied Physics รายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๐๐ กว่าล้านบาท ๓. The Brain, กวดวิชา อ. เจี๋ย, นีโอฟิสิกส์ และ Ac’cess รายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๐๐ ล้านบาท

คุณพรชัยอธิบายว่า “ถ้าเทียบกันแล้วมหา’ลัยเอกชนนี่ก็รายได้มหาศาล โรงเรียนกวดวิชาเทียบไม่ได้เลย กวดวิชานี่สัดส่วนน้อยมากถ้าเทียบกับการลงทุนทางการศึกษาหรือกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ มหา’ลัยลงทุนหลายพันล้าน รายได้ปีหนึ่งหลายร้อยล้าน เมื่อเปรียบเทียบในฐานเดียวกันแล้ว โรงเรียนกวดวิชาก็กำไรปรกติ มันขึ้นอยู่กับว่ามีนักเรียนมากแค่ไหน”

โรงเรียนกวดวิชาขนาดใหญ่อย่างเคมี อ. อุ๊ มีเด็กเรียนราวปีละ ๒ หมื่นกว่าคน แต่เราก็ไม่รู้อีกว่าใน ๒ หมื่นกว่าคนนี้เขาเรียนกันคนละกี่คอร์ส เพราะภายใน ๑ ปีโรงเรียนกวดวิชามักแยกคอร์สเรียนออกเป็น ๔ เทอม เทอมละ ๒๐ คอร์สขึ้นไป ตั้งแต่ติว ม. ๔-๕-๖ คอร์สล่วงหน้าปิดเทอม คอร์สเรียนระหว่างเปิดเทอม ไหนจะคอร์สตะลุยโจทย์และติวเข้มเอนทรานซ์ โรงเรียนที่สอนหลายวิชาอาจเปิดติวสังคม-ภาษาไทยโอเน็ตด้วย เป็นต้น นักเรียนที่ขึ้นชั้น ม. ๔ อาจเรียนล่วงหน้าไว้ เมื่อเปิดเทอมก็อาจมาเรียนซ้ำได้ เพราะบางแห่งมีการปรับการเรียงลำดับเนื้อหาใหม่บ่อย มีตั้งแต่ปรับทุกเทอม ทุกปี หรือทุกๆ ๒-๓ ปี

“เวลานักวิชาการบอกว่าธุรกิจนี้ Market Cap-italization ปีหนึ่งเท่ากับ ๓ หมื่นล้านบาท ในส่วนวิชาเคมีเรามี Market Cap ๙๗ % ของทั้งหมด ที่เหลืออีก ๓-๔ % เป็นของกวดวิชาเคมีเจ้าอื่น ถ้าผมมี Market Cap ๙๗ % แสดงว่าผมก็ได้ปีละ ๓๐๐ ล้านสิครับ และถ้านับว่าโรงเรียนเราสอนมา ๒๐ ปี แสดงว่าตอนนี้ผมก็มี ๖,๐๐๐ ล้าน แต่ ณ วันนี้ผมลงทุนทำตึกนี้ เงิน ๑,๐๐๐ ล้านเรายังต้องกู้เลยครับ ถามว่าในความเป็นจริงมันได้ตัวเลขอย่างนั้นไหม มันไม่ได้”คุณอนุสรณ์กล่าวแย้ง

ต้นทุนหลักของการทำธุรกิจกวดวิชาก็คือเรื่องสถานที่ การเช่าพื้นที่ในย่านชุมชนอาจต้องมีทุน ๒ ล้านบาทเป็นเบื้องต้น การซื้อที่ดินและสร้างตึกเพื่อเปิดสาขาในต่างจังหวัดอาจต้องใช้เงินถึง ๑๐๐ ล้านบาท กว่าจะได้รายได้คุ้มทุนในอีก ๗-๘ ปีถัดไป แต่เหตุใดธุรกิจนี้จึงเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องทั้งประเทศมีอยู่เกือบ ๑,๐๐๐ แห่ง (สถิติโดย สช. ปี ๒๕๔๙) ปัจจัยที่สนับสนุนให้ธุรกิจนี้เติบโตปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากการที่นักเรียนเพิ่มจำนวนขึ้นพร้อมๆ กับระบบการศึกษามีการแข่งขันกันสูงขึ้นแล้ว ห้างสรรพสินค้าและกำเนิดรถไฟฟ้า BTS ในปี ๒๕๔๒ ยังเป็นปัจจัยเสริมสำคัญให้เด็กเดินทางไปกวดวิชาได้สะดวกขึ้น สยามสแควร์จึงนับเป็นแหล่งรวมโรงเรียนกวดวิชาที่แรก เนื่องจากมีความพร้อมในทุกด้าน คือ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้สถานศึกษาใหญ่ๆ หลายแห่ง ทั้งยังมีชอปปิงมอลล์และสถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้า
เฉพาะสยามสแควร์จึงเป็นที่ตั้งของโรงเรียนกวดวิชาถึงเกือบ ๔๐ แห่ง

แหล่งอื่นที่กลายเป็นย่านกวดวิชาในเวลาต่อมาก็ได้แก่ งามวงศ์วาน ลาดพร้าว ปิ่นเกล้า วิสุทธิกษัตริย์ วงเวียนใหญ่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ภาพเด็กจำนวนมากอออยู่หน้าตึกแถวย่านดังกล่าวมักทำให้ผู้ผ่านไปมาต้องหยุดมองทุกครั้ง จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปถึงสยามสแควร์ในวันธรรมดามีเด็กไปกวดวิชานับหมื่นคน

หากแต่สำหรับผู้ประกอบการโรงเรียนกวดวิชาแล้ว พื้นที่ให้เช่าที่สยามสแควร์ไม่มีความแน่นอนในเรื่องนโยบาย อาทิ ระยะเวลาให้เช่าไม่แน่นอน ค่าเช่าแพงหูฉี่ ต้องควักเนื้อซ่อมแซมอาคารเอง และต้องจ่ายเป็นเงินก้อนและรายเดือน

คุณอนุสรณ์ชี้แจงว่า “การเช่าที่ที่สยามสแควร์มีปัญหาความไม่แน่นอน อัตราค่าเช่าที่ปรับเปลี่ยนแบบก้าวกระโดด สัญญารอบแรก ๗ ปี พอหมดสัญญาต่อได้แค่ ๓ ปี ค่าเช่าขึ้นถึง ๖๐ % แต่ขณะที่เขาเรียกร้องกันนั้นขึ้นถึง ๒๐๐ % ซึ่งสูงมากเกินไปจนตอนนั้นผู้เช่าหลายรายมีปัญหากับจุฬาฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ พอมาระยะหลังเขาก็เริ่มปรับลดลงมาเหลือ ๖๐ % เพราะเห็นว่ากลุ่มกวดวิชาค่อนข้างจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดตัวหนึ่งที่จะให้คนเข้ามาแชร์พื้นที่ แต่เราก็ยังคุยกันว่าการที่เราเช่า ๑๐ ปี เราจ่ายเงินให้จุฬาฯ ไปเกือบ ๓๐ ล้าน เรารีโนเวตอาคารไปอีก ๑๐ กว่าล้าน เฉพาะ ๑๐ ปีนี้เราลงทุนไปเกือบ ๔๐-๕๐ ล้านตรงนั้น”

จึงเป็นที่มาของการลงทุนซื้อที่ดินสร้างตึก และชักชวนเพื่อนๆ โรงเรียนอื่นมาลงขันร่วมหุ้นกันด้วย

คุณอนุสรณ์และภรรยาเริ่มโครงการสร้างตึกนี้เมื่อ ๓ ปีก่อน ประมูลที่ดินมาในราคา ๒๕๐ กว่าล้านบาท และสร้างพื้นที่ใช้สอยแบบเต็มกำลังตามที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ (๑๐ เท่าของที่ดิน) ในขณะนั้น พื้นที่ใช้สอย ๓๗,๐๐๐ ตารางเมตร แบ่งให้โรงเรียนกวดวิชามีชื่อในสาขาวิชาต่างๆ ชั้นละ ๑-๒ โรงเรียน โดยคิดค่าเช่าตารางเมตรละ ๔๕๐ บาท เมื่อคนเริ่มรู้ข่าวว่าอาจารย์อุ๊จะสร้างตึกสำหรับโรงเรียนกวดวิชาโดยเฉพาะ ก็ทำให้เกิดกระแสฮือฮาและตะลึงว่าธุรกิจกวดวิชาทำให้คนมีรายได้มหาศาลขนาดนี้เชียวหรือ คุณอนุสรณ์แจงว่าอาจต้องใช้เวลาราว ๑๘-๒๐ ปีจึงจะคุ้มทุน เนื่องจากอัตราผลตอบแทนค่อนข้างน้อยและมีความเสี่ยงสูง

ด้วยเหตุนี้เองโครงการนี้จึงเป็นเสมือนการย้าย “ศูนย์บัญชาการ”กวดวิชาจากสยามสแควร์มายังอาคารวรรณสรณ์

 

ซื้อคอร์สเรียน แถมไลฟ์สไตล์

ล็อบบีที่เพิ่งปรับโฉมใหม่เอี่ยมของสถาบันกวดวิชา Da’vance ที่สยามสแควร์ซอย ๕ ตกแต่งด้วยโทนสีทองอร่าม เสาลายทางแบบดอริกให้อารมณ์สไตล์สถาปัตยกรรมกรีก ล็อบบีหรูหราแบบนี้เป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของสถาบันกวดวิชาดาว้องก์ให้ผู้ปกครองที่มานั่งรอลูกรู้สึกสะดวกสบายขึ้นอีกนิด

และไม่น่าเชื่อว่าอีกข้อหนึ่งซึ่งเป็นสิ่ง “ขึ้นชื่อ” ของดาว้องก์ก็คือ เด็กที่เคยเรียนที่นี่ปัจจุบันเป็นดารา
นักแสดงชื่อดังจำนวนมาก นัยว่าโรงเรียนกวดวิชาแห่งนี้เป็นแหล่งชุมนุมหนุ่มสาวหน้าตาดี และยังมีประเพณี “ประกวดหนุ่มสาวป๊อป”ซึ่งจัดติดต่อมาเป็นปีที่ ๘ แล้ว การจัดประกวดที่ว่านี้ดูเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าที่หลายคนนึกถึง มีบริษัทสตูดิโอถ่ายภาพเป็นสปอนเซอร์เพื่อเผยแพร่ภาพน้องๆ ที่เข้ารอบ และในวันแข่งรอบชนะเลิศยังมีบริษัทโมเดลลิงส่งแมวมองมามองน้องๆ ด้วย !

“เราเคยตั้งข้อสงสัยว่าคนเข้าสู่ระบบกวดวิชาเพื่อแลกกับการสอบเอนทรานซ์ได้นี่คุ้มหรือไม่ แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่แค่นั้นแล้ว กวดวิชาให้มากกว่านั้นอีก เราเข้าไปโรงเรียนกวดวิชาที่ดูเหมือนเป็นเพื่อนเรา ให้เราได้มีสังคม ให้เราได้เข้าสู่ไลฟ์สไตล์แบบนี้ กวดวิชาถูกนำมาขายไม่ต่างจากสินค้าอื่น อย่างเช่นมือถือ เราไม่ได้ซื้อเพื่อให้ได้แค่มือถือ แต่เพื่อให้เราได้คุยกับเพื่อน ตัวสินค้าเองเป็นกิจกรรมทางสังคม

“โรงเรียนกวดวิชามาทั้งแพ็กเกจ กวดวิชาทำให้เด็กรู้สึกว่าเราได้เข้าสู่อีกสังคมหนึ่ง เป็นสังคมที่ไม่เหมือนกับในโรงเรียน ได้เจอเพื่อนต่างถิ่นต่างโรงเรียน ได้มาเจอครูที่มีวิธีสอนอีกแบบหนึ่ง รู้สึกทึ่งในตัวครูที่สอนด้วยวิธีการสนุกสนานจนอดไม่ได้ที่จะเข้าไปสัมผัส ดิฉันว่ามันพัฒนาไปถึงขั้นนั้น ก่อนจะเข้าไปเรียนก็ไปกินอาหารกันก่อนที่สยามสแควร์ โอ้ มันเป็น Social Activities ที่สนุกมาก…
สอบได้ไม่ได้ก็ขอสัมผัสวิถีชีวิตแบบนี้ มันมาด้วยการตลาดที่ทรงพลังมากเสียจนคนลืมถามไปด้วยซ้ำว่า จริงๆ แล้วเป้าหมายที่มาเรียนคืออะไร”อาจารย์นภาภรณ์ตั้งข้อสังเกต

คอร์สติววิชาภาษาไทย ม. ๔ วันธรรมดาที่ดาว้องก์เริ่มเวลา ๑๗.๓๐ น. ฉันเหลือบดูนาฬิกา ตอนนี้ใกล้หกโมงเย็น เด็กนักเรียนชายหญิงนั่งพลางกินน้ำกินขนมรออยู่เต็มห้องแล้ว อักษรย่อบนชุดยูนิฟอร์มของเด็กในห้องมาจากโรงเรียนดังเกือบทุกแห่งทั่วกรุงเทพฯ ทันใดนั้นเสียงเพลงวัยรุ่นหวานๆ ก็ค่อยๆ ดังขึ้น พร้อมปรากฏภาพหนุ่มสาวหน้าตาดีกำลังโพสท่าเก๋ไก๋บนจอโทรทัศน์ในห้อง เด็กเหล่านี้คือผู้เข้ารอบประกวดหนุ่มสาวป๊อปปีนี้ ซึ่งผู้ที่คว้าตำแหน่งจะได้เงินรางวัลคนละ ๑ หมื่นบาทจากพอนด์ส มือถือดีแทคคนละเครื่อง บัตรภัตตาคารล่องเรือเจ้าพระยา บัตรไปพักรีสอร์ตที่โคราช กระดาษกรีนรีด หนังสือจากสำนักพิมพ์เดอะเนชั่น และอื่นๆ นั่นคือบรรยากาศก่อนจะเริ่มเรียน

“พี่จะไม่บอกว่ามีรางวัลดีๆ อะไรให้เขาบ้าง อยากให้มาสนุก แต่ได้ของเพียบเลย ! วัยเด็กน่ะควรให้เด็กได้สนุกกับเพื่อน เหมือนแบบ เฮ้ยแกอยู่สาขาอะไร อีกอย่างพอมีเด็กหน้าตาแบบ…น่ารักน่ะ ขึ้นจอปุ๊บเด็กก็สนใจกัน วันหนึ่งเรียนจบมาคุยกัน เฮ้ย แกเรียนดาว้องก์เปล่าวะ แกเรียนรุ่นไหน ฉันเรียนรุ่นหนุ่มป๊อปคนนี้ว่ะ อ๋อเหรอ รุ่นเดียวกันเลย แต่ถ้าไม่มี เรียนจบมันก็ลืมกันไปหมดแล้วไง พอพูดอะไรอย่างหนึ่งปุ๊บมันก็จะมีบางอย่างที่รู้ว่า เออ มีจุดร่วมเดียวกัน เด็กมันก็จะตื่นเต้นๆ เด็กของพี่จะเป็นอารมณ์แบบเด็กๆ เขาไม่ได้มาเพราะอยากดังอะไรแบบนั้นนะ แต่อยากสนุก อยากแสดงออกมากกว่า”อาจารย์ปิงผู้ก่อตั้งดาว้องก์เล่าที่มาของธรรมเนียมหนุ่มป๊อปสาวป๊อป

“ที่นี่มีทุกสาย ทั้งสายนางงามและสายดารา นุ้ย สุจีรา หมิง ชาลิสา มีตั้งแต่ดาราวัยรุ่นยุคโน้นอย่างแจ๊บ เพ็ญเพ็ชร คลาวเดีย บัวชมพู ฟอร์ด จนมายุคนี้ก็มีบีม ดีทูบี พิม ซาซ่า แพนเค้ก เขมนิจ เกรซ กาญจน์เกล้า แพท ณปภา ก้อย รัชวินทร์”

อาจารย์ปิงเคยออกพ็อกเกตบุ๊กที่ไม่ใช่ตำราเรียนโดยตรงหลายเล่ม และเคยเป็นดารารับเชิญทั้งหนัง
(เจ้าสาวผัดไทย) และละคร (น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์) มาแล้ว รายชื่อดาราอดีตศิษย์อาจารย์ปิงข้างต้นเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยังไม่รวมดัชชี่เกิร์ล ๒๐๐๕ มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ๒๐๐๗ ดีเจคลื่นซี้ด หรือพิธีกรรายการ “Strawberry Cheesecake” และแน่นอน ทุกคนที่ว่ามานี้สอบติดมหาวิทยาลัยของรัฐแทบทั้งนั้น

ฉันล้างมืออยู่ในห้องน้ำหญิงที่มีแผ่นสติ๊กเกอร์โฆษณาโฟมล้างหน้าพอนด์สตระหง่านบนกระจก ก่อนออกมาที่ล็อบบีสถาบันกวดวิชาดาว้องก์ เด็กผู้ชาย ๒ คนผูกไทใส่ชุดนิสิตใหม่เอี่ยมมาติดต่อรับ “ของ”ที่เคาน์เตอร์ของที่ว่าเป็นเหรียญที่ระลึก เสื้อยืด กับของกระจุ๊กกระจิ๊กอีกหลายชิ้น

“เป็นของขวัญที่เขาให้มารับถ้าเราเอนท์ติดฮะ” น้องจุ๊ย เอกณัช เสาวภาคย์อดิศักดิ์ เรียน ม. ปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเพิ่งสอบติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ บอก น้องจุ๊ยสอบเข้าคณะที่ไม่จำเป็นต้องกวดวิชาภาษาไทยก็ได้ แต่น้องจุ๊ยได้เรียนที่นี่เพราะเล่นเกมชิงรางวัลได้จากรายการวิทยุ !

 

ซูเปอร์ทีชเชอร์

ครั้งหนึ่งมีคนวิ่งไปสัมภาษณ์เด็กไทยที่ได้รางวัลกลับมาจากการแข่งขันวิชาการโอลิมปิกที่ต่างประเทศว่า การศึกษาไทยต้องปรับปรุงอย่างไรบ้าง

เด็กคนนั้นตอบว่า “ครูต้องมีคุณภาพมากกว่านี้”

ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายและนักศึกษามหาวิทยาลัยปีที่ ๑ โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี ๒๕๔๗ เห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องพัฒนาการสอนของครูในโรงเรียนให้ดีขึ้น (๖๘.๙ %) นอกจากนั้นแล้วยังต้องพัฒนาโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยทุกแห่งให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน (๖๖.๔ %) รวมทั้งลดค่านิยมในการเข้าศึกษาต่อในสถาบันที่มีชื่อเสียง (๕๐.๙ %) จึงจะทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนลดการพึ่งพาโรงเรียนกวดวิชาลงได้

อาจารย์กวดวิชาชื่อดังไม่น้อยเริ่มต้นชีวิตการเป็นครูในโรงเรียน อาจารย์อุ๊และคุณอนุสรณ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น อะไรทำให้ทั้งคู่ออกจากโรงเรียนมาสอนและตั้งโรงเรียนกวดวิชาขึ้น

“ภรรยาผมลาออกจากราชการก่อนผม ๕ ปี ผมเป็นคนบังคับให้เขาออกเพราะในระบบงานมันหนักขึ้นทุกวัน ข้าราชการมีงานเชิงปริมาณมากขึ้น ทำให้ครอบครัวเครียดไปตามกัน”คุณอนุสรณ์เล่า

โดยทั่วไปแล้วสัดส่วนครูต่อนักเรียนในปัจจุบันคือ ครู ๑ คนต่อนักเรียน ๔๐-๕๐ คน ครูคนหนึ่งต้องสอนหลายห้องและหลายวิชา คุณอนุสรณ์เห็นว่าการที่ธุรกิจกวดวิชาเติบโตขึ้นไม่ได้เกิดจากความผิดของครูเสียทีเดียว “ครูคนหนึ่งไม่ได้ทำหน้าที่สอนอย่างเดียว บางครั้งต้องมีภาระอื่นๆ อีก เราจะโทษครูก็ไม่ใช่ บางครั้งต้องเข้าใจเหมือนกันว่าเขามีข้อจำกัดในการบริหารจัดการในระบบราชการ ผมต้องสอน ๑๒ คาบต่อสัปดาห์ แล้วก็หนักขึ้นมาเป็น ๑๘ คาบ ทุกวันนี้หนักขึ้นเป็น ๒๐ ชั่วโมงต่อวัน วันหนึ่งสอนถัวเฉลี่ย ๕ ชั่วโมง ถ้าสอน ๔-๕ ชั่วโมงต่อวัน คุณแทบจะมีเวลาพักน้อยมาก พูดง่ายๆ ว่ากลับบ้านก็หมดแรงไม่ต้องทำอะไรแล้ว”

และการจะให้ครูมัธยมฯ ที่มีงานมหาศาลอยู่แล้วลุกขึ้นมาปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอะไร ก็ดูจะเป็นการเรียกร้องที่มากเสียเหลือเกิน

“มันเป็นตั้งแต่กระบวนการผลิตครู ถามว่าเป็นครูดีไหม ใครๆ ก็ต้องบอกดี เป็นปูชนียบุคคล แต่ทุกวันนี้คนไม่ได้อยากเป็นครู ทำไมคุณไม่อยากให้ลูกเป็นครู มันมีคำตอบในตัวเองครับ สังคมอยากได้ครูดีๆ สังคมก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่คุณให้ตอบแทนคนเป็นครูมันต้องเป็นเหตุเป็นผลกัน

“หมอเงินเดือนมากกว่าครู ๓-๔ เท่านะครับ ครูเงินเดือน ๘,๐๐๐ กว่าบาท หมอเงินเดือน ๓-๔ หมื่นบาท แถมมาทำคลินิกมีพิเศษอีกต่างหาก ตกเดือนหนึ่งๆ ๔-๕ หมื่น บางคนทำโรงพยาบาลด้วยคลินิกด้วยรวมแล้วเงินเดือนเป็นแสน ถามว่าเป็นคนเหมือนกันไหม กินเหมือนกันไหม เพียงแต่บอกว่า เฮ้ย หมอฉลาดกว่า แล้วทำไมคนฉลาดต้องเป็นหมอ ทำไมคนฉลาดไม่มาเป็นครูล่ะ ในสังคมความพอเหมาะพอดีมันอยู่ตรงไหน ถ้าเราบอกว่าอยากให้การศึกษาไทยเข้มแข็ง คุณต้องให้คนเป็นครูอยู่ในฐานะที่สมศักดิ์ศรี”

เก็งข้อสอบ สูตรลัด เทคนิค แท็กติก การสอนโดยตะลุยทำโจทย์เยอะๆ หรือจะใช้วิธีให้ทำข้อสอบเก่าเป็นพันๆ ข้อ คืออาวุธสำคัญอันหนึ่งของครูกวดวิชาชื่อดัง ครูระดับซูเปอร์สตาร์เหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วเริ่มต้นอาชีพด้วยใจรักจะเป็นครูมาตั้งแต่ต้น (อาจารย์ปิงเล่าว่าตอนเด็กๆ อยากสอนมากถึงกับจ้างเพื่อนๆ มาเรียนกับแก) และที่สำคัญคือมีเวลาค้นคว้าและทำงานหนักเพื่อมุ่งไปที่เนื้อหาการสอนได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่ต้องมีภาระทำกิจกรรมอื่นเช่นครูในโรงเรียน ดังนั้น เมื่อนักเรียนทั้งหัวกะทิและไม่กะทิจากครอบครัวที่เลี้ยงดูมาต่างกัน มารวมตัวกันที่โรงเรียนกวดวิชา จึงไม่แปลกที่ครูเหล่านี้จะรู้สารพัดวิธีแก้ปัญหาการเรียนทุกรูปแบบ

อ. ปิง พราวเพริศแพร้ว ครูธีร์
ศิลป์ใส่ศาสตร์วาดวจี ฝากไว้
ด้วยจิตมิตรไมตรี แด่พี่น้องเอย
อ. ปิง ครูผู้ให้ ท่านยิ้มอิ่มปัญญา

รัก-ชื่นชมมาก
แด่อาจารย์ปิง ดาว้องก์, ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙

ที่สถาบันกวดวิชาดาว้องก์แพรวพราวไปด้วยกิจกรรมรื่นเริงบันเทิง แต่สิ่งที่ทำให้เด็กตั้งแต่รุ่นแจ๊บ
เพ็ญเพ็ชรเป็นดาราวัยรุ่น มาจนถึงยุค “มิว เดอะสตาร์” เพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว สถาบันกวดวิชานี้ยังคงอยู่และเป็นที่นิยม อาจเพราะมีทีเด็ดอยู่ที่ตัวครูมากกว่าปัจจัยอื่นและจะว่าไป ก็น่าดีใจไม่ใช่หรือที่ครูสอนภาษาไทยคนหนึ่งทำให้นักเรียนแต่งกลอน (ในแบบที่ถูกต้องตามฉันทลักษณ์เสียด้วย) จนเพราะพริ้งขนาดนี้ได้

เด็กสาวคนหนึ่งยังตัดสินใจเรียนวิชาสังคมและภาษาไทยกับอาจารย์ปิง เพราะเห็นว่าอาจารย์เก็งข้อสอบแม่นมาก เธอบอกว่า “เหมือนอาจารย์รู้ข้อสอบ รู้ว่าปีนี้จะออกอันนี้ๆ ให้ไปอ่านเรื่องนี้มา”

คุณพรชัยตั้งข้อสังเกตว่า “ผมเชื่อว่าในเด็ก ๑๐๐ คน ที่ตั้งใจจะมาเรียนกวดวิชาเพื่อเอาความรู้จริงๆ อาจสัก ๖๐ คน อีก ๔๐ คนอาจจะมาเพราะอยากออกจากบ้าน มาเรียนตามเพื่อน มีช่วงหนึ่งเด็กลือกันว่าครูกวดวิชาบางแห่งตลกยิ่งกว่าตลกคาเฟ่ เพราะฉะนั้นไปเรียนตกครั้งละ ๕๐ บาท ถูกกว่าไปดูตลกคาเฟ่อีก เป็นผมก็อยากไปเรียนนะ จะได้หรือไม่ได้ความรู้แต่ก็มัน แล้วสมัยนั้นเด็กก็มาเรียนกับอาจารย์ปิงเยอะ ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้อยากให้มีเด็กมากขนาดนั้น เขายังเคยพูดทำนองว่า ฉันจะบอกให้นะ ว่าใครอยากเรียนแล้วสอบได้จริงๆ ให้ไปเรียนกับอาจารย์ธเนศที่ยูเรก้า ไม่ต้องมาเรียนกับฉัน แต่เด็กก็ยังไปเรียนกับเขา พอพูดจบเด็กก็ขำกัน คือพูดอะไรก็ขำไปหมด”

อารมณ์ขันนับเป็นสไตล์เฉพาะตัวของอาจารย์ปิงที่สถาบันกวดวิชาดาว้องก์ด้วยเช่นกัน อาจารย์ปิงติวภาษาไทยและสังคมโดยใช้ภาษาเป็นกันเอง และมีวิธีดึงดูดความสนใจเด็กทั้งห้อง (รวมเด็กที่กำลังนอนฟุบตรงโต๊ะนั้นและเด็กที่จับกลุ่มกินขนมกรุบกรอบตรงมุมโน้นด้วย) ให้หันมาฟังครูหน้าชั้น

“เคยเขียนจดหมายถึง พ่ อ มะ ?”อาจารย์ปิงลากเสียงเน้นคำ บวกกับอากัปกิริยาชวนขำพานให้เด็กหัวเราะกันลั่นห้อง วันนี้อาจารย์ปิงติวเรื่องการเขียนจดหมายในโอกาสต่างๆ และกำลังนำเสนอรูปแบบการเขียนจดหมายถึงคุณพ่อคุณแม่ ต่อด้วยหัวข้อการย่อความ

“พ่อแม่-ปี้-น้องทั้งหลายฟังดีๆ เวลาข้อสอบออกให้ย่อความนะเว่ย หลักการสำคัญก็คืออย่าเพิ่มความเห็นตัวเองไปเว่ย เพราะเขาให้แค่ย่อ ‘ใจความ’ คืออะไร ? ใจความก็คือ ‘พูดไปเพื้อออ…?’ “อาจารย์ปิงอธิบายถึงวิธีการจับใจความสำคัญ

“เอ้า เข้าใจแล้วนะเว่ย ต่อไปเราไปตรุ๊ยโจทย์กันนักเรียน ไปตรุ๊ยโจทย์ เหล่เล้ววว”

ไม่ทุกคนที่คิดว่าคำเหล่านี้จะออกจากปากอาจารย์สอนภาษาไทย แต่นั่นก็ทำให้เด็กแก่นๆ ทั้งหลายพลิกตำราไปที่หน้าตะลุยโจทย์กันอย่างพร้อมเพรียง คละเคล้าเสียงหัวเราะเซ็งแซ่ทั่วห้อง