สุเจน กรรพฤทธิ์ : สัมภาษณ์
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

หมายเหตุ : Katja อ่านว่า “คัด-ย่า” เป็นการอ่านออกเสียงแบบเยอรมัน

สัมภาษณ์ Katja Rangsivek (ดร. คัทยา รังสิเวค) - “อำนาจนิยม” ในระบบการศึกษาไทย

ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาข่าว “รับน้องโหด” “ครูตีเด็กเกินกว่าเหตุ” “ครูทำร้ายเด็ก” และสารพัดความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัยแทบกลายเป็นเรื่อง “ปรกติ” จนกลายเป็น “ดราม่า” อยู่บ่อยครั้ง

อาจเพราะโซเชียลมีเดียทำให้เห็นปรากฏการณ์นี้แพร่หลายและคงมีหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาไทยซึ่งผ่านกระบวนการ “ปฏิรูป” หลายครั้ง หมดงบประมาณแผ่นดินนับพันล้าน แต่เหมือนเรายังคงเจอกับปัญหาซ้ำซากอยู่ทุกปี

กลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ ในการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ ๑๓ (13th International Conference on Thai Studies - ICTS13) ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการนำเสนอบทความวิชาการเรื่อง “The Authoritarian Personality in Thailand” ว่าด้วยผลการสำรวจทัศนคติและวิเคราะห์ “บุคลิกอำนาจนิยม” ของบุคลากรในมหาวิทยาลัย

ที่น่าสนใจคือผู้นำเสนอ ดร. คัทยา* รังสิเวค ( Katja Rangsivek )  เป็นคนเยอรมันที่รู้จักเมืองไทยดี ด้วยเธอสัมผัสระบบการศึกษาไทยตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมฯ ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน ในขณะที่เธอเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาที่ก้าวหน้าของยุโรปตะวันตก ยิ่งไปกว่านั้นครอบครัวของเธอยังมาจาก “เยอรมนีตะวันออก” อดีตประเทศคอมมิวนิสต์ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นซึ่งล่มสลายในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ ๑๙๙๐ จึงเรียกได้ว่า ดร. คัทยานั้นมาจากส่วนที่ “ด้อยโอกาส” ของสังคมเยอรมันหลังการรวมประเทศ

ปัจจุบัน ดร. คัทยามีครอบครัวและสอนหนังสืออยู่ในเมืองไทย เธอบอกว่าชื่อ “คัทยา” ที่คนไทยมักออกเสียงผิดว่า “กัจจา” นั้นเป็นภาษาเยอรมัน แปลว่า “บริสุทธิ์” ส่วนนามสกุลนั้นเป็นนามสกุลของสามี ดังนั้นเธอจึงมีทั้ง “สายตาคนใน” และ “สายตาคนนอก” สำหรับวิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าว

ดร. คัทยาบอกเราว่า ความรุนแรงในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเกิดจากนักเรียน นักศึกษา หรือครูอาจารย์ เป็น “อาการ” ที่แสดงออกจากปัญหาโครงสร้างทั้งหมด และถ้าสาวให้ถึงรากก็เกิดจากบุคลากรที่มี “บุคลิกอำนาจนิยม” (authoritarian personality)

เพื่อต้อนรับภาคการศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๐ ในยุคเมืองไทย ๔.๐ สารคดี นัดสนทนากับ ดร. คัทยา รังสิเวค ชวนผู้อ่านเปรียบเทียบระบบการศึกษาไทยกับระบบการศึกษาในยุโรป พิจารณา “รากเหง้า” ของความรุนแรงในระบบการศึกษาไทย และลองฟังข้อเสนอถึงทางแก้ไขเรื่องเหล่านี้

ทราบว่าอาจารย์คัทยาคุ้นเคยกับเมืองไทยดี
มาเมืองไทยครั้งแรกอายุ ๑๖ ปี เรียนอยู่เกรด ๑๑ (เทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ของไทย-ผู้สัมภาษณ์) ตอนนั้นคือปี ๒๕๔๓ มาในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ American Field Service (AFS) มีการจับคู่ครอบครัวท้องถิ่นกับนักเรียนต่างชาติเพื่อเรียนรู้กัน  เราถูกส่งมาที่โรงเรียนมัธยมฯ แห่งหนึ่งในจังหวัดชุมพรโดยไม่มีภูมิหลังเกี่ยวกับเมืองไทย ต้องเปิดสารานุกรมว่าไทยอยู่ตรงไหนของโลก

เราเป็นคนเยอรมันตะวันออก ต้องอธิบายก่อนว่าแม้เติบโตมาหลังรวมประเทศเยอรมนีตะวันออกกับเยอรมนีตะวันตกแล้วพักหนึ่ง แต่ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมยังอยู่  คนที่มีพื้นเพจากเยอรมนีตะวันออกไม่มีโอกาสเดินทางมากเท่าคนที่มีพื้นเพจากเยอรมนีตะวันตกที่มีฐานะดีกว่า นั่นทำให้เราไม่รู้จักประเทศต่าง ๆ ในโลกมากนัก ส่วนมากมีกำลังเที่ยวแค่ในยุโรปเท่านั้น

หลังรวมประเทศ เรารู้ว่าใครมาจากซีกไหนโดยดูจากสำเนียงการพูด รุ่นเราความแตกต่างจะน้อย แต่รุ่นพ่อแม่ชัดมาก พ่อเราเป็นวิศวกร สำหรับคนไทยอาจคิดว่ารายได้สูง แต่ในเยอรมนีทุกคนต้องจ่ายภาษีหนัก ทำให้ไม่ค่อยมีเงินออมมากนัก

ก่อนเล่าถึงชีวิตในเมืองไทย อยากให้พูดถึงระบบการศึกษาเยอรมนี
ระบบการศึกษาเยอรมนีคล้ายกับไทยคือแบ่งเป็นประถมศึกษา มัธยมศึกษา เทียบกัน ป. ๑ คือเกรด ๑ (grade 1) แต่รายละเอียดต่างกัน คือในเยอรมนีแบ่งเป็นสามสาย สายหนึ่งเรียนต่อเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยเรียกกึมนาซิอุม (gymnasium) อีกสองสายเรียนต่อทางวิชาชีพ (อาชีวศึกษา) ตอนขึ้นเกรด ๙ หรือเกรด ๑๐

ในระดับประถมฯ เริ่มเรียนห้าวิชา คือ ภาษาเยอรมัน คณิต-ศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี และกีฬา พอชั้น ป. ๕ ขึ้นไปจะเรียนประวัติ-ศาสตร์ ชีววิทยา ภูมิศาสตร์ เลือกภาษาต่างประเทศหนึ่งภาษา การบ้านมีน้อย โรงเรียนเลิกแค่เที่ยง จากนั้นเป็นเวลาเล่น ใครอยากอยู่ต่อที่โรงเรียนหรือกลับบ้านก็ได้ เราเลือกกลับบ้านเลย ไปเล่นกับเพื่อน ขี่จักรยาน ทำอะไรที่อยากทำ แต่ต้องดูแลตัวเอง

ในระดับมัธยมฯ วิชาที่ต้องเรียนเพิ่มคือฟิสิกส์ เคมี ภาษาต่างประเทศภาษาที่ ๒ ตรงนี้เป็นเงื่อนไขว่าเมื่อจบมัธยมฯ ปลายต้องรู้ภาษาต่างประเทศอย่างน้อยสองภาษา  โรงเรียนมัธยมฯ เลิก ๑๕.๐๐ น. จากนั้นก็อิสระ ส่วนวิชาพิเศษอื่น ๆ เช่นลูกเสือ-เนตรนารีไม่มีบังคับเรียน กิจกรรมนี้มีลักษณะเป็นสโมสร (club) คนที่เรียนคือคนที่เข้าร่วมกิจกรรมกับโบสถ์ (ศาสนาคริสต์) ถ้าไม่ได้ไปโบสถ์ก็ไม่ได้เรียน

ประสบการณ์มาเมืองไทยครั้งแรกเป็นอย่างไร
ครูมารับที่สนามบินแล้วก็เดินทางไปอำเภอท่าแซะ ท่าแซะแตกต่างจากเมืองใหญ่อย่างกรุงเบอร์ลิน (เมืองหลวงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี) เมืองในภาคเหนือ ภาคอีสานของไทยที่มีกลุ่มตึกรามบ้านช่องและตลาดใหญ่ ในภาคใต้ศูนย์กลางชุมชนคือตลาด แต่บ้านอยู่แยกห่างจากกัน สวนใครสวนมัน ระยะห่างแต่ละบ้านค่อนข้างไกล ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านมีค่อนข้างน้อย

บ้านหลังแรกที่ไปอยู่มีแค่สองคนคือพ่อกับลูก แม่เพิ่งเสียชีวิต ปัญหาคือเขาสื่อสารกับเราลำบาก จากนั้นเปลี่ยนไปอยู่กับครูสอนภาษาอังกฤษ หลังที่ ๒ นี้อยู่กับเขา ๒ เดือนแล้วย้ายอีก เปลี่ยนไปอยู่บ้านในสวนทุเรียน มีพ่อแม่ ลูกสองคน และคุณยาย  คุณยายชอบคุย พูดภาษาไทยใส่จนเราเริ่มได้คำศัพท์ พูดไทยได้ อ่านได้ แต่ยังเขียนไม่ได้ หลายเรื่องแปลกใจบ้าง แต่ก็ถือเป็นการเรียนรู้ เช่นเรากินทุเรียนไม่เป็น มันเหม็น แต่ถ้าได้กินต่อก็น่าจะชอบ

ชีวิตในโรงเรียนมัธยมฯ ไทยเป็นอย่างไร
ที่ตกใจคือการเรียงลำดับส่วนสูงเข้าแถวเคารพธงชาติทุกวัน เรื่องพวกนี้ที่เยอรมนีไม่มี เราเข้าห้องเรียนเลย จนถึงตอนนี้เรายังร้องเพลงชาติเยอรมนีไม่เป็นและเชื่อว่าคนเยอรมันร้อยละ ๘๐ ร้องเพลงชาติตัวเองไม่เป็น ไม่มีใครโดนข้อหาไม่รักชาติหรือไม่ใช่คนเยอรมันเพราะเรื่องแบบนี้

เราพบว่าครูยังตรวจทรงผมนักเรียน คนไม่เรียบร้อยก็โดนตัด เพื่อน ๆ ส่วนมากมองเป็นเรื่องตลก แต่ถ้ามองให้ลึกนี่คือการใช้อำนาจของครู

โรงเรียนไทยมีระเบียบมากมาย กฎจุกจิกแบบนี้ทำให้นักเรียนมีโอกาสผิดและโดนลงโทษง่าย บางทีทำผิดโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
ครั้งหนึ่งช่วงสอบมิดเทอม โรงเรียนส่งจดหมายถึงผู้ปกครองแจ้งกฎ ๒๐ ข้อในการเข้าสอบ กฎพวกนี้ละเอียดมาก เช่น ห้ามลอกข้อสอบ ห้ามนำเอกสารเข้าห้อง ฯลฯ จริง ๆ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่รู้อยู่แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นต้องชี้แจง ที่เยอรมนีโรงเรียนไม่ต้องแจ้งคนก็ไม่ทำผิดกฎลักษณะนี้

เราเห็นเพื่อนโดนตีด้วยไม้เรียว แต่ที่เยอรมนีการลงโทษบางแบบเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เช่นให้นักเรียนยืนหน้าห้องเรียน กฎหมายเยอรมนีห้ามเพราะอยู่นอกสายตาครู ตรงกันข้ามครูเยอรมันสร้างแรงจูงใจให้คนที่ทำตามระเบียบด้วยการแจกรางวัล ช่วงปีแรก ๆ ที่เรียนหนังสือจะไม่มีการตัดเกรด ถ้านักเรียนทำได้ดีก็แจกของขวัญ สติกเกอร์ คนไหนดื้อครูก็พยายามคุยด้วยเหตุผล การลงโทษที่หนักมากคือการย้ายที่นั่งซึ่งเด็กเยอรมันกลัวมาก

เจอผลกระทบจากระบบโรงเรียนไทยกับตัวเองหรือไม่
นักเรียนแลกเปลี่ยนค่อนข้างมีอภิสิทธิ์เพราะเป็นคนต่างชาติ เป็นฝรั่ง เขาไม่บังคับอะไรมาก แต่ก็มีประสบการณ์ที่ติดอยู่ในใจ เช่นวิชาลูกเสือ-เนตรนารี ส่วนตัวสนใจมากเพราะที่เยอรมนีไม่ได้เรียน คิดว่าคงสอนเรื่องใช้ชีวิตในป่า แต่พอเข้าค่ายปรากฏว่าสอนเรื่องการเข้าแถว แถวตรง ถอดหมวก ใส่หมวก มันขัดกับเรา เรามองว่านักเรียนไม่ใช่ทหาร ทำไมต้องทำ ระบบเยอรมันปลูกฝังให้ระวังเรื่องนี้มาก เรื่องพวกนี้ไม่น่ามีในโรงเรียน  ถ้าพูดตรงไปตรงมา การเรียนวิชาเหล่านี้ของเมืองไทยบางลักษณะคล้ายกับยุวชนนาซี คือเป็นการฝึกทหารและระเบียบวินัยให้เชื่อฟัง

ตอนนั้นปฏิเสธเรื่องการฝึกระเบียบแถวในวิชาลูกเสือ-เนตรนารีอย่างไร
ทำไปสัก ๕ นาทีก็ตัดสินใจว่าไม่ทำแล้ว ขอเปลี่ยนไปช่วยทำอาหารแทน เขาก็ยอม ถ้าเป็นนักเรียนไทยอาจลำบากกว่า เพื่อน ๆ ก็ไม่ได้ว่า ครูคนหนึ่งถามว่าทำไมไม่ทำ เราก็ตอบว่าไม่ใช่ทหาร เขาก็หัวเราะ  กรณีนักเรียนไทยถ้าหลายคนไม่ยอมก็อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราเข้าใจว่าสำหรับวัยรุ่นการทำอะไรแตกต่างจากคนอื่นนั้นยาก เพราะทุกคนก็อยากมีพวกมีกลุ่ม

อีกเรื่องที่อึดอัดคือเครื่องแบบนักเรียน ตอนแรกคิดว่าเครื่องแบบอาจดี จะได้ไม่เห็นว่าใครรวยใครจน มาจริง ๆ มองออก คนที่จนชุดนักเรียนจะดูเก่า บางคนใส่ชุดปักชื่อเจ้าของคนก่อน จุดบนปกเสื้อที่บอกชั้นปีเลยไม่ตรงกับชั้นปีจริง คนมีเงินมีเสื้อใหม่ใส่ทุกปี คนจนก็ใส่เสื้อเก่า เรื่องพวกนี้ดูได้ไม่ยากเลย

สถานการณ์ในชั้นเรียนเป็นอย่างไร
นักเรียนแลกเปลี่ยนไม่ได้เข้าเรียนบ่อย ส่วนมากเรียนทำอาหาร ดนตรี ศิลปะ ไม่เรียนวิชาพื้นฐานที่เด็กไทยต้องเรียน ประสบการณ์จึงมาจากการ “เห็น” มากกว่า เท่าที่เห็นไม่มีการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียน ครูบางคนอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เด็กก็จด ต่างจากในเยอรมนีที่การเรียนเป็นการคุยกัน ไทยเน้นทักษะมากกว่าการคิด สมมุติเรียนภาษา ไทยเน้นโครงสร้างประโยค แต่ที่เยอรมนีครูให้นักเรียนอ่านนิยายแล้วคุยกันว่าทำไมพระเอกทำแบบนั้น ทำไมนางเอกทำแบบนี้ บริบทเป็นอย่างไร มีการคุยการคิด

พอกลับไปเยอรมนีแล้วทำอะไรต่อ
กลับไปเรียนจนจบเกรด ๑๓ (ม. ๗) จากนั้นศึกษาต่อสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮุมโบลด์ท กรุงเบอร์ลิน เพราะเรามีประสบการณ์ในเมืองไทยมากมาย แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่รู้อะไรเลย อยากเรียนเรื่องนี้เพิ่ม

katja02

ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยเยอรมนีเป็นอย่างไร
ไม่มีระบบแอดมิชชันหรือวิ่งรอกสอบตรง มหาวิทยาลัยจะดูเกรดเฉลี่ย ๒ ปีสุดท้ายในระดับมัธยมฯ และนักเรียนต้องเลือกสอบสามวิชา สอบปากเปล่าหนึ่งวิชา สมมุติคณะ ก มี ๑๐๐ ที่นั่ง จะเลือกนักศึกษาที่ส่งใบสมัครจากลำดับเกรดเฉลี่ยเรียงไป ๑๐๐ อันดับ ยังมีโควตาสำหรับคนที่สมัครแล้วยังไม่ได้เรียนหลายปี แต่วัยรุ่นเยอรมันส่วนหนึ่งก็เลือกไปเที่ยวต่างประเทศก่อน บางคนก็เบนเข็มไปเรียนสายอาชีพในช่วงนี้

สังเกตมานานแล้วว่าทำไมฝรั่งชอบเที่ยวต่างประเทศก่อนเข้ามหาวิทยาลัย และเท่าที่ฟังมาปรัชญาการจัดการศึกษาต่างกับไทยมาก
วิธีคิดเรื่องการศึกษาในไทยเน้น “การวัดผล” คะแนน เกรด ใบปริญญา แต่ในยุโรปเน้นพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้รอบด้าน เน้น “สร้างคน” แนวคิดนี้มาจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) แต่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าการศึกษาไทยอยู่ในยุคมืด (Dark Age - ยุคที่ศาสนจักรมีบทบาทครอบงำความคิดผู้คน เป็นยุคยาวนานก่อนยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ) เพราะเป็นคนละบริบท ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ที่พูดแบบนี้เพื่อชี้ว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ระบบการศึกษาไทยแตกต่างจากตะวันตก

ส่วนเรื่องการเดินทาง ชาวยุโรปถือว่า “การเดินทาง” คือ “การเรียนรู้” แบบหนึ่ง พ่อแม่เยอรมันอยากให้ลูกแบ็กแพ็กไปเที่ยวต่างประเทศ จะเห็นว่าในแง่การเรียนมีหลายเส้นทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทางการศึกษา ไม่ใช่แค่เรียนในระบบอย่างเดียว แต่สามารถออกเดินทางแล้วกลับมาเรียนก็ได้

ที่เยอรมนีการเป็นตัวของตัวเอง มั่นใจในตัวเองเป็นเรื่องธรรมดา แตกต่างจากกลุ่มเพื่อนได้ อาจแปลกแต่ก็ไม่มีอะไรผิดปรกติสำหรับสังคมเยอรมันที่ยอมรับเรื่องแบบนี้ มหาวิทยาลัยในเยอรมนีไม่บังคับว่าคุณต้องจบใน ๔ ปี แล้วแต่อยากเรียนกี่ปี ๑๐ ปีก็ไม่ว่า ยิ่งสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ บางคนใช้เวลาเรียนเป็น ๑๐ ปี ส่วนเราใช้เวลา ๔ ปีแล้วก็ได้ปริญญาตรีควบปริญญาโท พอจบก็เลือกทำงานก่อนเรียนต่อปริญญาเอก

อาจารย์เริ่มสนใจศึกษาเรื่อง “บุคลิกอำนาจนิยม” เมื่อใด
ตอนกลับเยอรมนีความทรงจำจากเมืองไทยยังติดอยู่ในหัว ถึงแม้เรียนด้านอุษาคเนย์ศึกษา แต่ก็เลือกเรียนรัฐศาสตร์ด้วย เลยได้เรียนรู้เรื่อง “บุคลิกอำนาจนิยม” (authoritarian personality) ในการเสวนาครั้งหนึ่งที่ศึกษาทัศนคติการต่อต้านชาวยิว (อิสราเอล) ต่อมารู้จักงานของนักวิชาการที่บอกว่าบุคลิกอำนาจนิยมพบมากในคนเยอรมันช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นบ่อเกิดของลัทธินาซีและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บุคลิกนี้ยังเกิดขึ้นในตัวบุคคลเนื่องจากความสัมพันธ์อันห่างเหินในครอบครัว การมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้เริ่มทำอะไรกับหัวข้อนี้

ช่วงที่รอขอทุนเรียนปริญญาเอก เราตัดสินใจมาทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนในเมืองไทยแห่งหนึ่ง เพราะอยากทดสอบตัวเองว่าอยากทำงานวิชาการจริงจังแค่ไหน โครงการที่ทำคือป้องกันน้ำท่วมและให้ความรู้แก่ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกโครงการเป็นงานวิจัยในภาคใต้ ทำอยู่ ๒ ปี ก่อนไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในสาขาวิชาเดิม สิ่งที่เรียนมากขึ้นคือการเมือง เราเริ่มใช้ทฤษฎีสังคมวิทยามาศึกษา งานวิทยานิพนธ์ของเราคือวิเคราะห์ตระกูลการเมืองไทย ดูการใช้ชีวิตและเลี้ยงดูทายาท ว่าเขาทำอย่างไรถึงสืบทอดอำนาจทางการเมืองต่อไป ตระกูลที่ศึกษาก็เช่น ชินวัตร ชุณหะวัณ ฯลฯ

แสดงว่าศึกษาเรื่อง “บุคลิกอำนาจนิยม” จริง ๆ ตอนมาทำงานเมืองไทยหลังจบปริญญาเอก
มาทำงานเมืองไทยปี ๒๕๕๗ ได้สัมผัสกับระบบอำนาจนิยมในสถาบันการศึกษาจริง ๆ ตอนนั้น อีกทางคือประสบการณ์ตรงจากลูกที่เรียนในโรงเรียนอนุบาลที่เราคิดว่าพอจะมีคุณภาพ ลูกเล่าว่าเห็นครูตีเพื่อน เราตกใจและไม่เห็นด้วย ไปคุยกับครูคนนั้นและตกใจกว่ากับคำตอบของครูว่า “จะต้องให้ขนมกับเด็กแทนหรือ” จึงคิดศึกษาเรื่องนี้จริงจังและเริ่มทำในปี ๒๕๕๘

katja03

อยากให้อธิบายถึงบทความที่นำเสนอในการประชุมฯ อย่างละเอียด
ใน “The Authoritarian Personality in Thailand” สำรวจและวิเคราะห์บุคลิกอำนาจนิยมในกลุ่มตัวอย่าง พูดถึงลักษณะ เก้าแบบที่ทำให้คนคนหนึ่งยอมรับค่านิยมต่อต้านประชาธิปไตย เช่น เป็นอนุรักษนิยม ยึดติดค่านิยมเก่า ยอมจำนน ไม่วิจารณ์การปราบปราม มีแนวคิดเป็นกลุ่มสูง ก้าวร้าว มองหาคนที่ไม่ปฏิบัติตามค่านิยมเพื่อประณาม ปฏิเสธ หาทางลงโทษ เป็นต้น ใช้ทฤษฎีทางจิตวิทยา สังคมวิทยาหาคำตอบ

เรามีชุดคำถาม ๑๔ ข้อ ประกอบด้วย

๑. คุณเห็นด้วยแค่ไหนว่า สิ่งที่ประเทศต้องการอย่างแท้จริงคือผู้นำที่เข้มแข็งและกล้าตัดสินใจ เพื่อขจัดความชั่วร้ายและพาประเทศไปยังเส้นทางที่ถูกต้อง
๒. เมื่อผู้นำรัฐบาลสั่งให้พลเมืองผู้รักชาติช่วยกันกำจัดรากเหง้าแห่งความชั่วร้ายของประเทศ พลเมืองทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตาม
๓. เมื่อสถานการณ์ของประเทศอยู่ในภาวะฉุกเฉิน การใช้มาตรการรุนแรงจึงจำเป็นและชอบธรรม หากว่ามันสามารถแก้ปัญหาและทำให้เรากลับไปยังเส้นทางที่ถูกต้อง
๔. วิธีเดียวที่ประเทศชาติจะผ่านวิกฤตไปได้คือการกลับไปหาวัฒนธรรมไทยอันดีงาม ให้อำนาจกับผู้นำที่เข้มแข็ง และจัดการกับผู้เผยแพร่แนวคิดอันชั่วร้าย
๕. การมีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรสไม่ผิด
๖. ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกวิถีชีวิต เลือกนับถือศาสนาและรสนิยมทางเพศของตนเองได้แม้ว่าจะมีความแตกต่างจากผู้อื่น
๗. ทุกคนมีเสรีภาพในการใช้ชีวิต ไม่มี “หนทางที่ถูกต้องเพียงหนทางเดียว”
๘. เกย์และเลสเบียนมีสุขภาพกายและใจ รวมไปถึงศีลธรรมเช่นเดียวกับผู้อื่น
๙. กุญแจของการใช้ชีวิตที่ดีคือการเชื่อฟัง มีวินัย และปฏิบัติตนตามระเบียบและกติกาของสังคม
๑๐. การแต่งกายที่เหมาะสมเป็นเครื่องหมายของสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี แม้ว่าบางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไม่ทันสมัย
๑๑. สิ่งสำคัญที่เด็กต้องเรียนรู้คือการเคารพและเชื่อฟังผู้ใหญ่
๑๒. ประเทศชาติจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีอิสระทางความคิด กล้าท้าทายวัฒนธรรมเก่า แม้ว่าจะทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจ
๑๓. ผู้ท้าทายอำนาจรัฐ วิจารณ์ศาสนา ไม่ใส่ใจบรรทัดฐานของสังคม คือส่วนหนึ่งของบุคลากรที่ดีที่สุดของประเทศเรา
๑๔. การปฏิบัติต่อผู้ประท้วงและพวกหัวรุนแรงต้องใจกว้าง เพราะแนวคิดใหม่ ๆ เป็นที่มาของความก้าวหน้า

คำถามเหล่านี้จะให้เลือกตอบเป็น “เห็นด้วย” กับ “ไม่เห็นด้วย” ตั้งแต่ระดับ ๑-๖ โดยจะวัดระดับความก้าวร้าวของบุคลิกอำนาจนิยม (ข้อ ๑-๔)  ความเป็นอนุรักษนิยม (ข้อ ๕-๘)  ความเป็นอำนาจนิยม (ข้อ ๙-๑๔)

นอกจากนี้ยังมีคำถามเรื่องทัศนคติต่อการเลี้ยงดูบุตรหลานเพิ่มอีกสามข้อ คือ
๑. คิดว่าลักษณะนิสัยแบบไหนที่พ่อแม่ควรปลูกฝังให้ลูก ๆ เป็นพิเศษ โดยมีตัวเลือกคือ พึ่งตัวเอง ทำงานหนัก รับผิดชอบ มีจินตนาการ ประหยัด ยอมรับความเห็นต่างและเคารพผู้อื่น มีความพยายาม ศรัทธาต่อศาสนา ไม่เห็นแก่ตัว เคารพเชื่อฟัง
๒. เห็นด้วยหรือไม่ว่าสิ่งที่เด็กควรเรียนรู้คือการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่
๓. การลงโทษด้วยการตีเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงดูให้เด็กเป็นคนดี

คำถามเหล่านี้ใช้สำรวจทั้งกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ งานชิ้นนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างนักศึกษาระดับปริญญาตรี ๑๔๗ คน อาจารย์ ๑๑ คน แหล่งข้อมูลมาจากสองมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัด  ร้อยละ ๕๗ ของนักศึกษามาจากชั้นเรียนภาษาจีน คณะของผู้ตอบร้อยละ ๕๗ คือวิศวกรรมศาสตร์  การจัดการและการท่องเที่ยวร้อยละ ๓๑  รัฐศาสตร์ร้อยละ ๖  นิติศาสตร์ร้อยละ ๖ ส่วนอาจารย์ที่ตอบ ร้อยละ ๒๘ มาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ร้อยละ ๓๖ มาจากคณะการจัดการและการท่องเที่ยว  ร้อยละ ๖๔ สอนหนังสือน้อยกว่า ๑๐ ปี ส่วนมากอายุ ๒๙-๓๑ ปี ทั้งสองกลุ่มตัวอย่างนี้พออนุมานได้ว่าเป็นชนชั้นกลาง

อย่างไรก็ตามเครื่องมือบางอย่างในการทำงานเช่นตัวชี้วัดเรื่อง “ความเป็นอนุรักษนิยม” ในตะวันตกยังอาจใช้กับเมืองไทยไม่ได้เพราะวัฒนธรรมต่างกัน เช่นคนไทยไม่สนใจเรื่องใครจะเป็นเพศอะไรมากนัก แต่ในประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์เคร่งครัดสนใจเรื่องนี้มาก ถ้าใช้เครื่องมือพวกนี้กับสังคมไทยคงต้องปรับเปลี่ยนคำถามให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมของที่นี่ด้วย และงานชิ้นนี้ยังใช้กลุ่มตัวอย่างค่อนข้างน้อย ต้องเพิ่มจำนวนและขยายวงให้กว้างมากขึ้น จริง ๆ มีนักวิชาการตะวันตกทำเรื่องนี้ไว้เยอะจนเป็นสาขาวิชาหนึ่งแล้ว

เราตั้งใจว่าจะขยายขอบเขตการทำงานเรื่องนี้ออกไปอีกสำหรับสังคมไทย

ผลที่ได้จากการทำงานชิ้นนี้คืออะไร
นักศึกษามีแนวโน้มชอบระบบอำนาจนิยมมากกว่าอาจารย์ เรื่องนี้ตรงกับทฤษฎีว่ายิ่งได้รับการศึกษามากขึ้นการยอมรับวิธีคิดแบบอำนาจนิยมจะลดลง แต่ถ้านำผลการสำรวจนักศึกษาแคนาดามาเทียบก็น่าสนใจว่าดีกรียอมรับอำนาจนิยมของนักศึกษาแคนาดามีมากกว่านักศึกษาไทย แต่ข้อมูลของแคนาดาทำในปี ๒๕๑๖-๒๕๓๘ เป็นข้อมูลเก่า ถ้ามีการศึกษาเรื่องนี้ตอนนี้ในแคนาดาก็คาดว่าผลจะเป็นอีกแบบ

ส่วนมากคนที่มีลักษณะอำนาจนิยมมักมีสุขภาพจิตไม่ดี อาจมาจากสภาพแวดล้อมวัยเด็ก เพราะบุคลิกอำนาจนิยมจะพัฒนาในช่วงปีแรกของชีวิต ได้เห็นการใช้อำนาจ ความรุนแรง หรืออยู่ในครอบครัวที่มีลักษณะเผด็จการ ทั้งหมดนี้สร้างลักษณะของคนที่ยอมรับระบบอำนาจนิยมออกมา

ในงานวิจัยชิ้นเล็ก ๆ ชิ้นนี้ คำถามข้อ ๒ ที่ว่า คุณเห็นด้วยหรือไม่เมื่อผู้นำรัฐบาลสั่งให้พลเมืองผู้รักชาติช่วยกันกำจัดรากเหง้าแห่งความชั่วร้ายของประเทศ พลเมืองทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตาม นักศึกษาให้คะแนนเห็นด้วยกับข้อนี้มีมากกว่าของกลุ่มอาจารย์ที่ตอบแบบสอบถาม  ส่วนการตอบคำถามข้อ ๕ กับ ๖ ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิในการเลือกใช้ชีวิต เรื่องเพศสัมพันธ์ นักศึกษากลับเห็นด้วยในขณะที่อาจารย์นั้นมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยผสมปนเปกัน  ระดับของการตอบจากระดับ ๑ (ไม่เห็นด้วยมากที่สุด) ไปจนถึง ๖ (เห็นด้วยอย่างมาก) นั้นก็น่าสนใจ คนที่เลือกระดับ ๓ ซึ่งหมายถึงมีความเห็นค่อนข้างเป็นกลาง จะพบว่าเขาไม่ค่อยเลือกระดับ ๖ (เห็นด้วยอย่างมาก)

ดังนั้นในภาพรวมค่าเฉลี่ยจะออกมากลาง ๆ หลายเรื่องที่เป็นรายละเอียดยังสรุปได้ยาก แต่ก็เป็นเรื่องปรกติของงานวิจัยที่มีลักษณะทดลอง ยังไม่ได้ทำอย่างเต็มที่

หากมองสถานการณ์ในภาพรวม ทำไมแนวคิดอำนาจนิยมถึงดูจะมีที่มั่นในระบบมหาวิทยาลัยไทย
งานวิจัยชิ้นนี้ยังอยู่ในชั้นเริ่มต้นอาจจะยังตอบคำถามได้ไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ถ้าวิเคราะห์ ณ ตอนนี้ ในระดับของสถาบัน เกิดจากการกำหนดกฎประหลาด ๆ ที่ไม่จำเป็น ตัวอย่างการแต่งกายของอาจารย์ ที่แค่บอกว่า “ให้เหมาะสม” ซึ่งจริง ๆ น่าจะพอ แต่ยังมีสิ่งที่ไม่ถูกเขียนแต่มาในรูปแบบของเพื่อนที่บอกว่าวันนี้เราแต่งตัวล่อแหลมเกินไป ทั้งที่บางทีเรามองว่าเราไม่ได้มีเสน่ห์หรือเซ็กซี่ หรือการห้ามนักศึกษาใส่กระโปรงสั้นขึ้นตึก ไม่ยอมสอน เป็นต้น วิธีบังคับใช้กฎเหล่านี้ยังอาจมาอ้อม ๆ จากการสร้างข่าวลือ เช่น ข่าวลือว่ามีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแอบทำอะไรไม่เหมาะสมในห้องน้ำเพราะนักศึกษาใส่กระโปรงสั้น เรื่องนี้ไม่รู้ว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ก็ถูกบอกต่อกันเพื่อที่จะหาทางให้นักศึกษาแต่งตัวตามกฎระเบียบ

เรื่องกฎการแต่งตัว มหาวิทยาลัยในเยอรมนีไม่บังคับใส่เครื่องแบบ ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่บังคับเรื่องนี้ คิดดูจีนเป็นคอมมิวนิสต์ยังไม่บังคับ  เรื่องนี้สำคัญ ถ้าคุณโดนบังคับให้แต่งตัวเหมือนกันจะหาตัวเองได้ยังไง การลองใส่เสื้อผ้าแบบต่าง ๆ คือการแสดงตัวตนแบบหนึ่ง ถ้าเลือกเองไม่ได้จะเป็นอย่างไร ส่วนข้ออ้างว่าเครื่องแบบจะทำให้ไม่มีการแข่งอวดความมั่งมีนั้น อ้างไม่ขึ้น นี่เป็นข้ออ้างเดียวกับคนที่ต้องการดำรงระบบรับน้องให้อยู่ต่อไปโดย “ความเป็นระเบียบเรียบร้อย” ซึ่งเราก็อยากถามจริง ๆ ว่า หน้าร้อนถ้าใส่ขาสั้น ใส่สายเดี่ยว แล้วมันจะมีปัญหาอย่างไร

ฝ่ายไม่เห็นด้วยอาจบอกว่าทำให้เสี่ยงต่อการถูกข่มขืน
ตามหลักถ้าเกิดเรื่องจริง ที่ควรทำคือสืบหาคนก่อเหตุ วางมาตรการป้องกัน ไม่โทษเหยื่อ ถ้าคิดแบบที่ถามจะทำให้เกิดวัฒนธรรม “โทษเหยื่อ” แปลว่าคนทำผิดคิดว่าตัวเองมีสิทธิเหนือร่างกายผู้อื่น ถ้าอย่างนั้นคนไทยสมัยอยุธยาที่มีหลักฐานว่าเปลือยอกก็คงเกิดข่มขืนกันมโหฬาร

เรื่องข่าวลือนั้นในกลุ่มอาจารย์ก็มี เช่นมีเพื่อนอาจารย์บอกว่าเราถูกใครคนหนึ่งบอกว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้โดยไม่ระบุตัวคนเล่า ทำให้เราชี้แจงหรืออธิบายไม่ได้ ส่วนมากคนที่พูดนั่นเองต้องการใช้อำนาจกับเรา นี่คือ “อำนาจของข่าวลือ” ข่าวลือเป็นเครื่องมือที่ดีในการทำให้คนอยู่ในกรอบ  ในเมืองไทยมีประวัติการใช้ข่าวลือมานาน ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ทรงโดนข่าวลือหลังทำ “คำกราบบังคมทูล ร.ศ. ๑๐๓” เสนอให้สยามมีรัฐธรรมนูญและปฏิรูปการปกครอง การถูกลือในทางลบถึงแม้ไม่มีหลักฐานก็ทำให้พระองค์เสียหาย ไม่ก้าวหน้าในราชการ นี่เป็นหนึ่งในวิธีการที่คนมีอำนาจใช้จัดการคนที่ถูกมองว่าออกนอกกรอบมากเกินไป

อาจารย์กำลังบอกว่าปัญหาอยู่ที่ “กฎระเบียบ”
หลายคนพยายามเข้าใจกฎระเบียบ แต่กฎระเบียบก็มีมากจนเป็นไปไม่ได้ที่จะรู้ได้หมด คนเขียนกฎเองบางครั้งยังสับสน นี่หมายความว่าคนที่รู้ระเบียบเยอะจะมีอำนาจเหนือคนอื่น เราจึงเห็นนักกฎหมาย ผู้บริหาร มีอำนาจ เพราะเขาได้อำนาจจากกฎระเบียบที่มีมากมายนี้ เขาอาจทำให้งานที่รับผิดชอบคล่องตัวหรือกระทั่งให้โทษกับคนอื่นก็ได้

นอกจากกฎระเบียบยังมีเรื่องใดอีก
ปัญหาเรื่อง “โครงสร้างความสัมพันธ์ภายในมหาวิทยาลัย” ของไทยมีลักษณะ “ชนชั้น” ระหว่างอาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยที่ทำงานทั่วไปและธุรการ สามารถเห็นได้ชัดจากคำเรียก เช่นคำว่า “อาจารย์” นี่ดูมีเกียรติ ถ้าคนสอนหนังสือไม่ระวังคำนี้จะทำให้เขาคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องสำรวจตัวเองถ้าไม่อยากหลงไปกับคำเรียก เพราะครึ่งหนึ่งของการเป็นเผด็จการ คุณต้องเชื่อว่าคุณดีกว่าคนอื่น บางทีเจ้าหน้าที่อาจใหญ่กว่าอาจารย์ ซึ่งก็จะมีปัญหาบ้างเวลาทำงานประสานงาน ส่วนนักศึกษานั้นอยู่ในระดับล่างสุดของพีระมิด

ปัญหาอีกส่วนหนึ่งเกิดจาก “ชั้นของภาษา”
ใช่ค่ะ วิธีใช้ภาษาสำคัญมาก สมัยยังอายุน้อยเรารู้สึกว่าคำว่า “อาจารย์” หรือ “professor” สูงส่ง แต่ชีวิตจริง ๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากคนอื่น จากประสบการณ์ความใกล้ชิดระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาในเยอรมนีไม่เป็นทางการมากนัก นักศึกษาท้าทายอาจารย์ได้ในแง่ความรู้ หลายครั้งอาจารย์ก็ยอมรับสิ่งที่นักศึกษาเสนอโดยไม่รู้สึกเสียหน้า อย่างไรก็ตามยังมีคำว่า “อาจารย์” อยู่

ในเดนมาร์ก ภาษาเดนมาร์กไม่มีคำว่า “อาจารย์” หรือ “เด็ก” จะเรียกชื่อไปเลย เช่นคัทยาเรียก “คัทยา” เลย ไม่มี “อาจารย์คัทยา” อาจารย์ก็ไม่เรียกนักศึกษาว่า “เด็ก” ช่วงแรกของการเรียนปริญญาเอกที่นั่นก็สงสัยว่าทำไมเรียกชื่ออาจารย์ตรง ๆ เหมือนไม่ให้เกียรติ แต่สักพักกลับรู้สึกดีเพราะทำให้คนรู้สึกเท่ากัน ไม่มีแบ่งแยกว่านี่อาจารย์นี่ลูกศิษย์ ระบบการศึกษาเดนมาร์กเปิดเสรียิ่งกว่าเยอรมนีเพราะสภาพสังคมเดนมาร์กด้วย

มองมาที่ภาษาไทย จะเห็นว่าภาษาไทยมี “ชนชั้น” ยิ่งกว่า
ผู้หญิงมีคำเรียกแทนตัวมากมาย เช่น หนู ดิฉัน เดี๊ยน ฯลฯ ปริมาณคำแทนตัวเองมีมากกว่าผู้ชาย  ในแบบสำรวจพบว่าผู้หญิงมีลักษณะเป็นเผด็จการและยอมรับอำนาจนิยมมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากถูกจับให้อยู่ในกรอบมากกว่า พอคุ้นเคยก็ยอมรับได้ง่าย

ทำไมการโดนบังคับให้อยู่ในกรอบ แทนที่จะต่อต้านกลับ “ยอมรับ” ไม่ย้อนแย้ง
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เคยได้ยินอาการ “สตอกโฮล์มซินโดรม” (stockholm syndrome/helsinki syndrome) ซึ่งเกิดขึ้นกับคนที่โดนคนร้ายจับเป็นตัวประกันแล้วเกิดเห็นใจคนร้าย กลับเข้าข้างคนร้ายหรือไม่ นี่คืออาการปรกติที่จะเกิดกับคนที่อยู่ในระบบนาน ๆ ยิ่งอยู่ในระบบยิ่งไม่ต่อต้าน นั่นหมายถึงผู้มีอำนาจมีการสร้างระบบระเบียบ สร้างกรอบให้มากขึ้นเท่าไร แรงต่อต้านก็จะยิ่งลดลงไปเรื่อย ๆ

การรับน้องตามระบบ “โซตัส” เป็นส่วนหนึ่งของระบบอำนาจนิยม
การ “รับน้อง” คืออาการค่อนข้างชัดเจนในแง่การ “ใช้อำนาจ” มีตัวละครสองคนคือ “คนใช้อำนาจ/ผู้กระทำ” กับ “ผู้ถูกกระทำ” ถ้าคนถูกกระทำไม่ยอม ระบบนี้ก็ไปต่อไม่ได้ มีคนสงสัยว่าเผด็จการอย่างฮิตเลอร์พูดอะไรที่ไม่ค่อยมีเหตุผล ดูสติไม่สมประกอบด้วยซ้ำ ทำไมคนเป็นล้านเชื่อและปฏิบัติตามคำสั่งเขา
คำตอบคือคนเหล่านั้นเชื่อในอำนาจ คุ้นเคยกับการรับใช้อำนาจ ระบบโซตัสก็อยู่ได้ด้วยวิธีคิดแบบนี้

ในความเข้าใจของเรา พวกพี่ว้ากต้องการทำให้พวกปี ๑ รู้สึกด้อยกว่าปีอื่น ๆ เกิดความรู้สึกเป็นกลุ่มก้อน ถ้าเทียบกับยุวชนนาซีสมัยฮิตเลอร์นี่ไม่มีว้าก เขาสร้างความรักชาติ อุทิศตัวเอง ปฏิญาณตนกับผู้นำ รับสัญลักษณ์แสดงความเป็นสมาชิก ยุวชนนาซีกว่าจะได้สัญลักษณ์ต้องทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ใช่ลักษณะที่ปรากฏเป็นข่าวในไทย เช่น วัดความยาวอวัยวะเพศ เต้นไก่ย่าง

ระบบโซตัสยังอยู่ในเมืองไทยเพราะมีคนเห็นด้วยมาก นักศึกษา ๑๐ คนจะเห็นด้วยประมาณ ๔-๕ คน อีก ๔ คนที่เหลือเฉย ๆ ยอมร่วมมือแม้ไม่เห็นด้วยมากนัก ส่วนคนคัดค้านมีน้อยมาก โดยมากพวกขาดความมั่นใจมักเป็นว้ากเกอร์ อาการนี้เป็นเช่นเดียวกับเด็กที่โดนพ่อแม่ตี โตมาจะกลายเป็นพ่อแม่ที่ตีลูกตัวเอง

มหาวิทยาลัยที่อาจารย์สอนอยู่มีรับน้องหรือไม่
มีทั้งแบบที่ทำกิจกรรมรับน้องให้เห็นชัดและบางกลุ่มอาจแอบทำก็เป็นไปได้ เคยเห็นบางกลุ่มมีประชุมเชียร์ แต่เราเฝ้าดูได้ไม่นานเพราะแอบเข้าไป โดยส่วนตัวมองว่าทำไมต้องร้องเพลงเชียร์ขนาดนั้น มีกฎมากมายขนาดนั้น แต่คนที่ทำกิจกรรมอยู่อาจรู้สึกไม่เหมือนเรา  แต่ตัวอย่างที่ดีก็มี คณะหนึ่งรับน้องโดยจัดให้เล่นละคร ให้ปี ๑ เป็นนักแสดง  ปี ๒ ทำหน้าที่กำกับ  ปี ๓ เขียนบทละคร  ปี ๔ เป็นที่ปรึกษา พอทำงานร่วมกันก็ทำให้สนิทกันทั้งสี่ปี แบบนี้สร้างสรรค์

ในเยอรมนีทุกมหาวิทยาลัยไม่มีรับน้อง หลายมหาวิทยาลัยทั่วโลกไม่มีระบบนี้ มหาวิทยาลัยไทยบางทีอ้างว่ารับระบบนี้จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าตรวจสอบจะพบว่าคอร์เนลล์ห้ามเรื่องนี้ตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐

สถานการณ์การทำงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยเป็นอย่างไร ทำไมถึงเลือกมาทำงานที่นี่ทั้งที่รู้ปัญหาของระบบการศึกษาไทยบ้างแล้ว
อาจารย์ไทยหลายคนเก่ง หัวก้าวหน้า แต่พออยู่ในระบบราชการเจออาจารย์รุ่นเก่าที่มีมุมมองแคบเพราะไม่ค่อยออกไปไหน โดนกฎระเบียบครอบงำ ต่อมาก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นแบบนั้น ที่ต้องยอมรับคือเวลาผิดกฎผลที่ตามมาก็น่าปวดหัวมาก ระเบียบบางอย่างบังคับใช้ไม่ทั่วถึง เช่นการส่งใบลา อาจารย์หลายคนไม่ได้ส่งก็ไม่เกิดอะไรขึ้น แต่อาจารย์ที่ขัดแย้งกับผู้บริหาร ประเด็นนี้จะโดนดึงขึ้นมาทันที

ที่มาทำงานที่นี่เพราะความสุขของเราคือสอนหนังสือ สร้างคน เห็นนักศึกษาพัฒนาตัวเอง นักศึกษาไทยต้องเจออะไรอีกมาก คิดว่าน่าจะทำอะไรได้บ้าง แต่ทำงานจริงก็มีอุปสรรค เช่นที่นี่ห้องเรียนมีนักศึกษาถึง ๗๐ คน มากเกินไปและสอนยากมาก ในเยอรมนี ๓๐ คนต่อห้องนี่มากแล้ว ถ้าเทียบกับเดนมาร์ก ปริมาณมากที่สุดคือ ๑๒ คนต่อห้อง เราสอนมหาวิทยาลัยไทยสองแห่ง สถานการณ์แทบไม่แตกต่างกันเรื่องจำนวนนักศึกษา

มีคำกล่าวจากอาจารย์บางคนว่า หากไม่ใช้อำนาจงานก็ไม่เดิน หรือถ้าย้อนกลับไปที่ระบบโรงเรียน ครูไทยจะถามว่าถ้าไม่ตีเด็กจะให้ทำอย่างไร ให้เอาใจหรือ
กรณีนักเรียนต้องตอบว่าใช่ ต้องดึงความสนใจเขาด้วยบางเรื่อง เด็ก ๆ ส่วนมากไม่มีใครอยากทำผิด อยากให้คนรัก คนสนใจ สังเกตดูจะรู้ว่าเด็กเกเรโหยหาความสนใจ ครูต้องมองหาจุดแข็งแล้วดึงออกมา การให้รางวัลเมื่อเขาทำดีก็เป็นหนทางหนึ่ง สิ่งนี้จะเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้

เวลาทำงานกับคนอื่น กับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย หน้าฝรั่งแบบเราอาจง่ายกว่าอาจารย์ไทย (หัวเราะ) ที่พยายามทำคือ เสนอ ตั้งคำถาม ทำไมคุณไม่ทำแบบนี้ ทำแบบนี้ดีไหม พยายามชมในสิ่งที่เขาทำได้ดี ผลที่ตามมาคนที่ทำงานกับเราน่าจะเกิดความรู้สึกที่ดีและอยากทำงานให้เรา

จริง ๆ เวลาทำงานกับผู้อื่นหรือการสอนคนมีสองวิธี คือ “ใช้อำนาจ” หรือ “ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี”  การใช้อำนาจง่าย แต่ในระยะยาวถ้าทำให้รู้สึกดีจะดีกว่า  วิธีที่ ๒ นี้ค่อนข้างยากและต้องพยายาม ในมหาวิทยาลัยจริง ๆ เจ้าหน้าที่อาจมีอำนาจมากกว่าอาจารย์ด้วยซ้ำเพราะอยู่มาหลายสิบปี รู้ระเบียบมากกว่าอาจารย์ที่เพิ่งเข้าทำงานไม่นาน แน่นอนว่าเราไม่มีทางรู้ระเบียบทั้งหมดจึงต้องหาความรู้และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานด้วย

อาจารย์มองโลกในแง่ดีเกินไปไหมกับวิธีการทำให้คนอื่นรู้สึกดี
ต้องคิดดีไว้ก่อน จริง ๆ คนเยอรมันเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายและชอบบ่น ต่างจากคนเดนมาร์กที่มองโลกในแง่ดีและไว้ใจคน ต้องรอให้มีปัญหาจึงเลิกไว้ใจ  คนไทยจะกลับกัน เริ่มจากไม่ไว้ใจคนอื่นก่อน สักพักถึงไว้ใจ  “ความไม่ไว้ใจ” นี้เองที่เป็นบ่อเกิดของ “ระเบียบ” มากมาย ดังนั้นอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดจาก “คนอื่นหาทางละเมิดกฎ” เป็น “คนส่วนมากไม่ได้อยากละเมิดกฎ”

ทำไมคนที่เรียนสายวิทยาศาสตร์หลายคนที่ถูกสอนให้คิดเป็นเหตุเป็นผล กลับมีบุคลิกอำนาจนิยม
ในสายมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ถ้านักศึกษาเจออาจารย์ดี ๆ จะฝึกตั้งคำถามมากขึ้น การเรียนสายนี้มีคำตอบหลากหลาย แต่สายวิทยาศาสตร์มีจุดอ่อนคือไปตามกรอบค่อนข้างมาก มีคำตอบที่แน่นอน เรื่องนี้ไม่น่าแปลก อย่าลืมว่าความเข้าใจที่ว่าประชาธิปไตยคือการปกครองที่ดีมีมาไม่นาน คนจำนวนมากในโลกตะวันตกยังมองว่าระบอบการปกครองนี้ไม่ดี ดังนั้นจะมองว่าคนเรียนสายวิทยาศาสตร์มีบุคลิกอำนาจนิยมก็ไม่น่าจะพูดได้เต็มที่ เรื่องนี้อาจเป็นความเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า

ถ้าสังเกตจะพบว่าเด็กไทยไม่รู้จักเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” เพราะไม่ได้เรียน ต่างจากในเยอรมนีที่สอนเรื่องสิทธิของพลเมืองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญตั้งแต่ประถมฯ พอเรียนมัธยมฯ จะได้เรียนเรื่องอำนาจแบบต่าง ๆ ที่สำคัญคือมีการสอนเกี่ยวกับ “นาซี” ทั้งทางตรงทางอ้อมเยอะมาก เรื่องแบบนี้ต้องค่อย ๆ สอนและสั่งสม

ถ้าจะแก้ไขปัญหาระบบอำนาจนิยมในมหาวิทยาลัยไทย อาจารย์มีข้อเสนออย่างไร
ลดระเบียบต่าง ๆ ให้น้อยที่สุด เริ่มด้วยการเชื่อใจคนทำงาน เชื่อใจนักศึกษาว่าเขาไม่อยากผิดกฎ ยิ่งคนอายุน้อยเราฝึกเขาได้ดีกว่าคนอายุมาก  มหาวิทยาลัยไทย โรงเรียนไทยตอนนี้ยึดมั่นเรื่องกฎระเบียบมาก สอนให้นักเรียน นักศึกษากลัวเรื่องนั้นเรื่องนี้ เน้นให้เรียนแต่ไม่มีกิจกรรมนอกห้องเรียน ยิ่งในระดับประถมฯ มัธยมฯ ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม จึงควรลดวิชาเรียนลง ให้คนเรียนได้เป็นคนที่ใช้ชีวิตตามปรกติ

อยากเสนอให้ยกเลิกการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าทำได้นักเรียนจำนวนมากก็ไม่ต้องเรียนพิเศษ มีโอกาสหาความรู้นอกห้องมากขึ้น เราจะสร้างคนที่วิเคราะห์และเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็น อีกอย่างยุคนี้อัตราเกิดต่ำ มหาวิทยาลัยต่างหากที่ต้องหานักศึกษามาเรียน ไม่ใช่นักศึกษาต้องมาแย่งกันเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

ถ้าเลิกกฎระเบียบบางอย่างได้จะมีผลกับระบบการศึกษาพอควร  มหาวิทยาลัยในเยอรมนีการไม่กำหนดเวลาเรียนว่าต้องจบกี่ปี ไม่บังคับเรียนวิชาจำนวนมาก แค่บอกกว้าง ๆ ว่าแต่ละเทอมให้ฟังบรรยายสองวิชา สัมมนา (ถกเถียง อภิปราย) สองวิชา ทำให้นักศึกษาได้เรียนวิชาที่อยากเรียน ไม่อยู่แบบเกาะกลุ่ม ไม่สนใจเรื่องชั้นปี ไม่ต้องอาศัยรุ่นพี่ ไม่มี “นับรุ่น” ระบบรุ่นก็เบาบาง ยิ่งสาขาวิชาด้านสังคมศาสตร์ยิ่งทำได้ง่าย ส่วนสายวิทยาศาสตร์ก็อาจมีแค่วิชาพื้นฐานไม่กี่วิชาเท่านั้นที่ต้องเรียน

katja04

คิดอย่างไรกับข่าวที่นักศึกษาไทยชอบคอสเพลย์เป็นฮิตเลอร์หรือเอาสัญลักษณ์ของนาซีมาใช้
การแต่งคอสเพลย์ฮิตเลอร์เกิดในเมืองไทยบ่อย คนที่ทำมีสองแบบ หนึ่ง รู้ไม่ทัน ไม่รู้ประวัติศาสตร์ เข้าใจได้ว่าประวัติศาสตร์ที่เรียนในไทยเองก็ยังไม่ถูก ไม่สมบูรณ์ ประวัติศาสตร์ของต่างประเทศอาจไม่มีด้วยซ้ำ เลยไม่รู้ว่าฮิตเลอร์ทำอะไรไว้  สอง รู้และมองฮิตเลอร์เป็นฮีโร่ จำได้ว่าที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเคยมีข่าวการวาดภาพฮิตเลอร์รวมอยู่ในตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ จะบอกว่านิสิตไม่รู้ก็ไม่ได้เพราะเรียนมามากแล้ว เลยมองว่าไม่แน่ เมืองไทยไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับนาซี จึงมองว่าฮิตเลอร์เท่ เก่ง

เราเคยเถียงกับคนไทยที่ชอบฮิตเลอร์ พยายามบอกเขาว่าเวลามองคนคนหนึ่งต้องมองทั้งด้านบวกและลบ สำหรับฮิตเลอร์ข้อเสียมีมากเกินจะยกย่องได้ แต่คนไทยส่วนหนึ่งกลับมองเป็นส่วน ๆ ไม่มองภาพรวมของฮิตเลอร์ทั้งหมด ตัวอย่างคล้ายกันคือในเมืองไทยมีคนชอบจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาก จอมพลสฤษดิ์อาจต่างจากฮิตเลอร์ แต่ถ้ามองข้อเสียก็มีมาก คือ อนุภรรยาเยอะ คอร์รัปชันมาก แต่คนไทยกลับมองข้อดีเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจ นี่คือการมองส่วนที่อยากจะมอง แต่ไม่พิจารณาภาพรวมทั้งหมด

ในเยอรมนี คนส่วนใหญ่เรียนเรื่องฮิตเลอร์ตั้งแต่ประถมฯ มัธยมฯ เด็ก ๆ มีทั้งไม่ชอบและรู้สึกกลัว จำได้ว่าเราเองกลัว พอโตขึ้น เรียนมากขึ้น ต้องสอนหนังสือ ก็อยากเป็นสื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้

ทำไมสถานทูตที่ออกมาประท้วงเรื่องนี้มักเป็นสถานทูตอิสราเอล ไม่ใช่เยอรมนี
เพราะคนอิสราเอล (ยิว) คือเหยื่อโดยตรงของนาซี ส่วนเยอรมนี ด้วยความที่รุกรานคนอื่นไว้มากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ พูดอะไรมากไม่ได้จะเข้าตัว

ลูกของอาจารย์ได้รับผลกระทบจากระบบการศึกษาไทยหรือไม่
เรามีลูกชาย ก่อนเข้าระบบการศึกษาไทยเขาเรียนโรงเรียนอนุบาลในเดนมาร์กที่เน้นให้เด็กได้เล่นสนุก ต่างจากอนุบาลเมืองไทยที่เน้นให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ดังนั้นลูกเราจึงยังช้ากว่าเด็กไทย คือเรียนอนุบาลแต่ไม่รู้จักตัวอักษร พอเรียนต่อในระดับประถมศึกษาในไทยก็ไม่ทันเพื่อน เขาโดนกดดันว่าทำไมอ่านไม่ออก มีการสอบเขียน-อ่าน ทุกอาทิตย์ เรียนมากถึง ๑๕ วิชา ตั้งแต่ ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น. ทุกวัน พอกลับบ้านเขาบอกเราว่าจำอะไรไม่ได้เลย ไม่มีความสุข เราอยากจะอ่านนิยายให้เขาฟังก็วิ่งหนี ตอนหลังเลยตัดสินใจส่งไปเรียนกับกลุ่มพ่อแม่ที่จัดการศึกษาแบบโฮมสกูล เขาถึงมีความสุขมากขึ้นและต่อมาก็อ่านออกเขียนได้ เรามองว่าเรื่องนี้เหมือนกับการเดิน ถ้าเขาพร้อมเขาก็จะเริ่มหัดเดินเอง

กลับมาที่ประเด็น ในแง่หนึ่งการเปลี่ยนวิธีคิด การสลายระบบอำนาจนิยม เยอรมนีทำได้เพราะมีประสบการณ์จากการแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒  ประเทศที่ไม่มีประสบการณ์เช่นนี้ควรทำอย่างไร หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเยอรมนียังมีพวกนิยมลัทธินาซีเหลืออยู่ เป็นครูในโรงเรียนก็มี ตอนที่ประเทศโดนแบ่งเป็นตะวันออก (ภายใต้อำนาจโซเวียต) กับตะวันตก (ภายใต้อำนาจสัมพันธมิตรตะวันตก)  เยอรมนีตะวันออกเอาพวกนี้มาลงโทษ ปัญหาที่ตามมาคือ ขาดกำลังคนที่มีความรู้ คนทำงานในกลไกรัฐ ผลคือเยอรมนีตะวันออกพัฒนาช้า ส่วนเยอรมนีตะวันตกก็มีแนวคิดจะลงโทษคนพวกนี้ แต่ถ้าปราบหมดก็ไม่มีคนทำงาน ต้องเข้าใจว่าโดยระบบมีคนเกี่ยวข้องกับนาซีจำนวนมากและไม่ใช่ทุกคนที่ผิดร้ายแรง จึงมีการจัดการตัวหลัก ๆ เท่านั้น คนสนับสนุนนาซีจำนวนมากยังคงอยู่รอดพร้อมแนวคิดแบบอำนาจนิยม แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นหนึ่งรุ่นคือรุ่นลูกตั้งคำถามว่าพ่อกับแม่เคยทำอะไรไว้ เติบโตเข้ามาแทนที่คนรุ่นเก่า  กรณีของไทยการไม่เคยมีสถานะเป็นผู้แพ้สงครามนั้นดีแล้ว นั่นไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่าจะมีนะคะ (หัวเราะ)

กรณีประเทศไทย ขอเสนอสองวิธี คือ “เปลี่ยนจากข้างบน”
ผู้บริหารประเทศเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องนโยบายการศึกษา ไม่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบ่อย ถ้าวางระบบการศึกษาได้ดี งานวิจัยชี้ชัดเจนว่า คนเราเมื่อเรียนมากขึ้น เจอคนหลากหลาย แนวคิดอำนาจนิยมจะค่อย ๆ หายไป อย่างน้อยก็จะลดลง นักศึกษาไทยหากเห็นโลกมากขึ้นก็ช่วยได้ อาจารย์เองก็ไม่ต่างกันต้องหาความรู้และประสบการณ์นอกมหาวิทยาลัยมากขึ้น จะทำได้มหาวิทยาลัยก็ต้องลดระเบียบลง ไว้ใจคนทำงานมากขึ้น อีกวิธีหนึ่งอาจารย์ทุกคนในมหาวิทยาลัย “ไม่ร่วมมือ” ก็จบ ส่วนระบบโซตัสหรือรับน้อง ถ้าคนจำนวนมากไม่ร่วม ระบบนี้ก็จะจบลง

เรื่องที่ทุกคนมีฉันทามติร่วมกันจะดูเป็นอุดมคติเกินไปหรือไม่ในโลกความจริง
เรื่องนั้นเป็นไปไม่ได้และไม่จำเป็น เป็นอุดมคติที่สำคัญคือการยอมรับความเห็นต่าง  ในการรับน้อง สมมุติมีนักศึกษา ๑๐๐ คน สัก ๒๐ คนต่อต้านก็มีผลมากแล้ว ปีต่อมาอาจเพิ่มมากขึ้น ก็เกิดความเปลี่ยนแปลง  คนที่จะพลิกหรือเปลี่ยนสังคมมักเผชิญแรงกดดันสูง ประวัติศาสตร์จะปรากฏคนแบบนี้ขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เยอรมนีช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ มาร์ทิน ลูเทอร์ (Martin Luther) ปฏิรูปศาสนาคริสต์ในเยอรมนีให้ละทิ้งพิธีกรรมและเปลือกนอกต่าง ๆ  ในสหรัฐอเมริกา คริสต์ทศวรรษ ๑๙๖๐ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) เรียกร้องสิทธิพลเมืองให้แก่ชาวอเมริกันผิวสี สองคนนี้เผชิญแรงกดดันมากมาย การทำแบบนี้หลายคนไม่กล้าเพราะไม่ต้องการรับแรงกดดันที่หนักหน่วงและเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องปกป้องตนเอง แต่ละคนมีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน

ในยุคที่เยอรมนีถูกฮิตเลอร์ปกครอง คนเยอรมันที่ไม่เห็นด้วยกับฮิตเลอร์เขาทำอย่างไร
มีสองกลุ่ม กลุ่มแรก เคลื่อนไหวใต้ดินจนจบสงคราม หลายคนโดนจับ โดนฆ่า แต่ก็ส่งมอบภารกิจกันอย่างไม่ลดละจนจบสงคราม  กลุ่มที่ ๒ คือคนส่วนมากที่ไม่สนใจอะไร ใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ และพยายามอยู่ให้ได้  ในเมืองไทยมีคนแบบกลุ่มที่ ๒ มากมาย แต่ก็น่าเห็นใจว่ามีคนหาเช้ากินค่ำมาก คนเหล่านี้ทำงานมากกว่า ๑๒ ชั่วโมงต่อวัน จะเอาเวลาที่ไหนไปคิดเรื่องอื่นหรือเคลื่อนไหวอะไรได้

สังคมไทยเจอวิกฤตการณ์การเมืองมาร่วมทศวรรษจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้หรือไม่
สังคมไทยขัดแย้งทางการเมืองมานานทำให้เรามักมองสถานการณ์ในแง่ลบ แต่สิ่งดีคือคนสนใจการเมืองมากขึ้น มองว่าเราอยู่ตรงไหน คิดอย่างไร ถ้าคุณไปต่างจังหวัดตอนนี้จะเห็นชาวนาคุยเรื่องการเมือง ซึ่งเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วไม่มีทางเห็น สิ่งนี้จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนในอนาคตแม้ว่าต้องใช้เวลาพอสมควร  เข้าใจว่าทำไมหลายคนหมดหวังกับสถานการณ์ เวลาสอนหนังสือ เราสอนเด็ก ๗๐ คน มี ๕ คนที่เข้าใจก็ทำให้เขาเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้แล้ว  ดังนั้นที่สำคัญในการต่อสู้กับระบบอำนาจนิยมคือคุณต้องรักษาความหวังไว้ ถ้าหมดหวังก็จบ

มีสุภาษิตเยอรมันบอกว่า “ความหวังเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะตาย”

ถ้าความหวังตายแล้ว สังคมก็จะตายจริง ๆ