คุณครูหนูเป็นดีวีดี

สมัยที่อาจารย์อุ๊ อุไรวรรณ ศิวะกุล ตั้งท้องลูกคนที่ ๒ อาจารย์ยังสอนเคมีทุกวัน สอนกระทั่งถึงวันก่อนคลอด ที่ต้องสอนไม่หยุดก็เพราะเด็กขอร้องว่าจะต้องเป็นอาจารย์อุ๊คนนี้เท่านั้น ทั้งที่ก็เคยมีความพยายามจ้างครูคนอื่นๆ มาสอนเคมีสลับกับอาจารย์อุ๊อยู่หลายหน แต่ก็ต้องล้มเลิกไปทุกครั้ง เพราะเด็กๆ ติดแบรนด์และการสอนแบบอาจารย์อุ๊ไปแล้ว กวดวิชาดังๆ เจ้าอื่นก็มักเป็นไปในทำนองเดียวกัน

คุณอนุสรณ์ผู้เป็นสามีมีความเห็นตรงจุดนี้ว่า “ผมคิดว่าธุรกิจกวดวิชาก็เหมือนวงดนตรีลูกทุ่ง สมมุติวงของคุณมีนักร้องดังหลายคน พอวงไหนดังปุ๊บนักร้องก็แตกวงไปตั้งวงของตัวเอง วงเดิมก็ล้มหายตายจากไป เว้นแต่ว่าคุณอาจจะมีลูกหลานแล้วสืบทอดได้ อย่าง สุรพล สมบัติเจริญ ก็อาจมีสุรชัยมา แล้วมีสไตล์ของพ่อเขา คนยอมรับได้ก็โอเค โรงเรียนกวดวิชาก็มีแบบนั้น เช่น Applied Physics อาจารย์ช่วงสอนอยู่ อาจารย์ประกิตเผ่าเข้ามาแล้วต่อช่วงได้ แล้วคนยอมรับ แต่หลายๆ ธุรกิจกวดวิชาที่ดังมาในอดีต ทุกวันนี้ไม่เห็นชื่อแล้วเพราะจบรุ่นไหนก็รุ่นนั้น ที่นี่เราก็เป็นแบบนั้นครับ เราคาดว่าถึงจุดหนึ่งเราก็คงพัก” เมื่อถึงวันนั้น อุ๊แลนด์คงกลายเป็นตึกที่ประกอบธุรกิจอย่างอื่นไปแล้ว

โรงเรียนกวดวิชาต้องตื่นตัวปรับปรุงคุณภาพเพื่อเอาใจเด็กตลอดเวลา บวกกับข้อได้เปรียบของติวเตอร์เองที่ไม่ต้องกังวลอะไรอื่นนอกจากมุ่งที่การพัฒนาการสอน รวมทั้งยังมีคาบสอนน้อยกว่าครูในโรงเรียน “การสอนของครู”จึงเป็นกุญแจสำคัญที่สุดในการอยู่รอดของธุรกิจนี้ จึงเป็นธรรมดาที่ครูกวดวิชาจะมีรายได้สูง และยังเพิ่มจำนวนขึ้นในแต่ละเดือนตามจำนวนเด็กที่ลงทะเบียนด้วย ครูที่ยึดอาชีพสอนกวดวิชาอย่างเดียวมีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ ๓ หมื่นไปจนถึง ๕ แสนบาท แล้วแต่ว่าเป็นครูที่นักเรียนนิยมมากน้อยแค่ไหน

ซึ่งก็ต้องพึงระวังด้วยว่า หากครูไม่ฮิตหรือไม่เจ๋งพอ ก็ไม่สามารถอยู่ได้เลยในธุรกิจนี้ (คุณพรชัยใช้คำว่าต้อง “ต๊อกต๋อย”ไปอย่างนี้ และต้อง “ก๊อกแก๊ก”ไปสอนตามบ้าน)

 

tutor06

เด็กจำนวนมหาศาลยอมเสียสตางค์มาเรียนกับครูกวดวิชายอดฮิต แม้ว่าจะเป็นคอร์สที่เปิดสอนโดยการฉายดีวีดีแทนการสอนสด ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าคอร์สเหล่านี้เป็นธรรมต่อผู้เรียนมากน้อยแค่ไหน

คอร์สของโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังส่วนใหญ่จะมีครูสอนสดเพียงสาขาเดียว สาขาอื่นที่เหลือเป็นการฉายวิดีโอหรือดีวีดีแทบทั้งสิ้น (เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กแย่งกันลงทะเบียนเรียนสาขาที่สอนสด) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรียกระบบการสอนด้วยดีวีดีนี้ว่า “สอนผ่านสื่อ”ซึ่งกำหนดมาตรฐานไว้ที่ ๑ เครื่องต่อเด็ก ๑๕ คน และให้มีเจ้าหน้าที่ดูแล ๑ คน

โรงเรียนกวดวิชาที่ดำเนินการสอนด้วยอาจารย์เพียงคนเดียวจึงถือว่าสะดวกมากหากจะขยายสาขาและเพิ่มจำนวนนักเรียนโดยการฉายวิดีโอที่อัดจากการสอนสดไว้แทนการไปสอนจริง ซึ่งอาจถ่ายใหม่ในทุกๆ ปีหรือ ๒-๓ ปีขึ้นไปในบางแห่ง

เด็กจะเรียนตามทันไหม ? แล้วถ้ามีคำถามจะถามครูอย่างไร ? กับปรัชญาที่ว่าสถาบันการศึกษาต้องไม่เน้นทำกำไร ทำให้เกิดข้อกังขาถึงจรรยาบรรณของโรงเรียนกวดวิชาที่ขยายสาขามากมายโดยที่เด็กไม่ได้เรียนกับครูอย่างที่ควรจะเป็น

“จรรยาบรรณของใคร ?”คุณอนุสรณ์ถามกลับ “ของพวกผมหรือของใครกันแน่ จรรยาบรรณของความเป็นครูก็คือคุณควรจะสอนเด็กอย่างเต็มที่และเต็มกำลัง เขามาเรียนที่นี่ก็คือเขามาฝากอนาคตกับเราไว้ เขาเสียเวลา เสียเงิน หน้าที่ของเราก็คือต้องทำให้เขาไม่เสียเงินและโอกาสไปเปล่าๆ กับสิ่งที่เขาคาดหวัง นั่นคือความสำเร็จของเขา คือการได้เข้ามหาวิทยาลัย ทำคะแนนได้สูงสุด ผมกับภรรยารับราชการเป็นครูมาก่อน วันนั้นไม่เคยมีใครมาถามหาจรรยาบรรณความเป็นครูของเราสองคน

“คอร์สวิดีโอเราเริ่มมาจากความต้องการของผู้เรียน คำถามที่ว่า เอ๊ะ คุณเอาเปรียบผู้เรียนหรือเปล่า นี่มันไม่ใช่คำถามของผู้เรียน มันเป็นคำถามของคนที่พยายามจะมองว่าไอ้นี่ทำธุรกิจนี้แล้วมันโตขึ้นๆ เฮ้ย ทำไมคุณต้องสอนด้วยเทปล่ะ ทุกวันนี้มีคนถามว่าเรียนตัวต่อตัวสิ ไม่เข้าใจก็ถามได้ แต่ค่าเรียนตัวต่อตัวเดี๋ยวนี้ชั่วโมงละ ๕๐๐ บาทเป็นอย่างต่ำ บางวิชา ๘๐๐ บาท คอร์สวิดีโอคอร์สหนึ่ง ๑๘๐ ชั่วโมง ถัวเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ชั่วโมงละไม่เกิน ๕๐ บาท มันก็มีดีอย่างเสียอย่าง มาเรียนตรงนี้ค่าใช้จ่ายถูกลง แล้วการที่ถูกลงก็ไม่ใช่ปัจจัยที่ผู้เรียนเลือกเรียนที่นั่น เขามองที่คุณภาพด้วย ทุกเทอมเด็กที่มาเรียนครั้งแรก ทุกคนถามว่าเรียนด้วยเทปจะรู้เรื่องหรือ เราบอกว่าเราเปิดสอนมา ๒๐ กว่าปีแล้วและเราขยายมาตลอด ถ้าเรียนด้วยเทปไม่รู้เรื่อง ทุกวันนี้เราคงไม่ต้องขยาย”

“เรียนรู้เรื่องค่ะ”น้องก้อย ณัฏฐิกา โรจนเกียรติถาวร เรียนชั้น ม. ๖ โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ เคยเรียนกวดวิชาในห้องดีวีดีที่ เคมี อ. อุ๊, ชีววิทยา นพ. พิชญ์ และคณิตศาสตร์ครูแบงค์ บอกเรา

“อาจารย์เขาจะพูดย้ำตลอด ทำให้เรารู้เรื่องและก็จดตามทันด้วย รู้สึกว่าไม่ต่างกับเรียนสด จะต่างก็แค่ว่าถ้าเรียนสดจะรู้สึกตั้งใจกว่านิดหน่อย เพราะว่าเกรงใจครู

“ถึงจะเรียนกับดีวีดีก็ถือว่าไม่แพงนะคะ ที่เรียนติวเอนท์ก็คอร์สละ ๔,๕๐๐ บาทตลอด เรียนอยู่ ๓ เดือน ครั้งละ ๔ ชั่วโมง เพื่อนๆ ก็ไม่มีใครบ่น ส่วนที่บ้านก็มีแต่บอกว่าให้ไปเรียนเยอะๆ มากกว่า”

โถงทางเดินสีขาวสว่างสะอาดสะอ้าน ซ้ายและขวามีแต่ห้องกระจกใสติดๆ กัน เด็กๆ นั่งเรียงรายเป็นแถวตามเบอร์ที่นั่งที่ถูกฟิกซ์ไว้ สายตาทุกคู่มองไปทางเดียวกันที่จอสี่เหลี่ยมหน้าห้อง “คุณครู”กำลังติวผ่านทีวี โรงเรียนกวดวิชาแต่ละแห่งมีขนาดห้องตั้งแต่ความจุนักเรียน ๖๐ คนไปจนถึง ๒๐๐ คน กฎของ สช. กำหนดความจุ ๑ ตารางเมตรต่อนักเรียน ๑ คน

ในสมัยที่ฉันเรียนกวดวิชายังไม่มีการเรียนกับวิดีโอแบบนี้ ห้องเหล่านี้เงียบเชียบเป็นระเบียบ แต่ดูอ้างว้างชอบกล

tutor07

tutor08

tutor09

tutor10

บรรยากาศในการเข้ามาแสวงหาวิชาการที่เข้มข้นในโรงเรียนกวดวิชา เป็นไปอย่างสบายและกันเองต่างกับการเรียนในโรงเรียนที่มีกฎระเบียบเคร่งครัด เด็กๆ สามารถคุยกันหรือกินขนมได้ตามใจชอบ ใครที่มาเรียนไม่ครบชั่วโมงก็สามารถมาเรียนเพิ่มเติมด้วยตนเองได้

จะมีแต่ Child-Child-Child เท่านั้น

โสกราตีส : เอาละ ถ้าเช่นนั้น การเรียนคำนวณ
เรขาคณิต และวิชาอื่นๆ อันเป็นการเตรียมตัวก่อนเรียน ไดอะเล็กติก ก็ต้องให้เรียนตั้งแต่ยังเด็กและวิธีสอนต้องไม่เป็นแบบบังคับให้เรียน
โกลคอน : ทำไมเล่า
โสกราตีส : เพราะว่าคนที่เป็นเสรีชนนั้นไม่ควรเรียนเยี่ยงทาส การใช้กำลังกายมิได้เพื่อให้ร่างกายเลวลง อะไรก็ตามที่เรียนด้วยการบังคับจะไม่ติดอยู่ในวิญญาณ
โกลคอน : จริง
โสกราตีส : สหาย ดังนั้นท่านอย่าใช้กำลังในการสอนวิชาแก่เด็ก แต่ใช้วิธีเล่น ด้วยวิธีดังกล่าวท่านจะรู้ได้ด้วยว่าแต่ละคนมีความสามารถทางไหน
โกลคอน : ท่านพูดเข้าท่าดี

บทสนทนาของโกลคอนกับโสกราตีสเกิดขึ้นจริงเมื่อ ๓๖๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช และถูกบันทึกไว้ในหนังสือ The Republic เล่มที่ ๗ ของเพลโต

การปฏิรูปการศึกษาในปี ๒๕๔๒ เป็นเหตุการณ์สำคัญของวงการการศึกษาในประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นที่เรานำเอากระบวนการ “Child-Centered”มาใช้ในการเรียนการสอน แต่เหตุใดผลสำรวจ Family Poll โดยมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวในหัวข้อ “ครอบครัวกับการก้าวสู่ปีที่ ๑๐ ปฏิรูปการศึกษาไทย”เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จึงระบุว่ามีกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองเพียง ๒๔.๖ % เท่านั้นที่ “รู้สึกพึงพอใจขึ้นหลังมีการปฏิรูปการศึกษา”

หลายฝ่ายเห็นว่าการยึดเอาเด็กเป็นศูนย์กลางนั้นทำให้เกิดความสับสน และโรงเรียนนำมาปฏิบัติกันถูกบ้างไม่ถูกบ้าง พูดกันบ่อยแต่ทำได้จริงน้อย จนคำว่า Child-Centered กลายเป็นคำซ้ำซากน่ารำคาญสำหรับนักวิชาการบางกลุ่ม

ศาสตราจารย์ ดร. ภิญโญ สาธร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงลักษณะการเรียนการสอนแบบนี้ซึ่งมีรากฐานมาจากทฤษฎีของ จอห์น ดิวอี้ (ค.ศ. ๑๘๕๙-๑๙๕๒) ไว้ว่า “ในการสอนต้องยึดเอาความสนใจของเด็กเป็นหลัก ครูต้องสอนในสิ่งที่เด็กสนใจ ครูเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตามที่เด็กสนใจ เด็กเป็นศูนย์กลางของการสอน ครูไม่ใช่ศูนย์กลาง จะสอนตามใจครูไม่ได้ ตรงกันข้ามการสอนต้องสอนตามใจเด็ก”

แต่ “ตามใจเด็ก”คืออะไร ? สิ่งที่เด็กมัธยมฯหลงใหลมีอะไรบ้าง ดูหนัง ฟังเพลง ? (แล้วตกลงจะยังเรียนหนังสือกันอยู่ใช่หรือเปล่า ?)

๑๕.๑๕ น. ออกจากห้องทำงานส่วนตัวของเธอ เลี้ยวไปตามทางเดินเจอะกับประตูบานสีเทา เราผลักประตูตามเธอเข้าไปติดๆ เมื่อรู้ตัวอีกทีเราก็ยืนอยู่บนเวที แสงไฟสว่างจ้าจนต้องหรี่ตา สายตาเป็นร้อยคู่จ้องมาที่เวที และแล้วก็มี Voice-Over ดังขึ้น…

“ห้า สี่ สาม สอง หนึ่ง…”สปอตไลต์ส่องมาที่ อริสรา ธนาปกิจ วันนี้เธอสวมชุดสีแดง มีแว่นกันแดดเท่ๆ คาดอยู่บนศีรษะ

“ยินดีต้อนรับสู่ Enconcept สตูดิโอ ที่มีรูปแบบเหมือนรายการทีวีทุกประการ !!!”เธอพูดใส่ไมค์ลอยเข้ากันกับจังหวะเพลงกระหึ่ม ที่นี่คือโรงเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษที่สอนโดยการให้เด็กร้องเพลง ! ทุกคนเรียกเธอว่า “ครูพี่แนน”

 

tutor05

หน้าชั้นเรียนที่โรงเรียนกวดวิชา Enconcept มีการจัดแสงสีเสียงให้ใกล้เคียงกับสตูดิโอถ่ายทอดรายการทีวี ในระหว่างคอร์สติวภาษาอังกฤษด้วยเพลง เรียกว่าคอร์ส “Memolody” ครูผู้สอนเรียกว่เป็น “Edutainer” คอยสร้างบรรยากาศให้ชั้นเรียนไม่น่าเบื่อ

โรงเรียนกวดวิชา Enconcept มีติวภาษาอังกฤษตั้งแต่ระดับ ม. ต้นขึ้นไปจนถึงติวเข้มเพื่อเตรียมสอบแอดมิชชันส์ มีชื่อเสียงจากการติวคำศัพท์ด้วยเพลงที่มีชื่อเรียกว่าคอร์ส “Memolody”(มาจากการรวมคำศัพท์ Memory กับ Melody) โดยดึงเอาทำนองเพลงวัยรุ่นรักๆ ไปจนถึงเพลงลูกทุ่งจังหวะโจ๊ะๆ รวมทั้งเพลงสากลที่เป็นที่นิยมมาใส่ชุดคำศัพท์ลงไปใหม่ให้เข้ากับบรรยากาศเพลงนั้นๆ

ฉันยอมรับว่าแอบเคลิ้มไปกับมัลติมีเดียตระการตา การใช้กระดานดำแบบ Smart board ทันสมัย (เป็นแบบหน้าจอคอมพิวเตอร์ใช้มือแตะเพื่อเลือกเมนูหรือใช้ปากกาเขียนบนจอก็ได้) และการตัดต่อภาพถ่ายทอดสดหน้าจอราวกับกำลังดูอะคาเดมีแฟนเทเชีย รวมทั้งครูที่ดูเหมือนกำลังทอล์กโชว์อยู่ด้วย

เด็กในสาขาที่กำลังเรียนผ่านการถ่ายทอดสดส่ง SMS มาทักทายครูพี่แนน ข้อความนั้นโผล่อยู่ที่หน้าจอราวกับเรากำลังดูรายการ “เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์”หรือรายการ “ผู้หญิงถึงผู้หญิง”

“วันนี้ครูพี่แนนแต่งตัววัยรุ่นจังเลย”ข้อความหนึ่งโผล่ที่มุมจอด้านล่างให้เราได้เห็นกันทั่วถึง สำหรับนักเรียนที่โชคดียังจะได้รางวัลจากการส่ง SMS เข้ามาที่ห้องส่งอีกด้วย

“เวลาครูล้มแล้วเราต้องงงง…”ครูพี่แนนตะโกนลากเสียง

“เหยียบบบ”เด็กนักเรียนตอบเสียงดัง หัวเราะครืนกันทั้งห้อง

“เราพยายามทำการเรียนให้เป็นเหมือนสตูดิโอ พี่รู้สึกว่าทำไมเด็กดูทีวีนี่ดูได้จังเลย แต่พอเรื่องวิชาการจะรู้สึกว่าอะไรเนี่ย ไม่ง่วงก็เบื่อ เราก็เลยต้องทำบรรยากาศให้เหมือนกับดูเอ็มทีวี–ในระดับหนึ่งนะ !”ครูพี่แนนยิ้มหวาน เสียงฉะฉานทุกคำ

“คุณครูที่นี่จะเรียกว่า ‘Edutainer’ เวลาคัดครูจะดูที่ว่าเอนเตอร์เทนเด็กได้ไหม คือสอนแบบให้น้องมีความสุข ไม่ใช่แบบดูนาฬิกาตลอด เมื่อไหร่จะเลิก”

ในห้องทำงานส่วนตัวของครูพี่แนน บนโต๊ะ ข้างโต๊ะ และรอบโต๊ะมีแต่โล่และของขวัญจากน้องๆ อยู่ทั่วไปหมด เราอาจเรียกครูพี่แนนว่าซูเปอร์สตาร์ก็คงได้ เพราะเธอมีแฟนคลับจริงๆ เว็บไซต์รวมถึงเว็บบอร์ดและ Hi5 ของ Enconcept มีอยู่ล้านแปด แม้ครูพี่แนนจะมีสอนสดสัปดาห์ละ ๙ ชั่วโมงในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ตารางวันอื่นที่เหลือก็แน่นเอี้ยดไปด้วยคิวเป็นวิทยากรรับเชิญและกิจกรรมเสริมจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่ครูโรงเรียนกวดวิชาจะมีเลขาฯ ส่วนตัวคอยจัดคิวให้

“พนักงานที่นี่มี ๒๐๐ คน แบ่งเป็นฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยครู และมีฝ่ายไอทีด้วยที่จะทำโปรแกรมการเรียนคอมพิวเตอร์ คือแบบอลังการมาก”ครูพี่แนนแจง

“คิดว่าบุคลิกส่วนตัวตรงไหนที่ทำให้เด็กติดขนาดนี้”เราถามครูพี่แนน

“หน้าตาค่ะ”(หัวเราะสะใจ) และนั่นเลยเป็นเหตุให้เด็กๆ เรียกเธอว่า “ครูพี่แนน”แทนที่จะเป็น “คุณครูแนน”

“ไม่เคยขาดเรียนเลยค่ะ มีครั้งเดียวเองที่ไม่มาเพราะติดไปดูคอนเสิร์ต”น้องแพรว นักเรียนชั้น ม. ๕ โรงเรียนพระแม่มารีสาทรบอก

น้องแพรวนั่งอยู่ข้างๆ ฉัน เราสองคนกำลังพยายามร้องเพลงที่ ๖ หลังจากคอร์ส Memolody ในบ่ายวันเสาร์เริ่มไปได้เกือบ ๒ ชั่วโมง นับดูแล้วบางเพลงนั้นแค่ท่อนฮุกท่อนเดียวก็มีศัพท์ปาเข้าไป ๓๐ คำแล้ว ฉันว่าแค่ร้องเพลงในห้องงูๆ ปลาๆ ก็ทำให้จำศัพท์ได้เยอะมากไม่ต้องไปท่องต่อก็ยังพอถูไถไปได้ ไหนจะไวยากรณ์ รากศัพท์ บทสนทนาที่เราจำไปเองทั้งหมดโดยอัตโนมัติ เพราะต้องทั้งร้องและฟังตั้งหลายเที่ยว นอกจากเรียนในห้องแล้ว ที่นี่ยังมีโปรแกรมเรียนเพิ่มเติมด้วยตนเองซึ่งเด็กจะเข้ามาทบทวนเมื่อไรก็ได้ ทั้งที่โรงเรียนกวดวิชาหรือที่บ้านโดยการออนไลน์

และใครสามารถหลับในคลาสแบบนี้ได้ถือว่าเก่งมากทีเดียว (อึกทึกครึกครื้นเสียขนาดนี้)

แต่ก็มีเกิดขึ้นบ้างเหมือนกันที่เด็กจะงีบหลับ กระทั่งในคลาสที่เฮฮาร่าเริงอย่างของอาจารย์ปิงแห่งดาว้องก์

“พี่ก็เข้าใจนะบางคนเขานั่งเรียนแบบนี้ (ทำท่าฟุบโต๊ะ) ก็คือเขาเหนื่อย บางคนนั่งรถมาไกล หรือทะเลาะกับแฟนมา เราก็มองในทางที่ดี เฮ้ย มันคงต้องมีอะไรกลุ้มใจ เราก็จะบอกว่าใครไม่ไหวก็งีบไป แต่เฮ้ย มีเทคนิคนะ คือให้งีบแค่ ๑๐ นาที พอไหวแล้วลุกขึ้นมาฟังต่อนะเว่ย เพราะเวลาแกไปอ่านแกใช้เวลาเยอะกว่าฟังครูนะเว่ย ๑๐ นาทีปุ๊บเดี๋ยวมันก็ลุกขึ้นมา มันก็เป็นไปตามธรรมชาติ ก็บางคนเขาไม่ไหวจริงๆ ทำไมไม่ให้เขาหลับไปแป๊บแล้วลุกขึ้นมา ไม่ใช่มาแบบอาจารย์ตำราเป๊ะๆ ให้ทุกคนต้องเข้าใจพร้อมกันเหมือนกัน เด็กแต่ละคนมีเหตุผลของเขา”

ดูไปดูมาแล้วกลับกลายเป็น “โรงเรียนนอกระบบ”อย่างโรงเรียนกวดวิชา ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายจัดสรรกระบวนการ Child-Centered ได้ดีกว่าโรงเรียนสามัญ

อาจารย์นภาภรณ์มองว่า “วิธีการเรียนรู้ของเด็ก หรือการเข้าถึงการเรียนของเด็กมันเปลี่ยนไปแล้ว การที่โรงเรียนในระบบยังใช้วิธี Classroom-based ตัวหลักสูตรที่มันเคยตีกรอบไว้แบบนั้นแบบนี้อาจต้องเปลี่ยน เด็กอาจจะไม่ได้สนใจอะไรแค่นั้นแล้วเพราะโลกของเขามีอินเทอร์เน็ต ความเพลิดเพลินในการเรียนมันต้องสู้กับสื่อต่างๆ ที่มันเข้ามาแย่ง ซึ่งโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งเขาทำได้ดีมาก

“ถามว่าความพึงพอใจ ความสุข ความสนุกของเด็กสำคัญไหม ดิฉันว่าสำคัญ โรงเรียนจะไปสร้างกฎตลอดเวลาไม่ได้ ในขณะที่โรงเรียนกวดวิชาไม่ได้บังคับ จะผมสั้นยาว สีฟ้าสีชมพูก็เรียนได้ทั้งนั้น กวดวิชาไม่ได้สนใจเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องความรู้ เพราะฉะนั้นการเรียนของเขาอาจจะอยู่ในศูนย์การค้าภายใต้เวลาที่จำกัด เสาร์-อาทิตย์ ๒-๓ ชั่วโมง ในขณะที่โรงเรียนไม่สามารถแยกส่วนแบบนั้นได้ ซึ่งแน่นอนว่าเด็กจะรู้สึกสนุกที่ได้เข้าสู่บรรยากาศใหม่ๆ แล้วก็เรียนแป๊บเดียว แต่โรงเรียนนี่เรียนตั้ง ๕ วัน วันหนึ่งไม่รู้กี่ชั่วโมง ซึ่งมันอาจขัดกับธรรมชาติของเด็ก เราจับเขาเข้าไปอยู่ในห้องเรียนมากไปหรือเปล่า ครูในโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกของเด็กน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ…แม้ว่าในระบบการศึกษาเราจะพูดกันถึงการเอาเด็กเป็นศูนย์กลางก็ตาม แต่เรายังไม่ได้เอาเด็กเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษาเลย

“โรงเรียนกวดวิชาสะท้อนให้เห็นว่าเขามีสไตล์การจัดการเรียนการสอนที่ครูเข้าใจเด็กและรู้ว่าเด็กต้องการอะไรจริงๆ ก็คือเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง…สังเกตว่าเด็กพวกนี้จะเข้าเรียนตรงเวลา ไม่เดินออก เขาทำได้แสดงว่าเขาก็ได้จัดระบบที่มันเป็นตัวอย่างได้พอสมควร โรงเรียนในระบบก็ต้องมาคิดว่าจะเรียนรู้จากโรงเรียนกวดวิชาอย่างไร”

…ถัดจากตึกกวดวิชาแยกพญาไทไป ๒ สถานี BTS…

“วันหลังทำอะไรหัดขออนุญาตด้วยนะ ที่นี่ไม่ใช่บ้าน”อาจารย์เอกฤทธิ์ วีระพันธุ์ พูดขึ้น เสียงดังไกลมาจากหน้าชั้น ขณะฉันเดินดุ่มๆ กลับเข้าห้องเรียนหลังแวบไปเข้าห้องน้ำเพียง ๓ นาที อาจารย์อะไรจะดุขนาดนี้เนี่ย ฉันขมวดคิ้ว แต่ก็ต้องทำท่าจ๋อยๆ คอร์สติวเอนทรานซ์ชีววิทยาที่โรงเรียนกวดวิชายูเรก้าเริ่มขึ้นตั้งแต่แปดโมงเช้าวันเสาร์ และกว่าจะจบคาบก็นู่น ๑๒.๑๕ น.

โหดขนาดนี้ไม่มีสอนเป็นเพลง นอนฟุบโต๊ะก็ไม่ได้ ถึงไม่ได้ “บังคับ”เด็กให้มาเรียน (แถมยังต้องจ่ายเงินให้อาจารย์เขาอีก) เด็กจำนวนมากก็ยังมารอติวกันเต็มห้อง อาจารย์เอกฤทธิ์เป็นซูเปอร์สตาร์ของยูเรก้า รายได้ต่อเดือน “เป็นแสน”และสอนแค่สัปดาห์ละ ๓ วัน

“วิธีการคือต้องทำให้เด็กรู้เรื่องมากที่สุด แต่ถ้าทำให้รักวิชาได้จะยิ่งดี ดึงดูดเด็กด้วยตัววิชาจริงๆ…ที่พูดนี่เข้าใจหรือเปล่า”อาจารย์เอกฤทธิ์กล่าว เขาจบประโยคด้วย Wording ประจำของคนเป็นครู นอกจากเอาใจเด็กด้วยการสอนเป็นเพลงหรือเอนเตอร์เทนวิธีต่างๆ ของโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งแล้ว การเอาใจเหล่า “เด็กเนิร์ด”ที่ต้องการวิชาแบบหนักๆ ถือเป็นจุดเด่นของที่นี่

“เอาเข้าจริงไม่มีใครสอนเหมือนใครเลย ขึ้นอยู่กับว่าเด็กชอบที่จะเรียนสไตล์ไหน”อาจารย์เอกฤทธิ์บอกเรา อาจารย์อายุ ๓๓ ปี เริ่มสอนชีววิทยาตั้งแต่เมื่อ ๑๕ ปีก่อน เมื่ออยู่นอกเวลาสอน เขาไม่ได้ดุอย่างที่ใครเห็น

“บางคนอาจจะเรียนกวดเพิ่มเติมเพื่อให้รู้หลากหลายขึ้น เช่น ถ้าครูที่โรงเรียนคิดแบบนี้ ครูที่กวดวิชาคิดอย่างไร แล้วเอาข้อมูลมาผสมกัน ผมคิดว่านอกระบบได้เปรียบมากที่สุดตรงที่เด็กไปศึกษามาก่อนว่าครูโรงเรียนกวดวิชาแต่ละที่เป็นอย่างไร มีวิธีการสอนและสื่อให้เด็กเข้าใจเป็นอย่างไร แล้ว ‘เลือกได้’ เราถนัดแบบนี้เราจะเรียนกับครูคนนี้ แต่ถ้าในระบบนั้นเป็นการบังคับเลยว่าวิชานี้ต้องเรียนกับครูคนนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าครูตั้งใจสอนทุกคน แต่บางครั้งวิธีการสอนที่ต่างกันทำให้เด็กเข้าใจไม่เหมือนกัน คนเรียนก็ต้องเรียนเป็นด้วย ไม่ใช่พอมาเรียนนอกระบบแล้วไม่สนใจเรียนที่โรงเรียน ในทางวิชาการ หนึ่ง ต้องมองว่าไม่ได้ความหลากหลายแล้ว และสองคือ เมื่อมองในด้านการใช้ชีวิตในสังคมถือเป็นการไม่ให้เกียรติครู ทำให้ครูที่ตั้งใจสอนท้อ แต่ถ้าเด็กตั้งใจเรียนจริง มันจะเสริมกันระหว่างในและนอกระบบ”

อย่างไรก็ดี อาจด้วยความที่สถาบันกวดวิชาเล็งเห็นว่านักเรียนคือ “ลูกค้า”อย่างชัดเจน ลูกค้าคือหัวใจ และเป้าหมายเพื่อผลกำไร กวดวิชาจึงตกเป็นเป้าว่าเอารัดเอาเปรียบผู้ปกครองมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

“ลูกบังเกิดเกล้าสั่งมาว่าจะเรียนเราก็ต้องมา” ผู้ปกครองท่านหนึ่งกล่าวแซวๆ ระหว่างยืนต่อคิวลงทะเบียนเรียนวิชาชีววิทยาให้ลูกมาแล้วหลายชั่วโมง

“ดิฉันมองว่าเมื่อใดก็ตามที่สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้เป็นสินค้า ถึงเราจะมองมันในแง่ดียังไง การทำให้เป็นสินค้าก็ต้องเพื่อกำไร แล้วผู้บริโภคคือเด็กก็ตกเป็นเหยื่อของระบบนี้ ผู้ปกครองต้องเสียเงิน เด็กก็ต้องไปใช้เวลาตรงนั้น เพราะฉะนั้นจุดนี้ไม่ใช่การตั้งคำถามว่าโรงเรียนกวดวิชาควรมีหรือไม่ แต่ควรถามว่าเราสามารถทำให้โรงเรียนกวดวิชาเป็นสินค้าน้อยลงได้หรือเปล่า”อาจารย์นภาภรณ์ทิ้งคำถามไว้แบบนั้น

ถ้าอย่างนั้น เราควรเรียนกันแบบไหน

ฉันลองวิธีเรียนรู้โดยผ่านสื่อปัจจุบันที่เราใช้กันจริงๆ ทุกวันดูในแบบที่อาจารย์นภาภรณ์แนะนำ จึงเข้าไปที่เว็บ http://dict.longdo.com เพื่อหาคำแปลภาษาอังกฤษของคำว่า “กวดวิชา”พบความหมายว่า “to cram”หรือ “to tutor” ฉันค้นหาต่อว่าคำว่า Cram นั้นแปลว่าอะไร ในดิกฯ เล่มเดียวกันแปลว่า “รีบอัด รีบยัดเข้าไป (เรียนหรือท่องจำเพื่อสอบ)” ส่วนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั้นไม่มีคำว่า “กวดวิชา”โดยตรง

ในโลกของการเรียนรู้ออนไลน์ เด็กๆ ที่เตรียมสอบเอนท์ทั้งหลายยังแชร์ประสบการณ์กันในแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องเนื้อหาวิชาสอบไปจนถึงความรู้สึกส่วนตัว

เราจะเจอกับกระทู้ทำนองนี้อีกมากมายในคอมมิวนิตี้ออนไลน์ของเด็ก ม. ปลายที่เรียนกวดวิชาจำนวนหนึ่ง เพราะเอนทรานซ์และมหาวิทยาลัยคือโลกทั้งใบของเขาในช่วงวัย

ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าเด็ก ม. ปลายคนหนึ่งเรียนกวดวิชาแบบเต็มที่เพื่อเตรียมเอนทรานซ์ ในเทอมหนึ่งๆ เขาอาจต้องใช้เงินสัก ๑๕,๐๐๐-๒๕,๐๐๐ บาท และหากขยันมาก เรียนครบ ๖ เทอมหรือ ๓ ปีเต็มเลย เบ็ดเสร็จแล้วอาจต้องใช้เงินถึง ๑ แสนบาท

ยังไม่นับรวมโรงเรียนที่เตรียมความเป็นเลิศทางวิชาการให้แก่เด็กเล็ก บางแห่งถึงกับระบุว่ามีหลักสูตร “เส้นทางสู่โอลิมปิก”สำหรับเด็กระดับประถมต้น สถาบันกวดวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ซึ่งสอนเด็กเล็กอย่าง Kumon นั้นมีการทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ และขยายสาขาเป็นจำนวนมากถึง ๒๐๐ สาขาในประเทศไทย (ค่าแฟรนไชส์ ๕ หมื่นบาท) สถาบันก่อตั้งในปี ๒๔๙๗ ที่ญี่ปุ่น และมีสาขาอยู่ใน ๔๕ ประเทศทั่วโลก ที่นี่มีคอร์สติวตั้งแต่ระดับ “เตรียมอนุบาล”

การเตรียมอนุบาลที่ดีนำไปสู่การเรียนประถมฯ ที่ดี นำไปสู่การสอบเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมฯ ชื่อดังนำไปสู่การสอบติดมหาวิทยาลัยของรัฐ และสุดท้าย-เป็นใบเบิกทางสู่การเข้าทำงานในองค์กรใหญ่โตและมีหน้าที่การงานที่มั่นคง

และนี่เองอาจเป็นที่สุดของความต้องการของผู้ปกครองและของตัวเด็กเอง ในการ “ยอมจ่ายวันนี้” เพื่อซื้ออนาคต ดีกว่าไปจ่ายแพงนับแสนในการเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนระดับต้นๆ ซึ่งกว่าจะเรียนจนจบปริญญาตรีคงใช้เงินไปเกือบครึ่งล้าน “แถมคุณจบออกมาดีกรีเครดิตของคุณก็เทียบมหา’ลัยรัฐไม่ได้ มันคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นการลงทุนของชนชั้นกลางตรงนี้จึงถือว่าคุ้มค่ามาก”คุณพรชัยว่า

“ตราบใดที่คนยังเชื่อว่าการจบจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล จะเป็นเครดิตสำคัญของชีวิตเขา ตราบนั้นก็ต้องยอมรับว่ามันยังต้องมีโรงเรียนกวดวิชา…ญี่ปุ่นเองก็หนักหนาสาหัสเหมือนกัน ในญี่ปุ่นมีสอบเพื่อเข้าไปเรียนในโรงเรียนกวดวิชา ถ้าเข้าเรียนโรงเรียนกวดวิชาดังๆ ได้ก็จะมีโอกาสสอบเข้ามหา’ลัยดังๆ อย่าง ม. เกียวโตหรือโตเกียวได้ หมายความว่าคุณย่างเท้าเข้าไปครึ่งหนึ่งแล้ว โรงเรียนกวดวิชาจึงจำเป็นต้องจัดสอบเพื่อคัดคนมาเรียนในโรงเรียนเขา”

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางถึงล่าง ไม่มีกำลังพอจะจ่ายค่าเล่าเรียนแพงลิ่วของมหาวิทยาลัยเอกชนได้และแย่ยิ่งขึ้นไปอีกคือคนยังไม่เชื่อมั่นในคุณภาพของ “ทางเลือกอื่นๆ”เช่นมหาวิทยาลัยเปิดอย่างมหาวิทยาลัยรามคำแหง หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นต้น

สถิติของทบวงมหาวิทยาลัยในช่วง ๓๐ ปีที่ผ่านมาทำให้เห็นภาพว่า มีเด็ก ม. ปลายทั่วประเทศสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ราว ๒๐-๓๐ กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

และที่สำคัญ มหาวิทยาลัยของรัฐยังคงจำกัดจำนวนผู้เข้าเรียน ท่ามกลางจำนวนประชากรนักเรียน
ที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี

ตัวอย่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รับนักศึกษาใหม่ราวปีละ ๒,๐๐๐ กว่าคน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนเด็กที่มาสมัครสอบนับแสน และในอนาคตเกือบทุกสถาบันไม่มีแนวโน้มว่าจะรับเด็กเพิ่มขึ้นด้วย มหาวิทยาลัยของรัฐมีงบประมาณจากรัฐอยู่พอสมควร ทั้งเงินเดือนข้าราชการหรือค่าสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รายได้จากค่าเทอมของนิสิตนักศึกษาแทบไม่มีความสำคัญ และไม่ได้ “ทำกำไร” การรับนักศึกษาเข้าเรียนปีละน้อยๆ ไม่มีผลในเรื่องทุน กลับทำให้รู้สึกว่าเด็กที่สอบเข้ามาได้เป็นเด็กที่ “ถูกคัดสรร”แล้ว แถมยังดูแลได้ง่ายกว่า ดังนั้นแรงจูงใจที่จะให้มหาวิทยาลัยของรัฐรับคนเพิ่มนั้นแทบไม่มีเลย

“ความรับผิดชอบต่อสังคมมันไม่ได้มาของมันเปล่าๆ มันมาพร้อมการลงทุนของมหา’ลัยด้วย การรับเด็กมากเป็นเรื่องใหญ่ของมหา’ลัย ผู้บริหารหรืออาจารย์อาจจะคิดว่าให้คนอื่นเขาทำดีกว่าที่จะต้องมาเหนื่อยยาก ก็ให้เอกชนทำไป เราก็ทำดีที่สุดของเราได้แค่นี้ เด็กที่แย่งกันเข้ามาก็ดูเก๋ไปอีกแบบหนึ่ง”อาจารย์นภาภรณ์ว่าอย่างนั้น