เรื่อง : นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

วันนี้จะเขียนไดอารีครับ

เช้าวันศุกร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๑ สนามบินทั้งสองแห่งถูกปิดมาแล้ว ๒ วัน

เหลือเวลาอีกเพียง ๑ ชั่วโมงก็จะถึงเวลาบรรยายวิชาการให้แก่ผู้บริหารจำนวน ๔๐ คนของสำนักงานอัยการสูงสุด แต่กลับปวดศีรษะจนคิดอะไรไม่ออกและลุกจากที่นอนไม่ขึ้น

ผมเดินทางมาถึงสนามบินดอนเมืองด้วยสายการบินไทย ในตอนดึกของวันพุธที่ ๒๖ พฤศจิกายน เวลานั้นสนามบินสุวรรณภูมิถูกปิดไปก่อนแล้ว เมื่อเดินออกมานอกอาคารผู้โดยสารขาเข้า พบฝูงชนมากมายปิดกั้นทางออกจากสนามบิน จึงต้องเดินย้อนกลับเข้าไปภายในอาคารอีกครั้ง แล้วใช้บริการรถโดยสารของสนามบินซึ่งจอดรอที่รันเวย์ให้พาไปส่งด้านนอก จากนั้นจึงเรียกแท็กซี่ไปโรงแรมที่พัก

ผมถึงที่พักก่อนเที่ยงคืน รู้สึกเหนื่อยใจเพราะเป็นวันที่ค้นพบว่าองค์กรหนึ่งที่ตนเองทำงานด้วยนั้นไร้จริยธรรม ที่ไม่ดีที่สุดคือรังแกประชาชน การขัดแย้งกับผู้มีอำนาจทำให้คิดถึงคำบรรยายของตนเองเรื่องพัฒนาการเด็ก

เวลาไปบรรยายเรื่องพัฒนาการเด็กที่ใดๆ เมื่อถึงช่วงวัยเด็ก ๓-๕ ขวบ ผมมักบรรยายทำนองนี้เสมอ กล่าวคือเด็กชายจะรักแม่และหึงหวง เด็กชายจะค้นพบด้วยว่าข้างกายแม่นั้นมีคุณพ่อที่แข็งแรงกว่าเขาครอบครองคุณแม่อยู่ เด็กชายค้นพบด้วยว่าคุณพ่อเป็นคู่แข่งที่เขาไม่มีวันเอาชนะได้ คำถามคือแล้วเขาจะทำอย่างไรดี ทั้งหมดนี้คือแนวคิดแบบฟรอยด์

ผมบรรยายเรื่องนี้ให้แก่กลุ่มครูมากที่สุด ซึ่งก็จะถามคุณครูทั้งหลายว่า เวลาเราพบศัตรูที่ไม่มีวันเอาชนะได้ เช่นผู้อำนวยการโรงเรียน เราควรทำอย่างไรดีครับ คำเฉลยคือเป็นพวกเดียวกันกับผู้อำนวยการซะ ด้วยกลไกทางจิตเช่นนี้เอง เด็กชายจึงเลือกที่จะเป็นพวกเดียวกันกับคุณพ่อ เลียนแบบกิริยาท่าทางของคุณพ่อ รวมทั้งดูดซับเอาศีลธรรมจรรยาของคุณพ่อมาเสียด้วย

หลังเที่ยงคืนแล้ว ผมเช็กอีเมลเป็นระยะๆ เพื่อดูว่าจะมีเพื่อนหรือพี่ที่รักส่งเมลมาให้กำลังใจกันบ้างหรือเปล่า หลังจากพบว่าไม่มีและไม่มีทางที่จะมี เพราะเด็กชายจะไม่มีวันได้รับรักจากคุณแม่ เพราะอย่างไรคุณพ่อที่เคียงข้างแม่นั้นทั้งตัวใหญ่กว่า หล่อกว่า ฉลาดกว่า เก่งกว่า และขับรถคันใหญ่กว่า เด็กชายจึงหลับไปด้วยความสงสัยว่าคงถึงเวลาเลียนแบบและเป็นพวกเดียวกันกับคุณพ่อแล้วกระมัง

หลับไปก่อนรุ่งสางไม่นาน ตื่นเช้าวันพฤหัสบดีก็ไปประชุมทั้งวันแล้วกลับมาหลับต่อหลังเที่ยงคืน ก่อนจะตื่นมาในเช้าวันศุกร์ เมื่อเหลือเวลาอีก ๑ ชั่วโมงก่อนการบรรยาย สมองนั้นยังวนเวียนกับความโศกเศร้าเสียใจและสงสัยว่าควรคล้อยตามหรือไม่คล้อยตามผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า

อีก ๔๕ นาทีก่อนการบรรยาย ผมตัดสินใจไปว่ายน้ำ เพราะการว่ายน้ำเป็นวิธีเจริญสติที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง และการเจริญสติเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการหยุดหรือสกัดกั้นความคิดในสมองที่วนเวียนอยู่กับความทุกข์และความเศร้า แม้การว่ายน้ำจะไม่สามารถขจัดปมปิตุฆาต แต่การเจริญสติด้วยการว่ายน้ำน่าจะทำให้เดินลงไปบรรยายที่ห้องประชุมชั้นล่างได้

ผมไม่ได้ว่ายน้ำ แต่ไปเจริญสติด้วยการนั่งมองคลื่นในสระว่ายน้ำแทน อีก ๒๐ นาทีก่อนถึงเวลาบรรยาย ผมจึงแปลงกายใส่สูทผูกเนกไทอย่างรวดเร็วแล้วลงไปทำหน้าที่ บรรยายจบมีคนมาแสดงความขอบคุณอย่างน่าประทับใจแสดงว่าบรรยายได้ไม่เลว

หลังจากบรรยายเสร็จและทราบว่าบินกลับบ้านไม่ได้แน่นอนแล้ว จึงเริ่มกระบวนการหารถเช่า ระยะทางที่ต้องขับไปคือประมาณ ๘๐๐ กิโลเมตร ภาวนาว่าการขับรถทางไกลน่าจะทำให้เด็กชายตัดสินใจได้ว่าควรเลียนแบบคุณพ่อหรือควรเป็นตัวของตัวเอง

ฉากขับรถทางไกลที่ดีที่สุดฉากหนึ่งคือฉากขับรถทางไกลของ ออร์แลนโด บลูม ในหนังเรื่อง Elizabethtown เขาร้องไห้ไปตลอดทางเพราะคิดถึงหญิงอันเป็นที่รักและคุณพ่อที่เขาไม่มีวันเอาชนะได้

ปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นช่วงที่เราจะเห็นดาวศุกร์สุกสว่างที่ขอบฟ้าตะวันตก โดยมีดาวพฤหัสบดีส่องสว่างอยู่เหนือขึ้นไป ผมเห็น ‘วีนัส’ แสนสวยงามนั้นระหว่างขับรถผ่านยอดเขาแห่งหนึ่งที่อุตรดิตถ์ เทพีแห่งความงามยังเพริศพริ้งเสมอ แต่เด็กชายก็มิอาจครอบครองได้เพราะใกล้ๆ กันนั้นเทพ ‘จูปีเตอร์’ ยังคงปรากฏตัวอยู่ แม้สนธยาเยือนและรัตติกาลเข้าปกคลุมแล้ว ดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดีก็ยังคงส่องแสงสว่างกระจ่างตาทางทิศตะวันตกเช่นนั้น ผมขับรถปล่อยความเร็วบนถนนโล่งดำมืด พร้อมทั้งยอมรับความจริงที่ว่า ‘ชะตาฟ้าลิขิต’ ไม่มีวันเลยที่จะได้วีนัสมาครอบครอง นั่นคือไม่มีทางเลยที่เราจะเอาชนะผู้มีอำนาจได้

เพื่อนร่วมงาน ๔-๕ คนที่ทำงานด้วยกันในกรุงเทพมหานคร โทรศัพท์มาหาระหว่างที่ผมขับรถทางไกลกลับบ้าน ทุกคนโทร. มาด้วยความห่วงใยเพราะสังเกตเห็นผมอ่อนเพลียก่อนออกรถ เจ้ากรรมแต่ละคนโทรศัพท์เข้ามาตอนผมขับรถเข้าโค้งบนยอดเขา ถ้าจะตกเขาตายก็เพราะรับโทรศัพท์พวกนี้แหละ

การเดินทางไกลคนเดียวไม่ว่าจะด้วยวิธีใด เป็นการเจริญสติที่ดีมากวิธีหนึ่ง ช่วยให้จิตใจสงบ ตนเองกลับคืนมา ยอมรับความทุกข์หรือความโศกเศร้าเสียใจใดๆ ที่ถาโถมเข้ามาและพร้อมจะอยู่กับอารมณ์เศร้านั้นอย่างเป็นสุข

ขับรถกลับถึงบ้านตอนสี่ทุ่ม ระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตรสุดท้ายก่อนถึงบ้านผมขับช้าเป็นพิเศษ เพราะรู้ว่าตนเองไม่มีแรงแล้ว ความผิดพลาดเพียงนิดเดียวบนท้องถนนประเทศไทยหมายถึงความตายเสมอ เมื่อขับรถผ่านโรงพยาบาลอำเภอพาน ก็นึกถึงเพื่อนแพทย์โรงพยาบาลแห่งนี้ที่รถคว่ำตายเมื่อ ๒๕ ปีก่อน เมื่อขับรถผ่านบริเวณที่เคยเป็นต้นตะเคียนคู่ ก็นึกถึงภาพนักกีฬา ๑๓ ศพที่ตนเองเคยออกมาชันสูตรเมื่อ ๒๕ ปีก่อนเช่นกัน ระลึกได้ว่าตอนนี้ตนเองกลายเป็นคุณหมอที่ทำงานอยู่โรงพยาบาลแห่งนี้นานที่สุด เพราะคนอื่นไม่เกษียณก็ตายหมดแล้ว ก่อนขับรถเข้าบ้าน แวะเติมน้ำมันเต็มถังตรงบริเวณที่เรียกว่าประตูเชียงใหม่ เพื่อที่จะมีโอกาสมองเห็นวีนัสอีกครั้งหนึ่ง

เช้าวันถัดมาเป็นวันเสาร์ นำรถเช่าไปคืนแต่เช้าตรู่ และเริ่มชีวิตประจำวันด้วยความคิดวนเวียนว่าควรคล้อยตามหรือไม่คล้อยตามผู้มีอำนาจ ควรเป็นเด็กชายที่อย่างไรก็ต้องเหมือนคุณพ่อหรือควรเป็นเด็กชายที่ปฏิเสธคุณพ่อชั่วร้าย เมื่อพบว่าสมองวนเวียนไปมากับคำถามเดิมๆ ไม่รู้จบ ก็ถึงเวลาต้องเจริญสติกันใหม่

เดินเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลเช้าวันนั้นด้วยการเจริญสติทุกย่างก้าวตามที่เคยอ่านและเคยทำมา เมื่อสติอยู่กับเท้า ความสงบจึงบังเกิด

หัวค่ำวันเสาร์ผมยืนมองวีนัสและจูปีเตอร์ที่หลังบ้านอีกครั้ง จากนั้นจึงเปิดโทรทัศน์ดูรายการ ‘ดนตรี กวี ศิลป์’ ทางไทยพีบีเอส เพื่อชมคอนเสิร์ต จิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งบรรเลงโดยวงดุริยางค์ซิมโฟนีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จิตรแต่งเพลงไว้มากมาย เพลงส่วนใหญ่เล่าเรื่องความไม่ยุติธรรมในสังคม ยกย่องกรรมชน และปลุกระดมให้ปลดแอก หลายเพลงไพเราะเหลือใจทั้งที่เคยได้ยินเป็นครั้งแรก แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าเพลงเนื้อหาเชิดชูกรรมาชีพและปลุกใจให้ปฏิวัติชนชั้นเหล่านี้กำลังถูกขับร้องโดยเยาวชนยุคสยามพารากอน ถ้าจิตรมาเห็นด้วยตาตนเองคงขำน่าดู แม้ว่าจะปลื้มใจที่เด็กสยามพารากอนเหล่านี้ขับร้องได้ดีเหลือเกิน แล้วก็นึกสงสัยว่าจิตรจะเสียใจไหมหนอที่ต้องตายเพราะความคิดขัดกับผู้มีอำนาจ ทั้งๆ ที่เพียงไม่ถึง ๑ ชั่วอายุคนผ่านไป บทเพลงปฏิวัติของเขากลับได้รับการยอมรับบนเวทีสาธารณะและถ่ายทอดไปทั่วประเทศเช่นนี้

วงดุริยางค์ซิมโฟนี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ บรรเลงเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ เป็นเพลงสุดท้ายก่อนปิดรายการ ทั้งเสียงดนตรีและเสียงเพลงนั้นทรงพลังดังกระหึ่มจนน้ำตาซึม ไม่คิดว่าเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาที่ไหนจะทรงพลังและเชือดเฉือนหัวใจได้มากเท่านี้อีก คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ชอบเพลงนี้มากเป็นที่หนึ่ง คุณหมอสงวนถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๑ ท่านคงนั่งอยู่กับ จิตร ภูมิศักดิ์บนสรวงสวรรค์ ฟังลูกชายผมเล่นไวโอลินบทเพลงนี้อยู่ในคอนเสิร์ตฮอล

ลูกชายของผมเล่นไวโอลินแนวที่ ๑ อยู่ข้างๆ คอนเสิร์ตมาสเตอร์(ผู้เล่นไวโอลินที่นำวงดุริยางค์ซิมโฟนี) เขายังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายและหน้าใสแบบเด็กพารากอนทั่วๆ ไป ผมไม่คิดว่าเขาจะเคยได้ยินเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ผมไม่คิดว่าเขารู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ แต่สังเกตสีหน้าของเขาในโทรทัศน์ เขากำลังมีความสุขล้นเหลือจากสิ่งที่กำลังทำ นั่นคือเล่นไวโอลิน

วินาทีนั้นเอง ผมจึงรู้ว่าลูกไม่ควรเหมือนพ่อ ลูกควรแตกต่าง ลูกไม่ควรสยบต่อผู้มีอำนาจที่มีชื่อเรียกว่าพ่อ เหมือนที่จิตรและสงวนไม่เคยยอมสยบต่ออำนาจใดๆ จิตรและสงวนนั้นแตกต่าง คนที่แตกต่างเท่านั้นจึงสามารถสร้างความแตกต่างให้แก่สังคม นั่นคือสร้างสังคมใหม่ด้วยความรักที่มีต่อความยุติธรรม ความเสมอภาค และความเท่าเทียม

ไดอารีนี้เขียนให้ สารคดี สำหรับวันแห่งความรักที่กำลังจะมาถึงครับ