ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง : รายงาน

netizen01

 

netizen04

วันศุกร์ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๒ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้เข้าจับกุมนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com) เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ออนไลน์ชื่อดัง ด้วยข้อกล่าวหาว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๑) (๓) (๕) และมาตรา ๑๕ จากการ “ให้บริการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)” กรณีที่ผู้ใช้นามแฝงว่า “บัฟฟาโล่บอย” ลงข้อความหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ต้องดำเนินคดีกับผู้ดูแลเว็บไซต์ที่ถูกโพสต์ข้อความ และกับผู้โพสต์ข้อความผิดกฎหมายเอง

เพียง ๕ วันหลังจากนั้น เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (www.midnightuniv.org) เว็บไซต์รวมบทความวิชาการชื่อดัง ได้ขึ้นข้อความตัวใหญ่ที่หน้าแรกเพื่ออ้างอิงถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า นี่คือ “ยุคมืดแห่งการคุกคามสื่อออนไลน์” เพราะจากการติดตามมาโดยตลอด ประชาไทได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น และลบข้อความไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง จึงนับว่านี่เป็นการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของสื่ออย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ ขณะที่หลายคนอาจกำลังใจจดใจจ่อเพื่อฟังข่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยยุบ ๓ พรรคการเมือง ในยามบ่ายวันเดียวกัน ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีคนจำนวนหนึ่งขอเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอย่างเงียบ ๆ ในฐานะผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศ ในการจัดเสวนาหัวข้อ “สิทธิพลเมืองเน็ต และเสรีภาพสื่อออนไลน์ : ปัญหา ข้อท้าทาย และทางออกที่ควรจะเป็น” โดย เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) ซึ่งเป็นเสมือนการเปิดตัวองค์กรอีกทางหนึ่งด้วย

Netizen หรือพลเมืองเน็ต เป็นคำที่ใช้ในบทความของ ไมเคิล ฮอเบน (Michael Hauben) นักเขียนชาวอเมริกัน จากการรวมคำว่า Internet กับ Citizen โดยให้นิยามว่า คือผู้คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตจากทั้งที่ทำงาน บ้าน โรงเรียน และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหา และตระหนักถึงคุณค่าของความรู้และสังคมจากชุมชนในอินเทอร์เน็ตซึ่งเกิดขึ้นได้ทั่วโลก

จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ตในไทย คุณอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล หนึ่งในคณะกรรมการดำเนินงานเครือข่ายพลเมืองเน็ตเล่าว่า ต้องย้อนไปในเหตุการณ์การปิดเว็บไซต์ที่เริ่มมีขึ้นในช่วงต้นปี ๒๕๔๙ จนหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยายนที่มีการปิดมากยิ่งขึ้นถึง ๓๔๔ เว็บ โดยมุ่งเน้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งยังรวมถึงเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นำไปสู่การก่อตั้งกลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย(Freedom Against Censorship Thailand-FACT)นำโดย ซีเจ ฮินเก้ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ว่าในภายหลัง มุมมองและความคิดที่แตกต่างเกี่ยวกับขอบเขตของเสรีภาพทำให้กิจกรรมของกลุ่มค่อย ๆ ลดน้อยลงไปจากเดิม แต่หลายคนในกลุ่มยังเห็นว่าเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตไม่ควรถูกละเลยไปจากสังคม จึงได้พัฒนาต่อยอดเป็นเครือข่ายนี้ขึ้น โดยมีข้อเรียกร้องต่อภาครัฐคือ

๑. รัฐต้องเน้นการกำกับดูแลเพื่อส่งเสริมอิสรภาพการสื่อสารของสื่อออนไลน์มากกว่าการควบคุม โดยต้องสนับสนุนกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและการบังคับใช้กฎหมาย

๒. รัฐสภาควรมีการปรับแก้กฎหมาย “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐” ให้มีความชัดเจนในเรื่องการจำแนก “อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์” ออกจาก “เสรีภาพในการสื่อสาร” ทั้งนี้ควรมีกระบวนการปกป้องสิทธิ
พลเมืองเน็ตและเสรีภาพของสื่อออนไลน์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและหลักการสิทธิมนุษยชนในการสื่อสาร

๓. พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง และสังคม ไม่ควรคุกคามสิทธิพลเมืองเน็ตและเสรีภาพสื่อออนไลน์ ด้วยวิถีทางการเมืองและมาตรการทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งไม่ควรใช้ประเด็นดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทำลายล้างทางการเมืองโดยปราศจากการเคารพหลักการสากลว่าด้วยเรื่องเสรีภาพการสื่อสารผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต

หลายคนอาจมองว่าโลกอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญกับชีวิตประจำวัน แต่จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศที่สูงถึง ๑๔ ล้านคน ทางเครือข่ายจึงเชื่อว่าอินเทอร์เน็ตไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวคนไทยอีกต่อไปแล้ว ยิ่งในสภาพสังคมปัจจุบันที่มีความขัดแย้งกันสูง คนก็ยิ่งอยากแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากขึ้น แต่กลับถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพมากขึ้นตามไปด้วย

สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักวิชาการอิสระ และบรรณาธิการเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ (www.onopen.com) หนึ่งในคณะกรรมการดำเนินงานชี้ให้เห็นว่า พระราชบัญญัติฉบับปัจจุบันนั้นมีจุดเด่นและจุดที่เน้นในการลงโทษผู้กระทำผิด แต่ขณะเดียวกันกลับเป็นการลิดรอนเสรีภาพและความลื่นไหลของข้อมูลข่าวสารสำหรัประชาชน ซึ่งความเป็นจริงแล้วการเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระในสังคมอินเทอร์เน็ตจะมีการจัดกฎระเบียบขึ้นมาเองอยู่แล้ว

ทั้งนี้ เครือข่ายพลเมืองเน็ตไม่ได้ต้องการสนับสนุนให้มีเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาลามกอนาจารหรือการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่พยายามหาจุดร่วมกับภาครัฐ เพราะเห็นว่าข้อบังคับต่าง ๆ ควรมีรายละเอียดที่ชัดเจนว่าเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาและการนำเสนอในลักษณะใดบ้างที่สามารถเรียกได้ว่าทำผิดจริง เพราะไม่เช่นนั้นกฎหมายจะกลายเป็นเพียงเครื่องมือของข้าราชการและนักการเมืองในการปิดปากผู้มีความเห็นต่าง ซึ่งเป็นเช่นนี้มาตลอดในประวัติศาสตร์ไทย

สุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมทางสังคมด้านการปฏิรูปสื่อ ผู้เคยถูกฟ้องหมิ่นประมาทเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน ๔๐๐ ล้านบาท จากการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้สรุปบทเรียนครั้งนั้นว่า “ภาระการถูกฟ้องและค่าใช้จ่ายอยู่ที่ตัวจำเลย แม้ชนะคดีแล้วก็ไม่ได้อะไรกลับคืนมานอกจากเสรีภาพ ขณะที่โจทก์ผู้ฟ้องแม้จะแพ้คดีก็ไม่ได้เสียอะไร คนมีอำนาจจึงมักใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างความชอบธรรมให้กับตน”

netizen03

เว็บไซต์ 212cafe

อีกกรณีตัวอย่างที่ถูกตั้งคำถามในการเสวนาครั้งนี้คือ การสั่งปิดเว็บไซต์ 212cafe (www.212cafe.com) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการกระดานข่าว รวมถึงเครื่องมือและพื้นที่สร้างชุมชนต่าง ๆ บนเว็บไซต์ฟรี

ปัจจุบัน 212cafe มีสมาชิกผู้ใช้บริการเฉพาะกระดานข่าวถึง ๒๙,๘๘๒ คนจากหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่โรงเรียน สถานศึกษา วัด และอีกหลายหน่วยงาน เริ่มต้นนั้นทางเว็บไซต์ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ให้ปิดเว็บไซต์ จากการที่มีผู้ใช้บริการเว็บไซต์คนหนึ่งนำคลิปวิดีโออนาจารไปเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม หลังจากทำการค้นหาคลิปดังกล่าวจนพบและทำการปิดกั้นไปเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๑ พร้อมทั้งได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ไปเรียบร้อยแล้ว ต่อมาวันที่ ๒๒ พฤษภาคมปีเดียวกัน เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาที่สำนักงานเพื่อยื่นหมายจับ จากการขยายผลการสอบสวนแล้วใช้กระบวนการทางกฎหมายตามขั้นตอนดำเนินคดีกับผู้ให้บริการเว็บไซต์ตามการบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ หมวด ๑ ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา ๑๕ ว่า “ผู้ให้บริการผู้ใดจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ [(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้] ในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความควบคุมของตน ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๑๔ (จำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑ แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)”

ศิริพร สุวรรณพิทักษ์ เจ้าของบริษัทอีคอมมีเดีย จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์ 212cafe และเป็นกรรมการบริหารสมาคมเว็บมาสเตอร์แห่งประเทศไทย ตั้งข้อสงสัยกับการจับกุมครั้งนี้ เพราะได้รับการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่เพียงเท่านั้น โดยไม่ได้รับแจ้งลิงก์ URL ซึ่งเผยแพร่ภาพที่เป็นปัญหาดังกล่าวเลย ซ้ำเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนกลับถูกจับกุม จนทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อมาตราดังกล่าวว่า “หากใครต้องการสร้างความเดือดร้อนให้กับเว็บไซต์ก็สามารถทำได้โดยง่าย ด้วยการลงข้อความหมิ่นประมาทหรือภาพอนาจารในเว็บไซต์นั้น ๆ แล้วไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจใช่หรือไม่ ?”

หลังถูกดำเนินคดี อุษณีย์ จิตตะมาก ภรรยาของศิริพรกล่าวว่า ทางเว็บไซต์ต้องตัดสินใจเลือกลบข้อความและเนื้อหาที่มีสิทธิ์จะเข้าข่ายผิดข้อบังคับอย่างเข้มงวด ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญของความคลุมเครือในพระราชบัญญัติดังกล่าว คือเป็นการผลักผู้ดูแลเว็บไซต์ให้เซ็นเซอร์ตัวเอง (Self-censor) ทำให้สังคมอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยความหวาดกลัว แทนที่จะเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ

หลายคนยังเสริมตรงกันว่า ในหลายประเทศข่าวสารที่ได้รับความสนใจมากที่สุดกลับเป็นบล็อกจากนักข่าวพลเมืองนั่นเอง จุดเด่นที่ต่างจากสื่อกระแสหลักปัจจุบันคือ ในขณะที่สื่อต่าง ๆ มักเลือกข่าวเด่น ๆ เนื่องจากข้อจำกัดของเวลาในการเผยแพร่ พื้นที่ไม่จำกัดของบล็อกหรือเว็บไซต์นั้นสามารถนำเสนอข่าวกระแสรอง หรือข่าวดังกล่าวในมุมมองอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้ยังสามารถแสดงความคิดเห็นหรือความคับข้องใจต่าง ๆ ที่มีต่อสังคมได้อีกด้วย คนยุคใหม่หลายคนจึงยินดีอ่านข้อเขียนเหล่านี้โดยไม่ได้สนใจว่าจะมาจากสื่อที่มีชื่อเสียงหรือไม่ ตราบใดที่มันมีข้อเท็จจริงทั้งเนื้อหาและภาพได้น่าเชื่อถือเพียงพอ

เห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเว็บไซต์ประชาไทยังคงสะท้อนปัญหาของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ว่าไม่มีความเข้าใจลักษณะธรรมชาติของสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะการไม่ได้แจ้งเตือนข้อความผิดกฎหมายกับผู้ดูแลเว็บไซต์เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนเพื่อทำการลบทิ้ง แต่กลับดำเนินการจับกุมเลย

netizen02

เว็บไซต์ของ Thainetizen

ท่ามกลางความคุกรุ่นทางการเมืองเช่นในปัจจุบัน เครือข่ายพลเมืองเน็ตอาจจะยังไม่สามารถชูประเด็นต่าง ๆ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก แต่ก็ได้มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเปิดเว็บไซต์ thainetizen.org เสนอข่าวสารของเครือข่ายและปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพในอินเทอร์เน็ต การมีส่วนร่วมจัดตั้งเครือข่ายครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทย (Creative Commons Thailand Network) เพื่อส่งเสริมให้งานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่มีลิขสิทธิ์เผยแพร่ไปในสังคมไทยโดยเสรี ได้รับการพัฒนาต่อยอด และคุ้มครองสิทธิของผู้สร้างงานอย่างเหมาะสม จัดตั้งกองทุนและเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายต่อพลเมืองเน็ตที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าว เป็นต้น

และหลังการจับกุม น.ส. จีรนุชแห่งประชาไท ทางเครือข่ายพลเมืองเน็ตได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อหารือเรื่องนโยบายการปราบปรามและดูแลเว็บไซต์ พร้อมยื่นหนังสือเสนอให้รัฐยุตินโยบายการคุกคามสื่อออนไลน์และจัดระบบและโครงสร้างการทำงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการกำกับดูแลสื่อและชุมชนออนไลน์

แม้นี่จะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเครือข่ายพลเมืองเน็ต แต่ก็ถือเป็นอีกกลุ่มที่ออกมาขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชนด้วยความเชื่อในสิทธิเสรีภาพของตนว่าจะมีพลังเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐ ทั้งยังเป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่า แม้จะเป็นพลเมืองในโลกเสมือนก็มีจุดยืน

และใช่ว่าพวกเขาจะไร้ตัวตน

ขอขอบคุณ :

  • คุณอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล คณะกรรมการดำเนินงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต
  • เว็บไซต์เครือข่ายพลเมืองเน็ต (thainetizen.org)
  • เว็บไซต์ประชาไท (prachatai.com)
  • เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (midnightuniv.org)