เรื่องและภาพ สุเจน กรรพฤทธิ์
คอลัมน์ ASEAN Youth
อนาคตอาเซียนในมือ “คนรุ่นใหม่”

levonnegoh

“ฉันเป็นคนสิงคโปร์เชื้อสายจีนฮกเกี้ยน เกิด ค.ศ. ๑๙๙๖ ภาษาที่พูดได้ภาษาแรกคือภาษาจีนกลาง เพราะต้องสื่อสารกับตายาย ภาษาต่อมาคือภาษาอังกฤษที่ใช้พูดกับพ่อและแม่ปรกติในสิงคโปร์เราใช้ภาษาทางการสี่ภาษา คือ อังกฤษ จีน มลายู และทมิฬ คนสิงคโปร์มีหลายเชื้อชาติ พูดหลายภาษา ภาษากลางคือภาษาอังกฤษ ศาสนาก็เช่นกัน บางคนไม่นับถือศาสนา ลูกก็อาจนับถือศาสนาต่างจากครอบครัว ทั้งหมดเป็นเรื่องปรกติในสิงคโปร์ ความแตกต่างคือวัฒนธรรมและสีสันของเรา”

“โรงเรียนในสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับผลการเรียนมาก  ครอบครัวฉันจะไม่ได้กดดันอะไร  แต่กลายเป็นฉันกดดันตัวเองช่วงเรียนมัธยมฯ เพราะอยู่ในโรงเรียนอันดับ ๖ ของประเทศ ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยมีโอกาสทำความรู้จักเมืองไทยตอนอายุ ๑๑ ขวบ เพราะครอบครัวไปเที่ยวกรุงเทพฯ และพัทยา แต่ก็จำอะไรไม่ได้มากนอกจากพ่อแม่ไปซื้อของที่ตลาดนัดจตุจักร”

“พอเรียนจบมัธยมฯ ฉันสอบ A Level เลือกมหาวิทยาลัย ต้องอธิบายว่าในสิงคโปร์ คนที่อยากเรียนวิศวกรรมศาสตร์มักสมัครมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง
(Nanyang Technological University - NTU) คนที่อยากเรียนสังคมศาสตร์มักจะสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore - NUS) ฉันเป็นกลุ่มหลัง พอเข้าปี ๑ ทุกคนจะเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกันก่อนที่จะเลือกสาขาวิชาตอนปี ๒”

“ฉันเริ่มเรียนภาษาไทยที่นี่เพราะอยากเรียนภาษาในภูมิภาค มีให้เลือกสามภาษา คือ ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่เลือกภาษาไทยเพราะมีเอกลักษณ์ของ
ตัวเอง มีตัวอักษรต่างจากภาษาอื่น อีกทั้งในสิงคโปร์อาหารไทยก็ได้รับความนิยมมาก  ตามหลักสูตรจะมีวิชาเรียนทั้งหมด หกตัว คือ Thai 1-6 สำหรับฉันตัวที่ ๑-๒ ยากที่สุดเพราะต้องฝึกอ่านออกเสียง ฝึกพูด พอเรียน Thai 3-4 จะเน้นอ่านเขียนเรียงความ พูดหน้าห้อง อ่านหนังสือนอกเวลา พอเรียน Thai 5-6 จะอ่านหนังสือภาษาไทยที่ยากขึ้น ฉันได้อ่านหนังสือ คนไกลบ้าน : คำให้การของคนไทยในสิงคโปร์ (พัฒนา กิตติอาษา) เป็นเรื่องของแรงงานไทยในสิงคโปร์ ทำให้ฉันตกใจว่ามีเรื่องแบบนี้ด้วย นอกนั้นก็เป็นพวกนิยายสั้น ๆ”

“นอกจากเรียนภาษาไทย ฉันยังดูละครโทรทัศน์ไทยที่มีคนเอาไปลงในเว็บไซต์ยูทูบพร้อมคำบรรยายภาษาอังกฤษด้วยเช่น ปัญญาชนก้นครัว  ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น  ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์  จุดเด่นของละครไทยคือมีบทพูดเป็นธรรมชาติ แต่ละครสิงคโปร์จะมีบทพูดที่เป็นทางการ นั่นทำให้ละครไทยน่าดูกว่า”

“พอขึ้นปี ๒ ตัดสินใจเรียนภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เหตุผลที่เลือกส่วนหนึ่งมาจากการไปทำงานอาสาสมัครในไทยช่วงปิดภาคการศึกษาของปี ๑ ตอนนั้นฉันเรียนภาษาไทยแค่ตัวแรกแล้วไปร่วมกิจกรรมกับชมรม AIESEC องค์กรนักศึกษานานาชาติที่มีโปรแกรมทำกิจกรรมอาสาในต่างประเทศ ฉันเลือกมาเมืองไทยเพราะอยากรู้จักประเทศไทยให้มากกว่ากรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยาเลยถูกส่งไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษระดับประถมฯ ที่โรงเรียนบ้านหนองโสน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร เป็นเวลา ๖ สัปดาห์ จำได้ว่าบินไปกรุงเทพฯ อยู่ได้ ๓ วันก็นั่งรถไปพิจิตร  เพื่อนร่วมรุ่นมี ๓๐ คน ยี่สิบคนถูกส่งกระจายไปตามโรงเรียนต่าง ๆ ในพิจิตร  ฉันอยู่กับเพื่อนชาวจีนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนคนหนึ่ง  ตอนสอนต้องพยายามสื่อสารมากเพราะเราพูดไทยไม่คล่อง ต้องใช้ภาษามือช่วย คนท้องถิ่นก็ใช้ภาษาอังกฤษได้จำกัดครั้งหนึ่งเคยออกเสียงคำว่า ‘กล้วย’ เพี้ยนจนนักเรียนหัวเราะทั้งห้อง แต่พวกเขาก็สนุกเพราะได้สัมผัสคนต่างชาติที่พูดไทยแบบแปลก ๆ”

“ฉันกับเพื่อนอาศัยอยู่บ้านพักครู อุปสรรคก็มี เช่นห้องน้ำที่แซวกันว่า ‘กึ่งอัตโนมัติ’ เพราะเป็นโถส้วมแบบตักน้ำราดซึ่งสิงคโปร์ไม่มีแล้ว  อาหารพอกินได้ถ้าไม่เผ็ดมาก มีบ้างที่เพื่อนครูพาไปเลี้ยงส้มตำ ข้าวเหนียวมะม่วง  สิ่งที่พบคือกรุงเทพฯ ต่างกับเมืองอื่น ๆ ทั้งในแง่ กายภาพและโอกาส  ที่อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร มีแต่ไร่และนาข้าว พอฝนตกไฟฟ้าดับบ่อย ช่องว่างทางเศรษฐกิจก็ชัดเจน ครั้งหนึ่งเราตกใจมากที่เห็นครูคนหนึ่งกินข้าวคลุกน้ำปลาโดยไม่รู้สึกอะไรก็มี”

“กระทั่งในกรุงเทพฯ ฉันก็มองว่ามีปัญหา โดยเฉพาะมลภาวะ ตึกในกรุงเทพฯ เป็นตึกอย่างเดียว ต่างกับในสิงคโปร์ที่ตัวตึกทำสวนแนวดิ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว กรุงเทพฯ จึงมีพื้นที่สีเขียวน้อย รถยนต์ในกรุงเทพฯ ก็ไม่จอดให้คนข้ามตรงทางม้าลาย  ในเมืองไทยสิ่งที่ชอบคือแกงเขียวหวาน ไม่ชอบคือคนไทยชอบยิ้มไว้ก่อน แต่ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เพราะเขาไม่พูดอย่างตรงไปตรงมา แต่นี่อาจจะเป็นนิสัยของคนเอเชียด้วยก็เป็นได้”

“การไปทำงานอาสาในเมืองไทยทำให้ฉันรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักทำงานกับคนอื่น สนใจประเด็นการพัฒนาในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ประสบการณ์ที่ไทยทำให้เลือกเรียนอุษาคเนย์ศึกษา นอกจากเรียนเรื่องวัฒนธรรมฉันเรียนศิลปะไทย ทำให้มีโอกาสวาดภาพด้วยลายเส้นไทย ฉันไม่เรียนประวัติศาสตร์เพราะเข้าใจว่ามีแต่เรื่องสงคราม  ถึงตอนนี้เรียนภาษาไทยมาถึงตัวที่ ๕ แล้วฉันยังหาเวลาเรียนภาษาอารบิก (อาหรับ) เพิ่ม  สรุปแล้วตอนนี้พูดได้หกภาษา คือ จีนกลาง จีนฮกเกี้ยน อังกฤษ ไทย และได้ภาษาเกาหลีกับอารบิกนิดหน่อย”

“ตอนนี้ฉันเรียนปี ๓ พอขึ้นปี ๔ ตั้งใจทำสารนิพนธ์เกี่ยวกับ drag queen (ร้อยละ ๙๐ คือเกย์ที่แต่งเป็นผู้หญิงแต่คำจำกัดความนี้ไม่ตายตัว) หรือไม่ก็ศิลปะไทย เรียนจบแล้วคงหางานในองค์กรระหว่างประเทศด้านการพัฒนาทำสักพัก เช่นโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่มีสำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในกรุงเทพฯ ก่อนจะไปเรียนต่อ ”

“ที่คิดแบบนั้นอาจเพราะเราคุ้นกับเมืองไทย คนไทยพอสมควรแล้ว”

* Levonne Goh – นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Faculty of Arts and Social Sciences - FASS)
มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

  • ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 399 พฤษภาคม 2561