เรื่องและภาพ : ปริญญากร วรวรรณ

peacock01

นกยูงไทย

เดือนพฤศจิกายน สายฝนจากไป ลมหนาวเข้าครอบคลุมผืนป่า นกยูงตัวผู้ซึ่งสลัดขนหางยาวๆ ทิ้งไปตั้งแต่ราวๆ เดือนกุมภาพันธ์กลับมามีขนหางอันยาวสลวยอีก ส่วนใหญ่แล้วนกยูงตัวผู้จะจับจองอาณาเขตเล็กๆ ริมลำห้วยไว้เพื่อเป็นสถานที่รำแพงอวดความแข็งแรงให้ตัวเมียเลือกเป็นพ่อของลูก

นกยูงตัวผู้หางยาวสลวยตัวหนึ่งซึ่งกำลังเดินตรงมาที่หาดทรายริมลำห้วย หยุดชะงัก ย่อขาลงหมอบนิ่ง หันหน้ามองด้านซ้ายและขวา ก่อนจะลุกขึ้นหันกลับ เดินอย่างรวดเร็วกลับเข้าชายป่าตรงด่านเล็กๆ ที่เดินออกมาในทันทีที่ได้ยินเสียงร้องจากนกจาบคาเคราน้ำเงินตัวหนึ่ง

นกจาบคาเคราน้ำเงินตัวนั้นเกาะอยู่บนกิ่งไม้เหนือซุ้มบังไพรที่ผมซ่อนตัวอยู่ ซุ้มบังไพรกั้นอย่างมิดชิดทั้ง ๔ ด้าน แต่ด้านบนเปิดโล่ง นกยูงและสัตว์อื่นๆ ที่เดินมาทางพื้นดินจะมองไม่เห็นผม แต่ไม่ใช่นกจาบคาเคราน้ำเงินที่เกาะอยู่เบื้องบน

วันนั้นผมได้ความรู้บทใหม่ รู้ว่าสัตว์ป่าไม่ได้อยู่กันอย่างโดดเดี่ยว พวกมันอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยโดยไม่พึ่งพาเฉพาะเผ่าพันธุ์เดียวกัน

การทำงานคราวนั้น ผมได้รูปนกยูงตัวผู้หางยาวสวยงามมาบ้าง

ได้รูปนกยูง แต่ตัวนกยูงผมไม่ได้รู้จักเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด

. . .

งานของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำในห้วงเวลาหลังๆมานี้ นอกจากการติดตามเสือโคร่งโดยจับเสือโคร่งติดสัญญาณวิทยุแล้ว งานวิจัยหลักอีกอย่างหนึ่งคือการวางกล้องดักถ่ายภาพเสือโคร่งในทุกพื้นที่ของป่าห้วยขาแข้ง รวมทั้งผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งด้านตะวันออกและตะวันตก

หลายปีมาแล้วที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำได้รับความร่วมมือจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย วางกล้องดักถ่ายภาพเพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่ง

ภาพเสือถูกนำมาตรวจสอบลายขน เสือแต่ละตัวมีลายขนแตกต่าง นั่นทำให้การตรวจสอบจำนวนเสือที่บันทึกภาพได้แม่นยำ

“ตอนแรกๆ เราได้เสือไม่กี่ตัวหรอกครับ” สมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำคนปัจจุบัน ในฐานะผู้ควบคุมโครงการวางกล้องดักถ่าย เล่าให้ผมฟัง

“เราสำรวจในพื้นที่เพื่อหาร่องรอยตามด่าน เส้นทางเดินของสัตว์ป่า ประกอบกับการดูพื้นที่ในแผนที่ ในพื้นที่ราวๆ ๕๐ ตารางกิโลเมตรซึ่งเป็นอาณาเขตของเสือโคร่งตัวเมียตัวหนึ่ง เราพยายามวางกล้อง ๑ ตัว และบริเวณรอบๆ อีก” สมโภชน์อธิบาย

การกำหนดจุดตั้งกล้องในพื้นที่ป่าในระยะห่างกันราว ๓ กิโลเมตรนั้นไม่ใช่งานง่ายๆ ของเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานนี้

นอกจากจะต้องอ่านแผนที่แม่นยำ ใช้เครื่องมือบอกพิกัดสัญญาณผ่านดาวเทียม (GPS) คล่องแคล่วแล้ว พวกเขายังต้องมีทักษะในการดูร่องรอยของเสือโคร่ง เช่น รอยตีน รอยคุ้ย รวมทั้งรอยสเปรย์หรือฉี่ที่เสือพ่นติดไว้ตามต้นไม้

หลายๆ ครั้งมุ่งไปถึงจุดหมายคือจุดตั้งกล้องซึ่งไม่เคยไปมาก่อน เป็นจุดที่กำหนดมาในแผนที่ แต่ไม่มีด่าน ไม่มีร่องรอยสัตว์ป่าอื่นๆ หรือเสือเลย พวกเขาต้องสำรวจรอบๆ ใหม่ บางครั้งจุดที่เหมาะสมอาจห่างจากจุดที่กำหนดมากว่า ๑ กิโลเมตร

“ทำมา ๕ ปี เด็กพวกนี้เริ่มมีประสบการณ์และชำนาญมากขึ้นแล้วครับ” สมโภชน์พูดถึงเจ้าหน้าที่ของเขาด้วยน้ำเสียงภูมิใจ

. . .

ปลายเดือนธันวาคม

เป็นเวลาร่วมเดือนแล้วที่เราอยู่ในป่าทางตอนใต้ของลำน้ำขาแข้งเพื่อภารกิจวางกล้องดักถ่าย

กล้องแต่ละตัวจะติดตั้งอยู่ในตำแหน่งเดิมตัวละ ๑๕ วัน และทุกตัวจะต้องได้รับการตรวจเช็ก ๑ ครั้งในรอบ ๓ วัน

ตั้งแต่เช้าทุกคนจะแยกย้ายไป แคมป์จะเงียบเหงาไปตลอดวัน บรรยากาศจะคึกคักขึ้นบ้างในช่วงเย็นๆ

เรามีรถออกไปซื้อเสบียง ๑๐ วันต่อ ๑ ครั้ง อาหารจึงมักหรูในช่วงแรกๆ ส่วนวันหลังๆ นั้น วุ้นเส้นผัดปลากระป๋อง ปลากระป๋องผัดวุ้นเส้น รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผัด คือเมนูหลักๆ

ผู้ชายหลายคนอยู่ร่วมแคมป์เดียวกัน เรื่องพูดคุยนั้นหมดไปนานแล้ว หรือหากมีก็เป็นเรื่องหรือมุกตลกซ้ำๆ และเราก็หัวเราะกับมุกซ้ำๆ นี่แหละ หลายคนจึงมีอาการต่างๆ บางคนนั่งดูมด บ้างดูนกกลางคืน อ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำไปซ้ำมาและบางคนขึ้นเปลนอนตั้งแต่ยังไม่หนึ่งทุ่ม

อากาศปลายเดือนธันวาคมหนาวยะเยือก แสงจันทร์กระจ่างนวล กองไฟเป็นสถานที่เดียวที่ให้ความอบอุ่น เครื่องดื่มร้อนๆ ของเราคือน้ำข้าวใส่น้ำตาลซึ่งให้รสชาติไม่แพ้เครื่องดื่มอื่นๆ

ปัญหาใหญ่ที่เราพบเสมอๆ เวลาไปตรวจสอบกล้องคือช้าง

พวกช้างไม่ลังเลที่จะทำลายกล้องทุกครั้งที่พวกมันโดนบันทึกภาพ กล่องเหล็กที่เราใช้และเอากล้องใส่ไว้ข้างในป้องกันความเสียหายได้บ้าง แต่ก็ต้องปรับ รวมทั้งติดตั้งใหม่ทุกครั้ง

จากกล้องดักถ่าย เราได้ภาพสัตว์อื่นอีกมาก…กระทิง วัวแดง สมเสร็จ เสือดาว ฯลฯ

และบางครั้งคือภาพคนลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ป่า รวมทั้งภาพพระธุดงค์

แต่นั่นแหละ ปัญหาใหญ่ของเราคือช้าง นอกจากทำลายกล้อง การต้องวิ่งหนีช้างบางตัวที่ดูเหมือนจะอารมณ์เสียเสมอๆ ก็ไม่ใช่เรื่องสนุกสนานเอาเสียเลย

. . .

ทุกๆ วันเราต้องเดินป่าร่วมๆ ๑๐ กิโลเมตร

การใช้ด่านหรือทางสัญจรที่สัตว์ป่าใช้ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะพบเจอกับเจ้าของเส้นทาง

นอกจากช้าง สัตว์อีกชนิดที่เราพบทุกๆ วันคือนกยูง ในฤดูนี้นกยูงที่พบมักเป็นฝูงใหญ่ ในจำนวนหลายๆ ตัวนั้นโดยมากจะเป็นตัวเมีย มีตัวผู้อยู่เพียงตัวเดียว ช่วงเวลานี้ไม่เป็นการยากที่จะแยกระหว่างนกยูงตัวเมียและตัวผู้ เพราะตัวผู้จะมีหางยาว

ในช่วงเวลาหลังจากเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อนกยูงตัวผู้สลัดขนหางยาวๆ ทิ้งแล้ว ไม่ง่ายเลยที่จะดูว่าตัวไหนเป็นตัวผู้หรือตัวเมียเมื่อพบพวกมันอยู่ข้างๆ ทาง

นกยูงตัวผู้ใช้ขนหางอันยาวสลวยสำหรับรำแพนอวดความแข็งแรงเพื่อให้ตัวเมียเลือก

หางสวยๆ เป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่ง เมื่อหมดภารกิจก็ถูกสลัดทิ้งไป

ดูเหมือนมันจะไม่ได้อาลัยกับหางสวยๆ ที่มีไว้เพื่อแสดงตัวตนแต่อย่างใด

ครั้งที่มีโอกาสเห็นและบันทึกภาพนกยูงในครั้งแรก ผมเห็นเพียงความงดงามของนกยูงตัวผู้

สิ่งที่เห็นนั้นคล้ายจะไม่ใช่สิ่งที่มันเป็นแต่อย่างใด

หลายเดือนแล้วที่ผม “ตาม” เสืออย่างจริงจัง

อาจด้วยวิถีของเสือ

จึงทำให้ผมรู้จักนกยูง