เรื่อง : หอยทากตัวนั้น

greenbook1

หนังสือ The Green Book บอกกล่าวอย่างชัดเจนว่า “ภายในเล่มใช้กระดาษรีไซเคิลแบบโพสต์คอนซูเมอร์ แทนที่จะใช้กระดาษใหม่ จึงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม…ได้ดังนี้ ต้นไม้ : ๑๗ ต้น ของเสียที่เป็นของแข็ง : ๑,๐๘๐ ปอนด์ น้ำ : ๑๐๑๙๕ แกลลอน อนุภาคแขวนลอยในน้ำ : ๖.๘ ปอนด์ อากาศเสีย : ๒,๓๗๒ ปอนด์ กระดาษ ๑ ตันใช้พิมพ์ The Green Book ได้ ๔,๐๐๐ เล่ม ปกก็ผลิตจากกระดาษรีไซเคิลชนิดโพสต์คอนซูเมอร์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เช่นกัน นั่นหมายความว่า ไม่มีการตัดต้นไม้ใหม่ > ค่าความเป็นกรดด่าง เป็นกลาง > ปลอดคลอรีน > เก็บรักษาได้ > ไม่มีกรด”

คุณจ๋า

ความสุขของนักอ่านและคนรักหนังสือที่เป็นสากลอย่างหนึ่งนั้น

น่าจะเป็นการเดินเข้าร้านหนังสือที่โปรดปราน แล้วถูกห่อหุ้มด้วยบรรยากาศที่หนังสือหลายร้อยหลายพันเล่มปล่อยแรงสั่นสะเทือนของตัวเองออกมาอย่างสงบนิ่งสุขุม เป็นการละเลียดหยิบจับหนังสือใหม่ เล่มโน้นเล่มนี้ขึ้นเปิดอ่านเปิดชมเปิดดมอย่างอิ่มเอม

ไม่ว่าจะซื้อกี่เล่ม หรือแม้ไม่ได้อะไรติดมือมาเลย ร้านหนังสือก็เป็นสวรรค์ของคนรักหนังสือเสมอ

มันเลยเป็นความจริงที่ไม่สะดวกจะฟัง เมื่อใครสักคนพูดโพล่งขึ้นมาว่า ร้านหนังสือคือ “ป่าที่ตายแล้ว” เพราะสิ่งที่บรรจุอยู่ในร้านหนังสือคือเซลลูโลสของต้นไม้จำนวนมหาศาลที่ถูกตัดโค่น ถูกบด ถูกตี เป็นเยื่อละเอียด ถูกฟอกสีด้วยคลอรีน ถูกใส่สารเคมีต่างๆ ถูกย้อมให้มีสีนวลตา ถูกพ่นเป็นแผ่น รีด อบ ม้วน ตัด ถูกพิมพ์ด้วยหมึก ไสกาว เข้าเล่ม เจียน บรรจุหีบห่อ ขนส่ง ก่อนถูกจัดเรียงขึ้นหิ้งอย่างเรียบร้อย และปล่อยแรงสั่นสะเทือนอย่างสงบเร้าใจคนรักหนังสือ

หนังสือเล่มหนึ่ง ตลอดจนร้านหนังสือทั้งร้าน จึงมีหลายใบหน้า แล้วแต่ใครจะเห็น ในชาตินี้มันอาจเป็นแหล่งความรู้ ปัญญา บันเทิง กระทั่งยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ แต่ในชาติก่อนหนังสือแต่ละเล่มเคยเป็นต้นไม้ บ้านของสัตว์น้อยใหญ่ เป็นสมาชิกหนึ่งในระบบนิเวศที่มีหลากหลายสายพันธุ์ เป็นแหล่งพึ่งพาของชาวบ้านและชนเผ่าที่อาศัยใกล้หรือในป่า

ภายใต้ใบหน้านี้ คุณผู้อ่านไม่จำเป็นต้องนั่งไทม์แมชชีนก็อาจเห็นชาติก่อนของหนังสือได้อย่างกระจ่างต่อหน้า

“ไม่มีใครเลยที่อยากคิดว่าต้นไม้ทั้งหลายถูกโค่นลง พวกเราหลายคนมีภาพง่ายๆ สบายๆ ในหัวว่า หนังสือมาจากการรีไซเคิลหรือมาจากป่า ‘ยั่งยืน’ ที่ปลูกอย่างเป็นระเบียบ อาจจะที่ไหนสักแห่งในสวีเดน มันเป็นมายาคติ ร้อยละ ๗๐ ของกระดาษ ๓๓๕ ล้านตันที่ใช้กันทั่วโลกมาจากป่าธรรมชาติที่ไม่ใช่ป่าปลูก ในแคนาดา กระดาษร้อยละ ๙๐ มาจากป่าโบราณโดยตรง”

แมนดี แฮกกิท สาวนักอนุรักษ์ชาวอังกฤษที่เดินทางทั่วโลกเพื่อดูสภาพป่าในประเทศต่างๆ ผู้เขียนหนังสือ Paper Trails (เส้นทางกระดาษ) ได้ริเริ่มรณรงค์ให้คนทั่วไปเห็นว่า ตลอดชีวิตนี้เราใช้กระดาษทิ้งขว้างขนาดไหน

แมนดีพูดไว้ถูกแล้ว และสิ่งที่เธอพูดเป็นความจริงเพียงหนึ่งเสี้ยวของเรื่องราวทั้งหมด

วงการกระดาษรู้ดี และมีหลายคนอยากเปลี่ยนแปลง เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๒ ที่แคลิฟอร์เนีย “เครือข่ายกระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อม” ได้ประชุมและประกาศ “วิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมกระดาษ” (A Common Vision for Transforming the Paper Industry) ยอมรับว่า “เยื่อกระดาษ กระดาษ การบริโภคกระดาษ และการทิ้งกระดาษ มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมหลายประการ อุตสาหกรรมการผลิตเยื่อกระดาษและทำกระดาษเป็นหนึ่งในบรรดาตัวการสำคัญที่สร้างมลพิษทางอากาศและน้ำ สร้างขยะ และก๊าซต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ใช้วัตถุดิบอย่างน้ำจืด พลังงาน และเส้นใยจากป่า”

คำประกาศดังกล่าวสอดคล้องกับความจริงที่ว่า อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษเป็นผู้บริโภคน้ำรายใหญ่ที่สุดในกิจการของกลุ่มประเทศ OECD* แถมยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดเป็นอันดับ ๓ รองจากอุตสาหกรรมเคมีและเหล็กกล้า

ไอ้หยา…ไม่น่าเชื่อ ไม่อยากเชื่อ

“วิสัยทัศน์ฯ” ฉบับดังกล่าวตระหนักถึงป่าอย่างที่เป็นมากกว่า “สถานที่ที่มีแต่ต้นไม้” ด้วยการบอกอย่างชัดเจนว่า “ป่ามีความสำคัญมากต่อน้ำและอากาศที่สะอาด เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าและพรรณพืช ช่วยรักษาภูมิอากาศ จิตวิญญาณ การพักผ่อน และความอยู่รอดทางวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ รวมทั้งป่าเก่าแก่และมีความสำคัญทางระบบนิเวศกำลังถูกถางทำลายเพื่อเอาเส้นใย ป่าหลายแห่งกำลังถูกปรับให้โล่งเตียนเพื่อปลูกต้นไม้ที่ลดคุณค่าทางระบบนิเวศ ทั้งยังใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช… อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและทำกระดาษยังส่งผลกระทบต่อสุขภาวะและเสถียรภาพของชุมชนท้องถิ่น”

นั่นเป็นทั้งหมดที่แลกกับหนังสือซึ่งคนทั่วโลกอ่านกัน

และ “วิสัยทัศน์ฯ” ฉบับนี้ยังพูดต่ออย่างตรงไปตรงมาด้วยว่า “ขณะที่กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษสร้างผลประโยชน์ต่างๆ ให้มากมาย เพราะความต้องการกระดาษที่เพิ่มขึ้นในสังคม ซึ่งมาพร้อมกับ ‘รอยตีนฝากโลก’ ขนาดใหญ่สุดทนของอุตสาหกรรมประเภทนี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากในการเปลี่ยนแปลงการผลิตและการบริโภคกระดาษของโลกไปในทิศทางที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมและระบบนิเวศ”

จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ผู้ผลิตกระดาษและสำนักพิมพ์หลายต่อหลายแห่งได้ลงนามแสดงเจตจำนงใน “วิสัยทัศน์ฯ” ซึ่งตั้งใจจะนำแนวทางที่คิดกันไว้สู่การลงมือทำจริงๆ

greenbook2

หนังสือ โลกใบเขียวของคิ้วหนา เป็นหนังสือเล่มแรกของมูลนิธิโลกสีเขียวที่ใช้หมึกถั่วเหลืองพิมพ์ทั้งเล่ม และใช้กระดาษที่ไม่ใช้คลอรีนในการฟอกสี สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ก็เป็นสำนักพิมพ์อีกแห่งที่ใช้หมึกถั่วเหลือง

ไม่แน่ใจว่า สารคดี ไปลงชื่อกับเขาด้วยไหม แต่ก็คงรับรู้และเข้าใจเรื่องนี้ดี ไม่อย่างนั้นคงไม่เลือกพิมพ์ปกนิตยสารและส่วน “Green Planet” ด้วยกระดาษรีไซเคิล อันนับเป็นความพยายามรับผิดชอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แม้จะมีเสียงติว่ามันทำให้ความสวยงามลดลงและเปื้อนง่ายไปหน่อยก็ตาม

นักอ่านจำนวนมากรักหนังสือ ถนอมหนังสือ ห่อปกพลาสติกอย่างดีและเก็บใส่ตู้อย่างเรียบร้อย ชอบให้หนังสือสวยงามและดูใหม่อยู่เสมอ จากผลการวิจัยของบริษัทผลิตกระดาษแห่งหนึ่งที่ทำไว้เมื่อ ๒-๓ ปีก่อน ร้อยละ ๙๐ ของนักอ่านไทยชอบเก็บสะสมหนังสือไว้มากกว่าจะส่งต่อหนังสือที่อ่านแล้วให้คนอื่น

ทั้งที่ความเปลี่ยนแปลงของสังขารเป็นกฎพื้นฐานของโลก แต่เมื่อความรักในความงามของหนังสือมารวมกับการเก็บสะสมเข้าห้องสมุดส่วนตัว (ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม) เจ้าของหนังสือก็ไม่อยากเห็นหนังสือดูเก่า สีซีดเหลือง หรือมีรอยด่างดวงใดๆ

หนังสือก็เหมือนของอย่างอื่นที่เป็นสินค้า (คนรักหนังสือหลายคนอาจเคืองที่หนังสือถูกเรียกอย่างนี้ แต่มันเป็นความจริง) ผู้ผลิตหนังสือย่อมต้องตอบสนองผู้บริโภคด้วยการผลิตหนังสือที่ใช้วัสดุคุณภาพ “ดี” เพื่อให้หนังสืออยู่ยั้งยืนยงคงความสวยงามดังใจผู้บริโภค เช่นใช้กระดาษฟอกสีด้วยสารเคมีอย่างคลอรีน เพื่อให้ดูขาวสะอาดและไม่เปลี่ยนสีเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ (กระดาษในกลุ่มถนอมสายตาจำนวนไม่น้อยก็ฟอกสีขาวก่อน แล้วจึงย้อมสีนวลอ่อน นักอ่านหลายคนเข้าใจผิดว่ากระดาษเหล่านั้นเป็นกระดาษ “เพื่อสิ่งแวดล้อม”)

ในเมืองไทย หนังสือส่วนใหญ่ผลิตจากกระดาษนำเข้า ส่วนกระดาษที่เราผลิตเองก็มาจากเยื่อไม้ใหม่ที่ได้จากต้นยูคาลิปตัสปลูก** ผสมกับเยื่อกระดาษนำเข้า

ทุกวันนี้บริษัทผลิตกระดาษบางเจ้าเริ่มผลิตกระดาษรีไซเคิลที่ผ่านการใช้งานแล้วก็จริง แต่ต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลให้ราคากระดาษแพงตาม การใช้กระดาษรีไซเคิลพิมพ์หนังสือจึงยังคงอยู่ในวงจำกัด

ในระดับนานาชาติ สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ หลายแห่งเริ่มมีนโยบายเพิ่มการพิมพ์หนังสือจากกระดาษรีไซเคิลแบบค่อยเป็นค่อยไป เรื่องนี้คงต้องยกประโยชน์ให้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับพิมพ์ในแคนาดาที่ริเริ่มการใช้กระดาษรีไซเคิล ทำให้สำนักพิมพ์เจ้าอื่นต้องเอาอย่างตาม

นอกจากนี้การเลือกใช้กระดาษชนิดต่างๆ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กระดาษที่เป็นมิตรกับป่าโบราณ (ไม่ทำลายป่าโบราณเพื่อทำไม้ปลูกเอาเยื่อกระดาษ) กระดาษรีไซเคิล กระดาษที่ผลิตด้วยพลังงานหมุนเวียน และกระดาษที่ไม่ใช้คลอรีนฟอกสี (ซึ่งกระดาษแต่ละชนิดมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป เช่นไม่ใช้คลอรีนแต่อาจไม่เป็นมิตรกับป่าโบราณ หรือรีไซเคิล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ยังใช้คลอรีนอยู่) ย่อมเป็นความพยายามที่น่าใส่ใจและให้เครดิต

การเปลี่ยนจากหมึกพิมพ์ที่ทำจากปิโตรเลียมเป็นหมึกที่ทำจากพืชผักและถั่วเหลือง ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและสารพิษที่ส่งผลต่อช่างพิมพ์ ต่ออากาศ ผืนดิน แหล่งน้ำ และตัวคุณผู้อ่านเอง ซึ่งในบ้านเรา สำนักพิมพ์เล็กๆ บางแห่งเริ่มใช้หมึกถั่วเหลืองในการพิมพ์หนังสือแล้ว และคุณภาพการพิมพ์ไม่ได้ด้อยกว่าหมึกดั้งเดิมที่ผสมปิโตรเลียมเลย

ลองดูไหมว่าสำนักพิมพ์โปรดของคุณผู้อ่านใช้กระดาษและหมึกแบบไหน

และเราผู้เป็นนักอ่านจะต่อรองกับความสมบูรณ์แบบในชาตินี้ของหนังสือ เพื่อแลกกับความผาสุกของธรรมชาติและสปีชีส์อื่นๆ เมื่อครั้งหนังสือยังอยู่ในชาติก่อนได้บ้างไหม .

สิ่งที่คุณผู้อ่านทำได้
* โปรดพิจารณาบริการห้องสมุด หนังสือมือสอง และการแลกกันอ่าน
* ซื้อหนังสือด้วยสติ
* ยินยอมให้หนังสือแปรเปลี่ยนได้ตามกาลเวลา เพื่อลดการใช้สารเคมีในกระดาษ
สิ่งที่สำนักพิมพ์ทำได
* โปรดพิจารณาใช้กระดาษรีไซเคิล กระดาษปลอดคลอรีน กระดาษที่เป็นมิตรกับป่าโบราณ ฯลฯ รวมทั้งหมึกที่ทำจากพืชผักและถั่วเหลือง
* พิมพ์หนังสือด้วยสติ ให้หนังสือแต่ละเล่มมีคุณค่าพอกับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป
* ยินยอมเปลี่ยนแปลงต้นทุนการผลิตเล็กน้อย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

*Organisation for Economic Cooperation and Development องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สมาชิกส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วอย่างอเมริกา แคนาดา ประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น