จักรพันธุ์ กังวาฬ, หงสพรรณ สมบูรณ์

irena1

อีเรนา เซนเดลอร์ สตรีชาวโปแลนด์ ผู้ช่วยเหลือเด็กชาวยิวประมาณ ๒,๕๐๐ คนให้รอดพ้นจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยกองทัพนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสียชีวิตแล้วที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุง วอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๒ พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะมีอายุ ๙๘ ปี

ประธานาธิบดีเลค คัชซินสกี แห่งโปแลนด์แสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการเสียชีวิตของอีเรนา โดยยกย่องเธอเป็น “ผู้กล้าหาญ” และ “บุคคลดีเด่น” หลายปีที่ผ่านมาประธานาธิบดีคัชซินสกียังเป็นหัวหอกในการรณรงค์เสนอชื่ออีเรนาเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอีกด้วย

เมื่อกองทัพนาซีเยอรมันบุกยึดโปแลนด์ในเดือนกันยายน ปี ๑๙๓๙ จนเป็นเหตุให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขณะนั้นอีเรนาอายุ ๒๙ ปี ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในแผนกประชาสงเคราะห์ของกรุงวอร์ซอ องทหารนาซีบังคับชาวยิวโปแลนด์ให้เข้าไปอยู่ในเกตโต เขตกักกันชาวยิวที่มีกำแพงสูงปิดล้อม

irena2

หนึ่งในภาพซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นภาพกองทหารนาซีล้อมปราบชาวยิวในเขตกักกันเกตโตที่ลุกฮือขึ้นก่อการจราจลเพื่อต่อต้านนาซเยอรมัน การจราจลนี้เกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๔๓ รู้จักกันในชื่อ “The Warsaw Ghetto Uprising”

อีเรนาและผู้ช่วยของเธอเสี่ยงภัยเข้าสู่เกตโตโดยแอบอ้างว่าเป็นผู้ตรวจสุขภาพอนามัยในช่วงที่โรคไทฟอยด์ระบาด แล้วลักลอบนำทารกและเด็กเล็กออกมาโดยให้เด็กหลบในรถพยาบาลหรือรถราง
บางครั้งใช้วัสดุห่อตัวเด็กให้เหมือนภาชนะชิ้นหนึ่ง พวกเธอนำเด็กเหล่านี้ไปฝากไว้กับครอบครัวชาวโปแลนด์ สถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้า และโรงพยาบาลคอนแวนต์

มีสถิติบันทึกไว้ว่า อีเรนาและลูกทีมราว ๒๐ คนสามารถช่วยชีวิตเด็กชาวยิวประมาณ ๒,๕๐๐ คนจากเกตโต ในช่วงเวลา ๓ ปี ระหว่างเดือนตุลาคม ๑๙๔๐ จนถึงเดือนเมษายน ๑๙๔๓ เมื่อนาซีเผาเกตโต สังหารชาวยิว หรือส่งพวกเขาไปสู่ค่ายมรณะ

ตำรวจลับนาซีหรือหน่วยเกสตาโปบุกเข้าจับกุมอีเรนาเมื่อปี ๑๙๔๓ เธอถูกขังคุกและถูกทรมานครั้งแล้วครั้งเล่าจนทิ้งร่องรอยแผลเป็นหลายแห่งบนร่างกาย แต่เธออดทนนิ่งเงียบ ไม่ยอมเผยข้อมูลรายชื่อผู้ช่วยและเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือ

ภายหลังองค์กรใต้ดินเพื่อช่วยชาวยิว ชื่อ ซีโกตา จ่ายสินบนให้ผู้คุมชาวเยอรมันแลกกับการปล่อยอีเรนาเป็นอิสระ เธอเปลี่ยนชื่อใหม่หลายครั้งโดยยังคงทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ต่อไป

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีเรนาทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์และผู้อำนวยการโรงเรียนสอนวิชาชีพหลายแห่ง ทั้งยังคงให้การสนับสนุนเด็กที่เธอเคยช่วยเหลือจากเขตกักกันอย่างต่อเนื่อง

เมื่อสภานิติบัญญัติของโปแลนด์ยกย่องวีรกรรมของอีเรนาในปี ๒๐๐๗ เธอเขียนจดหมายถึงสภาสูงโดยมีเนื้อความตอนหนึ่งว่า

“เด็กทุกคนที่ข้าพเจ้าและผู้ช่วยของข้าพเจ้าได้ช่วยเหลือไว้ ซึ่งขณะนี้ไม่มีใครมีชีวิตอยู่แล้ว คือสิ่งที่ยืนยันการมีตัวตนของข้าพเจ้าบนโลกใบนี้ มิใช่เครื่องมือสู่เกียรติยศชื่อเสียง”‘