(บทความในอดีต จาก สารคดี ฉบับที่ 191 มกราคม พ.ศ.2544)
มุกหอม วงศ์เทศ : รายงาน / อธิปัตย์ ศุภวงศ์ : ภาพ

israel palestine

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จบหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มหนาเรื่อง ยิว ที่ท่านเขียนขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีก่อนกว่า

“…ยิวได้กระจัดกระจายไปทั่วโลก ต้องอาศัยบ้านเมืองคนอื่นอยู่ ต้องถูกกดขี่อย่างทารุณมาเป็นเวลาหลายพันปี ในที่สุดก็ร่วมใจร่วมแรงกันหวนกลับมาตั้งประเทศอิสราเอลอันเป็นของยิวแท้ๆ ขึ้นใหม่ได้สำเร็จ เป็นประเทศเอกราชที่ทั่วโลกเว้นประเทศอาหรับยอมรับรอง ความอดทนมานะและความเสียสละที่ยิวได้กระทำมาแล้วนั้นเป็นไปเพื่ออะไรกันแน่

เพื่อยิวจะได้มามีอำนาจปกครองประเทศของตนเองแล้วใช้อำนาจนั้นปราบปรามคนอื่นซึ่งมิใช่เชื้อชาติเดียวกับตน อย่างที่ยิวได้เคยถูกชนชาติอื่นกระทำมาแล้วเป็นเวลากว่า 3,000 ปีกระนั้นหรือ”

ข้อทิ้งท้ายนี้ดูจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ มาจนทุกวันนี้ และเป็นสิ่งที่ยังควรตั้งเป็นคำถามหลักทางมนุษยธรรมคำถามหนึ่ง สำหรับความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่มีท่าจะจบสิ้นระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

การอพยพของชาวยิวที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วสารทิศหลายระลอกเข้าสู่ดินแดนปาเลสไตน์ซึ่งมีชาวอาหรับเป็นชนส่วนใหญ่ยึดครองอยู่ เพื่อสถาปนารัฐยิว(ตามอุดมการณ์ Zionism ซึ่งต้องการให้อิสราเอลเป็นศูนย์กลางของชาวยิวทั้งมวล ณ ดินแดน “บ้านเกิด” ปาเลสไตน์อันศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งต่อมาในที่สุดก็คือประเทศอิสราเอล อันเป็นรัฐของชาวยิวจริงๆ เพียงแห่งเดียวในโลก เกิดขึ้นจากทั้งอุดมการณ์ทางศาสนายิว หรือ ยูดาย และอุดมการณ์ชาตินิยม

ปัญหาระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่อาจสรุปให้สั้นที่สุดคือ การแย่งชิงกันอ้างสิทธิอันชอบธรรมเหนือดินแดนปาเลสไตน์ อันเป็นผลมาจากความพัวพันอย่างล้ำลึกของชนชาติ ศาสนา ดินแดน และประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นปัญหาทางชาติพันธุ์และความเป็นพลเมืองในรัฐชาติ ซึ่งอาจเห็นได้จากว่า ไม่ว่าที่ไหนๆ การเรียกชื่อหรือติดตราชนชาติหรือกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งๆ โดยกลุ่มคนต่างๆ ที่มองจากภายนอก มักเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางที่จะมองว่าคนพวกนั้น “ต่าง” จากตัวเองอย่างไร

ชาวปาเลสไตน์ที่เป็นพลเมืองของประเทศอิสราเอลนั้นถูกคนภายนอกเรียกเหมารวมว่า “ชาวอาหรับ” เช่นเดียวกับชาวอิสราเอลเรียก แต่กลับเป็น “ชาวอิสราเอล” สำหรับชาวอาหรับอื่นๆ ที่อยู่นอกประเทศอิสราเอล

การเขียนประวัติศาสตร์ทางการใหม่โดยอิสราเอล(ซึ่งเพิ่งจะตั้งเป็นประเทศเมื่อปี ค.ศ.1948) ผู้มีอำนาจปกครอง จึงเป็นธรรมดาที่จะต้องเขี่ยชาวปาเลสไตน์ผู้ตั้งรกราอาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์นี้มาเป็นพันปีให้ไปอยู่ชายขอบและเป็นศัตรู ประวัติศาสตร์ฉบับยิวอิสราเอลนี้ถือว่าบรรดาเมืองใหม่ต่างๆ ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอลถูก “ค้นพบ” โดยพวก Zionist(ลัทธิ Zionism ที่เรียกร้องให้ยิวจากทั่วโลกอพยพ “กลับ” มาอยู่ดินแดนปาเลสไตน์อันศักดิ์สิทธิ์) ผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ความหมายโดยนัยก็คือ เป็นการทวงสิทธิ์ซึ่งอ้างว่ามีอยู่มาแต่เดิมของชาวยิวโบราณที่อาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์มาก่อน การเข้ามาของชาวยิวจึงเท่ากับเป็นการเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน(homeland) ของตน หลังจากการหายตัวไปอย่างยาวนาน

นั่นก็คือ พวกยิวอิสราเอลสร้าง myth/history เพื่ออ้างความชอบธรรมว่า รัฐยิวก่อตั้งขึ้นมาใหม่จากดินแดนอันว่างเปล่า แม้ซากปรักหักพังของสิ่งก่อสร้างอันเป็นมรดกที่สูญเสียไปของชาวปาเลสไตน์จากการเข้ายึดครองของอิสราเอลจะเป็นประจักษ์พยานหลักฐานแย้ง myth ที่ว่านี้ อิสราเอลก็ไม่ปล่อยให้ซากเหล่านี้สามารถกลายเป็น “ความทรงจำร่วมสาธารณะ”(public space of memory) ของชาวปาเลสไตน์ แต่ทำให้คนภายนอกเข้าใจไปว่า สิ่งปรักหักพังนี้เป็นอนุสรณ์ของการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศอิสราเอลในอดีต

สถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันจึงอาจมองได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมของชาวปาเลสไตน์ คือการต้องสูญเสียดินแดน เกียรติยศ และการกลายเป็นพลเมืองชั้นสองในแผ่นดินของบรรพบุรุษตนเอง

การก่อตั้งสถาปนาประเทศอิสราเอล จึงมักถูกมองจากมุมมองของชาวยิวอิสราเอลว่าเป็นชัยชนะอันอัศจรรย์น่าทึ่งของชนชาติยิวที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาตลอดหลายพันปี(ที่รู้จักกันอย่างดีคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยพวกนาซีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือ Holocaust) แต่สามารถอยู่รอดมาได้ด้วยความมานะ บากบั่น กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว สามัคคี จนกระทั่งสามารถต่อสู้เพื่อเอกราชสร้างวีรกรรมก่อตั้งรัฐอิสราเอลอันรุ่งเรืองขึ้นมาได้อย่างน่าสดุดีสรรเสริญ

แต่จากมุมมองของชาวปาเลสไตน์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอาหรับผู้อยู่อาศัยบนดินแดนนี้มาหลายศตวรรษ เหตุการณ์ทั้งหมดก็คือ การถูกชาวยิวอิสราเอลเข้ามาปล้นแผ่นดินตนเอง และถูกกดขี่หวาดระแวงไม่ไว้วางใจจากรัฐอิสราเอลมาโดยตลอด

มุมมองที่คนภายนอกส่วนใหญ่รวมทั้งคนไทยทั่วไป(เว้นคนไทยมุสลิมบางส่วน) รับรู้ มักจะเป็นมุมมองจากทางรัฐอิสราเอล และอิสราเอลก็ภาคภูมิใจกับวีรกรรมความชอบธรรมต่างๆ ของตนเองอย่างยิ่ง ผู้ที่แสดงจุดยืนอย่างเป็นทางการ ด้วยการยื่นหนังสือตำหนิประณามความโหดเหี้ยมทารุณกรรมที่อิสราเอลกระทำต่อชาวปาเลสไตน์เมื่อเร็วๆ นี้จึงถูกทูตอิสราเอลประเทศไทยออกมาประท้วงด้วยท่าทีแข็งกร้าว

ด้วยเหตุนี้ โครงการอาณาบริเวณศึกษา 5 ภูมิภาคซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จึงได้เชิญอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ คู่กรณีทูตอิสราเอล และคุณอภินันท์ บูรณพงศ์ มาร่วมอิภปรายในรายการ “เสวนา อบศ.5” หัวข้อ “ปัญหาปาเลสไตน์กับอิสราเอล และผลกระทบต่อไทย” เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เป็นผู้ดำเนินรายการ

อย่างที่ทราบกันว่า องค์กรยิวสากล(Zionism) ได้รับความสนับสนุนจากอังกฤษ ฝรั่งเศสมาก่อน ให้ชาวยิวจากทั่วโลกเดินทางมาอยู่ที่ดินแดนปาเลสไตน์ ด้วยการอ้างอุดมการณ์ว่าพื้นที่ที่ชาวปาเลสไตน์อยู่มาแต่เดิมนั้น เดิมไปกว่านั้นเป็นของชาวยิว

นโยบายการเมืองไทยคุ้นเคยกับการเป็นพันธมิตรกับอเมริกามาตลอด ประเทศไทยจึงติดสอยห้อยตามอุดมการณ์ของอเมริกาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ พวกอาหรับต่างๆ ความขัดแย้งที่ป็นที่สนใจระดับโลกอันดำเนินมาอย่างยาวนานระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ หรือแม้แต่การสังหารโหดชาวปาเลสไตน์โดยอิสราเอลเมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ไม่เป็นที่สนใจของไทยเท่าใดนัก

ชาวยิวตลอด 2,000 ปีที่ผ่านมากระจัดการะจายอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรคริสต์และอิสลามโดยเฉพาะในยุคกลาง ประเด็นปัญหาหนึ่งที่ถกเถียงกันก็คือ ชาวยิวอยู่ในสภาพที่ถูกกดขี่จากฝ่ายใดมากกว่ากัน ความเชื่อหนึ่งก็คือว่าพวกยิวถูกกดขี่จากฝ่ายคริสต์มากกว่า แต่อยู่ในสภาพความสัมพันธ์ที่ดีกว่ากับพวกมุสลิม ชีวิตของชาวยิวในยุโรปสมัยกลางจึงเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน หรือที่เรียกกันว่า ประวัติศาสตร์ของชาวยิวในยุโรปเป็นประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ทรมาน นี่เป็นความเชื่อที่สร้างขึ้นโดยนักเขียนปัญญาชนยิวในยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงที่พวกยิวยังไม่ประสบผลสำเร็จในการผสมกลมกลืนกับสังคมคริสต์ในยุโรปเท่าใดนัก

เรื่องที่ว่า (หรือบางคนว่าเป็น myth) ยิวเข้ากันได้กับอิสลามแต่ขัดกับคริสต์นี้ ได้รับการนำไปใช้ต่อโดยฝ่ายอาหรับและฝ่ายตะวันตกที่เห็นอกเห็นใจการต่อสู้ดิ้นรนของอาหรับต่ออิสราเอล ซึ่งได้รับการตีความประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของชาวยิวเพื่ออธิบายหรืออันที่จริงก็คือให้ความชอบธรรมกับการต่อต้านยิว(anti-Zionism และ anti-Semitism) ของอาหรับ

แล้วการที่บอกว่ายิวกับอิสลามมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากกว่ายิวกับคริสต์เป็นการให้ความชอบธรรมกับการต่อต้านยิวของอาหรับในปัจจุบันได้อย่างไรกัน ประเด็นตรงนี้ก็คือ การให้เหตุผลว่า การไม่ลงรอยกันระหว่างยิวกับอาหรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีอิสราเอลกับปาเลสไตน์นั้น ไม่อาจสืบสาวหาความว่าเป็นการแอนตี้ยิวมาอย่างยาวนานอยู่แล้วของอาหรับหรือศาสนาอิสลามเพราะผู้สนับสนุนแนวคิดนี้จะบอกว่า ยิวกับอาหรับนั้นเคยอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขมานานหลายศตวรรษ

ซึ่งก็แปลว่า สาเหตุที่ทำให้พวกอาหรับปัจจุบันเป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอลก็เป็นเพราะพวกยิวเองนั่นเองที่ทำลายความสัมพันธ์อันดีแต่เก่าก่อน เมื่อพวกยิวมาอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งชาวมุสลิมอาหรับเป็นเจ้าของอยู่ก่อน

ในขณะเดียวกัน ก็มีการสร้างการตีความใหม่ขึ้นมาสู้ว่ายิวถูกกดขี่จากอิสลามยิ่งกว่าจากคริสต์ แต่การอธิบายนี้ในที่สุดก็คือ การผลิตซ้ำทฤษฎีที่ว่าด้วยการมองประวัติศาสตร์ของชาวยิวเป็นประวัติศาสตร์แห่งความทุกข์ทรมานอยู่นั่นเอง (ต่างกันเพียงแค่ว่าทุกข์ภายใต้คริสต์หรืออิสลามมากกว่ากัน)

อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเรามักมีความรุ้เกี่ยวกับอิสราเอลในเชิงบวกมาตลอดในฐานะที่เป็นชนชาติอัศจรรย์และในยุคปัจจุบันคือ ความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นแบบอย่างอันน่าทึ่งในด้านเกษตรกรรม หรือ “เกษตรทะเลทราย” อันเลื่องลือของอิสราเอล

ภาพ “ยิว” แบบตัวละครพ่อค้าวาณิช “ไซล็อก” ผู้ตระหนี่ถี่เหนียวเอารัดเอาเปรียบในบทละครค่อยๆ เลือนไป เช่นเดียวกับคนจีนที่เคยถูกตราหน้าว่าเป็น “ยิวแห่งบุรพทิศ” ก็ไม่เป็นภาพลักษณ์ที่ทรงความหมายหรือสื่อความอย่างมีความสำคัญอีกต่อไป ความตระหนี่ถี่เหนียว หน้าเลือด ไม่ได้ถูกครอบงำด้วยภาพประทับของชนชาติ “ยิว” หรือ “เจ็ก” ที่เป็น “คนนอก” ในหลายๆ สังคมในระดับอย่างที่เคยเป็นในอดีต ภาพประทับความ “หน้าเลือด” ในตอนนี้อาจถูก IMF(องค์กรที่ไม่มีนิยามเฉพาะทางชาติพันธุ์ และศาสนา) รับช่วงต่อไปแล้วก็ได้

ในทางกลับกัน “แขกอาหรับ/มุสลิม” ในสถานการณ์โลกปัจจุบันถูกมองอย่างมีอคติหวาดระแวว จนกลายเป็นความไม่ไว้วางใจเชิงชาตพันธุ์ ศาสนาและภูมิรัฐศาสตร์ แต่สิ่งสำคัญที่เกี่ยวกับเราในเรื่องความขัดแย้งเหล่านี้ก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า ชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้จำนวนมากนับล้านได้ให้ความสนับสนุนปาเลสไตน์อย่างเป็นกระบวนการเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐและสังคมไทยควรให้ความใส่ใจมากขึ้นกว่าเดิม

แต่หากดูแค่การจัดการกับความขัดแย้งกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยระหว่างรัฐกับ “คนไทย พลเมืองไทย” ด้วยกันเองขณะนี้แล้ว ก็ไม่เห็นภาพอะไรนอกเหนือไปจากว่าวัฒนธรรมการเมืองไทยไร้รากและจิตสำนึกทางมนุษยธรรม