เรื่องและภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

kemoo1

บริเวณที่คลุมด้วยพลาสติก PE สีดำคือบ่อดักก๊าซจากน้ำล้างคอกหมูและขี้หมจากจุดนี้ก๊าซชีวภาพที่ได้จะถูกส่งไปปรับปรุงคุณภาพก่อนจะผลิตเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้า

บนเนื้อที่กว่า ๑,๐๐๐ ไร่ของบริษัทหนองบัวฟาร์ม แอนด์ คันทรีโฮม วิลเลจ จำกัด ที่ อ. ปากท่อ จ. ราชบุรี มีโรงเรือนเลี้ยงหมูกระจายอยู่เป็นกลุ่มมีหมูรวมทั้งสิ้น ๕๗,๗๐๐ ตัว ทุกวันมีน้ำเสียจากการล้างคอกหมูและขี้หมูประมาณ ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งก่อปัญหาเรื่องการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ รวมทั้งปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนใกล้เคียง

แต่ปัจจุบัน สิ่งปฏิกูลเหล่านี้คือสมบัติอันล้ำค่าของฟาร์ม

ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทยสนับสนุนทุนจำนวน ๓ ล้านบาทให้บริษัทหนองบัวฯ วิจัยและพัฒนาระบบการผลิตก๊าซชีวภาพภายในฟาร์ม จนมีการก่อสร้างระบบบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีความจุรวม ๓๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ให้ก๊าซชีวภาพได้วันละ ๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร หรือ ๑.๘ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

บริษัทหนองบัวฯ นำก๊าซชีวภาพที่ได้จากบ่อบำบัดเหล่านี้ไปปรับปรุงคุณภาพด้วยเครื่อง Bioscrubber เพื่อกำจัดก๊าซไข่เน่าที่มีฤทธิ์กัดกร่อนอุปกรณ์ต่างๆ ออกแล้วใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีกำลังผลิต ๑.๔ เมกะวัตต์ ดำเนินงานภายใต้ชื่อบริษัทหนองบัว โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ส่วนน้ำเสียส่งไปบำบัดแล้วนำกลับไปใช้ ขณะที่ตะกอนจะถูกส่งไปที่ลานตากตะกอนเพื่อทำปุ๋ยขายให้แก่เกษตรกร

kemoo2

คนงานกำลังจัดการกับตะกอนของน้ำล้างคอกหมู ซึ่งเมื่อแห้งแล้วจะกลายเป็นปุ๋ยชีวภาพราคาแพงในท้องตลาด

ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้ผลิตไฟฟ้าได้ ๓.๘ ล้านหน่วยต่อปี ในวันทำงานกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ถูกใช้ในฟาร์มทั้งหมด ส่วนวันหยุดจะเหลือขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไฟฟ้าที่ฟาร์มผลิตได้นี้ช่วยทดแทนการใช้น้ำมันเตา ๒,๗๕๐ ลิตรต่อวัน ก๊าซ LPG (ก๊าซหุงต้ม) ๒,๓๐๐ กิโลกรัมต่อวัน และทดแทนการซื้อไฟฟ้า ๑๐,๐๐๐ กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อวัน ประหยัดค่าไฟปีละ ๑๒ ล้านบาท การผลิตก๊าซชีวภาพของฟาร์มแห่งนี้ยังได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ว่าเป็น “โครงการพัฒนาตามกลไกที่สะอาด” (Clean Development Mechanism-CDM) ทำให้ขึ้นทะเบียนกับ CDM-Executive Board หน่วยงานระดับนานาชาติ จนสามารถขายคาร์บอนเครดิตให้ประเทศที่พัฒนาแล้วได้

ถึงแม้คาร์บอนเครดิตเป็นมาตรการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง แต่สำหรับฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่นั้น วิเชียร เจษฎากานต์ ผู้จัดการฟาร์มบอกเราว่า โรงไฟฟ้าขนาดเล็กเช่นนี้สำคัญมาก เพราะในระยะยาวนอกจากจะแก้ปัญหามลภาวะแล้ว ยังเสริมความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าของประเทศ ทำให้รัฐไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเอง ลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชุมชนในพื้นที่ด้วย