ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ภาพ

ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินหยิบยกเรื่องเขื่อนสานะคามขึ้นมา เขื่อนโขง-น้ำใส-ไฟฟ้า

ช่วงเดือนแห่งการจัดกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลกประจำปี 2567 (วันหยุดเขื่อนโลกตรงกับวันที่ 14 มีนาคม ของทุกปี) กลุ่มรักษ์เชียงคาน กับกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ได้ร่วมจัดเสวนา “เขื่อนโขงน้ำใส แต่ (ไฟฟ้า) ไม่สะอาด” ขึ้น ณ แพกลุ่มประมงพื้นบ้าน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประเด็นเสวนาประกอบด้วย ผลกระทบของเขื่อนแม่น้ำโขงต่อระดับน้ำ, ปริมาณตะกอน, วิถีเกษตร-ประมงพื้นบ้าน, นิเวศแม่น้ำโขง ฯลฯ เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขงจากจังหวัดต่าง ๆ ภาคเหนือและอีสานที่เฝ้าติดตามผลกระทบเรื่องตะกอนแม่น้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขงจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ ยังร่วมนำเสนอรายงานการตรวจวัดตะกอนแม่น้ำโขงที่ลดลงจนน่าตกใจ

การหายไปของตะกอนแม่น้ำโขง คาดว่าเกิดจากแม่น้ำโขงมีอัตราการไหลต่ำ เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นชัดในช่วงฤดูแล้งห้าปีที่ผ่านมา แต่ถูกมองข้ามจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เขื่อนไซยะบุรีที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว และเขื่อนต่างๆ ในประเทศจีนมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับปรากฏการณ์น้ำโขงใส ไร้ตะกอน จึงเป็นคำถามที่ชุมชนต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีการแนะนำบทบาทตลอดจนแนวทางการตรวจสอบโครงการเขื่อนแม่น้ำโขงขององค์กรอิสระ 2 องค์กรสำคัญ ได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีโครงการเขื่อนปากแบง และโครงการเขื่อนสานะคาม

สารคดีลงพื้นที่สัมภาษณ์ เก็บเนื้อหาบางส่วนจากวงเสวนา มานำเสนอเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคม ของทุกปี

kuenkhong03

“ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินหยิบยกเรื่องเขื่อนสานะคามขึ้นมา”

ทรงศัก สายเชื้อ
ผู้ตรวจการแผ่นดิน

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินติดตามผลกระทบเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขงด้วยความห่วงใยมาตลอด

เรื่องเขื่อนที่เราทำขณะนี้มี 2 เรื่อง คือ เขื่อนสานะคาม ทางสำนักงานหยิบยกขึ้นมาเอง กับอีกเรื่องหนึ่งคือเขื่อนปากแบง เกิดจากกลุ่มรักษ์เชียงของยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามา อยู่ระหว่างเก็บรวบรวมข้อมูลแสวงหาข้อเท็จจริง

การทำงานของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีลักษณะหรือข้อกำหนดทางกฎหมายตามรัฐธรรมนูญว่าเราไม่ได้ตรวจสอบว่ามีตรงไหนผิดถูกอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเสนอแนะและช่วยแก้ปัญหา ต้องติดตามด้วยว่ามีการดำเนินการอย่างไร เป็นกระบวนการจัดการที่สำคัญตามรัฐธรรมนูญตามกฎหมาย ครอบคลุมปัญหาของประชาชนทุกมิติที่อาจจะประสบจากภาครัฐ

ทั้งเขื่อนสานะคามและเขื่อนปากแบง ผู้ตรวจการแผ่นดินดูปัญหาของเขื่อนทั้งระบบ เขื่อนสานะคามเป็นเขื่อนที่ยังไม่ได้สร้าง ถ้าสร้างก็จะมีผลกระทบ ถ้าไปยืนบนสกายวอร์คเชียงคานจะเห็นว่ามันจ่ออยู่ตรงพรมแดนของเราเลย เขื่อนไซยะบุรีที่สร้างแล้วก็มีผลกระทบเยอะมาก

อุทกวิทยา ระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินหยิบยกเรื่องเขื่อนสานะคามขึ้นมา ข้อมูลจากภาคประชาชน นักวิชาการ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องค่อนข้างตรงกัน ระดับน้ำที่เชียงคานสามารถเปลี่ยนแปลงได้ 3.5 เมตร ภายใน 7 ชั่วโมง การเปลี่ยนแปลงของน้ำที่คาดคะเนได้ยากส่งผลกระทบกับคนท้องถิ่น ทั้งเรื่องคมนาคม อาชีพประมง การเกษตร การท่องเที่ยว

เรื่องเขื่อนปากแบง ประชาชนทางฝั่งไทยยังไม่ได้รับทราบข้อมูลอย่างเพียงพอว่าผลกระทบเป็นอย่างไร จะสร้างเมื่อไหร่ ทั้ง ๆ ที่มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้ากันไปแล้วเมื่อ 1 กันยายน 2566 สัญญายาว 29 ปี ความเคลื่อนไหวหลังจากนั้นภาคประชาชนในพื้นที่ก็ยังไม่รับทราบ การศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนยังไม่มี มีการกำหนดว่าจะตั้งเป็นกองทุนแต่ยังรายละเอียดไม่ชัดเจน ใครจะเป็นผู้กำหนดว่าจะจ่ายยังไง จะชดเชยเยียวยายังไง ทั้งสองฝั่งลาวและไทย เบื้องต้นกำหนดเงินชดเชย 45.6 ล้านบาทจะมาถึงฝั่งไทยมากน้อยแค่ไหน ประเด็นเหล่านี้ยังไม่ชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์เยียวยา เรื่องการศึกษาผลกระทบ การทำตามแผนปฏิบัติการร่วมกัน

จะต้องมีความร่วมมือระหว่างแม่น้ำโขงเหมือนอย่างแม่น้ำดานูบ ไม่มีข้อกำหนดว่าแม่น้ำที่ไหลผ่านประเทศเยอรมนีกับออสเตรียเป็นสิทธิของเขาที่จะทำอะไรก็ได้ จะสร้างอะไรต้องเข้ากระบวนการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำดานูบ จะต้องมีการผ่านกลไกต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ไม่มีหลักว่าแม่น้ำนี้ผ่านประเทศเราจะมีสิทธิมากกว่าประเทศอื่น ๆ เพราะมันเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ เป็น internation river เป็นจุดสำคัญที่เราต้องยกระดับแม่น้ำโขงขึ้นไปเหมือนการพัฒนาแม่น้ำนานาชาติอื่นที่มีมาตรฐานระหว่างประเทศ

kuenkhong05

“ปรากฏการณ์น้ำโขงใส สังเกตได้ชัดหลังเปิดใช้งานเขื่อนไซยะบุรี”

มนตรี จันทวงศ์
กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง

ปรากฏการณ์น้ำโขงใส สังเกตได้ชัดหลังเปิดใช้งานเขื่อนไซยะบุรี ช่วงปลายเดือนตุลา

คม 2562 พอถึงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม ปีเดียวกัน น้ำโขงก็เริ่มใส เริ่มเห็นข่าวน้ำโขงที่จังหวัดนครพนมใสเหมือนน้ำทะเล ถึงขนาดจะเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ไม่ต้องไปทะเล ให้มาที่นครพนม

องค์กรระดับภูมิภาคคือสำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเคยออกใบแถลงข่าวโดยให้น้ำหนักสาเหตุไปที่แม่น้ำโขงมีอัตราการไหลต่ำมากจนไม่มีตะกอน เปลี่ยนสีจากสีน้ำตาลของตะกอนที่พัดพาเป็นสีครามใสในภาวะตะกอนต่ำ

น้ำโขงที่ใสผิดปรกติเป็นสัญญาณอันตรายของระบบนิเวศ เกิดการระบาดของหอยแมลงภู่เล็ก หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่าหอยรกควาย หอยชนิดนี้จะระบาดได้ช่วงน้ำใส เกิดขึ้นทันทีบริเวณเชียงคานช่วงปี 2562-2564 แล้วก็ย้ายไประบาดแถบอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร

หอยชนิดนี้อันตรายเพราะเวลามันเกาะตรงตาข่ายหรือมองที่ใช้จับปลาจะแกะออกยากมาก กว่าจะแกะออกได้ตาข่ายก็เสียหาย พี่น้องชาวบ้านกังวลว่าน้ำโขงใสแบบนี้จะส่งผลกระทบตามมาอีกหลายประการ เช่นเกิดการระบาดของสาหร่ายแม่น้ำโขง เกิดการกัดเซาะตลิ่งและท้องน้ำที่รุนแรง จนชุมชนไม่สามารถทำประมงได้

การหายไปของตะกอนแม่น้ำโขงจากเขื่อนที่สร้างแล้วในจีนและลาว เราเห็นปรากฏการณ์นี้ชัดช่วงฤดูแล้งตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เมื่อเขื่อนจีนระบายตะกอนความขุ่นก็เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามจากหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาค ทั้ง ๆ ที่ปัญหาน้ำโขงใสเกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์มาตั้งแต่ปี 2562

จากเชียงของถึงเชียงคาน สิ่งปลูกสร้างที่ขวางกั้นแม่น้ำมีอยู่สิ่งเดียวคือเขื่อนไซยบุรี หลังจากเชียงคานไปถึงอุบลราชธานียังไม่มีสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางแม่น้ำอีก จะไหลไปตามธรรมชาติ เขื่อนไซยะบุรีมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับปรากฏการณ์น้ำโขงใส ไร้ตะกอน เป็นคำถามที่ชุมชนต้องค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง

kuenkhong06

“ยิ่งสร้างเขื่อนเท่าไหร่ ทำไมค่าไฟไม่เคยถูกลง สิ่งแวดล้อมก็แย่ลงเรื่อย ๆ”

ดร.ชวลิต วิทยานนท์
นักวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ

เขื่อนที่สร้างแล้ว และส่งผลกระทบแล้ว การแก้ปัญหาเป็นเรื่องยาก ยิ่งมีเขื่อนมากขึ้นก็ยิ่งทำให้ภาระในการแก้ไขปัญหาที่ต้องรับภาระจากผลกระทบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เท่าที่ทราบมา ผมมีคำถามสงสัยว่า ยิ่งสร้างเขื่อนเท่าไหร่ โครงการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ทำไมค่าไฟไม่เคยถูกลง ผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็แย่ลงเรื่อย ๆ

การตัดสินใจสร้างเขื่อน หรือโครงการต่างๆ ที่พัฒนาแล้วได้กำไร มันเกิดขึ้นกับชนชั้นปกครองเท่านั้น ชุมชนในพื้นที่ไม่ถูกถาม หรือถูกนำมาคิดด้วย ผลกระทบทางนิเวศที่เป็นธรรมชาติ อาหาร หรือน้ำ ไม่ถูกนำมาบวกในต้นทุน

ชุมชนพยายามเพาะพันธุ์ไม้น้ำ พยายามทำเขตสงวนวังปลา แต่นี่คือการแก้ปลายเหตุ เป็นทางเลือกที่เหลืออยู่เท่านั้นเอง

เขื่อนในแม่น้ำโขงไม่ควรที่จะสร้างเพิ่ม กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง หรือ PNPCA น่าจะทำหลังทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จแล้ว หลังจากชี้ขาดแล้วว่ามันมีผลกระทบน้อยจริงๆ ทุกวันนี้ทำ PNPCA ก่อน ทำรายงานผลกระทบทีหลัง แล้วเขาก็อ้างว่ามันได้รับความเห็นชอบให้สร้าง ความเห็นชอบอยู่ที่ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาล ไม่ได้อยู่ในความเห็นชอบของผู้ได้รับผลกระทบ

kuenkhong07

“ผู้ประกอบการจะผลักภาระมาให้กับผู้บริโภค”

ศยามล ไกรยูรวงศ์
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ทำไมค่าไฟแพง เพราะต้นทุนการก่อสร้างเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าจะถูกรวมเป็นต้นทุน ผู้ประกอบการจะผลักภาระมาให้กับผู้บริโภค นอกจากคิดค่าไฟจากค่าไฟฟ้าผันแปรหรือ FT ตามค่าเชื้อเพลิงที่แปรผันตามสถานการณ์ จะมีค่าลงทุน ค่าสายส่งไฟฟ้า ทั้งหมดผลักภาระมาให้ผู้บริโภค

เขื่อนแม่น้ำโขงต้องพิจารณาเรื่องแผนพลังงาน พิจารณาแค่เขื่อนเดียวไม่ได้

ต้องทำให้เห็นว่าต้นทุนพวกสายส่งเขาผลักภาระมาที่เรา เรื่องนี้ผู้บริโภคทุกคน นักข่าวที่เป็นผู้จ่ายค่าไฟด้วยต้องรับรู้ปัญหา เพราะรับภาระมาเต็ม ๆ เรื่องต้นทุนการซื้อไฟ

ในแง่การกระจายรายได้ ประเด็นสำคัญเวลาพูดถึงระบบนิเวศ ความจริงมูลค่ามันมหาศาล แต่เรามักไม่เอามาคิด ถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนรายได้เวลาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องศึกษาจากชุมชนริมแม่น้ำโขง การทำประมง แล้วมาหารเฉลี่ย เปรียบเทียบกับผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุน รายได้กระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มหนึ่ง การกระจายรายได้มันค่อนข้างแตกต่าง

เวลาเราพูดถึงระบบนิเวศ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต้องรอบด้าน แล้วมาคำนวณให้มันเห็นชัดเจน เราจะรู้ว่าโครงการมันเหมาะสมกับเราหรือไม่ ประชาชนน้องเป็นคนตัดสินใจไม่ใช่ภาครัฐฝ่ายเดียว

กระทรวงพลังงานให้ข้อมูลว่าการพัฒนาโครงการต้องอยู่ภายใต้หลักธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เขาให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นความจำเป็นที่ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องสำรองพลังงาน 50 เปอร์เซ็นต์ หรือการสร้างเขื่อนจำเป็นมั้ย ประเทศไทยมีข้อมูลพลังงานที่เพียงพอหรือไม่ นี่เป็นข้อมูลที่ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ

เรื่องเขื่อนผลิตไฟฟ้าเป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับคนไทยทั้งประเทศ คนไทยส่วนใหญ่มักจะคิดว่ามีไฟฟ้าก็ดี แต่อาจจะไม่รู้ว่าการมีเขื่อนผลิตไฟฟ้า 1 โรงมันมีผลกระทบกับคนในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน มันทำให้เรามีมายาคติในการมองแต่เรื่องผลประโยชน์ต่อตัวเอง แต่ไม่มองผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีแผนการไต่สวนสาธารณะเรื่องแผนพัฒนาพลังงาน ไต่สวนสาธารณะเป็นหน้าที่หลักของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นการเปิดเผยข้อมูลให้ทุกภาคส่วน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ ภาคชุมชน ประชาชนในพื้นที่ ผู้บริโภคที่ต้องซื้อไฟราคาแพง ภาครัฐ มีข้อถกเถียง

ถ้าเราตามเรื่องแผนพัฒนาพลังงานจะพบว่ามีข้อถกเถียงมากมาย แต่สังคมไทยยังไม่ได้รับข้อมูลมากพอว่าเราจำเป็นจะต้องมีการสำรองพลังงานมากเกินกว่าความต้องการหรือไม่ ไม่ใช่นักเทคนิคเท่านั้นที่จะรู้เรื่องพลังงาน เพราะการสำรองพลังงานมันส่งผลให้เราซื้อไฟแพงด้วย พี่น้องเป็นผู้ซื้อไฟ ดิฉันก็เป็นผู้ซื้อไฟ นอกจากเราจะใช้ภาษีประชาชนไปสร้าง ต้องรองรับการแก้ปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เรายังต้องรับซื้อไฟ นี่เป็นข้อมูลที่คนไทยควรจะรับรู้ นี่เป็นประเด็นที่เราจะไต่สวนสาธารณะ คาดว่าช่วงปลายปี 2567 ตอนนี้เป็นช่วงที่เราศึกษาข้อมูลพลังงานในภาพรวมทั้งหมด

ไฟฟ้าจากเขื่อนลาวเรารับซื้อ 2.89 บาทต่อหน่วย ราคานี้เท่ากับเราสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ถ้าเราไม่ต้องซื้อจากลาว เราก็ทำโซลาร์เซลล์สิ อีกสามปีข้างหน้า แผงโซลาร์เซลล์จะถูกลงอีก ดิฉันยืนยันว่าถูกลงจริงๆ เพราะที่บ้านก็ติดโซลาร์เซลล์เหมือนกัน