สัมภาษณ์ โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

อนันต์ ศรีเรือง - จากเซียนซิ่งมอเตอร์ไซค์สู่โค้ชจักรยานยอดเยี่ยม

อนันต์ ศรีเรือง เป็นลูกชาวนาแห่งอำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เพื่อนๆ เรียกเขาว่า เงาะ คนแถวบ้านมักพูดกันว่า ไอ้เงาะมันบ้า !

เด็กชายเงาะเรียนหนังสือไม่เอาถ่าน สารภาพว่าทรมานทุกครั้งที่ครูให้ท่องสูตรคูณหน้าห้องเรียนจนแทบอยากฆ่าตัวตาย กว่าจะเรียนจบชั้น ม. ๖ ได้เลือดตาแทบกระเด็น ไม่คิดจะเรียนหนังสืออีกต่อไป

ย่างเข้าวัย ๒๐ เด็กหนุ่มคนนี้หลงใหลเครื่องยนต์ และรูปโฉมของมอเตอร์ไซค์จนกลายมาเป็นนักบิดระดับพระกาฬ ตั้งทีมแข่งรถชื่อ “ซาไก” ประชันฝีมือไปทั่ว นักซิ่งแถวภาคกลางรู้จักชื่อเสียงดี ไม่มีใครกล้าทาบรัศมี โดยเฉพาะฝีมือการทิ้งโค้งบนทางหลวงด้วยความเร็วเกิน ๑๐๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง

เวลานั้น เงาะแห่งทีมซาไกไม่รู้จักความตาย อย่างเดียวในชีวิตที่รู้จักคือความมันสุดขีดบนหลังอานมอเตอร์ไซค์ที่พุ่งทะยานไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงสุด

เป็นแชมป์มาได้ ๗ ปีก็ถึงจุดอิ่มตัว จากชีวิตนักซิ่งมอเตอร์ไซค์ เงาะบ่ายหน้าสู่การปั่นจักรยานบนท้องถนนแทน จนในที่สุดติดใจรสชาติของการได้เหงื่อแบบนี้ เลยชักชวนคู่หูชาวเยอรมันตระเวนปั่นจักรยานไปทั่วประเทศ

ชั่วขณะนั้น เงาะเริ่มรู้สึกหดหู่ที่เด็กวัยรุ่นแถวบ้าน มั่วสุมเสพยาเสพติด ไม่ก็ซิ่งมอเตอร์ไซค์หรือยกพวกตีกัน เขาจึงเริ่มต้นชักชวนเด็กแถวบ้านท้าแข่งจักรยาน จนเริ่ม มีเด็กในชุมชนทยอยสมัครเข้าทีมปั่นจักรยานด้วย เด็กบางคนมีปัญหาครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ทะเลาะกัน ก็หนีมาขออาศัยอยู่กับเขาในบ้านที่ดัดแปลงเป็นอู่ซ่อมรถ

ทุกวันเขาสอนเด็ก ๑๐ กว่าคนปั่นจักรยานอย่างจริงจัง เพื่อหวังให้เด็กเหล่านี้ห่างไกลยาเสพติด การพนัน เหล้า บุหรี่ หรือเกมออนไลน์ ไม่นานเด็กๆ ก็มีโอกาสได้ลองทดสอบฝีมือเพื่อคัดเลือกเป็นนักกีฬาเยาวชนตัวแทนของจังหวัด โดยมีเงาะเป็นโค้ชหรือผู้ฝึกสอนของทีม ระหว่างเส้นทางการแข่งขัน พวกเขาถูกมองด้วยสายตาเหยียดหยาม ดูถูกดูแคลนมาตลอด ตั้งแต่รถจักรยานคันเก่า ชุดนักกีฬาซอมซ่อ หน้าตาและผมเผ้ารุงรังของเงาะที่ดูอย่างไรก็ไม่ใช่โค้ชแน่นอน

แต่ทีมของเงาะใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถชนะ การแข่งขันคัดเลือกเป็นนักกีฬาตัวแทนจังหวัด ก้าวขึ้นสู่ตัวแทนระดับภาค และกลายเป็นแชมป์จักรยานเยาวชนของประเทศ ได้เหรียญทองมานับครั้งไม่ถ้วน ล่าสุดในการแข่งขันจักรยานทางไกลนานาชาติก็เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ ๑ สร้างความประหลาดใจให้แก่คนในวงการกีฬาจำนวนมาก

เงาะบอกเคล็ดลับว่า เขาเพียงฝึกให้เด็กเหล่านี้รู้จักคิดเป็น และการแข่งจักรยานเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้เด็กเติบโตเป็นคนมีคุณภาพในสังคมต่อไป

ความสำเร็จนี้เองส่งผลให้ในปี ๒๕๕๑ อนันต์ ศรีเรือง หรือเงาะ ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ฝึกสอนจักรยานถนนยอดเยี่ยมของประเทศ ปัจจุบันเด็กในทีมของเขาอยู่ระหว่างเก็บตัวเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศเข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งหน้า

บ่ายวันหนึ่ง สารคดี เดินทางสู่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เราออกนอกเมือง ลัดเลาะไปตามคลองชลประทานเข้าสู่ถนนลูกรัง จนมาพบบ้านเก่าๆ ที่ดัดแปลงเป็นอู่ซ่อมรถ

เราพบเงาะ–ชายฉกรรจ์วัยย่าง ๔๐ ผู้ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ กำลังกำชับลูกๆ ของเขาด้วยสีหน้าจริงจังว่าโปรแกรมซ้อมจักรยานวันนี้มีอะไรบ้าง

ไม่ง่ายนักสำหรับคนที่มีรายได้ไม่มากมายเท่าไร ไม่มีองค์กรใดหนุนช่วย แต่ต้องรับผิดชอบชีวิตเด็กนับสิบคนโดยมีจักรยานเป็นเครื่องมือ แม้จุดเริ่มต้นเพียงมุ่งหวังให้เด็กๆ เป็นคนดี หลีกหนีจากอบายมุข หากในที่สุดก็สามารถผลักดันให้พวกเขากลายเป็นแชมป์นักกีฬาของประเทศ

เงาะบอกกับเราว่า เขาเป็นเพียงคนเปิดประตูให้เด็กเหล่านี้เท่านั้น

anansriruang02

อยากให้คุณอนันต์เล่าชีวิตวัยเด็ก ก็เหมือนเด็กทั่วๆ ไป ผมเป็นคนราชบุรี อำเภอจอมบึง เป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่ได้เรื่อง ค่อนข้างจะแย่ที่สุดในห้อง ผมเรียน ม.๓ มา ๕ ปีแต่ไม่จบ เก่งมาก(หัวเราะ) พ่อก็ไม่พอใจเพราะเขาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เขาอยากให้เราเรียนสูงๆ แต่ด้วยสมองเราไม่ไปและไม่ชอบเรียน ชอบพวกเครื่องจักรเครื่องกลมากกว่า ก็กัดฟันเรียนตามใจพ่อ พอจบ ม.๓ ภาคค่ำก็ไปฝึกงานที่อู่ซ่อมรถใกล้บ้าน ขอเขาอยู่ไปเรื่อย อยู่แบบคนรับใช้ แบบไปเรียนวิชา เช้ามาก็กวาดบ้าน ถูบ้าน หุงข้าว ล้างจาน ซักผ้าให้เขา อะไรต่างๆ แล้วก็ดูแลอู่ซ่อมรถจนมีความรู้เรื่องซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ จากนั้นมาผมหลงใหลรถมอเตอร์ไซค์มาก ศึกษารายละเอียดเครื่องยนต์ต่างๆ ด้วยตัวเอง

แล้วทำไมมาสนใจแข่งมอเตอร์ไซค์ ตอนอายุประมาณ ๑๘-๒๐ ปี ช่วงนั้นเหมือนเป็นปมด้อยมากกว่าเพราะว่าเราเรียนไม่เก่ง พอเรียนไม่เก่งเราก็อยากได้รับการยอมรับจากเพื่อนหรือจากผู้คนทั่วไป เห็นเพื่อนขี่รถมอเตอร์ไซค์คันเล็กๆ เราก็อยากขี่บ้าง แต่อยากขี่คันใหญ่กว่า แปลกแหวกแนวกว่า เลยเอาเงินเก็บรวมกับเงินที่ขอจากทางบ้านไปซื้อรถมอเตอร์ไซค์เป็นคันแรกในชีวิต รู้สึกภูมิใจที่มีรถที่เร็วและแรง ขณะที่เพื่อนๆ ไม่มี เราขี่เป็นคนแรกๆ เลย เป็นรถมอเตอร์ไซค์คันใหญ่ ๔ สูบ ขนาด ๔๐๐ ซี.ซี. ยี่ห้อซูซูกิ ขณะที่เพื่อนขี่มอเตอร์ไซค์ขนาด ๑๒๕ ซี.ซี. เป็นรถมือสองเอามาซ่อมดัดแปลง พอมีรถคันแรกเราก็ศึกษาเทคนิคการขับขี่ การบังคับรถ การใช้คันเร่ง การประคองตัว การเข้าโค้งด้วยความเร็ว การเข้าโค้งหักศอก ศึกษาทุกอย่างเลย

พอมีรถเป็นของตัวเอง ตอนนั้นขับขี่ด้วยความเร็วเท่าไร
ก็เท่าที่รถจะวิ่งได้ประมาณ ๒๒๐ กม./ชม. วิ่งไปตามทางหลวง ช่วงนั้นยังไม่ถึงขนาดไปแข่งกับใคร คือยังขี่ธรรมดาแล้วยังไม่รู้จักใคร เพื่อนขี่คันเล็กๆ ก็ไม่มีใครอยากขี่กับเราอยู่แล้ว มาช่วงหลังๆ เราได้รู้จักทีมกรุงเทพฯ เขามาเที่ยวตรงที่มีโค้งเยอะๆ เรียกว่า แก่งส้มแมว อำเภอสวนผึ้ง ราชบุรี เราก็มีโอกาสไป “เล่น” กับเขา แล้วเราก็ตั้งทีมแข่งรถเล่นๆ ชื่อ “ซาไก”

เล่นอย่างไรครับ
เล่นทางโค้ง ก็คือไปต่อสู้ เหมือนในสนามแข่ง รถมอเตอร์ไซค์พวกนี้ทางตรงใครๆ ก็ขี่ได้ ไม่ท้าทายอะไร แต่แข่งทางโค้งมันต้องใช้ฝีมือที่จะคอนโทรลรถด้วยเกียร์ ด้วยน้ำหนักตัวที่จะทิ้งลงไป จะต้องเข้าไลน์ (เส้นทาง) ของถนนยังไง เสร็จแล้วเราก็ไปซ้อมที่โค้งก่อน เป็นถิ่นของเรา ก็มีโอกาสได้ไปซ้อมบ่อย ๑๑๐ โค้งเราจำได้ทุกโค้ง ตอนนั้น จำได้หมดเลยว่าโค้งนี้จะเข้าไลน์ไหน เกียร์ไหนต้องโยนยังไง ถ้ารถสวนต้องทำยังไง แล้วเราก็ดูวิธีการเข้าโค้งจากคนอื่น ดูจากซีดี ดูจากทีวี ไปหัดไปซ้อมแล้วก็ได้เป็นแชมป์

ทิ้งโค้งด้วยความเร็วเท่าไร
ถ้าโค้งแคบๆ ประมาณ ๑๐๐-๑๒๐ กม./ชม. ก็เก่งแล้ว ถ้าโค้งกว้างๆ ก็ประมาณ ๑๔๐-๑๖๐ กม./ชม. แล้วแต่ว่าโค้งแคบหรือกว้างขนาดไหน แต่ละครั้งมีคนเข้าแข่งเยอะไหมครับ ราว ๕๐ คันก็มี ๓๕ คันก็มี แต่ไม่เชิงแข่งกัน เหมือนมาดวลกันมากกว่า ต่างคนต่างเป็นเจ้าของอู่รถ เราก็เป็นเจ้าของอู่ที่นี่ ตอนนั้นผมลาออกมาเปิดกิจการอู่ของตัวเองแล้ว บางคนเป็นเจ้าของอู่ที่พระประแดง เพชรบุรี บ้านโป่ง กาญจนบุรี แม่กลอง จะเป็นที่รู้กันของคนในแวดวงรถมอเตอร์ไซค์ขนาด ๔ สูบ เวลาแข่งก็มาเจอกันที่ถนน ใครเข้าโค้งก่อนก็ชิงเข้าโค้งเลย ก็สู้กันลองดู ขาหัก ซี่โครงหักก็มี ตายก็มี

เคยได้แชมป์ ๗ ปีซ้อน
ตอนนั้นแข่งกันเดือนละ ๒-๓ ครั้ง ไม่มีใครสู้เราได้สักคน เอาแค่เกาะได้ ไม่ต้องแซงเราหรอก คือขณะที่เราอยู่ข้างหน้า ถ้าเขาเกาะเราได้ก็ถือว่าเราแพ้แล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครเกาะเราได้เลย

ย้อนกลับไปทบทวนดู อะไรทำให้คุณเป็นแชมป์ ทำไมคนอื่นเอาชนะคุณไม่ได้
จิตใจมากกว่า ตอนนั้นไม่กลัวตาย บ้า ไม่อยากแพ้ใคร พอไม่มีใครสู้เราได้ เราก็เริ่มหยิ่งในศักดิ์ศรี ตอนเป็นแชมป์มีคนมาขอท้าตลอด นัดกันทุกเสาร์ จะมีทีมนั้นทีมนี้มานะ ก็มาลองดูซิ บรรดาหัวหน้าทีมทั้งหลายที่มาแข่งก็จะบอก ลูกทีมว่า อย่าไปขับตามไอ้เงาะมันนะ อันตรายมาก เพราะมันอาจจะพาไปเข้าโค้งตายได้ แต่ละทีมเขาจะสอนเทคนิคน้องใหม่ว่าจะต้องขับขี่อย่างไร โดยเฉพาะการเข้าโค้งห้ามเชนเกียร์เด็ดขาด แต่ทุกคนก็สงสัยว่าทำไมไอ้เงาะเชนเกียร์ได้ แล้วรถไม่คว่ำ เขาก็บอกกันว่าขับแบบไอ้เงาะนั่นมันนอกตำรา อย่าไปยุ่งกับไอ้เงาะ ถ้าไปเชนอย่างนั้นอาจเอารถไม่อยู่ เพราะมีคนตามผมแล้วประสบอุบัติเหตุ มีบ่อยเลย ไม่ตายหรอก แค่ซี่โครงหัก ขาหัก แขนหัก

รู้สึกภูมิใจอย่างเดียวเลยเพราะชนะมาโดยตลอด
สมัยนั้นก็ภูมิใจ แต่ช่วงหลังพอเป็นแชมป์มาได้ ๗ ปีแล้วเราก็คิดอีกแบบ เพราะว่าเราทำให้คนมากมายบาดเจ็บ ทุกคนอยากมาประลองกับเรา เพียงแต่เรารู้ว่าโค้งนี้เราเข้าแล้วล้อหน้าจะสะบัดกี่ครั้ง เรารู้ถึงว่าเวลาขึ้นโค้งซ้ายพอถึงยอดพับลงทางขวาล้อมันจะยก พอล้อหน้ายกปุ๊บ ตอนล้อแตะพื้น ล้อหน้าจะสะบัด ๒ ครั้ง เราควรจะเร่งเครื่องตอนสะบัด ครั้งที่ ๒ เรารู้เกือบทุกโค้งเพราะเราเป็นเจ้าของพื้นที่ แต่คนอื่นไม่รู้แบบเราเพราะไม่ใช่คนพื้นที่ พอเห็นลูกทีมล้ม แหกโค้ง แขนหัก ขาหัก เราก็ไม่อยากขี่แล้ว ช่วงนั้นคิดเยอะ แต่ยังมีคนอยากลองตลอด เราก็เริ่มเบื่อ ใจจริงแล้วผมอยากขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามแหล่งที่มีความกันดารมากกว่า ตอนนั้นมีความตั้งใจจะขนข้าวสารอาหารแห้ง หนังสือ ปากกา ดินสอ มุ้ง เครื่องนุ่งห่ม เอาไปแจกให้แก่คนบนภูเขาหรือคนที่เขาไม่มี มีครั้งหนึ่งผมไปอยู่ชายแดนแถวสวนผึ้ง ข้ามไปอีกฝั่งไปเจอกะเหรี่ยงที่อยู่ในป่าจริงๆ เห็นเสื้อผ้าที่เขาใส่แล้วรู้สึกสงสารมาก หากเป็นบ้านเราก็เอาไปทำผ้าขี้ริ้วแล้ว เราก็คิดว่าขี่มอเตอร์ไซค์ขนของมาให้คนเหล่านี้ยังจะมีประโยชน์กว่าแข่งซิ่งกัน คุณเคยคิดไปแข่งมอเตอร์ไซค์ระดับประเทศไหม ไม่ครับ ผมไม่มีความคิดอย่างนั้น รู้ว่าถ้าแข่งไม่มีใครสู้ผมได้ แต่อยู่อย่างนี้ทุกคนรู้จักเรา มีคนเอารถมาซ่อมกับเรา เรามีรายได้ก็พอแล้ว ตอนนั้นคิดอยากรวมทีมไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไปแล้วก็อยากจะเอาของติดมือไปให้เด็กที่ไม่มีเสื้อผ้าใส่ คิดแบบนั้นมากกว่า ไม่คิดว่าจะต้องไปสู้ไปรบไปชนะใครเขา

ตอนซิ่งมอเตอร์ไซค์ไม่เคยถูกตำรวจจับเลยหรือ
ไม่เคย แล้วยังชอบไปแกล้งตำรวจบ้าง ตำรวจราชบุรีหลายๆ คนก็รู้จัก บางคนเอารถมาซ่อมกับเราก็มี บางทีเราซ่อมรถให้ลูกค้าเสร็จแล้วก็ต้องลองเครื่องดู พอขับไปตรงสะพาน ตำรวจตั้งด่านอยู่เราก็รู้ พอขึ้นสะพานปุ๊บเบิ้ลเครื่องเสียงดัง ตำรวจมองมาไม่รู้หรอกว่าใคร ใส่หมวกกันน็อก พอตำรวจขับรถตาม เราก็หนีออกนอกเมืองไป ไล่ไม่ทัน

คิดยังไงกับแก๊งซิ่งมอเตอร์ไซค์กลางคืนสมัยนี้ ต่างจากสมัยก่อนหรือไม่
ผมว่าน่าเบื่อมาก การที่ผมรับเลี้ยงและฝึกเด็กทุกวันนี้เพราะว่าผมเห็นเด็กซิ่ง ถามว่าเหมือนผมแต่ก่อนไหม ผมว่าไม่เหมือน คือเขาซิ่งเพื่อที่จะได้ความนับถือจากเพื่อนในแวดวงตัวเอง แต่เราไม่ได้ซิ่งอย่างวัยรุ่น เราสู้เพื่อที่จะมีอาชีพมากกว่า ตอนนั้นเราเปิดอู่ซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ ๔ สูบ แถวนี้มันเป็นชนบท ไม่ใช่ตัวเมือง คงไม่มีใครเอารถแบบนี้มาซ่อมหรอก มีแต่รถไถหรือมอเตอร์ไซค์คันเล็กๆ มากกว่า เราก็คิดว่าถ้าเผื่อเรามีชื่อเสียงในวงการ มีคนนับถือฝีมือ คงจะมีลูกค้าตามมาซ่อมรถที่อู่เรา แล้วเราก็ชอบทางนี้ด้วย เราไม่อยากจะไปหากินกับคนยากคนจน เราก็ซ่อมรถคนมีตังค์ ทำรถเครื่องขนาดใหญ่ แต่ทำใหญ่ๆ แล้วตัวเองอยู่ในป่าจะไปซ่อมอะไร ใครจะเอารถมาให้ซ่อม เราก็ต้องมี ชื่อเสียงก่อน

อีกอย่าง ตอนเด็กๆ เราเรียนไม่เก่ง ใครเขาก็ไม่เชื่อถือ เราเป็นได้แค่เบ๊ เรียนไปวันๆ ไม่ได้เรื่องได้ราวเพราะเราไม่ชอบ เราคิดว่าการศึกษาเมืองไทยไม่เปิดประตูให้เด็กได้พัฒนาตนเองว่ามีความสามารถด้านใดบ้าง เรียนไปกลายเป็นบัวใต้น้ำก็ลำบาก ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว ในห้องอาจจะมีสัก ๕๐ เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเหมือนเรา แต่ครูก็จะสอนแต่เด็กเก่ง เป็นบัวที่ใกล้ๆ จะบานแล้ว พูดปุ๊บมันเข้าใจยกมือตอบกัน ขณะที่หากครูมองมาที่เรา เราก้มหน้ากลัวครูเรียก ให้ไปเขียนหน้าห้องนี่มือสั่นน้ำตาหยดเพราะเราไม่รู้เรื่อง แต่มาถึงนาทีนี้ วันนี้ ผมกล้าพูดว่าในบรรดานักเรียนในห้องทั้งหมด ผมก็ไม่ได้อยู่หลังห้องแล้ว เผลอๆ ไอ้ที่อยู่หน้าห้องเก่งๆ อาจจะทำงานแย่กว่าผมก็ได้ อาจจะมีความคิดแย่กว่าผมก็ได้ คนเราไม่แน่ไม่นอน มันอยู่ที่คนเปิดประตู

แล้วใครเปิดประตูให้คุณเงาะ
เป็นโลกทัศน์แห่งการดูมากกว่า ผมชอบดูหนัง ชอบไปเที่ยวโลกภายนอก ได้สัมผัสของจริง ได้อะไรจริงๆ ผมว่าการดูหนังเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตทีเดียว อย่างหนังฝรั่งที่แฝงความคิดที่แยบยล บางทีวันที่ดูหนังจบเราอาจยังไม่เข้าใจ ผ่านไปหลายปีกลับมาดูใหม่ถึงเข้าใจสิ่งที่หนังพูด แล้วอ้อ ใช่ ทำไมเราไม่คิด บางคนอาจจะดูครั้งเดียว รู้เลยคิดยังไง แต่สำหรับผม หนังเรื่องหนึ่งจะต้องใช้เวลาดูถึง ๑๐ ครั้ง หนังเรื่องหนึ่งอาจช่วยเปิดประตูสู่โลกที่เราไม่เคยคิดไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ถ้าเราดูหนังไทย โลกของหนังไทยมีแค่อิจฉาริษยากันไปมา มันก็อยู่ในโลกแคบๆ มองเห็นแค่เท้าตัวเอง อะไรประมาณนั้น คุณเคยขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวทั่วประเทศกับเพื่อนชาวเยอรมัน

anansriruang03

และเป็นจุดเริ่มต้นของการหันมาขี่จักรยาน
ใช่ครับ พอทีมซาไกของเราที่มีกันอยู่ ๑๐ กว่าคนแตก ผมก็อยู่คนเดียว พอดีมีเพื่อนชาวเยอรมันชื่อฮาร์ดี้ เขามาเป็นอาสาสมัครเป็นครูสอนวิชาช่างให้แก่นักโทษในเรือนจำ คือมาทำคาร์แคร์ ทำโรงกลึงไว้ในเรือนจำเพื่อให้นักโทษเยาวชนมาเรียน เราไม่รู้จักเขามาก่อน มีวันหนึ่งเราขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านหน้าอู่ที่เคยทำงาน เจ้าของอู่บอกว่ามีฝรั่งมาลองท้าแข่ง เราบอกไม่มีปัญหา ต่อมาเราไปเยี่ยมเพื่อนที่เพชรบุรี เจอฝรั่งคนนี้นั่งอยู่ในอู่เพื่อน เราก็ชวนแข่งรถกลับราชบุรี เขาบอกไม่มีปัญหา ก็เล่นกันมาด้วยความเร็ว ๒๐๐ กว่ากิโล ผลคือเราชนะขาด แล้วมาจอดรถที่ราชบุรี คุยกันจนเช้า ตอนหลังกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน เขาพูดภาษาไทยได้บ้าง ภาษาอังกฤษผมไม่เป็นเลย ก็คุยกันงูๆ ปลาๆ สนิทกันแล้วก็เที่ยวกันเรื่อย ขับรถไปเชียงใหม่ ไปพัทยา ไปสุราษฎร์ ไปตลอด ไปกันทั่ว ช่วงหลังมาเราต่างก็เริ่มเบื่อความเร็ว คุยกันว่ามันอันตราย อาจเกิดอุบัติเหตุได้สักวันหนึ่ง ลองมาปั่นจักรยานกันไหม เป็นการออกกำลังไปด้วยในตัว ชีวิตก่อนหน้านี้อยู่กับความเร็วมาตลอด

พอมาปั่นจักรยานแล้วไม่รู้สึกหรือว่ามันช้า
ไม่ เพราะเราเคยวิ่ง เคยซ้อมมวยมาก่อน พอมาปั่นจักรยานเรื่องช้าเร็วไม่สำคัญ ขอให้ได้ออกกำลัง ตอนแรกลองไปหาซื้อจักรยานเสือภูเขาดีๆ สักคัน ปรากฏว่าราคาคันละ ๒ หมื่นกว่าบาท เพื่อนบอกแพง เลยเปลี่ยนใจไปวิ่งออกกำลัง ซื้อรองเท้ากีฬาคู่ละ ๒๕๐ บาท ถูกกว่ากันตั้งมาก วิ่งไปได้ประมาณ ๑ เดือนปรากฏว่าเกิดอาการปวดหัวเข่าอย่างรุนแรง วิ่งต่อไปคงไม่ดีแน่ จึงเปลี่ยนมาปั่นจักรยานแทน ก็ไปหาซื้อจักรยานญี่ปุ่นเก่าๆ ราคา ๑,๐๐๐ กว่าบาทที่เขาขี่กัน พอติดใจก็เริ่มเปลี่ยนเป็นจักรยานเสือหมอบราคาคันละ ๒,๕๐๐ บาท แล้วเริ่มท้ากับฮาร์ดี้เหมือนท้าแข่งมอเตอร์ไซค์ ตอนแรกก็ขี่ระยะใกล้ๆ ก่อน ๒ กิโลบ้าง ๕ กิโลบ้าง แล้วเขยิบไกลขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นการขี่จักรยานทางไกล ขี่ไปชะอำ ไปเมืองกาญจน์ สุดท้ายก็ท้าฮาร์ดี้ขี่จักรยานไปเชียงใหม่กันดีกว่า สองคนขี่จักรยานไปทั่วประเทศเลย ค่ำไหนก็นอนโรงแรมถูกๆ คืนละ ๒๐๐ เราจะมีที่พักเป็นจุดๆ อย่างไปเชียงใหม่ วันแรกเราก็ปั่นไปชัยนาท ไปพักโรงแรมที่รู้จัก พอวันที่ ๒ ไปพักที่ตากที่เราพักกันประจำ รุ่งขึ้นปั่นไปเชียงใหม่เลย วันละ ๒๐๐ กิโลกว่าสบายๆ มันเป็นการเดินทางที่สนุกมาก ได้สัมผัสผู้คนมากมายตามรายทาง

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณชักชวนเด็กๆ แถวบ้านมาฝึกขี่จักรยาน
จริงๆ แล้วหลายๆ อย่างรวมกัน พอกลับจากเชียงใหม่ ผมเริ่มหงุดหงิดกับเด็กแถวบ้านที่ชอบรวมกลุ่มกันสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เราเห็นตามแยกไฟแดงตอนกลางคืนมีเศษขวดแก้วแตกเต็มไปหมด มีอยู่วันหนึ่ง ผมติดไฟแดงอยู่กับเพื่อน วัยรุ่นก็ขับมอเตอร์ไซค์มาจอด พวกเด็กแว้นทั้งหลายแล่นมาเจอกัน เขย่าขวดโซดาปาใส่กัน มีเอาดาบ ไล่ฟันกัน ใครมีปืนก็ยิงกัน เฉี่ยวหัวแม่ค้าไปบ้าง เด็กในหมู่บ้านแถวนี้ก็มียาบ้าเต็มไปหมด พวกเสพยาบ้า พวกขโมยชุกชุมมาก บางทีเราขี่มอเตอร์ไซค์ผ่าน เห็นวัยรุ่นเด็กมัธยมฯ แถวคลองชลประทานนั่งกันตรงสะพาน รอเวลาคนรู้จักผ่านมาก็เรียกจอด ไถตังค์เขาไปซื้อเบียร์กิน ซื้อบุหรี่สูบ บางคนก็ติดเกมออนไลน์ เรารู้สึกแย่มาก เราน่าจะได้มีส่วนช่วยพวกเขา เราน่าจะทำอะไรเพื่อแผ่นดินบ้าง ก็เลยไปท้าเด็กแข่งจักรยาน ชวนขี่จักรยานไปป่า ลองดู สนุกนะ แกล้งๆ ชวน

เริ่มจากเด็กข้างบ้านชื่อกรีน พ่อแม่เลิกกัน พ่อติดเหล้า เด็กไม่อยากอยู่บ้าน เราจึงรับมาอยู่ด้วย เลี้ยงเหมือนลูกคนหนึ่ง มาปั่นจักรยานแข่งกัน พอขี่ทุกวันเขาก็พาเพื่อนมาอีก ขี่กันสนุก บีเอ็มเอ็กซ์บ้าง เสือภูเขาเก่าๆ บ้าง ลองขี่กันไปไม่รู้เรื่องรู้ราว จากนั้นก็มีเด็กแถวนั้นอีก ๖-๗ คนชักชวนกันเป็นทอดๆ มาสมัครอยู่บ้านผมซึ่งดัดแปลงเป็นอู่ซ่อมรถด้วย เด็กเหล่านี้มีกิจวัตรประจำวันคือล้างจาน รดน้ำต้นไม้ ทำนา ทำสวน ซ่อมมอเตอร์ไซค์ พอสี่โมงเย็นก็มาปั่นจักรยานกัน

แล้วทำไมคุณจึงใช้จักรยานเป็นเครื่องมือในการสอนเด็ก
ผมคิดว่าจักรยานเป็นการเปิดประตูสู่เด็ก สู่คนสมาธิสั้น ไม่คิดอะไรไปไกล แต่ชอบออกกำลัง สมัยเป็นเด็ก ถ้าให้ผมนั่งเรียนในห้อง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิชาอะไรต่างๆ ผมเรียนไม่รู้เรื่อง แต่พอครูบอกให้ไปยกร่องสวน โอ้โฮ ดีใจ ไปโดดเป็นลิงเป็นค่าง ไม่ต้องคิด เอาจอบไปขุดอย่างเดียว ถ้าเกิดชั่วโมงไหนครูไม่มา ให้ไปเตะฟุตบอล โห ดีใจ ตอนเด็กผมรู้สึกหวาดกลัวทุกครั้งที่ครูให้ไปท่องสูตรคูณหน้าชั้น พวกหัวกะทิท่องได้ฉับๆ แต่ผมท่องให้ตายก็ไม่จำ จนโดนไล่ให้ไปท่องสูตรคูณใต้ต้นมะพร้าว ถ้าท่องไม่ได้ไม่ต้องเข้าห้องเรียน ผมถึงกับปรับทุกข์กับเพื่อนที่เรียนห่วยด้วยกันว่าอยากไปเกิดใหม่ให้สมองมันดีกว่านี้ ในห้องเรียนมีนักเรียนประมาณ ๓๐ คน ผมสอบได้เกือบที่โหล่ตลอด สู้หันไปจับจอบจับเสียมดีกว่า แน่นอนครับเด็กบางคนชอบเรียน แต่ว่าหลายๆ คนก็ชอบที่จะออกกำลัง ตรงนี้เลยเป็นส่วนที่เราคิดในแง่มุมของเด็กเรียนแย่ๆ หลังห้อง

สมมุติว่าห้องเรียนมี ๔๐ คน เด็ก ๒๐ คนคิดเหมือนเรา หรืออย่างน้อยคิดคล้ายๆ เรา มันก็เป็นทางที่จะเปิดประตูให้เขา ให้เขารู้สึกว่าอยากทำตรงนี้ แต่ถ้าเราไม่เปิดเขาก็จะไม่คิด เด็กบางคนติดเกม มันก็อยู่ในชีวิตเสมือนจริง จำลองมาอยู่ในจอคอมพิวเตอร์ จำลองการต่อสู้การออกกำลัง อะไรก็ช่างที่จำลองออกมา เด็กก็สู้แต่กับสิ่งที่เสมือนจริง แต่ชีวิตจริงเด็กไม่ได้ออกกำลัง เด็กใช้แค่นิ้วกับตากับสมอง คุณเห็นไหมเด็กในบ้านที่ผมรับเลี้ยง บางคนเคยขโมยพระเครื่องไปขาย ขโมยของพ่อแม่ ฝาโอ่งยังขโมยไปขาย ลักษณะนี้คล้ายๆ กับคนติดยาเสพติด เราก็ต้องท้า ต้องเปิดประตู เราก็ชวนเด็กเหล่านี้ท้าแข่งปั่นจักรยานกันดู เด็กก็รับคำท้า แรกๆ อาจคิดว่าปั่นจักรยานมันสักเท่าไรเชียว แต่พอได้ปั่นปุ๊บสู้ไม่ได้ ซึ่งเราก็ต้องไม่ปั่นให้มันโหดนัก แค่พอสมควร การที่เขาสู้ไม่ได้เพราะชีวิตเขาติดอยู่กับสิ่งเสมือนจริงตลอดเวลา เราก็ให้ความคิดเด็กว่า เอาใหม่ ลองดูซิว่าทำไมสู้ไม่ได้ เพราะอะไร เด็กก็เริ่มคิด เราก็ค่อยๆ เริ่มบอกเพราะประตูเปิดแล้ว เด็กก็เริ่มหันมาสนใจ เริ่มไปเล่นจักรยานจนแข็งแกร่งพอ ถึงจุดที่แข็งแกร่งปุ๊บ ตรงนี้เป็นเรื่องจริงแล้ว บางคนแข่งจักรยานระดับเยาวชนขึ้นสู่ที่ ๒ ของประเทศ บางคนได้ที่ ๕ ที่ ๗ เราก็บอกเขาตลอดว่าลำดับเขาอยู่ที่เท่าไร อธิบายให้เขาฟังว่าการที่เราเล่นอย่างนี้ทุกคนเกรงกลัว ทุกคนให้การยอมรับ เขาได้รู้จักวงการจักรยาน ว่าตัวเขาอยู่ในกลุ่มนี้ ไปไหนมาไหนคนรู้จัก กรรมการรู้จัก ถ้าเขาอยู่ที่เก่า แน่นอนไม่มีใครรู้จัก และมันก็ไม่ใช่เรื่องจริง แต่ตรงนี้มันคือของจริง จับต้องสัมผัสได้

การคัดตัวนักกีฬาปีแรกๆ เป็นอย่างไรบ้างครับ
ตอนนั้นทางจังหวัดมีหนังสือมาถึงโรงเรียนให้คัดตัวนักกีฬาจักรยานเป็นตัวแทนจังหวัดไปแข่งระดับภาค เด็กของเราได้เป็นตัวแทนโรงเรียนวัดปากช่องไปแข่งคัดเลือก เราก็มีเพียงรถจักรยานเก่าๆ ให้เด็กไปแข่ง ชุดนักกีฬาก็ไม่มี นุ่งกางเกงฟุตบอลไป ขณะที่คนอื่นใช้รถราคาแพง คันละเป็นแสน เราไม่รู้จักหรอกรถที่เขาใช้แข่งต้องเป็นรถแบบนี้ เรามีรถราคาไม่เกิน ๒,๕๐๐ ดูสภาพแล้วไม่น่าใช่รถแข่ง น่าจะเป็นรถจักรยานปั่นไปซื้อก๋วยเตี๋ยวมากกว่า แต่เราก็ไปแข่งกับเขา เขาก็มองเราด้วยสายตาดูถูก ส่ายหน้าเหมือนเห็นเราเป็นขยะ ครั้งนั้นเด็กของเราแพ้ทุกคน ไม่มีใครได้รับการคัดเลือก เราสู้เขาไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถ เทคนิคการขี่ การเบียดการบังกันเพื่อเปิดทางให้คนในทีมขึ้นนำซึ่งเรา ไม่เคยรู้มาก่อน

ครั้งแรกนี่แพ้ขาดลอยเลย
ตอนนั้นคิดว่าจักรยานเป็นกีฬาของคนรวยหรือเปล่า ดูรถที่เขาใช้มันแพงมาก คนดูมองดูเราเหมือนเป็นขยะ แต่เราก็ไม่เลิก เด็กก็ไม่เลิกขี่จักรยาน แล้วเราก็กลับมาทบทวนว่า ความตั้งใจที่ชวนเด็กมาขี่จักรยานไม่ได้ต้องการให้เด็กเป็นที่ ๑ แต่เพื่อให้เด็กได้ออกกำลังกาย ห่างไกลยาเสพติด เมื่อคิดได้แล้วก็ไปซ้อมตามปรกติแบบสนุกๆ ไม่ได้ตั้งความหวังอะไรมาก ไม่ได้ทุกข์ใจอะไร ปีต่อมาเราก็เอารถแบบนั้นไปแข่งอีก เจ้ากรีนเข้าเส้นชัยเป็นที่ ๒ พอปีที่ ๓ ระดับประถมฯ เราก็กวาดมา ระดับมัธยมต้นเรากวาดมา มัธยมปลายเราก็กวาดมาอีก จนได้เป็นตัวแทนภาค คนที่เขามีรถราคาเป็นแสนเขาเลิกขี่ เราก็ได้เล่น เราก็มีโอกาสเอารถเก่าๆ ของเราไปซ้อมไปขี่ ไปเล่นกับคนโน้นไปเล่นกับคนนี้ จนกระทั่งวันหนึ่งคนจากบริษัทนำเข้าจักรยานราคาแพงมาขี่เล่นที่ปากท่อ เพื่อนโทร.มาบอก เราก็เลยเอารถเก่าๆ ไปเล่นกับเขา รถเขาราคาหลายแสน เราหนีเขาได้ ๓ ครั้ง เจ้าของบริษัทเรียกมาถามว่าเอารถอะไรมาขี่กัน ทำไมรถ เศษเหล็กแบบเราถึงเอาชนะรถราคาแพงของเขาได้ ดูเหมือนเราไปหักหน้าเขา แต่เขาก็ดีด้วย เขาบอกว่าให้ทีมของเรา เอารถจักรยานของเขาไปใช้ได้ คล้ายๆ เป็นสปอนเซอร์ เขาให้ตัวถังรถกับตะเกียบ แล้วให้ใช้อุปกรณ์เก่ามาประกอบลองขี่กันดู ขี่จนเราเป็นแชมป์ภาคกลาง แล้วก็ไต่มาเรื่อย จนแข่งปีที่แล้วเด็กของเราเป็นแชมป์เยาวชนแห่งชาติ ได้ ๒ เหรียญทอง

หลังจากนั้นก็กวาดแชมป์มาตลอด
เป็นตัวแทนจังหวัดราชบุรีก่อน แล้วไปคัดเลือกเป็นตัวแทนภาค ไปแข่งกัน ๑๓ จังหวัด เมื่อปีที่แล้ว (ปี ๒๕๕๑) เราก็ไปแข่งกีฬาเยาวชนแห่งชาติที่อุบลราชธานีหรือดอกบัวเกมส์ เราได้ ๒ เหรียญทอง ประเภท Time Trial แบบบุคคล คือแข่งจับเวลาทีละคน ระยะทาง ๓๐ กิโลเมตร เราได้ที่ ๑ และแบบปล่อยพร้อมกัน ระยะทาง ๑๔๐ กิโลเมตร หน้าเส้นไปเลย แล้วรีเทิร์นกลับมา ใครถึงก่อนเข้าเส้นชัย ก็สู้กัน มีการเบียดกัน กระชากกันอย่างมีชั้นเชิง เราได้เหรียญทองมา ๒ ใน ๓ นักกีฬาของเราคือวุฒิ (สราวุฒิ สิริรณชัย) ก็ได้โล่นักกีฬาดีเด่นชาย ปีที่แล้วเด็กของเราก็ไปแข่งจักรยานทางไกล (Tour of EGAT ๒๐๐๘) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เป็นเจ้าภาพ มีเยาวชนจาก ๑๓ ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน เส้นทางเริ่มจากบางกรวยไปเข้าเส้นที่เขื่อนขุนด่านปราการชล นครนายก แล้วต่อไปเข้าเส้นที่เขาใหญ่มาสระบุรี เข้ากรุงเทพฯ รวมเวลา ๔ วัน ผลคือเราได้ที่ ๑ ชนะคู่แข่งจากอังกฤษ สิงคโปร์ ลาว

พ่อแม่เด็กไม่บ่นหรือว่าไปได้แชมป์แล้วเรียนไม่จบ โตขึ้นจะทำอะไรได้
พ่อแม่บางคนมาตามด้วยซ้ำ มันไม่เรียนช่างมัน ให้มาปั่นจักรยาน เพราะมันออกนอกลู่นอกทางไง พอเรียนไม่เก่งก็จะไปติดยา ไปซิ่งรถกับเพื่อน แต่ถ้าอยู่ตรงนี้ก็เห็นหน้าลูกละ ถ้าเผื่อเด็กมันดีเราจะดึงมาทำไม ก็เรื่องของเขา เขาจะเรียนเก่ง จะเป็นเลิศทางไหนมันก็เป็นส่วนของเขา แต่ว่าถ้าเด็กมันไม่เข้าท่าจริงๆ มองดูแล้วว่าจะไปทำอะไรได้ อย่างนี้เราถึงดึงมา คือส่วนใหญ่จะเอาเด็กมีปัญหามาสอนมากกว่า อยู่ดีๆ พ่อแม่รวยมีความสุข เราก็ไม่เข้าไปยุ่ง นอกจากว่าเขาอยากให้ลูกเขามาฝึกกับเรา เราก็ยินดี ตอนแรกๆ พ่อแม่บางคนที่เอาลูกมาฝากไม่เข้าใจก็จะกลัว เพราะเวลาทีวีออกข่าวการแข่งจักรยาน จะไม่ฉายภาพตอนปั่นดีๆ แต่ตัดภาพไปตอนล้มบ้าง เกี่ยวชนเกิดอุบัติเหตุบ้าง พ่อแม่ก็กลัว ไม่เอา เดี๋ยวลูกฉันตาย แขนขาหักอะไรอย่างนี้ พอกลัวก็จะมีการแอนตี้ ทีนี้เราก็ต้องสร้างกระแส คือซ้อมปั่นผ่านหมู่บ้าน จนกระทั่งเด็กบางคนได้เป็นแชมป์ มีบัตรนักกีฬาจากการกีฬาแห่งประเทศไทยติดตัว อะไรทุกอย่างที่มีครบก็ทำให้คนเปลี่ยน คนแก่ในหมู่บ้านก็เริ่มปั่นจักรยาน ไปนาไปไร่แทนที่จะขี่มอเตอร์ไซค์ก็หันมาใช้จักรยาน

แล้วคุณอนันต์สอนเด็กอย่างไร ว่าขี่จักรยานดีกว่ามั่วสุมยาเสพติด
ผมสร้างแรงจูงใจให้เด็ก คือเรามีตัวอย่างจากเด็กชุดแรกได้เป็นนักกีฬาตัวแทนจังหวัด ตัวแทนภาค ไปเป็นนักกีฬาทีมชาติ เด็กก็ภูมิใจ ระหว่างที่เขาภูมิใจ เขาก็ฝึกปั่นจักรยานทุกวัน ตื่นเช้ามาบางครั้งก็มีท้อ เหนื่อย แต่ส่วนมากเขายังชอบ ขยัน ระหว่างนั้นเราก็สอดแทรกเรื่องอื่นเข้าไปในชีวิตประจำวันเป็นการสอนเขาไปในตัว ผมสอนเด็กที่อยู่กับผมว่าตื่นเช้ามาต้องทำงาน หรือเรามาปลูกผักกินเองดีไหม สอนเขาทีละนิดโดยที่ไม่ต้องเอาตำรามาเปิด ไม่ต้องไปดูใครทำ ตรงนี้ก็เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เขา พอเขาลองปลูกผักเองปรากฏว่าผักเหี่ยว เราก็จะมานั่งคุยกัน ช่วยกันวิเคราะห์ว่าสาเหตุเพราะอะไร รดน้ำน้อยไปไหม ปุ๋ยไม่พอหรือเปล่า ทำให้เด็กวัยรุ่นรู้จักคิดเอง หาคำตอบเอง ไม่ใช่แบบในชั้นเรียน ถูกบังคับอย่างเดียว เอากรงไปขังจิตใจขังความคิดเขา ว่ามีเพียงรูปแบบเดียวที่จะเดิน เรียนจบต้องไปทางนี้ๆ ทั้งๆ ที่ตัวเขาอาจจะคิดไปอีกทางไม่เหมือนคนอื่น อาจจะคิดเหมือนผมก็ได้

เวลาพาเด็กไปซ้อมไม่ทำให้เสียการเรียนหรือครับ
ตอนนี้มีเด็กอยู่ ๖ คน อายุ ๑๖-๑๘ ปี ส่วนใหญ่ยังเรียนหนังสือ เวลาพาเด็กไปซ้อมผมก็จะไปขออนุญาตครูที่โรงเรียน และอธิบายว่ากิจกรรมนี้เป็นการแก้ปัญหาเด็กเกเร เด็กเหลือขอที่เรียนไม่เก่งอย่างไร ซึ่งทางโรงเรียนก็ เห็นด้วยที่จะใช้กีฬาแก้ปัญหาเด็ก

ถามว่าเสียการเรียนไหม ผมยกตัวอย่าง วันหนึ่งวุฒิไปสอบ กลับมาบอกว่าไปเจอข้อสอบพวกสแควร์รูต พายอาร์ยกกำลังสอง เขาถามว่าวิชาเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์อะไรได้ในท้องนา ผมก็ตอบไม่ถูกเหมือนกัน แต่ก็แปลกใจว่าทำไมระบบการศึกษาถึงไม่ส่งเสริมให้เด็กอยากเป็นในสิ่งที่เขาอยากเป็นให้มากที่สุด วุฒิมาอยู่กับผมตั้งแต่ ป.๕ เป็นเด็กเงียบๆ ไม่สุงสิงกับใคร ผมเห็นแววเลยพาไปแข่งบ่อยๆ ผ่านไป ๓-๔ ปี วุฒิสามารถคว้า ๒ เหรียญทองประเภท Time Trial ในการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติที่อุบลฯ และตอนแข่งจักรยานทางไกลเมื่อปีที่แล้ว วุฒิก็ได้อันดับ ๑ ตอนนี้วุฒิได้รับการบรรจุเป็นนักกีฬาเยาวชนทีมชาติไปเก็บตัวฝึกซ้อมเพื่อแข่งระดับโลกต่อไป

แล้วอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้เด็กของคุณได้แชมป์
ผมฝึกความคิดของเด็กมากกว่า คือฝึกให้เด็กคิดว่าจะคุมตัวเองยังไง วางตัวเองยังไง ผมก็วางแผนให้ในการแข่งแต่ละครั้ง อย่างวันนี้จะมีการซ้อมสี่โมงเย็น เราไม่ขี่เต็มที่ วันนี้เราฝึกขี่ขึ้นเนิน เขาต้องยืนขี่เพื่อที่จะเสริมกล้ามเนื้อขา ฝึกความทนทาน เพราะการที่เด็กจะขี่จักรยานด้วยความเร็วให้นานที่สุดในสนามแข่งก็ต้องอาศัยความทนทานของกล้ามเนื้อ ผมก็จะคอยดูว่าเขาคุมตัวเองได้ไหม เราก็บอกวิธีการว่าการที่เราชนะคนอื่นเราต้องคุมตัวเองให้ได้ก่อน ตัวเราก็ต้องบังคับตัวเอง เช่น ตื่นแต่เช้า หมั่นฝึกซ้อม อย่างนี้เราต้องคุมตัวเอง แล้วเราก็คุยกัน ให้เด็กคิดเองว่าเขาควรจะคุมตัวเองยังไง ครั้งนี้เขาอาจจะฟังบ้างไม่ฟังบ้างไม่เป็นไร แต่หลังจากแข่งครั้งแรกเขาได้ประสบการณ์แล้วว่าเขาด้อยกว่าคนที่ได้ที่ ๑ นิดเดียว เขามาเป็นที่ ๓ เขาก็จะกลับมาทบทวนความผิดพลาดของตัวเอง ทบทวนสิ่งที่เราเคยพูดเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ว่าน้าเงาะบอกให้ควบคุมตัวเอง ที่เขาแพ้ก็เพราะเวลาให้ซ้อมให้ยืนขี่ไม่ตั้งใจ ขี่ไปคุยกันไปบ้าง แล้วก็ไม่จริงจัง ไม่มีการคุมว่าต้องปั่นด้วยความเร็วระดับนี้ ต้องขึ้นยืนตรงนี้ ต้องใช้ความเร็วยังไง ทำให้เขาด้อยในวันแข่งขัน พอเขาทบทวนเสร็จ เขาจะเริ่มควบคุมตัวเองเป็น คือเราสอนให้เขาคิดเอง ไม่ได้สอนให้ทำตาม

คุณเองก็เรียนรู้การฝึกสอนเด็กจากประสบการณ์ ไม่เคยไปเข้าคอร์สเป็นโค้ชที่ไหนมาก่อนเลย
ผมไม่เคยมีความรู้เรื่องจักรยาน ก็ศึกษาด้วยตัวเอง ด้วยการปั่นจักรยานมาตลอด ผมพบว่าเราจะต้องทำให้กล้ามเนื้อขาเราจำการใช้เกียร์ได้เอง อย่างปั่นระดับใช้ความเร็วสูงๆ จะใช้เกียร์ใบหน้าหรือใบหลังแบบไหน หรือปั่นขึ้นเขาก็ใช้เกียร์อีกแบบหนึ่ง ต้องหมั่นฝึกบ่อยๆ จนกล้ามเนื้อเราจำได้โดยอัตโนมัติว่าปั่นแบบไหนจะใช้เกียร์แบบใด และทำให้เราได้ความอดทนอีกต่างหาก เป็นการเสริมกล้ามเนื้อให้แข็งแรง หลักการของผมอาจจะไม่ถูกต้องตามหลักสรีรวิทยา หรือวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่ผมก็สามารถพานักกีฬาไปแข่งได้ เราไม่ได้ต้องการความเป็นเลิศ ต้องการเพียงแค่ให้เขาเป็นคนที่ควบคุมตัวเองได้ การที่เราไปแข่งคือผลพลอยได้ ถ้วยรางวัลคือกำไร เด็กๆ ก็ดีใจที่ได้ร่วมแข่ง ทำให้ตัวเขา มีความคิดที่ไกลออกไปกว่าเดิม

สรุปแล้วรางวัลไม่ใช่จุดประสงค์หลักของการขี่จักรยาน
แต่ทำให้ได้มีการรวมกลุ่ม ได้ออกกำลัง และทำให้เราได้แนวคิดของเด็กแต่ละคนว่าเขาคิดอย่างไร จะทำอะไรกับตัวเองระหว่างทางที่จะไปแข่ง คือทุกวันเขาคุมตัวเองได้ มีความคิดเป็นของตัวเองได้ ไม่ใช่เราเอาความคิดไปใส่เขา เราจะช่วยส่งเสริมในด้านความคิดเขา ให้เขามองและคิดเองว่าจะทำอะไร เวลาเขาแข่งจักรยานทางไกลกับอีก ๑๓ ประเทศมันไม่ใช่เรื่องง่าย ๑๓ ประเทศก็คือ ๑๓ โค้ชเป็นอย่างต่ำ บางประเทศมี ๒ ทีม ๓ ทีม หรือ ๒๐ กว่าทีม ๒๐ กว่าโค้ชก็มี ทุกคนย่อมวางแผนมาเพื่อรบกัน การที่ผม ชาวนาคนหนึ่ง จะวางแผนไปรบกับโค้ชทีมชาติสิงคโปร์ โค้ชทีมชาติมาเลย์ โค้ชทีมชาติที่กำลังจะเป็นเจ้าภาพซีเกมส์อย่างลาว ผมทำไม่ได้ ผมเป็นแค่ชาวนา ผมสอนความคิดเด็กว่าในขณะที่เขากำลังแข่งจักรยาน เขาควรคิดอย่างไร มองแบบไหน ให้เขาวางแผนเดี๋ยวนั้น ใช้เดี๋ยวนั้น เปรียบเทียบกับโค้ชคนอื่นที่วางแผนก่อนการแข่งขันแล้วสั่งให้ลูกทีมทำตาม เราก็พอจะดูออกว่าแบบแผนของคู่แข่งแต่ละทีมเป็นอย่างไร ว่าต้องมีกระชาก ต้องมีตัวหลอก ต้องมีตัวหนี เราก็สอนเด็กหมดว่าแต่ละทีมมีสไตล์การเล่นแบบไหน ขณะที่โค้ชคนอื่นจะไม่มีทางรู้ว่าเด็กของเราจะปั่นจักรยานแบบไหน พอถึงเวลาลงสนามแข่ง เขาไม่รู้แผนของเรา แต่เด็กของเรารู้แผนของเขา เวลาลงสนามเด็กก็จะแก้เกมกันเอง ตัดสินใจเองว่าจะปั่นแบบไหนจนประสบผลสำเร็จ

คุณสอนให้เด็กคิดเอง แต่ไม่ได้ตัดสินใจแทนเด็ก ให้เขาตัดสินใจเอง
ใช่ ถึงเวลาลงสนามให้เขาตัดสินใจเอง แต่เราอาจจะบอกเล็กน้อย เช่นเตือนว่าหากปั่นจักรยานอยู่ตรงนี้จะเป็นมุมอับ เราควรจะอยู่ตำแหน่งประมาณนี้ อย่างอื่นก็ให้คิดเอง บางทีเราก็ดูจากการแข่งขันที่ผ่านมา จากวิดีโอ จากประสบการณ์ที่พาเด็กไปแข่ง เราก็จะบอกข้อผิดพลาดให้เด็กทราบ แล้วเรายังได้สอนเรื่องวิธีคิดระหว่างวันไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นตอนล้างจาน กวาดบ้าน ยกร่องสวน ไปทำกิจกรรมอะไรเหล่านี้ ให้เขารับผิดชอบตัวเอง ซึ่งผมรู้สึกว่าต้องทำ ไม่ใช่บังคับ ต้องช่วยกันทำ ถ้าไม่ทำมันจะรก ทั้งหมดนี้เกิดจากตัวเขาเอง ไม่ใช่เกิดจากเราบังคับ เราพยายามสอนให้เขารู้ว่าเขาทำเพราะว่าเขาอยู่ตรงนี้เขาต้องทำ แล้วทีนี้เขาจะนำไปใช้ในการแข่งขัน นำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรในอนาคต ในการแข่งขัน เด็กทีมอื่นอาจจะตัดสินใจจากที่โค้ชสั่งไว้แล้ว

แต่คุณสอนให้เด็กของคุณคิดแก้ปัญหาเอง
ใช่ครับ เวลาแข่งจริงเขาคิดเองทำเอง ไม่ต้องมาคอยรับคำสั่ง แต่เวลาซ้อมต้องซ้อมตามที่เรากำหนดนะ

เคยมีเจ้าหน้าที่ของทางการที่เกี่ยวข้องกับวงการจักรยานมาดูงาน ดูวิธีฝึกสอนของคุณไหม
ไม่มี มีแต่มาสอนเรา อย่างทางจังหวัดให้เราไปทดสอบสมรรถภาพร่างกายนักกีฬา เขาก็จะมาสอนว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ คุณต้องจับเวลาเด็กนะ จะเชิญนักวิทยาศาสตร์การกีฬามาคุยกับเรา ผมว่านักกีฬาตรวจร่างกายจะได้อะไร เขาบอกว่าจะได้รู้ว่าขาดอะไร ผมบอกว่าผมรู้ว่าผมขาดอะไร คุณต้องถามว่าผมขาดอะไร ไปดูความเป็นอยู่ของเด็กก่อน คือผมเริ่มรั้นเพราะว่าเขาไม่เคยฟังเรา เขาจะให้เราฟังเขาตลอด ผมไปทดสอบสมรรถภาพร่างกายนักกีฬาอาจจะไม่ผ่าน แต่อย่าลืมว่านักกีฬาของผมทำเหรียญได้ คุณอย่าลืมว่าโล่ผู้ฝึกสอนจักรยานยอดเยี่ยมอยู่กับผม แต่คุณเพิ่งเรียนจบ คุณยังไม่ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานที่คุณเรียนมา ผมไม่ได้เรียนมาแต่ผมประสบผลสำเร็จ คุณต้อง ถามผมว่าผมทำยังไงถึงได้มา ไม่ใช่คุณมาสอนผม หากคุณคิดว่าวิทยาศาสตร์การกีฬาของคุณแน่ คุณต้องชนะผม คุยกันไปผมเริ่มรั้นแล้ว ถามว่าผมทำถูกไหม ก็ไม่ถูก แต่ว่านาทีนั้นผมเริ่มฉุน หลายๆ คนชอบมารุม คือไม่ดูเลยว่าเราเป็นผู้สำเร็จ แล้วชอบเอาตรงนี้มาสอนเรา ซึ่งมันไม่มีประโยชน์ นอกเสียจากว่าคุณจะให้คนอย่างผมเชื่อคุณต้องขี่จักรยานชนะผม ระยะทาง ๑๐๐ กิโล ไปลองกันเลย วิทยาศาสตร์การกีฬาที่คุณเรียนมา วิทยาการโภชนาการ คุณคิดว่าดีมาก ถูกต้องมาก คุณมาลองกับผม ถ้าคุณชนะ โอเคผมยอม แต่ถ้าคุณแพ้คุณไม่ต้องมาคุย หรือไม่คุณสร้างเด็กขึ้นมาให้เป็นนักกีฬาที่มีความเป็นเลิศไหมล่ะ มาลองกับเด็กผม ถ้าชนะเด็กผม โอเคผมฟัง ไม่งั้นก็มาอยู่กับผม ดูว่าพวกเราอยู่กันยังไง อดอยากลำบากขนาดไหน แล้วคุณค่อยมาพัฒนา ไม่ใช่ว่านั่งในห้องแอร์แล้วมาชี้ว่าเงาะต้องจับเวลา เงาะต้องทำอย่างนั้น ผมไม่ฟัง ทะเลาะกันอยู่เรื่องนี้

เวลาไปตระเวนแข่งขันได้รับการสนับสนุนไหม
ครั้งหนึ่งพาเด็กที่เป็นตัวแทนจังหวัดไปแข่งที่อำเภอศรีสวัสดิ์ เมืองกาญจน์ เป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ผมรู้ว่าสภาพอากาศเบาบาง ผมก็คุยกับประธานสมาคมกีฬาจังหวัดว่าเราต้องพาเด็กไปฝึกซ้อมสัก ๑ สัปดาห์ก่อนแข่งขันเพื่อไปปรับสภาพร่างกาย จะทำอย่างไร มีบ้านพักไหม มีอาหารไหม แต่เขาไม่คุยกับผม เพื่อนที่เป็นผู้สื่อข่าวก็ว่า เฮ้ยเงาะ อย่างนี้ไม่ได้นะ ต้องคุยกับผู้ว่าฯ นะ เขาก็พาไปหาผู้ว่าฯ ผู้ว่าฯ ก็รับเรื่อง บอกไม่มีปัญหา เดี๋ยวจัดการให้ ทิ้งเบอร์โทร.ไว้แล้วก็เงียบ สุดท้ายเราก็ไม่ได้ไปฝึกซ้อมที่นั่นก่อนแข่งเพราะไม่มีใครสนใจ ไปถึงก็แข่งเลย เด็กอาเจียนออกมา ไม่สบายเพราะไม่ชินกับอากาศเบาบาง ขณะที่นักกีฬาจากเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง เขามาฝึกซ้อมก่อนเรา มาดูสนามเป็นเดือน แต่สุดท้ายการแข่งครั้งนั้นเราก็ยังคว้าเหรียญทองแดงกลับมา ผมกำลังจะบอกว่าที่ผ่านมาไม่เคยมีใครให้ความสนใจ ผมสู้อยู่คนเดียว มองไปทางไหนก็ไม่มีคนเอา มีประธานก็เป็นแค่หัวโขน ปัจจุบันพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาระดับชาติทีใช้เงิน ๒๐ ล้านบาท แต่นักกีฬามีงบให้แค่คนละ ๗๕๐ บาท ถามว่าอะไรสำคัญกว่ากัน หน้าตาสำคัญกว่าบุคลากรหรือ

งบประมาณสำหรับนักกีฬาเยาวชนได้คนละ ๗๕๐ บาท?
นักกีฬาไปแข่งคัดเลือกเป็นตัวแทนภาคได้เบี้ยเลี้ยงคนละ ๗๕๐ บาท จะไปกี่วันก็แล้วแต่ ถ้าไปคัดเป็นนักกีฬาระดับชาติก็อาจจะได้เยอะหน่อย สมมุติตอนนี้เราเป็นตัวแทนภาคกำลังจะไปคัดตัวทีมชาติที่ตรัง อาจจะได้คนละ ๔,๐๐๐ บาท รวมค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร ค่าที่พัก และต้องอยู่แข่งประมาณ ๗ วัน ก็คือเงินเท่านั้นต่อหัว พิธีเปิด การแข่งขันใช้เงิน ๒๐ ล้านบาท ทั้งจุดพลุ ดอกไม้ไฟ เดินพาเหรด ในขณะที่งบนักกีฬา ๔,๐๐๐ บาทต่อหัว จะอดอยากอย่างไรไม่มีใครสนใจ แต่วิทยาการโภชนาการบอกว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ วิทยาศาสตร์การกีฬาบอกว่าต้องเช็กร่างกาย ความอึดทนของกล้ามเนื้อ ต้องเช็กทุกอย่าง แต่ไม่มีงบประมาณให้ พอเรียกไปทดสอบเราไม่ผ่าน ผมบอกเลยว่าเราไม่ได้เตรียมตัวเพื่อความเป็นเลิศ ผมไม่ได้เตรียมตัวเพื่อไปแข่งให้คุณ ผมเตรียมตัวเพื่อความอยู่รอดของเด็ก ผมเอาเด็กมาเตรียมตัวเพื่อที่จะเป็นบุคลากรสำคัญของประเทศชาติ เพื่อให้เป็นคนมีคุณภาพ ไม่ใช่เพื่อความเป็นเลิศ ถ้าคุณจะเอาผมไปแข่งก็มาดูแลผมสิ มาดูแลว่าเราจะซ้อมยังไง เราจะกินยังไง อาหารครบ ๕ หมู่หรือเปล่า นี่เราไม่มีจะกิน ปลาเค็มตัวเดียวกินกัน ๕ คน อย่างนี้ผมว่าไม่ไหว

แล้วทำไมเขายังยอมให้เด็กของคุณเป็นตัวแทนนักกีฬาของจังหวัด
ก็เพราะไม่มีใครชนะเรา คือเราอาจจะทดสอบสมรรถภาพร่างกายนักกีฬา ทดสอบความเป็นเลิศไม่ผ่าน แต่พอเราไป คัดตัวแทนภาคเราได้ที่ ๑ เรายังชนะโรงเรียนของสุพรรณ ซึ่งเขามีศักยภาพมากกว่าเรา ที่จริงแล้วคนใหญ่คนโตต้องทบทวนว่าทำไมทีมซึ่งลำบากยากแค้นดันไปชนะทีมที่มีความสมบูรณ์เฉพาะทาง ทำไมไม่มีใครทบทวน มีแต่คนมากล่าวหาว่าเราต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ผมไม่เข้าใจ ทุกวันนี้บางครั้งก็นึกแปลกใจว่าทำไมได้แชมป์หลายครั้ง ตอนแรกเราแข่งได้อันดับ ๓ หรือ ๔ เราก็ถือว่ามากพอแล้ว แต่บางครั้งเราได้ที่ ๑ มันรู้สึกมากเกินไป อย่างดอกบัวเกมส์เราได้ที่ ๑ มา ๒ ประเภท ผมก็แปลกใจเหมือนกันว่าพวกที่ใช้เงินมากกว่าเราในการฝึกนักกีฬาเขาทำอะไรกัน ทำไมเขาไม่ชนะเรา บางทีมมีงบประมาณหลายล้านบาท มีการสนับสนุนจากรัฐบาล มีผู้ฝึกสอนเป็นโค้ชทีมชาติ เป็นอดีตนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ อดีตนักกีฬาทีมชาติมาทำทีม แต่ทีมของเราที่มีผู้ฝึกสอนปัจจุบันคือชาวนา อดีตก็เป็นชาวนา อดีตนักซิ่งมอเตอร์ไซค์ กลับเอาชนะพวกเขาได้

ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็กทั้งหมดมาจากไหน
ผมมีรายได้จากอู่ซ่อมรถ บางทีแม่ก็ช่วย ไปรับจ้างจับเส้นนวดแผนไทยได้เงินมาเป็นค่ากับข้าวบ้าง ทุกวันนี้เฉพาะค่ากับข้าว ค่าใช้จ่ายในบ้าน ก็ตกวันละ ๕๐๐ บาทสำหรับคนเกือบ ๒๐ ชีวิต ที่ดินที่มีอยู่แปลงเดียวก็ติดจำนองธนาคาร ต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน บางครั้งก็ท้อแท้ ไม่มีลูกค้ามาซ่อมรถ ก็เกิดความเครียด เพราะว่าทุกวันนี้มีเด็กร้อยพ่อพันแม่มาอยู่กับผม ผมยังไม่แน่ใจว่าจะกล่อมเด็กให้อยู่กับเราได้นานแค่ไหน ทำให้เขารู้จักตัวเองได้มากแค่ไหน จะมีเวลาให้แก่เด็กมากขึ้นไหม ไหนจะต้องไปทะเลาะกับพวกนักวิชาการ ไหนจะต้องมาคิดเรื่องแผนการซ้อม เราจะคุมเด็กอยู่ได้นานแค่ไหน บางทีสมาธิเราก็แตกซ่าน พอเราไปเจออะไรแย่ๆ เราก็ท้อ คนดูถูกเราบ้าง คนว่าเราบ้าง ก็พยายามจะเข้าหาธรรมะ ทำให้สมาธิหรือจิตเรากลับมาเป็นปรกติ แต่สุดท้ายก็ทำต่อไป ยังภูมิใจที่สร้างเด็กขึ้นมา ตรงนี้คือสิ่งที่เราได้ แล้วบางทีโชคชะตาก็เข้าข้าง มีอยู่ครั้งหนึ่งผมพาเด็กไปซ้อมปั่นจักรยาน พอไปถึงยอดเขาพบว่าข้างบนมีกุฏิพระซึ่งดูร้างและเก่าจนไม่น่าจะมีพระอยู่ ผมปล่อยให้เด็กไปซ้อมกัน แล้วตัวเองไปนอนกับพื้นกุฏิ ร้องไห้ออกมาด้วยความท้อแท้ สักพักหลวงพ่อรูปหนึ่งเดินมาหา ผมก็ปรับทุกข์กับท่านว่าอยากสร้างให้เด็กเป็นคนดี แต่มันยากเหลือเกิน ก็เล่าปัญหาให้ฟัง สักพักหลวงพ่อท่านก็ให้คนนำเงิน ๑๕,๐๐๐ บาทมาให้เป็นค่าอาหารเด็กๆ

ผมคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะผมตั้งใจคืนให้แก่แผ่นดิน ผมไม่เคยปฏิเสธเด็กคนไหน ในเมื่อเขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น คนทั่วไปมักถามว่าผมได้อะไร ได้เงินหรือเปล่า ผมก็จะตอบว่า ได้ความสุขที่เห็นทุกอย่างมันดีขึ้น คนอื่นอาจสร้างโบสถ์สร้างวัด แต่ผมคิดว่าตัวเองน่าจะสร้างคนได้ คนเราเหมือนหนอนที่เกิดมาแล้วกัดกินพืชผัก การศึกษาสอนผิดทาง สอนให้เราอยากมีอยากได้อยากเก่ง เสร็จแล้วก็กอบโกย คิดถึงแต่ตัวเอง ไม่คิดถึงคนอื่น ผมอยากให้เด็กที่เราสร้างขึ้นมามีความคิด แล้วนำไปใช้ได้จริง ไม่ว่าเขาจะเติบโตไปเป็นอะไร ขอให้มีความคิดก็ถือว่าดีแล้ว

เด็กส่วนใหญ่อยู่กับคุณเงาะกี่ปี
ประมาณ ๕-๗ ปี หลังจากนั้นบางคนไปเป็นทหารก็มี ติดนายสิบก็มี เพราะเขาเก่งกีฬา ไปแข่งกีฬากองทัพไทย เด็กส่วนมากออกไปรับราชการ เป็นพ่อค้าก็มี แต่ไม่ว่ายังไงเขาจะเป็นคนมีคุณภาพในสังคม เพราะเขาได้ความอดทน ได้ความคิดที่ดี อยู่ในเกมตรงนี้เขาคิดได้เอง เขาเอาสิ่งที่ได้ไปใช้ทำมาหากินในอนาคต ไม่ไปเบียดเบียนใคร เท่านี้ก็พอแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่ผมอยากได้ ผมไม่ได้หวังว่าเขาจะต้องไปเป็นที่ ๑ ของประเทศ

ถ้าการกีฬาแห่งประเทศไทยเชิญคุณไปเป็นโค้ชจักรยานทีมชาติจะสนใจไหม
คงไม่ไป เพราะผมไม่มีความรู้ ความรู้ที่มีก็แค่งูๆ ปลาๆ ผมคงไปสอนใครขนาดนั้นไม่ได้ ผมรู้ตัวว่าความสามารถของผมไม่ถึงระดับนั้น สิ่งใดที่เราทำเกิดจากเด็กด้วย เด็กเขารับผิดชอบ เรานำความรู้ไปไว้ในเด็ก ให้เขาทดลอง แล้วให้เด็กมีความคิดเอง เอาความรู้งูๆ ปลาๆ ไปประยุกต์ใช้ เราไม่มีความรู้โดยตรงเหมือนคนที่เป็นนักกีฬาทีมชาติมาก่อน เรามีแค่จิตใจที่จะทำ แล้วเราก็คงไปทำตรงนั้นไม่ได้ เพราะในแง่ความเป็นจริงมันต้องผ่านการอบรมกว่าจะผ่านการแข่งขันระดับชาติ ระดับโลก ต้องผ่านการเรียนรู้ที่ถูกต้องแล้วนำมาประยุกต์ใช้มันถึงจะได้ผลจริง แต่ในกรณีที่เราทำแล้วผ่านถือว่าฟลุกมากๆ

เส้นทางชีวิตจากมอเตอร์ไซค์มาสู่จักรยาน วิถีชีวิตของคุณเปลี่ยนไปมากไหม
เปลี่ยนครับ สมัยก่อนผมใช้ชีวิตอยู่คนเดียว แต่พอเปลี่ยนมาฝึกเด็กปั่นจักรยาน เราต้องรับผิดชอบคนเยอะแยะเมื่อก่อนเราดูแลตัวเอง ตัวเราจะได้เป็นเลิศในการขี่มอเตอร์ไซค์ แต่ปัจจุบันเราดูแลคนหลายๆ คนเพื่อที่จะให้เขามีสุขภาพดี มีความคิดดี

มีอยู่วันหนึ่งผมตื่นเช้า ผมก็เดินไปธุระ เห็นนักกีฬาของเราเริ่มปั่นจักรยานออกไป ข้างๆ นั่นแม่ผมกำลังกวาดใบไม้ นักกีฬาก็ปั่นผ่านไปซ้อมเป็นปรกติ ตอนผมเดินกลับมาบ้าน เห็นแม่กวาดใบไม้อยู่อย่างเดิม แล้วก็เห็นเด็กกลุ่มหนึ่งไปนากลับมา เขาก็บอก แม่ๆ หนูกวาดเอง แล้วก็คว้าไม้กวาดจากมือแม่ไปกวาดกันต่อ ผมเห็นภาพนั้นแล้วความรู้สึกมันยิ้มจากข้างใน เห็นไหม มันรู้จักคิด รู้จักมอง ในขณะที่คนปั่นจักรยานมันไม่คิด ตกเย็นเราก็ยกเอาเหตุการณ์นี้ มาแลกเปลี่ยนกัน ระหว่างคนที่ปั่นจักรยานกับคนที่หยิบไม้กวาดมากวาดพื้น เด็กก็ได้เป็นบทเรียนชีวิต

มีอยู่ครั้งหนึ่งผมกำลังเครียดกับค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในบ้าน ในขณะที่พวกเรากำลังเตรียมตัวไปแข่งคัดเลือกเป็นตัวแทนภาคที่สุพรรณบุรี พอวันเดินทางมาถึง ผมตื่นขึ้นมาด้วยความเครียดเรื่องเงินเพราะหาทางออกไม่ได้ แต่พอมองออกไปหน้าบ้าน เห็นเด็กๆ ตื่นมาเตรียมตัวออกเดินทางกัน พวกเขานั่งรอผมอยู่คนเดียว ส่งเสียงเรียกกันใหญ่ ทันทีที่เห็นภาพนั้น เห็นรอยยิ้มของเด็ก ผมเลิกเศร้าเลิกเครียดเลย เข้าครัวทำอาหารเป็นเสบียงสำหรับเดินทาง สุดท้ายแล้วเด็กเหล่านี้เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตของผม