ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง
tuchchai@hotmail.com

โลกเสมือน - เสรีภาพที่ยังถูกปิดกั้นของชาวพม่า

หากอินเทอร์เน็ตเป็นหนึ่งในตัวแทนของเสรีภาพยุคใหม่ ความพยายามที่จะจำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลมหาศาลในโลกเสมือนของแต่ละประเทศ ก็ดูจะเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างดีถึงสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในประเทศนั้น

เมื่อกล่าวถึงการใช้อินเทอร์เน็ตในพม่า มักจะมีคำศัพท์ชาวไซเบอร์ที่นำมาเทียบเคียงด้วยคือ MWW หรือ The Myanmar Wide Web ซึ่งถือเป็นคำเหน็บแนมถึงอินเทอร์เน็ตในพม่าที่มีความเร็วช้ากว่าปรกติมาก และการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าบางเว็บไซต์ได้อย่างสะดวก

จากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศพม่าเริ่มอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๐ มีจำนวนผู้ใช้ไม่กี่พันคน และเพิ่มเป็น ๗๘,๐๐๐ คนในปี ๒๐๐๕ ในปี ๒๐๐๖ จากการกดดันของสหประชาชาติทำให้ยอดผู้ใช้เพิ่มสูงขึ้นเป็น ๓ แสนคน แต่ในรายงานของ Internet World Stats (internetworldstats.com) ระบุว่าผู้ใช้ในปี ๒๐๐๘ ลดลงเหลือเพียง ๔ หมื่นคนเท่านั้น (ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการปิดช่องทางการสื่อสารในประเทศหลังเกิดการประท้วงในปี ๒๐๐๗) คิดเป็นร้อยละ ๐.๑ ของประชากร ๔๘ ล้านคน (ประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราว ๑๓ ล้านคน) นับเป็น ๑ ใน ๓๐ ประเทศที่ยังคงมีอัตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ตน้อยถึงระดับนี้ 

ร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เปิดให้บริการเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ มีผู้คนให้ความสนใจจนปัจจุบันในย่างกุ้งมีร้านมากกว่า ๑๐๐ แห่ง ใช้ระบบ ADSL เป็นหลัก แต่ความเร็วของการเปิดหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ นั้นก็ยังถือว่าช้ามาก

เมื่อว่ากันถึงค่าใช้จ่าย มีตั้งแต่ค่าบริการเชื่อมต่อสัญญาณแต่ละครั้งรวมกับราคาที่คิดเพิ่มต่อชั่วโมง ทั้งนี้เพราะผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) ยังเป็นระบบผูกขาด มีเพียง ๒ เจ้าคือ Myanmar Teleport (MMT) กับ Myanmar Posts and Telecommunications ซึ่งรับส่งสัญญาณผ่านระบบดาวเทียม IP Star และ WLL แม้ตามเมืองต่าง ๆ จะมีสายโทรศัพท์เข้าถึงแล้วก็ตามแต่การต่อสัญญาณทางช่องทางนี้ก็ช้ายิ่งกว่าและการเชื่อมต่อก็หลุดบ่อยครั้ง

Broadband หรืออินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงกว่านั้น มีเปิดให้บริการสำหรับบริษัทและผู้ประกอบการธุรกิจเท่านั้น โดยเว็บไซต์ Myanmar2day บอกว่ามีค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงลิบถึง ๒,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ ทั้งยังให้ข้อมูลว่าอัตราค่าบริการอินเทอร์เน็ตไม่มีความแน่นอน เช่นในย่างกุ้งคิดค่าบริการชั่วโมงละ ๖๐๐ จ๊าด (๓๐ บาท) แต่ที่ฮะคา เมืองหลวงของรัฐชิน ราคาอาจสูงถึง ๒,๐๐๐ จ๊าด (๑๐๐ บาท) ต่อชั่วโมง และอาจต้องเพิ่มค่าบริการไฟสำรองกรณีที่ถูกตัดไฟ

ว่ากันว่าเมืองที่ไม่ถูกตัดไฟตลอด ๒๔ ชั่วโมงเลยนั้นมีแห่งเดียวคือกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ที่เพิ่งสร้างได้ไม่กี่ปีโดยรัฐบาลทหาร และด้วยราคาดังกล่าวจึงย่อมเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ที่ยังหาเช้ากินค่ำ

“การบล็อกเว็บไซต์เป็นหนึ่งในวิธีที่รัฐบาลจะทำให้ชาวพม่าหุบปากได้ พวกเขาไม่สามารถเขียนข้อความ หรือเผยแพร่ข้อมูลได้เลย พม่าอยู่ในสถานการณ์ตัดขาดจากโลกภายนอกอีกครั้ง” รายงานจาก Without Borders and The Burma Media เมื่ออินเทอร์เน็ตในพม่าถูกตัดสัญญาณและช่องทางจากภาครัฐระหว่างเดือนกันยายน ๒๐๐๗

อย่างไรก็ตาม เจ้าของร้านส่วนใหญ่ก็ยินดีช่วยเหลือผู้ใช้ หากไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง Yahoo, Google หรือ Hotmail ได้ เราจะได้รับชื่อเว็บไซต์ผู้ให้บริการ Proxy Server เพื่อเป็นช่องทางในการเปิดหน้าเว็บไซต์เหล่านั้น

ส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือนั้นสามารถทำได้เพียงการส่งข้อความผ่านอีเมล การส่งภาพหรือไฟล์วิดีโอนั้นหมดสิทธิ์ และผู้ใช้ต้องไปลงทะเบียนผ่านสำนักพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์และการข่าว (Information Technology Central Services-ITCS) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสมาคมสหภาพเอกภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Association-USDA) อีกทีหนึ่ง

กล่าวถึงการบล็อกเว็บไซต์นั้นมีตั้งแต่เว็บไซต์ลามกไปจนบริการอีเมลของเว็บไซต์ยอดฮิตต่าง ในขณะที่ข่าวการเมืองขั้วตรงข้ามย่อมเป็นอันดับต้นๆ ในการถูกบล็อก ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ที่มีจุดยืนล้มล้างรัฐบาล ข่าวการกักขัง อองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ข่าวการทำร้ายพระสงฆ์และประชาชนที่เดินขบวนประท้วงรัฐบาลนับแสนคนเมื่อปี ๒๐๐๗ รวมไปถึงความคิดเห็นหรือมุมมองที่อาจ “บ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ”

ทางการพม่าไม่หยุดเพียงแค่นั้น นับตั้งแต่ปลายปี ๒๐๐๘ ยังได้กดดันเจ้าของร้านต่างๆ ให้บอกรายละเอียดของผู้ใช้บริการทุกคน และให้ทำการจับภาพโปรแกรมบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อนำข้อมูลส่งไปยังกระทรวงการสื่อสารของพม่า โดยกระทรวงนี้ยังทำการโจมตีเว็บไซต์ของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลด้วยสัญญาณรบกวนอีกทางหนึ่งด้วย

การ “ปิดหูปิดตาประชาชน” ทำให้พม่าถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ทำการปิดกั้นเว็บไซต์มากเป็นอันดับต้นๆ รองจากจีน อิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย

และไม่ใช่แค่ จอห์น วิลเลียม เยตตอว์ ชาวอเมริกันอดีตทหารผ่านศึกในสงครามเวียดนาม ผู้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบไปหา อองซาน ซูจี เท่านั้นที่โดนตัดสินจำคุกจนเป็นข่าวครึกโครมก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา บล็อกเกอร์ชาวพม่าหลายคนก็ยังถูกจับกุม หนึ่งในนั้นคือ เนย์ โฟน ลัตต์ (Nay Phone Latt) บล็อกเกอร์และเจ้าของร้านอินเทอร์เน็ตในกรุงเนปิดอว์ ผู้ลงรูปการ์ตูนล้อเลียนพลเอกตานฉ่วยในบล็อกส่วนตัวเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๐๗ ถูกตัดสินโทษสูงสุดจำคุกเป็นเวลา ๒๐ ปี และเริ่มมีการจับกุมผู้ใช้บริการที่เข้าเว็บไซต์ต้องห้ามแล้ว

แต่อีกด้านหนึ่งยิ่งมีข้อจำกัดมากมายก็ไม่ได้หมายความว่าคนพม่าจะล้าหลังเทคโนโลยี การต่อสู้ของกลุ่มต่อต้านที่จะหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อเล็ดลอดการถูกบล็อกเว็บไซต์จากซอฟต์แวร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลออกไปยังคงดำเนินอยู่ ข้อมูลและคลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองในพม่าจึงสามารถถูกเผยแพร่อย่างต่อเนื่องผ่านเว็บไซต์ตลอดจนสำนักข่าวต่างประเทศให้เราได้เห็นเรื่อย ๆ ผ่านนักข่าวพลเมืองหลายกลุ่ม

รัฐบาลพม่าจะปิดยังไงก็ปิดไม่มิด

หนึ่งในผู้เรียกตนเองว่า Burma VJs กลุ่มผู้รายงานข่าวราว ๓๐ คนที่ส่งข้อมูลและภาพวิดีโอความโหดร้ายทารุณของเผด็จการพม่าผ่านเว็บไซต์ Democratic Voice of Burma (dvb.no) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศนอร์เวย์ แม้จะต้องถูกจัดอยู่ในบัญชีดำของรัฐบาลทหาร เขาให้สัมภาษณ์กับ Vice Magazine ของนิวยอร์กภายหลังจากวิดีโอทั้งหลายถูกนำไปตัดต่อจนกลายเป็นสารคดี “Burma VJ: Reporting from a Closed Country” ฉายในเทศกาลซันแดนซ์ ปี ๒๐๐๙ ว่า

“ก่อนผมจะทำงานให้ที่นี่ ผมเคยเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลมาก่อน เดิมก็ตั้งใจที่จะทำงานในสายงานของเราให้ดีเท่านั้น แต่นานวันเข้าก็พบว่าผมต้องรับใช้รัฐบาลทำหน้าที่ปิดหูปิดตาประชาชน แล้วชั่วขณะนั้นผมก็ตระหนักว่าไม่อยากจะทำงานแบบนี้อีกแล้ว”

สำหรับผู้ใช้ประเทศอื่นในโลกเสมือน ไม่ได้หมายความว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกปิดกั้นตามการปฏิบัติดังกล่าว และในอินเทอร์เน็ต นี่คือช่องทางที่โลกแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่สำนักข่าวอิสระอิรวดี (Irrawaddy.org) ซึ่งมุ่งนำเสนอข่าวและข้อมูลเชิงลึกของพม่าและแถบอุษาคเนย์ชนิดที่หาไม่ได้จากสื่อในประเทศ หรือองค์กร The United States Campaign for Burma (uscampaignforburma.org) ของสหรัฐอเมริกาที่มีวัตถุประสงค์ปลดปล่อยพม่าจากระบอบเผด็จการ

burmawww02

เว็บไซต์ The United States Campaign for Burma

burmawww03

จิม แคร์รีย์ นักแสดงชื่อดัง พูดผ่านคลิปวิดีโอในเว็บไซต์ 64 Words for Aung San Suu Kyi โดยกล่าวว่าซูจีคือฮีโร่ของเขา และเรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันรณรงค์เพื่อเสรีภาพของซูจี และประชาชนพม่า

หนึ่งในเว็บไซต์ที่เพิ่งเปิดและนำเสนออย่างน่าสนใจคือ 64 Words for Aung San Suu Kyi (64forsuu.org)เว็บไซต์นี้เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงความรู้สึกต่อ อองซาน ซูจี ด้วยคำเพียง ๖๔ คำ โดยมีให้เลือกถึง ๙ ภาษา(รวมถึงภาษาไทย)ที่ผ่านมามีผู้เข้ามาเขียนและพูดผ่านคลิปวิดีโอตั้งแต่คนทั่วไปจนถึงศิลปินชื่อดังอย่างโบโน สมาชิกวง U2

แนวคิดที่ง่ายแต่งามของเว็บไซต์นี้เกิดจากความร่วมมือของ ๒๕ องค์กรจัดทำขึ้น โดยตั้งใจจะนำข้อความทั้งหมดไปมอบให้แก่ อองซาน ซูจี ในวันเกิดครบรอบ ๖๔ ปีของเธอ เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายนที่ผ่านมา

แม้จะผ่านมากว่า ๒ เดือนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเว็บไซต์นี้จะปิดตัวลง ทุกวันนี้ใครก็ตามสามารถส่งข้อความถึง อองซาน ซูจี ได้ตลอด

หลายข้อความห่วงใยที่เรียบง่ายอาจจะย้ำเตือนเราว่าแม้เสรีภาพในพม่ายังไม่อาจสัมฤทธิผลในเวลาอันใกล แต่เจตจำนงของผู้สนับสนุนและเชื่อมั่นในแนวทางการต่อสู้ของ อองซาน ซูจี อาจส่งไปถึงผู้นำเผด็จการพม่าในเร็ววัน

เชิงอรรถ
๑.สถิติจาก ITU ปี ๒๐๐๖
๒.ADSL หรือ Asymmetric Digital Subscriber Line เทคโลยีการสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงบนข่ายสายทองแดง หรือ คู่สายโทรศัพท์ โดยมีลักษณะสำคัญคืออัตราความเร็วในการรับข้อมูล (Downstream) และอัตราความเร็วในการส่งข้อมูล (Upstream)ไม่เท่ากัน
๓.WLL หรือ Wireless Local Loop เทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายที่ส่งผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตด้วยสัญญาณวิทยุแทนการส่งผ่านตามสายลวดทองแดงของโทรศัพท์ จึงเหมาะกับพื้นที่ห่างไกลที่สายโทรศัพท์หรือสายเคเบิลยังเข้าไม่ถึง
๔.Proxy Server โปรแกรมที่ทำหน้าที่รับคำร้องหาข้อมูลจากเครื่องลูกข่ายของเซิร์ฟเวอร์อื่น ๆ ในการเปิดหน้าเว็บไซต์หรือข้อมูลต่าง ๆ ในกรณีนี้เว็บไซต์ที่ให้บริการ Proxy Server จึงทำหน้าที่เสมือนเป็นตัวกลางระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราให้สามารถส่งข้อมูลหรือเข้าถึงเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นในพม่าได้