เรื่อง : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
ภาพ : บุญกิจ สุทธิญาณานนท์

flu2009 01

ต้น ปี ค.ศ. ๒๐๐๙ ขณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (Centers for Disease Control and Prevention-CDC) ประเทศสหรัฐอเมริกา กำลังเฝ้าจับตาดูการกลับมาระบาดใหม่ของไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโกกลับมีข่าวการติดต่อของไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่ง ตั้งแต่เดือนมกราคมอย่างเงียบๆ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ คิดว่าเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก จนกระทั่งมีการติดต่อจากคนสู่คนในนครเม็กซิโกซิตีตั้งแต่วันที่ ๑๘ มีนาคม จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางรัฐบาลเม็กซิโกได้ร้องขอความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขจากรัฐบาลอเมริกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ CDC รายงานการพบเด็ก ๒ รายทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่

เมื่อ ๗ ปีก่อน ไข้หวัดนกได้เคยสร้างความหวาดกลัวให้แก่คนทั้งโลก นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามีวงจรการระบาดใหม่ทุกๆ ๗-๑๐ ปี ในการระบาดรอบหนึ่งมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ ๖๐-๗๐ เรียกได้ว่าใครติดเชื้อนี้ ญาติพี่น้องก็เตรียมทำใจได้เลย ระหว่างการเฝ้าระวังการระบาดของไข้หวัดนกรอบใหม่ ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ได้คืบคลานเข้ามาแล้ว

๑๓ เมษายน ค.ศ. ๒๐๐๙ มนุษย์รายแรกของโลกก็เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่ ที่เมืองโออาซากา ประเทศเม็กซิโก ต่อมาทาง CDC นำเชื้อไปทดสอบ ทำการถอดรหัสพันธุกรรม และประกาศในวันที่ ๒๑ เมษายนว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ใหม่ มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายที่เคยพบในหมู จึงมีชื่อเรียกในตอนแรกว่า ไข้หวัดหมู (swine flu) โดยที่ไม่เคยพบไวรัสดังกล่าวในคนมาก่อน โลกได้เผชิญหน้ากับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยน ชื่อเป็น ไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ เริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อใด นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่ามนุษย์น่าจะได้รับเชื้อไวรัสซึ่งเป็นการผสมข้าม สายพันธุ์ระหว่างเชื้อไวรัสหวัดใหญ่ในหมู ในนก กับในคนมาตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๐๘ แล้วสะสมอยู่ในร่างกายเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนจะพัฒนาเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่รู้จักกันในนาม เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 ขณะที่นักระบาดวิทยาบางคนสันนิษฐานว่าการระบาดครั้งนี้อาจเกิดขึ้นครั้งแรก ในฟาร์มเลี้ยงหมูของบริษัทผลิตเนื้อหมูยักษ์ใหญ่ของโลกในประเทศเม็กซิโก ก่อนจะมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อหวัดใหญ่ในนกและเชื้อหวัดใหญ่ในคน กลายเป็นสายพันธุ์ใหม่และแพร่กระจายไปทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันนักระบาดวิทยาบางคนสันนิษฐานว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้น่าจะเริ่มต้น ขึ้นในเล้าหมูแถบทวีปเอเชีย เชื่อกันว่ามีการติดต่อในหมูนานหลายปีก่อนพัฒนาไปสู่มนุษย์ และเชื้อได้แพร่ไปในทวีปอเมริกาเหนือโดยมีคนเป็นพาหะ ก่อนจะกลายพันธุ์เป็นเชื้อหวัดมฤตยูตัวนี้

หลังการระบาดครั้งใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ พบมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุให้รัฐบาลเม็กซิโกสั่งปิดเมืองหลวง ปิดที่ทำการรัฐบาล สนามฟุตบอล โรงเรียน ห้องสมุด โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า งดการแสดงคอนเสิร์ต และระงับเที่ยวบินเข้าออกประเทศเม็กซิโก จนถึงเดือนมิถุนายนไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ก็ได้ระบาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างสหรัฐอเมริกาและประเทศในแถบอเมริกาใต้ ก่อนจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปทวีปยุโรป และระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศซีกโลกใต้เส้นศูนย์สูตรที่มีระบบสาธารณสุขไม่ ดีพอ ในอัตราที่องค์การอนามัยโลกไม่คาดคิดมาก่อน จนกระทั่งพบการระบาดไปทั่วโลก ยกเว้นก็แต่ทวีปแอนตาร์กติกาและขั้วโลกเหนือเท่านั้นที่ยังเป็นพื้นที่ปลอด เชื้อชนิดนี้ สร้างความตื่นตระหนกให้แก่วงการแพทย์ทั่วโลก

ภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ องค์การอนามัยโลกได้ประกาศเพิ่มระดับการเตือนภัยหรือภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณ สุขจากระดับ ๓ เป็นระดับ ๕ นั่นคือการระบาดของเชื้อโรคได้ขยายวงกว้างขึ้นจนข้ามพรมแดนประเทศและต้องมี การเฝ้าระวังมากขึ้น จนในที่สุดองค์การอนามัยโลกก็ต้องประกาศเตือนภัยเป็นระดับ ๖ ซึ่งเป็นระดับสูงสุด เนื่องจากเชื้อมีการแพร่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว

ในเวลานั้นหลายคนเฝ้าติดตามข่าวสารเรื่องนี้ทางจอโทรทัศน์ด้วยใจระทึก รายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ยังไม่มีหนทางในการรักษาไม่ว่าจะเป็นยาหรือวัคซีนป้องกัน และเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเราคงไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ เพียงแต่ว่ามันจะเดินทางมาถึงเมืองไทยช้าหรือเร็วเพียงใด

และแล้ว ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๙ พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับและทีวีทุกช่องรายงานว่า พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่รายแรกในประเทศไทย

เชื้อไวรัสหวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ได้ยกพลเข้าสู่ประเทศไทยแล้ว หลังจากนั้นไม่นานก็สร้างความแตกตื่นโกลาหลขึ้นในหมู่คนไทย นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การสาธารณสุขไทย

ตำนานแห่งไวรัส

หากมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูง ไวรัสก็เปรียบเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ

ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์–สิ่งมีชีวิตชั้นสูงที่มีกลไกทางสรีรวิทยาสลับซับซ้อน ที่สุดในโลกใบนี้ กำลังจะพ่ายแพ้ต่อสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำที่มีรูปแบบเรียบง่ายที่สุด คือไวรัส

โรคร้ายที่คร่าชีวิตมนุษย์จำนวนมหาศาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันส่วนหนึ่งมาจากเชื้อไวรัส และหลายโรคยังไม่มียารักษา

“ทุกวันนี้มนุษย์ไล่ตามเชื้อไวรัสหนึ่งก้าวเสมอ เทคโนโลยีของทั้งโลกเป็นการวิ่งตามไวรัส คือรอให้ไวรัสเปลี่ยนตัวเองก่อนแล้วค่อยสร้างวัคซีนตามไป เราจึงช้ากว่าไวรัสหนึ่งก้าวเสมอ เราไม่สามารถทำนายได้ว่าไวรัสจะเปลี่ยนไปทางไหน แต่ที่แน่ๆ คือไวรัสจะอยู่กับเราไปอีกนาน” ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและเซลล์วิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เล่าให้ผู้เขียนฟัง

นักวิทยาศาสตร์หลายคนมีความเห็นตรงกันว่า ไวรัสเป็นสุดยอดของสิ่งมีชีวิต สามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้อย่างรวดเร็ว มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และกลายพันธุ์ได้ เมื่อมนุษย์สามารถผลิตยาหรือวัคซีนขึ้นมาฆ่าไวรัสชนิดหนึ่ง อาจประสบความสำเร็จเพียงระยะหนึ่ง ต่อมาไวรัสชนิดนั้นจะกลายพันธุ์หรือดื้อยา ทำให้มนุษย์ต้องคิดค้นยาหรือวัคซีนใหม่ๆ ออกมาไล่หลังไวรัสที่กลายพันธุ์และแพร่พันธุ์ต่อไป

ไวรัสคืออะไร

คำว่า ไวรัส เป็นภาษาละติน แปลว่า พิษ ในตำราชีววิทยาเก่าของไทยใช้คำว่า วิสา มาจากภาษาสันสกฤตที่แปลว่า พิษ ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมากประมาณ ๒๐-๓๐๐ นาโนเมตร (๑ นาโนเมตรมีขนาด ๑ ในพันล้านส่วนของเมตร หรือ ๑๐-๙ เมตร) สามารถผ่านเครื่องกรองแบคทีเรีย และทำให้เกิดโรคได้ทั้งในพืช สัตว์ และคน

ที่น่าแปลกคือไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตพิสดาร มีโครงสร้างเป็นเพียงสารพันธุกรรม (DNA หรือ RNA) อยู่ในเปลือกหุ้ม (coat) เมื่อล่องลอยอยู่ในอากาศหรือบนพื้นดิน มันเปรียบ
เหมือนอนุภาคไร้ชีวิต อยู่ของมันเฉยๆ ไม่สำแดงฤทธิ์เดชใดๆ ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วไป จนกระทั่งหากไวรัสมีโอกาสเข้าไปอาศัยในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต มันจึงสามารถแพร่พันธุ์ได้โดยการแบ่งตัวเองทวีขึ้นเรื่อยๆ จนไปเบียดบังทำลายเซลล์ในอวัยวะของสิ่งมีชีวิต

พูดง่ายๆ คือ หากไวรัสอยู่เฉยๆ ก็แทบจะเป็นสิ่งไม่มีชีวิต แต่เมื่อมันเข้าไปอาศัยในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตเมื่อไร ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือมนุษย์ ไวรัสจึงจะเริ่มแพร่พันธุ์เหมือนสิ่งมีชีวิต และส่วนใหญ่ทำให้เกิดโรค

ในอดีตที่ผ่านมา ไวรัสนับเป็นศัตรูอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตผู้คนทีละมหาศาล โรคระบาดที่เกิดกับคนในอดีตที่เรารู้จักกันดีคือโรคโปลิโอ ต่อมาคือโรคฝีดาษที่พบในบันทึกของชาวจีนเมื่อราว ๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล โรคไข้เหลือง และโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดหนักในยุโรปราวศตวรรษที่ ๑๖ และกลายพันธุ์กลับมาระบาดใหม่จนทุกวันนี้ ไม่นับรวมเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษา

“ทุกวันนี้มีเชื้อไวรัสที่มนุษย์สามารถกำจัดได้เด็ดขาด คือฝีดาษหรือไข้ทรพิษ เราถือว่ามนุษย์สามารถกวาดล้างมันได้หมด ไม่มีคนป่วยเป็นไข้ทรพิษ เป็นโรคที่กวาดล้างไปเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่หมดจากโลก เชื้อนี้ยังมีเก็บอยู่ในห้องปฏิบัติการของอเมริกาและรัสเซีย” นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ แห่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูล

ขณะที่เชื้อไข้หวัดใหญ่นั้นไม่เคยหายไป มันสามารถกลายพันธุ์และกลับมาระบาดใหม่ได้เป็นระยะ สร้างความเสียหายแก่มนุษย์มายาวนานจนถึงปัจจุบัน

 

flu2009 02
ในสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สเปนกว่า ๕ แสนคน

flu2009 03
ผู้ ป่วยไข้หวัดใหญ่สเปนในประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวนมากถึง ๑ ใน ๔ ของประชากรทั้งประเทศ เป็นเหตุให้พื้นที่แทบทุกซอกทุกมุมในโรงพยาบาลเต็มไปด้วยเตียงคนไข้

flu2009 04
สภาพความแออัดของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สเปนในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอเมริกา

“ไข้หวัดใหญ่ระบาดครั้งแรกในโลกเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) H1N1 เกิดขึ้นในปี ค.ศ.๑๙๑๘ อันที่จริงโรคนี้ไม่ได้เริ่มต้นในประเทศสเปน แต่เวลานั้นประเทศในยุโรปกำลังมีศึกสงคราม จึงต้องปิดข่าวการระบาดของโรค สเปนไม่ได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ก็เลยมีข่าวออกจากประเทศนั้น เขาก็เลยเหมาเอาว่าเป็น Spanish flu” ดร.อนันต์เล่าให้ฟัง

ในการระบาดครั้งนั้น มนุษย์ยังไม่รู้ว่าเชื้อโรคชนิดนี้คืออะไร โดยคาดว่าเป็นการติดต่อโดยตรงจากนกสู่คน แต่นักวิจัยบางคนสันนิษฐานว่าเชื้อน่าจะฟักตัวในตัวกลางอย่างหมูก่อนจะ ติดต่อมาสู่คน ไข้หวัดใหญ่สเปนระบาดอยู่นานกว่า ๑๘ เดือน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ ๒๐-๔๐ ของประชากรโลก มีคนตาย ๔๐-๕๐ ล้านคน จนในที่สุดเมื่อคนทั่วโลกมีภูมิคุ้มกัน โรคจึงหยุดระบาดไปเอง เฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตกว่า ๕ แสนคน มากกว่าอัตราการตายจากการระบาดใหญ่ของกาฬโรคที่เรียกว่า Black Death ในยุคกลางของยุโรป ระหว่าง ค.ศ. ๑๓๔๗-๑๓๕๑ สาเหตุอีกประการที่ไข้หวัดใหญ่สามารถระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อเกิดสงคราม เชื้อโรคได้แพร่กระจายไปกับพลทหารที่เดินทัพไปประจำการตามเมืองต่างๆ เมื่อสงครามยุติ พลทหารเหล่านั้นก็ได้นำเชื้อโรคกลับไปแพร่ระบาดยังบ้านเกิดอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยเวลานั้นตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๖ มีประชากรประมาณ ๙ ล้านคน คาดการณ์ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สเปนน่าจะอยู่ที่หลักหมื่น ถึงแสนคน

สี่สิบปีต่อมา โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ก็กลับมาระบาดอีกครั้งหนึ่งในปี ๑๙๕๗ เรียกกันว่า เอเชียนฟลู H2N2 สันนิษฐานว่าเริ่มระบาดในประเทศจีน แต่นักวิทยา-ศาสตร์สามารถผลิตวัคซีนป้องกันออกมาได้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกลดลงเหลือประมาณ ๑ แสนคน

อีก ๑๑ ปีต่อมา คือในปี ๑๙๖๘ เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า ฮ่องกงฟลู H3N2 คราวนี้เชื้อรุนแรงขึ้น เพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าได้มีการข้ามสายพันธุ์ระหว่างไวรัสไข้หวัดนกกับ ไวรัสไข้หวัดในคน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น ๑-๓ ล้านคน

หนึ่งทศวรรษให้หลัง ทั่วโลกก็ได้รู้จักเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ติดต่อจากไก่สู่คน เรียกว่า ไข้หวัดนก (Avian Influenza A H5N1) นับเป็นเชื้อร้ายแรง หากใครได้รับเชื้อโอกาสรอดชีวิตก็น้อยมาก โชคดีที่ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คน โอกาสการระบาดจึงน้อยกว่าไข้หวัดใหญ่มาก จนในปี ๑๙๘๗ และ ๑๙๙๗ ไข้หวัดนกก็กลับมาระบาดอีกครั้งหนึ่ง ในแต่ละครั้งทางการได้มีมาตรการทำลายสัตว์ปีกโดยเฉพาะเป็ดไก่ไปจำนวนหลายสิบ ล้านตัว ทำให้สามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคลงได้มาก จึงมีผู้เสียชีวิตไม่ถึง ๑๐ ราย

ขณะที่บรรดานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังวางแผนรับมือกับไข้หวัดนก ปรากฏว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบๆ ในซีกโลกเหนือ

ภายในตึก สก. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ได้ขยายความให้ผู้เขียนฟังว่า

“โดยปรกติทั่วโลกมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อยู่แล้ว เช่นประเทศในซีกโลกเหนือ ช่วงฤดูกาลระบาดก็จะเป็นฤดูหนาวตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ประเทศในซีกโลกใต้ก็จะอยู่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน สำหรับประเทศไทยอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่จึงพบได้ตลอดทั้งปี แต่จะเห็นได้ชัด ๒ ช่วง คือช่วงแรกในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม (เทอมต้นของนักเรียน) และช่วงที่ ๒ ในเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ (เทอมปลาย) แต่ในปีนี้มีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ โดยเชื่อว่ามีผู้ป่วยรายแรกที่ประเทศเม็กซิโก หลังจากนั้นได้มีการระบาดใหญ่เกิดขึ้นในประเทศเม็กซิโกช่วงตั้งแต่กลางเดือน มีนาคมเป็นต้นมา เชื่อว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อนับหมื่นนับแสนคน และมีผู้ป่วยปอดบวมต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีผู้เสียชีวิตมากผิดปรกติ โรคดังกล่าวได้ระบาดเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาและลามสู่ทั่วโลกอย่างรวด เร็ว”

รวมทั้งประเทศไทยด้วย

เมื่อวงการสาธารณสุขไทยรับมือกับไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙

ถึงตรงนี้หลายคนคงอยากรู้ว่า เชื้อหวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ที่พ่วงท้ายด้วย H1N1 มีที่มาอย่างไร

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) มีอยู่ด้วยกัน ๓ ชนิดหลัก คือไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A, B และ C เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A เกิดจากไวรัสที่มีสารพันธุกรรม RNA ทั้งหมด ๘ เส้น ซึ่งสามารถสร้างโปรตีนได้ทั้งหมด ๑๐ ชนิด ชนิดที่สำคัญ ๒ ชนิด คือ HA (Hemagglutinin) ซึ่งแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยได้ ๑๖ ชนิด (H1-H16) และ NA (Neuraminidase) ซึ่งแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยได้ ๙ ชนิด (N1-N9) ทั้ง HA และ NA เป็นโปรตีนโครงสร้างที่อยู่บนเปลือกผิวของอนุภาคไวรัส ซึ่งความหลากหลายในส่วนของ HA และ NA นี้เองที่เป็นตัวกำหนดความหลากหลายของสายพันธุ์ไวรัสชนิดต่างๆ เช่น H1N1, H1N2 เป็นต้น

แน่นอนว่าเชื้อไวรัสหวัดใหญ่ ๒๐๐๙ เป็นสายพันธุ์ใหม่ในโลก ไม่มีมนุษย์คนใดมีภูมิคุ้มกันมาก่อน การติดต่อจากคนสู่คนจึงเกิดขึ้นได้ง่าย เพียงการไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยก็ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างน้อยวงการแพทย์ต่างโล่งใจได้เล็กน้อย เพราะแม้การแพร่กระจายของโรคจะเกิดขึ้นรวดเร็ว แต่อัตราการตายต่ำกว่าที่คาดการณ์ในช่วงแรก คือประมาณร้อยละ ๐.๔-๐.๕ ของผู้ติดเชื้อ น้อยกว่าไข้หวัดนกที่มีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ ๖๐-๗๐ แต่โอกาสติดเชื้อยากกว่า เพราะติดจากนกสู่คน ไม่ใช่จากคนสู่คน

flu2009 05
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกำลังฉีดยาฆ่าเชื้อโรค ภายในรถไฟฟ้าบีทีเอส ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙

เมื่อไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ระบาดไปทั่วโลก กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการพยายามป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่เมืองไทย มีการสำรองยาไว้จำนวนมาก รวมถึงการติดตั้งเครื่องตรวจอุณหภูมิร่างกายที่สนามบินและด่านตรวจคนเข้า เมืองเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิของผู้เดินทางเข้าประเทศ อย่างไรก็ตามนักระบาดวิทยาตระหนักดีว่า ในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกัน เพราะเมืองไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง ของโลก มีผู้คนจากทั่วโลกเดินทางเข้าออกตลอดเวลา ดังนั้นอีกไม่นานไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ จะเดินทางมาถึงไทยอย่างแน่นอน

กระทรวงสาธารณสุขออกรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างหนักเกี่ยวกับโรคไข้ หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ และวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้คนไทยแตกตื่นจนเกินเหตุ การป้องกันเชื้อไวรัสที่อยู่ในเสมหะและน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย โดยเฉพาะการไอจามรดกันในระยะ ๑ เมตรอาจทำให้เชื้อแพร่ติดต่อไปยังคนอื่นๆ จึงมีการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยขณะอยู่ในที่สาธารณะ และหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์บ่อยๆ เพราะเชื้อโรคอาจจะติดมากับลูกบิดประตู ราวบันได เมื่อมือเราสัมผัสเข้าโดยไม่ตั้งใจ เชื้อโรคก็อาจจะเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว ไปจนถึงการรณรงค์เรื่อง “กินร้อนช้อนกลาง”

มีผลวิจัยออกมายืนยันแล้วว่าการใช้หน้ากากอนามัยและล้างมือบ่อยๆ เป็นวิธีสำคัญในการลดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่ได้ผลดีที่สุด

วันที่ ๑๒ พฤษภาคมก็มีการยืนยันว่าพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ รายแรกในประเทศไทย และที่เป็นข่าวใหญ่โตก็คือการระบาดเกิดขึ้นในหมู่นักเรียนโรงเรียนเอกชนชื่อ ดัง จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยาพบว่า ในห้องเรียนที่พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ เป็นคนแรก มีการระบาดในห้องเรียนนั้นสูงถึงร้อยละ ๖๙ ในเวลาอันรวดเร็ว

พอถึงต้นเดือนมิถุนายนก็มีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ในสถานบันเทิงที่พัทยา หลังจากนั้นได้มีการระบาดอย่างรวดเร็วและกว้างขวางโดยเฉพาะในหมู่นักเรียนใน กทม. มีผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคม

ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัส ๑-๓ วัน น้อยรายที่นานถึง ๗ วัน อาการใกล้เคียงกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไป เช่น มีไข้ (อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า ๓๗.๘ องศาเซลเซียส) ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอ เจ็บคอ อาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียร่วมด้วย

ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง หายป่วยได้โดยไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการจะทุเลาและหายภายใน ๕-๗ วัน ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงจะพบว่ามีอาการหายใจเร็ว เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้

ไม่นานนักทางกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าได้รับรายงานแจ้ง จากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งว่า มีผู้ป่วยเพศหญิงวัย ๔๐ ปีซึ่งเข้ารับการรักษาตัว มีอาการเหนื่อยหอบ ไข้สูง โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ต่อมามีอาการแทรกซ้อน และเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน นับเป็นผู้ป่วยรายแรกในไทยที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙

ในเวลาไล่เลี่ยกัน กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศว่า มีผู้เสียชีวิตรายที่ ๒ เป็นชายอายุ ๔๒ ปี

“คนไข้รายนี้เสียชีวิตหลังจากพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศเมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน สี่วันต่อมามีอาการไข้ มีน้ำมูก ไอเล็กน้อย และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ด้วยอาการไข้สูง เหนื่อยหอบ ไอมาก มีภาวะปอดบวม ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ แต่อาการทรุดหนัก หัวใจหยุดเต้น ระดับความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดเหลือเพียงร้อยละ ๔๐ กระทั่งเช้าวันที่ ๒๗ มิถุนายนก็เสียชีวิต” นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงกับสื่อมวลชน

หลังจากนั้นโรคไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ได้ระบาดเข้าสู่เด็กเล็กและผู้ใหญ่วัยทำงานอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากวันละ ๒-๓ คนเป็นวันละเกือบ ๑๐๐ คน โดยเฉพาะการติดต่อในหมู่นักเรียน

มีการประกาศให้โรงเรียนกวดวิชาหยุดการเรียนการสอนเป็นเวลา ๒ สัปดาห์ มีการรณรงค์ตามสื่อต่างๆ ให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะและล้างมือวันละหลายๆ ครั้ง ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์แทบร้างไร้ผู้คน จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างผิดปรกติ สื่อมวลชนรายงานตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ละวันมีผู้ป่วยไข้หวัดหลายพันคนมาโรงพยาบาลเพื่อให้หมอตรวจว่าตนเป็นไข้ หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ หรือไม่ หลายคนเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล บางรายพบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ หากอาการไม่หนักมาก หมอจะให้ยาต้านไวรัสคือ ยาโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) หรือชื่อการค้าคือ ทามิฟลู (Tamiflu) เป็นยาชนิดเม็ด และยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) หรือชื่อการค้าคือ รีเลนซา (Relenza) เป็นยาชนิดพ่น แล้วให้กลับไปนอนพักผ่อนที่บ้าน นอกจากบางรายที่อาการหนักจึงรับตัวไว้ แต่พอคนไข้มีจำนวนมาก การตรวจในห้องปฏิบัติการใช้เวลานาน เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากผู้ป่วยรายใดมีไข้สูง ไอบ่อย หมอก็จะให้ยาทามิฟลูโดยไม่ต้องรอฟังผลจากห้องแล็บ

ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ. วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ได้ปลีกเวลามาคุยกับผู้เขียนถึงเบื้องหลังการผลิตยาทามิฟลูว่า

“ทั่วโลกได้มีการดำเนินการผลิตยาต้านไวรัส คือยาโอเซลทามิเวียร์ เพื่อรับมือกับการระบาดของไข้หวัดนกระลอกที่ ๒ ในปี ๒๐๐๔ ทางองค์การเภสัชกรรมได้เร่งผลิตยาตัวนี้ ด้วยการสั่งซื้อตัวยาเข้ามาผลิตเป็นยาสำเร็จรูป เนื่องจากยาชนิดนี้ไม่มีการจดสิทธิบัตรยา ทำให้เราไม่ต้องสั่งซื้อยาจากต่างประเทศ ในช่วงที่ผ่านมาเราได้มีการสำรองยาไว้แล้วรวมประมาณ ๕ ล้านเม็ด แต่เมื่อไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ระบาด ยาตัวนี้สามารถนำไปใช้ได้ และเราสำรองเพิ่มอีก ๑๐ ล้านเม็ดสำหรับคนไข้ประมาณ ๑ ล้านคน โดยคนไข้ ๑ คน กินยา ๑๐ เม็ด ในที่สุดเราก็ตัดสินใจสำรองยาอีก ๔๐ ล้านเม็ดเพื่อคนไข้อีก ๔ ล้านคน เป็นการส่งสัญญาณให้แก่ทุกหน่วยงานว่าไม่ต้องห่วงในเรื่องของยา จะต้องมีเพียงพอและสำรองไว้ใช้ในอนาคตด้วย ซึ่งเราสามารถประหยัดลงได้มาก ยานำเข้าเม็ดหนึ่งราคา ๗๐-๑๐๐ บาท ถูกกว่ากันประมาณครึ่งหนึ่งครับ ขณะนี้ลดลงไปก็เหลือประมาณ ๒๕ บาทเท่านั้น”

ในเดือนสิงหาคมช่วงที่มีการระบาดหนัก นักข่าวสาวแห่งหนังสือพิมพ์ฝรั่งฉบับหนึ่ง เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อไม่นานมานี้มีอาการเป็นไข้ ไอจามทั้งคืน พอตื่นเช้ามีไข้สูง คาดว่าจะติดหวัดจากเพื่อนที่ทำงาน ด้วยความกังวลจึงไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง คุณหมอตรวจอาการขั้นต้นแล้วสันนิษฐานว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ จึงให้ยาทามิฟลูมาทาน แล้วให้กลับไปพักผ่อนที่บ้าน รอผลการตรวจในห้องแล็บ หลายวันต่อมา ทางโรงพยาบาลแจ้งมาว่าเธอโชคดีไม่ได้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ เป็นไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดตามช่วงฤดูกาล นักข่าวสาวฟังด้วยความดีใจปนความเซ็ง เพราะต้องจ่ายค่ารักษาไข้หวัดใหญ่ครั้งนั้นเป็นเงินหมื่นกว่าบาท

แต่นักข่าวสาวผู้นี้ยังโชคดี เมื่อเทียบกับน้องหลิว หนุ่มวัย ๑๗ ปีที่ต้องมาเสียชีวิตจากการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙

ที่วัดไผ่เงิน ในงานศพน้องหลิว เรามีโอกาสได้สนทนากับคุณยุวดี ชะบางบอน ผู้เป็นมารดา เธอเล่าว่าเธอป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ และลูกชายที่พิการแต่กำเนิดติดโรคไปโดยไม่รู้ตัว

“ตอนแรกดิฉันไปหาหมอที่โรงพยาบาลมิชชั่น ตั้งใจไปตรวจโรคเบาหวาน บังเอิญหมอสังเกตว่าดิฉันไอมากก็เลยตรวจ เขาก็รับตัวไว้เจาะเลือด สองวันแรกเขายังไม่บอกว่าเป็นหวัดใหญ่ ๒๐๐๙ พอวันที่ ๓ ผลการตรวจออกมาหมอบอกว่าเป็นแน่นอน ส่วนลูกที่นอนอยู่ด้วยกันคงติดไปโดยไม่รู้ตัว น้องหลิวมีอาการแน่นหน้าอกจึงพาส่งโรงพยาบาล หมอส่งตัวไปห้องปลอดเชื้อ ให้ยารักษาร่วม ๑๐ วันจนหาย แต่น้องหลิวร่างกายอ่อนแอ ปอดไม่แข็งแรง มีเสมหะมาก ต้องเจาะคอดูดเสมหะออก พอแข็งแรงขึ้นก็ออกจากโรงพยาบาลมาอยู่บ้านได้ไม่กี่วัน อาการก็กำเริบขึ้นมาอีก หายใจไม่ออก และมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล”

น้องหลิวเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตกว่า ๑๐๐ คนในบรรดาผู้ป่วยหลายพันคนจากการระบาดอย่างรุนแรงในช่วงเดือนกรกฎาคม -สิงหาคม นพ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คีย์แมนในการรับมือกับปัญหาครั้งนี้เล่าให้เราฟังว่า

“โดยปรกติการรับมือกับโรคระบาดนั้นมี ๒ ยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ ยุทธศาสตร์แรกเรียกว่า containment คือพยายามจะกวาดล้างเชื้อโรค กำจัดมันให้ราบคาบ ต้องการจะเอาชนะมันอย่างเด็ดขาด ยุทธศาสตร์ที่ ๒ เรียกว่า mitigation คือการควบคุมให้ความรุนแรงของโรคลดลง เพราะเราเชื่อว่าไม่มีทางที่เราจะกวาดล้างเชื้อโรคนี้ได้ สิ่งเดียวที่เราจะทำคือรับมือกับมันแล้วก็ประคับประคองจนเชื้อโรคค่อยๆ หมดไป ถ้าเป็นมวยก็หมายความว่าเราจะยืนชกกับเชื้อไวรัสนี้ให้ครบ ๑๕ ยกแล้วเราจะชนะคะแนน แต่ถ้าเป็นแบบ containment หมายความว่าเราจะน็อกมันตั้งแต่ยกที่ ๑, ๒, ๓”

เมื่อไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ระบาดไปทั่วโลก นักระบาดวิทยาในทุกประเทศได้ออกมาตรการ containment ตั้งแต่การตั้งด่านสกัด การควบคุมไม่ให้ผู้ติดเชื้อเดินทางออกนอกพื้นที่ เพื่อจำกัดวงการระบาดให้ได้ผลเร็วที่สุด แต่ในที่สุดองค์การอนามัยโลกได้ออกมายอมรับว่า การระบาดของโรครุนแรงขึ้นไปที่ระดับ ๖ คือระบาดไปทั่วโลก เลยจุดที่จะทำ containment เพราะเชื้อได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกแล้ว

“ดังนั้นบ้านเราเลยเปลี่ยนยุทธศาสตร์มาเป็น mitigation คือเราต้องการชกให้ครบยก และต้องการชนะคะแนน คำว่าชนะคะแนนหมายความว่า ในวงการแพทย์รู้ว่าโรคนี้จะระบาดใหญ่โดยเฉลี่ยประมาณ ๑๘ เดือน ก่อนที่การระบาดจะค่อยๆ ลดลงและหายไปเอง ในประเทศไทยทุกปีพอฤดูฝนสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย เราก็จะเจอการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ปีนี้เป็นเชื้อหวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ระบาดไปจนถึงปลายปี แต่พอเริ่มเข้าฤดูร้อน การแพร่ระบาดจะลดลงโดยอัตโนมัติ แล้วก็จะกลับมาระบาดอีกครั้งตอนเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นวงจรแบบนี้ พอเชื้อหวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ระบาดครบ ๑๘ เดือน จะทำให้คนประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศมีภูมิต้านทาน พอมีภูมิต้านทานการระบาดก็จะลดลงโดยอัตโนมัติ”

ในทางการแพทย์มีตัวเลขชี้ชัดว่า เมื่อเชื้อหวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ระบาดไป ๑๘ เดือน จะทำให้คนครึ่งประเทศได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้ ดังนั้นไทยมีประชากร ๖๐ ล้านคน ภายใน ๑๘ เดือนนี้จะมีคน ๓๐ ล้านคนได้รับเชื้อ แล้วในจำนวนนี้ ๑๕ ล้านคนจะมีร่างกายแข็งแรงไม่มีอาการใดๆ อีก ๑๕ ล้านคนจะติดเชื้อและมีอาการเหมือนไข้หวัดไปจนถึงอาการปวดหัวตัวร้อน มีไข้สูงแบบไข้หวัดใหญ่ แต่ทุกคนจะมีภูมิต้านทาน พอมีภูมิต้านทานแล้ว การระบาดของโรคก็จะลดลง เหลือเพียงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งก็จะไม่พบจำนวนผู้ป่วยมากมายแบบที่ผ่านมา

“ฉะนั้น การที่เราจะยืนครบยกก็คือว่า เราต้องการผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้โดยไม่บอบช้ำมาก คือในด้านสุขภาพมีคนป่วยคนตายน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านเศรษฐกิจด้านสังคมน้อยที่สุด ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ตอนแรกมีการใช้ยุทธศาสตร์ containment ใครที่เดินทางเข้าประเทศและมีปัจจัยเสี่ยงจะถูกกักตัวไว้ พอถึงจุดหนึ่งเขารู้ว่าทำอย่างนี้ต่อไปไม่ได้เขาก็เปลี่ยน ฮ่องกงเมื่อแรกมีการระบาด เขากักแขกหมดทั้งโรงแรมทั้งที่มีคนป่วยอยู่คนเดียว ยุทธศาสตร์แบบนี้ขืนทำต่อไปจะเกิดความเสียหายมาก ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต และมันก็ไม่ได้ผล เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์แบบใหม่ พยายามให้ทุกคนมีชีวิตที่ใกล้เคียงกับปรกติมากที่สุด แต่ก็ต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ยกตัวอย่างเราไม่เคยสั่งปิดโรงเรียนทั่วประเทศเลย เพราะไม่สามารถปิดนานเป็นเดือนได้ เด็กไม่ได้เรียนหนังสือจะเกิดความเสียหายในวงกว้าง แต่หากปิดไม่นาน เชื้อก็จะกลับมาอีก จำนวนผู้ป่วยก็จะเพิ่มขึ้น มันก็ไม่มีที่สิ้นสุด ยุทธศาสตร์แบบนี้อเมริกาก็เคยใช้ แรกๆ ก็ปิดโรงเรียน ตอนหลังบอกไม่ได้ ขืนปิดโรงเรียนเด็กๆ ก็ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะฉะนั้นเดินทางสายกลาง คือนักเรียนคนไหนป่วยขอให้หยุดอยู่กับบ้าน โรงเรียนไหนมีเด็กป่วยมากให้หยุด เราเดินสายกลาง ยืนให้ครบยก ให้ผ่านวิกฤตการณ์นี้ไปได้

“การยืนให้ครบยกโดยป้องกันให้มีความสูญเสียน้อยที่สุดนั้น หัวใจสำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งมี ๒ แบบ หนึ่งคือค่อยๆ ให้แต่ละคนติดเชื้อกันไป แล้วพยายามรักษาด้วยยาต้านไวรัส ลดการเสียชีวิตลง สองคือถ้าเรามีวัคซีน เราสามารถฉีดให้คนไทย ๖๐ ล้านคน นี้ก็เป็นวิธีสร้างภูมิคุ้มกัน”

องค์การอนามัยโลกได้ออกมายืนยันเร็วๆ นี้ว่า การฉีดวัคซีนเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ และตอนนี้บ้านเรามีทางเลือกในการผลิตวัคซีน ๒ ทางคือ การพัฒนาวัคซีนต้นแบบขึ้นมาเองโดยฝีมือคนไทย และการนำวัคซีนต้นแบบมาจากต่างประเทศและเร่งผลิตอย่าง
รีบด่วน

flu2009 08
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา แห่งไบโอเทค ผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ชนิดเชื้อตาย กำลังทดสอบวัคซีนเชื้อตาย

flu2009 10
เจ้าหน้าที่กำลังใช้ไฟส่องตรวจดูว่าเชื้อไวรัสที่ฉีดเข้าไปในไข่ปลอดเชื้อ สามารถเจริญเติบโตได้ดีหรือไม่

flu2009 11
เจ้า หน้าที่กำลังฉีดเชื้อไวรัสต้นแบบเข้าไปในไข่ปลอดเชื้อ แหล่งอาหารชั้นดีของไวรัสเพื่อทำการเพาะเชื้อ ก่อนนำไปทำวัคซีนเพื่อทดสอบต่อไป (ภาพ : องค์การเภสัชกรรม)

วัคซีนหวัดใหญ่เชื้อตายฝีมือคนไทย

ณ อาคารทันสมัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา หนึ่งในทีมวิจัยทดลองผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ประเภทวัคซีนเชื้อตาย นำเราไปเปลี่ยนเครื่องแบบก่อนจะพาเข้าไปในห้องที่กำลังมีการทดลองผลิตวัคซีน เชื้อตายครั้งแรกในเมืองไทย

“เมื่อมีการประกาศยืนยันว่ามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่รายแรกในไทย เราจึงไปขอความอนุเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำเชื้อไวรัสที่แยกได้จากผู้ป่วยคนไทยรายแรก (เชื้อไวรัส A/Nonthaburi/102/09) มาแยกสารพันธุกรรมในห้องแล็บ เอายีนที่เป็น code ของโปรตีน HA และ NA ที่จะสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย มาแยกเชื้อและใส่เข้าไปในเซลล์ที่เพาะเลี้ยงขึ้นในห้องทดลอง มาพัฒนาเป็นวัคซีน”

เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกำลังฉีดเชื้อไวรัสเข้าไปในไข่ปลอดเชื้อใบหนึ่งซึ่งเป็น แหล่งอาหารชั้นดีของไวรัส กล่าวคือ หลังจากได้ไวรัสต้นแบบมาแล้วจะนำมาเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ปลอดเชื้อนำเข้าจาก ประเทศเยอรมนี เอาไข่ไปแช่ในตู้อุณหภูมิ ๔.๘ องศาเซลเซียสให้ไวรัสเจริญเติบโต และดูว่าไข่ใบไหนให้ไวรัสสูงสุดก็จะนำไข่ใบนั้นมาทำสต็อกวัคซีน จากนั้นทำให้เชื้อเจือจางลง ๖๔ เท่า กลายเป็นเชื้อตาย แล้วใส่หลอดส่งไปทดลองกับสัตว์ทดลอง

“แต่การผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ส่วนใหญ่จะใช้เชื้อเป็น เพราะเชื้อเป็นเอามาทำวัคซีนได้จำนวนมากกว่าเชื้อตาย หากมองว่าเรามีไข่ ๓,๐๐๐ ฟองต่อเดือน เชื้อเป็นผลิตวัคซีนให้คนได้ ๓ แสนคน แต่เชื้อตายผลิตวัคซีนได้แค่ ๓,๐๐๐ คน ตอนนี้การผลิตวัคซีนจึงใช้เชื้อเป็นมากกว่าเชื้อตาย แต่เชื้อตายมีความปลอดภัย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ และเมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายแล้วไม่ก่อให้เกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยใดๆ สามารถให้ได้เกือบทุกคน ทุกวัย แม้แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเอดส์ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ก็สามารถรับวัคซีนชนิดนี้ได้ แต่เชื้อเป็นยังมีคำถามอยู่” ดร.อนันต์กล่าว

“วัคซีนเชื้อเป็นกับวัคซีนเชื้อตายต่างกันอย่างไรครับ” เราถามด้วยความสงสัย

วัคซีนเชื้อเป็นกับวัคซีนเชื้อตายใช้หลักการเดียวกัน หากเป็นเชื้อตายจะต้องผ่านกระบวนการทางเคมีทำให้ไวรัสตายเสียก่อน หรือเหลือเพียงชิ้นส่วนของโปรตีนที่ผิวของไวรัสก่อนจึงนำไปใช้ได้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็จะไม่ก่ออันตรายใดๆ

“เชื้อตาย เราจะใส่สารเคมีลงไปทำให้ไวรัสไม่สามารถเจริญเติบโตได้ไม่ว่าอุณหภูมิใดทั้ง สิ้น และทำให้มันแตกออก พูดง่ายๆ คือ ไวรัสเหมือนลูกบอล เราใส่ลมเข้าไปให้มันพองมากๆ จนแตกออก ผิวหรือเปลือกของไวรัสมีโปรตีนอยู่ เราก็ฉีดโปรตีนเข้าไปในกล้ามเนื้อเรา ชิ้นส่วนโปรตีนของเปลือกนอกไวรัสนี้ร่างกายจะจำไว้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ต่อไปหากคนคนนั้นได้รับเชื้อหวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ร่างกายก็จำได้และจะสร้างแอนติบอดีไปจัดการได้ทันควัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีไวรัสเป็นๆ เป็นตัวกระตุ้น” ดร.อนันต์อธิบายให้ฟัง

“ส่วนเชื้อเป็น คือไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง จะเจริญเติบโตได้ในอุณหภูมิต่ำกว่า ๒๕ องศาเซลเซียส หากเกิน ๓๓ องศา ไวรัสจะไม่มีการแบ่งตัว หมายความว่า หากไวรัสเข้าสู่ร่างกายคนที่มีอุณหภูมิปรกติ ๓๗ องศาเซลเซียส ไวรัสจะไม่มีการแบ่งตัว ดังนั้นเมื่อเราฉีดวัคซีนเข้าไปในโพรงจมูกที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ๓๗ องศา ไวรัสจะแบ่งตัวได้เล็กน้อย เป็นการบอกร่างกายว่ามีไวรัสเข้ามาแล้วตั้งแต่โพรงจมูก พอเข้าสู่หลอดลมมีอุณหภูมิ ๓๗ องศา ไวรัสก็จะไม่แบ่งตัว นั่นคือหลักการทำงานของเชื้อเป็น แต่เชื้อตายนั้น ร่างกายรู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมโดยการทำให้โปรตีนที่อยู่บนผิวของไวรัสเป็นตัว บ่งบอก นี่คือความแตกต่าง

“ข้อดีของเชื้อเป็นคือ ทำให้เรามีภูมิคุ้มกันตั้งแต่บริเวณทางเดินหายใจ จะมีแอนติบอดีมาที่นี่เลยเป็นประตูด่านแรก เชื้อเป็นจะทำให้มีภูมิคุ้มกันตั้งแต่โพรงจมูก ขณะที่เชื้อตายจะมีการสร้างแอนติบอดีในกระแสเลือด ซึ่งอาจจะใช้เวลาพอควรในการสร้างแอนติบอดี ทำให้เรามีไข้เล็กน้อย ดังนั้นเชื้อเป็นจึงมีประสิทธิภาพดีกว่า แต่เชื้อตายมีความปลอดภัยกว่า เนื่องจากเชื้อเป็นอาจจะกลับมาเจริญเติบโตได้ในอุณหภูมิ ๓๗ องศา เพราะไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตราบใดที่ยังไม่ถูกภูมิคุ้มกันในร่างกายทำลาย เชื้อไวรัสตัวนี้ก็อาจจะมีโอกาสกลับมาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากลัว”

ขณะเดียวกันทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดย ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล และ ดร.อรปรียา ทรัพย์ทวีวัฒน์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ชนิดเชื้อเป็น โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า รีเวอร์ส เจเนติกส์ (reverse genetics: RG) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลายประเทศนิยมใช้ในการสร้างวัคซีนตั้งแต่เมื่อครั้ง ที่ไข้หวัดนกระบาด โดยพัฒนาเป็นวัคซีนต้นแบบชนิดเชื้อเป็นฉีดพ่นในโพรงจมูก ซึ่งใช้ในปริมาณน้อยกว่าเชื้อตาย ระหว่างนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลอง

ถึงตรงนี้คงต้องมาขยายความกันเสียก่อนว่า ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานอย่างไร

ระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) คือระบบของร่างกายที่ทำหน้าที่คอยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่ เป็นอันตรายเข้ามาทำอันตรายต่อร่างกาย หรือเมื่อหลุดเข้ามาระบบก็จะพยายามทำลายกำจัดสิ่งแปลกปลอมให้หมดไปจากร่าง กายโดยเร็วและอย่างมีประสิทธิภาพ โดยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายนั้นแบ่งเป็น ๒ แบบ

แบบแรกเป็นการอาศัยเซลล์โดยตรง คือเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และเซลล์เม็ดเลือดขาวไปพบเข้าก็จะจับกินทำลายทันที แบบที่ ๒ อาศัยเซลล์โดยอ้อม คือเมื่อเชื้อโรคเข้ามา เซลล์จะสร้างสารภูมิต้านทานต่อต้านสิ่งแปลกปลอม เรียกว่า แอนติบอดี (antibody) สารนี้จะไปจับกับสิ่งแปลกปลอม ทำให้สิ่งแปลกปลอมไม่สามารถเพิ่มจำนวนแผลงฤทธิ์กับร่างกายได้

การสร้างสารภูมิต้านทานนั้น ในขั้นแรกเมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้ามา หากเชื้อโรคนี้ร่างกายเคยรู้จักมาก่อนแล้ว เซลล์ก็จะสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมา แต่หากร่างกายยังไม่เคยรู้จัก เซลล์ก็จะไปทำความรู้จักและจดจำเชื้อโรคชนิดนี้ แล้วบรรจุข้อมูลส่งไปให้เซลล์ที่มีหน้าที่สร้างสารภูมิต้านทานถอดรหัสเพื่อ จะสร้างสารให้ถูกชนิดกับเชื้อโรค

ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกายก็คือการไปกระตุ้นให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรค ตัวนี้ และหากคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเกิดได้รับเชื้อหวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ในอนาคต ร่างกายก็จะจำเชื้อโรคตัวนี้ได้ สามารถสร้างสารภูมิต้านทานออกมาจัดการกับเชื้อไวรัสนี้ได้ทันควัน

“การฉีดวัคซีนเป็นการบอกร่างกายว่ามีสิ่งแปลกปลอม ให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นมา ปรกติร่างกายคนเรา หากไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ วันหนึ่งเราไปติดเชื้อนี้เข้า กว่าร่างกายจะรู้ว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมและสร้างแอนติบอดีขึ้นมาจะใช้เวลา ประมาณ ๓ สัปดาห์ ทำให้คนติดเชื้อถูกโจมตีหนักจนตายเพราะร่างกายสร้างแอนติบอดีไม่ทัน และเชื้อไวรัสนี้รุนแรงมาก ภายใน ๗ วันจะเข้าสู่ปอด หากเอกซเรย์ดูจะเห็นเนื้อปอดเป็นสีขาวแสดงว่าเซลล์ปอดถูกทำลาย ดังนั้น คนที่ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ เข้าไปแล้ว ร่างกายจะสร้างแอนติบอดีขึ้นมา แม้เวลาผ่านไปแอนติบอดีจะลดลง แต่ร่างกายยังจำได้ พอได้รับเชื้อหวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ร่างกายก็จำได้ สามารถสร้างแอนติบอดีขึ้นมาได้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง เม็ดเลือดขาวที่สร้างแอนติบอดีสามารถแบ่งตัวได้มากกว่าเชื้อไวรัสเสียอีก และคราวนี้แอนติบอดีจะอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต นี้คือสาเหตุว่าทำไมคนที่เคยเป็นหวัดใหญ่ ๒๐๐๙ จึงมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต แอนติบอดีแต่ละชนิดจะมีอายุไม่เท่ากัน บางชนิดอยู่ได้ไม่นาน บางชนิดอยู่ได้หลายปี บางชนิดอยู่ได้ตลอดชีวิต เช่นวัคซีนหัดเยอรมันที่คุ้มกันได้ตลอดชีวิต เป็นต้น” ดร.อนันต์ขยายรายละเอียดการทำงานของวัคซีน

หลังจากได้วัคซีนต้นแบบเชื้อตายมาเรียบร้อยแล้ว ทาง ดร.อนันต์ก็จะส่งต่อไปทดลองฉีดในสัตว์ทดลองว่าปลอดภัยหรือไม่ หากสำเร็จก็จะนำไปทดสอบกับอาสาสมัครต่อไป

flu2009 06
องค์การ อนามัยโลกกำหนดให้ เฟอร์เร็ต หรือหมาหริ่ง เป็นสัตว์ทดลองสำหรับทดสอบวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ เนื่องจากมันไวต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สามารถแสดงอาการเช่นเดียวกับคนเมื่อได้รับเชื้อ หากการทดลองประสบความสำเร็จ ขั้นต่อไปจึงนำมาทดสอบกับมนุษย์

flu2009 07
ภาพ ถ่ายขยายเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A สายพันธุ์(H1N1) มีขนาดประมาณ ๒๐-๓๐๐ นาโนเมตร (๑ นาโนเมตรเท่ากับ ๑ ในพันล้านส่วนของเมตร หรือ ๑๐-๙ เมตร) (ภาพ : องค์การเภสัชกรรม)

flu2009 12
บน : องค์การเภสัชกรรมได้เริ่มทดลองฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็นให้แก่อาสาสมัครกลุ่ม แรกเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ค.ศ.๒๐๐๙ หากการทดสอบประสบความสำเร็จ คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนให้แก่ประชาชนได้ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ (ภาพ : องค์การเภสัชกรรม)

ล่าง : ยาโอเซลทามิเวียร์ หรือ ทามิฟลู ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม หลังการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ได้มีการสำรองยาอีก ๔๐ ล้านเม็ด สำหรับผู้ป่วย ๔ ล้านคน (ภาพ : องค์การเภสัชกรรม)

เฟอร์เร็ตกับมาตรฐานสัตว์ทดลองแบบไทย

รถเลี้ยวเข้าไปในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ตรงเข้าไปจนสุดทาง เราเห็นอาคารทันสมัยของคณะสัตวแพทยศาสตร์ตั้งตระหง่าน เมื่อทำการแลกบัตรเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่พาเราขึ้นลิฟต์ไปจนถึงชั้นปฏิบัติการทางสัตวแพทย์

เจ้าหน้าที่สาวใช้การ์ดรูดประตูเปิดอัตโนมัติ และพาเรามาอยู่หน้าห้องที่มีป้ายเขียนว่า Animal Bio Safety level 3 หรือห้องชีวนิรภัยระดับ ๓ เป็นห้องปลอดเชื้อ เรามองผ่านกระจกใสเข้าไปเห็นสัตว์ทดลองที่ชื่อว่า เฟอร์เร็ต หรือหมาหริ่ง อยู่ตรงหน้า

อีกไม่นาน คนไทยทั้งประเทศจะต้องขอบคุณเจ้าสัตว์หน้าตาคล้ายพังพอน จิ้มลิ้มน่ารัก ขนฟูนุ่ม และนิสัยซุกซนจนทำให้มันกลายเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมในหลายประเทศ เจ้าเฟอร์เร็ตนี้เองทำหน้าที่เป็นด่านเสี่ยงตายในการเป็นสัตว์ทดลองวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙

“เฟอร์เร็ตเป็นสัตว์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นสัตว์ทดลองสำหรับทดสอบ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ในทุกประเทศ มันเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กินสัตว์ขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มที่ใกล้เคียงกับพังพอน หมาไม้ อีเห็น ถิ่นอาศัยอยู่ในยุโรปและอเมริกา จากการศึกษามานานพบว่ามันไวต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (โดยเฉพาะเชื้อไวรัสชนิด A) คือ สามารถแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อได้ง่าย ตายเร็ว และมีอาการเช่นเดียวกับคน โดยในการทดลองจะเลือกเฟอร์เร็ตอายุ ๘-๙ เดือนซึ่งเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมจะทำการทดสอบ” รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ บอกกับผู้เขียนว่า

“และที่สำคัญคือ หลังรับเชื้อหวัดใหญ่มันจะแสดงอาการคล้ายกับคนชัดเจน ซึ่งไม่พบในสัตว์ทดลองอื่นๆ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูกน้ำตา หนูทดลองไม่ไอนะครับ ดังนั้นเฟอร์เร็ตจึงมีลักษณะที่สามารถสังเกตอาการได้ง่ายในห้องทดลอง และขนาดไม่ใหญ่เกินไป ตัวเต็มวัยมีความยาวลำตัว ๓๓-๓๙ เซนติเมตร ขยายพันธุ์ง่าย สามารถฝึกให้ร่วมมือในการเจาะเลือดโดยไม่ตื่นกลัวหรือขัดขืนมากนัก ขนาดที่เล็กยังสะดวกกับการเลี้ยงในตู้พิเศษที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ออก มาข้างนอกมาเจอกับคนหรือสิ่งแวดล้อม โดยห้องทดลองเราทำเป็นระบบปิด มีการกรองอากาศหลายชั้น และมีการฆ่าเชื้อทุกครั้ง”

เรามองเข้าไปในห้องชีวนิรภัยระดับ ๓ คุณหมอปานเทพอธิบายว่า เป็นห้องปลอดเชื้อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ห้องปิดสนิท อุณหภูมิและความชื้นสม่ำเสมอ ที่สำคัญที่สุดคือภายในห้องความดันอากาศเป็นลบ คือมันจะดูดอากาศออกตลอดเวลาและจะมีอากาศใหม่เข้าไป อากาศที่ออกไปจะผ่านแผ่นกรองอากาศชนิดพิเศษ กรองสิ่งต่างๆ ขนาด ๐.๓ ไมครอน (๑ ไมครอนหรือไมโครเมตร เท่ากับ ๑ ในล้านส่วนของเมตร หรือ ๑๐-๖ เมตร) ซึ่งเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะถูกกรองด้วย ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถหลุดรอดออกมาข้างนอกได้เด็ดขาด อากาศที่เข้ามาในห้องก็จะถูกกรองเช่นกัน ภายในมีกล้องวงจรปิด หากเกิดอุบัติเหตุข้างนอก คนที่อยู่ข้างในก็จะรู้ตัวว่าต้องป้องกันอย่างไร แก้ไขอย่างไร คนที่จะเข้าไปในห้องก็ต้องผ่านการทำความสะอาดหลายขั้นตอน ต้องเดินผ่านเครื่องดูดฝุ่นทั้งตัว เป็นต้น

ห้องชีวนิรภัยเป็นห้องทดลอง แบ่งเป็น ๔ ระดับ คือ ระดับที่ ๑ เป็นห้องทดลองเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียทั่วไปที่ไม่ก่อให้เกิดโรคหรือเป็น อันตรายต่อคน ระดับที่ ๒ เป็นห้องทดลองเชื้อโรคไม่ร้ายแรงหรือโรคติดต่อทางลมหายใจ และมียารักษา ระดับที่ ๓ เป็นห้องทดลองเชื้อโรคที่ติดต่อทางลมหายใจ และมียาหรือวัคซีนรักษา ส่วนระดับที่ ๔ เป็นห้องทดลองเชื้อโรคที่ยังไม่มียารักษา อาทิเชื้ออีโบลา

“หลังจากให้วัคซีนด้วยวิธีการพ่นเข้าในจมูกเฟอร์เร็ตแล้ว เราจะสังเกตอาการ ตั้งแต่วันที่ ๒ จะเก็บสารคัดหลั่งจากในจมูกดูว่ามีการขับเชื้อไวรัสหรือไม่ มีไวรัสเพิ่มหรือไม่ เราตรวจเลือดว่ามีการสร้างสารภูมิต้านทานหรือไม่ ดูเลือด ดูการขับไวรัส ถ้าไม่มีการขับไวรัสเลยก็ถือว่าสัตว์นั้นปลอดภัย ตอนแรกดู ๗ วัน ถ้าไม่ตายก็จะดูต่อไปประมาณ ๑ เดือน หรือหากมีการตายเกิดขึ้นต้องทำการบันทึกว่าตายภายในกี่วัน หรือพบปัญหาที่ทำให้เฟอร์เร็ตตาย เพื่อจะไปปรับปรุงการทำวัคซีนต่อไป” คุณหมอปานเทพอธิบายรายละเอียดขั้นตอน

“การทดสอบวัคซีนจะทำจนกว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายในสัตว์ เพราะถ้าหากยังทำให้สัตว์ทดลองแสดงอาการ นั่นก็หมายความว่าวัคซีนตัวนั้นๆ ใช้ไม่ได้ ต้องแก้ไข เราจำเป็นต้องใช้เฟอร์เร็ตที่แข็งแรงเพื่อสังเกตอาการได้ชัดเจน ถ้ามีปัญหา หรือมีเชื้อที่ยังไม่ได้มาตรฐาน เฟอร์เร็ตจะแสดงอาการรุนแรงและตายภายใน ๓ วัน เราต้องตรวจเลือด สารคัดหลั่ง ตรวจความผิดปรกติทุกอย่างว่ามีเชื้อหลุดรอดมาอยู่หรือไม่ แม้แต่เฟอร์เร็ตที่ไม่แสดงอาการใดๆ หลังรับวัคซีนก็ไม่ได้แปลว่าวัคซีนตัวนั้นได้ผล ดังนั้นสัตว์ทดลองทุกตัวต้องถูกหาค่าจากสารคัดหลั่งอีกครั้งอยู่ดี” คุณหมอปานเทพให้ภาพชัดเจนขึ้น

ล่าสุดทางไบโอเทคได้ส่งวัคซีนต้นแบบเชื้อตายมาให้ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ทดลอง ฉีดเข้าจมูกเฟอร์เร็ต ใช้เวลาประมาณ ๑ เดือนในการเฝ้าสังเกตอาการ ผลการทดลองปรากฏว่าเฟอร์เร็ตไม่มีอาการปอดบวมหรือไม่พบเชื้อลงปอด วัคซีนไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทดลอง ขณะนี้วัคซีนต้นแบบเชื้อตายยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองเพื่อให้เกิดความแน่ใจ มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่เกี่ยวข้องได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตรฐานการดูแล สัตว์ทดลองว่าสะอาด ปลอดโรคพอที่จะสามารถทดลองกับวัคซีนต้นแบบหรือไม่ รวมทั้งห้องปฏิบัติการสำหรับทดสอบว่ามีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่แค่ป้องกันเชื้อจากภายนอกเข้าสู่ห้องปฏิบัติการ แต่ต้องมั่นใจด้วยว่าภายในห้องทดลองดังกล่าวจะต้องปราศจากเชื้อโรคหรือ จุลินทรีย์ต่างๆ ปนเปื้อน

ขณะที่ผู้รับผิดชอบยืนยันว่า ห้องปฏิบัติการสำหรับทดสอบที่นี่ถือว่าได้มาตรฐานและมีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ

แต่จะได้มาตรฐานดีพอสำหรับการทดสอบวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ หรือไม่ เวลาเท่านั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะต้องยอมรับว่าครั้งนี้เป็นประสบการณ์ครั้งแรกของไทยที่จะทำการทดสอบ วัคซีนสำหรับมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายทีเดียว

flu2009 14
นักเรียนต่างสนใจชมนิทรรศการเรื่องการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙
ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี ๒๐๐๙

เมื่อคนไทยนำไวรัสมาผลิตวัคซีนหวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น

๑๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๙ สื่อมวลชนทุกฉบับรายงานข่าวนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินทางไปเปิดโรงงานต้นแบบนำร่องทดลองผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จังหวัดนครปฐม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ทุนจากองค์การอนามัยโลกกว่า ๗๐ ล้านบาท ดูเหมือนโรงงานต้นแบบแห่งนี้ได้กลายเป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศที่ต่าง เฝ้ารอจะเห็นหน้าตาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ๒๐๐๙ อย่างใจจดใจจ่อท่ามกลางสถานการณ์การป่วยและการตายที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

นพ. วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า โรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ เป็นโรงงานกึ่งอุตสาหกรรมที่จะใช้ในการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็น และเป็นวัคซีนชนิดพ่นเข้าจมูก โดยหากการทดลองได้ผลดีจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ได้ประมาณ ๒ ล้านโดสต่อเดือน และจะมีราคาถูกกว่าวัคซีนสำเร็จรูปที่สั่งซื้อจากต่างประเทศอย่างมาก

ที่ผ่านมารัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ กำหนดให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการผลิตวัคซีนป้องกันไข้ หวัดใหญ่ขึ้นใช้เอง เพื่อเตรียมรับมือกับไข้หวัดนกที่คาดว่าจะกลับมาระบาดอีก เพราะทุกปีกำลังการผลิตวัคซีนทั่วโลกสามารถผลิตได้สูงสุดเพียง ๕๐๐ ล้านโดสต่อปี จากประชากรทั่วโลก ๖ พันล้านคน หากมีการระบาดของไข้หวัดนกอาจจะเกิดการขาดแคลนวัคซีนไปทั่วโลก รัฐบาลจึงมีนโยบายให้ประเทศไทยพึ่งตนเองในการผลิตวัคซีน

“ในภาคอุตสาหกรรมผลิตยาของเอกชนไทย ไม่มีผู้ใดคิดจะมาลงทุนในเรื่องวัคซีน เพราะโรงงานผลิตวัคซีนมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดทุน เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคมีอายุสั้น ต้องผลิตใหม่ทุกปีเพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่กลายพันธุ์ตลอดเวลา วัคซีนที่อายุเกิน ๑ ปีจะต้องโยนทิ้ง และเชื้อโรคที่ระบาดในซีกโลกใต้กับซีกโลกเหนือส่วนใหญ่จะเป็นเชื้อคนละชนิด มีบางปีที่เป็นเชื้อชนิดเดียวกัน ดังนั้นวัคซีนที่ผลิตออกมาจึงขายได้เฉพาะซีกโลกใดซีกโลกหนึ่ง” นพ.วิชัย โชควิวัฒน เล่าถึงเบื้องหลังการตั้งโรงงานต้นแบบผลิตวัคซีนว่า

“เราได้รับความช่วยเหลือจากองค์การอนามัยโลก และคณะเภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร ให้สถานที่ตั้งโรงงาน แล้วเราก็เริ่มสร้างโรงงานให้ได้ตามมาตรฐานสากลป้องกันความปลอดภัยทุกอย่าง โดยเฉพาะต้องมีห้องชีวนิรภัย Bio Safety level 3 วัคซีนที่ผลิตออกมามีความปลอดภัยได้มาตรฐาน เราต้องให้องค์การอนามัยโลกมาประเมิน แต่ไปๆ มาๆ เชื้อหวัดที่ระบาดไม่ใช่เชื้อหวัดนก กลายเป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งซึ่งทั่วโลกไม่คาดคิด คือไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ แต่โรงงานนี้ก็สามารถผลิตวัคซีนได้ เพราะขั้นตอนการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดชนิดต่างๆ เหมือนกัน เพียงแต่ว่าต้องนำเชื้อไวรัสต้นแบบจากรัสเซียเข้ามา”

องค์การเภสัชกรรมตัดสินใจใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดเชื้อเป็นจากรัสเซีย โดยใช้สายพันธุ์เชื้อไวรัส A/Leningrad/23/81 ที่ได้รับการพัฒนามานาน จากการแนะนำขององค์การอนามัยโลก มาผสมกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิด A สายพันธุ์ H1N1 ที่ตรวจพบครั้งแรกในแคลิฟอร์เนีย

“สายพันธุ์ที่เราจะนำมาใช้ต้องคำนึงถึงคุณสมบัติ ๓ เรื่องด้วยกัน คือ ต้องปลอดภัย สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ต่อสู้กับโรคได้ และมีความสามารถในการผลิตให้เร็วพอกับความต้องการ คุณสมบัติเหล่านี้มาอยู่ที่สายพันธุ์เลนินกราดซึ่งถือว่าเป็นสายพันธุ์ดีที่ สุดในขณะนี้ หลายประเทศใช้มาแล้ว ๒๐ กว่าปี ไม่เคยมีปัญหาว่ามันจะกลายพันธุ์เป็นเชื้อตัวที่ไม่ปลอดภัย มีการทดลองกับหนูในประเทศรัสเซียและทดลองกับเฟอร์เร็ตในประเทศเนเธอร์แลนด์ ประสบผลสำเร็จในเรื่องความปลอดภัยของเชื้อแล้ว”

ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ สถานที่ตั้งโรงงานผลิตวัคซีนนำร่อง ภายในห้องชีวนิรภัย ไวรัสต้นแบบจะถูกส่งมาในห้องนี้ นักวิทยาศาสตร์จะนำเชื้อมาฉีดเข้าไปในไข่ไก่ปลอดเชื้อทำการเพาะเชื้อเป็น ล็อตแรก ไข่ไก่ปลอดเชื้อต้องเป็นไข่ไก่ที่เริ่มฟักเป็นตัว คือเมื่อเอาไปส่องไฟจะเห็นมีเส้นเลือดสีแดงปรากฏอยู่ ซึ่งเชื้อไวรัสจะเจริญเติบโตได้ดี หลังจากนั้นจะดูดเอาส่วนที่เป็นของเหลวในไข่ออกมา ทำการแยกไข่แดงกับเชื้อไวรัสออกจากกัน แล้วนำไปทำให้เชื้ออ่อนฤทธิ์และไม่เจริญเติบโตในอุณหภูมิสูงกว่า ๒๕ องศาเซลเซียส โดยการใส่สารเคมี
บางอย่างลงไปเพื่อทำวัคซีนต้นแบบชนิดเชื้อเป็น ก่อนจะทำการทดสอบในคนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้เกิดความผิดพลาดในการเก็บเชื้อไวรัสไว้ในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม ทำให้ต้องเลื่อนการทดสอบวัคซีนออกไปหลายเดือน จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ค.ศ.๒๐๐๙ ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ทางคณะนักวิจัยขององค์การเภสัชกรรมได้ทดลองฉีดพ่นวัคซีนชนิดน้ำบรรจุใน กระบอกฉีดยาปริมาณ ๐.๕ มิลลิกรัมเข้าสู่โพรงจมูกของอาสาสมัคร ๒๔ คน หลังจากนั้นอีก ๒๑ วัน อาสาสมัครเหล่านี้จะต้องรับการฉีดพ่นวัคซีนเข้าโพรงจมูกเป็นครั้งที่ ๒ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แพทย์จะเก็บตัวอย่างน้ำในโพรงจมูกและเจาะเลือดเพื่อดูว่าเม็ดเลือดขาวสามารถ สร้างสารภูมิต้านทานได้หรือไม่ และจะทดสอบกับอาสาสมัคร ๔๐๐ คนต่อไป หากไม่มีอะไรผิดพลาด วัคซีนสามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารภูมิต้านทานได้สำเร็จ องค์การเภสัชกรรมจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ได้ในเดือนพฤษภาคมปีนี้

ทั้งหมดนี้คือก้าวแรกของการผลิตวัคซีนต้นแบบในเมืองไทย และในอนาคตหากการผลิตวัคซีนต้นแบบประสบความสำเร็จ ในขณะที่โรงงานผลิตของคณะเภสัชศาสตร์มีความสามารถผลิตวัคซีนได้เพียงเดือนละ ๒ ล้านโดส หากเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ จำนวนวัคซีนอาจจะไม่เพียงพอต่อการรับมือ จึงจำเป็นต้องหาพื้นที่ก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนขนาดใหญ่ ซึ่งทางองค์การเภสัชกรรมกำลังพิจารณาอยู่ว่าควรเป็นสถานที่ใดจึงจะเหมาะสม

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตวัคซีนที่มีศักยภาพอยู่แล้ว คือโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ของสำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ที่ได้มาตรฐาน มีผู้เชี่ยวชาญพร้อม และผลิตไข่ไก่ปลอดเชื้อเฉพาะเพื่อนำมาเพาะเชื้อได้เดือนละ ๓ หมื่นฟอง สามารถปรับปรุงโรงงานมาผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ชนิดเชื้อเป็นสำหรับมนุษย์ได้ โดยมีกำลังการผลิตวัคซีนเดือนละ ๑๙ ล้านโดส แต่ดูเหมือนทางกระทรวงสาธารณสุขไม่ค่อยให้ความสนใจนัก ด้วยเหตุผลว่าเป็นที่ผลิตวัคซีนของสัตว์ ไม่น่าจะผลิตวัคซีนสำหรับคนได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงกระบวนการผลิตไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

ในขณะเดียวกันทางองค์การเภสัชกรรมได้เริ่มก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับ อุตสาหกรรมที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี สำหรับผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าโรงงานจะสร้างเสร็จและผลิตบุคลากรในการผลิต วัคซีน

ขณะนี้บทสรุปของการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ยังอยู่ในระหว่างการทดสอบกับมนุษย์ และพื้นที่การผลิตวัคซีนระดับโรงงานอุตสาหกรรมก็ดูเหมือนจะมีความเห็นแตก ต่างในหมู่ผู้รับผิดชอบที่อยู่คนละกระทรวง ขณะที่ในหลายประเทศ อาทิ จีน ออสเตรเลีย สวิตเซอร์-แลนด์ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ได้เริ่มทยอยประกาศความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนกับคน และเดินหน้าผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมกันแล้ว

ล่าสุดองค์การเภสัชกรรมได้สั่งซื้อวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ จำนวน ๒ ล้านโดส เพื่อแก้ปัญหาการผลิตวัคซีนในบ้านเราไปก่อน และเริ่มทำการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนในเดือนมกราคมศกนี้

อย่างไรก็ตาม ก้าวแรกในการผลิตวัคซีนฝีมือคนไทยแม้เป็นเรื่องยากแสนสาหัสและเป็นเรื่อง ใหม่ถอดด้ามสำหรับบ้านเราที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญในวงการสาธารณสุขไทยเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์นับล้านคน ซึ่งคงไม่เกินความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ไทย อีกไม่นานผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายคงจะก้าวข้ามความขัดแย้งมาร่วมแรงร่วมใจ ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ จนประสบความสำเร็จเหมือนนานาประเทศ

ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ไวรัสจะอยู่คู่กับพวกเราไปอีกนานแสนนาน จนถึงปลายปี ๒๐๐๙ เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ๒๐๐๙ ได้คร่าชีวิตคนไทยไปแล้วประมาณ ๑๙๐ คน และคนทั่วโลกได้จบชีวิตลงด้วยโรคนี้แล้วกว่าหมื่นคน

ขอขอบคุณ :
คุณยุวดี ชะบางบอน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นพ.วิชัย โชควิวัฒน รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ องค์การเภสัชกรรม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักเทคโนโลยีชีวภัณฑ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)