การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๒ ต่อต้นปี ๒๕๖๓ เป็นต้นมา จากจุดกำเนิดในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีนไปยังประเทศต่างๆ ถึงเวลานี้เชื้อไวรัสได้แพร่กระจายไปยังทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกมากกว่าสามแสนคน ตายมากกว่าหนึ่งหมื่นคน และไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะสิ้นสุดลงตรงจุดไหน
ท่ามกลางความสูญเสีย ความเจ็บป่วย ล้มตาย ความเสียหายทางเศรษฐกิจ
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NASA) และองค์การอวกาศแห่งยุโรป (ESA) เผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงกับชั้นบรรยากาศของโลก ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยพบว่าความเข้มข้นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เป็นสาเหตุสำคัญของมลพิษทางอากาศ เป็นสารตั้งต้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า ๒.๕ ไมครอน หรือ PM2.5 ที่นำมาสู่โรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ ส่วนใหญ่มีที่มาจากการเผาไหม้ในภาคคมนาคม ขนส่ง การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลโดยเฉพาะถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ การทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้เครื่องทำความร้อนเครื่องปรับอากาศในอาคารบ้านเรือน
โดยปรกติแล้วก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์จะลอยอยู่ในบรรยากาศได้ไม่เกิน ๑ วัน หลังจากนั้นจะตกลงมาสะสมหรือทำปฏิกิริยากับสารมลพิษอื่นๆ
ภาพถ่ายดาวเทียมประมวลผลจากเครื่องมือ The Tropospheric Monitoring Instrument ที่ติดอยู่บนดาวเทียม Sentinel-5 ขององค์การ ESA ร่วมด้วยเซ็นเซอร์ Ozone Monitoring Instrument บนดาวเทียม Aura ขององค์การ NASA ได้รับการเผยแพร่ออกมา ๒ ชุด