เรื่องและภาพ : ปริญญากร วรวรรณ

สมเสร็จ ความลึกลับแห่งดงลึก

สมเสร็จหรือผสมเสร็จเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีลักษณะของสัตว์หลายอย่างรวมกัน มีการกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคใต้และภาคตะวันตกของไทย เป็นสัตว์ที่อยู่เพียงลำพัง ใช้จมูกที่ยาวคล้ายงวงดมหาอาหาร เวลาหนีภัยใช้คอที่มีหนังหนาเข้าดันพุ่มไม้ทึบเพื่อเปิดทาง ว่ายน้ำและดำน้ำเก่ง ผสมพันธุ์ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ตั้งท้องประมาณ ๓๙๐-๓๙๕ วัน ออกลูกครั้งละ ๑ ตัว มีอายุเฉลี่ยในกรงประมาณ ๓๐ ปี แต่ในธรรมชาติยังไม่รู้แน่
ว่าตามจริง ดูเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอย่างสมเสร็จ จะไม่ใช่สัตว์แปลกหน้าของคนในเมืองแต่อย่างใด สวนสัตว์เกือบทุกแห่งในโลกมีสัตว์ประเภทนี้ขังกรงไว้ให้คนดู เหตุผลสำคัญที่ทำให้สมเสร็จเป็นสัตว์ที่ทุกสวนสัตว์ต้องมีไว้คือความ “แปลก” ของมันนั่นเอง รูปร่างลักษณะที่รวมสัตว์ชนิดต่างๆ ไว้ในตัว เรียกความสนใจได้ดี

สมเสร็จเป็นที่รู้จักของคนในเมือง แต่ในป่ามันคือสัตว์ลึกลับ ไม่ค่อยมีผู้ใดพบเห็น อีกทั้งวิถีชีวิตของพวกมันก็ยังเป็นปริศนาของคนในป่าตลอดมา

. . .

“คุณลุง…คุณลุง อ้ายตัวยังงี้เขาเรียก ‘สมเสร็จ’ หรือ ‘ผสมเสร็จ’ กันแน่ครับ”

ขณะยืนดูสมเสร็จในกรงของสวนสัตว์เขาดินวนา นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ถูกเด็กผู้ชายในเครื่องแบบนักเรียนสะกิดขา และถามคำถามข้างต้น

“อาก็ไม่รู้แน่หรอกหลาน มันน่าจะเรียกว่าผสมเสร็จมากกว่า หรือชะรอยชาวบ้านเรียกเร็วๆ สั้นๆ จึงกลายเป็นสมเสร็จไปกระมัง” หลังจากหายสะอึกเพราะมาพบเด็กอักษร-ศาสตร์เข้าในเขาดิน หมอบุญส่งตอบคำถาม

“ทำไมเขาจึงเรียกมันว่าผสมเสร็จเล่าลุง” เด็กชายคนนั้นตั้งคำถามต่อ

“ที่เขาตั้งชื่อว่าผสมเสร็จ เห็นจะเป็นเพราะรูปร่างของมันคล้ายกับสัตว์หลายอย่าง หลานลองสังเกตรูปร่างมันสิ หากดูเผินๆ คล้ายๆ หมู ตาเล็กเหมือนหมู แต่มีจมูกยื่นยาวออกมาได้ตั้ง ๗-๘ นิ้ว ทำให้เห็นคล้ายๆ งวงช้าง หากจะดูที่เท้าก็ดูคล้ายเท้าแรด หางของมันสั้นกุดอย่างกับหางหมี”

หมอบุญส่งตอบเสร็จพลางโล่งใจ เพราะเด็กชายผู้นั้นพยักหน้าหงึกๆ แล้ววิ่งตามพี่สาวไป

หมอเล่าถึงผสมเสร็จต่อ “ในสวนสัตว์เขาดินเวลานั้นมีผสมเสร็จหลายตัวเพื่อเตรียมไว้แลกกับสัตว์แปลกๆ จากต่างประเทศ ทางสวนสัตว์ต่างประเทศชอบหาไปเลี้ยงไว้มาก เพราะสัตว์นี้มีสิ่งที่น่าสนใจในแง่สัตวศาสตร์หลายประการ มันเป็นสัตว์โบราณที่ยังมีชีวิตเดนตายอยู่ในโลกปัจจุบัน ใกล้เคียงกับแรด ช้าง และฮิปโปโปเตมัส ไม่มีอาวุธป้องกันตัว อาศัยแต่ความไวของจมูกและหูตาคอยหนีภัย มันจึงคงมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ พวกนักนิยมไพรส่วนมากจึงมักถือกัน ไม่ยอมยิงสัตว์ซึ่งไม่มีอาวุธป้องกันตัว ทั้งไม่มีโทรฟี่เช่นสัตว์นี้เป็นอันขาด”

และหมอบุญส่งอธิบายถึงสัตว์ชนิดนี้เพิ่มเติมว่า “ผสมเสร็จรูปร่างแปลกน่าสนใจ หากพิจารณาให้ใกล้ชิดเราจะเห็นว่ามันมีจมูกยาวออกเป็นงวงซึ่งยืดและหดได้ เวลายืดเต็มที่งวงนี้จะยาว ๗-๘ นิ้ว แต่มันใช้งวงจับอะไรอย่างงวงช้างไม่ได้ จะใช้ได้เพียงเขี่ยอะไรๆ เช่นเขี่ยหัวเผือกหัวมันหรือใบไม้เข้าปากเท่านั้น ส่วนเล็บเท้าจะว่าคล้ายแรดก็ไม่เชิง เพราะเท้าหน้ามี ๔ เล็บ แต่เล็บแรดมีเพียงเท้าละ ๓ เล็บ เล็บสมเสร็จค่อนข้างเรียวแหลม ไม่มนๆ ป้านๆ อย่างเล็บแรด

“เท้าหลังสมเสร็จมี ๓ เล็บ เท้าหน้ามี ๔ เล็บ แต่ในป่าที่ดินแข็งๆ เราจะเห็นเพียง ๓ เล็บเท่านั้น รอยเล็บนิ้วก้อยจะเห็นได้เป็นครั้งคราวเฉพาะเมื่อมันเหยียบดินอ่อนเท่านั้น”

ในส่วนสีของสมเสร็จ หมอบุญส่งอธิบายไว้ว่า “สีของผสมเสร็จนี่พิเรนทร์ไม่ใช่น้อย เวลามันเกิดใหม่ๆ ลายพร้อยไปทั้งตัวอย่างผลแตงไทย ดูเผินๆ คล้ายลูกหมูป่า แต่ไม่มีหางแกว่งดุกดิกที่ก้นอย่างลูกหมู พอตัวโตสูงราวๆ ๑ ศอกก็เริ่มเปลี่ยนสีขน ขนซึ่งงอกใหม่ออกมาแทนที่นั้นงอกสีธงประจำชาติของมันขึ้นมาทีเดียว คือตั้งแต่รักแร้ไปทางท่อนหัวนั้นดำมืดไปจนถึงปลายจมูก ท่อนกลางตัวเป็นแผ่นขาวตั้งแต่โคนขาหลังไปจนถึงโคนหาง จากขาหลังลงไปดำมืด” หมอบุญส่งจึงให้ข้อสังเกตว่า เหมือนมันนุ่งกางเกงอาบน้ำสีขาวอะไรทำนองนั้น

ในป่านั้นนายแพทย์บุญส่งเล่าไว้ว่ามีชุกชุมทางแถบผืนป่าด้านตะวันตก คือตามแนวเทือกเขาตะนาวศรี และมีมากลงไปทางปักษ์ใต้ถึงสุมาตรา

ข้อสังเกตอีกประการเกี่ยวกับผสมเสร็จของหมอบุญส่งคือนิสัยของมันคล้ายกับแรดมาก

“เท่าที่ข้าพเจ้าเคยเที่ยวๆ ตามดูมันในป่า รู้สึกว่ามันชอบอยู่ในป่าดงดิบที่เย็นๆ ครึ้มๆ ไม่ห่างจากลำห้วยหรือหนองน้ำ ท่องเที่ยวหากินใบไม้สดและหน่อไม้ต่างๆ เรื่อยไป พออิ่มก็กลับลงไปหาน้ำแช่ในห้วยในหนอง อย่างแรดหรือหมูป่า”

ครั้งหนึ่งในป่าคลองขลุงกลางฤดูฝน หมอบุญส่งมีโอกาสพบผสมเสร็จ เมื่อพบรอยตีนและเดินตามไปดู เห็นมันยืดคอและเล็มใบไม้ไปเรื่อยๆ กินพลางเดินพลาง บางครั้งก็ก้มลงหาลูกไม้ที่หล่นอยู่ตามพื้น

ท่าทีสบายใจของผสมเสร็จเปลี่ยนไปเมื่อได้กลิ่นกายมนุษย์

“มันร้อง ‘อี๊ด’ เบาๆ แล้ววิ่งหายไปตามป่ารกๆ ตรงไปทางห้วย ข้าพเจ้าวิ่งตามไป พอไปถึงลำห้วยซึ่งน้ำกำลังเต็มตลิ่ง มันก็เดินลงไปในลำห้วยหายไปเลย ข้าพเจ้ารีบวางปืน หมายจะโดดลงไปจับในขณะมันว่ายข้ามน้ำ ซึ่งนึกว่าง่ายกว่าจับบนบก แต่คอยๆ ดูก็ไม่เห็นมันโผล่ขึ้นมาว่ายเหนือพื้นน้ำเลย ดำน้ำเงียบหายไป”

เมื่อกลับถึงเต็นท์ ชาวบ้านผู้นำทางบอกหมอว่าผสมเสร็จมีความสามารถในการดำน้ำและเดินไปใต้น้ำได้เก่งมาก

แต่กระนั้นนายแพทย์บุญส่งมีความเห็นว่าผสมเสร็จเป็นสัตว์ที่นักล่าสัตว์รู้จักน้อยมาก มีผู้พยายามศึกษาชีวิตของมันตามธรรมชาติในป่าอยู่บ้าง แต่ไม่สำเร็จ หรือไม่ได้รายละเอียดมากนัก เพราะประสาทสัมผัสระวังภัยเก่ง ไม่ยอมให้คนเข้าใกล้

จากตำราหลายเล่มที่นายแพทย์บุญส่งเคยอ่านพบ กล่าวถึงผสมเสร็จไว้ว่า พวกมันมีวิธีการผสมพันธุ์โดยตัวผู้ทับตัวเมียใต้น้ำ ตัวเมียตั้งท้อง ๙ เดือน ออกลูกครั้งละ ๑ ตัว รวมทั้งจะถ่ายมูลรวมๆ ไว้ในที่เดียวกัน

“หากพวกเรานักนิยมไพรผู้ใดมีโอกาสได้เห็นได้พบผสมเสร็จในป่าแล้ว ควรพยายามศึกษาชีวิตจริงๆ ของมันตามธรรมชาติในป่าดูบ้าง คงจะมีอะไรน่ารู้ไม่น้อย”

นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักธรรมชาติวิทยาผู้ริเริ่มการอนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศไทย กล่าวถึง “ผสมเสร็จ” ไว้เช่นนี้

. . .

ฤดูแล้ง พ.ศ. ๒๕๓๓ ป่าห้วยขาแข้ง

“สมเสร็จนี่พ่อผมเล่าให้ฟังว่าชาวบ้านเขาถือว่ามันเป็นตัวซวยครับ”

ขณะเดินข้ามลำห้วยเพื่อมุ่งหน้าไปยังโป่งแห่งหนึ่งในป่าห้วยขาแข้ง ชม ชายหนุ่มคนงานหน่วยพิทักษ์ป่าพูดเมื่อเราพบรอยตีนสมเสร็จประทับไว้บนพื้นทรายริมๆ ห้วย

“พวกที่กำลังออกไปล่าสัตว์บางคนจะกลับบ้านเลย เพราะถือว่าจะไม่พบอะไรแล้ว บางคนจะใช้วิธีฉีกชายผ้าขาวม้าแก้เคล็ด” ชมพูดต่อ

รอยตีนกว้างราวฝ่ามือมี ๓ นิ้ว ทำให้หัวใจผมเต้นแรง

ผมเปลี่ยนใจชวนชมตามรอยตีนสมเสร็จตัวนั้นไป หลังขึ้นจากลำห้วยแล้วมันมุ่งหน้าไปตามด่านทางทิศใต้ ใบไม้หนาซึ่งปกคลุมด่านทำให้ร่องรอยของมันสังเกตไม่เห็น เราตามไปตามด่านจนกระทั่งพลบค่ำ แต่ไม่มีวี่แววจึงถอยกลับทางเดิม

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นรอยตีนสมเสร็จในป่า มันเป็นสัตว์ที่ผมอยากเห็นตลอดมานับตั้งแต่มีโอกาสได้เห็นรูปถ่ายสมเสร็จอยู่ในน้ำ ซึ่งบันทึกภาพได้โดยคุณซมพลา อดีตหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่ากระปุกกระเปียง ราวๆ ปี ๒๕๓๐

และดูเหมือนนั่นจะเป็นภาพสมเสร็จในธรรมชาติภาพแรกที่ได้รับการเผยแพร่

“นอกจากรอยตีนและขี้มันแล้ว ผมยังไม่เคยพบสมเสร็จในป่าเลยครับ”

อ่อนสาพูดกับผม เมื่อเราพบรอยตีนสมเสร็จอยู่บนด่านบนสันเขาสูง ๑,๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ขณะเรากำลังตรวจสอบสัญญาณของเครื่องรับจากเครื่องส่งที่ติดอยู่กับปลอกคอเสือโคร่งเพศผู้น้ำหนัก ๒๐๙ กิโลกรัมตัวหนึ่ง

อ่อนสาทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำมา ๒๒ ปีแล้ว

“แต่ผมเคยเห็น ๒-๓ ครั้งแล้วครับ” ถาวรซึ่งอยู่ในทีมศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่งด้วยกันพูดบ้าง

“ครั้งแรกเห็นมันลงกินน้ำในโป่ง ส่วนอีกครั้งเจอบนด่านบนสันเขาป่าเต็งรังแล้งๆ นั่นแหละ”

“ตอนแรกผมนึกว่ามันอยู่แต่ในป่าดิบใกล้ๆ น้ำ” อ่อนสาพูดต่อ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา พวกเขาพบเจอร่องรอยสมเสร็จบ้างในเกือบทุกสภาพป่า แม้แต่บนสันเขาซึ่งเป็นป่าเต็งรัง ในข้อมูลเกี่ยวกับสมเสร็จที่นายแพทย์บุญส่งบันทึกไว้มีหลายอย่างที่เราพบ

“มันขี้ไว้เป็นกองใหญ่เลยครับ ชอบขี้บริเวณโคนต้นไม้ ก่อนขี้จะใช้ตีนหลังตะกุยดิน ทำอาการคล้ายๆ เสือโคร่งน่ะครับ”

สมเสร็จก็เช่นเดียวกับเลียงผา รวมทั้งกวางผา ซึ่งมักขี้ซ้ำๆ ในตำแหน่งเดิมๆ

“รอยที่มันกินไม่เฉพาะใบไม้นะครับ กิ่งไม้อ่อนๆ ก็กินด้วย” อ่อนสาพบรอยกินของสมเสร็จ

ขี้สมเสร็จมีลักษณะหยาบๆ คล้ายขี้ช้าง แต่ก้อนเล็กๆ ราวไข่ไก่

ความเป็นสัตว์ที่ว่ากันว่ามีประสาทระวังภัยดีนั้น หลายเรื่องเล่าจากคนที่เคยพบเห็นสมเสร็จทำให้ผมไม่แน่ใจนัก

ชาวบ้านแถบเทือกเขาบูโดบอกผมว่า “‘บาเดาะ ซูมู’น่ะจมูกไม่ดีหรอก สายตายิ่งไม่ดีใหญ่ บางทีเจอกันใกล้ๆ ยังไม่หนี”

อาแซ มาเสะ หนึ่งในสมาชิกโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกแห่งหมู่บ้านตาเปาะ จังหวัดนราธิวาส เรียกสมเสร็จว่า “บาเดาะ ซูมู” ผู้เป็นเพื่อนร่วมทางของผมในการ “ตามหา”สมเสร็จ เห็นด้วยกับความหูตาไม่ดีของสมเสร็จ

“พวกล่าสัตว์ไม่ชอบมันหรอก” อาแซเล่า

“รูปร่างมันเหมือนมีสัตว์หลายอย่างรวมๆ กัน เป็นสัตว์ไม่มงคล ถ้าพบเจอบางทีเขายิงทิ้งเลย”

ความเป็น “ตัวซวย” ของสมเสร็จดูคล้ายจะเป็นความเชื่ออันกว้างขวาง

แต่สมเสร็จก็ไม่ใช่เป้าหมายของการล่าเพื่อเอาเนื้อหรือชิ้นส่วนอวัยวะเช่นกัน

“คนที่เคยยิงเขาเล่าว่าถ้ายิงโดนตรงส่วนที่เหมือนสัตว์อะไรมันจะร้องเป็นเสียงสัตว์นั้นๆ” อาแซเล่ายิ้มๆ เรื่องเล่าในป่ามีมากมาย โดยเฉพาะกับสัตว์ป่าซึ่งมีลักษณะ “แปลกๆ” อย่างนี้

จากเทือกเขาบูโด ผมขึ้นไปตามหาสมเสร็จในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก

“พวกเราไม่มีใครยิงสมเสร็จกันหรอกครับ” หยี่หง่วย แสง-อุดม หรือเหล่าเก๊า อดีตผู้ใหญ่บ้านแม่จันทะผู้เคยช่วยงานวิจัยที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำกับหัวหน้านพรัตน์ นาคสถิตย์ ราวๆ ปี ๒๕๒๔ บอกตอนที่เราเดินสำรวจโป่งต่างๆ เพื่อหาร่องรอยของสมเสร็จในป่าทุ่งใหญ่ฯ

“สมเสร็จมันจะลงโป่งในคืนวันโกนเท่านั้นแหละ” เย็นๆ ขณะอยู่ข้างกองไฟ แกมีเรื่องเล่าให้ฟังมากมาย

“ทำไมล่ะครับ” ผมสนใจ

“เพราะวันโกนมันจะมาแสดงความเป็นเจ้าของที่น่ะ” แกพูดด้วยสีหน้าจริงจัง

“และสมเสร็จมี ๒ ชนิดนะ” อดีตผู้ใหญ่บ้านพูดต่อ “ชนิดหนึ่งตัวลายๆ เหมือนแตงไทย ส่วนอีกชนิดมีสีขาวกับดำ”ลูกสมเสร็จเกิดใหม่มีลวดลายคล้ายแตงไทย

“ชนิดเด็กกับชนิดผู้ใหญ่น่ะ” อดีตผู้ใหญ่บ้านพูดหน้าตาเฉย

โป่งน้ำซับหลายแห่งมีรอยตีนสมเสร็จเหยียบย่ำไว้เป็นเทือกผมพบร่องรอยของสมเสร็จมากกว่าบริเวณแถบเทือกเขาบูโดเสียด้วยซ้ำ

ผู้ใหญ่เหล่าเก๊าพาผมนั่งเรือหางยาวขึ้นไปตามลำน้ำแม่กลอง ตามโป่งริมๆ น้ำมีรอยตีนและขี้สมเสร็จเกือบทุกโป่ง

. . .

สมเสร็จเป็นสัตว์กินพืช แต่ก็ไม่พบว่าพวกมันตกเป็นเหยื่อสัตว์ผู้ล่า

การตรวจสอบขี้เสือโคร่งรวมทั้งเสือดาวอย่างละเอียดในพื้นที่ซึ่งมีรอยสมเสร็จของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ยังไม่เคยพบชิ้นส่วนสมเสร็จในขี้ที่เก็บมาตรวจสอบ

“บางทีเพราะว่าสมเสร็จมีแผ่นหนังแข็งๆ บริเวณก้านคอช่วยป้องกันเสือตะปบกัดบริเวณก้านคอละมัง เสือเลยไม่อยากยุ่ง” เราพูดถึงสมเสร็จเช่นนี้

“หรือไม่เสือมันก็ถือว่าสมเสร็จเป็นตัวซวยเหมือนคนมั้ง” ถาวรให้ความเห็น

สิ่งหนึ่งที่เรารู้เกี่ยวกับสมเสร็จคือ ดูเหมือนมันจะอยู่และหากินในทุกสภาพป่า ไม่เฉพาะแต่ป่าดิบใกล้ๆ แหล่งน้ำ

“สมเสร็จไม่มีพื้นที่หากินหรืออาณาเขตอันชัดเจนแบบเดียวกับเสือนะครับ” ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ชิ้มเจริญ ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ผู้ล่า โดยเฉพาะเสือโคร่ง ให้ความเห็น

“มันจะเดินไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับพืชอาหารตามฤดูกาล คล้ายๆ พวกหมีนั่นแหละ”

การจับหมีควายติดวิทยุและติดตามชีวิตของมันทำให้รู้ว่า สำหรับสัตว์บางชนิดก็ไม่มีพื้นที่หากินแน่นอน พวกมันมีฤดูกาลและแหล่งอาหารเป็นตัวกำหนด ฉะนั้นจึงค่อนข้างยากในการติดตามเพราะมันจะอยู่ไม่เป็นที่

ไม่น่าแปลกใจที่สมเสร็จจะเป็นความลึกลับของเรา การเฝ้ารอตามโป่งมีโอกาสพบสมเสร็จบ้าง แต่รูปที่เราได้มักมาจากกล้องดักถ่ายซึ่งเราวางไว้ตามด่านเพื่อดักถ่ายเสือโคร่งจากเกือบทุกพื้นที่ ตามด่านบนเขาสูงเกิน ๑,๕๐๐ เมตร สภาพป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ รวมทั้งป่าเต็งรัง

ครั้งที่ผมวางกล้องดักถ่ายในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ฮาลา-บาลา รูปที่ได้ส่วนใหญ่คือสมเสร็จ และเวลาที่บันทึกภาพได้คือช่วงกลางคืน

หลายพื้นที่ป่าที่ผมตามหาสมเสร็จมักมีร่องรอยของมันให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นผืนป่าด้านตะวันตก หรือพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ

บางที อาจเป็นเพราะความลึกลับนี่เองที่ทำให้พวกมันมีชีวิตรอดมาถึงวันนี้

. . .

ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

แคมป์ “จับเสือ” ของเราอยู่ริมลำห้วยสายเล็กๆ เป็นบริเวณที่ลำห้วย ๒ สายไหลมาบรรจบกัน คือห้วยกระดิ่งและห้วยขาแข้ง

“แถวๆ ห้วยนี้แหละครับที่พี่ซมพลาถ่ายรูปสมเสร็จได้” ดร.ศักดิ์สิทธิ์ หัวหน้าทีมจับเสือเล่า เขาเข้ามาเป็นหัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่ากระปุกกระเปียงต่อจากคุณซมพลา

สมเสร็จตัวนั้นถูกถ่ายรูปเมื่อกว่า ๒๐ ปีก่อน ผมไม่รู้หรอกว่ามันยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ อายุของสมเสร็จที่อยู่ในกรงอยู่ราวๆ ๓๐ ปี แต่ในธรรมชาติเรายังไม่รู้

หลายปีแล้วที่ผมเริ่มร่วมทีมทำงานกับเหล่านักวิจัยตั้งแต่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก จนกระทั่งมาถึงโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะกำลังศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของสัตว์ป่าตัวใดอยู่ ตัวที่ไม่เคยลืมและพยายามตามหาตลอดมาคือ สมเสร็จ

. . .

ผมเงยหน้าจากงานที่ทำเมื่อได้ยินเสียงน้ำกระฉอกอยู่ในลำห้วยข้างๆ แคมป์

ภาพที่เห็นทำเอาผมแทบหยุดหายใจ

สมเสร็จตัวหนึ่งกำลังเดินทวนสายน้ำขึ้นไป โดยไม่ทันคิดอะไร ผมเปิดเป้หยิบกล้องขึ้นมาและวิ่งตามสมเสร็จตัวนั้นไปทันที

ผมวิ่งลุยพงหญ้าขนานไปกับลำห้วย ขณะสมเสร็จยังเดินไปเรื่อยๆ อย่างไม่สนใจอะไร

ระยะทางประมาณ ๒๐๐ เมตรที่ผมมีโอกาสอยู่ใกล้ชิดสมเสร็จ

เวลาสั้นๆ ทำให้ภาพที่หมอบุญส่งเล่าถึงสมเสร็จชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่การที่มันทำท่าราวกับไม่สนใจผมเลย ผมจึงค่อนข้างเห็นด้วยกับ อาแซ มาเสะ ว่า บาเดาะ ซูมู ตาไม่ดี

เมื่อถึงช่วงแอ่งน้ำลึก มันดำลงใต้น้ำ แต่ชั่วอึดใจก็โผล่ขึ้นมา อาจเป็นเพราะน้ำตื้น ไม่ลึกพอที่จะทำให้มันเดินไปใต้น้ำได้

โค้งน้ำเต็มไปด้วยโขดหิน และฝีเท้าค่อนข้างเร็วของสมเสร็จ มันจึงล้ำหน้าผมไปไกล และค่อยๆ ลับหายไปจากสายตา

. . .

ผมใช้เวลาพอสมควรในการเดินกลับแคมป์ หนทางค่อนข้างรกทึบ เมื่อสักครู่ผมลุยผ่านมาโดยไม่ได้ใส่ใจกับหนามหรือความรก

เลือดไหลซิบๆ ตามแขนและใบหน้า

ชั่วขณะเวลาสั้นๆ ที่มีโอกาสใกล้ชิดกับสัตว์ที่พยายามติดตามหามานาน เป็นเพียงเวลาแห่งความปลื้มปีติ แต่ไม่ได้ทำให้ผมรู้จักสมเสร็จมากขึ้นอย่างใด

ระหว่างเดินกลับแคมป์ ผมรู้สึกได้ว่าได้รับความรู้อีกแบบหนึ่ง

. . .

กลับถึงแคมป์ เสียงจักจั่นยังคงเซ็งแซ่ สายน้ำไหลเอื่อยๆ ชะนีส่งเสียงอยู่ไกลๆ นกกกร้องแว่วๆ

สรรพเสียงเป็นดังเช่นทุกวันที่ผ่านมา

ผมมองไปที่ลำห้วย

สมเสร็จตัวนั้นจากไปแล้ว

สิ่งที่เห็นก็เป็นเพียงลำห้วยอันว่างเปล่า

ข้อมูล :
นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล. “สมเสร็จ”. ธรรมชาตินานาสัตว์ เล่มที่ ๑. กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๓๘.
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในประเทศไทย และภูมิภาคอินโดจีน. กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย, ๒๕๔๓.