ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ภาพ
ประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครอง (protected areas) กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค อาทิ อุทยานแห่งชาติ (national park) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (wildlife sanctuary) วนอุทยาน (forest park) เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (non-hunting areas) พื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง (marine protected area) ฯลฯ นอกเหนือจากนั้น ในแวดวงสิ่งแวดล้อมยังมีคำว่า “พื้นที่คุ้มครอง OECMs” ที่ย่อมาจาก “other effective area-based conservation measures” แปลตรง ๆ ว่า “มาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพอื่น ๆ”
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) นิยาม OECMs ว่าเป็นพื้นที่นอกเขตพื้นที่คุ้มครองที่มีการบริหารจัดการให้บรรลุเป้าหมายการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นที่อยู่อาศัย โดยคำนึงถึงวิถีวัฒนธรรม ความเชื่อ เศรษฐกิจ สังคม คุณค่าดั้งเดิมในท้องถิ่น ให้เป็นไปตามบทบาทหน้าที่และบริการที่ได้รับจากระบบนิเวศ เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่าเป็น “พื้นที่อนุรักษ์นอกเขตคุ้มครอง” หรือ “พื้นที่อนุรักษ์นอกเขตอนุรักษ์”
พื้นที่คุ้มครอง OECMs (บ้างก็เรียก “พื้นที่อนุรักษ์ OECMs” หรือ “พื้นที่ OECMs”) ไม่ได้อยู่ในเขตคุ้มครองในทางกฎหมาย การบริหารจัดการพื้นที่ส่วนนี้เปิดโอกาสให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถึงแม้พื้นที่ OECMs จะอยู่นอกพื้นที่คุ้มครอง แต่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ มีมาตรการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ผู้ผ่านการทำงานในองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าหลากหลายองค์กรตลอด ๒๐ ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็นนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศ ให้ความเห็นว่า
“โดยส่วนตัวแล้วอยากให้มอง OECMs ในเชิงภาพรวม เชื่อมโยงภาพใหญ่ในระดับ Landscape และ Seascape โดยเฉพาะแนวเชื่อมต่อกับพื้นที่คุ้มครอง ถ้ามองแบบนั้นจะเห็นว่าพื้นที่ OECMs ช่วยแก้ปัญหาความท้าทายการอนุรักษ์ในปัจจุบันได้ โดยเฉพาะในพื้นที่กันชน (buffer zone) พื้นที่เชื่อมต่อ (corridor) เช่น แนวเชื่อมต่อจากอุทยานแห่งชาติสิรินาถ (จังหวัดภูเก็ต) ไปหาดท้ายเหมือง (จังหวัดพังงา) จนถึงอุทยานฯ แหลมสน (จังหวัดระนอง) แหล่งวางไข่สำคัญของเต่ามะเฟือง ซึ่งคาบเกี่ยวจังหวัดระนองกับพังงา พื้นที่อนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากที่ครอบคลุมหมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน (จังหวัดพังงา) พื้นที่สงวนชีมณฑลทะเลสตูลที่รวมเกาะตะรุเตา หมู่เกาะเภตรา หมู่เกาะสาหร่าย แนวป่าชายเลนชายฝั่ง (จังหวัดสตูล) นอกจากนี้ในระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ผสมพื้นที่เกษตรกรรม การจัดการแบบ OECMs ยังสอดคล้องกับบริบทความเป็นจริงของการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ระบบนิเวศอ่าวไทยตอนใน ระบบนิเวศที่ราบภาคกลาง หรือระบบนิเวศแบบทุ่งปากพลี จังหวัดนครนายก”
สาเหตุที่ทำให้ OECMs ได้รับการพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากในการประชุมระดับโลกที่ชื่อสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ ๑๕ (CBD, ส่วนหนึ่งของการประชุม COP 15) ใน ค.ศ. ๒๐๒๑ มีข้อสรุปให้ประเทศภาคีช่วยกันสนับสนุนเป้าหมายที่ ๓ ภายใต้กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทั้งบนบก แหล่งน้ำในแผ่นดิน ทะเลและชายฝั่ง ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ ๓๐ ภายใน ค.ศ. ๒๐๓๐ หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า “เป้าหมาย ๓๐×๓๐”
“ลำพังเขตอนุรักษ์อย่างเป็นทางการไม่เพียงพอ ต้องยกระดับการจัดการอนุรักษ์ในพื้นที่เอกชน และพื้นที่อื่นๆ พื้นที่อนุรักษ์นอกเขตพื้นที่คุ้มครอง OECMs จึงกลายเป็นความหวังสำคัญ ในการผลักดันงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก” ดร.เพชร อธิบาย
หากแต่การเก็บรักษาพื้นที่ธรรมชาติไว้ให้ได้ร้อยละ ๓๐ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ทุกวันนี้สถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญคือการขยายตัวของพื้นที่อุตสาหกรรม เกษตรกรรมและชุมชน การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ การเสื่อมถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ ย่อมนำมาซึ่งการลดลงและสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต
หลายประเทศกำลังขบคิดว่าจะไปหาพื้นที่ใดมาประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองตามกฎหมาย
การให้ความสำคัญกับพื้นที่อนุรักษ์นอกเขตคุ้มครองอย่าง OECMs จึงเป็นคำตอบที่ดูจะมีความเป็นไปได้
จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายการคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ
จนกว่าจะบรรลุผลการเพิ่มขึ้นของพื้นที่อนุรักษ์
“นก” อาจเป็นข้อต่อการเปลี่ยนผ่านสำคัญครั้งนี้
“บ้านปากทะเลเป็นตัวอย่างเขตอนุรักษ์นอกพื้นที่คุ้มครองที่ชัดเจนที่สุด”
นิยม ทองเหมือน
ผู้จัดการโครงการบ้านปากทะเล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
“การอนุรักษ์นกชายเลนจะต้องยกระดับไปสู่การบริหารจัดการดูแลถิ่นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหาร…
“พื้นที่อนุรักษ์บ้านปากทะเลเป็นตัวอย่างเขตอนุรักษ์นอกพื้นที่คุ้มครองในประเทศไทยที่ชัดเจนที่สุด ตรงตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง ที่นี่อยู่นอกเขตอุทยาน อยู่นอกเขตอนุรักษ์ มีชาวบ้าน ชาวนาเกลือ คนตัวเล็กตัวน้อยช่วยกันดูแลรักษา แต่ไม่มีใครพูดถึง ไม่มีใครถูกเชิดหน้าชูตา ทั้ง ๆ ที่เป็นแหล่งพักพิงของนกท้องถิ่นหายากรวมทั้งนกอพยพที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ระดับโลกหลายชนิด”
“ทุกวันนี้ชายหาดถูกคนรบกวนตลอดเวลาไม่ใช่หรือ”
อารุณ มีชัย
เกษตรกรนาเกลือบ้านปากทะเล
“นกไม่ได้ลงแปลงนาทุกแปลง แปลงที่ขังน้ำให้เกลือตกตะกอน นกลงไม่ได้ ยกเว้นจำเป็นจริง ๆ…
“การมีนาเกลือช่วยให้นกมีแหล่งอาหาร ไม่ต้องห่วงมากว่าน้ำทะเลจะลงหรือขึ้น นอกจากหากินได้แทบทั้งวันแล้วยังใช้นาเกลือเป็นแหล่งรวมฝูงพักผ่อน ใช้เป็นที่นอนและหลบภัย ทุกวันนี้ชายหาดถูกคนรบกวนตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืนแล้วไม่ใช่หรือ”
“เข้าใจนกแล้วก็อย่าละเลยคน”
สิทธิชัย อิ่มจิตร
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก
“ไฟไหม้ (ทุ่งใหญ่ปากพลี, ทุ่งใหญ่สาธารณะประโยชฃน์) แต่ละครั้งผู้นำชุมชน ชาวบ้าน จะช่วยกันดับไฟ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถดับได้สำเร็จ รถดับเพลิงก็เข้าไม่ถึงต้นไม้ที่มีนกเกาะ เพราะมีตอและต้นไม้ใหญ่ล้มขวางทางอยู่ ก็ได้แต่ช่วยกันทำจนสุดความสามารถ เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็รับบริจาคต้นไม้มาช่วยกันปลูกเพื่อให้นกได้มาอาศัย…
“เข้าใจนกแล้วก็อย่าละเลยคน เข้ามาแล้วก็โอภาปราศรัยกับคนในพื้นที่บ้าง หรือแม้แต่ช่วยสนับสนุนสินค้าของคนในชุมชนก็ตาม”
“ต้นไม้ใหญ่ในเมืองเป็นสิ่งสำคัญมาก”
ชัยวัฒน์ มนตรีชัยวิวัฒน์
ชมรมอนุรักษ์นกแก้วโม่งวัดสวนใหญ่
“เกิดมาก็เห็นฝูงนกเข้ามาอาศัยอยู่ในวัดสวนใหญ่ และวัดต่าง ๆ ในจังหวัดนนทบุรี มีทั้งนกแก้วโม่ง นกแขกเต้า ที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน นกแก้วโม่งชอบทำรังในโพรงไม้ที่มีความสูงมากกว่า ๑๕ เมตร เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เป็นนกมังสวิรัติ ชอบกินผลไม้ เมล็ดธัญพืช ยอดอ่อน ดอกตูม น้ำหวานของดอกไม้ รวมทั้งเปลือกไม้เป็นอาหาร…
“ต้นไม้ใหญ่ในเมืองเป็นสิ่งสำคัญมากที่คนเมืองนนท์ต้องช่วยกันดูแลรักษา ถ้าปล่อยให้ทรุดโทรมหรือล้มลง ก็คงไม่มีนกแก้วโม่งในจังหวัดนนทบุรี”
“การทำนาเกลือสมุทรแบบดั้งเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย”
เสรี มานิตย์
นักดูนกบ้านปากทะเล-แหลมผักเบี้ย
“ที่ผ่านมาพอนักดูนกรู้ข่าวว่าที่นี่มีนกหายาก มีนกชายเลนปากช้อนก็ชวนกันมาตั้งกล้องถ่าย นกชายเลนที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ทั่วโลกเหลืออยู่แค่ไม่กี่ตัวเท่านั้น แต่กลับสามารถตั้งกล้องถ่ายภาพได้ง่าย ๆ ที่นี่ บางทีก็พากันมาวันละหลาย ๆ คัน บ่อยครั้งเดินเข้ามาโดยไม่ขออนุญาต ไม่เอ่ยปากถาม นึกว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ ลงจากรถก็เดินดุ่ม ๆ เหยียบย่ำลงไป นาเกลือมันกว้างใหญ่ ไม่รู้หรอกว่าผืนไหนเป็นของใคร ถ้ารถขับเร็ว ไม่เกรงใจกัน ฝุ่นละอองก็ตกลงไปในนาเกลือ เหยียบย่ำจนคันดินพังเสียหาย
“การทำนาเกลือสมุทรแบบดั้งเดิมไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าจะผ่านหน้ามรสุมที่น้ำทะเลหนุน พื้นที่ได้รับความเสียหายหลายรอบ ต้องออกแรงซ่อมแซมคันดินกันใหม่”
นกแก๊กอาศัยร่วมกับคนในเกาะยาวมานาน
ภราดร บุตรละคร
กลุ่มชุมชนคนรักนกเงือกเกาะยาวน้อย และผู้ก่อตั้งเพจเรารักษ์เกาะยาว
“นกแก๊กอาศัยร่วมกับคนในเกาะยาวมานาน เป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ไม่ว่าบ้านหลังไหนมีผลไม้สุก และเป็นผลไม้ที่นกเงือกชอบ นกเงือกก็จะเป็นแขกประจำของบ้านนั้น ช่วยกันกินจนหมด แล้วก็มาเยี่ยมอีกเมื่อผลไม้สุกในคราต่อไป…
“เป้าหมายในตอนนี้ นอกจากเพิ่มจำนวนโพรงรังเทียมแล้ว คือการขยายพื้นที่อนุรักษ์นกเงือกไปยังเกาะยาวใหญ่ นอกจากติดตั้งโพรงรังเทียมแล้วจะสร้างชุมชนเครือข่ายอนุรักษ์นกเงือก สร้างงานและรายได้จากการอนุรักษ์นกเงือก เพิ่มจุดชมนกเงือกทั้งเกาะยาวน้อยและเกาะยาวใหญ่”