เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์


chanort01

มีนิทานเรื่องหนึ่งเล่าว่า เศรษฐีคนหนึ่งนั่งรถไปต่างจังหวัดระหว่างทางพบที่แปลงหนึ่งสวยและสนใจจะซื้อ จึงสอบถามว่าที่ดินนี้เป็นของใคร ก่อนจะได้คำตอบว่าเป็นที่ดินของเขาเองที่ซื้อเก็บไว้นานแล้วโดยไม่ได้ทำอะไร

นิทานเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องขำขันสำหรับเศรษฐีที่ดิน แต่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือเกษตรกรยากไร้ที่ที่ดินหลุดมือพวกเขาไป ฟังแล้วคงหัวเราะอย่างขมขื่น

งานวิจัยเรื่อง “นโยบายเศรษฐกิจที่ดินของไทยในศตวรรษใหม่” ของ ปรีชา วทัญญู ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ระบุว่า ประเทศไทยมีที่ดินทั้งหมด ๓๒๐ ล้านไร่เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์ ๑๓๐ ล้านไร่ ในจำนวนนี้ร้อยละ ๑๐ อยู่ในการถือครองของคน ๖ ล้านคน เฉลี่ยต่อรายมากกว่า ๑๐๐ ไร่ และที่ดินจำนวน ๓๐ ล้านไร่ถูกปล่อยทิ้งร้างจนสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจปีละ ๑.๒๗ แสนล้านบาท

ในขณะที่ประชากรนอกเหนือจาก ๖ ล้านคนนั้นถือครองที่ดินเฉลี่ยคนละไม่ถึง ๑ ไร่ ประชากรกว่า ๘ แสนครัวเรือนยังไม่มีที่ดินของตนเอง เกษตรกรเกือบ ๒ ล้านครัวเรือนมีที่ดินทำกินไม่เพียงพอและประชากร ๑ ล้านครัวเรือนครอบครองที่ดินอย่างผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ทางมูลนิธิสถาบันที่ดินได้สำรวจข้อมูลนับจากปี ๒๕๕๒ ย้อนหลังไปถึงปี ๒๕๔๕ พบว่าร้อยละ ๗๐ ของที่ดินที่มีการจับจองถูกปล่อยทิ้งร้าง ถ้าจะมีการใช้ประโยชน์บ้างก็ใช้อย่างไม่เต็มที่ ในงานวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาการถือครองและใช้ประโยชน์ที่ดิน และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์และกฎหมายเพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด (๒๕๔๒-๒๕๔๔)” ของมูลนิธิฯ ยังระบุว่า การถือครองที่ดินแปลงเดียวที่มีขนาดเกิน ๒๐๐ ไร่ในประเทศไทยมีมากถึงร้อยละ ๒๙.๗

สอดคล้องกับงานวิจัยของ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล และ ผศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “นโยบายและมาตรการทางการคลังเพื่อความเป็นธรรมในการกระจายรายได้” ที่ระบุว่า เฉพาะกรุงเทพฯ ผู้ถือครองที่ดิน ๕๐ อันดับแรกมีที่ดินอยู่ในมือถึง ๙๓,๓๑๔.๔๐ ไร่ หรือถือครองพื้นที่ร้อยละ ๑๐ ของเมือง ส่วน ๕๐ อันดับสุดท้ายมีที่ดินรวมกัน ๐.๓๒ ไร่ โดยมีสัดส่วนการถือครองน้อยกว่าถึง ๒๙๑,๖๐๗.๕๐ เท่า

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นปัญหาการถือครองที่ดินในประเทศไทยที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งใน “ปัญหาต้นน้ำ” อันเป็นที่มาของปัญหาสังคมอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ปัญหาความยากจน ยาเสพติด เป็นต้น

เมื่อขาดปัจจัยพื้นฐานคือที่ดิน เกษตรกรจำนวนมากต้องเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตร ประกอบกับต้นทุนปุ๋ยและยาฆ่าแมลงราคาแพง ภัยธรรมชาติ ราคาผลผลิตตกต่ำ ฯลฯ นำมาซึ่งวงจรความยากจนซ้ำซาก ขณะที่ผู้มีรายได้สูง ชนชั้นกลางระดับบน จับจองที่ดินเพื่อเก็งกำไร ซึ่งมูลนิธิสถาบันที่ดินประเมินว่าจะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากการไม่ใช้ประโยชน์ที่ดินขั้นต่ำราว
๑๒๗,๓๘๔ ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ได้มีความพยายามจำกัดการถือครองที่ดินส่วนบุคคลตั้งแต่ที่สยามเริ่มให้กรรมสิทธิ์ที่ดินกับเอกชนมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ที่สำคัญคือกฎหมายยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ อาทิ ความพยายามของปรีดี พนมยงค์ ในการร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจที่มีการระบุแนวทางให้รัฐซื้อที่ดินจากเอกชนมาจัดสรรให้ชาวนาไร้ที่ดิน การจัดตั้งนิคมสหกรณ์เช่าซื้อที่ดินในปี ๒๔๗๘ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร การออกประมวลกฎหมายที่ดินในปี ๒๔๙๗ จำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน ๕๐ ไร่ต่อคน เป็นต้น

หากแต่ทั้งหมดนี้ถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่๔๙ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ด้วยเหตุผลว่า “…เป็นการจำกัดโดยไม่สมควร และเป็นเหตุบ่อนความเจริญก้าวหน้าในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และส่งผลให้เสียหายแก่การเศรษฐกิจของประเทศ…” ส่งผลให้เครื่องมือในการกระจายที่ดินทางกฎหมายนั้นหมดไป และหลังจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรกในปี ๒๕๐๔ รัฐบาลก็เร่งออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินเพิ่มขึ้น และกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐก็เข้าครอบครองที่ดินมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ความพยายามแก้ปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินเกิดขึ้นอีกครั้งในทศวรรษ ๒๕๑๐ ในปี ๒๕๑๓ รัฐบาลจัดหาที่ดินให้เกษตรกรไร้ที่ดินโดยตั้งกองทุนหมุนเวียนให้เกษตรกรกู้ยืมซื้อที่ดินแล้วนำมาดำเนินการในรูปแบบนิคมสหกรณ์ หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เกิด “สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย”เคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน อันเป็นที่มาของ พ.ร.บ. การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยมีจุดมุ่งหมายคือ “ปรับปรุงการถือครองสิทธิที่ดิน กระจายสิทธิในที่ดิน ทั้งในที่ดินของรัฐและเอกชนที่มีมากเกินความจำเป็น ให้ไปสู่เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน พร้อมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาชีพ…ให้มีการจัดตั้งกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนและใช้จ่ายเพื่อการปฏิรูปที่ดิน…”

ทั้งยังมีมาตรการที่เกี่ยวข้องตามมา อาทิ พ.ร.บ. ควบคุมการเช่านา พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยให้รัฐจัดสรรที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่เวนคืนจากเอกชนมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรไร้ที่ทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน และเมื่อเขตปฏิรูปถูกตั้งขึ้นที่ใด ห้ามบุคคลถือครองที่ดินเกิน๕๐ ไร่ หรือ ๑๐๐ ไร่กรณีเลี้ยงสัตว์ใหญ่ และถ้าถือครองเกิน ๒๐ ไร่โดยไม่ทำประโยชน์ รัฐจะเข้าไปซื้อหรือเวนคืนกลับมา

ทว่ากฎหมายนี้ก็ไม่เคยทำงานได้จริง ด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากรและงบประมาณแต่อย่างใด หลังจากนั้นการแก้ปัญหาด้วยเงินจากกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ ก็มีลักษณะทำเป็นครั้งๆ ตามสถานการณ์ที่เกิดเฉพาะหน้า อาทิ ประกันราคาพืชผล รับซื้อผลผลิตที่ราคาตกต่ำ จนได้ชื่อว่าเป็นกองทุน“รถดับเพลิง” ขณะที่การปฏิรูปที่ดินและใช้เงินจากกองทุนนี้ในการหาที่ดินมาปฏิรูปเพิ่มเติมนั้นเป็นไปอย่างเชื่องช้า

ปัญหาการกระจุกตัวของที่ดินยังคงสะสมมาอย่างต่อเนื่องพร้อมกับการเติบโตของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่เข้าครอบครองที่ดินมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีความพยายามของหน่วยงานรัฐในลักษณะของการตั้งกองทุนที่ดินเพื่อซื้อที่ดินมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรในช่วงปี ๒๕๓๕ โดยความร่วมมือของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

โครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรโดย ส.ป.ก. ดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงปี ๒๕๓๖ ที่รู้จักกันดีในชื่อ ส.ป.ก. ๔-๐๑ แต่ก็เป็นเพียงการปฏิรูปที่ดินป่าเสื่อมโทรมให้เกษตรกรรายย่อยที่ครอบครองพื้นที่อยู่แล้ว ไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องการกระจายการถือครองที่ดินในภาพรวม ทั้งยังทำให้ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกรรายย่อยไปอยู่ในมือนายทุนและญาตินักการเมือง อันนำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชวน หลีกภัย เป็นเหตุให้ต้องยุบสภาในที่สุด

ในปี ๒๕๔๐ ผลจากการเดินขบวนเรียกร้องของสมัชชาคนจนโดยนำเสนอปัญหาที่ดินเป็นหนึ่งในหลายกรณีปัญหา ทำให้รัฐบาลชวนมีมติ ครม.เมื่อ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๐ ตั้งคณะกรรมการศึกษานโยบายการกระจายการถือครองที่ดินและจัดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนในทุกภาค นำมาสู่ข้อเสนอเรื่องภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า การออกกฎหมายคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม และการจัดเก็บภาษีรายได้จากผู้มีอันจะกินและกระจายที่ดินไปสู่คนไร้ที่ดิน แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่มีผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด

ที่ภาคเหนือ เกิดกรณีการยึดที่ดินที่บ้านศรีเตี้ย ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยที่ดินที่เคยเป็นที่สาธารณะของหมู่บ้านถูกนายทุนนำไปออกเอกสารสิทธิ์ ล้อมรั้วที่ดินไม่ให้ใครใช้ประโยชน์ พยายามให้ชาวบ้านรับรองสิทธิ์จนชาวบ้านรวมตัวกันยึดที่ดินดังกล่าว นำป้ายที่เขียนว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของหมู่บ้านมาปักไว้ และร้องเรียนหน่วยงานราชการถึงความไม่ชอบมาพากลในการออกโฉนด อีกกรณีเกิดขึ้นปลายปี ๒๕๔๓ เกษตรกรที่รวมตัวกันในนามแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) บุกยึดที่ดิน ๔๒๖ ไร่
ที่ทิ้งร้างมานานกว่า ๔๐ ปี บริเวณหมู่บ้านไร่ดง อำเภอป่าซางจังหวัดลำพูน และร้องเรียนราชการให้แก้ไขปัญหาที่ดิน อันนำไปสู่การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว ๒๑ ไร่เนื่องจากออกโฉนดโดยมิชอบ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็ตอบโต้ด้วยมติครม. เรื่อง “หลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในการชุมนุมเรียกร้อง” มีสาระสำคัญว่าการยึดที่ดินไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ามีอีก “อาจไม่ต้องมีการเจรจาหรือช่วยเหลือใดๆหากผู้ใดกระทำผิดกฎหมายหรือทำให้ทรัพย์สินของทางราชการหรือเอกชนเสียหาย ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง…”
ส่งผลให้มีการดำเนินคดีกับแกนนำ การเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าวในพื้นที่อื่นๆ จึงหยุดชะงักลงไปต่อสู้ในชั้นศาลแทน

ปลายปี ๒๕๕๑ เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงนโยบายก่อนเข้าบริหารประเทศ เรื่องภาษีที่ดินและภาษีมรดกได้รับการประกาศเป็นหนึ่งในมาตรการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื่องการถือครองที่ดินและทรัพย์สินในสังคมไทย โดยรัฐบาลได้ผ่าน “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. …” เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ มุ่งเน้นออกโฉนดชุมชนในพื้นที่ของรัฐ โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าสาระสำคัญของการออกโฉนดชุมชนตามแนวทางนี้คือ “ที่ดินยังเป็นของรัฐ แล้วให้กรรมสิทธิ์ชุมชนเพื่ออยู่อาศัยหรือทำกินโดยคุ้มครองให้ทำเกษตรกรรม จะมีคณะกรรมการขึ้นมา ๑ ชุดในสำนักนายก-รัฐมนตรี มีหน้าที่พิจารณาที่ดินของรัฐ ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของพื้นที่ต้องอนุญาตให้ตามกฎหมายก่อน แล้วให้สิทธิ์ชุมชนไปทำกินและคณะกรรมการต้องประเมินความเข้มแข็งของชุมชนนั้นๆ และให้สิทธิ์ไม่เกิน ๓๐ ปี และจะมีการประเมินทุก๓๐ ปี โดยมีเงื่อนไขเรื่องสิ่งแวดล้อม การปลูกต้นไม้ ถ้ามีการละเมิดสิทธิ์ก็จะเอาโฉนดชุมชนนั้นกลับมาเป็นของรัฐ ราษฎรที่ได้รับสิทธิทำกินตามโฉนดชุมชนนี้จะเอาเอกสารสิทธิ์ไปจำนองจำนำใดๆ มิได้ เพราะที่ดินยังเป็นของรัฐอยู่” โดยจะมีพื้นที่นำร่อง ๓๐ แห่งทั่วประเทศ ล่าสุดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับ “โฉนดชุมชน” ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีผลบังคับใช้แล้ว

ขณะที่บางชุมชนซึ่งเดินหน้าทำโฉนดชุมชนไปแล้วมองว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ตรงกับความต้องการ ด้วย “โฉนดชุมชน” ในความหมายของพวกเขาคือการให้สิทธิชุมชนดูแลที่ดินส่วนรวมร่วมกัน มีเงื่อนไขการใช้พื้นที่ชัดเจน ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างสอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและท้องถิ่น มีมาตรการป้องกันไม่ให้ที่ดินตกอยู่ในมือนายทุนโดยกรรมการชุมชน และมิได้มีกำหนดระยะเวลา ทั้งนี้ที่ดินของชุมชนที่ต้องการมีโฉนดชุมชนจำนวนมากยังอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตอุทยานฯ ทับซ้อน ดังนั้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดินเหล่านี้จะเข้าสู่ระบบโฉนดชุมชนของรัฐไม่ได้ เพราะจะเป็นการยอมรับว่าที่ดินนั้นเป็นของรัฐ

ทว่าก็มีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการบางท่านว่าโฉนดชุมชนทำลายระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินในระบบเศรษฐกิจปรกติ ส่งเสริมให้ชาวบ้านบุกรุกที่ดินของรัฐและเอาเปรียบคนอื่นๆ ที่ไม่ได้กระทำการดังกล่าว เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ผิด

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินในสังคมไทยจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และนำประสบการณ์การปฏิรูปที่ดินที่เคยมีมาในอดีตมาปรับใช้ให้เหมาะสม รวมถึงลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

สนับสนุน

ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน

* โฉนดชุมชนเกิดจากประสบการณ์ของชาวบ้านและเกษตรกรที่ประสบปัญหาโดยตรง เป็นหนึ่งในเครื่องมือหลายชนิดที่จะมาช่วยกระจายการถือครองที่ดินในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
…………………………..
* โฉนดชุมชนกับระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบเดิมอยู่ร่วมกันได้
……………………………
* ไม่มีชาวบ้านที่ไหนไปยึดที่ที่มีการทำประโยชน์อยู่แล้ว จะมีก็คือพื้นที่ที่นายทุนไปกว้านซื้อแล้วออกโฉนดโดยมิชอบ สิ่งที่ คปท.พยายามเสนอคือต้องการให้รัฐมองเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งประเทศ ไม่ใช่ปล่อยให้นายทุนซื้อทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์เพื่อเก็งกำไร

chanort02

โฉนดชุมชนเกิดขึ้นในบริบทที่สังคมไทยมีปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของที่ดินที่ไปอยู่ในมือคนกลุ่มหนึ่งมากเกินไป เป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของชาวบ้านที่เผชิญปัญหานี้มานานหลายสิบปี แนวคิดนี้มาชัดเจนนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ชาวบ้านบุกยึดที่ดินที่บ้านไร่ดง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เมื่อปี ๒๕๔๓ เดิมที่ดินผืนนั้นเคยอยู่ในโครงการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ ที่รัฐบาลไทยในอดีตดำเนินการเพื่อรองรับชาวบ้านไร้ที่ทำกินที่อพยพมาจากพื้นที่สร้างเขื่อนภูมิพลในจังหวัดตาก แต่โครงการไปไม่ตลอดรอดฝั่ง แล้วภายหลังมีนายทุนเอาที่ดินผืนนั้นไปออกเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านจึงบุกยึดแล้วนำมาจัดการกันเองในรูปแบบโฉนดชุมชน ต่อมาก็มีชาวบ้านหลายพื้นที่ที่ดำเนินการลักษณะเดียวกัน และพวกเขารวมตัวกันเป็นเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.)

“มาตรการนี้เกิดจากบทเรียนการปฏิรูปที่ดินในอดีตที่ต่อมาที่ดินมักหลุดมือชาวบ้านไปสู่นายทุน เป็นหนึ่งในเครื่องมือกระจายที่ดินในระบอบประชาธิปไตยซึ่งต่างกับคอมมิวนิสต์ที่ยึดที่ดินเป็นของส่วนรวมแล้วแจกจ่าย ต้องอธิบายว่าเดิมการปฏิรูปที่ดิน เช่น แจก ส.ป.ก. เป็นการให้สิทธิเฉพาะบุคคล รัฐและชุมชนไม่เข้าไปกำกับการใช้ประโยชน์และการเปลี่ยนมือผู้ถือครองที่ดิน ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดหลักการที่ว่าต้องมีการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ ต้องเอาที่ดินออกจากระบบตลาดซื้อขาย ไม่ให้เอาไปเก็งกำไร เพราะมันสำคัญกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนและระบบการผลิต หลักการนี้ชุมชนจะมาร่วมบริหารจัดการในเรื่องของการเปลี่ยนมือ การใช้ประโยชน์ที่ดิน อย่างที่บ้านไร่ดง การที่คุณจะเอาที่ไปขายแบบเดิมทำไม่ได้แล้ว ต้องผ่านกรรมการชุมชนว่าจะขายให้ใคร คนในหมู่บ้านหรือคนนอก หรือถ้าคุณไม่ใช้แล้วก็ต้องคืนที่ดิน เขาก็จะจัดสรรให้คนอื่นต่อไป ที่นี่เขามีระเบียบชัดเจนว่าที่ดินนี้สำหรับสมาชิกชุมชนที่ไม่มีที่ดินทำกินเท่านั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชนที่จะแจกจ่ายให้แต่ละคนนำไปทำประโยชน์ ต้องใช้ทำการเกษตร ไม่เอาไปทำโรงงาน เมื่อจะซื้อขายเปลี่ยนมือก็ต้องผ่านองค์กรชุมชน นายทุนไม่สามารถเข้ามากว้านซื้อที่ดินได้

“การทำโฉนดชุมชน รัฐต้องประกาศคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมและมีกลไกที่จะช่วยจัดการโฉนดชุมชนด้วย อาทิ ธนาคารที่ดินที่จะเป็นตัวซื้อที่ดินแปลงใหม่ๆ เข้ามาทำโฉนดชุมชนเพิ่มเติมเพราะถ้าที่ดินน้อย ชาวบ้านก็จะลำบากเพราะปริมาณที่ดินไม่เพียงพอ อย่างกรณีที่ดินใน กทม. ที่รกร้างว่างเปล่า ปล่อยให้ต้นไมยราบยักษ์ขึ้นโดยไม่ได้ทำประโยชน์อะไรนั้นมีกว่า ๗ หมื่นไร่ทีเดียว ในขณะที่คนเมืองจำนวนมากไม่มีที่อยู่อาศัย สิ่งที่รัฐควรทำคือตั้งกองทุนธนาคารที่ดิน ซื้อที่ดินพวกนี้มาจัดการกระจายการถือครอง อาจเอามาให้ชาวบ้านเช่าซื้อ ผ่อนส่งในรูปแบบโฉนดชุมชน ไม่ให้ทำแบบปัจเจก อาจมีองค์กรชุมชนกำกับดูแล กลไกเหล่านี้จะทำให้การกระจุกตัวของที่ดินลดลง

“ประเด็นที่ว่าโฉนดชุมชนส่งเสริมให้ชาวบ้านบุกรุกที่ดินเอกชนและทำให้ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินมีปัญหานั้น อยากอธิบายว่าตอนนี้มีที่ดินของรัฐจำนวนมากที่ให้นายทุนเช่า ป่าเสื่อมโทรมบางแห่งรัฐให้เอกชนเช่า ๓๐ ปี ราคาไร่ละ ๓๐ บาท พื้นที่แบบนี้มีมหาศาล และมักอ้างกันว่านายทุนมีบุญคุณกับประเทศเพราะเช่าไปปลูกสวนป่า เพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ แต่ก็ลืมไปว่าเขาก็บุกรุกป่าธรรมชาติดั้งเดิมอีกไม่รู้เท่าไร ปลูกต้นยูคาลิปตัสที่ทำลายดินเป็นหมื่นไร่ ที่ดินลักษณะนี้จำนวนมากตกอยู่ในมือนายทุน หมดอายุสัมปทานรัฐก็ปฏิเสธการที่จะให้ชาวบ้านเข้าไปทำประโยชน์ ที่สำคัญคือ ไม่มีชาวบ้านที่ไหนไปยึดที่ที่มีการทำประโยชน์อยู่แล้ว ไม่มีใครไปยึดศาลากลางจังหวัดหรือรีสอร์ตมาปฏิรูปที่ดินนะครับ จะมีก็คือพื้นที่ที่นายทุนไปกว้านซื้อแล้วออกโฉนดโดยมิชอบ อาศัยกลไกทางราชการทำอะไรที่ไม่ดี ที่ดินที่ คปท. บุกยึดมีปัญหานี้ทั้งสิ้น ที่บ้านไร่ดงก็พบว่ามีการออกโฉนดโดยมิชอบอย่างชัดเจน และจริงๆ ควรเป็นที่ของชาวบ้าน การกล่าวอย่างลอยๆ ว่าชาวบ้านจะยึดที่เอกชนไม่ได้ แบบนี้อันตรายมาก ผมเสนอว่าต้องลงไปดูความเป็นมาของแต่ละพื้นที่ที่มีการบุกยึดด้วย พูดอย่างยุติธรรม มีเช่นกันที่ชาวบ้านไปยึดที่ดินเอกชน แต่ก็น้อยมาก สิ่งที่ คปท. พยายามเสนอคือต้องการให้รัฐมองภาพใหญ่เรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งประเทศ ไม่ใช่ปล่อยให้นายทุนซื้อทิ้งร้าง ไม่ใช้ประโยชน์เพื่อเก็งกำไร

“ในแง่หนึ่งเราก็ทราบดีเรื่องที่ดินที่ปฏิรูปตกไปอยู่กับนายทุน เราไม่อยากให้ชาวบ้านขายที่ดินตัวเองใช่ไหม แต่ทำไมตอนนี้มาบอกว่าโฉนดชุมชนทำลายกลไกตลาด ไม่มีสังคมใดปล่อยให้การถือครองที่ดินขับเคลื่อนไปตามกลไกตลาดทั้งหมด ถ้าปล่อยแปลว่าสังคมนั้นแย่และชุ่ยมาก ในอังกฤษ จะซื้อที่ดินสักแปลงในหมู่บ้าน มันต้องผ่านชุมชนในแง่ที่เขาดูว่าคุณคือใคร มาทำอะไร มาอยู่อาศัยหรือสร้างโรงงาน คุยกันระดับหนึ่งเพื่อดูแลท้องถิ่นไม่ให้โกลาหลไร้ระเบียบ ว่าอยู่ๆ มีโรงงานโผล่ใกล้ชุมชนปล่อยมลภาวะแบบที่เป็นอยู่ในบ้านเรา

“ระบบโฉนดชุมชนกับระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบเดิมอยู่ร่วมกันได้ ชาวบ้านไม่ได้บอกว่าที่ดินทุกตารางนิ้วในประเทศต้องทำโฉนดชุมชน อาจทำโฉนดชุมชนเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมที่รัฐลงทุนทำระบบชลประทานมหาศาล คงไม่ดีแน่ถ้าเราสูญเสียพื้นที่เกษตรกรรมดีๆ ให้หมู่บ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม เราต้องป้องกันไม่ให้มีการนำที่ที่มีคุณค่าทางการเกษตรไปขายโดยไม่จำเป็น หลักการของวิธีนี้คือกระจายอำนาจให้ชุมชนบริหารจัดการด้วยตัวเอง ชุมชนจะมีส่วนตัดสินใจอนาคตของตัวเองด้วยนอกเหนือจากกลไกตลาด

“กรณีที่ตั้งข้อสังเกตว่าจะไว้ใจกรรมการชุมชนได้หรือ ผมคิดว่าเราต้องเชื่อมั่นในมนุษย์ สังคมประชาธิปไตยมีหลักการ รู้ว่ามนุษย์มีทั้งด้านดีและไม่ดี ไม่มีใครดีหมดหรือเลวหมด ไม่ว่าชาวบ้านหรือนักธุรกิจ ทุกคนมีผลประโยชน์ที่ตัวเองจะต้องปกป้อง สิ่งที่เราต้องทำคือสร้างกลไกขึ้นมาควบคุมและตรวจสอบ อีกอย่าง ชุมชนที่จะทำโฉนดชุมชนส่วนมากเป็นชุมชนเกษตร อย่างบ้านคลองโยง อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เขาอยู่และทำเกษตรมา ๕ ชั่วอายุคนแล้ว เราควรเคารพชุมชน ให้เขาเป็นคนตัดสินใจว่าจะนำชุมชนไปทางไหน นี่ยังไม่นับกลไกของกรรมการโฉนดชุมชนระดับชาติที่คอยตรวจสอบอยู่อีกชั้นหนึ่ง ถ้าเขาอยากเปลี่ยนสภาพชุมชนเป็นเมืองจริงๆ เขาก็ต้องตัดสินใจร่วมกันจนลงตัว หรือบางทีถ้าจำเป็น ถ้ารัฐต้องใช้ที่ดินนั้นก็ใช้กฎหมายเวนคืนและชดเชยได้ ผมอยากบอกว่าชุมชนมีตัวตนจริง นี่คือเครื่องมือหนึ่งในหลายเครื่องมือที่เราจะต้องใช้แก้ปัญหาการกระจายการถือครองที่ดินในระยะยาว หลักกลไกตลาดสร้างความเดือดร้อนมานานเพราะเราไม่มีทิศทางจัดการที่ดิน ยกเว้นถ้าผมทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผมคงไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้เพราะมันทำให้การค้ากำไรของผมมีปัญหา แน่นอนใครๆ ก็อยากได้ที่ดิน ปัจจัยเรื่องที่ทำกินสำคัญมากในระบบการผลิต สาวโรงงานที่เราเห็นจำนวนมากทุกวันนี้คือชาวนาชาวไร่ที่ที่ดินหลุดมือ ไม่สามารถอยู่ในสังคมเกษตรที่มีโครงสร้างกดทับได้ นี่คือความล่มสลาย ถ้าเราไม่ทำตรงนี้ เราจะรอให้คนงานในโรงงานไปบุกยึดที่ดินคืนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในประเทศบราซิล เมื่อวันหนึ่งเขาทนกับระบบในเมืองไม่ไหวแล้วหรืออย่างไร เราต้องสร้างเส้นแบ่งระหว่างระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบเดิมกับโฉนดชุมชนขึ้นมา เพราะถ้าเรายังปล่อยให้ระบบปัจจุบันดำเนินต่อไป ไม่คิดเรื่องคุ้มครองพื้นที่เกษตรเรามีปัญหาแน่ในอนาคต แน่นอนต้องมีมาตรการอื่นๆ ประกอบด้วยในการกระจายการถือครองที่ดิน

“ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่ออกมาจำเป็นต้องได้รับการปรับให้เหมาะสมกับความเป็นจริง แต่ผมสนับสนุนให้เริ่มเดินหน้าดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ปัญหาคือรัฐบาลทำโฉนดชุมชนในที่ดินของรัฐเท่านั้น ไม่ได้ขยายไปยังที่ดินเอกชน และให้ชุมชนเช่าทำประโยชน์ครั้งละไม่เกิน ๓๐ ปีโดยที่ดินยังเป็นของรัฐ ชุมชนต้องอยู่ตรงนั้นมาไม่ต่ำกว่า ๓ ปี ข้อจำกัดคือถ้าจะเข้าระบบนี้ชาวบ้านต้องผ่านการพิสูจน์สิทธิครอบครอง แต่บ้านเราที่ดินหลายแห่งโดนอุทยานแห่งชาติประกาศเขตทับ พวกนี้ถ้าจะเข้าระบบต้องยอมรับว่าที่ดินเป็นของรัฐ เขาก็ไม่เอาแน่ ชาวบ้านก็อยากเข้าระบบอื่นที่ได้ที่ดินเป็นของตัวเองหรือชุมชน ในขณะที่คุณสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำกับดูแลอุทยานฯ บอกว่าที่ดินในอุทยานฯ ไม่มีให้ทำโฉนดชุมชนแล้ว ก็เกิดปัญหา มองไปที่ที่ดินทหารคงไม่ง่ายที่เขาจะปล่อย ที่ดินหมดสัมปทานปลูกป่าหรือทำเหมืองก็เอามาจัดการไม่ได้เลยเพราะชาวบ้านเพิ่งเข้าไปอยู่ไม่ถึง ๓ ปี ดังนั้นในกรณีเฉพาะมากๆ อย่างที่ดินที่บ้านไร่ดง จังหวัดลำพูน ที่ชาวบ้านบุกยึดคืนมาจากนายทุนและจัดการกันเอง จะขอให้กองทุนธนาคารที่ดินซื้อคืนมาให้ชาวบ้านจัดการกันเองก็ไม่ได้อีกเพราะติดเงื่อนไขว่ารัฐซื้อไปมันก็ไม่ใช่ของชุมชนแล้ว กลายเป็นของรัฐ ชุมชนต้องเช่าไปอีก ดังนั้น พื้นที่นำร่อง ๓๐ แห่งที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้อาจจะทำโฉนดชุมชนได้เพียง ๔-๕ แห่งเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นผมก็อยากให้เดินหน้าโดยหาช่องทางและประยุกต์กฎหมายอื่นๆ มาช่วย อาทิ ที่ดินหมดสัมปทานอาจเอามาทำ ส.ป.ก. แทน และอาจนำ ส.ป.ก. มาทำโฉนดชุมชนโดยออกให้ในนามกลุ่มหรือองค์กร หรือจะทำในลักษณะนิคมสหกรณ์ก็ได้ ผมเห็นใจและเข้าใจรัฐบาลว่ากลัวเหมือนกรณี ส.ป.ก.๔-๐๑ อย่างไรก็ตามตอนนี้ทำได้แค่นี้ผมก็เข้าใจว่ามันมีปัจจัยการเมืองมากระทบมาก แต่อยากให้ลองทำ จากนั้นเราจะเห็นข้อจำกัด ตรงไหนที่ไปไม่ได้ ต้องใช้กฎหมายอื่นช่วย ประยุกต์ช่องทางอื่นมาใช้ จึงเสนอให้พิจารณาเป็นรายกรณีโดยอาศัยระเบียบสำนักนายกฯ และกฎหมายอื่นที่มีการแก้ไข

“นอกจากโฉนดชุมชน รัฐบาลต้องเดินหน้ามาตรการอื่นๆ อย่างเร่งด่วน อาทิ กองทุนธนาคารที่ดินเพื่อซื้อที่ดินเอกชนมาให้ชาวบ้านจัดการแบบโฉนดชุมชนได้ด้วย มาตรการทางภาษีที่ดินที่ตอนนี้เราเก็บแค่ร้อยละ ๐.๐๕ ของฐานภาษี ซึ่งน้อยมาก ล่าสุดรัฐบาลเสนอเพิ่มเป็นร้อยละ ๐.๕ ขณะที่อนุกรรมการยกร่างกฎหมายอยากให้เก็บอัตราก้าวหน้า ที่รัฐบาลยอมคือให้เก็บอัตราก้าวหน้ากรณีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า ที่ดินที่ใช้งานไม่เก็บ แต่ที่ผ่านมาที่ดินรกร้างไม่เคยมีการเก็บภาษีจริงเลยนับตั้งแต่มีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายที่ดินตั้งแต่ปี ๒๔๙๗ ที่ทำก็เป็นลักษณะการแจ้งเตือน แล้วเจ้าของที่ก็ปลูกกล้วยตานี ๓ ต้นให้คนไม่มาบุกรุกเพราะกลัวผี เท่านั้นแล้วก็เลิกรากันไป กรณีการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะเก็บภาษีจากสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ก็ไม่ตอบโจทย์ได้ตรงเท่า รัฐต้องกล้าใช้ภาษีที่ดินในฐานะเครื่องมือกระจายที่ดินด้วย เข้าใจว่านักการเมืองกลัวที่จะทำเพราะกลัวกลุ่มทุนเล่นงานและกระทบตัวเอง แต่ถ้าไม่สร้างกระแสสนับสนุนจะทำได้อย่างไร ถ้าทำได้จะได้ใจคนและฐานเสียงจำนวนมาก คนที่บอกว่าเกษตรกรไร้ที่ดินควรปรับตัวทำงานโรงงาน อยากตั้งข้อสังเกตว่าโรงงานส่วนมากบรรษัทข้ามชาติใหญ่ๆ เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทั้งหมด ถ้าคิดแบบนี้ก็บอกให้ชัดว่าวาระที่ต้องการคืออะไร มันสำคัญมาก นี่คือจุดยืนว่าคุณจะสร้างประเทศแบบที่ยืนบนขาตัวเองไม่ได้ หรือประเทศที่ยืนได้ด้วยขาของตัวเอง”

คัดค้าน

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
.
.

* โฉนดชุมชนเป็นแนวทางที่ผิดพลาดในการกระจายการถือครองที่ดิน ส่งเสริมให้คนจำนวนหนึ่งเอาเปรียบคนอื่น และจะก่อปัญหาอื่นตามมาอีกจำนวนมาก
…………………………………………………………
* โฉนดชุมชนจะก่อความยุ่งยากให้ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกชน
…………………………………………………………
* วิธีแก้ปัญหาการกระจายที่ดินที่ถูกต้องรัฐบาลต้องไม่ใช้วิธีการออกโฉนดชุมชนเพราะเป็นการตั้งโจทย์หรือใช้สูตรคณิตศาสตร์ที่ผิดพลาด ต้องแก้ด้วยการเก็บภาษีที่ดิน

chanort03

โฉนดชุมชนเป็นมาตรการที่ผิดพลาด เป็นมาตรการหาเสียงว่ารัฐบาลเห็นใจคนจน ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง เป็นการส่งเสริมให้มีการบุกยึดที่ดิน ส่งเสริมให้คนกลุ่มหนึ่งเอาเปรียบคนอื่น เอาสมบัติของแผ่นดิน ของส่วนรวมไปแบ่งกันเฉพาะกลุ่มตน ดังนั้นป่าเสื่อมโทรมนั้นไม่ควรให้ใครไปอ้างสิทธิ์เอาแผ่นดินของส่วนรวมไปครอบครองเป็นส่วนตัวอย่างเด็ดขาด จะอ้างความจนมาปล้นแผ่นดินไม่ได้ การให้ครอบครองคนละ ๕-๓๐ ไร่ตามอำเภอใจเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ขอยืนยันว่าแม่น้ำหนองบึงในชุมชนล้วนเป็นของส่วนรวมไม่ใช่ของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ถ้าเช่นนั้นชุมชนอื่นก็อาจไม่ได้รับสิทธิใช้สอยด้วย กลายเป็นสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ของหลวงหรือของส่วนรวมคือสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่อยู่ใกล้ทรัพยากรก็มือยาวสาวได้สาวเอา ต้องคิดเสียใหม่ว่าของที่ไม่ใช่ของเราไม่ควรถือครอง ไม่ว่าจะคนรวยหรือคนจน ของส่วนรวม ของหลวงก็คือของที่ต้องรักษาไว้เพื่อทุกคน การเบียดบังสมบัติแผ่นดิน เบียดบังที่หลวงมาเป็นของตนเองเป็นบาปที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเหตุนี้จึงไม่เป็นมงคลต่อชีวิต ทำมาค้าขายอะไรก็ไม่ขึ้น ยังอาจเป็นบาปติดตัวไปถึงลูกหลาน หลีกเลี่ยงจะดีกว่า

“พื้นที่ที่จะออกโฉนดชุมชนบางที่ก็มีสภาพที่ไม่เหมาะสม อาทิ พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมควรนำมาปลูกป่าเชิงพาณิชย์เพื่ออนาคตของประเทศชาติในอีก ๕๐-๑๐๐ ปีข้างหน้ามากกว่า ทั้งนี้สถานการณ์ป่าไม้ของเมืองไทยเข้าขั้นวิกฤตมานานแล้ว คิดดูว่าเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้วแทบไม่มีหมู่บ้านชาวเขาอยู่บนดอย แต่เดี๋ยวนี้มีมากมาย บุกรุกเพิ่มแทบทุกวัน บางแห่งกลายเป็น อบต. กลายเป็นเมืองไปแล้วจะบอกว่าชาวเขาอยู่อย่างพอเพียงไม่ขยายตัวได้อย่างไร ปลายเดือนกันยายน ๒๕๕๒ ในเวียดนามมีการอพยพคนนับแสนหนีพายุ มีคนนับล้านที่ต้องออกจากป่า ถ้าทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบร้อนแบบหนีพายุก็น่าจะทำได้ ผมเชื่อว่าในจีน ลาว เขมร เวียดนาม หรือมาเลเซีย คงไม่ปล่อยให้มีการบุกรุกป่าตามอำเภอใจเช่นนี้

“ดังนั้นเราไม่ควรปล่อยให้คนที่อยู่ใกล้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมบุกรุก ปล่อยให้ที่ดินนั้นเป็น ‘ของโจร’ ให้โจร ‘แบ่งเค้ก’ กัน พื้นที่ลักษณะนี้ยังไม่ควรทำไร่ทำนาเพราะไม่มีระบบชลประทาน น้ำท่าไม่สมบูรณ์ ถ้าคนในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมรายได้น้อยและยากจน รัฐบาลก็ควรหาทางสร้างงานอย่างอื่น ไม่ใช่ปล่อยให้ครอบครองที่ดินครอบครัวละมากบ้างน้อยบ้าง สมมุติครอบครัวหนึ่งหาของป่ามาขายได้ ๒๐๐ บาทต่อครัวเรือน หรือปีละ ๖๐,๐๐๐ บาท ชุมชนหนึ่งมี ๕๐ หลังคาเรือน ก็เป็นเงิน ๓ ล้านบาท ยังไม่นับความสูญเสียของป่าไม้เพื่อการยังชีพของพวกเขาที่มีมหาศาลกว่านี้ สาธารณูปโภค เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย ก็ต้องขยายไปไม่สิ้นสุดเพื่อรองรับพวกเขา ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพยากร ทำแล้วก็ไม่คุ้มค่าเนื่องจากคนใช้บริการมีน้อย คนชนบทส่วนมากยังมีรายได้จากนอกภาคการเกษตรเป็นหลัก มีรายได้จากเกษตรกรรมเป็นรอง การจ้างให้พวกเขาอยู่เฉยๆ ไม่ทำลายป่าคงเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า หรืออาจให้เขามาทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่นๆ การให้อยู่กันตามอัตภาพในสภาพที่ไม่เหมาะสมนั้นไม่ควร ถ้าให้โฉนดชุมชน ผลที่ตามมาคือทุกวันนี้ชุมชนในชนบทก็ไม่ประกอบกิจการอะไร ในบ้านมีแต่เด็กและคนแก่ การให้ที่ดินจะกลายเป็นเสมือน ‘รีสอร์ต’ ให้ญาติพี่น้องที่มาทำงานในเมืองใหญ่ กลับไป ‘ชาร์จแบต’ ตัวอย่างเรือธงของโฉนดชุมชน เช่นกรณีบ้านสระพัง ตำบลบางเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ชาวบ้านถือครองที่ดิน ๑,๖๐๐ ไร่มาตั้งแต่ปี ๒๔๙๑ รัฐบาลก็ควรแก้ไขปัญหาเฉพาะพื้นที่นี้ ไม่ใช่ยกย่องให้พื้นที่นี้กลายเป็นต้นแบบการทำโฉนดชุมชนในบริเวณอื่นๆ ที่จะทำให้ปัญหายิ่งซับซ้อนขึ้น เพราะทางราชการมีโฉนดตราครุฑ แต่ที่นี่มี ‘โฉนดช้างดำ’ มองให้ลึกถือเป็นการท้าทายอำนาจรัฐ

“ผมอยากให้ลองลงพื้นที่ไปสำรวจชุมชนที่ต้องการทำโฉนดชุมชนเลยว่ามีสักกี่คนที่ยังอยากทำเกษตรกรรม ทำแล้วคุ้มหรือไม่ ที่ผ่านมาชาวบ้านบางรายครอบครองที่ดินมากมายแต่ทำนาเอาผลผลิตเพื่อพอกินซึ่งน่าเสียดายว่าสามารถทำได้ดีกว่านั้นมาก เจ้าของที่ดินไม่ควรทำตัวเป็นจระเข้ขวางคลอง การส่งเสริมให้ทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมจะคุ้มค่ากว่า บางพื้นที่อาจเหมาะที่จะถูกเวนคืนมาทำกิจกรรมด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ในมาเลเซียก็มีกรณีเวนคืนที่ดินลักษณะนี้มาแล้ว แต่ที่ดินที่มีการดำเนินการเรื่องโฉนดชุมชนแล้วคงยึดคืนลำบาก

“ผมคัดค้านประเด็นที่ว่าคนจนที่บุกรุกที่ดินในเมืองก็ควรได้รับโฉนดชุมชนด้วย ความเป็นจริงผู้ที่อาศัยในชุมชนแออัดส่วนมากไม่ใช่คนจน บางชุมชนที่บุกรุกและอยู่ฟรีบนที่ดินของคนอื่นมา ๒ ชั่วคน ทำผิดกฎหมายและได้ประโยชน์มาตลอด ยังจะถือโอกาสอ้างสิทธิโฉนดชุมชนอีกหรือ ในขณะที่คนทั่วไปต้องซื้อบ้านชานเมืองไกลๆ เช้าออกจากบ้านตอนตีห้าเพื่อเลี่ยงรถติด กลับถึงบ้านก็สองทุ่ม ตัวอย่างมีมาแล้วคือมีชุมชนแออัดแห่งหนึ่ง หลายฝ่ายไม่รู้ก็ยกย่องว่าเป็นชุมชนที่ดี คนเหล่านี้ที่บุกรุกที่ดินส่วนรวมอยู่ฟรีมา ๒ ชั่วคน ได้รับสิทธิให้เช่าโดยถูกกฎหมายมีการจัดระเบียบบ้านให้สวยงาม สุดท้ายก็สรุปว่าชุมชนนี้ทำดี เป็นชุมชนพอเพียง ทั้งที่ความจริงเขากำลัง ‘ปล้น’ สมบัติชาติเพื่อประโยชน์ของตนเอง

“การออกกฎหมายโฉนดชุมชนคือการปูทางสู่การปล้นแผ่นดินในนามของคน (อยาก) จน หากมีโฉนดที่ดินลักษณะนี้เท่ากับสร้างอนาธิปไตยให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินไทย แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ
เพราะการบุกรุกที่ดินเอกชนหรือเป็นที่ดินที่เป็นหนี้ซึ่งอยู่ในความดูแลของสถาบันการเงินต่างๆ เป็น ‘อาชญากรรม’เป็นการปล้นและละเมิดสิทธิผู้อื่นอย่างชัดเจน การแก้ปัญหาต้องแก้เป็นจุดๆ
ไม่ใช่เหวี่ยงแหออกกฎหมายใช้ไปทั่ว ที่ไหนไม่ได้รับความเป็นธรรมกลุ่มนั้นต้องต่อสู้อย่างสันติ เช่นกรณียายไฮ เป็นต้น ไม่ใช่เห็นนายทุนปล้นชาติได้ คน (อยาก) จนก็จะปล้นชาติบ้าง การออกกฎหมายโฉนดชุมชนบังคับใช้ทั่วประเทศนั้นอาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริตคล้ายกรณี ส.ป.ก.๔-๐๑ ที่ไปแจกเอกสารสิทธิ์ที่ดินให้คนรวย

“ข้ออ้างที่ว่าโฉนดชุมชนป้องกันการสูญเสียที่ดินของชาวบ้านให้แก่นายทุน ก็ไม่มีหลักประกันที่แน่นอน ถ้ามีกรณีนายทุนตกลงผลประโยชน์กับประธานชุมชนได้แล้วใช้วิธีเช่า ทุกอย่างก็จบชาวบ้านจะทำอะไรได้เมื่อผู้นำโดนซื้อ ช่องโหว่แบบนี้มีมากมาย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่ดูแลพื้นที่นั้นอาจโกงทั้งชุดเลยก็เป็นไปได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วจนมีคำพูดว่า วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง ถ้าเป็นอย่างนั้นสุดท้ายก็กลายเป็นเอาที่ดินส่วนรวมไปให้นายทุนเช่าอยู่ดี ส่วนข้ออ้างเรื่องการสงวนรักษาพื้นที่ทำการเกษตร มองว่าการที่นายทุนไปซื้อที่ดินเพื่อทำกิจการ
ถ้าเขาไม่เห็นโอกาสเขาจะทำเพื่ออะไร นายทุนไม่ซื้อที่ไปทำที่ทิ้งขยะแน่นอน แต่ถ้ามีก็ต้องจัดการกันไปตามระบบ ถ้ากลัวเรื่องนี้ก็ต้องเล่นงานผู้ที่ดูแลเรื่องวางผังเมือง การบังคับใช้กฎหมายควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยธรรมชาติถ้าที่ดินผืนไหนมีคนสนใจเช่าไปทำกิจการอื่น แปลว่าที่ดินตรงนั้นมีศักยภาพ มีโอกาส ถ้ามัวแต่ไปกีดกันไม่ให้เช่าผมมองว่าเป็นการเสียโอกาสอย่างน่าเสียดาย คุณทิ้งโอกาสที่ชุมชนจะเจริญขึ้น จะมีอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าขึ้น เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าจะอยู่อย่างกันดาร จะทำเกษตรกรรมต่อไป อย่าลืมว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง จะทำนาไปชั่วชีวิตไม่ได้

“ผมอยากท้าทายแนวคิดที่ว่าต้องมีที่ดินของตนเอง แนวคิดนี้ควรพ้นสมัยได้แล้ว มีที่ดินก็ไม่ใช่ว่าดีเสมอไป การได้ที่ดินจากการแจกเจ้าของจะขาด Sense of Belonging บางคนพอได้ที่ดินก็ขาย เพราะพวกเขาไม่เคยอาบเหงื่อต่างน้ำซื้อเอง ดังนั้นเราไม่ควรแจกที่ดินให้ใคร การแจกที่ดินไม่ใช่ทางออก เพราะขนาดที่ดินของตนเองยังรักษาไว้ไม่ได้ โฉนดชุมชนคงจะหาชุมชนที่รักษาไว้ได้ยาก หากเกิดกรณีผู้นำชุมชนทุจริตก็อาจเห็นภาพที่มีการเอาโฉนดชุมชนไปให้คนอื่นหรือนายทุนเช่าต่อ กลายเป็นที่ตั้งโรงสี โรงเลื่อย หรือโรงงานไป รายได้ก็เข้าทำนอง ‘วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง’

“วิธีแก้ปัญหาการกระจายที่ดินที่ถูกต้องรัฐบาลต้องไม่ใช้วิธีการออกโฉนดชุมชนเพราะเป็นการตั้งโจทย์หรือใช้สูตรคณิตศาสตร์ที่ผิดพลาด ต้องแก้ด้วยการเก็บภาษีที่ดิน คือใช้ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบเดิมแต่มีการเก็บภาษีที่ดิน ไม่มีมาตรการอะไรจะดีกว่ามาตรการทางภาษีและให้เวลาสังคมได้ปรับตัว ภาษีนี้จะทำให้คนเก็บที่ดินเอาไว้เพื่อเก็งกำไรเฉยๆ ไม่ได้เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง
ถ้าเขาไม่ทำประโยชน์เขาก็ต้องผ่องถ่ายทรัพย์สินออกสู่ตลาดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการครอบครอง สัดส่วนการถือครองที่ดินของคนทั้งประเทศจะไม่เป็นแบบปัจจุบันที่กระจุกอยู่กับกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ กระจุกอยู่กับหน่วยงานใหญ่ๆ ของราชการ โดยเฉพาะที่ดินใจกลางเมืองที่เป็นของตระกูลใหญ่ๆ สาธารณูปโภคมากมาย หลายคนเก็บไว้ไม่ทำอะไร ถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ คนจะขอซื้อก็ไม่ขาย ทำให้รัฐต้องลงทุนขยายสาธารณูปโภคออกห่างใจกลางเมืองมากขึ้นๆ อย่างไม่สิ้นสุด อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าภาษีตัวนี้เกิดขึ้นได้ยากในเมืองไทยเพราะผู้มีอำนาจไม่ยอม ถ้าจะทำจริงๆ เราต้องการรัฐบาลที่เข้มแข็งมาดำเนินการ

“ถ้าจะทำโฉนดชุมชนจริงก็ต้องมีฝ่ายตรวจสอบว่าได้ไปแล้วทำประโยชน์จริงหรือไม่ ไม่ทำรัฐต้องยึดคืน จะได้ตัดวงจรที่เกษตรกรได้ที่ดินแล้วก็ขายแล้วบุกที่ดินคนอื่นอีก โฉนดชุมชนรัฐบาลอาจซื้อที่มาทำแล้วให้ชาวบ้านเช่าทำประโยชน์ในราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่เช่าแบบให้เปล่าหรือราคาถูกเพราะเป็นการเอาเปรียบคนอื่น แต่อย่างไรก็ตามผมเสนอให้ยุติการออกโฉนดชุมชนเพื่อไม่สร้างบรรทัดฐานผิดๆ ให้สังคมไทย ผมขอส่งท้ายว่า เลิกเสียทีกับการอ้างความจนบังหน้า เราต้องเคารพตนเองที่จะไม่โลภไปบุกยึดที่ป่ามาเป็นของตน ไม่เอากล้วยไม้ในป่าออกมา ต้องปล่อยไว้อย่างนั้น ต้องรังเกียจการค้าสัตว์ป่า ทุกคนสามารถเคารพตนเองได้ไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันไม่มีข้อยกเว้น”