เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

may53 05สยามสแควร์ คือชื่อเรียกพื้นที่โอเพ่นมอลล์ที่ดูแลโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ทิศเหนือติดกับถนนพระรามที่ ๑ ทิศตะวันตกติดกับถนนพญาไท ทิศตะวันออกติดกับถนนอังรีดูนังต์ ทิศใต้ติดกับซอยจุฬาฯ ๖๔  ภายในพื้นที่เต็มไปด้วยธุรกิจหลากหลายประเภทไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนกวดวิชา ร้านอาหาร ร้านตัดผม ร้านเสื้อผ้า โรงภาพยนตร์ ฯลฯ ไปจนถึงพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ

ในช่วงวันเวลาปรกติ ย่านการค้าและแฟชั่นของวัยรุ่นที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ แห่งนี้มีผู้คนเดินผ่านราว ๒ หมื่นคนต่อวัน และในช่วงวันหยุด ๕ หมื่นคนต่อวัน

สยามสแควร์เป็นอีกจุดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๓ เมื่อแกนนำ นปช.ประกาศเพิ่มจุดชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ โดยส่วนหนึ่งของถนนพระรามที่ ๑ ซึ่งทอดยาวจากสี่แยกราชประสงค์มาทางทิศตะวันตกนั้นพาดผ่านสยามสแควร์ทางด้านทิศเหนือ

การที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากยึดพื้นผิวถนนจากแยกราช-ประสงค์มาจนถึงแยกปทุมวันเป็นที่อยู่อาศัยและทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้ต้องปิดการจราจรไปโดยปริยาย  ถนนโดยรอบสยามสแควร์ อาทิแยกเฉลิมเผ่าที่เชื่อมต่อกับถนนอังรีดูนังต์ต้องปิดการจราจร ทำให้รถจากถนนพญาไทไม่สามารถเลี้ยวเข้ามายังถนนพระรามที่ ๑ ส่งผลให้ธุรกิจการค้าย่านสยามสแควร์ได้รับผลกระทบไปตามกัน

โรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ยุติการเรียนการสอนตั้งแต่บ่ายวันที่ ๓ เมษายน อาทิ โรงเรียนกวดวิชาศูนย์แอพพลายด์ฟิสิกส์ สาขาสยามสแควร์ ปิดการเรียนการสอนโดยย้ายไปเรียนที่สาขาพญาไทแทน  สถาบันกวดวิชาเดอะติวเตอร์งดการเรียนการสอนและหยุดยาวถึงช่วงสงกรานต์  ขณะที่โรงเรียนกวดวิชาบางแห่งก็ยังคงเปิดสอนตามปรกติ แต่ได้ออกคำเตือนให้ผู้ปกครองใช้ความระมัดระวังในการรับส่งบุตรหลาน  ร้านค้าจำนวนมากปิดตัว ส่วนหนึ่งยังคงเปิดให้บริการแต่ก็เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  ขณะที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่อย่างสยามพารากอน สยามดิสคัฟเวอรี่ ปิดให้บริการอย่างไม่มีกำหนด

ญาณอมรวัตร จัดของ เจ้าของร้าน JAX hair Creative Station บนชั้น ๒ ของโรงหนังสยาม เล่าว่าช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ลูกค้าหายไปกว่าร้อยละ ๗๐  เช่นเดียวกับ วุฒิชัย พรมศร เจ้าของร้านขายรองเท้า Peak สาขาลิโด ที่เล่าว่ารายได้หายไปถึงร้อยละ ๘๐ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มวัยรุ่นและนักท่องเที่ยว  ขณะที่พนักงานในสปาแห่งหนึ่งระบุว่า ลูกค้าหายไปร้อยละ ๙๐ เนื่องจากหวั่นเกรงเรื่องความปลอดภัย

เมื่อรัฐบาลประกาศให้วันที่ ๑๗-๑๘ พฤษภาคมเป็นวันหยุดราชการ ก่อนจะมีการประกาศให้หยุดยาวไปจนถึงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม  เจ้าของร้านหลายคนเล่าว่าเมื่อทราบข่าวดังกล่าวก็ตัดสินใจปิดร้านและกลับบ้านทันที โดยไม่คิดว่าสถานการณ์จะรุนแรงถึงขั้นเกิดการทำลายทรัพย์สินในร้านหรือเกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้น

๑๙ พฤษภาคม สยามสแควร์กลายเป็นสมรภูมิสงครามกลางเมืองอีกจุดหนึ่ง เมื่อรัฐบาลส่งทหารเข้าปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” ในช่วงบ่ายหลังแกนนำ นปช. มอบตัว  กำลังทหารที่เข้ามายังสยามสแควร์คือกำลังจากกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ (พล. ๑ รอ.) และหน่วย ฉก. ๙๐ พลฯ แม่นปืนและสไนเปอร์ ภายใต้การควบคุมของ พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผบ.พล.๑ รอ. และ พล.ท.โปฎก บุนนาค ผบ.นสศ. (มติชนสุดสัปดาห์  ๒๘ พฤษภาคม-๓ มิถุนายน ๒๕๕๓)

กำลังเหล่านี้รุกเข้ามาทางแยกปทุมวัน มุ่งหน้าไปตามถนนพระรามที่ ๑ ตรงสู่เวทีใหญ่ที่แยกราชประสงค์  ผ่านห้างสรรพสินค้าใหญ่คือ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน  จากนั้นผ่านแยกเฉลิมเผ่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วัดปทุม-วนาราม ก่อนจะถึงแยกราชประสงค์

ขณะนั้นมีการเผาทำลายอาคารเกิดขึ้นหลายจุด เฉพาะในสยามสแควร์เกิดเพลิงไหม้ในจุดสำคัญคือ โรงภาพยนตร์สยาม  ร้านโคคาสุกี้ สาขาสยามสแควร์  ธนาคารนครหลวงไทย สาขาสยามสแควร์

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา ผู้สื่อข่าวภาคสนามทีวีไทย เล่าว่าช่วงเย็นวันที่ ๑๙ พฤษภาคม เขาเสี่ยงเข้าไปในพื้นที่สยามสแควร์บริเวณหน้าโรงหนังสยามที่กำลังถูกไฟเผาและพบว่า “รถดับเพลิงเพิ่งมาถึงที่เกิดเหตุไม่นาน นักดับเพลิงกำลังพยายามทำงานแต่หาหัวดับเพลิงบริเวณนั้นไม่ได้ เลยต้องหาทางสูบน้ำจากท่อขึ้นมาดับไฟ  ทหารที่อยู่บริเวณนั้นบอกว่ายังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ สักพักเสียงปืนดังขึ้น  ถึงตรงนี้รถดับเพลิงก็ต้องถอยไปในซอยต่างๆ ของสยามสแควร์ การดับเพลิงต้องหยุดลงชั่วคราว

“ร้านบางร้านยังมีคนอยู่  มีร้านหนึ่งถ้าจำไม่ผิดเป็นร้านขายยา โผล่หน้ามาถามผมว่าสถานการณ์แย่แค่ไหน  ผมบอกว่าพี่อย่าออกมา มันมีการเผา มีการยิงกัน แต่คงมาไม่ถึงพี่หรอก เขาก็เอาน้ำออกมาให้ผมแพ็กหนึ่ง แล้วเราก็แยกจากกัน เพราะผมเองก็ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวออกจากพื้นที่”

หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็ชุลมุนไปตลอดคืนวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พนักงานดับเพลิงเข้าทำงานได้อีกครั้งในช่วงกลางดึก แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากไฟได้เผาทำลายตัวอาคารไปจนถึงระดับโครงสร้าง

หลังเหตุการณ์ยุติลง มีการประเมินความเสียหายพบว่า อาคารที่ถูกเผาส่วนมากทรัพย์สินภายในทั้งหมดหายไปกับกองเพลิง บางอาคารโครงสร้างเสียหายอย่างหนักและเกิดทรุดตัว อาทิ โรงภาพยนตร์สยามทรุดตัวและเสียหายทั้งอาคาร ธนาคารซีไอเอ็มบี สาขาสยามสแควร์  ร้านโคคาสุกี้บริเวณแยกเฉลิมเผ่า เสียหายทั้งหมด  ส่วนอาคารที่เสียหายแต่ไม่ทรุดตัวก็เช่นตึกแถว ๔ ชั้น ๓๐ ห้อง สยามสแควร์ซอย ๕  และอาคารที่เสียหายบางส่วนคือธนาคารกรุงเทพ สาขาสยามสแควร์

สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ประเมินว่าการวางเพลิงสยามสแควร์ก่อความเสียหายไม่ต่ำกว่า ๒๐๐-๓๐๐ ล้านบาท  แยกเป็นโรงภาพยนตร์สยาม ๑๐๐-๒๐๐ ล้านบาท  อาคารพาณิชย์ ๖๘ คูหา ๖๐-๗๐ ล้านบาท  มูลค่านี้ยังไม่รวมสต็อกสินค้าในร้านและทรัพย์สินอื่นๆ  ขณะที่เจ้าของร้านโดยเฉพาะรายที่หมดตัวประเมินว่าความเสียหายทางธุรกิจมีสูงกว่านั้น ด้วยบางร้านเพิ่งมีการปรับปรุงร้านใหม่ บางร้านก็เพิ่งต่อสัญญาได้ไม่นานก่อนจะเผชิญกับเหตุการณ์จลาจล

เจ้าของกิจการคนหนึ่งเอ่ยกับเราว่า “เราไม่อยากโทษใคร แต่อยากให้คุยกันดีๆ วันนี้มันบอบช้ำกันทุกฝ่าย  เราโกรธที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทำไมไม่ป้องกันเหตุการณ์แบบนี้ สุดท้ายเราก็ต้องทำมาหากินต่อไป แม้ว่ามันจะลำบากสักแค่ไหนก็ตาม”