paksee01 paksee02

ซ้าย : เอมมานูเอล เลอ รอย ลาดูรี ในห้องทำงานที่ปารีส ปี ๒๐๐๙
ขวา :
Les Paysans de Languedoc ฉบับพิมพ์ปี ๑๙๙๓ โดย Flammarion

(๓)

อย่างไรก็ตาม งานเขียนของ โรเบิร์ต ดาร์นตัน (Robert Darnton) ไม่ใช่งานเขียนประเภทเดียวในทางประวัติศาสตร์ที่อิงอาศัยการเล่าเรื่องและเหตุการณ์เยี่ยงวรรณกรรม เอมมานูเอล เลอ รอย ลาดูรี (Emmanuel Le Roy Ladurie) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสในสำนักอันนัลส์เป็นอีกคนหนึ่งที่พยายามทำให้งานเขียนทางประวัติศาสตร์มีรสชาติเช่นนั้น ขณะที่ โรเบิร์ต ดาร์นตัน สนใจเหตุการณ์เล็ก ๆ ของคนตัวเล็ก ๆ งานเขียนของ เอมมานูเอล เลอ รอย ลาดูรี กลับสนใจไปยังสิ่งที่เรียกว่าขบวนการ สหพันธ์หรือกลุ่มชนที่มีผลต่อประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ๆ อย่างไรก็ตามผลงานที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งสองล้วนมีจุดร่วมที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง อันได้แก่การเพ่งพินิจไปที่เหตุการณ์รุนแรงในอดีตที่มนุษย์ผู้เปี่ยมด้วยอารยธรรมเป็นผู้ก่อขึ้น งานเขียนชิ้นสำคัญของ โรเบิร์ต ดาร์นตัน ให้ความสนใจไปที่การสังหารหมู่แมว หรือวิฬาร์ฆาตกรรม ของพนักงานโรงพิมพ์ในศตวรรษที่ ๑๘ ในขณะที่งานเขียนชิ้นเอกของ เอมมานูเอล เลอ รอย ลาดูรี ให้ความสนใจไปที่การสังหารหมู่ชาวนาและกรรมกรท่ามกลางงานเทศกาลคาร์นิวัลที่เมืองโรมองในศตวรรษที่ ๑๖

เอมมานูเอล เลอ รอย ลาดูรี เป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องประวัติศาสตร์ชาวนาหรือประวัติศาสตร์ของกลุ่มสามัญชน เขาจบการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ขั้นดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยปารีส และเริ่มงานสอนครั้งแรกที่โรงเรียนในเมืองมองเปลลิเอร์ ก่อนจะย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยมองเปลลิเอร์ และที่สถาบันการศึกษาชั้นสูงในปารีส (École Pratique des Haute Études) ก่อนจะลงเอยที่สถาบันวิจัยแห่งชาติฝรั่งเศส (Collége de France) ที่ซึ่งเขาทำงานอย่างยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๓-๑๙๙๙ โดยที่นั่นเขาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มวิชาประวัติศาสตร์และได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณในที่สุด

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๖๓ ขณะยังเป็นนักศึกษาเขาได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส ก่อนจะลาออกเพราะขัดแย้งกับเพื่อนร่วมพรรคว่าด้วยเหตุการณ์จลาจลในฮังการี ปี ๑๙๕๖ งานเขียนชิ้นแรกของเขาที่ก่อให้เกิดความสนใจแก่สาธารณชนได้แก่วิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกที่จับประเด็นว่าด้วยวิถีชีวิตชาวนาที่ ลองเกอดอค (Les Paysans de Languedoc) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ๑๙๖๖ หนังสือเล่มนี้ได้ทำการศึกษาชีวิตชาวนาที่ลองเกอดอคในช่วงหลายร้อยปีก่อน โดย เอมมานูเอล เลอ รอย ลาดูรีได้ใช้ข้อมูลทั้งหมดที่ค้นหาได้ อาทิเช่นข้อมูลเงินบริจาคทางศาสนา ค่าจ้างแรงงาน อัตราภาษี ค่าเช่า และบันทึกผลกำไร พร้อมทั้งใช้ทฤษฎีของนักคิดด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา และเทววิทยา ไม่ว่าจะเป็น เออร์เนสต์ ลาบรูซ (Ernest Labrousse) มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) เดวิด ริคาร์โด (David Riccardo) แฟร์นองด์ โบรเดล (Fernand Braudel) โคลด เลวี-สโตรส (Claude Lévi-Strauss) โทมัส มัลทัส (Thomas Malthus) ฟรองซัวส์ ซิมิอันด์ (François Simiand) ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) และ แม็กซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เข้าช่วยในการอธิบายและให้ความหมายต่องานของเขา เขาพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะสร้างประวัติศาสตร์ลองเกอดอคขึ้นใหม่ ไม่ต่างจากสถาปนิกที่สร้างแบบจำลองขึ้นใหม่ให้เหมือนของเดิมในอดีตมากที่สุด สำหรับลาดูรีแล้วประวัติศาสตร์คือสิ่งที่มีโครงสร้างชัดเจน และการจะเข้าใจโครงสร้างเหล่านั้นได้ก็จากการสังเกตการเติบโต ดำรงอยู่และเสื่อมสลายของสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้คนในโครงสร้างนั้นมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ลาดูรีนำเสนอให้เห็นอย่างแจ่มชัดว่าวิถีชีวิตในลองเกอดอคนั้นเป็นผลผลิตจากวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษก่อนหน้านั้นสร้างขึ้น และสาเหตุที่ผู้คนที่ลองเกอดอคไม่อาจฝ่าวัฏจักรแห่งการเกิดขึ้นและเสื่อมสลายได้นั้นไม่ใช่เพราะการขาดแคลนปัจจัยทางเทคโนโลยี หากแต่เป็นเพราะปัจจัยทางวัฒนธรรมอันแข็งแรงที่กักขังพวกเขาและทำให้พวกเขาไม่อาจพัฒนาตนเองขึ้นได้ งานเขียนชิ้นนี้ได้รับคำชื่นชมอย่างมากในฐานะที่มันได้เปลี่ยนวิธีการพรรณนาประวัติศาสตร์อันเลื่อนลอยและแห้งแล้งไปสู่การเขียนประวัติศาสตร์ที่หนักแน่นด้วยข้อมูลและมีรสชาติยิ่งจนได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ๑๙๗๔

ความคิดของลาดูรีที่ว่าประวัติศาสตร์ในแต่ละช่วงเวลามีโครงสร้างอันหนึ่งครอบงำอยู่นั้นไม่ใช่สิ่งใหม่ นักประวัติศาสตร์สำนักอันนัลส์รุ่นก่อนหน้าจำนวนมากก็เชื่อเช่นนั้น แต่ลาดูรีต่างออกไปตรงที่เขาเป็นนักประวัติศาสตร์อันนัลส์รุ่นที่ ๓ ที่เริ่มมองประวัติศาสตร์แบบเจาะลึกเฉพาะกลุ่ม หรือที่เรียกว่าประวัติศาสตร์จุลภาค (Microhistory) อันเป็นการสนใจประวัติศาสตร์ของพื้นที่หรือกลุ่มคนที่ถูกละเลย รวมทั้งการที่เขาให้ความใส่ใจต่อเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคของกลุ่มคนนั้น ๆ ด้วย ต้นกำเนิดของประวัติศาสตร์สำนักอันนัลส์ (Annales School)ไม่เหมือนประวัติศาสตร์สำนักอื่น ๆ เพราะสำนักอันนัลส์เริ่มด้วยการก่อตั้งวารสารที่เปรียบเสมือนเครื่องมือทางการทูตและเครื่องขยายเสียงชื่อ Annals of Economic and Social History เมื่อปี ๑๙๒๙ โดยมี ลูเซียง แฟร (Lucien Febvre, ค.ศ. ๑๘๗๘-๑๙๖๕) นักประวัติศาสตร์ที่สนใจเรื่อง Renaissance และ Reformation และ มาร์ก บล็อก (Marc Bloch,ค.ศ. ๑๘๘๖-๑๙๔๔) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชนบทและศักดินา เป็นผู้ก่อตั้งและถือว่าเป็นนักประวัติศาสตร์สำนักอันนัลส์รุ่นที่ ๑ ด้วย

paksee03
วารสารของประวัติศาสตร์สำนักอันนัลส์
Annales d’Histoire Economique Et Sociale ฉบับมกราคม ๑๙๒๙

 

paksee04 paksee05

Fernand Braudel และผลงานชิ้นสำคัญ The Mediterranean and the Mediterranean World in the Age of Philip II
(เล่ม ๒ ฉบับพิมพ์ปี ๑๙๙๖ โดย University of California Press)

ภูมิปัญญาของศตวรรษที่ ๑๙ มีผลต่อแนวความคิดของสำนักอันนัลส์ช่วงแรก ๆ ไม่ว่าจะเป็น ๑.แนวทางแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการใช้สถิติในการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ ๒. แนวทางแบบ historicism ซึ่งไม่ยอมรับหรือปฏิเสธกระบวนการกระทำให้เป็นแบบทั่วไป ๓.มุมมองแบบวิภาษและวัตถุนิยมของเฮเกล และ คาร์ล มาร์กซ์ โดยนักประวัติศาสตร์อันนัลส์รุ่นที่ ๑ อย่าง ลูเซียง แฟร นั้นให้ความสนใจในภูมิศาสตร์และจิตวิทยาเป็นพิเศษ ส่วน มาร์ก บล็อก นั้นมีความสนใจในสังคมวิทยา แต่สิ่งที่ทั้งคู่รวมทั้งนักประวัติศาสตร์อันนัลส์รุ่นต่อมาสนใจเหมือนกันคือการเน้นไปที่ประวัติศาสตร์แห่งความรู้สึกนึกคิดหรือ History of Mentality ที่เน้นแก้ปมปัญหาทางประวัติศาสตร์มากกว่าการยึดติดกับข้อมูลหลักฐานตายตัวทางประวัติศาสตร์ ในขณะที่ แฟร์นองด์ โบรเดล นักประวัติศาสตร์อันนัลส์รุ่นที่ ๒ นั้นเน้นการก้าวข้ามสาขาวิชาโดยใช้หลักฐานทางภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ และประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เข้าช่วยเขียนงานทางประวัติศาสตร์ ผลงานชิ้นโดดเด่นของเขาคือ The Mediterranean and the Mediterranean World in the Age of Philip II

ในช่วงแรก เอมมานูเอล เลอ รอย ลาดูรี ได้รับอิทธิพลจากนักประวัติศาสตร์อันนัลส์รุ่นก่อนหน้าเขาไม่น้อย งานช่วงแรกของเขากินระยะเวลายาวนานและยังไม่เฉพาะเจาะจงลงไปที่เหตุการณ์ใดเป็นสำคัญ นับแต่งานศึกษาชีวิตชาวนาที่ลองเกอดอค หรืองานเขียนที่วิเคราะห์เหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองฝรั่งเศสในช่วงปี ๑๔๖๐-๑๗๗๔ โดยเขาได้เขียนหนังสือขึ้น ๒ เล่มแบ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น ๒ ช่วง เล่มแรก(L’Etat Royal: de Loius XI à Henri IV, 1460-1610) คือเหตุการณ์ช่วงปี ๑๔๖๐-๑๖๑๐ ที่เขาวิเคราะห์ว่าการเติบโตของสถาบันกษัตริย์ในฝรั่งเศสนั้นมีสาเหตุมาจากเรื่องเศรษฐกิจเป็นสำคัญ อีกทั้งการปรับตัวของสถาบันหรือการขึ้นมามีอำนาจของเหล่าขุนนางนั้นมาจากความพยายามจะขยายอำนาจเชิงการค้าของประเทศฝรั่งเศสเข้าไปในอิตาลี โปรวองซ์ หรือเบอร์กันดี เพื่อกีดกันอำนาจของกษัตริย์สเปน ในขณะที่ในหนังสือเล่มที่ ๒ (Ancien Régime: de Louis XIII à Louis XV, 1610-1774) ครอบคลุมเหตุการณ์ช่วงปี ๑๖๑๐-๑๗๗๔ ลาดูรีได้เสนอให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายภายในประเทศกับต่างประเทศในช่วงนั้น เขาชี้ให้เห็นว่าเมื่อนโยบายต่างประเทศมีความตึงเครียด การปกครองจะเข้าสู่ภาวะเผด็จการ แต่เมื่อการต่างประเทศมีความผ่อนคลาย การปกครองจะเข้าสู่ภาวะเสรีนิยม เขามองว่าการหลั่งไหลของกระแสเสรีนิยมและการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ในโลกข้างนอกนั่นเองนำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

paksee06
Carnival in Romans ฉบับพิมพ์ปี ๑๙๘๐ โดย George Braziller

การเขียนถึงเหตุการณ์เล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์จุลภาคประสบความสำเร็จในหนังสืออันเป็นที่รู้จักของเขาชื่อ คาร์นิวัลในโรมอง (Carnival in Romans) ที่เขาได้พยายามเล่าซ้ำถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวนาและกรรมกรในเมืองโรมองจากมือของเหล่าขุนนางโดยอาศัยเทศกาลคาร์นิวัลประจำเมืองเป็นฉากบังหน้า งานเขียนเล่มนี้แบ่งออกเป็น ๑๔ บท เริ่มตั้งแต่การกล่าวถึงลักษณะภูมิประเทศและการตั้งถิ่นฐานในเขตนั้น ระบบภาษีอันแตกต่างระหว่างสามัญชนกับพวกขุนนาง ที่มาของงานเทศกาลคาร์นิวัล ตัวละครสำคัญเช่น อันตวน เกร์แรง (Antoine Guérin) ฉากการสังหาร จนถึงบทสุดท้ายว่าด้วยผลกระทบที่ตามมาในศตวรรษต่อไป

การสังหารหมู่อย่างบ้าคลั่งนั้นเริ่มจากการลุกฮือขึ้นต่อต้านระบบภาษีในช่วงเทศกาลคาร์นิวัลหรือมาร์ดิกราสในเมืองโรมอง เมืองที่มีประชากรเพียง ๘,๐๐๐ คน การจัดเก็บภาษีของเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้นมีการยกเว้นภาษีให้แก่บรรดาชนชั้นสูงและพวกเจ้าที่ดิน แต่กลับกระหน่ำเก็บภาษีเอากับชาวไร่ชาวนาและกรรมกรทั่วไป การยกเว้นภาษีดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวนาและบรรดาช่างฝีมือในเขตเมืองโรมอง และหนักข้อขึ้นเมื่อมีการยกเว้นภาษีให้แก่บรรดาชนชั้นสูงที่ซื้อที่ดินใหม่ แต่กลับเพิ่มยอดภาษีเอากับชาวนาเพื่อให้ได้ยอดตามเป้า อีกทั้งพวกนักบวชก็เร่งเก็บเงินบริจาคจำนวนมากด้วย โดยขยายเงินบริจาคจาก ๑ ใน ๑๐ ของรายได้มาเป็น ๑ ใน ๒๐ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในสงครามศาสนาระหว่างศาสนจักรกับพวกนอกรีตในช่วงก่อนหน้า

การรวมตัวประท้วงระบบภาษีนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในแถบมองเตลิมาร์ (Montelimar) ในฤดูร้อนของปี ๑๕๗๘ การประท้วงนี้ได้แผ่กระจายอย่างรวดเร็วไปในโรมองและแคว้นดอฟิน (Dauphine) ซึ่งเมืองโรมองตั้งอยู่ และได้ขยายเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชนชั้นแรงงานที่ต้องเสียภาษีอย่างหนักกับชนชั้นสูงที่ไม่ต้องเสียภาษีเลย ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๕๗๙ อันเป็นวันบูชานักบุญเบลส์ (Blaise) ผู้เป็นนักบุญอุปถัมภ์ด้านการทอผ้าของเมืองโรมองซึ่งได้ชื่อว่าเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรมทอผ้า กลุ่มพ่อค้าผ้า ช่างทอ คนทำความสะอาดขนสัตว์ ตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงกับชาวนา โดยได้เลือกผู้นำคนใหม่ของพวกเขาเป็นช่างทอมีฝีมือนามปอมิเย่ร์ (Paumier) ผู้เป็นที่ยอมรับและมีความสัมพันธ์อันดีกับพวกชนชั้นสูงผ่านการแต่งงาน และยังมีอิทธิพลต่อคนในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านด้วย ถัดจากนั้นอีก ๑ สัปดาห์การเผชิญหน้าระหว่างชนชั้นก็เกิดขึ้น มีการรวมตัวกันในหอประชุมเมือง บรรดาผู้ประท้วงเผชิญหน้ากับผู้พิพากษาประจำเมือง อันตวน เกร์แรง พวกเขาขอให้เลื่อนการเก็บภาษีทุกรูปแบบที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมกราคมไปเป็นเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ยังขอให้ยกเลิกภาษีทางอ้อมที่เทศบาลจัดเก็บผ่านสินค้าและผลผลิตทั้งหลายในโรมอง แต่เกร์แรงไม่ยอม บรรดาผู้ประท้วงจึงถือไม้ตีผ้าออกไปตามถนนสายต่าง ๆ และเข้าแย่งกุญแจประตูเมืองมาได้ พวกเขาควบคุมคนเข้า-ออกและผลักดันกองทหารประจำเมืองของนายพลมอจิรอง (Lieutenant Maugiron) ออกไป กลุ่มผู้ประท้วงตัดสินใจส่งตัวแทนไปพบนายพลมอจิรองพร้อมด้วยข้อเสนอเกี่ยวกับภาษี ทว่ามอจิรองบอกว่าการเก็บภาษีเป็นเรื่องของรัฐบาล ตัวเขาเป็นนายทหารจึงไม่อาจทำอะไรได้ การประท้วงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และบรรดาชนชั้นสูงในเมืองก็เริ่มไม่มั่นใจในสถานการณ์ อีกทั้งแรงตึงเครียดในชนบทรอบ ๆ เมืองโรมองก็พัฒนาไปสู่ความรุนแรง โดยที่ชาวบ้านบางคนเริ่มดักซุ่มทำร้ายและสังหารฝ่ายตรงข้าม ทั้งยังมีการเผาคฤหาสน์ของชนชั้นสูงด้วย

เมื่อพระพันปีหลวงในขณะนั้น คือพระนางแคทเทอรีน เดอ เมดิชี เสด็จเยือนเมืองโรมอง หอประชุมเมืองแม้จะอยู่ภายใต้การควบคุมของเกร์แรงแต่ถนนหนทางและตามตรอกซอกซอยล้วนเต็มไปด้วยผู้ประท้วงที่อยู่ภายใต้การนำของปอมิเย่ร์ ในเดือนพฤศจิกายนปี ๑๕๗๙ เหล่าคนทำขนมปัง คนแล่เนื้อก็เข้าร่วมการประท้วงด้วย การประท้วงมีต่อเนื่องไปถึงเดือนมกราคม ผู้ประท้วงไปรวมตัวกันที่หอประชุมและร้องขอให้สภาเมืองที่ออกกฎหมายรับภาระภาษีให้มากขึ้นโดยเฉพาะภาษีทางอ้อม อีกทั้งบรรดาชาวนาก็ประกาศว่าพวกเขาไม่อาจจ่ายภาษีได้เนื่องจากพืชผลเสียหายจากภาวะฝนตกหนักในเดือนตุลาคม ส่วนไร่องุ่นก็ประสบปัญหาลูกเห็บตกหนักในฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ทว่าสภาเมืองกลับทำสิ่งเลวร้ายโดยจับกุมตัวแทนของประชาชนเข้าคุก ส่งผลให้การต่อต้านการเก็บภาษีเริ่มรุนแรงขึ้นถึงขั้นสังหารนายอากร และขยายวงกว้างจากดอฟินไปยังเมืองอื่น ๆ จนถึงแถบแม่น้ำโรน

เมื่อเทศกาลคาร์นิวัลมาถึง กลุ่มผู้ประท้วงก็ใส่หน้ากากล้อเลียนกษัตริย์และชนชั้นสูงเดินไปตามท้องถนน หลายคนตะโกนมาดร้ายต่อพระราชินีจนเกร์แรงคิดว่าพวกเขากำลังจะก่อกบฏ คำตะโกนยั่วยุที่ว่ามีเนื้อและร่างกายของคนคริสเตียนที่เป็นชนชั้นแรงงานขายในราคาเพียง ๖ เพนนี ได้สร้างความสะเทือนใจแก่ผู้คนจำนวนมาก เกร์แรงตัดสินใจเชิญกลุ่มตัวแทนชนชั้นสูงในเมืองและชนบทเข้าร่วมงานเลี้ยงเพื่อวางแผนฆ่าปอมิเย่ร์

ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ หนึ่งวันก่อนงานเทศกาล พวกชนชั้นสูงจัดงานเลี้ยงที่หอประชุมเมือง มีการแสดงและมีคนของปอมิเย่ร์มาร่วมชมเป็นจำนวนมาก ในท่ามกลางงานรื่นเริงนั้นเอง พวกเขาก็ปิดประตูและเริ่มสังหารพวกของปอมิเย่ร์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่อีกกลุ่มไปที่บ้านของปอมิเย่ร์ เรียกเขาออกมาหน้าบ้านและยิงเขาตายตรงประตู พวกชนชั้นสูงยังสังหารคนของปอมิเย่ร์ที่พยายามจะเข้ามาช่วยด้วย การกวาดล้างมีขึ้นทั่วเมือง คนของปอมิเย่ร์ที่รอดชีวิตต่างยอมจำนนหรือไม่ก็หลบหนี กลุ่มผู้ประท้วงแตกกระจายจากการสังหารโหดในโรมอง เกร์แรงได้รับรางวัลจากคนชั้นสูงในเมือง ทหารเข้าควบคุมเมืองโรมองอีกครั้ง หัวหน้าผู้ประท้วงถูกนำตัวขึ้นศาล ถูกพิพากษาและถูกประหารชีวิต ก่อนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์การจลาจลในโรมองก็จบลง แม้การจลาจลในเขตดอฟินจะยังมีอยู่จนถึงเดือนเมษายนก็ตาม

หมายเหตุ : อ่านตอนที่ ๑ และ ๒ ใน สารคดี ฉบับพฤษภาคมและสิงหาคม ๒๕๕๓

ขอขอบคุณ
อาจารย์วิลลา วิลัยทอง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กรุณาให้ข้อมูลสำคัญด้านประวัติศาสตร์สำหรับบทความชุดนี้ และอาจารย์วันรัก สุวรรณวัฒนา ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับการถอดคำจากภาษาฝรั่งเศส