เรื่อง: วรรณณิภา ทองหน่อหล้า
ภาพ: บันสิทธิ์ บุญยะรัตเวช

Dear SCALA

ถึง สกาลาที่รัก

เมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้ว หลังจากได้เข้าร่วมชมกิจกรรมภาพยนตร์สโมสร SCALA: Revisited ที่มาบอกเล่าอดีตโรงภาพยนตร์อันรุ่งเรืองของสยามประเทศ พร้อมด้วยงานเสวนาแนวคิดจากผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ รวมไปถึงอดีตเหล่าพนักงาน ผู้เคียงข้างสกาลาจนวินาทีสุดท้าย ณ ศาลาศีนิมา ชั้น ๖ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ในฐานะเด็กสาวต่างจังหวัดวัยยี่สิบตอนต้น ที่ได้รู้จักชื่อลือนามผ่านสื่อโทรทัศน์มากกว่าสัมผัสบรรยากาศเนื้อแท้ สารภาพด้วยสัตย์จริงว่าไม่เข้าใจถึงความอาวรณ์ต่อการจากลาอาคารขนาดใหญ่แห่งนี้เท่าที่ควร ทว่าหลังจากได้รับชมเรื่องราว และได้รับฟังคำกล่าวจากผู้คนในครั้งนั้นแล้ว จึงตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นมา

dearscala01

ผมไม่เคยคิดว่า น้ำ​จะมากรอกขายเป็นขวดได้ และกาแฟมันจะแช่เย็น ไปอยู่ในตู้เย็นได้”

เป็นฉากที่เผลอยิ้มตามกับประโยคเรียบง่าย ถ่ายทอดจากพนักงานห้องฉาย ที่เผยความรู้สึกถึง การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ตัวเขาเดินตามไม่ทันเสียแล้ว ซึ่งเป็นฉากของภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก อย่าง The Scala” ผลงานปี ๒๕๕๘ ของผู้กำกับ อาทิตย์ อัสสรัตน์ บอกเล่าถึงเหล่าบุคลากรทุกท่านที่พยายามโอบอุ้มโรงภาพยนตร์ให้สามารถยังชีพต่อไปได้ ตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้าพนักงานลงมือทำความสะอาดทุกอย่าง ตลอดจนตำแหน่งผู้จัดการได้มาช่วยล้างโคมไฟระย้าด้วยตัวเอง เป็นฉากความสัมพันธ์ที่เรารู้สึกอบอุ่นใจ และเผลอเศร้าตามอย่างเลี่ยงไม่ได้

dearscala02

ย้อนไปเมื่อปี ๒๕๑๒ มหรสพแห่งสยาม ภายใต้เครือเอเพ็กซ์ (APEX) บริหารงานโดยกัมพล ตันสัจจา, นันทา ตันสัจจา และวิวัฒน์ ตันสัจจา ผู้บริหารสวนนงนุช ซึ่งสกาลานั้นได้เริ่มก่ออิฐหินทรายขึ้น จากฝีมืองานสร้างของพันเอก จิระ ศิลป์กนก อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สร้างงานออกแบบอาร์ตเดโค ประตูทรงโค้ง และชื่อ “สกาลา” ได้รับมาจาก “Teatro alla Scala” เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งหมายถึง บันได นับเป็นฉากที่อยู่ในความทรงจำใครหลายคน ลานเปิดโล่งสู่บันไดทางขึ้นที่มีโคมไฟสวยงามเหนือศีรษะ

เมื่อเรื่องราวความหวังในเรื่องแรกผ่านไป เสียงครึกโครมก็พลันดังขึ้นจากภาพยนตร์สารคดีถัดมา อย่าง Scala ที่ระลึกรอบสุดท้าย” ผลงานปี ๒๕๖๕ จากผู้กำกับ อนันตา ฐิตานัตต์ และโปรดิวเซอร์ อภิชน รัตนาภายน รับไม้ต่อบอกเล่าเรื่องราวปลายทางของสถาปัตยกรรมใหญ่แห่งเมืองกรุง

dearscala03

โครม!

โครงสร้างไม้บนคานสูง ร่วงลงมากระทบพื้นปูน จากเรื่องแรกที่ทุกอย่างยังคงอยู่ มาสู่ฉากในเรื่องสุดท้ายที่เรานั่งมองขั้นตอนการรื้อถอน เก้าอี้ ผ้าม่าน จอฉาย นั่งฟังเสียงเครื่องมือดังก้องทำลายโสตประสาท ผู้คนเดินสวนกันไปมา เร่งหยิบชิ้นส่วนความทรงจำเหล่านั้นติดมือออกไปชิ้นแล้วชิ้นเล่า

“ผมเข้ามาปี ๒๕๓๑ แต่ก่อนหน้าผมอยู่เฉลิมไทย ทำแผนกไฟฟ้า ผมได้ดูสารคดีนี้ครั้งแรก ก็รู้สึกคิดถึงวันเก่า ๆ คิดถึงคนเก่า ๆ ที่คลุกคลีด้วยกัน เพราะหลายคนเขาไปแล้ว ไม่อยู่กับเราแล้ว คิดถึงพวกเขานะ” คุณประยุทธ์ พนักงานตำแหน่งดูแลห้องเครื่อง กล่าวถึงความหลังที่มีต่อสกาลา และเพื่อนร่วมงาน

เรื่องแรก เราได้เห็นความสวยงามของสกาลาที่เราภูมิใจมาก เรามีโรงหนังสแตนด์อโลน (Stand Alone) ที่สวยที่สุด เรียกได้ว่าสวยที่สุดในประเทศไทย แต่เรื่องที่สองเรารู้สึกเศร้าใจ เหมือนร่างกายของเรา โดนดึงออกไปทีละชิ้น ๆ”

คุณเหมียว-จุไรรัตน์ ศิลปอุไร อดีตผู้จัดการทั่วไป ได้กล่าวความรู้สึกหลังรับชมสารคดีที่จบลง พร้อมอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า

“เราทำงานที่เครือเอเพ็กซ์มา ๓๘ ปี เราสัมผัสทุกสถานที่ รู้สึกผูกพันกับที่นั่นมาก พอเห็นถอดอุปกรณ์ออกทีละชิ้น เรารู้สึกหดหู่ใจ ขณะนั้นเขาให้เวลาสามเดือนในการขนของ แต่ระหว่างนั้นมีชุมนุมประท้วง เขาเลยให้เวลาเพิ่ม ตอนนี้สิ่งของส่วนใหญ่อยู่ที่สวนนงนุชพัทยาค่ะ”

ประโยคบอกเล่าถึงการเจรจาต่อรองค่าเช่าระหว่างตัวแทนโรงภาพยนตร์สกาลา และตัวแทนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ในวันที่ ๕ กรกฎาคม ปี ๒๕๖๓ จัดงานเปิดฉายรอบสุดท้าย ผ่านกิจกรรม Final Touch of Memory ‘La Scala ลาสกาลา’ ซึ่งจัดร่วมกับหอภาพยนตร์ เป็นอันว่าการเดินทางแสนยาวนานนี้ได้ปิดม่านการแสดงลงแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๖๔ รื้อถอนอย่างเป็นทางการ ทว่ามีเหตุให้ช้าลง เนื่องจากระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนเรียกร้องประชาธิปไตย ที่เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันฯอย่างต่อเนื่อง

dearscala04
(บรรยากาศวันฉายหนังรอบสุดท้ายของโรงภาพยนตร์สกาลา ภาพจากหอภาพยนตร์)

ด้วยความที่เป็นสถาปัตยกรรมเก่า ทางภาครัฐเคยมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือหรือไม่”

คุณเหมียว-จุไรรัตน์ ได้กล่าวตอบผู้ชมว่า “ไม่มีส่วนราชการมาช่วยค่ะ มีแต่สมาคมสถาปนิกมอบป้ายให้เรา” พร้อมได้กล่าวเสริมถึงความหวังในครั้งนั้นว่า

“ครั้งแรกที่ทางสมาคมสถาปนิกให้ป้ายเรามา ก็กำลังคิดว่า เราไม่ถูกทุบเป็นแน่ เป็นป้ายศักดิ์สิทธิ์ที่เรารับมาจากสมเด็จพระเทพฯ คงไม่มีใครกล้าทุบตึกแน่นอน เราคงอยู่ได้อีกนาน พอถึงเวลา เขาบอกว่าหมดสัญญา เก็บทุกสิ่งอย่างไปให้หมด ไม่ต้องเหลืออะไรไว้เลย เราก็คาดการณ์ว่าตึกเราไม่น่าจะเหลือ จึงไปขอพูดคุยตกลง เขาบอกจะเหลือความสวยงามของด้านหน้าเอาไว้ พอไป ๆ มา ๆ ไม่เหลืออะไรเลย”

dearscala05
(บรรยากาศวันฉายหนังรอบสุดท้ายของโรงภาพยนตร์สกาลา ภาพจากหอภาพยนตร์)

น้ำเสียงแผ่วเบาของเหล่าผู้แบกความพยายามนั้น ทำให้เราสัมผัสถึงความหวังที่พังทลายลงอย่างเจ็บปวดใจ เมื่อเราลองมอง “ป้าย” ที่กล่าวมา นั่นคือรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี ๒๕๕๕ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และทางสกาลายังมีการสร้างศิลปะปูนปั้นลอยตัวสีพื้นน้ำตาล ออกแบบโดยศิลปินชาวฟิลิปปินส์ เวอกีคีโอ มานีโพล (Vergikio Ver Manipol) และดำเนินการปั้นโดย ฟีเดอริโก อาร์ ตากาลา (Federico R Tagala) ชื่อผลงานว่า “Asia Holiday” แสดงถึงความบันเทิงของเอเชีย ผ่านท่วงท่าร่ายรำ และการบรรเลงเครื่องดนตรีนานาชนิดซึ่งมีทั้งบาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไทย ฯ ชิ้นงานเปี่ยมไปด้วยบริบททางวัฒนธรรม ผสานร่วมนาฏศิลป์ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเอเชียได้อย่างลงตัว ทำให้ทางสกาลาตั้งความหวัง พยายามยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนอนุรักษ์อาคารต่อกรมศิลปากร ทว่าข้อตกลงก็ไม่เป็นผล

dearscala06
(บรรยากาศวันฉายหนังรอบสุดท้ายของโรงภาพยนตร์สกาลา ภาพจากหอภาพยนตร์)

ก่อนที่ประตูงานเสวนาจะปิดลง คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้บอกเล่าประเด็นที่น่าสนใจ และชวนตั้งคำถามอย่างมาก ว่าที่สุดแล้ว แม้ปลายทางสถานที่แห่งนี้จะไม่เป็นดังหวัง ทว่าเราทุกคนเอง ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดผลลัพธ์เช่นนั้น ผ่านคำกล่าวที่ฝากไว้ว่า

คิดว่าจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่ความผิดใครคนใดคนหนึ่ง หรือถ้าเป็นความผิด ก็คงเป็นความผิดของเราทุกคนที่ไม่สามารถรักษาสิ่งที่เป็นความทรงจำร่วมในสังคมได้ ซึ่งตอนนี้มีสถานที่อีกมากมายที่กำลังจะถูกทำลาย ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสังคมเมือง หรืออะไรต่าง ๆ เราจะบอกกับตัวเองไว้เสมอว่าหากมันต้องเกิดขึ้น มันเป็นความผิดของเราด้วยที่ไม่สามารถทำอะไรได้ดีกว่านี้ เพื่อที่จะรักษาสิ่งที่เราคิดว่ามีคุณค่าไว้ได้”

นอกจากนี้หนึ่งในผู้ชมที่เคยใช้บริการมานาน ก็ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความผูกพันที่มีต่อโรงภาพยนตร์สกาลา โดยเฉพาะในวันที่หล่อนได้มีโอกาสยืนชมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นว่า

เป็นวันที่เขารื้อป้ายกันวันแรก เราได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น ตั้งแต่อักษรตัวแรกถูกยกออกจากหน้าโรงเลย เมื่อเห็นว่า ‘ตัวเอส (S)’ ถูกปลดลง สำหรับเราวันนั้น มันชัดเจนว่าจบแล้วจริง ๆ”

หลังจากจบงานเสวนานี้ บริเวณทางออกมีการจัดแสดงตั๋วหลากหลายฉบับ แต่ละรายปี และที่สะดุดตาเหลือเกินก็คือชุดสูทสีเหลืองสว่าง เป็นภาพจำใครหลายคนเลยทีเดียว นอกจากกิจกรรมนี้จะร่วมรำลึกถึงโรงภาพยนตร์สกาลาแล้ว ยังทำให้เราเข้าใจถึงความผูกพัน ความอาวรณ์ของผู้คนที่ต่างก็มีสถานที่ในความทรงจำของพวกเขา จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

dearscala09
(บรรยากาศวันฉายหนังรอบสุดท้ายของโรงภาพยนตร์สกาลา ภาพจากหอภาพยนตร์)

ก่อนจะจบจดหมายฉบับนี้ลง อยากขอบคุณโรงภาพยนตร์สกาลา และบรรดาพนักงานทุกท่านที่เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความบันเทิงบนโลกภาพยนตร์ และดูแลสถานที่สำคัญเมืองกรุงมาอย่างยาวนาน แม้ว่าเด็กสาวต่างจังหวัดคนนี้จะไม่เคยได้พบกัน ทว่าก็ยินดียิ่งที่ได้มาทบทวนความทรงจำอันรุ่งโรจน์เมื่อครั้งนั้น ผ่านฉบับภาพยนตร์สารคดีในครั้งนี้

ด้วยรัก และยินดียิ่งที่ได้รู้จัก
วรรณณิภา ทองหน่อหล้า
ผู้เกิดปี ๒๕๔๒ ในจังหวัดสกลนคร

dearscala10