สนับสนุน

publichealth03

นพ. วิชัย โชควิวัฒน์
ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรมรองประธานคนที่ ๒  คณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

✢  ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะทำให้การฟ้องร้องแพทย์ไม่ว่าคดีแพ่งหรืออาญาลดลง อาศัยมาตรการไกล่เกลี่ยเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์กับผู้ ป่วย

✢  รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่แพทยสภาและหน่วยงานรับผิดชอบคดีความในระบบบริการ สาธารณสุขไม่เป็นกลาง ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องพิสูจน์ความ รับผิด

✢   ควรสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งยึดหลักไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด หรือ “No Fault Compensation” มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ป่วยและแพทย์โดยให้ถือเป็นความบกพร่องของ “ระบบ” ขยายความช่วยเหลือจากมาตรา ๔๑ แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ จาก “ความช่วยเหลือเบื้องต้น” เป็น “ความช่วยเหลือและชดเชยเบื้องต้น”

……….

ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข นอกจากจะร่างขึ้นเพื่อสร้างความเป็นธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ได้รับ ความเสียหายแล้ว ยังยึดหลักการสำคัญคือการลดคดีความฟ้องร้องแพทย์และโรงพยาบาล  เป็นร่าง พ.ร.บ. เพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับ’ ในระบบบริการสาธารณสุข หลังจากที่ผ่านมาองค์กรวิชาชีพแพทย์คือแพทยสภาปล่อยปละละเลย ทำตัวไม่เป็นกลาง ไม่ต่างจาก ‘สหภาพวิชาชีพ’ ที่คอยปกป้องพวกพ้องของตน จนทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยถูกบั่นทอน

“อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มิใช่กฎหมายใหม่ถอดด้ามในเมืองไทย แต่เป็นการขยายอำนาจความคุ้มครองผู้เสียหายจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ ๒ ฉบับ คือ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๑  โดย พ.ร.บ. ฉบับแรกคุ้มครองเฉพาะเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรัฐ กำหนดให้โรงพยาบาลรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายแทน และให้แพทย์รับผิดชอบเฉพาะกรณีจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น  ส่วนมาตรา ๔๑ แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
คุ้มครองเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองราว ๔๗ ล้านคน

“จนมาถึงร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความคุ้มครองให้ทั่วถึงประชาชนทั้ง ๖๓ ล้านคนแล้ว ยังยึดหลักการสำคัญของ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๑ คือการจ่ายเงินช่วยเหลือและชดเชย ‘โดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด’ เป็นหลักการเดียวกับที่หลายประเทศทั่วโลกยึดถือ คือ ‘No Fault Compensation’ เพราะหากปล่อยให้ผู้ได้รับความเสียหาย
รอผลการพิสูจน์ถูกผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นองค์กรที่มีพฤติกรรมเป็นที่ประจักษ์ว่ามักปกป้อง พวกพ้อง นอกจากจะทำให้เกิดความล่าช้า ยังก่อความบาดหมางระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยอย่างไม่สมควรด้วย

“เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจน ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อำเภอร่อนพิบูลย์ นครศรีธรรมราช  กรณีอย่างนี้หากแพทย์และโรงพยาบาลยอมรับผิด มีการเจรจาชดใช้ค่าเสียหายอย่างเหมาะสม กระทำโดยความเห็นอกเห็นใจ ปัญหาคงไม่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นคดีความทางแพ่งและอาญา ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีกลไกเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายตามมาตรา ๔๑ แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ทำให้บุตรสาวของผู้ตายต้องดิ้นรนขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งแพทยสภาแต่ไม่มีใครหยิบยื่นความเป็นธรรมให้ แม้แต่ตำรวจก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับแจ้งความ ที่สุดต้องอาศัยช่องทางฟ้องร้องกระทรวงสาธารณสุขและแพทย์ตาม พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙  ประกอบกับเมื่อปรากฏเป็นข่าวครึกโครม ตำรวจจึงหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาสอบสวนและรับฟ้องทางคดีอาญา โดยบุตรสาวของผู้ตายเป็นโจทก์ร่วมกับเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

“คดีนี้มีพยานหลักฐานว่ากรรมการแพทยสภาบางคน ‘ยุ’ ให้แพทย์ให้การปฏิเสธและสู้คดี รวมทั้งมีการสร้างหลักฐานเท็จ อาทิให้การว่าเมื่อหัวใจหยุดเต้น แพทย์สามารถ ‘กู้ชีพ’ ได้ในเวลา ๒ นาที สมองจึงไม่ตาย แต่ก็ต้องจำนนต่อหลักฐานคือบันทึกของพยาบาลที่ยืนยันว่ากว่าจะกู้ชีพได้ก็ เมื่อเวลาล่วงไป ๒๐ นาทีแล้ว เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นต้องตัดสินจำคุกโดยไม่มีการรอลงอาญา เนื่องจากไม่มีเหตุให้บรรเทาโทษ  เจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลให้เกียรติแพทย์ประกันตัวโดยไม่มีการใส่เครื่องจองจำ หรือจำขัง แต่กลับมีกรรมการแพทยสภาหลายคนโป้ปดอย่างไร้หิริโอตตัปปะว่ามีการใส่กุญแจ มือและขังคุก เพื่อหวังปลุกระดมมวลชนในวงการสาธารณสุข

“ทางด้านคดีแพ่ง ศาลชั้นต้นก็ตัดสินให้โจทก์ชนะ  โจทก์คือบุตรสาวของผู้ตายได้ร้องขอกระทรวงสาธารณสุขไม่ให้อุทธรณ์ โดยพร้อมจะถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมกับเครือข่ายผู้เสียหายฯ ในคดีอาญา แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ตัดสินให้โจทก์แพ้ในประเด็นคดีขาดอายุความ ขณะที่คดีอาญาในชั้นศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินยกฟ้องโดยโจทก์ไม่ฎีกา เนื่องจาก นพ. มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น เข้ามาศึกษาปัญหาแล้วจ่ายเงินชดเชยพร้อมขอให้โจทก์ไม่ฎีกา ซึ่งโจทก์ก็ไม่อยากจองเวรและไม่ต้องการให้แพทย์ติดคุกอยู่แล้วอันเป็นปรกติ วิสัยของคนไทยส่วนใหญ่ที่ยังให้ความเคารพแพทย์ การฟ้องร้องมักเกิดจากกรณีที่เหลืออดจริงๆ เท่านั้น  แม้พยานฝ่ายโจทก์อยากให้ฎีกา แต่โจทก์ไม่ยินยอม  ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายต่างมีความเห็นอกเห็นใจกันเป็นอย่างดี  แพทย์เองบอกว่า ‘เสียใจ’ ที่เคยเชื่อคำยุยงของ ‘ผู้ใหญ่’ บางคน

“ตัวอย่างพฤติกรรมที่กระทรวงสาธารณสุขและแพทยสภาพยายามสร้างกลไกปกป้องพวก เดียวกันยังมีอีกหลายกรณี อาทิ การแจ้งแพทย์และโรงพยาบาลว่าหากถูกฟ้องร้องห้ามส่งเวชระเบียนให้ผู้ป่วยและ ญาติทั้งที่ตาม พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ กำหนดว่าต้องให้  ในทางตรงข้ามแพทยสภากลับกำหนดให้ส่งเวชระเบียนให้ตนเพื่อทำการ ‘ตรวจสอบ’ ไม่แน่ว่าอาจเกิดการปลอมแปลงหรือทำลายหลักฐาน จึงยากนักที่ผู้เสียหายจะได้หลักฐานในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม  แพทยสภายังทำมากกว่านั้น คือการช่วยเหลือแพทย์ในการต่อสู้คดี โดยส่งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปให้การหักล้างพยานฝ่ายโจทก์ ขณะที่ฝ่ายโจทก์ยากจะหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นพยานฝ่ายตนได้

“เรื่องน่าสลดใจทั้งหมดที่กล่าวมาเกิดจากกลไกทางกฎหมายที่นอกจากไม่สามารถ เยียวยาความเสียหายได้แล้วยังกลับสร้างปัญหาให้ทุกฝ่าย แม้แพทย์เองก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน เนื่องจากความจำเป็นต้องเดินเข้าสู่กระบวนการทางศาลซึ่งต้องมีการตัดสิน ‘ถูก’ ‘ผิด’ ทำให้เกิดความพยายามเอาชนะคะคาน บางครั้งองค์กรรัฐก็เข้าไปรังแกประชาชนตาดำๆ อย่างน่าละอาย

“พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ และร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ยึดถือหลักสำคัญคือการ ‘ไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด’  แต่มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ป่วยและแพทย์ กระทำโดยไม่ผลักภาระให้ใคร ให้ถือเป็นความบกพร่องของ ‘ระบบ’  คำนึงถึงเงื่อนไขการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ตามสภาพจริง ว่าแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งต้องทำงานหนักเกินตัว โอกาสเกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัยหรือตัดสินใจจึงเกิดขึ้นได้ มีการพิจารณาให้เงินช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายโดยคณะอนุกรรมการซึ่ง ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นนิติศาสตร์ การแพทย์และสาธารณสุข การคุ้มครองผู้บริโภค การสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ เนื่องจากยึดหลักว่าคณะอนุกรรมการมิได้ทำหน้าที่วินิจฉัยความผิดพลาดของ ‘บุคคล’ แต่เป็นความผิดพลาดบกพร่องของ ‘ระบบ’  ผู้ที่ติดตามกรณีผู้เสียหายมานานย่อมเข้าใจและชำนาญการกับระบบดีกว่าแพทย์ หรือผู้ชำนาญการทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว  ด้วยกลไกของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ นอกจากผู้ป่วยจะได้รับการเยียวยาในเวลาอันสั้น ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากกลไกรัฐที่พิกลพิการไร้ประสิทธิภาพ  กระทรวงสาธารณสุขเองก็ไม่ต้องทำเรื่องน่าละอายระหว่างที่แพทย์ต้องทนทุกข์ ทรมานไม่แตกต่างจากผู้ป่วยเลย

“สำหรับเหตุผลสำคัญที่มีการหยิบยกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีการแตกประเด็นไปตามแต่จะนึกขึ้นได้  ที่สำคัญคือการ ‘เขียนเสือให้วัวกลัว’ ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีข้อกำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน อ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลและทำให้ประชาชนเดือด ร้อนเพราะโรงพยาบาลอาจจำเป็นต้องผลักภาระให้ผู้ป่วย ทั้งที่ ‘กองทุนเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข’ ที่ว่ามีข้อกำหนดให้โอนเงินสมทบกองทุนมาจากมาตรา ๔๑ แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งกำหนดให้กันเงินอุดหนุนจากรัฐบาลไม่เกินร้อยละ ๑ (ราว ๑,๐๐๐ ล้านบาท) ไว้สำหรับเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยกรณีที่เกิดความเสียหายจาก การรักษาโดยหาผู้กระทำผิดไม่ได้ หรือหาได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร โดยร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขกำหนดให้ขยายความช่วยเหลือจาก ‘ความช่วยเหลือเบื้องต้น’ เป็น ‘ความช่วยเหลือและชดเชยเบื้องต้น’

“เมื่อพลิกสถิติดูจะพบว่ามีการใช้เงินก้อนดังกล่าวจริงราวร้อยละ ๐.๐๕ ในแต่ละปี (ปีล่าสุดใช้ไป ๗๓.๒ ล้านบาทจากงบประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านบาท และมีเงินสะสมเหลือมากกว่านี้อีกมาก) เนื่องจากกระบวนการจ่ายเงินมีกรอบกำหนดไว้อย่างชัดเจน ไม่ใช่ใครนึกอยากจะเรียกร้องก็ทำได้แล้วรับเงินช่วยเหลือไปตามอำเภอใจ  หรือข้อสงสัยที่ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะทำให้มีผู้ฉวยโอกาสยื่นเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเนื่องจากต้องการได้ รับเงินชดเชย ก็ขอให้พิจารณา พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นตัวอย่าง ว่าแม้จะมีอำนาจคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลให้แก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่ก็ไม่ได้เป็นมูลเหตุจูงใจให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

“ด้วยเหตุนี้ เงินสมทบกองทุนส่วนที่เหลือซึ่งมาจากสถานพยาบาล เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เงินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้ ฯลฯ จึงน่าจะมีสัดส่วนน้อยมาก หากโรงพยาบาลเอกชนหวังจะผลักภาระนี้ให้แก่ผู้ป่วยก็ไม่ควรเกินร้อยละ ๐.๑๕ เท่านั้น ประกอบกับเมื่อพิจารณาตามสภาพการณ์จริงว่าปัจจุบันกำไรของบริษัทที่ทำ ‘ธุรกิจ’ โรงพยาบาลเอกชนก็มากโขอยู่แล้ว แม้มีความพยายามผลักภาระนี้มาให้ผู้รับบริการ  แต่ท่ามกลางการแข่งขันในตลาดธุรกิจสุขภาพของโรงพยาบาลก็บังคับให้ไม่อาจ เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลสูงไปกว่านี้ได้อีกมากนักอยู่ดี  ความกังวลของผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงไม่สอดคล้องตามความเป็นจริงและไม่สมเหตุสมผลสักเท่าไร ในทางตรงกันข้าม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีมาตรการเพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย โดยระบุว่าหากสถานพยาบาลใดดำเนินการพัฒนาระบบหรือปรับปรุงแก้ไขตามแนวทาง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อระบบการให้บริการสาธารณสุขทั้งต่อผู้ให้ และผู้รับ คณะอนุกรรมการยังสามารถพิจารณาลดอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนด้วย

“ส่วนเรื่องโรงพยาบาลบางแห่งอาจขาดทุนจากการบริหารงาน หรือได้รับค่าเหมาจ่ายรายหัวตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ไม่เพียงพอ ยกตัวอย่างโรงพยาบาลตามชายแดนที่ต้องแบกภาระดูแลผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่มี สิทธิบัตรทองแต่ต้องรักษาตามหลักมนุษยธรรม ก็เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขให้ถูกจุด ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างขัดขวางร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

“กรณีที่แพทย์อ้างว่าจะทำให้มีการฟ้องร้องแพทย์ในคดีอาญาเพิ่มขึ้น ถือเป็นการกล่าวเท็จอย่างสิ้นเชิง แท้จริงเป็นตรงกันข้าม เพราะร่าง พ.ร.บ.ฯ จะทำให้การฟ้องร้องแพทย์ไม่ว่าคดีแพ่งหรืออาญาลดลง  โดยหมวด ๕ ทั้งหมวดจำนวน ๔ มาตราได้กล่าวถึงมาตรการ ‘ไกล่เกลี่ย’ และสร้างเสริมความ ‘สัมพันธ์อันดี’ ในระบบบริการสาธารณสุข  ยกตัวอย่างมาตรา ๓๘ กำหนดว่า หากผู้ป่วยและแพทย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายตกลงร่วมกันว่า ใช้วิธีการไกล่เกลี่ย ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสนับสนุนให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อสร้างความสัมพันธ์ ที่ดีระหว่างกัน ให้ได้ข้อตกลงร่วมนอกเหนือจากเรื่องค่าเสียหาย  ขณะที่มาตรา ๔๑ ห้ามมิให้บุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการไกล่เกลี่ยนำข้อมูลระหว่างดำเนิน การไปใช้ในการดำเนินคดีทางศาล เพื่อให้เกิดความสบายใจและ ‘จริงใจ’ ต่อทุกฝ่าย  หรือกรณีที่ผู้เสียหายไม่ตกลงยินยอมรับเงินชดเชย แต่กลับเลือกฟ้องร้องแพทย์เป็นคดีความ มาตรา ๓๔ ระบุว่าให้ยุติการดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ แล้วไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอตามร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ได้อีก

“อย่างไรก็ดี หากพิจารณาอย่างถึงที่สุด การที่กรรมการแพทยสภาหลายคนออกมาเรียกร้องให้แพทย์ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องถูกฟ้องในคดีอาญาจากการประกอบวิชาชีพ โดยอ้างว่าแท้จริงแพทย์ไม่มีเจตนาทำร้ายใคร  ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เลย  การฟ้องร้องในคดีอาญาไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับใครเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ และมาตรา ๓๐๐ ในความผิดฐานประมาทเลินเล่อ  ซึ่งตราบเท่าที่แพทย์ยังเป็นประชาชนคนไทย ประกอบอาชีพอยู่ในประเทศไทย กฎหมายย่อมมิอาจยกเว้นให้แพทย์อยู่เหนือกฎหมายได้  แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศจึงควรสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ แทนที่จะต่อต้านโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์”

คัดค้าน

publichealth01

พญ.พจนา กองเงิน
ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย ประธานองค์กรแพทย์ โรงพยาบาลบุรีรัมย์

✢  ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะยิ่งทำให้มีการฟ้องร้องแพทย์ในคดีอาญาเพิ่มมากขึ้น

✢  รากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ความไม่สมดุลของระบบบริการสาธารณสุข แพทย์ทำงานล้นมือ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล  รัฐบาลควรจัดการให้ระบบบริการสาธารณสุขมีความปลอดภัยจัดสรรทรัพยากรให้เพียง พอตามมาตรฐานและมีประสิทธิภาพโดยไม่ต้องพึ่งร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

✢  หากต้องการช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย ควรขยายอำนาจมาตรา ๔๑ แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศ  ไม่จำเป็นต้องร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่อันจะเป็นการสร้างปัญหา เติมเชื้อความขัดแย้ง

.

.

……….

ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขเป็นการแก้ปัญหาในระบบบริการ สาธารณสุขอย่างไม่ตรงจุด เกาไม่ถูกที่คัน เป็นการซ่อนขยะไว้ใต้พรม

“ก่อนอื่นคงต้องเท้าความไปถึง พ.ร.บ. อีกฉบับซึ่งยังมีปัญหาและเรียกได้ว่าเป็นที่มาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ นั่นคือ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือที่รู้จักกันในนามโครงการ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ที่ส่งผลให้มีการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้นมาเป็นองค์กรรับผิดชอบกระบวนการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นำมาซึ่งภาระทางการเงินแก่รัฐบาล สร้างปัญหาในระยะยาวดังที่เรากำลังประสบอยู่  หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนประกาศ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๑-๒๕๔๔ งบประมาณทั้งประเทศมีอัตราเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยราวร้อยละ ๔.๓๗ ต่อปี ขณะที่งบประมาณด้านสาธารณสุขเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑.๙  แตกต่างจากหลังประกาศ พ.ร.บ.ฯ จากปี
๒๕๔๕-๒๕๕๓ งบประมาณทั้งประเทศเพิ่มร้อยละ ๗.๖๓ แต่งบประมาณด้านสาธารณสุขกลับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าคือร้อยละ ๑๒.๔๖ ต่อปี ยิ่งพิจารณาเป็นเม็ดเงินรายปีจะพบว่าเมื่อปี ๒๕๔๑ งบประมาณด้านสาธารณสุขเท่ากับ ๖.๑ หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี ๒๕๕๓ เพิ่มขึ้นเป็น ๑.๗๘ แสนล้านบาท โดยเป็นงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสียครึ่ง

“หลายคนอาจเข้าใจว่างบประมาณด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นน่าจะสอดรับกับจำนวน ประชากรที่มีสิทธิใช้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งรัฐบาลออกค่ารักษาพยาบาล ให้ แต่ก็ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีรายได้หลักจากงบเหมาจ่ายรายหัวของ สปสช. เข้าสู่ภาวะวิกฤตทางการเงิน เนื่องจากงบดังกล่าวร้อยละ ๒๕ ถูกกันไว้เป็นเงินเดือนบุคลากรร้อยละ ๖๐  เรียกได้ว่าร้อยละ ๖๐ ของเงินเดือนบุคลากรมาจากงบเหมาจ่ายรายหัวของชาวบ้าน  เม็ดเงินที่ตกเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาชาวบ้านจึงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่มีคนเข้ารับบริการอย่างเต็มที่

“ด้านงบประมาณจัดสรรของ สปสช. ใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเป็น ‘รายหัว’ ทำให้สถานพยาบาลในพื้นที่ที่มีประชากรน้อยได้งบน้อยตามไปด้วย ไม่สอดรับกับภาระจริงที่อาจมีประชาชนเข้ารับบริการมาก  ส่วนงบจัดสรรตามผลงานการให้บริการ สปสช. กำหนดให้โรงพยาบาลต้องทำรายงานส่ง  ซึ่งก็พบว่ามีความยุ่งยาก เสียเวลาในการดูแลผู้ป่วย บางครั้งก็ได้เงินไม่ครบตามจำนวน เป็นเหตุให้โรงพยาบาลหลายแห่งต้องยอม ‘ควักเนื้อ’ เพื่อนำงบประมาณส่วนตัวมาใช้ในการดูแลประชาชน สั่งสมจนเกิดภาวะยากลำบากทางการเงินอย่างที่เป็นอยู่  ไม่น่าเชื่อว่าโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน ๑๙๑ แห่งจากทั้งหมด ๘๓๒ แห่งใช้เงินหมดเกลี้ยงชนิดไม่เหลือกระทั่งเงินสำรองจ่ายยามฉุกเฉิน บางแห่งไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้พนักงานชั่วคราว ไม่มีงบซื้อครุภัณฑ์ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์  แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการประชาชน เรียกว่าแม้จะมีคนเข้าถึงบริการมากแต่คุณภาพที่ได้รับต่ำ

“ปัญหาสำคัญอีกประการจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ คือภาระงานที่เพิ่มขึ้นของบุคลากรทางการแพทย์  ข้อมูลจากแพทยสภาวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ ระบุว่าไทยมีแพทย์ที่ยังมีชีวิตและติดต่อได้จำนวน ๓๗,๔๗๐ คน  ในจำนวนนี้แบ่งออกเป็นแพทย์ที่สังกัดโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลตำรวจ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม รวมทั้งแพทย์ที่รับผิดชอบหน้าที่ฝ่ายบริหารหรือวิชาการ คือเป็นปลัด คณบดี รัฐมนตรี อาจารย์ ราว ๓ หมื่นคน ขณะที่แพทย์ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีราว ๗,๐๐๐ คนเท่านั้น ประจำอยู่ตามโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในต่างจังหวัด  อาจกล่าวได้ว่าแพทย์กลุ่มหลังจำนวนราว ๗,๐๐๐ คนคือผู้รับผิดชอบดูแลประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศอย่างแท้จริง เป็น ‘สหภาพแรงงานสาธารณสุข’ ผู้ทำงานด้วยความเสียสละ เข้ากะสัปดาห์ละ ๙๐-๑๒๐ ชั่วโมง เนื่องจากจำนวนแพทย์ไม่เพียงพอและไม่มีกฎหมายควบคุมการทำงาน  แพทย์กลุ่มนี้เองเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการประกาศ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยตรง

“กล่าวคือ นับจาก พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มีผลบังคับใช้ ได้เกิดภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปอย่างไม่เคยปรากฏมา ก่อน เป็นเหตุให้โรงพยาบาลต้องจัดเตียงผู้ป่วยเสริมตามทางเดิน หน้าลิฟต์ หน้าบันได หน้าห้องน้ำ บางรายไม่มีเตียงให้ก็ต้องจัดเบาะให้นอนกับพื้น  เมื่อผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล การใช้เวลาในการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายจึงลดน้อยลง นี่คือสภาพการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย อันมีสาเหตุจากการที่รัฐบาลรับผิดชอบออกค่ารักษาพยาบาลให้ ทั้งที่สถานพยาบาลและปริมาณบุคลากรทางการแพทย์ของเรายังไม่พร้อม ไม่ต่างจากร้านอาหารที่รีบเปิดให้บริการ เชิญชวนลูกค้าเข้าร้านทั้งที่พนักงานยังไม่ทันจัดโต๊ะ

“ปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลยังมีที่มาจากการ ‘ส่งต่อ’ (refer) ผู้ป่วยมาจากโรงพยาบาลชุมชน  เนื่องจากความเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก มีขีดความสามารถระดับปฐมภูมิหรือทุติยภูมิในบางแห่ง เมื่อต้องแบกรับภาระในการรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก ในอัตราการเกินกว่าที่มนุษย์ปุถุชนจะสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนได้ ประกอบกับมีเหตุการณ์ฟ้องร้องแพทย์โรงพยาบาลที่อำเภอร่อนพิบูลย์ นครศรีธรรมราช ในคดีอาญา จึงเกิดความไม่มั่นใจในการตัดสินใจรักษา และเลือกที่จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่เห็นว่ามีความพร้อมกว่า ขัดกับหลัก ‘ใกล้บ้านใกล้ใจ’ ที่ สปสช. เป็นผู้วางไว้เอง และยังทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยถูกบั่นทอน  อย่างไรก็ตาม แม้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยจะลดถอยลงตามลำดับ แต่ก็ยังนับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก จึงไม่มีความจำเป็นต้องร่าง พ.ร.บ. อีกฉบับเพื่อเป็นการซ้ำเติม

“จาก พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาถึงร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ดูเหมือนจะมีสิ่งหนึ่งซึ่งเชื่อมโยงกันอยู่อย่างชัดเจน คือมาตรา ๔๑ แห่ง พ.ร.บ. ฉบับแรก ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า ให้กันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละ ๑ (คำนวณแล้วตกราว ๑,๐๐๐ ล้านบาท) ของเงินที่จะจ่ายให้สถานพยาบาลไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วยใน กรณีที่เกิดความเสียหายจากการรักษาโดยหาผู้กระทำผิดไม่ได้ หรือหาได้แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร  นั่นหมายความว่าแต่เดิมประชาชนมี ‘กองทุน’ เยียวยาความเสียหายอันเนื่องจากการรับบริการสาธารณสุขอยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดยังไม่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ โดย สปสช. ‘เลือกปฏิบัติ’ ด้วยการให้สิทธิแก่กลุ่มผู้มีสิทธิบัตรทองราว ๔๗ ล้านคน ที่เหลืออีกราว ๑๖ ล้านคนได้แก่ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างเอกชนผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม และอื่นๆ ไม่ได้รับสิทธินี้

“ทางออกที่ดีจึงควรเป็นการต่อยอดระบบเดิมที่มีอยู่ ด้วยการขยายมาตรา ๔๑ แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้มีอำนาจครอบคลุมประชากรทั้งประเทศโดยไม่จำเป็นต้องผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อสร้างปัญหา เติมเชื้อความขัดแย้ง สูญเสียงบประมาณในการจัดตั้งองค์กรใหม่ที่ต้องก่อตั้ง ‘กองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข’ ซึ่งกำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน หากขาดส่งหรือส่งไม่ครบต้องจ่ายค่าปรับตามเกณฑ์ ทั้งที่โรงพยาบาลหลายแห่งกำลังประสบภาวะขาดทุนจนไม่มีกระทั่งเงินสำรองจ่าย  ยิ่งเมื่อพิจารณาจากสถิติปี ๒๕๕๒ จะพบว่ามีการใช้งบประมาณตามมาตรา ๔๑ เพื่อเยียวยาผู้ป่วยเพียง ๗๓ ล้านบาทเท่านั้น  หากขยายอำนาจของมาตราให้ครอบคลุมประชาชนทั้งประเทศก็น่าจะยังต่ำกว่างบ ประมาณราว ๑,๐๐๐ ล้านบาทที่ สปสช. ตั้งไว้อยู่ดี  แล้วจะร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่ขึ้นมา
เพื่อเหตุใด

“หากเราพิจารณาที่มาของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะพบว่ามีผู้ริเริ่มและผลักดันอย่างเอาการเอางานคือองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ เอ็นจีโอ ร่วมกับกลุ่มแพทย์ ‘ตระกูล ส.’ ได้แก่ สปสช. สสส. สวรส. สรพ. ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ทำการรักษาผู้ป่วยแล้ว แต่มีพฤติกรรมเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะว่ามักทำตัวเป็น ‘แบ็กอัป’ ในการฟ้องร้องแพทย์ จนยากจะทำใจเชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสมานฉันท์ ระหว่าง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับ’ บริการในระบบบริการสาธารณสุขอย่างจริงใจ

“ในทางตรงข้าม กลไกของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นชนวนให้เกิดปัญหาระลอกใหม่ตามมา โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับความเสียหาย ซึ่งในแนวทางสังคมสงเคราะห์ทุกคนอยากช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนเป็น ทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กลับระบุไว้ในมาตรา ๖ ว่าการจะจ่ายเงินได้ต้องเข้าข่ายความผิดตามมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยเงื่อนไขต่อไปนี้ ๑) ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปรกติธรรมดาของโรค  ๒) ความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้จากการให้บริการ  และ ๓) ความเสียหายที่เมื่อสิ้นสุดการให้บริการแล้วไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตาม ปรกติ  กรณีเหล่านี้มิอาจมีสิทธิรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย  นอกจากจะเป็นการปฏิเสธความช่วยเหลือในกรณีสุดวิสัยที่ผู้ป่วยอาจสมควรได้รับ แล้ว ยังมีความหมายโดยนัยว่าความเสียหายที่จะจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงิน ชดเชยเป็นความเสียหายอันเนื่องจาก ๑) เข้าข่ายผิดมาตรฐานวิชาชีพ  ๒) เข้าข่ายประมาท (ที่หลีกเลี่ยงได้)  และ ๓) เกิดผลกระทบต่อชีวิตหลังการรักษา เช่นพิการ  ซึ่งทั้งข้อ ๑) และ ๒) ผู้ประกอบวิชาชีพมีสิทธิ์ถูกดำเนินคดีทางจริยธรรม/แพ่ง/อาญาในกฎหมายอื่นที่ เดินไปคู่กัน

“นี่จึงมิใช่ร่าง พ.ร.บ.ฯ เพื่อความสมานฉันท์หรือเพื่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ให้กับผู้รับในระบบ บริการสาธารณสุขดังกล่าวอ้าง แต่เป็นกฎหมายฉบับแรกที่รับรองให้มีการฟ้องคดีอาญาจากการบริการสาธารณ สุขอย่างเป็นทางการ  ขณะที่คณะอนุกรรมการเต็มไปด้วยบุคคลที่มิได้มีความรู้ทางวิชาชีพแพทย์แต่ เป็นเอ็นจีโอ โดยอ้างเหตุผลว่ามิได้เป็นการตัดสินถูกผิด เสมือนว่าผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขถูกเลือกปฏิบัติ เพราะในการตัดสินเรื่องใดก็ตามสมควรนำบุคคลผู้มีความรู้ มีมาตรฐานในแวดวงเดียวกันมาตัดสิน ยกตัวอย่างหากเกิดเหตุการณ์ตึกถล่ม เมื่อวิศวกรต้องเป็นผู้รับผิดชอบก็ต้องให้สภาวิศวกรเป็นผู้ตัดสิน

“เป็นไปได้ว่าผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีความคิดว่าการรักษาพยาบาลมีความหมายเทียบเท่าการให้บริการหรือขาย สินค้า โดยผู้ให้บริการคือแพทย์มีฐานะเป็นพ่อค้า อาศัยโรงพยาบาลหรือคลินิกเป็น ‘หน้าร้าน’ หรือ ‘โรงงาน’  เป็นวิธีคิดที่ล้อมาจาก พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ตนมีส่วนร่วมผลักดัน ทั้งที่การรักษาพยาบาลไม่ใช่รถยนต์ บ้าน ยาสีฟัน สบู่  ขณะเดียวกันก็พยายามจำกัดความให้ ‘ผลที่อาจเกิดจากการรักษาที่เป็นไปตามมาตรฐาน’ อาทิการผ่าตัดแล้วติดเชื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือติดเชื้อเพราะผู้ป่วยเป็นเบาหวานอยู่เดิม ซึ่งทางการแพทย์ไม่เรียกว่า ‘ความเสียหาย’ ให้กลายเป็นความเสียหาย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับเงินเยียวยา และนำข้อมูลไปต่อยอดการฟ้องร้องทางแพ่งและอาญาได้อีกในขั้นต่อไป

“แม้การจ่ายเงินช่วยเหลือหรือชดเชยเป็นสิ่งดี แต่มีคำถามว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลไม่จัดให้ระบบบริการสาธารณสุขมีความปลอดภัย โดยไม่ต้องพึ่งพาร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ สามารถกระทำได้ไม่ยาก โดยการจัดสรรงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล อุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ให้เพียงพอตามมาตรฐานและมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อ ‘ปกป้อง’ ประชาชนให้ปลอดภัยตั้งแต่ต้น  สวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดัน ปล่อยปละละเลยให้ประชาชนมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหาย พิการ หรือตาย แล้วมาให้เงิน ‘ช่วยเหลือ’ เอาภายหลัง  เป็นการแก้ปัญหาอย่างไม่ตรงจุด เกาไม่ถูกที่คัน อันจะนำไปสู่ความล่มสลายในระบบบริการสาธารณสุขในท้ายที่สุด”

.