ทีมเติมฝันปันสุข
เรื่องและภาพ: บัญจรัตน์ จันทร์ฟัก, ลินดา เอื้อไพบูลย์

เหรียญสองด้าน-อาจารย์ใหญ่ที่มีชีวิต
บ้านริมน้ำ

จากวันวานที่เราพบกัน ณ บ้านริมน้ำหลังใหญ่ที่เป็นแหล่งสรรพวิชา ผลิตบุคลากรสายวิทยาศาสตร์สุขภาพออกไปดูแลประชาชนมากว่า ๑๓๓ ปี แม้จะสังกัดต่างคณะ แต่ด้วยกิจกรรมที่ทำร่วมกันก็ทำให้เราได้พบและรู้จักกัน

กว่าสามสิบปีแล้วที่เราแยกย้ายกันไปทำงาน ระยะทางห่างไกลไม่ใช่อุปสรรคในการสื่อสารด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าถึงยุคที่มีอินเทอร์เน็ตบนคอมพิวเตอร์และมือถือ

ความรู้สึกเมื่อได้รับข้อความทางอีเมล/ไลน์แม้จะต่างจากการได้อ่านลายมือที่คุ้นเคยบ้าง แต่ก็ยังสร้างและส่งเสริมพลังใจเสมอมา

…..

baanrimnam02
วันเรียน ณ บ้านริมน้ำ

ถึงน้องตัวยุ่ง 555 ก็เรายุ่งจริงอะ ไม่งั้นเราจะได้มารู้จักกันเหรอ

วันนี้ยังยุ่งเหมือนเดิมไหม พี่มีเรื่องจะเล่าให้ฟัง

วันนี้พี่มาดูงานที่หน่วยกายอุปกรณ์ หน่วยผลิตอุปกรณ์ช่วยพยุงตัวน่ะ มีเด็กชายตัวน้อยมาทำอุปกรณ์ช่วยเดิน เขาออกจะตัวเล็กกว่าวัย ขาทั้งสองข้างลีบเล็ก ทรงตัวไม่ค่อยมั่นคง

สีหน้าเขา อืมม มันดูไม่ร่าเริงสดใสเลย

จากที่คุยกับญาติที่พามา พี่ชายของเขาเพิ่งจะเสียชีวิตไปไม่นานด้วยโรคสมองพิการ cerebral palsy โรคเดียวกับที่เขาเป็นนั่นละ

ต้องยอมรับละว่า พี่เคยเรียนเกี่ยวกับโรคนี้บ้างสมัยเรียน แต่หลังจากจบมาก็ไม่เคยได้เจอผู้ป่วยตัวจริงอีกเลย เท่าที่พอได้ข้อมูลคร่าว ๆ จากน้องนักจิตวิทยาในทีมการรักษา โรคนี้สมองทำงานไม่สมบูรณ์มาแต่กำเนิด ส่งผลให้ร่างกายไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะด้านการเคลื่อนไหว การเรียนรู้ การสื่อสารบ้าง

ที่สำคัญคือโรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หาย มีแต่จะพัฒนา คืบหน้าไปต่อ และแทบจะเรียกได้ว่า มีวันกำหนดไว้ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าไร…

ฟังแล้วหดหู่นะ มันดูไม่มีหวัง ไม่มีเป้าหมายในการมีชีวิตเลย เราจะอยากเรียน อยากเล่น อยากสนุกไปทำไม ในเมื่อมีเวลาสุดท้ายกำหนดรออยู่

แล้ว…นี่พี่ชายเพิ่งตายไปไม่นาน เคยได้เห็น ได้อยู่กับพี่ชายมาตลอด สีหน้าเด็กน้อยถึงดูเศร้ามาก

มันทำให้พี่หวนคิดถึงเรื่องราวตัวเอง ตอนที่ป่วยเป็นโรคหน้าเกร็งตากะพริบค้าง กะพริบตาแต่ละทีตาก็ปิดสนิทค้าง ลืมไม่ขึ้น ต้องใช้ความพยายามลืมตานานกว่านาที แม้จะฉีดโบท็อกซ์เพื่อให้หน้าคลายก็ไม่ได้ผล อาจารย์แพทย์ผู้รักษาฟันธงว่า ไม่หาย แต่มันก็ไม่รุนแรงถึงตายหรอก ก็แค่ลืมตายากเท่านั้นเอง

พูดดูง่าย ๆ สบายนิ แต่พี่รู้สึกแย่กับชีวิตมาก ๆ หายมาได้นี่…เหมือนกลับมีชีวิต

แต่เด็กน้อยคนนี้ล่ะ…

ระหว่างที่น้องเขานั่งก้มหน้านิ่งอยู่ตรงหน้าแพทย์ รุ่นน้องนักจิตวิทยาหันมาเล่าว่าน้องบอกว่ามักถูกเพื่อนแกล้งเสมอ เขาคิดว่าเพื่อนคงไม่ชอบใจที่เขาได้รับอภิสิทธิ์ในการใช้ชีวิต ได้รับการอนุโลมในทุกเรื่องที่ไม่ทำไม่ได้ หรือไม่สะดวกที่จะทำ

เพราะเรื่องราวที่ได้รับฟังและสีหน้าที่ดูแย่ ทำให้พี่เดินเข้าไปนั่งเคียงข้างเขา เอื้อมมือไปแตะไหล่ บอกน้องว่าที่เพื่อนเขาดูคล้ายไม่พอใจและแกล้งเรา เขาคงแค่อยากหยอกเราเล่นเท่านั้น เขาไม่รู้ว่ามันจะทำร้ายเรานี่ ถ้าเขาไม่ชอบหน้าเราจริง ไม่พูดกับเรา มองไม่เห็นเรา ไม่ง่ายกว่าเหรอ จริงไหม

แพทย์ที่กำลังตรวจบันทึกอาการก็รีบตอบรับว่า จริงด้วย ใช่ ๆ พี่คิดว่าเธอเองคงกำลังลุ้นและหาวิธีทำให้น้องรู้สึกดีขึ้น

พี่เห็นน้องเอียงหน้า แววตาคล้ายคิดตาม ดูสีหน้ามีแววสดใสแวบขึ้นมา

“ก็แค่พยายามจะทำให้ได้ ให้ดีที่สุดเท่านั้นแหละ เดี๋ยวเพื่อนเราก็เข้าใจเอง…นะ ทำเพื่อรอยยิ้มของแม่เราไง”

เราจากกันด้วยคำพูดนั้น

พี่ไม่รู้หรอกนะว่าช่วยอะไรได้แค่ไหน ก็แค่อยากพูด แค่แอบหวังว่าน่าจะพอเป็นเป้าหมายให้เขาพุ่งชน ให้รู้ว่าเขาจะมีชีวิตวันนี้เพื่ออะไร

แม่ของเด็กน้อยจะรู้สึกอย่างไรหนอ การมีลูกเป็นโรคที่รักษาไม่หาย หาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร จะนึกโทษตัวเองบ้างไหมนะ พี่นึกไม่ออกจริง ๆ

จบแค่นี้ก่อนนะ ไว้คุยกันใหม่ อย่าลืมตอบมาด้วยล่ะ

…..

baanrimnam03
อ่านจดหมาย
baanrimnam04
นักจิตวิทยากับเด็ก

ถึงพี่สาวที่น่าร้าก

ดีใจมากค่ะที่ได้คุยกับพี่ กำลังเบื่อ ๆ และท้อกับงานอยู่เลย เหมือนจะซ้ำ ๆ ไม่คืบหน้า แม้จะพยายามนึกถึงที่พี่พูดเสมอว่า เรามีหน้าที่ดูแลอาจารย์ใหญ่ที่มีชีวิต ก็คือคนไข้ทุกคนที่ผ่านมาให้ได้พบเจอ ได้นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้คนไข้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด และเราเองก็ได้รับประสบการณ์ เรียนรู้และเติบโตขึ้นในวิชาชีพด้วย

แต่ก็…นะ เพราะได้อ่านเรื่องราวของพี่ ช่วยปลุกพลังให้ก้าวต่อไป เราต้องทำให้ดีที่สุดให้คนไข้ของเรานะ

กับคำถามของพี่ นั่นสิคะ แม่ของเด็กน้อยจะคิดยังไงนะ 555 ยังไม่มีคำตอบค่ะ แต่ก็ทำให้คิดเหมือนกันว่า แล้วแม่ของคนไข้เราล่ะ เขาคิดยังไง

ที่คลินิก เราพบเด็กและวัยรุ่นที่อยู่ร่วมกับไวรัสเอชไอวีมาตั้งแต่เกิด ผ่านการเจาะเลือดตรวจไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง กินยาต้านไวรัสตั้งแต่ยังเป็นเด็กดูดขวดนม ฟันยังไม่ขึ้น เอชไอวีเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ ถ้าเกิดในสมัยนั้นพวกเขาคงไม่รอดชีวิต แต่เดี๋ยวนี้มียาที่ใช้รักษาควบคุมไวรัสเอชไอวีได้

น้อง ๆ กลุ่มนี้ทยอยโตขึ้น เป็นวัยรุ่นและสู่วัยผู้ใหญ่ หลายคนเรียนจบ มีงานทำ มีแฟน แต่งงานมีครอบครัว และมีลูกที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี แต่ก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ใช้ชีวิตแบบอยู่ไปวัน ๆ เพราะตีตราตนเองเป็นผู้ป่วยเอดส์ ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่เหมือนกัน

เราพยายามบอกเด็กเสมอว่า หนูแค่มีเชื้อเอชไอวีในร่างกาย หนูไม่ได้เป็นเอดส์นะ

แต่ก็นั่นแหละค่ะ ความเชื่อของคนในสังคมต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง

เราก็มีเรื่องจะเล่าให้พี่ฟังเหมือนกันค่ะ มันก็หลายเดือนมาแล้ว แต่ยังจำความรู้สึกวันนั้นได้เลย

หลังจากมีวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ ที่เริ่มเปิดให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนได้ไม่นาน เช้าวันนั้นมีหนุ่มน้อยคนหนึ่งมาขอพบ น้องในทีมแจ้งว่าเขาอยากคุยด้วย เราเดินมาที่ห้องตรวจแบบงง ๆ เพราะคนไข้รายนี้ย้ายไปโรงพยาบาลอื่นหลายปีแล้ว

หนุ่มน้อยรูปร่างสันทัดถามว่า ผมจะฉีดวัคซีนได้ไหมครับ สีหน้าเขากังวลและลังเล

เรามองหน้าเขาและหวนคิดถึงทารกตัวน้อยที่เคยถูกป้าอุ้มมาโรงพยาบาลตั้งแต่ยังเล็กและหลับหูหลับตาร้องไห้ทุกครั้งเพราะถูกจับนอนบนเตียงเพื่อเจาะเลือด เด็กน้อยโตมากับป้าที่มีอาชีพรับจ้างทำงานบ้าน ผู้เลี้ยงดูเขาอย่างดีเท่าที่จะทำได้ เหตุเพราะพ่อหายไปจากชีวิต และแม่จากไปด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในโรคเอดส์ระยะสุดท้าย

ป้าต้องดูแลเขาต่างจากเด็กทั่ว ๆ ไป คือให้เขากินยาวันละสองครั้งอย่างตรงเวลาสม่ำเสมอ

ยาช่วยควบคุมปริมาณไวรัสในเลือด ทำให้เขาเติบโตมาเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้

เราบอกน้องว่า ได้สิ เราก็เป็นคนสุขภาพดีคนหนึ่งนี่นา ไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน

ผลเลือดของเขาในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา มีบางช่วงที่ไม่ค่อยดี ตอนมัธยมฯ ต้นเขาป่วยเป็นโรคปอดแทรกซ้อน ตอนนี้เขาทำงานที่ร้านอาหาร เป็นลูกมือพ่อครัวและช่วยเสิร์ฟอาหาร ใช้สิทธิประกันสังคมรับยาต้านไวรัสที่โรงพยาบาลเอกชนหนึ่ง

ประเมินแล้วว่าชีวิตเขาน่าจะไปได้ดีในช่วงนี้ เราเลยเอ่ยถามเรื่องที่สงสัยช่วงป่วยเป็นโรคปอดแทรกซ้อน

หนุ่มน้อยเล่าว่าตอนนั้นยายตาย ป้าและคนอื่นๆ ในบ้านยุ่งกับการจัดงานศพยาย ไม่มีใครสนใจ เขาเลยหยุดกินยาเพราะคิดว่าแข็งแรงดี ไม่เห็นเป็นอะไร ไม่รู้ว่าจะกินทำไมทุกวัน ๆ ไม่กินเป็นเดือน ๆ จนทรุดเลย

ป้าไม่เคยบอกว่าเขาเป็นอะไร บอกแต่ให้กินยา มาโรงพยาบาลหมอก็บอกแต่ว่าให้กินยาดี ๆ

สมัยหนึ่งในคลินิกมีเด็กวัยประถมฯ ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีจำนวนมาก พ่อแม่บางคนก็เล่าเรื่องโรคให้ฟัง เด็กพอรู้พอเข้าใจว่าตนเองเป็นอะไร ขณะที่หลายครอบครัวไม่กล้าบอก และไม่ยอมให้หมอหรือพยาบาลบอกเด็กด้วย เกรงว่าลูกหรือหลานจะเสียใจ รับไม่ได้ บ้างก็คิดว่าเด็กยังเล็ก อาจไม่เข้าใจ บอกไปก็ไม่มีประโยชน์ หรือเด็กเก็บความลับไม่เป็น อาจจะไปเล่าให้คนอื่นฟัง

เขาบอกว่าถ้าตอนนั้นป้าบอกให้รู้ ก็คงตั้งใจกินยาต่อ และไม่ต้องป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล ถ้าบอกว่าเป็นโรคอะไร เด็ก ๆ ก็เข้าใจได้นะครับ

เราพอเข้าใจความคิดของป้านะ เพราะในยุคที่ยังไม่มียาต้านไวรัส แต่โรคเอดส์ระบาด ผู้ติดเชื้อล้มตายอย่างกับใบไม้ร่วง จนวัดไม่มีเตาเผา ผู้มีเชื้อเอชไอวีถูกตีตราจากสังคม ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ บางรายถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าโรงเรียน หรือเรียน ๆ อยู่พอทราบก็ให้ออกกลางคัน ไม่มีเพื่อนวัยเดียวกันมาเล่นด้วย บ้างก็ถูกล้อเลียนทั้งเรื่องโรคและการเป็นลูกกำพร้าที่ไม่มีพ่อแม่อยู่ด้วย

การไม่บอกเด็กและไม่บอกใครว่าเด็กเป็น จึงเป็นทางออกที่พวกเขาจะใช้ชีวิตในชุมชนได้

แต่ก็นั่นแหละ มันเป็นที่มาของความเครียดและความลับในครอบครัวที่รบกวนจิตใจของสมาชิกในบ้าน

เราเชื่อว่าหน้าที่ของผู้ให้บริการสุขภาพคือให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้เขาสบายใจ อยู่ได้ ดูแลตัวเองหรือคนในครอบครัวได้และไม่ฝังใจอยู่กับความเชื่อเดิมที่ไม่ถูกต้องทั้งหมด พวกเขาไม่สามารถพูดคุยปรึกษาเรื่องโรคและความเจ็บป่วยกับใครได้เลย นอกจากผู้ให้บริการสุขภาพที่เขาต้องพบเป็นประจำ

การพบกันเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องกันเป็นแรมปี ทำให้เราผูกพัน เด็กต่างจากผู้ใหญ่ตรงที่แม้จะมีโรคเรื้อรังแต่พวกเขาก็ยังโตขึ้นมีความน่ารักสดใสแบบเด็ก ๆ และมีพัฒนาการเปลี่ยนไปตามวัย

เหมือนเราได้เฝ้ามองต้นไม้เติบโต ออกดอก ผลิบาน ได้เห็นเด็กโตเป็นวัยรุ่น เป็นความสุขใจเล็ก ๆ

การให้บริการจึงเป็นสิ่งที่เราทำด้วยใจ ไม่ใช่แค่เพราะเป็นหน้าที่

วันนั้นหนุ่มน้อยกลับไปพร้อมกับความตั้งใจจะไปลงทะเบียนรับวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ พร้อม ๆ กับเพื่อนคนอื่นในที่ทำงาน

ไม่มีใครทราบว่าเขาเป็นโรคหรือต้องกินยาอะไร เขาดูโล่งใจที่ไม่ต้องทำอะไรต่างจากเพื่อน เราเองก็ยินดีที่มีส่วนให้จำนวนผู้ได้รับวัคซีนของจังหวัดเราเพิ่มขึ้น

รู้สึกมั่นใจลึก ๆ ว่าถ้ามีโอกาสบอกเด็กรายอื่น ๆ เรื่องการมีเชื้อเอชไอวี เราคงไม่รีรอเหมือนที่ผ่านมา แม้ว่ามันคงจะไม่ง่ายนัก

ถ้ามีโอกาสไว้จะเล่าให้ฟัง วันนี้ราตรีสวัสดิ์ค่ะ

…..

baanrimnam05
บรรดาอาจารย์ใหญ่ที่มีชีวิต
baanrimnam06
แม่กับลูกบนเตียง

ถึงน้องตัวยุ่ง

อ่านที่เราเล่าแล้วทำให้ย้อนนึกถึงตอนทำงานใหม่ ๆ ปี ๒๕๒๘ น่ะ มีคนไข้ติดเชื้อเอชไอวีแล้วต้องมาให้ยารักษามะเร็ง อืมม…พวกเราบุคลากรเองก็เถอะ ยัง…นิดๆ ลุ้นๆ ว่าใครจะเป็นคนแทงน้ำเกลือ เจาะเลือด ให้ยา แต่คนไข้พี่โชคดีนะ ได้รับยาจนครบและหายแล้ว

วันนี้จะมาเล่าว่าเมื่อวานพี่เจอกับแม่ของคนไข้อีกรายหนึ่ง ลูกชายเธอก็เป็นโรคเดียวกันกับน้องที่เล่าไปคราวที่แล้ว

เธอมากับลูกสาว เธอมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง รักษาต่อเนื่องอยู่ แต่ลูกสาวของเธอแจ้งกับพยาบาลว่า อยากให้แม่เข้าคลินิกสูงอายุ

คลินิกสูงอายุเป็นคลินิกครบวงจร มีแพทย์ปัจฉิมวัย นักจิตวิทยา นักโภชนาการ ทันตแพทย์ แพทย์แผนไทย ร่วมกันดูแลผู้ป่วย เราเปิดให้บริการเพียงสัปดาห์ละ ๑ ครั้งคือทุกวันพุธ จำกัดจำนวนไว้ที่ ๑๐ คนต่อวันเพื่อให้บริการได้ทัน จึงต้องคัดกรองสุขภาพผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลด้วยทีมสุขภาพจริง ๆ

คุณแม่คนนี้มีสถานะเป็นแม่บ้านเต็มเวลา เพราะต้องดูแลลูกชายที่ป่วยติดเตียงด้วยโรคสมองพิการมาตั้งแต่วัยเด็ก ตอนนี้ลูกชายอายุ ๑๙ ปีแล้ว หมอเคยบอกว่าเขาน่าจะเสียชีวิตตอนอายุประมาณ ๑๕ ปี แต่เลยมากว่า ๔ ปีแล้ว เขายังมีชีวิตอยู่แบบติดเตียง ทำให้เธอต้องดูแลเขาแทบทุกอย่าง เธอแทบจะถูกขังไว้กับบ้าน กับลูกชาย

ฟังจากน้ำเสียง สีหน้าของเธอ คงเครียด กดดัน และอาจมีความรู้สึกผิดที่คล้ายเธอจะนึกอยากให้เขาจากไป เออนะ เป็นพี่ก็คงคิดแบบนั้นบ้างล่ะ

เธอและลูกสาวเล่าตรงกันว่า เธอเหมือนจะขี้หงุดหงิด เหวี่ยงง่ายบ่อยๆ เธอไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น แต่ห้ามตัวเองไม่ได้

หลังจากคุยกันสักพักใหญ่ พี่รู้สึกว่าอารมณ์ของเธอผ่อนคลายลง จากการที่ได้พูด ได้เล่า ได้มีคนฟัง ความเศร้าของเธอน่าจะเป็นเพียงอารมณ์ชั่วขณะ แต่ไม่ใช่อาการของโรคซึมเศร้า เหมือนกับเครียดและไม่มีโอกาสได้ระบายให้ใครฟังเลย

สุขภาพของเธอโดยรวมถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งความจำและการช่วยเหลือตัวเองปรกติ ซึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องส่งเข้าคลินิกสูงอายุ

สิ่งที่พี่ทำคือ พูดย้ำให้เธอมั่นใจว่าเป็นเรื่องปรกติ ใครต้องเจอแบบที่เธอเจอก็ย่อมต้องเครียดละ อยู่กับผู้ป่วยติดเตียงทั้งวัน และไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไรที่ต้องอยู่กับสภาพแบบนี้

พี่แนะนำเธอว่า ต้องให้เวลาตัวเองที่จะได้ระบายบ้าง ถ้าเครียดหรือเศร้าก็พูดออกมา เหมือนตอนที่เราโกรธ แค่เราพูดออกมาดัง ๆ ว่าโกรธโว้ย ก็หายโกรธแล้ว จริงไหม

พี่ยังแนะนำให้เธอมีเวลาได้อยู่กับตัวเองบ้าง ให้เวลาหลังอาหารทั้ง ๓ มื้อ เดินสบาย ๆ สวดมนต์ออกเสียง ชมธรรมชาติบ้าง ทำบุญให้ลูก พักสมอง เพื่อให้เธอและลูกอยู่อย่างสบาย

เธอยิ้ม พยักหน้ารับ เธอคงรู้สึกดีขึ้นบ้าง ส่วนลูกสาวบอกว่าจะลองกลับไปทำเหมือนที่พี่แนะนำ

แค่พลิกมองให้รอบด้าน เลือกด้านที่ดี ที่เป็นจริงขึ้นมามองแล้วพัฒนา ใช้มันให้ดีที่สุด เราก็จะได้สิ่งที่ดีที่สุดกลับคืนมา

แน่นอน เมื่อให้ความสุข ย่อมได้ความสุขกลับคืนมา ความสุขในการทำงานบริการเป็นแรงบันดาลใจให้พี่ยังคงมีพลังในการทำงานต่อไป

พี่เชื่ออย่างนั้นจริง ๆ นะ เหมือนที่พ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ ท่านตรัสไว้ “ขาดทุนคือกำไร ผู้ให้คือผู้รับ”

…..

baanrimnam07
ผู้รับบริการ
baanrimnam08

ถึงพี่สาวที่น่ารักคนเดิม

สิ่งหนึ่งที่คิดตรงกับพี่คือ งานด้านสุขภาพเป็นงานที่ทำแล้วเกิดความสุข สุขจากการที่ได้มีโอกาสเป็นผู้ให้ ได้ใช้ความรู้ช่วยเหลือผู้คนที่มีความต้องการแตกต่างกัน และสุขจากการเรียนรู้ที่ไม่วันจบสิ้น

แม้เวลาจะล่วงเลยไป เรายังคงจะทำหน้าที่ดูแลอาจารย์ใหญ่ที่มีชีวิตของเราทุกคนให้ดีที่สุดด้วยกันนะคะ แม้อายุของเราจะมากขึ้นจนพี่เริ่มนับถอยหลังสู่วันเกษียณแล้ว ส่วนของเรายังอีกนาน ฮ่าฮ่า

วันนี้จะเล่าเรื่องเด็กมีเชื้อเอชไอวีต่ออีกคน รายนี้เพิ่งขึ้นมัธยมฯ กินยามาตั้งแต่อายุขวบกว่า แม่บอกแบบเลี่ยง ๆ ว่าตัวเขาเป็นโรคเลือด แม่กับพ่อมีเชื้อเอชไอวีและกินยารักษาอยู่ เขายังมีพี่สาวที่ไม่ติดเชื้อ พี่สาวตัวสูงใหญ่ แต่เขาตัวผอมนิดเดียว ถ้าเข้าวัยรุ่นเต็มตัวคงยืดสูงได้อีกหน่อย

เราถามว่าแม่คิดจะบอกลูกเมื่อไร คำตอบที่ได้รับคือความเงียบ…เนิ่นนาน อืม…แม่คงรู้สึกผิด ที่ลูกชายได้รับเชื้อไวรัสนี้มาจากตัวเอง สำหรับผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี ด่านแรกที่ต้องพบเจอ คือการตีตราตัวเองด้วยความรู้สึกผิดในใจนี่แหละ

พอถึงช่วงให้คำปรึกษาเด็กที่ผู้ปกครองถูกเชิญออกไปรอนอกห้อง แม่ทั้งพูดและส่งสายตาย้ำกับเราก่อนออกไปว่า อย่าเพิ่งบอกอะไรกับลูกนะ รอก่อนนะ รอลูกโตอีกนิด หวังว่าเขาจะเข้าใจ

ส่วนน้องกลับเฉลยว่า รู้ตัวตั้งแต่อยู่ ป. ๖ แล้ว ดูในโทรทัศน์ที่ออกข่าวเรื่องสิทธิการรักษา เห็นขวดยาเหมือนที่กิน ชั่วโมงเรียนคอมพิวเตอร์เลยลองเสิร์ชดู เด็กน้อยไม่ได้เครียดหรือเศร้าอะไรเลย คุยเรื่องอื่นกับเราต่อเหมือนทุกครั้งที่คุยกัน

สัปดาห์หน้าจะมีคัดตัวเข้าทีมฟุตบอล และเขาหวังว่าจะได้เข้าทีมของโรงเรียน ก็คงต้องร่วมลุ้นไปกับเขาด้วย ก่อนอื่นคงต้องกระซิบบอกแม่ให้สบายใจก่อนกลับบ้าน ว่าลูกชายไม่มีปัญหานะ เขารับรู้ภาวะสุขภาพของตนเองแล้ว

เรากลับมานั่งคิด เออจริงนะ โลกสมัยนี้ไม่เหมือนเดิม เขาสามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเอง

แต่สิ่งหนึ่งที่ทีมสุขภาพยังมีบทบาทอยู่คือการรับฟัง ให้กำลังใจ และสนับสนุนพฤติกรรมสุขภาพด้านบวก ด้วยหัวใจที่เป็นมนุษย์ มีชีวิตจิตใจและความรู้สึกนึกคิด

บุคลากรสุขภาพอย่างเราทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์แน่นอน จริงไหมคะ

กิจกรรมดีๆ ของ “ค่ายนักเล่าความสุข” ปี 3 ร่วมสร้างสรรค์เรื่องเล่าความสุข และสังคมที่มีความสุข

  • มูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
  • นิตยสารสารคดี
  • เพจความสุขประเทศไทย
  • สสส.