flood04

สภาพบ้านเรือนบนเกาะยอซึ่งตั้งอยู่กลางทะเลสาปสงขลา
อ.เมืองสงขลา พังพินาศ หลังพายุดีเปรสชันเคลื่อนขึ้นฝั่ง
เมื่อคืนวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ (ภาพ : วันชัย พุทธทอง)

flood05

วัดมเหยงค์ อ.เมืองพระนครศรีอยุธยา
วัดสำคัญในกลุ่มโบราณสถานทางทิศตะวันออกของเกาะเมือง
ระดับน้ำสูงเลยอก และถูกตัดขาดจากโลกภายนอก
(ภาพ : บารมี เต็มบุญเกียรติ @Hanumaphotos)

flood09

แผนที่แสดงพื้นที่ประสบอุทกภัย(สีฟ้า) ในภาคเหนือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง วิเคราะห์โดยข้อมูล
จากดาวเทียม RADARSAT-2, ALOS และ LANDSAT-5 ระหว่างวันที่ ๑๒ สิงหาคม ถึง ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๓
(ภาพ : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน))

ใช่แต่อำเภอหาดใหญ่ที่ประสบภัยน้ำท่วม อีก ๑๕ อำเภอของสงขลาล้วนตกอยู่ในสภาวะไม่ต่างกัน

วันชัย พุทธทอง ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นประจำหนังสือพิมพ์ ข่าวสด เล่าว่า “คืนวันที่ ๑ พฤศจิกายน ผมหลบอยู่ในมุมหลืบลึกสุดของบ้านเรือนไทยซอย ๒๗ ไทรบุรี (ต. บ่อยาง อ. เมืองสงขลา)  พายุดีเปรสชันซัดกระหน่ำพัดข้าวของกระจุยกระจาย ต้นมันปูข้างบ้านต้านแรงปะทะไม่ไหวล้มครืนลงไปก่อน สักพักต้นขนุนขนาดย่อมกว่าที่อยู่อีกทางหักโค่นลงตาม  เสียงต้นไม้โค่นล้มดังลั่นสนั่นหวั่นไหว โชคดีที่มันไม่ล้มทับบ้าน แต่ลงไปตามช่องว่างที่มีอยู่นิดเดียว”

๒๑.๐๐ น. ไฟฟ้าใน อ. เมืองสงขลาถูกตัด ทั้งอำเภอตกอยู่ในความมืดมิด  วันชัยเล่าถึงช่วงเวลาอันน่าหวาดกลัวที่สุดว่า “ราวสี่ทุ่มถึงเที่ยงคืน ผมนั่งอยู่ลำพังท่ามกลางความมืด จะลุกไปปิดหน้าต่างยังทำไม่ได้เพราะแรงลมภายนอกที่กำลังมากกว่ามันดัน หน้าต่างไว้ ทำได้เพียงนั่งฟังเสียงกระเบื้องบนหลังคาปลิดปลิวไปทีละแผ่น เสียงดังอย่างกับเสียงเขวี้ยงดาวกระจาย ตามมาด้วยเสียงกระเบื้องหล่นพื้นแตก  ช่วงเวลานั้นเหมือนบ้านทั้งหลังถูกยกขึ้นมา เหมือนมีมือลึกลับจับเราเขย่าอย่างไรอย่างนั้นเลย”

ห่างจาก อ. เมืองไปทางทิศเหนือราว ๓๖ กิโลเมตร บริเวณหมู่บ้านดอนคัน ต. คูขุด อ. สทิงพระ  ชาวบ้านที่นั่นต่างประสบเหตุระทึกขวัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  กันยา เกษสระ อายุ ๔๒ ปี เล่าว่า “เราเกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ แต่ไม่เคยเจอเหตุการณ์น่ากลัวขนาดนี้มาก่อน  ค่ำวันที่ ๑ พฤศจิกายน เวลาประมาณสามทุ่ม มันมาทั้งลมทั้งน้ำ  ถึงหมู่บ้านของเราจะน้ำท่วมประจำแทบทุกปี แต่ก็ยังไม่เคยพบลมพายุรุนแรงน่ากลัวอย่างนี้มาก่อน  เราเห็นกับตาว่ามันพัดมาเป็นลมหมุนสีแดง เคลื่อนตัวเวียนไปวนมาอยู่ภายในหมู่บ้าน พร้อมกับมีฟ้าแลบฟ้าร้อง  บ้านไม้หลายหลังต้านแรงปะทะไม่ไหวก็พังครืนลง หลายหลังเมื่อลมพายุสงบพบว่าโครงสร้างบ้านเอียงกระเท่เร่เข้าอยู่ไม่ได้อีก ต่อไป”

กลางดึกวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวไทยตอนล่างความเร็วลม ๑๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดเข้าสู่คาบสมุทรมลายูบริเวณ อ. สทิงพระ และ อ. ระโนด จ. สงขลา  ยังผลให้ทั้ง ๑๖ อำเภอของจังหวัดมีฝนตกหนักและเกิดภาวะน้ำท่วม

ที่ อ. เมืองสงขลา ตั้งแต่ห้าแยกเกาะยอถึงแหลมสมิหลา พายุพัดถล่มจนต้นไม้ริมถนนหักโค่น ป้ายโฆษณา สัญญาณไฟจราจรล้มระเนระนาด  ก่อนหน้านั้นกำแพงเมืองสงขลาอายุเก่าแก่ถึง ๑๔๗ ปีก็ถล่มลงมาเป็นระยะทางราว ๔ เมตร คาดว่าสาเหตุเกิดจากการรับน้ำฝนติดต่อกัน

พื้นที่รอบนอกของจังหวัดสงขลา อาทิ อ. นาทวี-สะบ้าย้อย-สะเดา ระดับน้ำสูงเฉลี่ย ๑.๕-๒ เมตร  เนรมิตร น้อยสำลี ชาว อ. นาทวี เล่าว่า “ไม่เคยเจอเหตุการณ์รุนแรงเท่านี้ แม้ครอบครัวเราจะเตรียมความพร้อมไว้ระดับหนึ่ง คือเตรียมข้าวสารอาหารแห้ง แต่ทันทีที่น้ำไหลทะลักเข้าบ้านเพียงอึดใจ ระดับน้ำก็พุ่งสูงขึ้นกว่า ๒ เมตร  ไม่นานทางการก็ตัดน้ำและไฟฟ้า ทำให้ถึงแม้จะมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเตรียมไว้ แต่เมื่อไม่มีไฟก็ต้องกินบะหมี่ไม่ต้มประทังชีวิต” (คมชัดลึก ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓)

จังหวัดสงขลาถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติทั้งจังหวัด บางพื้นที่เช่น อ. สทิงพระ อ. ระโนด ประสบภาวะน้ำท่วมขังติดต่อกันนานนับเดือน สวนตาล-นาข้าวจมอยู่ใต้บาดาล เส้นทางคมนาคม-ระบบสาธารณูปโภค-การสื่อสารถูกตัดขาดโดยไม่มีหน่วยงานราชการ ยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยต่างต้องเยียวยาความทุกข์ยากของตนไปตามยถากรรม