เก็บตก บางเรื่องที่ไม่ได้เขียนลงสารคดี..จากการลงพื้นที่ภาคสนาม
เขื่อนปากมูล รู้จักแม่น้ำมูลและเขื่อนปากมูล ก่อนน้ำท่วมอีสานใต้

ปลายเดือนสิงหาคมต่อกันยายน ๒๕๖๒ อิทธิพลของพายุโมดูลและพายุคาจิกิได้ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของภาคอีสาน ส่งผลให้เกิดอุทกภัยตามมาทั้งที่จังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม อำนาจเจริญ ยโสธร กาฬสินธุ์ ฯลฯ โดยมีศูนย์กลางความเสียหายอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ตั้งของปากแม่น้ำมูลและเขื่อนปากมูล

ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วมภาคอีสานใต้ “ปากแม่น้ำมูล” และ “เขื่อนปากมูล” เป็นเหมือน “ประตูบานสุดท้าย” ของการระบายน้ำขังลงสู่แม่น้ำโขง

เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานี มีรายงานว่าเป็นน้ำท่วมใหญ่ในรอบสี่สิบปีทำให้เกิดคำถามตามมาถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ รวมถึงการบริหารจัดการเขื่อน

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชี้แจงว่า มวลน้ำทั้งหมดที่กำลังท่วมจังหวัดอุบลราชธานีมีช่องทางระบายออกสู่แม่น้ำโขงเพียงทางเดียวคือปากแม่น้ำมูล ซึ่งจะต้องไหลผ่านเขื่อนปากมูลที่ตั้งอยู่ห่างจากปากแม่น้ำประมาณ ๕.๕ กิโลเมตร จากข้อมูลของการไฟฟ่าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เขื่อนปากมูลมีแนวสันเขื่อนยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร มีบานประตูหรือช่องทางระบายน้ำทั้งหมด ๘ ช่อง แต่ละช่องสูง ๑๔.๗๕ เมตร กว้าง ๒๒.๕ เมตร และมีอัตราการระบายน้ำสูงสุด ๑๘,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ และอีกหลายครั้งที่ผ่านมา เริ่มมีคนตั้งข้อสังเกตว่าการสร้างเขื่อนปากมูลทำให้การไหลของน้ำมีลักษณะเป็น “คอขวด” เมื่อเทียบกับความกว้างเดิมของแม่น้ำมูล

pakmooldam03
ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล สร้างกั้นแม่น้ำมูลห่างจากตำแหน่งที่แม่น้ำมูลไหลลงแม่น้ำโขงประมาณ ๕.๕ กิโลเมตร (ภาพ : ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ / ปี ๒๕๔๔)

“จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เขื่อนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมมากและนานขึ้น” ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคามให้ความเห็น

แม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำสายใหญ่และยาวที่สุดของภาคอีสาน มีความยาวประมาณ ๖๔๐ กิโลเมตร มีต้นกำเนิดจากทิวเขาสันกำแพงบริเวณเขื่อนมูลบน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านหลายอำเภอของจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ ก่อนบรรจบแม่น้ำชีที่บ้านขอนไม้ยูง ตำบลห้วยขะยูง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี แล้วไหลผ่านหลายอำเภอของอุบลราชธานีมาลงแม่น้ำโขงที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอโขงเจียม

พื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูลมีความกว้างประมาณ ๖๙,๗๐๑ ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ ๑๓.๖ ของพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมดทั้งประเทศ ครอบคลุมอาณาเขต ๑๐ จังหวัดของภาคอีสานตอนล่างหรืออีสานใต้ และภาคอีสานตอนกลาง มีปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงเฉลี่ยประมาณ ๒๖,๖๕๕ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

เดิมชาวบ้านในท้องถิ่นสะกดชื่อแม่น้ำสายนี้ด้วยอักษร “น” คำว่า “มูน” เป็นภาษาพื้นถิ่นหมายถึง สิ่งมีค่าน่าหวงแหน มรดกของบรรพบุรุษที่สั่งสมเก็บไว้ให้ลูกหลาน แต่ต่อมาทางราชการได้กำหนดให้สะกดชื่อใหม่โดยใช้ตัวอักษร “ล” กลายเป็น “แม่น้ำมูล”

อย่างไรก็ตาม ชื่อหมู่บ้านแห่งใหม่ที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลก่อตั้งขึ้นบริเวณริมสันเขื่อนปากมูล เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐหันมาแก้ปัญหาทั้งเรื่องน้ำท่วมที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน พื้นที่ทางการเกษตร แหล่งหาปลา ชาวบ้านจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้อพยพหลังสร้างเขื่อน ยังคงสะกดด้วยอักษร “น” คือหมู่บ้าน “แม่มูนมั่นยืน”

เขื่อนปากมูลเป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run-off-river) มีสันเขื่อน ประตูระบายน้ำ และเครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า ห่างจากจุดที่แม่น้ำมูลไหลลงแม่น้ำโขงประมาณ ๕.๕ กิโลเมตร

ความคิดสร้างเขื่อนปากมูลเกิดขึ้นเมื่อช่วงปี ๒๕๐๐ สำนักงานพลังงานแห่งชาติเห็นว่าน้ำจากแม่น้ำมูลไหลลงแม่น้ำโขงปริมาณมากทุกปี จึงคิดพัฒนาแหล่งน้ำโดยการผลิตกระแสไฟฟ้า ครั้งแรกวางแผนสร้างเขื่อนบริเวณแก่งตะนะ ห่างปากแม่น้ำมูลประมาณ ๔ กิโลเมตร แต่หลังจากสำรวจพบว่าจะมีชาวบ้านต้องอพยพออกจากพื้นที่ถูกน้ำท่วมขังจากการสร้างเขื่อนมากถึง ๔,๐๐๐ ครอบครัว ภาครัฐต้องจ่ายเงินค่าชดเชยจำนวนมากไม่คุ้มค่าการลงทุนจึงพับโครงการเก็บไว้

ต่อมาในปี ๒๕๓๒ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำโครงการเขื่อนปากมูลมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ด้วยเห็นว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๖ ระบุว่าภาคอีสานมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง ๘๒๐ เมกะวัตต์ ขณะที่ภาคอีสานมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมเพียง ๑๓๐ เมะวัตต์ ถ้าสร้างเขื่อนปากมูลซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้า ๑๓๖ เมกะวัตต์ก็จะช่วยรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในภาคอีสาน เพื่อลดจำนวนชาวบ้านที่ต้องอพยพย้ายบ้านออกจากพื้นที่น้ำท่วม กฟผ. จึงตัดสินใจขยับพื้นที่สร้างเขื่อนจากแก่งตะนะขึ้นมาอยู่แถวแก่งคันเห่ว ห่างจากปากแม่น้ำมูลประมาณ ๕.๕ กิโลเมตร

ด้วยตัวเลขค่าชดเชยที่น้อยกว่า บวกกับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โครงการเขื่อนปากมูลจึงถูกผลักดันผ่านคณะรัฐมนตรีอย่างรวดเร็วจนชาวบ้านตั้งรับไม่ทัน ไม่นานหลังจากนั้นแก่งคันเห่วก็ถูกระเบิดออกเกือบทั้งหมดเพื่อเปิดช่องทางน้ำ

ถึงแม้ว่าแก่งคันเห่วจะเป็นพื้นที่ที่เคยมีปลาชุกชุมมากที่สุดของแม่น้ำมูลก็ตาม

pakmooldam02
สันเขื่อนปากมูลมีความยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร มีประตูระบายน้ำทั้งหมด ๘ บาน ถูกตั้งข้อสังเกตว่าทำให้แม่น้ำมีลักษณะเป็นคอขวด(ภาพ : จันทร์นภา คืนดี / ปี ๒๕๕๙)

ในสายตาชาวบ้าน พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนปากมูลเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป เนื่องจากไฟฟ้าที่ได้เพียงพอสำหรับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ แค่ไม่กี่ห้าง นอกจากนี้เขื่อนยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง ๑๓๖ เมกกะวัตต์ตามที่คาดการณ์ ผลิตได้เพียงแค่ ๔๐ เมกกะวัตต์เท่านั้น แต่สร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับแม่น้ำมูลทั้งสาย ทั้งจำนวนพันธุ์ปลาลดลง หลายชนิดหายไปเนื่องจากไม่สามารถว่ายขึ้นมาวางไข่บริเวณเหนือน้ำ นอกจากนี้ยังเกิดน้ำท่วมขังป่าบุ่งป่าทามที่เป็นดังแหล่งอาหารสำคัญของคนในพื้นที่

ในปี ค.ศ.๒๐๐๐ ผลงานวิจัยของ World Commision on Dams ระบุว่าเขื่อนแห่งนี้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างกระปิดกระปอย ระบบชลประทานไม่มีตามที่เคยอ้างไว้ บันไดปลาโจนล้มเหลว ผลประโยชน์ด้านประมงไม่เป็นไปตามคาด อาชีพประมงสูญสิ้น ขณะที่มูลค่าการสร้างเขื่อนสูงกว่าที่ตั้งไว้เกือบสองเท่า ที่สำคัญคือเขื่อนแห่งนี้ปิดตายลุ่มน้ำอีสานทั้งลุ่มน้ำ ถึงเวลานี้ชาวบ้านปากมูลเรียกร้องให้มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลถาวรมานานร่วมสามสิบปีแล้ว

เหตุการณ์น้ำท่วมอำเภอวารินชำราบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอีกหลายอำเภอครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากเขื่อนไม่ได้พร่องน้ำเพื่อรองรับอุทกภัยจากพายุ ทั้งที่ทางตอนบนของลุ่มน้ำชี-น้ำมูลเกิดอุทกภัยมาตั้งแต่วันที่ ๓๐ สิงหาคม แต่เขื่อนปากมูลเปิดประตูระบายน้ำวันที่ ๒ กันยายน

ชาวบ้านท้ายเขื่อนที่บ้านเวินบึก ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม ระบุว่าก่อนหน้านี้ได้ยินประกาศว่าทางเขื่อนจะทะยอยเปิดประตูระบายน้ำทีละบาน แต่พบว่าต้องรีบเปิดประตูทั้ง ๘ บาน ทำให้ชุมชนท้ายเขื่อนเก็บข้าวของหนีน้ำไม่ทัน

ขณะที่หมู่บ้านที่ตั้งอยู่เหนือเขื่อนอย่างหมู่บ้านโพธิ์ชัย โพธิ์ตาก วังแคน ท่าช้าง อำเภอพิบูลมังสาหาร ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยถูกน้ำท่วมอย่างหนักประมาณ ๒๐๐ ครัวเรือน หมู่บ้านเหล่านี้นอกจากจะต้องรับน้ำจากอำเภอวารินชำราบ ทางตอนใต้ของหมู่บ้านยังมีสันเขื่อนปากมูลกั้นขวางลำน้ำ ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่าหากเขื่อนแห่งนี้เปิดประตูระบายน้ำก่อนพายุเข้า หมู่บ้านก็คงไม่ถูกนำท่วมหนัก แต่เขื่อนเปิดประตูวันที่ ๒ กันยายน ซึ่งขณะนั้นระดับน้ำในแม่น้ำมูลเข้าขั้นวิกฤตแล้ว

หนึ่งในเหตุผลที่ชาวบ้านใช้ต่อต้านเขื่อนปากมูลตั้งแต่ปี ๒๕๓๒-๒๕๓๓ คือการสร้างเขื่อนปากมูลก่อนแม่น้ำมูลไหลลงน้ำโขง จะทำให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำได้ง่าย เพราะเขื่อนปากมูลจะขวางการไหล และทำให้น้ำระบายลงแม่น้ำโขงไม่ทัน เนื่องจากพื้นที่นับตั้งแต่ชีตกมูลลงไปจนถึงโขงเจียมเป็นพื้นที่รับน้ำของอีสานใต้ทั้งหมด และปากมูลเป็นจุดเดียวที่น้ำในอีสานใต้จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง แต่รัฐบาลในขณะนั้นไม่รับฟัง

ทุกวันนี้ แม้ประตูเขื่อนทุกบานจะถูกเปิดออกเพื่อเร่งระบายน้ำ แต่คันคอนกรีตสันเขื่อนยังเป็นตัวการสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้น้ำในแม่น้ำมูลไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้อย่างสะดวกเหมือนแม่น้ำมูลตามธรรมชาติ

วันที่ ๑๔ กันยายน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าน้ำท่วมครั้งนี้น่าจะต้องใช้เวลาระบายน้ำออกจากพื้นที่ทั้งหมดอย่างน้อย ๑ เดือน ขณะที่ชาวบ้านคนหนึ่งระบุว่า “ผมคิดว่าถ้าไม่มีเขื่อนปากมูลที่โขงเจียม ปัญหาคงจะไม่หนักหนาสาหัสแบบนี้ ธรรมชาติมันเป็นของมันมากี่ชั่วกี่เท่าไหร่ปีมาแล้ว พอไปยุ่งมันก็เกิดเรื่อง ชาวบ้านก็ต่อต้านมากมายมาตลอด แต่น่าจะต้านความบ้าคลั่งของพวกมีอำนาจ และเปอร์เซ็นไม่ได้ และในที่สุดเขื่อนมันก็ทำร้ายมากมายหลายอย่างตลอดมา อนาคตเมื่ออำนาจประชาชนมีพลังขึ้นมา เชื่อว่าการทุบเขื่อนปากมูลทิ้งจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน”