สุเจน กรรพฤทธิ์

ญี่ปุ่น, ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ สิบสี่นาฬิกาสี่สิบหกนาที

ไม่มีใครคาดคิดว่า แผ่นดินไหว ๙ ริกเตอร์ จะตามมาด้วย “สึนามิ” ที่มีพลังทำลายล้างสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น

และไม่มีใครคาดคิดว่าในท้ายที่สุดจะเกิด “วิกฤตการณ์นิวเคลียร์” กับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ หมายเลข ๑ (Fukushima Daiichi) อันตรายถึง “ระดับ ๗” อันหมายถึงอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระดับสูงสุดที่แพร่กระจายสารกัมมันตรังสีสู่ภายนอกในปริมาณมหาศาล จนก่อผลร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์ อันเป็นระดับเดียวกับเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล สาธารณรัฐยูเครน ระเบิดในปี ๒๕๒๙

ฟุกุชิมะไดอิชิ ตั้งอยู่บนแนวชายฝั่งของภูมิภาคโทโฮกุ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ของญี่ปุ่น มันมีชะตากรรมไม่ต่างจากที่อื่น คือถูกคลื่นสึนามิสูงกว่า ๑๐ เมตร ความเร็วกว่า ๘๐๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง ซัดเข้าอย่างจัง กำแพงกันคลื่นสูง ๕ เมตรที่ออกแบบเอาไว้ไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

ผลการทำลายล้าง อาคารครอบกังหันกำเนิดไฟฟ้า อาคารครอบเตาปฏิกรณ์ ทั้งหมดเสียหาย โดยเฉพาะระบบหล่อเย็นทุกระบบเสียหายตามไปด้วย  ระบบหล่อเย็นนี้ติดตั้งให้ปฏิบัติการเมื่อเตาปฏิกรณ์หยุดทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เพื่อให้อุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงค่อยๆ เย็นลงจนอยู่ในระดับที่ปลอดภัย  เมื่อระบบไม่ทำงาน อุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงจะสูงขึ้นสู่ระดับที่แท่งเชื้อเพลิงหลอมละลายซึ่งถือเป็นจุดหายนะ

๒๐.๑๕ น. หลังเหตุการณ์ ๖ ชั่วโมง ท่ามกลางความพยายามกู้ภัยและช่วยผู้รอดชีวิต รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินด้านนิวเคลียร์และเริ่มการอพยพระลอกแรก คนหลายพันต้องเดินทางออกนอกรัศมี ๑๐ กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า  การทำงานแข่งกับเวลาเพื่อกู้ระบบหล่อเย็นเพื่อฉุดชะตากรรมของประเทศให้พ้นปากเหววิกฤตนิวเคลียร์ เริ่มต้นขึ้นอย่างเร่งด่วนที่สุด

ปัจจุบัน (ปลายเมษายน ๒๕๕๔) วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะไดอิชิยังดำรงอยู่ ท่ามกลางคำอธิษฐานจากทั่วโลกที่ขอให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายไปมากกว่านี้

เตาปฏิกรณ์ ๔ ทศวรรษ

“ฟุกุชิมะไดอิชิ” หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หมายเลข ๑ ตั้งอยู่ที่เมืองโอกุมะ เขตฟุตาบะ จังหวัดฟุกุชิมะ ห่างกรุงโตเกียวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ๒๔๐ กิโลเมตร ห่างจากเมืองเซนได จังหวัดมิยางิ ที่อยู่เหนือขึ้นไป ๖๕ กิโลเมตร ดำเนินการโดยบริษัทเทปโก้ หรือโตเกียวอิเล็กทริก พาวเวอร์ จำกัด (Tokyo Electric Power Company-TEPCO) เดินเครื่องผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี ๒๕๑๔

นับถึงปัจจุบันโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีอายุ ๔๐ ปีพอดี

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้านี้เป็นเตาปฏิกรณ์รุ่น GE-Mark I ซึ่งผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากใน
ปี ๒๕๑๔ โดยบริษัท General Electric (GE)

ฟุกุชิมะไดอิชิมีเตาปฏิกรณ์ทั้งหมด ๖ เตา เป็นเตาปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด (Boiling Water Reactor-BWR) เตาปฏิกรณ์หมายเลข ๑ ต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากำลังผลิต ๑,๓๘๐ เมกะวัตต์  หมายเลข ๒-๕ ต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากำลังผลิตเครื่องละ ๒,๓๘๑ เมกะวัตต์  สุดท้ายคือหมายเลข ๖ ต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากำลังผลิต ๓,๒๙๓ เมกะวัตต์

เตาปฏิกรณ์ชนิดนี้ทำงานด้วยปฏิกิริยาแบ่งแยกนิวเคลียส (fission) ของธาตุยูเรเนียม-๒๓๕ ในแท่งเชื้อเพลิง (fuel rod) (ยกเว้นเตาปฏิกรณ์หมายเลข ๓ ใช้แท่งเชื้อเพลิงพลูโทเนียมออกไซด์ผสม–MOX Plutonium) เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ซึ่งถูกควบคุมโดยแท่งควบคุม (control rod) เพื่อสร้างพลังงานความร้อนในระดับที่เหมาะสมให้น้ำภายในเตาปฏิกรณ์เดือดเป็นไอ จากนั้นไอน้ำจะวิ่งไปตามท่อเพื่อหมุนกังหันกำเนิดไฟฟ้า แล้วจึงถูกควบแน่นเป็นน้ำเย็น ไหลวนกลับเข้าสู่เตาปฏิกรณ์อีกครั้ง

ภายในเตาปฏิกรณ์มีแท่งเชื้อเพลิง ๔๐๐-๗๐๐ มัด แต่ละมัดสูงราว ๔.๓ เมตร  กรีนพีซประเมินว่าภายในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิชิมียูเรเนียมและพลูโทเนียมทั้งใช้งานและไม่ใช้งาน รวมกันกว่า ๒,๕๐๐ ตัน มากกว่าเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลขณะเกิดอุบัติเหตุ ๒๐ เท่า

๒๘ กุมภาพันธ์–๑๑ วันก่อนเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ เทปโก้ทำรายงานถึงสำนักงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Nuclear and Industrial Safety Agency) หรือ NISA ยอมรับว่าการซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหลายประการ เช่น ทำรายงานตรวจสภาพปลอม แผงจ่ายไฟเข้าเตาปฏิกรณ์ไม่ถูกตรวจสอบมานานกว่า ๑๑ ปี ฯลฯ โดย NISA สั่งให้เทปโก้จัดการปัญหานี้ให้เสร็จภายในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๔ ทว่า การปฏิบัติตามภารกิจที่ “ควรจะทำ” นานแล้วดังกล่าวก็สายเกินไป

Mission Impossible

ก่อนแผ่นดินไหว เตาปฏิกรณ์หมายเลข ๑-๓ เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตามปรกติ เตาปฏิกรณ์หมายเลข ๔-๖ อยู่ในระหว่างปิดซ่อมบำรุง

เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เตาปฏิกรณ์หมายเลข ๑-๓ หยุดทำงานโดยแท่งควบคุมถูกสอดเข้าไปหยุดปฏิกิริยาลูกโซ่ของแท่งเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นไปโดยอัตโนมัติตามระบบรักษาความปลอดภัย

ตามขั้นตอนทั่วไป ระบบหล่อเย็นสำรองของเตาปฏิกรณ์หมายเลข ๑-๓ ซึ่งใช้พลังงานจากแหล่งไฟฟ้าภายนอก ควรจะปั๊มน้ำเข้าไปไหลเวียนในเตาปฏิกรณ์เพื่อลดอุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงซึ่งยังคงร้อนจัด แต่แผ่นดินไหว ๙ ริกเตอร์ได้ทำลายระบบไฟฟ้าภายนอกลงทั้งหมด  เครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซลจึงเริ่มให้พลังงานแทน  ทว่าอีกไม่กี่นาทีต่อมา สึนามิขนาดยักษ์ก็เข้าจู่โจม เครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าเสียหายพร้อมกับพนักงานโรงไฟฟ้าเสียชีวิต ๒ ราย  แหล่งจ่ายไฟสุดท้าย คือแบตเตอรี่ จึงเข้ามายืดชีวิตให้ระบบหล่อเย็นสำรองทำหน้าที่ต่อ แต่ก็จ่ายไฟให้ได้อีกไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น

ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่พยายามกู้สถานการณ์โดยนำเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าเคลื่อนที่เข้าไปต่อกับระบบหล่อเย็น แต่กลับพบอุปสรรคในหลายจุด พวกเขายังคาดว่ามีการรั่วไหลของน้ำในระบบหล่อเย็นด้วย เนื่องจากปริมาณน้ำในระบบลดลงอย่างรวดเร็ว

เมื่อระบบหล่อเย็นทำงานได้ไม่เต็มที่ แท่งเชื้อเพลิงก็เริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ  น้ำในเตาปฏิกรณ์ระเหยไปจนกระทั่งระดับน้ำลดต่ำจนแท่งเชื้อเพลิงโผล่พ้นน้ำ เกิดการปล่อยสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนภายในเตาปฏิกรณ์  ความร้อนที่สูงนับพันองศาทำให้วัสดุห่อหุ้มแท่งเชื้อเพลิงซึ่งเป็นโลหะอัลลอยของเซอร์โคเนียมทำปฏิกิริยากับไอน้ำและเกิดก๊าซไฮโดรเจนขึ้น เมื่อความดันในเตาปฏิกรณ์พุ่งสูงเกินขีดจำกัด เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจลดความดันด้วยการระบายก๊าซในเตาปฏิกรณ์ออกสู่อาคารครอบเตาปฏิกรณ์  ทำให้ก๊าซไฮโดรเจนเกิดทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจน  ผลคือเกิดการ “ระเบิด” จนสารกัมมันตรังสีบางส่วนแพร่กระจายออกไปนอกอาคาร  แม้ว่าเตาปฏิกรณ์จะไม่ได้รับความเสียหายก็ตาม

นี่คือสภาพที่เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข ๑  ๒ และ ๓ ซึ่งทำให้อาคารครอบเตาปฏิกรณ์เสียหาย หลังคาพังทลาย โดยเฉพาะขณะระเบิดเกิดควันพวยพุ่ง เป็นภาพที่สร้างความหวั่นกลัวแก่ผู้คนว่าฟุกุชิมะจะกลายเป็นเชอร์โนบิลสอง

ปัญหาความร้อนที่คล้ายคลึงกันนี้ยังเกิดขึ้นกับสระเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วซึ่งติดตั้งอยู่ในอาคารครอบเตาปฏิกรณ์ด้วย  โดยทั่วไปแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วจะมีความร้อนสะสมอยู่ จึงต้องเก็บแช่ในสระไว้เป็นเวลาหลายปีเพื่อให้เย็นลงและป้องกันการปล่อยสารกัมมันตรังสีสู่สิ่งแวดล้อม  ภายในสระจะมีการหมุนเวียนน้ำเย็นเข้ามาลดอุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิง เมื่อไฟฟ้าดับ การหมุนเวียนน้ำเย็นหยุด แท่งเชื้อเพลิงจึงทวีความร้อนขึ้น ทำให้น้ำในสระระเหยไปเรื่อย ๆ  ในที่สุดเมื่อแท่งเชื้อเพลิงโผล่พ้นน้ำก็จะปล่อยสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนสู่อากาศ สถานการณ์นี้ค่อนข้างรุนแรงในเตาปฏิกรณ์หมายเลข ๔ เนื่องจากเป็นแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วที่เพิ่งถูกปลดระวางไม่นาน จึงยังมีความร้อนสะสมมากกว่าสระอื่น

มาถึงขั้นนี้ ความผิดพลาดทุกอย่างได้ทำลายทุกแผนงานที่โรงไฟฟ้าเตรียมรับมือไว้ ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือการคาดการณ์อย่างสิ้นเชิง  ภารกิจเร่งด่วนและสำคัญที่สุดของเจ้าหน้าที่ คือการประยุกต์ใช้ทุกวิธีเพื่อลดอุณหภูมิในเตาปฏิกรณ์และสระเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว  ด้วยถ้าปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินต่อไป สิ่งที่ตามมาซึ่งไม่อาจพยากรณ์ถึงผลกระทบได้ คือการหลอมละลายของแกนปฏิกรณ์ (Meltdown) และการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในวงกว้าง

น้ำทะเลอันเป็นน้ำจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่ใกล้โรงไฟฟ้า กลายเป็นทางออกที่วิศวกรญี่ปุ่นเลือกนำมาใช้ระดมฉีดเข้าไปในอาคารครอบเตาปฏิกรณ์ โดยการผสมสารโบรอนซึ่งมีคุณสมบัติดูดกลืนนิวตรอนและลดปฏิกิริยานิวเคลียร์ลงไปด้วย  แต่การฉีดน้ำทะเลมิใช่เรื่องง่าย เริ่มต้นจากการใช้รถดับเพลิง ต่อมาเฮลิคอปเตอร์ และสุดท้ายใช้รถดับเพลิงควบคุมระยะไกล เพราะความเสี่ยงของปฏิบัติการนี้ คือกัมมันตภาพรังสีอันเป็นอันตรายถึงชีวิตผู้ปฏิบัติงาน

วิธีนี้ถูกหลายประเทศวิจารณ์ว่าแสดงถึงความ “จนตรอก” ในการแก้ไขสถานการณ์ เนื่องจากน้ำทะเลมีธาตุต่าง ๆ เจือปนสูง เมื่อปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี การบำบัดย่อมยุ่งยากกว่าน้ำจืด และในสถานการณ์เช่นนี้ การบำบัดอาจเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง

สถานการณ์เริ่มกระเตื้องขึ้น เมื่อระบบหล่อเย็นค่อยๆ ได้รับการกู้คืนกลับมาตั้งแต่วันที่ ๑๙ มีนาคม การฉีดน้ำเข้าไปลดอุณหภูมิ จึงเปลี่ยนจากการใช้น้ำทะเลมาเป็นน้ำจืดแทน  ส่วนการสะสมของก๊าซไฮโดรเจนในเตาปฏิกรณ์ที่อาจระเบิดขึ้นได้อีก เจ้าหน้าที่แก้ไขโดยการอัดก๊าซไนโตรเจนซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อยเข้าไปภายในอาคาร เพื่อลดโอกาสที่ก๊าซไฮโดรเจนจะทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจน

ล่าสุดเทปโก้ได้ส่งหุ่นยนต์เข้าไปสำรวจสภาพภายในอาคาร และใช้คอมพิวเตอร์ประเมินสถานะโรงไฟฟ้า พบว่าแกนปฏิกรณ์ในเตาปฏิกรณ์หมายเลข ๑ น่าจะหลอมละลายแล้วราวร้อยละ ๗๐  แกนปฏิกรณ์ในเตาปฏิกรณ์หมายเลข ๒ หลอมละลายราวร้อยละ ๓๐-๓๓  ส่วนในเตาปฏิกรณ์หมายเลข ๓ หลอมละลายราวร้อยละ ๒๕ ขณะที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข ๔-๖ ไม่พบความเสียหาย

ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงว่าเมื่อแก้ไขสถานการณ์ลุล่วงแล้ว การปลดระวางโรงไฟฟ้าต้องเกิดขึ้น ด้วยฟุกุชิมะไดอิชิไม่อยู่ในสภาพใช้งานได้อีกต่อไป

วิศวกรญี่ปุ่นจำนวนมากมองว่าเพื่อป้องกันสารกัมมันต-รังสีฟุ้งกระจาย สุดท้ายอาจต้อง “กลบฝัง” เตาปฏิกรณ์ด้วยทรายและคอนกรีต ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ใช้กับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนั่นเอง

วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะไดอิชิ ภัยไร้พรมแดนและบทเรียนคนทั้งโลก

“ภัยที่มองไม่เห็น”

ท่ามกลางกระแสธารความช่วยเหลือจากนานาชาติที่ไหลบ่าเข้าสู่ญี่ปุ่นหลังแผ่นดินไหวและสึนามิ เจ้าหน้าที่ที่ทำงานกู้สถานการณ์ ประชาชนรอบโรงไฟฟ้า คนญี่ปุ่นทั้งประเทศ รวมถึงคนทั่วโลก ก็ต้องเผชิญกับสิ่งที่ทุกคนหวาดหวั่น นั่นคือการแพร่กระจายของ “สารกัมมันตรังสี” จากอุบัติภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ

กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริการะบุว่าสารกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์คือ ไอโอดีน-๑๓๑ ซีเซียม-๑๓๗ สตรอนเชียม-๙๐ และพลูโทเนียม-๒๓๙  สารกัมมันตรังสีเหล่านี้ล้วนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ทั้งยังอาจแพร่กระจายจากจุดเกิดเหตุแบบ “ข้ามทวีป” โดยอาศัยตัวกลางสำคัญคือ กระแสลม น้ำ และดิน

นายแพทย์สามารถ ราชดารา แห่งสมาคมเวชศาสตร์นิวเคลียร์แห่งประเทศไทย ระบุว่าสารกัมมันตรังสีจะอันตรายแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิด คุณสมบัติ ปริมาณที่รั่วไหล และค่า “ครึ่งชีวิต” (Half Life-ระยะเวลาที่สารกัมมันตรังสีสลายตัวลงเหลือครึ่งหนึ่ง) ของสารกัมมันตรังสีชนิดนั้น

“บางชนิดมีครึ่งชีวิตสั้นเพียง ๓ นาที รั่วไหลออกมาก็สลายตัวไป ไม่ก่ออันตราย บางชนิดเป็นอนุภาคเล็ก ๆ ลอยไปกับลมได้ เช่น ไอโอดีน-๑๓๑  ถ้าฝนตกก็จะละลายลงสู่พื้นดินและน้ำ จึงไปได้ไกล แม้จะมีครึ่งชีวิตเพียง ๘ วันก็ตาม”

นายแพทย์อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า

“สารกัมมันตรังสีจะทำให้เสียชีวิตได้ก็ต่อเมื่อร่างกายรับเข้าไปในปริมาณมาก โดยจะทำให้เซลล์หยุดเติบโตเกิดแผลตามร่างกาย เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวลดลงจนทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตในเวลาต่อมา  ถ้ารับสารกัมมันตรังสีในปริมาณน้อยจะไม่เกิดอันตรายที่เห็นผลในทันที แต่ระยะยาวอาจเกิดมะเร็ง”

บทเรียนสำคัญจากเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อปี ๒๕๒๙ ทำให้พื้นที่รัศมี ๓๐ กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า (ประมาณ ๒,๘๒๗ ตร.กม.) หรือเทียบเท่ากับขนาดพื้นที่จังหวัดอยุธยา (๒,๕๕๖ ตร.กม. ใหญ่กว่ากรุงเทพฯ เกือบ ๒ เท่า) กลายเป็นเขตปลอดมนุษย์ (zone of alienation) และทำให้ ดิน แม่น้ำ สิ่งแวดล้อมทั่วทวีปยุโรปกินพื้นที่กว่า ๓.๙ ล้านตารางกิโลเมตรปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับต่าง ๆ กัน

องค์การอนามัยโลก (WHO) สรุปผลจากอุบัติภัยที่เชอร์-โนบิลว่ามีผู้เสียชีวิตโดยตรง ๔๗ ราย ผู้ได้รับผลกระทบระยะยาว ๖.๖ ล้านคน ในจำนวนนี้ ๔,๐๐๐ คนเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ และคาดว่ามีประชาชนหลายหมื่นคนขึ้นไปถึงแสนคนป่วยด้วยโรคมะเร็งอันเป็นผลจากการได้รับรังสี  ทั้งนี้ยังไม่นับผลกระทบทางจิตใจที่มิอาจประเมินเป็นตัวเลขได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากประเมินว่าสถานการณ์ที่ฟุกุชิมะไม่เลวร้ายเท่ากับที่เชอร์โนบิล  สถาบันป้องกันอันตรายจากรังสีและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (IRSN) ระบุว่าหลังเหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะไดอิชิ ๒ สัปดาห์  เตาปฏิกรณ์ ๖ เตาปล่อยสารกัมมันตรังสีปริมาณ ๑ ใน ๑๐ ของปริมาณสารกัมมันตรังสี ๖.๗ ตันที่ถูกปล่อยในอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล

นานาชาติต่างเฝ้าจับตามองการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิชิด้วยความหวาดหวั่น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่อีกฟากของมหาสมุทรแปซิฟิกที่มีโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด กระทั่งเกิดความตระหนกของชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ฝั่งตะวันตกของประเทศ พากันหาซื้อยาเม็ดไอโอดีนมากินป้องกันรังสี จนยาหมดเกลี้ยงร้านขายยา

นายแพทย์อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ อธิบายว่าการกินไอโอดีนเม็ดนั้น จำเป็นกับผู้อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุเท่านั้น เพราะมีโอกาสบริโภคน้ำ อาหาร ที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีไอโอดีน-๑๓๑ ปริมาณมาก  เนื่องจากต่อมไทรอยด์มีเซลล์ที่ไวต่อการรับไอโอดีน การกินไอโอดีนเม็ดไว้ก่อนจะทำให้ต่อมไทรอยด์อิ่มตัวด้วยไอโอดีนซึ่งไม่ใช่สารกัมมันตรังสี และไม่รับไอโอดีน-๑๓๑ เข้าไปอีก

“สำหรับคนนอกพื้นที่ หากกินไอโอดีนมาก ต่อมไทรอยด์อาจรับไอโอดีนเกินขนาดจนเกิดภาวะเป็นพิษ ทำให้อ่อนเพลีย ระยะยาวอาจทำให้ร่างกายซูบผอม”

ดิน น้ำ ลม ห่วงโซ่อาหาร การปนเปื้อน “ไร้พรมแดน”

“กระแสลม” คือช่องทางแรกที่กระจายสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนไปในอากาศอย่างไร้พรมแดน

โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะไดอิชิเริ่มปล่อยสารกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายสู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อเกิดระเบิดในอาคารครอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข ๑ ในวันที่ ๑๒ มีนาคม  ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระบุว่าตั้งแต่ ๖.๓๐ น. ของวันที่ ๑๒ มีนาคม ถึง ๖.๓๐ น. ของวันที่ ๑๓ มีนาคม สารกัมมันตรังสีถูกกระแสลมพัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือสู่มหาสมุทรแปซิฟิก และไปไกลถึงทวีปอเมริกาเหนือในวันที่ ๑๘ มีนาคม

วันที่ ๒๗ มีนาคม หน่วยตรวจสอบสิ่งแวดล้อมชุมชนของสหรัฐอเมริกายืนยันการพบไอโอดีน-๑๓๑ และซีนอน
-๑๓๓ ที่เมืองลาสเวกัส แต่มีปริมาณน้อยและไม่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน  นอกจากนี้รัฐวอชิงตัน โคโลราโด ฮาวาย และแคลิฟอร์เนีย ก็ตรวจพบสารกัมมันตรังสีระดับต่ำ  ส่วนเอเชียพบสารกัมมันตรังสีระดับต่ำในจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

“น้ำ” คือช่องทางที่สองของการปนเปื้อน ซึ่งมีทั้งน้ำที่ปนเปื้อนรังสีจากโรงไฟฟ้าโดยตรง และจากการปนเปื้อนทางอากาศ

ญี่ปุ่นพบการปนเปื้อนครั้งแรกในน้ำประปาเขตคันโต (ภาคกลาง) เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม โดยน้ำประปของกรุงโตเกียวพบการปนเปื้อนไอโอดีน-๑๓๑ จำนวน ๒๑๐ เบคเคอเรล/ลิตร สูงกว่าค่าปลอดภัยสำหรับเด็กทารกที่ ๑๐๐ เบคเคอเรล/ลิตร (สำหรับผู้ใหญ่ ๓๐๐ เบคเคอเรล/ลิตร) ทำให้ทางการประกาศเตือนประชาชนไม่ให้ใช้น้ำประปาชงนมให้ทารกดื่ม ภายหลังการปนเปื้อนลดลงมาอยู่ในระดับปลอดภัย

น้ำทะเลปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีระดับสูง ตรวจพบในอ่าวบริเวณใกล้ที่ดูดน้ำทะเลขึ้นมาฉีดใส่เตาปฏิกรณ์หมายเลข ๒ โดยบางช่วงเวลาปนเปื้อนไอโอดีน-๑๓๑ สูงสุดถึง ๗.๕ ล้านเท่าจากค่ามาตรฐาน และซีเซียม-๑๓๗ สูง ๑.๓ ล้านเท่าจากค่ามาตรฐาน  แต่เรื่องน่ากังวลที่สุดคือ น้ำทะเลซึ่งขังอยู่เต็มใต้ฐานอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข ๒ ยิ่งพบการปนเปื้อนสูงกว่าทะเลภายนอกนั้นเกือบ ๒๐ เท่า และกำลังไหลซึมสู่ทะเลภายนอกตามรอยแตกร้าวของอาคารเนื่องจากแผ่นดินไหว

วันที่ ๔ เมษายน ทะเลแปซิฟิกปนเปื้อนรังสีเพิ่มขึ้นอีก เมื่อเทปโก้ตัดสินใจสูบน้ำปนเปื้อนรังสีระดับต่ำจากบริเวณที่ไม่มีการรั่วไหล จำนวนกว่า ๑ หมื่นตันทิ้งลงทะเล แล้วสูบน้ำปนเปื้อนรังสีระดับสูงจากอาคารกังหันของเตาปฏิกรณ์หมายเลข ๒  มาเก็บในบริเวณที่ไม่มีการรั่วไหลนี้แทน

รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่า “หลีกเลี่ยงไม่ได้” และให้เหตุผลว่าเพื่อให้มีการปนเปื้อนสู่ทะเลน้อยที่สุด

ช่องทางสุดท้าย คือการปนเปื้อนในดิน

วันที่ ๒๗ มีนาคม พลูโทเนียม-๒๓๘ ๒๓๙ และ ๒๔๐ ตรวจพบครั้งแรกในดินที่เก็บจากรอบโรงไฟฟ้า สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข ๓ ซึ่งใช้พลูโทเนียมเป็นส่วนผสมในแท่งเชื้อเพลิง  เทปโก้พยายามแก้ปัญหาด้วยการฉีดเรซินเพื่อจับฝุ่นสารกัมมันตรังสีบนผิวดินไม่ให้ฟุ้งกระจายออกไป

การปนเปื้อนทั้ง ๓ ช่องทางนำมาสู่ปัญหาน่าวิตก คือการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีสู่ห่วงโซ่อาหาร ไม่ว่าจะเป็นพืชเพาะปลูก หรือสัตว์เลี้ยง

เนื้อวัว นมวัว และผัก ๑๑ ชนิดในเขต ๓ จังหวัดรอบจังหวัดฟุกุชิมะ ตรวจพบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี เช่น กะหล่ำปลีในสวนที่อยู่ห่างโรงไฟฟ้าไปทางเหนือ ๔๐ กิโลเมตร ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีสูงถึง ๘๒,๐๐๐ เบคเคอเรล/กิโลกรัม (ค่ามาตรฐานคือ ๕๐๐ เบคเคอเรล/กิโลกรัม) ทำให้รัฐบาลต้องอายัด ห้ามขนย้าย และสุ่มตรวจสอบอาหารในพื้นที่ ๙ จังหวัดโดยรอบอย่างจริงจัง  นอกจากนี้ยังประกาศห้ามเพาะปลูกในพื้นที่ที่ดินปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีด้วย  ส่วนสิงคโปร์เผยว่ากะหล่ำปลีที่นำเข้าจากจังหวัดคานางาวะและกรุงโตเกียว ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเกิน ๙ เท่าจากค่ามาตรฐาน

ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไกลออกไปจากประเทศญี่ปุ่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา
(FDA) รายงานการปนเปื้อนไอโอดีน-๑๓๑ ระดับต่ำในนมที่ผลิตจากรัฐวอชิงตัน แสดงถึงผลของกระแสลมที่พัดสารกัมมันตรังสีลอยไปไกลเป็นระยะทางถึงกว่า ๗,๐๐๐ กิโลเมตร

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซึ่งมีผลถึงห่วงโซ่อาหารนี้น่าเป็นห่วงที่สุด

“ในกรณีฟุกุชิมะไดอิชิปล่อยน้ำปนเปื้อนนับหมื่นตันไหลลงทะเล พื้นที่ซึ่งเป็นจุดปล่อยย่อมสกปรกที่สุด  ลองนึกถึงปากน้ำเจ้าพระยาที่ลงอ่าวไทย น้ำสกปรกมาก แต่พอไปกลางอ่าวไทย น้ำทะเลกลับสะอาดไม่มีมลพิษ กรณีนี้ก็เช่นกัน พื้นที่ ๑๐ ตารางกิโลเมตรในอ่าวใกล้กับโรงไฟฟ้าจะปนเปื้อนในระดับสูงมาก

“สิ่งที่น่ากลัวคือสารกัมมันตรังสีจะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร สมมุติแพลงก์ตอน ๑ ตัวรับสารกัมมันตรังสี ๑ หน่วย ถ้าปลากินพวกมันสักล้านตัว ปลาก็จะรับเข้าไป ๑ ล้านหน่วย ปลาใหญ่มากินพวกนี้ต่ออีก ๑๐ ตัว ก็ได้ไป ๑๐ ล้านหน่วย จากนั้นมนุษย์ก็มากินต่อ ลองคิดดูว่าจะได้รับสารกัมมันตรังสีตกค้างกี่เท่า สารกัมมันตรังสีจะสะสมอยู่ในร่างกายของเราและก่อผลกระทบต่อสุขภาพ นี่คือการรับแบบทวีคูณผ่านผลิตภัณฑ์อาหารที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างหากไม่มีการควบคุมที่ดี  เช่นเดียวกับการปนเปื้อนในดินที่ตกค้างอยู่ในพืชผักที่เรากิน”

ผลจากการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้า ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศใช้มาตรการดูแลพื้นที่ “บังคับอพยพ” ในรัศมี ๒๐ กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าเข้มงวดยิ่งขึ้น โดยกำหนดให้รัศมี ๓ กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าเป็น “เขตห้ามเข้าเด็ดขาด” รัศมี ๒๐ กิโลเมตร เป็นเขตที่ต้องได้รับอนุญาต ผู้เข้าเขตนี้ต้องสวมชุดป้องกันรังสี เดินทางด้วยพาหนะที่จัดไว้เฉพาะ และอยู่ในพื้นที่ได้เพียง ๒ ชั่วโมง  เมื่อออกจากพื้นที่ต้องเข้ารับการตรวจสอบและขจัดการปนเปื้อนรังสี  ในอนาคตมีแผนขยายเขตพื้นที่ต้องห้ามกว้างออกไปอีกเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เนื่องจากยังมิอาจคาดเดาการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในจุดต่าง ๆ

ความเสี่ยงของไทย

ปัจจุบันหลายประเทศยังคงเฝ้าระวังกระแสอากาศและอาหารปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด  สำหรับประเทศไทย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ระบุว่าโอกาสที่กระแสลมจะพัดสารกัมมันตรังสีมาถึงเมืองไทยนั้น “ขึ้นกับปัจจัยหลายตัว เช่น ความแรงของการระเบิดที่จะส่งสารกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายไป  ในกรณีที่ฟุกุชิมะ ถ้าสารกัมมันตรังสีฟุ้งสูงไม่เกิน ๓ กิโลเมตร กระแสลมตะวันออก (ลมสินค้า) จะพาสารกัมมันตรังสีมาถึงบ้านเราโดยเข้ามาทางเวียดนามและภาคอีสาน  แต่ถ้าฟุ้งกระจายสู่บรรยากาศสูงเกิน ๓ กิโลเมตร กระแสลมอีกประเภทหนึ่งจะพัดขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก แล้วลอยไปถึงสหรัฐอเมริกา”

ปัจจุบันจุดที่ตรวจพบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในอากาศใกล้ไทยที่สุด คือเวียดนาม แต่ยังมีระดับต่ำมาก

อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนผ่านผลิตภัณฑ์อาหารกลับมาถึงเร็วกว่าการปนเปื้อนทางอากาศ

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ซึ่งสุ่มทดสอบอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นตั้งแต่ ๑๕ มีนาคมเป็นต้นมา พบการปนเปื้อนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ในผักอูโดะ ๑ กิโลกรัมที่นักท่องเที่ยวไทยซื้อมา โดยพบไอโอดีน-๑๓๑ ซีเซียม-๑๓๔ อย่างละ ๓.๕๐ เบคเคอเรล/กิโลกรัม และซีเซียม-๑๓๗ อีก ๕.๑๒ เบคเคอเรล/กิโลกรัม ซึ่งถึงแม้จะไม่เกินมาตรฐานการบริโภค ผักเหล่านี้ก็ถูกอายัดและทำลายทิ้งทั้งหมด  ภายหลังยังพบผักอีกหลายชนิดจากญี่ปุ่นปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในระดับใกล้เคียงกัน

กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแก้ไขร่างกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่องมาตรฐานอาหารที่มีสารกัมมันตรังสี จากเดิมที่ระบุให้ตรวจซีเซียม-๑๓๗ ประเภทเดียว เป็นการตรวจไอโอดีน-๑๓๑ และซีเซียม-๑๓๔ เพิ่มอีก ๒ ประเภท  นอกจากนี้ยังจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจวัตถุดิบประกอบอาหารญี่ปุ่นในห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารญี่ปุ่นด้วย

ส่วน อย. ออกมาตรการตรวจสอบผักผลไม้ที่มีต้นกำเนิดหรือขนส่งผ่าน ๑๒ จังหวัดที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน ได้แก่ ฟุกุชิมะ, กุนมะ, อิบารากิ, โทชิงิ, มิยางิ, ยามางาตะ, นีงาตะ, นางาโนะ, ยามานาชิ, ไซตามะ, โตเกียว และชิบะ โดยผู้นำเข้าต้องแสดงผลวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี เช่นเดียวกับข้อตกลงที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำกับสหภาพยุโรป (EU)

ของฝากจากฟุกุชิมะ

๒๑ เมษายน ๒๕๕๔ สึเนชิสะ คัทซุมาตะ ประธานบริษัทเทปโก้แถลงถึงแผนการดำเนินการหลังจากนี้ว่า “เราตั้ง
กรอบยุติวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะไดอิชิให้ได้ในสิ้นปี ๒๕๕๔” และชี้ว่าอุปสรรคซึ่งต้องเผชิญคือ “หาทางหยุดการรั่วไหลของน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ไหลลงสู่ทะเล”

ขณะที่ บันริ ไคอิดะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ระบุว่าอาจต้องใช้เวลานานกว่าที่ประกาศ “ตราบใดที่ยังไม่ได้ถอดแท่งเชื้อเพลิงออกจากเตาปฏิกรณ์ ก็ไม่อาจถือว่าควบคุมความปลอดภัยไว้ได้อย่างแท้จริง”

จนถึงขณะนี้ เหตุการณ์ที่ฟุกุชิมะไดอิชิก่อผลติดตามมาหลายประการ

ชาวญี่ปุ่นมากกว่า ๒ แสนคนต้องอพยพออกจากถิ่นที่อยู่ ส่วนหนึ่งล้มป่วยจากการได้รับรังสี และส่วนใหญ่มีชีวิตด้วยความหวาดระแวงต่อปัญหาสุขภาพ  ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนระยะยาวติดตามสุขภาพของประชาชนในเขตปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี  และการฟื้นฟูความเสียหายทั้งหมด รัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณมหาศาลถึง ๔ ล้านล้านเยน แต่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีกถึง ๑๐ ล้านล้านเยน (รวม ๑๔ ล้านล้านเยน หรือเท่ากับประมาณ ๕ ล้านล้านบาท)

แผนการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มขึ้น (ปัจจุบันมี ๕๔ เตา) อีก ๑๔ เตาภายในปี ๒๕๗๓ ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลเมื่อเดือนมิถุนายนปี ๒๕๕๓ ถูกนำกลับมาทบทวน  นักวิชาการญี่ปุ่นหลายท่านระบุว่าวิกฤตการณ์ที่ฟุกุชิมะเป็นสิ่ง “เหนือความคาดหมาย” ด้วยระบบรักษาความปลอดภัยที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกแผ่นดินไหวและสึนามิทำลายลงหมด

เรื่องนี้นับเป็นโจทย์หินสำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งไม่มีแหล่งพลังงานฟอสซิลและความต้องการบริโภคพลังงานมีจำนวนมหาศาล  ปัจจุบันญี่ปุ่นอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ ๒๙

นอกญี่ปุ่น เกิดกระแสต่อต้านและประท้วงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างกว้างขวาง สร้างความหวั่นไหวให้แก่รัฐบาลหลายประเทศที่กำลังมีโครงการก่อสร้าง

ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากที่สุดในโลก และมีชาวอเมริกันกว่า ๓ ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เริ่มตั้งคำถามถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยหากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องเผชิญภัยธรรมชาติเช่นเดียวกับญี่ปุ่น

ในเบลเยียม กลุ่มผู้ประท้วงกดดันรัฐบาลให้สั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ๒ แห่ง  ในเยอรมนี รัฐบาลสั่งปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ๗ แห่งจากทั้งหมด ๑๗ แห่งทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบระบบรักษาความปลอดภัย และสั่งระงับแผนขยายอายุการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย

ขณะที่จีน เวียดนาม ยังคงยืนยันเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไปอ้างเหตุความจำเป็นด้านพลังงาน  สวนทางกับนักวิชาการที่ชี้ว่าแทนที่จะลงทุนสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์และเสี่ยงดวงกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น สู้นำงบประมาณมาพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจะดีกว่า

แน่นอน กระแสคำถามถึงอนาคตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าล่าสุดคือ ฉบับปี ๒๕๕๓-๒๕๗๓ (PDP 2010) มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังผลิต ๑,๐๐๐ เมกะวัตต์ ๕ แห่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงบนเวทีสาธารณะในระยะหลังบ่อยครั้ง

คนไทยจำนวนมากเริ่มตื่นตัวและหาความรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างรอบด้าน นอกเหนือจากข้อมูลเฉพาะด้านดีที่หน่วยงานของรัฐพยายามประชาสัมพันธ์เท่านั้น

ฟุกุชิมะไดอิชิ จึงมิใช่บทเรียนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สำหรับชาวญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว หากยังเป็นกรณีศึกษาให้แก่ประเทศที่ยังต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ และประเทศที่คิดจะพึ่งพาพลังงานชนิดนี้ในอนาคต

บทเรียนที่ถูกขีดเส้นใต้ไว้ชัดเจนนั้นคือ ไม่ว่าจะวางมาตรการรักษาความปลอดภัย เตรียมแผนรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน รวมถึงประเมินพลังภัยพิบัติจากธรรมชาติไว้เหมาะสมเพียงใด

ทุกอย่างอาจ “ผิดพลาด” และ “ผิดคาด” ได้เสมอ

และเมื่อเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ราคาที่ต้องจ่าย…มหาศาลยิ่งนัก