ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เกิดแผ่นดินไหวทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศตุรกี ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้เมืองกาซีอันเตป พรมแดนประเทศซีเรีย ลึกลงไปใต้ดินประมาณ ๑๘ กิโลเมตร 

ศูนย์สำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) ระบุว่าแผ่นดินไหวลูกที่มีความรุนแรงมากที่สุดมีขนาด ๗.๘ รองลงมามีขนาด ๗.๕ เกิดอาฟเตอร์ช็อกหลายครั้ง ส่งผลให้อาคารหลายพันแห่งพังทลาย มีประชาชนติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังและเสียชีวิตท่ามกลางสภาพอากาศหนาวจัดและมีหิมะตก

ณ วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๖ มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า ๔๐,๐๐๐ คน

เป็นหายนะจากแผ่นดินไหวร้ายแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งของตุรกี

โลกไม่เคยหยุดนิ่ง…

ไม่ใช่ในความหมายว่าดาวเคราะห์ดวงนี้กำลังหมุนรอบตัวเอง แต่หมายความว่าทุกองคาพยพของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ชนิดที่มนุษย์ที่กำลังเหยียบย่างอยู่บนชั้นเปลือกโลกที่แตกร้าวไม่ทันรู้สึกตัว

ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑ หมื่น ๒ พันกิโลเมตร เส้นรอบวง ๔ หมื่นกิโลเมตร เมื่อเทียบกับร่างกายมนุษย์ โลกจึงมีขนาดมหึมา

แต่สิ่งต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อมนุษย์ส่วนใหญ่กลับเกิดขึ้นบนชั้นบางๆ ที่เทียบได้กับระดับ “ผิวหนัง” ของโลกทั้งใบ

หากมีใครแบ่งโลกออกเป็นสองซีกคล้ายผ่าแตงโม แล้วพิจารณาโครงสร้างของโลก จะพบว่าโลกมีโครงสร้างเป็นชั้นๆ ชั้นลึกสุดคือแก่นโลกมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖,๘๐๐ กิโลเมตร มีอุณหภูมิสูงถึง ๕,๐๐๐ องศาเซลเซียส

ชั้นถัดมาคือหินหลอมละลายมีความหนาประมาณ ๓,๐๐๐ กิโลเมตร มีสถานะเป็นของแข็งคล้ายดินน้ำมันหรือโคลนหนืด มีคุณสมบัติในการไหลคล้ายของเหลว แต่ด้วยความเร็วระดับหลายเซนติเมตรต่อปี ทั้งสองส่วนนี้มีปริมาตรรวมกันถึงร้อยละ ๘๒ ของปริมาตรโลก

เหนือชั้นหินหลอมละลายคือเปลือกโลกซึ่งเปรียบเสมือนผิวหนังของโลก เพราะห่อหุ้มโลกทั้งใบ และหนาประมาณ ๓๐ กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๐.๓ ของระยะทางจากผิวโลกถึงจุดศูนย์กลาง ชั้นเปลือกโลกเป็นที่อาศัยของมนุษย์

เปลือกโลกไม่ได้เชื่อมต่อกันเป็นแผ่นเดียว แต่แตกออกเป็นหลายแผ่นคล้ายแผ่นภาพต่อหรือจิ๊กซอว์ จำนวนไม่น้อยกว่า ๑๘ แผ่น ความร้อนจากแก่นโลกถูกถ่ายทอดสู่ชั้นหินหลอมละลายทำให้หินหลอมละลายเคลื่อนตัวและผลักดันเปลือกโลกอยู่ตลอดเวลา

ขุนเขาสูงเสียดฟ้าที่สัมผัสและแลเห็นจึงอาจเป็นภาพลวงตา หากพิจารณาว่าตั้งอยู่บนชั้นเปลือกโลกที่แตกร้าวและกำลังเคลื่อนที่ตามแรงดันบนชั้นหินหลอมละลาย

การปะทะ-เสียดสี-มุดตัวเข้าหากันระหว่างขอบของแผ่นเปลือกโลกเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดแผ่นดินไหว หากประเทศใดตั้งอยู่บริเวณแนวรอยต่อของขอบแผ่นเปลือกโลกจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวสูง ยกตัวอย่างญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ชิลี ฯลฯ รวมถึงตุรกี

พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศตุรกีตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกอนาโตเลีย (Anatolian plate) บางส่วนตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian plate) และแผ่นเปลือกโลกอาระเบีย (Arabian plate) แล้วยังมีแผ่นเปลือกโลกแอฟริกา (African plate) ขนาบอยู่ข้างๆ

สาเหตุของแผ่นดินไหวทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ครั้งนี้เกิดจากการเสียดสีกันของแผ่นเปลือกโลกอนาโตเลียน กับแผ่นเปลือกโลกอาระเบีย ทำให้ “รอยเลื่อนมีพลัง” (Active Fault) ที่ชื่อว่ารอยเลื่อนอนาโตเลียตะวันออก (East Anatolian Fault) ขยับตัว ปลดปล่อยพลังงานมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นความร้อน เสียง รวมถึงคลื่นแผ่นดินไหวพลังงานส่วนใหญ่ที่แผ่กระจายออกไปทุกทิศทาง

ก่อนปี ๒๕๖๒ กรมทรัพยากรธรณีระบุว่าประเทศไทยมี “รอยเลื่อนมีพลัง” ทั้งสิ้น ๑๓ รอยเลื่อน แต่ล่าสุดปรับให้มี ๑๖ กลุ่มรอยเลื่อน…ที่หายไปไม่ปรากฎชื่อแล้ว คือ รอยเลื่อนท่าแขกในภาคอีสาน และรอยเลื่อนแม่ยม มีรอยเลื่อนระบุใหม่ ได้แก่ รอยเลื่อนแม่ลาว รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ รอยเลื่อนเวียงแหง ขณะที่รอยเลื่อนแม่จันและรอยเลื่อนแม่อิงที่เคยรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน แยกออกเป็นสองรอยเลื่อน มีรอบเลื่อนเวียงแหงคั่นอยู่ตรงกลาง (ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี)

ในทางธรณีวิทยาแล้วรอยเลื่อนมีพลังหมายถึงรอยเลื่อนบนเปลือกโลกที่ยังมีการขยับตัว หรือยังมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนสืบย้อนไปในช่วง ๑๐,๐๐๐ ปี มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวอีกในอนาคต

สำหรับประเทศไทย แม้จะไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวรอยต่อของขอบแผ่นเปลือกโลก แต่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน

จากข้อมูลทางธรณีวิทยา แผ่นดินไทยตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียตอนล่างที่มีแนวรอยต่อของขอบแผ่นเปลือกโลกที่ใกล้ที่สุดตั้งอยู่ห่างออกไปทางชายแดนไทยด้านตะวันตก ๔๐๐-๖๐๐ กิโลเมตร เป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย (Eurasian Plate) แผ่นอินเดีย (Indian plates) และแผ่นออสเตรเลีย (Australian plate) พาดผ่านทางตะวันตกของประเทศพม่าเข้าไปใต้ทะเลอันดามัน ผ่านหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ของอินเดีย และเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของขอบแผ่นเปลือกโลกบางกรณีทำให้เกิดร่องลึกใต้มหาสมุทร และทำให้เกิดรอยร้าวหรือรอยแตกของชั้นหินในเปลือกโลก รอยแตกนี้พาดผ่านไปตามภูมิภาคต่างๆ แตกแขนงออกไปยังภูมิภาคที่อยู่ห่างจากขอบแผ่นเปลือกโลกราวกับรากไม้

ด้วยเหตุนี้ หากเกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยต่อของขอบแผ่นเปลือกโลก ประเทศไทยมีโอกาสได้รับแรงสั่นสะเทือนจาก หนึ่ง แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางนอกประเทศ

และ สอง แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางในประเทศ ตามแนวรอยเลื่อนมีพลังที่พาดผ่านประเทศไทย

จากการศึกษาวิจัย พบว่ามีรอยเลื่อนมีพลังกระจายตัวอยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของไทย เป็นสาเหตุทำให้เกิดการ “เคลื่อน” และ “ไหว”

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย…เป็นผลมาจากรอยเลื่อนเหล่านี้

แผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวของประเทศไทย เปรียบเทียบปี ๒๕๔๘ กับ ๒๕๕๙ ในภาพรวมแล้วความรุนแรงของแผ่นดินไหวจะเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดทางทิศตะวันออก คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไล่ไปจนถึงระดับสูงสุดทางทิศตะวันตก คือ ภาคตะวันตก และภาคเหนือ (ภาพ : กรมทรัพยากรธรณี)


รอยเลื่อนแม่จัน

วางตัวในแนวทิศเกือบตะวันตก-ตะวันออก พาดผ่าน จ. เชียงรายและเชียงใหม่ มีบ่อนํ้าพุร้อนตามแนวรอยเลื่อน เชื่อมต่อกับแนวรอยเลื่อนนํ้ามาในลาว มีความยาวประมาณ ๑๕0 กิโลเมตร (เฉพาะในประเทศไทย) เชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่ทำให้โยนกนครยุบตัวลงกลายเป็นหนองนํ้า รอยเลื่อนแม่จันส่วนที่อยู่ในประเทศลาวเคยเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวขนาด ๖.๓ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕0 ทำให้เสาและผนังอาคารหลายหลังในจังหวัดเชียงรายได้รับความเสียหาย และรับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในอาคารสูงของกรุงเทพมหานคร


รอยเลื่อนแม่ลาว

เป็นรอยเลื่อนที่ถูกจำแนกขึ้นใหม่ ไม่ปรากฎในแผนที่รอยเลื่อนเมื่อปี ๒๕๔๙ ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างรอยเลื่อนแม่จันกับรอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน อ. แม่สรวย อ. แม่ลาว และ อ. เมืองเชียงราย มีความยาวประมาณ ๘0 กิโลเมตร ล่าสุดผลจากการเลื่อนตัวของลอยเลื่อนแม่ลาวทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในรอบ ๕0 ปี คือแผ่นดินไหวขนาด ๖.๓ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ สร้างความเสียหายอย่างมากต่อบ้านเรือนและทรัพย์สิน


รอยเลื่อนแม่อิง

เริ่มตั้งแต่ อ. เทิง อ. ขุนตาล อ. เชียงของ อ. เวียงแก่น จ.เชียงราย ยาวต่อเนื่องเข้าไปในลาว มีความยาวประมาณ ๗0 กิโลเมตร เคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อประมาณ ๒,000 ปีก่อน ขนาด ๖.๗ ริกเตอร์มาแล้ว จึงควรออกแบบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ต้านทานแรงแผ่นดินไหวมากกว่า ๗.0 ริกเตอร์


รอยเลื่อนปัว

วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ พาดผ่าน จ. น่าน ความยาวประมาณ ๑๑0 กิโลเมตร เชื่อว่าการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๖.๕ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๔๗๘ หรือเกือบร้อยปีก่อน บริเวณรอยต่อของประเทศไทยกับลาว เป็นอิทธิพลจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนปัว


รอยเลื่อนพะเยา

พาดผ่าน จ. ลำปาง เชียงราย และพะเยา มีความยาวประมาณ ๑๒0 กิโลเมตร เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๕.๒ ริกเตอร์เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๗ ทำให้ตึกอำนวยการและทางเดินอาคารโรงพยาบาลพาน อ. พาน จ. เชียงราย ได้รับความเสียหาย การคมนาคมทางอากาศที่สนามบินเชียงรายหยุดชะงัก


รอยเลื่อนแม่ทา

พาดผ่าน จ. เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ระยะทาง ๑๔0 กิโลเมตร รอยเลื่อนวางตัวโค้งตามแนวร่องแม่นํ้าวองและแม่นํ้าแม่ทา มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๓-๔ ริกเตอร์บ่อยครั้ง เช่นเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ เกิดแผ่นดินไหวขนาด ๓.๘ ริกเตอร์


รอยเลื่อนเวียงแหง

วางตัวในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ พาดผ่านตั้งแต่ อ. เวียงแหง ถึง อ. สะเมิง จ. เชียงใหม่ มีความยาวประมาณ ๑00 กิโลเมตร พบหลักฐานแผ่นดินไหวโบราณขนาด ๖.๘ ริกเตอร์ เมื่อประมาณ ๒,000 ปีที่แล้ว รอยเลื่อนเวียงแหงมีอัตราการเลื่อนตัว 0.0๑-0.๑๑ มิลลิเมตร/ปี


รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน

วางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ พาดผ่าน อ. เมืองแม่ฮ่องสอน อ. ขุนยวม อ. แม่ลาน้อย อ. แม่สะเรียง จ. แม่ฮ่องสอน ต่อเนื่องลงมาถึง อ. ท่าสองยาง จ. ตาก ความยาวประมาณ ๒00 กิโลเมตร ประกอบด้วยรอยเลื่อนย่อย ได้แก่ รอยเลื่อนบ้านนํ้าเพียงดิน รอยเลื่อนขุนยวม รอยเลื่อนแม่สะเรียง จากการประเมินขนาดแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในอดีตโดยใช้ค่าความยาวของรอยแตกที่ปรากฏบนผิวดิน คาดว่าขนาดแผ่นดินไหวสูงสุดที่ทำให้เกิดได้คือ ๗.๑ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๑0 เมษายน ๒๕๕๖ เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๕.๑ ริกเตอร์ มีศูนย์เกิดในตอนเหนือของรอยเลื่อนในพื้นที่ประเทศพม่า

แผ่นดินไหว และ 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง Active Fault ของประเทศไทย
ภาพแผนที่ประเทศไทยดัดแปลงจากภาพรอยเลื่อนมีพลังของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนภาพแผนที่ภูมิศาสตร์บริเวณรอยเลื่อนจาก ดาวเทียม THEOS สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) ปี ๒๕๕๔


รอยเลื่อนเมย

เริ่มปรากฎในเขตประเทศพม่ายาวต่อเนื่องเข้ามาในประเทศไทย นับตั้งแต่ต้นจากลำนํ้าเมยที่ชายแดน พาดผ่าน จ. ตากและกำแพงเพชร ระยะทาง ๒๖0 กิโลเมตร มีรายงานแผ่นดินไหวอย่างน้อย ๒ ครั้ง คือวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๔๗๖ ที่ อ. แม่สอด จ. ตาก และ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ที่ อ. ท่าสองยาง จ. ตาก ครั้งหลังมีขนาด ๕.๖ ริกเตอร์ รู้สึกได้หลายจังหวัดในภาคเหนือ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร

๑๐
รอยเลื่อนเถิน

พาดผ่าน จ. ลำปางและแพร่ ระยะทางรวมกันประมาณ ๑๘0 กิโลเมตร เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๔.0 และ ๓.๗ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๒๒, ๒๓ ธันวาคม ๒๕๒๓ และมีรายงานแผ่นดินไหวขนาด ๓-๔ ริกเตอร์บ่อยครั้ง พบหลักฐานการเคลื่อนตัวตามแนวระนาบจากการหักงอของทางน้ำหลายสาย

๑๑
รอยเลื่อนอุตรดิตถ์

พาดผ่าน จ. อุตรดิตถ์ ระยะทาง ๑๓0 กิโลเมตร วางตัวตามแนวร่องแม่นํ้าน่าน เชื่อมต่อกับรอยเลื่อนเดียนเบียนฟูในลาวซึ่งแตกแขนงมาจากรอยเลื่อนแม่นํ้าแดงในเวียดนาม เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ บริเวณรอยเลื่อนเดียนเบียนฟูเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๕.๔ ริกเตอร์ ส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และทำให้วิหารวัดพระธาตุแช่แห้ง อ. ภูเพียง จ. น่าน ได้รับความเสียหาย

๑๒
รอยเลื่อนเพชรบูรณ์

วางตัวในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ ขนาบสองข้างของแอ่งที่ราบเพชรบูรณ์ พาดผ่าน อ.หล่มเก่า อ.หล่มสัก และ อ.เมืองเพชรบูรณ์ มีความยาวประมาณ ๑๕0 กิโลเมตร ที่บ่อลูกรังบริเวณบ้านชำบอน อ.หล่มเก่า พบชั้นกรวดชั้นทรายถูกรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ตัดขาดออกจากกันประมาณ ๑ เมตร ซึ่งเป็นหลักฐานของเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อประมาณ ๓0,000 ปีที่แล้ว

๑๓
รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์

วางตัวในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นจากประเทศพม่า พาดผ่าน จ. กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร ระยะทาง ๒๒0 กิโลเมตร วางตัวตามแนวร่องแม่นํ้าแม่กลองและแควใหญ่ เชื่อมต่อกับรอยเลื่อนสะแกงในพม่า มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กหลายร้อยครั้ง และเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่สุดที่มีการบันทึกสถิติและมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวในประเทศไทยขนาด ๕.๙ ริกเตอร์ วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖ โดยศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ใกล้บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ถึงกรุงเทพมหานคร ควรออกแบบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ต้านแรงแผ่นดินไหวมากกว่า ๗.0 ริกเตอร์

๑๔
รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์

เริ่มปรากฎในประเทศพม่า เข้าสู่ตะเข็บชายแดนประเทศไทยบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ พาดผ่าน อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ อ.ศรีสวัสดิ์ จ. กาญจนบุรี ระยะทาง ๒00 กิโลเมตร วางตัวตามแนวร่องแม่นํ้าแควน้อย เชื่อมต่อ

กับรอยเลื่อนสะแกงในพม่า มีรายงานแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนนี้หลายพันครั้ง ควรออกแบบสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ต้านแรงแผ่นดินไหวมากกว่า ๗.๕ ริกเตอร์

๑๕
รอยเลื่อนระนอง

เริ่มตั้งแต่ในทะเลอันดามัน พาดผ่าน จ. ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และพังงา ระยะทางเฉพาะส่วนที่ปรากฎบนแผ่นดินประมาณ ๓00 กิโลเมตร วางตัวตามแนวร่องนํ้าของแม่นํ้ากระบุรี อยู่ใกล้เคียงกับรอยเลื่อนตะนาวศรีในพม่า มีรายงานแผ่นดินไหวขนาด ๕.๖ ริกเตอร์เมื่อวันที่ ๓0 กันยายน ๒๕๒๑

๑๖
รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย

เริ่มตั้งแต่ในทะเลอันดามัน บริเวณด้านตะวันออกของเกาะภูเก็ต เข้าไปในอ่าวพังงา วางตัวตามแนวคลองมะรุ่ย คลองชะอน คลองพุมดวงใน จ. กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ระยะทางเฉพาะบนแผ่นดิน ๑๕0 กิโลเมตร มีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๗๖ ที่พังงา และนอกชายฝั่งภูเก็ตเมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๑๙ และ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๒