เรื่อง : ฐิตินันท์ ศรีสถิต

bag01

> ดูเหมือนจะมีภาพลักษณ์ที่เขียวกว่าถุงกระดาษและถุงพลาสติก เพราะหันไปทางใดก็ได้ยินคำเชิญชวน “หิ้วถุงผ้าลดโลกร้อน” ทั้งที่ในความเป็นจริง มันไม่ได้เป็นมิตรกับโลกแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการผลิตถุงผ้าแต่ละใบล้วนต้องใช้ทรัพยากร ใช้พลังงาน และกระทบถึงสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งนั้น แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า…เป็นผ้าอะไร

> ถุงผ้าดิบผลิตจากเส้นใยฝ้าย โดดเด่นด้วยความสามารถในการแบกรับน้ำหนักมากๆ แต่รู้หรือไม่ ไร่ฝ้ายซึ่งเป็นต้นทางของวัตถุดิบนั้นได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ต้องการน้ำมากที่สุดในโลก และใช้สารเคมีมากเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชชนิดอื่น คิดเป็นร้อยละ ๑๖ ของสารเคมีการเกษตรที่ใช้กันทั่วโลก

> เพื่อให้ได้ผลผลิตฝ้าย ๑ กิโลกรัม ต้องป้อนน้ำมากถึง ๗,๐๐๐–๒๓,๐๐๐ ลิตร ใช้ปุ๋ยเคมี ๔๕๗ กรัม และใช้ยาฆ่าแมลง ๑๖ กรัม แม้จะมีการทำไร่ฝ้ายอินทรีย์แต่ก็น้อยนิดเพียงหยิบมือ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมสิ่งทอ

> ถุงผ้าโพลีเอสเตอร์ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งมีต้นทางวัตถุดิบ เป็นก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดิบ คุณสมบัติเหนือกว่าถุงผ้าฝ้ายตรงที่น้ำหนักเบา แถมยังสะดวกพกพา เพราะพับม้วนให้มีขนาดเล็กลงได้ง่าย

> เพื่อให้ได้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ ๑ กิโลกรัม ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดิบประมาณ ๑.๕ กิโลกรัม

>เปรียบเทียบกันเฉพาะขั้นตอนการผลิต ถุงผ้าฝ้ายใช้พลังงานมากกว่า ๑.๒ เท่า ต้องการน้ำมากกว่าประมาณ ๓ เท่า และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า ๑.๕ เท่า แต่สุดท้ายเมื่อหมดอายุขัยการใช้งาน ถุงผ้าโพลีเอสเตอร์ไม่ย่อยสลายไม่กลายสภาพ ขณะที่ถุงผ้าฝ้ายซึ่งเป็นเส้นใยจากธรรมชาติสามารถกลับคืนสู่บ้านของมันได้แน่นอน

> ผลการศึกษาของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลออสเตรเลียระบุว่า หากพิจารณาจากพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในกระบวนการผลิต ถุงผ้าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าถุงพลาสติก ๑๔ เท่า และดีกว่าถุงกระดาษถึง ๓๙ เท่า ก็ต่อเมื่อถุงผ้าใบนั้นมีสถิติการใช้งานประมาณ ๕๐๐ ครั้ง

ที่มา :
http://treehugger.com
http://www.sustainability-ed.org
และเอกสาร “Thirsty Crops. Our food and clothes: eating up nature and wearing out the environment?” ของ WWF

bag02

ลดแลก แจกแถม

  • ความเป็นมิตรกับโลกของถุงผ้าไม่เกี่ยวกับจำนวนที่คุณมีอยู่ในครอบครอง แต่ขึ้นอยู่กับความบ่อยถี่ในการใช้งาน ตลอดชีวิตของถุงผ้า ๑ ใบจึงควรถูกหยิบใช้ใส่สัมภาระไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ครั้ง มากกว่านั้นได้ยิ่งดี เพื่อให้คุ้มค่ากับทรัพยากรและพลังงานที่เสียไ
  • การหยิบข้าวของใส่ถุงพลาสติกแล้วค่อยใส่ลงในถุงผ้าอีกที ไม่ช่วยลดการใช้หรือการสร้างขยะถุงพลาสติกแต่อย่างใด…ทำไมต้องกลัวเปื้อน ในเมื่อถุงผ้าสามารถซักทำความสะอาดได้
  • ถ้าคิดว่าถุงผ้ากำลังจะท่วมบ้าน ควรหยุดเพิ่มสมาชิกใบใหม่แล้วนำถุงผ้าใบเดิมๆ ที่มีอยู่ออกมาใช้งาน