erawan01

 

“ERWV-18 Current zone A Online hours 24.00 Test date 13-Jun-2011 Hour on test 4.00 Gas rate (MMCFD) 4.982 Cond rate (BCPD) 352 Water rate (BWPD) 71”

ข้อความที่ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ภายในห้องควบคุมการผลิตของแท่นผลิตกลางก๊าซธรรมชาติแหล่งเอราวัณ หรือ “เอราวัณคอมเพล็กซ์” แสดงรายละเอียดคุณสมบัติของหลุมก๊าซธรรมชาติ “วิกเตอร์หมายเลข ๑๘” (ERWV-18)

หลุมวิกเตอร์หมายเลข ๑๘ ตั้งอยู่ในพื้นที่โซนผลิต A ของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ จากการวิเคราะห์คุณสมบัติเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๔ พบว่ามีอัตราการไหลต่อวันของก๊าซธรรมชาติ ๔.๙๘๒ ล้านลูกบาศก์ฟุต ก๊าซธรรมชาติเหลว ๓๕๒ บาร์เรล และน้ำ ๗๑ บาร์เรล เป็นตัวอย่างหลุมก๊าซธรรมชาติที่มีคุณสมบัติดี เนื่องจากให้ก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลวปริมาณมาก ให้น้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการปริมาณน้อย

บนหน้าจอเดียวกัน หากเลื่อนสายตาลงต่ำจะพบข้อความแสดงรายละเอียดของหลุมก๊าซธรรมชาติอีกหลุมหนึ่งชื่อว่า “อัลฟ่าหมายเลข ๖” (ERWA-6) ที่ช่องการผลิตก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลวระบุตัวเลข ๐ หมายถึงไม่มีกำลังการผลิต

แม้มีชื่อว่าอัลฟ่าหมายเลข ๖ ทว่านี่คือ “หลุม” หรือ “ท่อ” ก๊าซธรรมชาติหลุมแรกของไทยที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ในอาณาเขตของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณกลางอ่าวไทย ห่างจากชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ๑๔๕ กิโลเมตร ทางทิศเหนือ ใต้ ตะวันออกรายล้อมด้วยแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่น ๆ คือ ปลาทอง สตูล บรรพต ไพลิน ฯลฯ

ณ บริเวณปากหลุมก๊าซธรรมชาติอัลฟ่าหมายเลข ๖ ยังมีแผ่นโลหะจารึกว่า

“The 1st Thailand Gas Well, ERWA-6” หรือหลุมก๊าซธรรมชาติลำดับที่ ๑ ของไทย เริ่มต้นกระบวนการผลิตก๊าซเมื่อ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๔ สิ้นสุดกระบวนการผลิตเมื่อ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๔๑ เป็นเวลา ๑๗ ปีที่หลุมก๊าซธรรมชาติแห่งนี้ได้มอบเชื้อเพลิงเพื่อการพัฒนาสังคมไทยมาอย่างยาวนาน

บนป้ายบรรทัดถัดมายังระบุว่าหลุมอัลฟ่าหมายเลข ๖ เคยมีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยวันละ ๔.๘ ล้านลูกบาศก์ฟุต ก๊าซธรรมชาติเหลว ๑๒ บาร์เรล

บริเวณปากหลุมซึ่งมีลักษณะเป็นท่อเหล็กตั้งตระหง่านเหนือผืนน้ำ สูงจากระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่าตึก ๑๐ ชั้น มีท่อเหล็กสั้น ๆ และวาล์ววัดระดับความดันก๊าซยื่นออกจากแกนกลางราวกิ่งก้านของต้นไม้ ในทางตรงข้าม ลึกลงไปในความมืดมิดใต้ท้องทะเลสีคราม ท่อเหล็กนี้พุ่งหยั่งลงตรงตำแหน่งซึ่งครั้งหนึ่งเคยอุดมด้วยขุมทรัพย์พลังงานก๊าซธรรมชาติใต้พิภพ แม้ทุกวันนี้จะไม่มีเชื้อเพลิงพลังงานดังอดีต แต่ทุกสิ่งยังคงได้รับการรักษาไว้ในฐานะผู้เปิดศักราชความ “โชติช่วงชัชวาล” ของแหล่งพลังงานกลางอ่าวไทย เคียงคู่กับแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ เคียงข้างหลุมก๊าซธรรมชาติอื่นซึ่งได้รับการสำรวจขุดเจาะมาเป็นลำดับตลอดระยะเวลา ๓๐ ปี

 

ก๊าซธรรมชาติ พลังงานใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นเคย

ก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๕๐๔ กิจการด้านพลังงานของไทยเคยได้รับการสงวนไว้สำหรับหน่วยงานภาครัฐ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคลรวมทั้งเทคโนโลยีการผลิตซึ่งต้องพึ่งพาต่างประเทศ ปี ๒๕๐๔ รัฐบาลไทยจึงประกาศเชิญชวนหน่วยงานภาคเอกชนต่างชาติยื่นเรื่องขอสิทธิสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ให้รัฐรับบทบาทด้านการกำกับดูแลกิจการและร่วมเรียนรู้เทคนิควิธีการทำงานไปพร้อมกัน

ภายหลังจากนั้น ๑ ปี บริษัท ยูเนียนออยล์ออฟไทยแลนด์ จำกัด บริษัทสัญชาติอเมริกันที่มีบริษัทแม่คือบริษัทยูโนแคล(Unocal-Union Oil Commpany of California) ตั้งอยู่ที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่น-Chevron Corporation ได้ผนวกรวมกิจการของยูโนแคลแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ มีบริษัทลูกในไทยคือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด) ก็ได้รับการบันทึกว่าเป็นบริษัทต่างชาติแห่งแรกที่ได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยในบริเวณที่ราบสูงภาคอีสาน หากแต่ผลการสำรวจในเวลาต่อมากลับไม่พบร่องรอยเชื้อเพลิงพลังงานใด ๆ

๔ ปีต่อมา บริษัท กัลฟ์ออยล์คอร์ปอเรชั่น (Gulf Oil Corporation) บริษัทต่างชาติรายใหม่ ได้รับสิทธิสำรวจบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่ก็ไม่พบร่องรอยแหล่งพลังงานปิโตรเลียมอีกเช่นกัน

ผลการสำรวจเชื้อเพลิงพลังงานบนบกในยุคเริ่มต้นนั้น ดูราวกับจะเป็นความล้มเหลวของบริษัทต่างชาติ กระทั่งองค์การสหประชาชาติประกาศกฎหมายทางทะเลและเขตน่านน้ำ กำหนดให้การแสวงหาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอาณาเขตชายฝั่งและใต้ท้องทะเลเป็นสิทธิของเจ้าของประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยเริ่มต้นขับเคลื่อนนโยบายค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ ขยับขยายจากแหล่งบนพื้นดินมุ่งหน้าลงสู่ท้องทะเล โดยเปิดสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน

พ.ศ. ๒๕๑๑ บริษัท ยูเนียนออยล์ออฟไทยแลนด์ ได้รับโอกาสจากรัฐบาลไทยอีกครั้งให้ทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยบริเวณที่เรียกว่า “แหล่งสำรวจหมายเลข ๑๒” อันเป็นแหล่งสำรวจที่อยู่ใกล้ชายฝั่งภาคใต้มากที่สุด คือห่างจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ๑๔๕ กิโลเมตร

ความมุ่งมั่นกลางผืนน้ำทะเลประสบความสำเร็จในอีก ๕ ปีต่อมา เมื่อมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติปริมาณเพียงพอและคุ้มค่าต่อการผลิตเชิงพาณิชย์ที่บริเวณแหล่งสำรวจย่อยหมายเลข ๑๒-๑ เป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแรกในอ่าวไทย จึงเรียกว่าแหล่งก๊าซหรือโครงสร้าง “เอ” ต่อมาได้รับการตั้งชื่อว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติ “เอราวัณ” อันเป็นนามช้างทรงของพระอินทร์

แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณตั้งอยู่กลางอ่าวไทยในบริเวณที่มีระดับน้ำเฉลี่ยลึก ๖๐ เมตร ซึ่งนับว่าตื้นเมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่นทั่วโลก และมีอุณหภูมิใต้พิภพสูงกว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่นที่มีระดับน้ำลึกเท่ากัน

ก่อนการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติฉบับแรกระหว่างบริษัท ยูเนียนออยล์ออฟไทยแลนด์ กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาซึ่งฝ่ายผู้ซื้อและผู้ขายตกลงให้เป็นคนกลางวิเคราะห์ปริมาณก๊าซเคยคาดการณ์ว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณน่าจะมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสูงถึง ๑.๕๘ ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ตามการคาดหมายว่าแหล่งกักเก็บก๊าซใต้สมุทรน่าจะมีโครงสร้างเป็นกระเปาะขนาดใหญ่ แต่ความจริงที่พบเมื่อเริ่มต้นกระบวนการผลิต คือปริมาณก๊าซธรรมชาติมีน้อยกว่าที่คาดคะเนไว้ ด้วยโครงสร้างแหล่งกักเก็บก๊าซที่แยกกระจัดกระจายเป็นกระเปาะขนาดเล็กจำนวนมาก อันเป็นผลจากการเคลื่อนตัวของชั้นหินใต้พื้นพิภพ

ความซับซ้อนของโครงสร้างทางธรณีวิทยานี้ ทำให้การพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณต้องดำเนินการติดตั้งแท่นหลุมผลิตก๊าซหลายแห่งกระจายตามตำแหน่งของหลุมหรือกระเปาะกักเก็บก๊าซ แล้วส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อใต้น้ำมารวมศูนย์ยังแท่นผลิตกลางแทน

แม้ธรรมชาติจะมอบทรัพยากรอันล้ำค่าให้แก่มนุษย์ แต่ก็ดูราวกับจะพยายามเตือนสติให้เราตระหนักถึงคุณค่าที่มีอยู่อย่างจำกัดและต้องแสวงหามาด้วยความยากลำบาก

ถึงวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๔ ก๊าซธรรมชาติจากก้นอ่าวไทยปริมาณ ๓๕ ล้านลูกบาศก์ฟุต ก็เดินทางจากใต้ธรณีมาตามท่อเหล็กของแท่นหลุมผลิตอัลฟ่าหมายเลข ๖ ซึ่งเจาะลึกเข้าหาแหล่งกักเก็บก๊าซใต้พิภพด้วยระดับความลึกไม่ต่ำกว่า ๓-๕ กิโลเมตร ส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่กระบวนการผลิตและส่งต่อเข้าท่อประธานรับก๊าซธรรมชาติ เป็นระยะทาง ๔๒๕ กิโลเมตรจากแหล่งก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยถึงโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ชายฝั่งตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง

วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๒๔ จึงเป็นวันประวัติศาสตร์ที่จารึกว่าการซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก