ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน

น้ำมันรั่วอ่าวไทย ๑ หยดที่สร้างความเปลี่ยนแปลง

ซ้ำรอย

น้ำมันมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต และพัฒนาประเทศหลายด้าน แต่หากเกิดการปนเปื้อน-รั่วไหล “มลพิษน้ำมัน” ก็คือปัญหาที่สร้างความเสียหายต่อสุขอนามัย สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต รวมทั้งจะย้อนกลับมาสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ

วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ใกล้ชายฝั่งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลลงสู่ท้องทะเลขณะเรือบรรทุกน้ำมันดิบกำลังถ่ายน้ำมันดิบผ่านทุ่นรับขึ้นฝั่ง คาดว่าน้ำมันดิบปริมาณ ๕๐,๐๐๐ ลิตร (ยังมีการถกเถียงถึงปริมาณน้ำมันที่แท้จริงมาจนทุกวันนี้) ได้รั่วไหลลงสู่อ่าวไทย คราบน้ำมันบางส่วนถูกซัดขึ้นชายฝั่งอ่าวพร้าวของเกาะเสม็ด เปลี่ยนสภาพหาดทรายให้กลายเป็นสีดำและส่งกลิ่นเหม็น

นับเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วลงทะเลครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ประเทศไทย

.

ล่าสุด วันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๕ ฝันร้ายเรื่องน้ำมันรั่วกลางอ่าวไทยกลับมา

เวลาประมาณ ๐๐.๑๐ กรมควบคุมมลพิษได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ว่ามีน้ำมันดิบรั่วไหล ปริมาณ ๑๒๘ ตัน หรือ ๑๖๐,๐๐๐ ลิตร (ปริมาณน้ำมันที่แท้จริงยังไม่ชัดเจน) จำเป็นต้องยับยั้งไม่ให้น้ำมันเคลื่อนเข้าสู่ฝั่ง

แถลงการณ์ของบริษัทระบุว่าพบน้ำมันดิบรั่วไหลตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๒๑.๐๖ น. จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณทุ่นผูกเรือแบบทุ่นเดี่ยว อันเป็นจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัท

มีโอกาสที่น้ำมันดิบจะถูกพัดเข้าสู่ชายฝั่ง ทั้งบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หาดแม่รำพึง รวมถึงอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ซ้ำรอยเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เคยเกิดขึ้นเมื่อราว ๘ ปีก่อน

ซากสิ่งมีชีวิต

น้ำมันดิบเป็นเชื้อเพลิงดึกดำบรรพ์ เกิดจากการเปลี่ยนสภาพของซากสิ่งมีชีวิต ด้วยกระบวนการทางเคมีและธรณีวิทยา น้ำมันดิบรวมถึงถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ หินน้ำมัน ทรายน้ำมันจัดเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถทดแทนได้ เพราะต้องอาศัยระยะเวลานานในการก่อเกิด

การใช้ประโยชน์น้ำมันดิบเริ่มจากการสำรวจและขุดเจาะเพื่อนำน้ำมันดิบขึ้นมาจากใต้พื้นพิภพ จากนั้นจึงขนส่งด้วยวิธีต่างๆ เช่น ขนส่งทางเรือ ทางบก และทางท่อ จากแหล่งขุดเจาะไปยังโรงกลั่น

ที่โรงกลั่น น้ำมันดิบจะถูกนำเข้าสู่เตาเผา เข้าสู่กระบวนการ “กลั่นลำดับส่วน” เพื่อให้ระเหยเป็นไอ และควบแน่นที่แต่ละระดับความสูงในหอกลั่น ได้ปิโตรเลียมที่มีความหนาแน่นแตกต่างกัน เช่น ก๊าซหุงต้ม เบนซิน ดีเซล น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันเตา ยางมะตอย ฯลฯ

น้ำมันรั่วทั่วโลก

เหตุการณ์น้ำมันรั่วเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และเกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตามหากดูจากสถิติหรือรายงานข่าว อาจสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความถี่ของการเกิดปัญหาน้ำมันรั่วไหล

ยกตัวอย่าง ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จะมีรายงานก็ต่อเมื่อปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลมากกว่า ๔,๐๐๐ ลิตร ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลในเหตุการณ์แต่ละครั้งจึงส่งผลโดยตรงต่อรายงาน

นอกจากนี้ สถานที่เกิดเหตุที่อยู่ไกล ในกรณีที่การรั่วไหลเกิดขึ้นบนพื้นดิน หรือแหล่งน้ำจืดขนาดเล็กก็อาจทำให้ไม่ได้รับความสนใจไม่เป็นข่าวเมื่อเปรียบเทียบกับท้องทะเล

พื้นที่เสี่ยงไทย

ตัวแปรที่ใช้พิจารณาพื้นที่ชายฝั่งที่เสี่ยงต่อน้ำมันรั่ว มี ๔ ปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. แนวโน้มการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันเข้าสู่ชายฝั่ง กรณีรั่วไหลลงทะเล จากการคาดการณ์ด้วยแบบจำลอง
  2. ความถี่ของพื้นที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหล ตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ เป็นต้นมา
  3. สภาพการดำรงอยู่และความอุดสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่ง อาทิ ป่าชายเลน แนวปะการัง หญ้าทะเล นกทะเล เต่าทะเล ฯลฯ รวมถึงลักษณะทางกายภาพจากแผนที่ดัชนีความอ่อนไหวของทรัพยากรต่อมลพิษจากน้ำมัน
  4. เส้นทางสัญจรทางน้ำ เส้นทางการขนถ่ายน้ำมัน และกิจกรรมทางน้ำอื่นๆ

จากตัวแปรข้างต้น พบว่า

จังหวัดที่มีระดับความเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา

จังหวัดที่มีระดับความเสี่ยงสูง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ปากแม่น้ำเจ้าพระยา) สมุทรปราการ

จังหวัดที่มีระดับความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล

จังหวัดที่มีระดับเสี่ยงต่ำ ได้แก่ ตราด จันทบุรี เพชรุบรี ปัตตานี นราธิวาส

ยกตัวอย่าง จังหวัดระยอง เป็นพื้นที่มีความเสี่ยงระดับสูงมาก เพราะมีแนวโน้มการเคลื่อนที่ของคราบน้ำมันเข้าชายฝั่งสูง, ความถี่ของของการเกิดเหตุ ๑ ครั้ง / ๒-๕ ปี, ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรชายฝั่งระดับปานกลาง, มีเส้นทางการสัญจรทางน้ำ เส้นทางการขนถ่ายน้ำมัน และกิจกรรมทางน้ำอื่นๆ อยู่ในระดับสูง

คุณภาพน้ำทะเล

ประเทศไทยกำหนดความเข้มข้นของน้ำมัน หรือค่ามาตรฐานในรูปของน้ำมันหรือไขมันสำหรับคุณภาพน้ำทะเลว่า…

จะต้องไม่สามารถสังเกตเห็นน้ำมันหรือไขมันลอยอยู่บนผิวน้ำ

น้ำทิ้งจากแหล่งต่างๆ ที่จะลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะต้องผ่านการบำบัดและควบคุมจนมีความเข้มข้นของน้ำมันและไขมันต่ำ จนไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศของแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ ยังกำหนดค่ามาตรฐานปริมาณน้ำมันและไขมันสำหรับน้ำทิ้งจากกิจกรรมต่างๆ อาทิ

น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม – ไม่เกิน ๕.๐ มิลลิกรัมต่อลิตร หรืออาจแตกต่างแล้วแต่ประเภทของแหล่งรองรับน้ำทิ้ง หรือประเภทของโรงงานอุตสาหกรรม แต่ต้องไม่เกิน ๑๕ มิลลิกรัมต่อลิตร

น้ำทิ้งลงบ่อบาดาล – ไม่เกิน ๕.๐ มิลลิกรัมต่อลิตร

น้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน – ไม่เกิน ๕.๐ มิลลิกรัมต่อลิตร

น้ำทิ้งจากสถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิง – ไม่เกิน ๑๕ มิลลิกรัมต่อลิตร

น้ำทิ้งจากที่ดินจัดสรร – ไม่เกิน ๒๐ มิลลิกรัมต่อลิตร

ซ้ำรอย

เมื่อเกิดการรั่วไหลของน้ำมัน ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลจะถูกแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่

ระดับที่ ๑ (Tier I) ปริมาณรั่วไหลไม่เกิน ๒๐ ตันลิตร (หรือ ๒๐,๐๐๐ ลิตร) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างขนถ่ายน้ำมัน ผู้ที่ทำให้เกิดน้ำมันรั่วไหลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการขจัดคราบน้ำมัน และ/หรือได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ระดับที่ ๒ (Tier II) ปริมาณรั่วไหลอยู่ระหว่าง ๒๐-๑,๐๐๐ ตันลิตร (หรือ ๒๐,๐๐๐- ๑ ล้านลิตร) อาจเกิดจากอุบัติเหตุเรือชนกันหรือโดนกัน การขจัดคราบน้ำมันต้องร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ และต้องแจ้งให้กรมเจ้าท่าทราบก่อน หากเกินขีดความสามารถของทรัพยากรที่มี อาจต้องขอรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

ระดับที่ ๓ (Tier IIl) ปริมาณรั่วไหลมากกว่า ๑,๐๐๐ ตันลิตร (หรือมากกว่า ๑ ล้านลิตร) อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง การขจัดคราบน้ำมันต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ และต้องการความช่วยเหลือระดับนานาชาติ

เหตุการณ์น้ำมันรั่วกลางอ่าวไทยครั้งล่าสุดจัดอยู่ระดับที่ ๒ (Tier II) ล่าสุดมีรายงานว่าน้ำมันที่รั่ว คือ เมอร์เบินออย (Murban Crude Oil) เป็นน้ำมันเบา สีใส ไม่ได้มีสีดำเหมือนน้ำมันดิบทั่วไป จึงเป็นไปได้ว่าจะไม่มีคราบน้ำมันสีดำลอยไปติดตามชายฝั่งต่างๆ เหมือนเมื่อครั้งหายนะที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เมื่อราวแปดปีก่อน

ภายในระยะเวลาประมาณห้าวัน คราบน้ำมันบนผิวน้ำอาจจะสลายหมดไป จากการระเหยและเจือจาง

ภายหลังจากที่สร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สุขอนามัย ฯลฯ ซ้ำรอยปัญหาน้ำมันรั่วกลางอ่าวไทยที่เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง

เอกสารประกอบการเขียน/ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม

หนังสือ น้ำมันกับวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิสุทธิ์ เพียรมนกุล / ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ตีพิมพ์ปี ๒๕๖๐

อ่านเพิ่มเติม