สู่ศูนย์กลางการผลิตของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ

นับตั้งแต่มีการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก รัฐบาลก็ประกาศนโยบายในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรก๊าซธรรมชาติให้มากที่สุด โดยบรรจุแผนการใช้ก๊าซธรรมชาติไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๕๒๕-๒๕๒๙) ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากวันละ ๒๕๐ ล้านลูกบาศก์ฟุตในปี ๒๕๒๕ เป็นวันละไม่ต่ำกว่า ๕๒๕ ล้านลูกบาศก์ฟุตในปี ๒๕๒๙

การให้ความสำคัญกับทรัพยากรก๊าซธรรมชาติภายในประเทศยังมีสาเหตุจากบทเรียนเมื่อปี ๒๕๒๓ เมื่อประเทศไทยและหลายประเทศต่างประสบความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ เมื่อกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปกรวมตัวกันปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบ มีผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การขุดก๊าซธรรมชาติภายในประเทศขึ้นมาใช้จึงเป็นทางออกหนึ่งที่ช่วยทดแทนการสั่งซื้อน้ำมันดิบจากต่างประเทศ

๓ ทศวรรษนับจากวันนั้น เราออกเดินทางจากศูนย์ขนส่งทางอากาศ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดจังหวัดนครศรีธรรมราช มุ่งหน้ามายังแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณกลางอ่าวไทย เฮลิคอปเตอร์บรรจุผู้โดยสารเต็มลำ ประกอบด้วยทีมงาน สารคดี และพนักงาน “ออฟชอร์” หรือ ผู้ปฏิบัติการกลางทะเล บินผ่านท้องทะเลเวิ้งว้างไร้วี่แววสิ่งมีชีวิตราวครึ่งชั่วโมง ก่อนลดเพดานบินลงต่ำเมื่อถึงกลุ่มแท่นโครงสร้างของแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเอราวัณหรือ “เอราวัณคอมเพล็กซ์” (Erawan Complex)

ที่นี่คือหัวใจของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ ด้วยเป็นศูนย์กลางการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ส่งมาจากแท่นหลุมผลิตก๊าซซึ่งกระจัดกระจายอยู่โดยรอบ

จากบนอากาศ เรามองเห็นกลุ่มแท่นโครงสร้างเรียงตัวคล้ายตัวแอล (L) ที่มี “ปีก” หรือ “แขน” อีกข้างหนึ่งต่อยื่นออกจากตรงกลางลำตัว ทั้งหมดประกอบด้วยแท่นปฏิบัติการ ๖ แท่น แต่ละแท่นเชื่อมถึงกันด้วยสะพานเหล็ก

นักบินนำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดบนชั้นดาดฟ้าของแท่นพักอาศัยหมายเลข ๒ ตั้งอยู่บนปีกที่ยื่นออกจากกลางลำตัว บนปีกนี้ประกอบด้วยแท่นพักอาศัย ๒ แท่นเรียงต่อกัน (มีชื่อย่อว่า ERLQ1 และ ERLQ2) ส่วนปีกที่เหลือเป็นที่ตั้งของแท่นปฏิบัติการจำนวน ๔ แท่น คือ แท่นผลิตกลาง (ERCPP) แท่นกำจัดสารปรอท (ERMRP) แท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดันก๊าซ (ERCP) และแท่นหลุมผลิตเอราวัณอัลฟ่า (ERWA) อันเป็นที่ตั้งของอัลฟ่าหมายเลข ๖–หลุมก๊าซธรรมชาติหลุมแรกของประเทศไทย

 

ติดตามกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติ

เอราวัณคอมเพล็กซ์ตั้งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณที่มีอาณาบริเวณทั้งสิ้น ๔๖๕ ตารางกิโลเมตร ใกล้เคียงกับพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามทั้งจังหวัด รายรอบด้วยแท่นหลุมผลิตก๊าซไม่ต่ำกว่า ๒๗ แท่น มีหลุมก๊าซธรรมชาติไม่ต่ำกว่า ๖๘๐ หลุม (หลุมก๊าซธรรมชาติเป็นชื่อเรียก “ท่อ” โลหะที่ต่อเชื่อมลงไปยังแหล่งกักเก็บก๊าซใต้พิภพ) กระจัดกระจายห่างจากเอราวัณคอมเพล็กซ์เป็นระยะทางตั้งแต่ ๓๐๐ เมตรถึง ๓๐ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยเรือ ๑๕ นาทีถึง ๓ ชั่วโมง

แท่นหลุมผลิตก๊าซที่กระจายอยู่รายรอบจะส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งกักเก็บใต้พิภพ เดินทางผ่านท่อส่งก๊าซใต้น้ำซึ่งเชื่อมกันเป็นโครงข่ายใยแมงมุมเข้ามายังแท่นผลิตกลางของเอราวัณคอมเพล็กซ์

นอกเหนือจากการผลิตก๊าซจากภายในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณแล้ว เอราวัณคอมเพล็กซ์ยังมีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางรับก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ แหล่ง “บรรพต” ทางทิศใต้ และแหล่ง “จักรวาล” ทางทิศตะวันออก ด้วยทั้งสองแหล่งไม่มีแท่นผลิตกลางของตนเอง

เราเดินทางมายังห้องควบคุมการผลิตซึ่งตั้งอยู่บนชั้น ๒ ของแท่นพักอาศัย เห็นเจ้าหน้าที่หลายคนกำลังเพ่งมองหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์และควบคุมระบบผลิต การเปิด-ปิดวาล์วก๊าซของแท่นหลุมผลิตซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายสิบกิโลเมตร

แม้เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตก๊าซธรรมชาติจะถูกควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์แทบทั้งหมด แต่มนุษย์ยังคงความสำคัญในฐานะผู้ควบคุมและตรวจสอบระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานและการรักษาความปลอดภัย

ธีรัตธุ์ พุทธิรัชต์สิริ หัวหน้าฝ่ายผลิตของเอราวัณคอมเพล็กซ์ (พ.ศ. ๒๕๔๙ – ปัจจุบัน) กล่าวถึงแท่นหลุมผลิตและกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติว่า

“โดยทั่วไป แท่นหลุมผลิตก๊าซธรรมชาติมีโครงสร้างเป็นฐานเหล็กสี่ขาสูงโย่งตั้งตระหง่านเหนือผืนน้ำ ฝังฐานลึกลงไปในทะเล บริเวณกลางแท่นติดตั้งท่อเหล็กหรือ ‘หลุมก๊าซ’ จำนวน ๑๒-๒๔ หลุมทอดยาวลงใต้น้ำลึกลงไปใต้พื้นสมุทร ท่อเหล่านี้ไม่ได้เจาะลงไปใต้พื้นสมุทรในแนวดิ่ง แต่จะชอนไชเข้าหาแหล่งกักเก็บก๊าซเพื่อนำก๊าซธรรมชาติที่นิ่งสนิทอยู่ใต้ความดำมืดมานับล้านปีขึ้นมาพบกับเทคโนโลยีของโลกสมัยใหม่

“ก๊าซธรรมชาตินั้นประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ ๓ ส่วน คือ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำ หน้าที่ของพวกเราฝ่ายผลิต คือแยกองค์ประกอบทั้งสามออกจากกัน”

เมื่อก๊าซธรรมชาติถูกส่งเข้ามายังเอราวัณคอมเพล็กซ์ก็จะเข้าสู่แท่นผลิตกลาง หรือ ERCPP เป็นลำดับแรก ERCPP เป็นแท่นขนาดใหญ่ที่สุดในเอราวัณคอมเพล็กซ์และใหญ่ที่สุดในพื้นที่สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ โครงสร้างภายในแท่นผลิตกลางประกอบด้วยถังโลหะขนาดใหญ่และท่อโลหะสีเหลืองสดเรียงตัวสลับกันทั้งแนวนอนและแนวตั้ง เครื่องจักรทำงานส่งเสียงดังกระหึ่มตลอด ๒๔ ชั่วโมง

“ที่แท่นผลิตกลาง สิ่งที่ปะปนกันมาในก๊าซธรรมชาติจะถูกแยกออกจากกันโดยใช้ความแตกต่างเรื่องสถานะของสสารและค่าความถ่วงจำเพาะ ก๊าซธรรมชาติเหลวมีค่าความถ่วงจำเพาะประมาณ ๐.๘ และน้ำมีค่าความถ่วงจำเพาะเท่ากับ ๑ เมื่อปล่อยทิ้งไว้ ส่วนประกอบทั้งสามจะเริ่มแยกตัวกันเป็นชั้นจากบนลงล่าง ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำ ตามลำดับ” หัวหน้าฝ่ายผลิตให้ข้อมูล

น้ำซึ่งอยู่ชั้นล่างสุดจะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการบำบัด ตามด้วยการใช้แรงดันอัดกลับคืนสู่ก้นหลุมก๊าซธรรมชาติ เรียกว่ากระบวนการ Water Reinjection ซึ่งจะดำเนินการกับหลุมก๊าซธรรมชาติที่เป็น “หลุมแห้ง” หรือ “หลุมตาย” เท่านั้น หมายถึงหลุมที่ถูกนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้จนหมดแล้ว

ธีรัตธุ์ พุทธิรัชต์สิริ ยกตัวอย่างหลุมแห้งหรือหลุมตายที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด

“อัลฟ่าหมายเลข ๖ เป็นหนึ่งในหลุมก๊าซของแท่นหลุมผลิตเอราวัณอัลฟ่า (ERWA) ปีกข้างหนึ่งของเอราวัณคอมเพล็กซ์ นับเป็นหลุมก๊าซธรรมชาติลำดับแรกที่เริ่มต้นกระบวนการผลิตตั้งแต่ปี ๒๕๒๔ ก่อนจะสิ้นสุดกระบวนการผลิตเมื่อปี ๒๕๔๑

“ปัจจุบันอัลฟ่าหมายเลข ๖ จึงมีสถานะเป็นหลุมตาย เป็นหลุมก๊าซธรรมชาติที่แห้งสนิท ไม่มีทั้งก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซธรรมชาติเหลวหลงเหลืออยู่เลย และเมื่อบริษัทเชฟรอนฯ ได้เริ่มนำเทคโนโลยีการอัดน้ำที่ขึ้นมาพร้อมกับการผลิตปิโตรเลียมกลับคืนสู่หลุมผลิตที่เลิกทำการผลิตแล้ว หรือที่เรียกว่า Water Reinjection มาใช้ในปี ๒๕๔๐ หลุมอัลฟ่าหมายเลข ๖ จึงได้ถูกนำมาใช้ในการนี้เช่นกัน”

แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเป็นแหล่งก๊าซลำดับแรกของไทยที่เริ่มต้นนำนวัตกรรมการอัดน้ำที่ขึ้นมาพร้อมก๊าซธรรมชาติกลับคืนสู่หลุมผลิตในโครงสร้างทางธรณีวิทยาเดิม วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ต่อมาแหล่งก๊าซธรรมชาติอื่นในอ่าวไทยก็นำวิธีการอัดน้ำลงสู่หลุมผลิตไปดำเนินการเช่นกัน

ส่วนประกอบลำดับชั้นต่อมาซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างน้ำกับก๊าซธรรมชาติ คือก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ “คอนดี้” (Condy แผลงมาจากคำว่า Condensate ซึ่งหมายถึง ก๊าซธรรมชาติเหลว) จะถูกส่งไปยังเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวที่อยู่ห่างจากเอราวัณคอมเพล็กซ์ราว ๘ กิโลเมตร

เป็น ๘ กิโลเมตรที่คงที่และแน่นอน ด้วยเรือลำนี้จะไม่มีวันเดินทางไปไหน เพราะแท้จริงแล้วเรือกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวคือเรือขนส่งน้ำมันที่ถูกถอดเครื่องยนต์ออกหมด แล้วยึดหัวเรือไว้กับทุ่นเสาเหล็กขนาดใหญ่ เพื่อให้เรือลอยอยู่ ณ ตำแหน่งเดิม แต่สามารถเคลื่อนที่หมุนวน ๓๖๐ องศารอบเสาเหล็กได้ตามแรงคลื่นและลม เรือนี้มีชื่อว่า “เอราวัณแทงค์เกอร์”

สุบิน ลียะอนันต์ หัวหน้างานด้านการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว อธิบายหน้าที่ของเอราวัณแทงค์เกอร์ว่า

“เอราวัณแทงค์เกอร์ทำหน้าที่รับและเก็บก๊าซธรรมชาติเหลวไว้ชั่วคราว รอเวลาจ่ายให้กับเรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติเหลวของบริษัท ปตท. ที่เดินทางมารับซื้อทุก ๔-๕ วัน เที่ยวละประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ บาร์เรล”

ก๊าซธรรมชาติเหลวคือก๊าซธรรมชาติที่มีสถานะเป็นก๊าซเมื่ออยู่ในชั้นหินใต้พิภพ เนื่องจากได้รับความร้อนและความกดดันสูง แต่จะเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวเมื่อขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกและเส้นใย

เอราวัณแทงค์เกอร์รับก๊าซธรรมชาติเหลวมากักเก็บไว้จากสองเส้นทาง คือท่อก๊าซใต้น้ำที่เดินทางมาจากเอราวัณคอมเพล็กซ์ทางทิศตะวันออก และจากแหล่งไพลินทางทิศใต้ ท่อก๊าซทั้งสองท่อหลักมาบรรจบกันที่ท้ายเรือ

“ก๊าซธรรมชาติเหลวจากเกือบทุกแหล่งสัมปทานของบริษัทเชฟรอนฯ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งสตูล แหล่งฟูนาน แหล่งจักรวาล แหล่งบรรพต แหล่งไพลิน จะถูกส่งมากักเก็บที่เอราวัณแทงค์เกอร์ และในอนาคตอันใกล้ ก๊าซธรรมชาติเหลวจากแหล่งปลาทอง ซึ่งคาดว่ามีปริมาณสูงมากถึงวันละ ๑๖,๐๐๐ บาร์เรลต่อวัน ก็จะถูกส่งมาที่นี่ด้วย” สุบิน ลียะอนันต์ กล่าวถึงแผนการในอนาคต

ส่วนลำดับชั้นสุดท้ายซึ่งลอยตัวอยู่บนสุด คือก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงพลังงานสำคัญที่สุดของประเทศไทย

ก๊าซธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการแยกน้ำและก๊าซธรรมชาติเหลวแล้ว จะถูกส่งมากำจัดสารปรอทซึ่งปะปนอยู่ในปิโตรเลียมตามธรรมชาติ ที่แท่นกำจัดสารปรอท (ERMRP) ซึ่งได้รับการติดตั้งขึ้นใหม่เป็นแท่นล่าสุดของเอราวัณคอมเพล็กซ์เมื่อปี ๒๕๔๙

จากนั้น ก๊าซธรรมชาติเดินทางเข้าสู่ขั้นตอนสุดท้ายที่แท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดันก๊าซ (ERCP) ที่นี่ก๊าซธรรมชาติจะถูกบีบอัดเพิ่มแรงดันจาก ๑,๑๐๐ psi (หน่วยวัดความดันเป็นปอนด์ต่อตารางนิ้ว) เป็น ๑,๔๐๐ psi เพื่อส่งเข้าสู่ท่อประธานรับก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. เป็นระยะทางไกล ๔๒๕ กิโลเมตรกว่าจะถึงโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ชายฝั่งตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง

เราเดินทางติดตามเส้นทางก๊าซธรรมชาติบนเอราวัณคอมเพล็กซ์มาถึงแท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดันก๊าซ ได้ยินเสียงเครื่องจักรดังกระหึ่มจนต้องใช้อุปกรณ์อุดหู

ที่แท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดันก๊าซ เราเห็นท่อก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่กว่าปรกติถูกทาสีแดงสลับขาวตรงรอยเชื่อมระหว่างท่อสีเทาทางทิศตะวันออกกับท่อสีเหลืองทางทิศตะวันตก เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่า ณ ตำแหน่งนี้ได้มีการส่งมอบก๊าซธรรมชาติจากแหล่งก๊าซเอราวัณของบริษัทเชฟรอนฯ ให้แก่บริษัท ปตท. แล้ว

บนระเบียงเหล็กของแท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดันก๊าซ เราหันหน้าไปทางแท่นผลิตกลาง ERCPP มองเห็นท่อก๊าซธรรมชาติมุดลงใต้น้ำอีกครั้ง

 

๓๐ ปีของการเดินทางสู่ผู้บริโภค

“บทเรียนจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติหลุมแรกทำให้เรารู้ว่าการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติจากใต้ท้องทะเลที่ต้องขุดลึกลงไป ๓-๕ กิโลเมตรไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนไทย แต่ก็ทำให้พวกเราได้เริ่มต้นเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต ได้เรียนรู้หลักวิชาธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์จากเพื่อนร่วมงานต่างชาติ นับจากวันแรกที่ผู้บริหารและพนักงานออฟชอร์ยังเต็มไปด้วยคนต่างชาติ ถึงวันนี้พนักงานคนไทยเติบโตและพิสูจน์ความสามารถจนบนเอราวัณคอมเพล็กซ์ไม่ปรากฏภาพหัวหน้างานที่เป็นชาวต่างชาติแล้ว”

ประเสริฐ รัตนาพรประดิษฐ์ ผู้จัดการฐานผลิตก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (พ.ศ. ๒๕๕๑-ปัจจุบัน) เล่าความทรงจำของพนักงานรุ่นบุกเบิกเมื่อ ๓๐ ปีก่อน ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวท่ามกลางการใช้ชีวิตกลางทะเล ต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงานซึ่งไม่เหมือนใคร

ที่เอราวัณคอมเพล็กซ์ นอกจากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งฟูนาน แหล่งบรรพต แหล่งจักรวาล และแหล่งสตูล ยังต้องอาศัยเอราวัณคอมเพล็กซ์เป็นศูนย์กลางหรือฮับ (Hub) ในการส่งก๊าซธรรมชาติเข้าสู่ท่อประธานของบริษัท ปตท. ขึ้นสู่ฝั่งด้วย

๑ ท่อมุ่งตรงไปทางทิศตะวันตก ขึ้นฝั่งที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทางประมาณ ๑๔๕ กิโลเมตร

๓ ท่อมุ่งตรงไปทางทิศเหนือ ขึ้นฝั่งที่ตำบลมาบตาพุด จังหวัดระยอง ระยะทาง ๔๒๕ กิโลเมตร

ทุกท่อมุ่งหน้าสู่โรงแยกก๊าซธรรมชาติบนแผ่นดินเพื่อคัดแยกสารประกอบไฮโดรคาร์บอนชนิดต่าง ๆ ออกจากกัน

ก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบที่มีปริมาณมากที่สุด นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า และเป็นวัตถุดิบของโรงงานผลิตปุ๋ยเคมี

ก๊าซอีเทนและก๊าซโพรเพน นำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเม็ดพลาสติกและโครงสร้างรถยนต์

ก๊าซโพรเพนและก๊าซบิวเทน นำไปผ่านกระบวนการอัดความดันเป็นของเหลวบรรจุถังใช้เป็นก๊าซหุงต้มและเป็นเชื้อเพลิงรถยนต์

เฉพาะด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า ปัจจุบันไทยใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงราวร้อยละ ๗๐ ทดแทนน้ำมันเตาและถ่านหินที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และทดแทนการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำจากการสร้างเขื่อน

แม้อัลฟ่าหมายเลข ๖ หลุมก๊าซธรรมชาติหลุมแรกของไทยจะสิ้นสุดกระบวนการผลิตลงเมื่อปี ๒๕๔๑ คิดเป็นระยะเวลาราว ๑๗ ปีก่อนมีสถานะเป็นหลุมตาย แต่การขุดเจาะและผลิตก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลเดือนเมษายน ๒๕๕๔ ระบุว่าเฉพาะพื้นที่สัมปทานของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีหลุมก๊าซธรรมชาติขุดเจาะสะสมไม่ต่ำกว่า ๔,๑๙๐ หลุม ยอดการผลิตก๊าซธรรมชาติสะสม ๙.๗ ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เฉพาะอาณาเขตของแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณมีจำนวนหลุมก๊าซธรรมชาติสะสม ๖๘๐ หลุม ยอดการผลิตสะสม ๒.๖ ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

ปี ๒๕๕๔ แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณผลิตก๊าซธรรมชาติได้เฉลี่ยวันละ ๒๖๕ ล้านลูกบาศก์ฟุต ก๊าซธรรมชาติเหลววันละ ๑๓,๐๐๐ บาร์เรล และคาดว่าด้วยเทคโนโลยีการสำรวจและขุดเจาะในปัจจุบันจะยังผลิตก๊าซธรรมชาติเพียงพอต่อการบริโภคของสังคมไทยไปได้อีกยาวนาน

กลางอ่าวไทยวันนี้ยังมีขุมทรัพย์ทางพลังงานซุกซ่อนอยู่

อนาคตขึ้นอยู่กับความสามารถของการพัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียนรู้มาตลอดระยะเวลา ๓๐ ปี

รวมทั้งความตระหนักว่าทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดนี้ จะมีคุณค่ามหาศาลก็ต่อเมื่อเรารู้จักนำมาใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด