เรื่อง : ฐิตินันท์ ศรีสถิต


plasticbag02
ภาพ : Daily Mail online, 27 February 2008


>>
ร้อยละ ๔ ของผลพลอยได้ทั้งหมดจากกระบวนการกลั่นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติคือ “พลาสติก” ต้นทางของถุงพลาสติกหูหิ้วจึงหมายถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป ตรงกันข้ามกับปลายทางการใช้งานที่จะกลายเป็นขยะซึ่งไม่สูญสลายไปจากโลกโดยง่าย

>> แม้จะมีน้ำหนักเพียง ๔-๕ กรัม แต่มันสามารถแบกรับสัมภาระ
ได้ ๗-๘ กิโลกรัม หรือราวๆ ๒,๐๐๐ เท่าของน้ำหนักตัวเอง ความบางกับน้ำหนักเบาที่มาพร้อมความยืดหยุ่น ทนทาน และกันน้ำ ทำให้ถุงพลาสติกหูหิ้วซึ่งผลิตขึ้นและใช้งานในท้องตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว กลายเป็นผลิตภัณฑ์แห่งความสะดวกที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

>> เมื่อแรกปรากฏตัว ถุงพลาสติกหูหิ้วเป็นทางเลือกที่เข้ามาทดแทนถุงกระดาษซึ่งใช้งานกันแพร่หลายอยู่ในขณะนั้น โดยมีภาพบวกเรื่องช่วยลดการตัดต้นไม้เพื่อใช้ผลิตถุงกระดาษเป็นตัวกระตุ้นชั้นดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันกลับกลายเป็นต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมเสียเอง จึงเกิดกระแสรณรงค์หิ้วถุงผ้าในปัจจุบัน

>> เปรียบเทียบกับถุงกระดาษ กระบวนการผลิตถุงพลาสติกหูหิ้วมีดีกรีเขียวกว่ามาก เพราะใช้พลังงานน้อยกว่าร้อยละ ๔๐ สร้างขยะน้อยกว่าร้อยละ ๘๐ พ่นมลพิษทางอากาศน้อยกว่าร้อยละ ๗๐ และชนะขาดด้วยการปล่อยมลพิษทางน้ำน้อยกว่าร้อยละ ๙๔ ของการผลิตถุงกระดาษ

>> ถุงพลาสติกหูหิ้วที่บรรจุเต็มรถบรรทุกจำนวน ๑ คัน หากเปลี่ยนเป็นถุงกระดาษในจำนวนใบที่เท่ากัน จะต้องใช้รถบรรทุกถึง ๗ คันในการขนส่ง ซึ่งสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่า

>> ในขณะที่ถุงกระดาษย่อยสลายได้ ถุงพลาสติกหูหิ้วกลับอยู่ยงคงกระพัน หากฝังกลบมันจะนอนนิ่งใต้ดินไปอีกหลายร้อยปี หากส่งเข้าเตาเผาขยะจะแปลงร่างเป็นสารอันตราย ที่ชื่อ “ไดออกซิน” หากโยนทิ้งเกลื่อนกลาด นอกจากก่อมลพิษทางสายตา อุดตันทางระบายน้ำของเมือง ยังคร่าชีวิตสัตว์อีกนับไม่ถ้วนที่หลงกลืนลงท้องด้วยคิดว่าเป็นอาหาร

>> การผลิตถุงพลาสติกหูหิ้วใบใหม่จากถุงพลาสติกหูหิ้วใบเก่าต้องใช้พลังงานมากถึง ๒ ใน ๓ ของการผลิตถุงพลาสติกหูหิ้วมือหนึ่ง และผลลัพธ์ที่ออกมาก็ไม่ค่อยน่าพอใจ โดยเฉพาะการยึดเกาะระหว่างพอลิเมอร์ที่แยกขาดจากกันได้ง่ายขึ้น ซึ่งลดทอนคุณภาพลงค่อนข้างมาก

plasticbag01

>> มีความพยายามทำให้ถุงพลาสติกหูหิ้วเป็นมิตรกับโลกมากขึ้น โดยผลิตด้วยพอลิเมอร์ชีวภาพจากพืชอาหาร ๑๐๐ % หรือที่เรียกว่า “Biodegradable Plastic Bag” ซึ่งสามารถย่อยสลายได้หมดเกลี้ยงแม้จะต้องใช้เวลานานมาก

>> ถุงพลาสติกหูหิ้วบางประเภทประทับตรา “Biodegradable” แต่ผลิตขึ้นโดยผสมพอลิเมอร์จากปิโตรเลียมเข้ากับพอลิเมอร์ชีวภาพ ทำให้ถุงพลาสติกหูหิ้วแตกสลายเป็นชิ้นเล็กๆ ตามอายุขัยของพอลิเมอร์ชีวภาพ แต่ยังทิ้งเศษพลาสติกตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม จึงมิใช่การย่อยสลายตามธรรมชาติที่แท้จริง

ลดแลกแจกแถม

  • หิ้วถุงผ้าเพื่อลดจำนวนถุงพลาสติกหูหิ้วใบใหม่ที่จะเข้ามาในชีวิต
  • หากหลีกเลี่ยงการรับถุงพลาสติกหูหิ้วมือหนึ่งไม่ได้จริงๆ ให้ทำความสะอาด เก็บรวบรวมและหยิบมาใช้ซ้ำในยามจำเป็น

 

ที่มา :
http://www.treehugger.com/files/2008/07/paper-bags-or-plastic-bags-everything-you-need-to-know.php
และ http://www.plasticbagfacts.org