เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล

wavepower01หลายปีมาแล้วที่เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากคลื่นยังเดินตามหลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม แสงแดด หรือแม้แต่น้ำขึ้นน้ำลง  ด้วยอุปสรรคของการพัฒนาพลังงานสีเขียวจากเกลียวคลื่นคือมูลค่าการลงทุนมหาศาล ประกอบกับความเสี่ยงที่อุปกรณ์ซึ่งติดตั้งอยู่กลางทะเลจะได้รับความเสียหายจากการถูกคลื่นซัดสาด ดังเช่นเหตุการณ์เมื่อปี ๒๕๓๘

ครั้งนั้น ความหวังเรืองรองในการผลิตไฟฟ้าปริมาณ ๒ เมกะวัตต์จากกลจักรที่ได้รับการติดตั้งนอกชายฝั่งประเทศสกอตแลนด์ต้องพังทลายลงด้วยสภาพอากาศอันเลวร้าย อีกทั้งความรุนแรงของพายุในมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งเคยทำให้โครงการทดลองผลิตไฟฟ้าพลังคลื่นของยุโรปที่เกาะอะซอเรส ประเทศโปรตุเกส ต้องล่าช้าและได้รับความเสียหายมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม มนุษย์ยังคงไม่สิ้นหวัง หันมาเผชิญหน้าท้าทายมหาสมุทรอีกครั้ง

ล่าสุด บริษัท Pelamis Wave Power สัญชาติสกอต ได้ออกแบบอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากคลื่น ตั้งชื่อว่า “P2”

หลังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พลังงานทางทะเลแห่งยุโรป (European Marine Energy Center-EMEC) P2 ก็ได้รับการติดตั้งเพื่อทำการทดสอบเหนือน่านน้ำใกล้หมู่เกาะออร์คนีย์ ทางทิศเหนือของสกอตแลนด์ อันเป็นน่านน้ำซึ่งสร้างความหวาดผวาให้แก่ลูกเรือที่ต้องเดินเรือผ่านมาแล้วนักต่อนัก ด้วยระดับความแรงของเกลียวคลื่น

หน้าตาของ P2 มีลักษณะคล้ายอนาคอนดาเลื้อยอยู่กลางทะเล ด้วยขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๑๘๐ เมตร หันหัวออกท้าทายคลื่นแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง  บางคนอาจมองว่า P2 มีลักษณะคล้ายโบกี้รถไฟทรงกระบอก แต่ละโบกี้เชื่อมต่อกันด้วยบานพับขนาดใหญ่ให้เชิดหัวและลำตัวขึ้นลงได้  ส่วนตำแหน่งของ P2 จะไม่เคลื่อนย้ายไปไหน เพราะเบื้องล่างลึกลงไปใต้ท้องทะเลมันถูกยึดไว้ด้วยสมอ

wavepower02รอสส์ เฮนเดอร์สัน วิศวกรของบริษัท Pelamis Wave Power ให้ข้อมูลว่า “การผลิตไฟฟ้าของ P2 เกิดขึ้นเมื่อท่อยักษ์ทรงกระบอกที่ลอยอยู่เหนือน้ำถูกคลื่นซัดสาดแล้วคลื่นเคลื่อนผ่านไปตามแนวลำตัว ทำให้มันขยับโต้คลื่นเป็นจังหวะขึ้นลง  เมื่อนั้นอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าที่อยู่ภายในท่อทรงกระบอกจะเริ่มทำงาน เปลี่ยนพลังงานจากคลื่นเป็นพลังงานไฟฟ้า แล้วส่งต่อกระแสไฟฟ้าขึ้นฝั่งผ่านสายเคเบิลใต้ทะเล”

โดยปรกติการเคลื่อนที่ของอนุภาคน้ำจะให้พลังงานมากกว่าการเคลื่อนที่ของอากาศที่มีความเร็วเท่ากันถึง ๔๐ เท่า  และโดยธรรมชาติสภาวการณ์ในท้องทะเลมีความสม่ำเสมอกว่าสภาพอากาศซึ่งมีความแปรปรวน

“นี่คือความน่าสนใจของการผลิตไฟฟ้าจากคลื่น” วิศวกรของบริษัทสัญชาติสกอตกล่าว

ด้าน สตีเฟน วัตต์ ผู้นำของ The Carbon Trust หน่วยงานซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษเพื่อผลักดันสังคมคุณภาพที่ลดการใช้คาร์บอน ประเมินผลจากการศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า P2 น่าจะผลิตไฟฟ้าได้ราว ๗๕๐ กิโลวัตต์ มีค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าพลังคลื่นเท่ากับ ๔.๓ เพนซ์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง หรือเกือบ ๓ เท่าของไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง  จึงต้องหาทางเค้นพลังงานจากคลื่นออกมาให้ได้มากกว่านี้”

มนุษย์ผู้ไม่เคยท้อแท้สิ้นหวังยังต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะไฟฟ้าจากคลื่นซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย  นี่คือจุดเริ่มต้นและเป็นความหวังเรืองรองของการผลิตไฟฟ้าพลังคลื่นในอนาคต

“มนุษย์พูดถึงมันมาเป็นเวลา ๑๐๐ ปีแล้ว และเราหวังว่านับจากนี้มันจะเกิดขึ้นอย่างจริงจัง” สตีเฟน วัตต์ กล่าว