มวลน้ำมหาศาลมาจากไหน

เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

คำถามนี้เป็นเรื่องคาใจคนจำนวนมาก เพราะเกี่ยวพันกับข้อสงสัยว่ามหาพิบัติภัยครั้งนี้เป็นเพราะธรรมชาติหรือมนุษย์  มีผู้ตกเป็นจำเลยหลายราย ตั้งแต่พายุใหญ่ ๕ ลูก เขื่อนใหญ่ ๒ เขื่อน พรรคการเมือง กทม. ฯลฯ

เราคงต้องมาดูที่ข้อมูลข้อเท็จจริงในประเด็นใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน คือ ปริมาณน้ำฝน น้ำท่า และสภาพของพื้นที่รับน้ำที่แตกต่างกันจากภาคเหนือถึงที่ราบลุ่มภาคกลาง

“น้ำฝน” มากแค่ไหน

จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ปีนี้พื้นที่ภาคเหนือทุกจังหวัดมีปริมาณฝนเฉลี่ยสูงกว่าค่าปรกติ (คิดจากค่าเฉลี่ย ๓๐ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔-๒๕๔๓) โดยมีฝนตกสม่ำเสมอมาตลอดตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนเดือนมีนาคมต่อเนื่องเข้าฤดูฝนจนถึงเดือนตุลาคม ไม่มีปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วงเช่นปีอื่นๆ  ภาคเหนือมีปริมาณฝนเฉลี่ยสูงกว่าค่าปรกติถึงร้อยละ ๔๒  ส่วนภาคกลางมีปริมาณฝนเฉลี่ยสูงกว่าค่าปรกติมาตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนสิงหาคม แต่สูงน้อยกว่าภาคเหนือ คือประมาณร้อยละ ๒๔

เมื่อเปรียบเทียบปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในภาคเหนือของปีนี้กับปีอุทกภัยใหญ่เมื่อปี ๒๕๓๘, ๒๕๔๙ และปีที่แล้ว ๒๕๕๓  ฝนปีนี้สูงกว่าทุกปี และทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือสูงเป็นอันดับ ๑ หากคิดปริมาณฝนรวมทั้งประเทศ (ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนกันยายน) ลบสถิติเดิมของปี ๒๔๙๖ และปี ๒๕๑๓ ซึ่งต้องตกอันดับเป็นที่ ๒ และ ๓

โดยภาพรวมแล้วต้องยอมรับว่าปีนี้ฝนมากจริง !

ต้นตอของฝนมาจากอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีกำลังแรงมาตั้งแต่ต้นปี รวมถึงอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้ที่เคลื่อนตัวเข้าคาบสมุทรอินโดจีนต่อเนื่องตั้งแต่มิถุนายนถึงตุลาคม เช่นตอนต้นเดือนพฤษภาคม ลมมรสุมทำให้ฝนตกหนักทางภาคเหนือ  ลำปางและพะเยาเกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมเมืองเสียหายหนักสุดในรอบหลายปี  ส่วนเดือนสิงหาคมซึ่งแม้จะไม่มีพายุหมุนเขตร้อน แต่ร่องมรสุมทำให้มีฝนตกหนักกระจายทุกพื้นที่

พายุหมุนเขตร้อนที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในปีนี้มีจำนวนถึง ๕ ลูก ส่วนใหญ่ก่อตัวในทะเลจีนใต้ในระดับพายุโซนร้อน ซึ่งถือเป็นพายุกำลังแรงปานกลาง ยังไม่รุนแรงถึงขั้นไต้ฝุ่น  เมื่อเคลื่อนมาถึงประเทศเวียดนาม ลาว และไทยในพื้นที่ทางภาคเหนือ ก็อ่อนกำลังลงตามลำดับเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำ (บริเวณที่มีฝนตกหนาแน่น) ได้แก่

พายุโซนร้อนไหหม่า (Haima) ในปลายเดือนมิถุนายน

พายุโซนร้อนนกเตน (Nock-ten) ปลายเดือนกรกฎาคมต่อต้นเดือนสิงหาคม

พายุโซนร้อนไห่ถาง (Haitang) ปลายเดือนกันยายน (เว้นช่วงจากนกเตนไปเกือบสองเดือน)

พายุไต้ฝุ่นเนสาด (Nesat) (ไต้ฝุ่นเพียงลูกเดียวของปีนี้) ต้นเดือนตุลาคม ซึ่งกระหน่ำตามไห่ถางมาติดๆ ในเวลาไม่กี่วัน และสุดท้าย

พายุโซนร้อนนาลแก (Nalgae) ต้นเดือนตุลาคม ถัดจากเนสาดเพียง ๓-๔ วัน

ในจำนวนทั้ง ๕ ลูก มีพายุโซนร้อนนกเตนลูกเดียวที่เคลื่อนตัวเข้าถึงประเทศไทยในระดับพายุดีเปรสชัน ส่วนลูกอื่นอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำหมดแล้ว

แม้ส่วนใหญ่เราจะโดนเพียงหางเลขของพายุ (ขณะที่ฝั่งเวียดนามโดนพายุจัดหนักกว่า) แต่ก็ก่อให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องกันเป็นบริเวณกว้างตลอดช่วง ๓-๔ เดือนในพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำปิง วัง ยม และน่าน ซึ่งมีสภาพเป็นเทือกเขาลาดชัน เกิดน้ำป่าไหลหลากจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็ว  ชุมชนตามที่ลาดเชิงเขาเกิดน้ำท่วมฉับพลัน พื้นที่บางแห่งประสบภัยดินถล่ม  ส่วนบริเวณที่ราบริมลำน้ำซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนหรือเมือง และพื้นที่ลุ่มทำการเกษตร เกิดน้ำท่วมจากปริมาณน้ำในลำน้ำสูงล้นตลิ่งเข้าท่วมขัง ทั้งตามลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขา

แทบทุกจังหวัดภาคเหนือเผชิญกับอุทกภัย รวมถึงหลายจังหวัดในภาคอีสาน

มวลน้ำ หรือ “น้ำท่า” มากเท่าไร ปลาวาฬกี่ตัว

จากพื้นที่เทือกเขาสูงในภาคเหนือสู่ที่ราบลุ่มภาคกลาง มวลน้ำไหลบ่าจากที่สูงสู่ที่ต่ำตามแรงโน้มถ่วงของโลกโดยมีจุดรวมพลของลุ่มน้ำต่างๆ ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์  สถานการณ์เริ่มส่งผลต่อจังหวัดในภาคกลางที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมจากอิทธิพลของพายุนกเตน

ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่า ต้นเดือนสิงหาคม ปริมาณน้ำท่าที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ อ.เมือง
จ.นครสวรรค์ อยู่ที่ราว ๑,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ปรกติ และเพิ่มมากขึ้นทุกวันจนถึงต้นเดือนกันยายนเป็น ๒,๘๐๐ ลบ.ม./วินาที

จุดวิกฤตมาถึงตอนกลางเดือนกันยายน ด้วยปริมาณน้ำท่าสูงกว่า ๓,๕๐๐ ลบ.ม./วินาที ซึ่งถือเป็นความจุสูงสุดของแม่น้ำเจ้าพระยา และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงสิ้นเดือนกันยายนเป็น ๔,๓๐๐ ลบ.ม./วินาที

มากมายแค่ไหน

ลองจินตนาการว่า เมื่อคุณกะพริบตาช้าๆ หนึ่งครั้ง ถังขนาด ๑x๑x๑ เมตร จำนวน ๔,๓๐๐ ลูกที่วางเป็นกำแพงเรียงยาว ๑๐๐ เมตร สูง ๔๓ เมตร หรือเท่าตึกคอนโดสูง ๑๔ ชั้น จะหายวับผ่านหน้าคุณไปทันที !

ตลอดเดือนตุลาคมปริมาณน้ำท่ายังคงมีค่าเฉลี่ยสูงกว่า ๔,๓๐๐ ลบ.ม./วินาที จนถึงสิ้นเดือนจึงลดลงมาอยู่ที่ ๓,๕๐๐ ลบ.ม./วินาที  และเข้าสู่เกณฑ์ปรกติในเดือนพฤศจิกายน

เมื่อรวมปริมาณน้ำท่าที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่นครสวรรค์ ในเดือนสิงหาคมมีทั้งสิ้นราว ๕,๔๒๒ ล้าน ลบ.ม.  เดือนกันยายน ๙,๓๗๐ ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูลเดือนสิงหาคมและกันยายนคำนวณจากการรวมข้อมูลปริมาณน้ำท่าทุกวัน) และเดือนตุลาคมประมาณ ๑๑,๐๐๐ ล้าน ลบ.ม. (คิดประมาณจากค่าเฉลี่ย เนื่องจากข้อมูลปริมาณน้ำท่าในเดือนตุลาคมไม่สามารถวัดได้ครบทุกวัน)

ตลอดเวลา ๓ เดือนของสถานการณ์น้ำท่วม คิดรวมมวลน้ำราว ๒๖,๐๐๐ ล้าน ลบ.ม. มากกว่าความจุของเขื่อนภูมิพล (๑๓,๔๖๒ ล้าน ลบ.ม.) และเขื่อนสิริกิติ์ (๙,๕๑๐ ล้าน ลบ.ม.) รวมกัน

ถ้าคิดตามสูตร “ปลาวาฬสีน้ำเงิน” ของ รู้ สู้ ! Flood จะเทียบน้ำหนักน้ำนี้ได้เท่ากับวาฬสีน้ำเงิน ๑๓๐ ล้านตัว (วาฬสีน้ำเงิน ๑ ตัวหนักประมาณ ๒๐๐ ตัน)

“ปลาวาฬ” ทุกตัวไม่ได้แหวกว่ายโถมไปทั่วพื้นดินภาคกลาง เพราะส่วนหนึ่งถูกจัดให้ลงทะเลอ่าวไทย ผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน

7question03

แผนผัง : เส้นทางน้ำจากลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ลงสู่พื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ที่มา : กรมชลประทาน / หมายเหตุ : ตัวเลขในวงเล็บแสดงความจุลำน้ำสูงสุด

จัดทัพน้ำ ไปซ้าย ออกขวา

หลายคนอาจลืมไปแล้วว่าจากนครสวรรค์ถึงตอนเหนือกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งได้รับการจัดการด้านการชลประทานมานานหลายสิบปี โดยมีเขื่อนเจ้าพระยาที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เป็นเขื่อนทดน้ำสำคัญ ทำหน้าที่ผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือเขื่อน เข้าคลองชลประทานต่างๆ สู่ทุ่งฝั่งตะวันออกและทุ่งฝั่งตะวันตก

ระบบส่งน้ำทุ่งฝั่งตะวันออกมีคลองสำคัญคือ คลองชัยนาท-อยุธยา และคลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งยาวกว่า ๑๓๐ กิโลเมตร ส่งน้ำลงมาถึงคลองระพีพัฒน์และคลองรังสิตประยูรศักดิ์ บริเวณทุ่งรังสิต จ. ปทุมธานี  ส่วนระบบส่งน้ำทุ่งฝั่งตะวันตกผันน้ำส่วนใหญ่ลงแม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย (ลงมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งที่ อ. บางไทร พระนครศรีอยุธยา) นอกจากนี้ยังมีคลองเล็กๆ อีกหลายสาย ส่งน้ำผ่านคลองซอยอีกหลายร้อยคลองเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก

ในภาวะปรกติ กรมชลประทานควบคุมจัดสรรน้ำเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ได้อย่างดี และหากน้ำเหนือมากจนอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา คลองที่ใช้เพื่อการชลประทานก็จะเปลี่ยนมาทำหน้าที่เป็นคลองระบายน้ำ โดยจะจัดการพร่องน้ำในคลองไว้ก่อนล่วงหน้า เพื่อให้รับน้ำส่วนเกินมาได้  รวมทั้งยังประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อีกทางหนึ่ง

วิธีนี้เป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้จัดการปัญหาช่วงน้ำเหนือมากผิดปรกติมาตลอด

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งอยู่ท้ายน้ำ จึงไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำเหนือไหลหลาก เพราะพื้นที่เกษตรกรรมทางตอนเหนือกรุงเทพฯ เป็นผู้แบกรับน้ำไว้แทนมาแทบทุกปี

ที่นครสวรรค์ ความจุน้ำสูงสุดของแม่น้ำเจ้าพระยาที่รับได้ คือไม่เกิน ๓,๕๐๐ ลบ.ม./วินาที  ถือเป็นขีดอันตราย เพราะเกินกว่านี้น้ำจะล้นตลิ่งแน่นอน  แต่ความจุของคลองและแม่น้ำเจ้าพระยาทางตอนล่างลงมา ล้วนต่ำกว่านี้แทบทั้งสิ้น  ปริมาณน้ำในระดับเพียง ๑,๕๐๐-๒,๐๐๐ ลบ.ม./วินาที ก็อาจทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง หรือบริเวณที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำได้รับผลกระทบ เช่นพื้นที่ในจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา

ดังนั้นหากสถานการณ์ไม่รุนแรงจริงๆ เขื่อนเจ้าพระยาจะควบคุมไม่ให้น้ำไหลผ่านเขื่อนเกิน ๒,๐๐๐ ลบ.ม./วินาที โดยผันน้ำส่วนเกินเข้าทุ่งฝั่งตะวันออกและทุ่งฝั่งตะวันตก

ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ๒๕๕๔ เมื่อปริมาณน้ำเริ่มสูงเกินขีดอันตราย เขื่อนเจ้าพระยาไม่อาจกักกั้นน้ำไว้ได้ ต้องปล่อยน้ำไหลท่วมผ่านเต็มพิกัด คลองชลประทานทุกสายรับน้ำเกินความจุ น้ำสูงท่วมเอ่อล้นตลิ่ง บางแห่งแรงดันน้ำทำลายคันกั้นน้ำที่ไม่แข็งแรงพัง เปิดทางให้มวลน้ำแผ่กระจายเข้าท่วมที่ลุ่ม และไหลบ่าลงสู่ที่ต่ำกว่าตามความลาดชันของพื้นที่  น้ำเข้าท่วมขังตามพื้นที่ทุ่งนา ถนนหนทาง หมู่บ้าน ชุมชนเมือง โรงงาน และนิคมอุตสาหกรรม

ระดับน้ำท่วมลึก ๒-๓ เมตรกลายเป็นเรื่องธรรมดา ขณะที่บางแห่งน้ำลึกกว่า ๔ เมตรขึ้นไป

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงถึงมวลน้ำที่แผ่ท่วมไปทั่วพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยืนยันถึงพลังของธรรมชาติที่ยากแก่การควบคุมเช่นในอดีต

“ปลาวาฬ ๕๐ ล้านตัว”

ตัวเลขที่สร้างความตื่นตระหนกมากในมหาอุทกภัยครั้งนี้คือ จำนวนมวลน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งคาดการณ์ว่าจะต้องเคลื่อนผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลลงสู่ทะเล

คลิปวิดีโอของ รู้ สู้ ! Flood เปรียบว่ามีน้ำอยู่บนพื้นดินภาคกลาง ๑๐,๐๐๐ ล้าน ลบ.ม. เท่ากับปลาวาฬ ๕๐ ล้านตัว และระบายออกอ่าวไทยได้วันละ ๑ ล้านตัว ต้องใช้เวลา ๕๐ วันจึงจะพาปลาวาฬลงทะเลได้หมด

ส่วนนักวิชาการสำนักต่างๆ คาดการณ์มวลน้ำนี้แตกต่างกันไป ตั้งแต่ ๑๒,๐๐๐ ล้าน ลบ.ม. ถึง ๑๖,๐๐๐ ล้าน ลบ.ม.

ตัวเลขนี้คงต้องทิ้งให้นักวิชาการตรวจสอบหาความถูกต้องชัดเจนกันต่อไป เพราะคงขึ้นอยู่กับการวัดปริมาณน้ำในช่วงวันใด โดยน้ำเหนือที่ไหลผ่านนครสวรรค์ในระดับเกินความจุสูงสุดและหลากเข้าท่วมที่ราบลุ่มสองฝั่งลำน้ำ ยังมีต่อเนื่องมาถึงสิ้นเดือนตุลาคม

มวลน้ำก้อนใหญ่จึงมีการเติมเข้าสู่พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตลอดเวลาอย่างน้อย ๒ เดือน

วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๔ กรมชลประทานให้ข้อมูลว่ามีปริมาณน้ำท่วมขังตามทุ่งตอนบนของภาคกลาง คิดเป็นร้อยละ ๓๐ ของมวลน้ำทั้งหมด ส่วนอีกร้อยละ ๓๐ อยู่ตามลำน้ำต่างๆ ซึ่งมวลน้ำเหล่านี้ไม่ได้ไหลเข้ากรุงเทพฯ เป็นทัพใหญ่อย่างที่หลายคนวิตก แต่จะค่อยๆ ทยอยไหลลงมาเป็นระลอกๆ อย่างต่อเนื่อง  ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่นครสวรรค์ลงมาได้ลดระดับที่ไม่เกินล้นตลิ่งทุกจุดแล้ว (ยกเว้นเพียงที่บางไทร)