เขื่อน “ตัวช่วย” หรือ “ตัวการ” ของน้ำท่วมใหญ่

เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

ระหว่างเหตุอุทกภัยช่วงปลายเดือนตุลาคม มีกระแสเสียงทั้งตั้งคำถามและถึงขั้นกล่าวโทษเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ว่าเป็นต้นเหตุของน้ำท่วมที่รุนแรงกว่าทุกปี ด้วยการปล่อยน้ำจำนวนมหาศาลออกมาพร้อมๆ กันในตอนต้นเดือนตุลาคม

เรื่องนี้มีส่วนจริงมากน้อยเพียงไร เราลองมาฟังข้อมูลจากการชี้แจงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ดูแลเขื่อนกันก่อน

บทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ กฟผ. เรื่อง “ความจริง…การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์” และ “ตอบประเด็นคำถามสถานการณ์น้ำและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย” อธิบายไว้ว่า การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนมีการจัดการในกรอบของเกณฑ์สองตัว คือ

– เกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่าง (Lower Rule Curve) เพื่อควบคุมระดับน้ำไม่ให้ต่ำกว่าเกณฑ์นี้ในช่วงฤดูแล้ง เพราะจะมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในปีถัดไป และ
– เกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบน (Upper Rule Curve) เพื่อควบคุมไม่ให้การเก็บน้ำสูงเกินจนน้ำล้นเขื่อนและต้องเปิดประตูระบายน้ำล้น (Spillway) ซึ่งระดับน้ำที่เกินความจุของอ่างเก็บน้ำจะส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อน

ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งมีประธานคืออธิบดีกรมชลประทาน และกรรมการจากอีก ๘ หน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือ กฟผ. ซึ่งยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามมติของคณะอนุกรรมการฯ มาตลอด

7question01กราฟแสดงการเก็บกักน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ (เม.ย. ๒๕๕๓-มี.ค.๒๕๕๔)

7question02

กราฟแสดงการเก็บกักน้ำในเขื่อนภูมิพล (เม.ย. ๒๕๕๓-มี.ค.๒๕๕๔)

เมื่อย้อนดูสถานการณ์ของปีนี้ เขื่อนภูมิพลในช่วงเดือนสิงหาคมต้องลดการระบายน้ำเนื่องจากลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้รับผลกระทบจากพายุนกเตน  พอเข้าเดือนกันยายนก็ต้องลดการระบายน้ำเนื่องจากฝนที่ตกหนักในภาคเหนือตอนล่าง โดยในเดือนกันยายนมีการปล่อยน้ำเพียงวันละ ๒๐ ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสูงขึ้นเรื่อยๆ

ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ถึง ๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสะสม ๘,๙๐๔ ล้าน ลบ.ม. สูงที่สุดที่เคยเกิด และทำลายสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนที่เคยสูงสุดในปี ๒๕๑๖

ต้นเดือนตุลาคม ระดับน้ำสูงถึงเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบน ขณะที่มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุ ๓ ลูก (ไห่ถาง เนสาด และนาลแก) เขื่อนภูมิพลจึงต้องระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้น รวมการระบายน้ำทั้งผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและประตูระบายน้ำล้นในวันที่ ๑-๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ ราว ๑,๖๐๐ ล้าน ลบ.ม. โดยระหว่างวันที่ ๕-๑๑ ตุลาคม เป็นช่วงที่ปล่อยน้ำสูงสุดถึงวันละราว ๑๐๐ ล้าน ลบ.ม.

ส่วนเขื่อนสิริกิติ์ สถานการณ์ไม่ต่างจากเขื่อนภูมิพลนัก คือมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากและเร็วกว่าฤดูฝนปรกติ  ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ถึง ๒๙ กันยายน ๒๕๕๔ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสะสม ๙,๓๙๗ ล้าน ลบ.ม. สูงที่สุดที่เคยเกิด และทำลายสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในปี ๒๕๓๘

เขื่อนสิริกิติ์ต้องระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำล้นตั้งแต่วันที่ ๒๕ สิงหาคม-๑๑ กันยายน ๒๕๕๔ เนื่องจากระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุมและใกล้เต็มความจุของอ่างเก็บน้ำ  รวมทั้งยังคงมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำถึงวันละ ๗๐-๑๕๐ ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเขื่อนสิริกิติ์ต้องระบายน้ำออกราว ๗๐ ล้าน ลบ.ม./วัน เพื่อป้องกันน้ำล้นเขื่อน

มาดูข้อมูลของกรมชลประทานบ้าง

จากข้อมูลปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านตัวเมืองนครสวรรค์ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม มีน้ำไหลผ่าน
วันละมากกว่า ๒๐๐ ล้าน ลบ.ม.  และมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดที่แม่น้ำรับได้คือ ๓๐๐ ล้าน ลบ.ม./วัน ในราวกลางเดือนกันยายน

การปล่อยน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์เฉลี่ยวันละ ๗๐ ล้าน ลบ.ม. จึงนับว่ามีส่วนถึงร้อยละ ๒๓-๓๐ ของมวลน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว

เช่นเดียวกับการปล่อยน้ำวันละ ๑๐๐ ล้าน ลบ.ม. ของเขื่อนภูมิพลในเดือนตุลาคม อันเป็นช่วงเวลาที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงต่อเนื่องมาจากเดือนกันยายน และสร้างความเสียหายต่อพื้นที่สองฝั่งริมน้ำมากที่สุด โดยเดือนตุลาคม แม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำเกินความจุสูงสุดไปแล้ว คือสูงถึงกว่าวันละ ๓๗๒ ล้าน ลบ.ม.

น้ำที่ปล่อยจากเขื่อนภูมิพลจึงคิดเป็นร้อยละ ๒๗ ของมวลน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาดังกล่าว

หากพิจารณาในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน กฟผ. ให้ข้อมูลว่าสองเขื่อนปล่อยน้ำรวมกัน ๔,๙๑๕ ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ข้อมูลของกรมชลประทาน มีน้ำไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาใน ๒ เดือนนั้น ๑๔,๗๙๒ ล้าน ลบ.ม.

น้ำจากสองเขื่อนจึงคิดเป็นร้อยละ ๓๓ หรือ ๑ ใน ๓ ของมวลน้ำทั้งหมด ซึ่งต้องยอมรับว่าแม้ไม่ใช่มวลน้ำหลัก แต่ก็มีสัดส่วนไม่น้อยเช่นกัน

ในกรณีนี้จึงอาจสรุปแบบถนอมตัวได้ว่า เขื่อนไม่ใช่ทั้ง “ตัวการ” และไม่ได้เป็น “ตัวช่วย”

ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในอนาคตคงจะยิ่งทำให้การบริหารจัดการเขื่อนยากลำบากยิ่งขึ้น ด้วยภาวะฤดูแล้งที่แล้งจัด และฤดูฝนกับพายุและปริมาณฝนตกสูงผิดปรกติอย่างฉับพลัน

ไม่นับรวมป่าต้นน้ำที่หดหายซึ่งทำให้น้ำไหลบ่าลงลุ่มน้ำต่างๆ รวมถึงอ่างเก็บน้ำเร็วขึ้นกว่าเมื่อก่อน แม้แต่บทความของ กฟผ. เองก็ยอมรับว่า

“…เราไม่สามารถคาดการณ์สภาพดินฟ้าอากาศล่วงหน้าได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ บางปีก็เป็นไปตามคาดการณ์ บางปีก็ไม่เป็นไปตามคาดการณ์…”

การจัดการว่าจะกักเก็บน้ำไว้ หรือปล่อยน้ำเท่าใดในช่วงที่ระดับน้ำอยู่ระหว่างเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวล่างและเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบน จึงยากแก่การคาดการณ์หรือรับประกันว่าจะไม่เกิดผลกระทบขึ้นในอนาคต

ข้ออ้างการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม ตรวจสอบ และถกเถียงกันอย่างจริงจังต่อไป

หมายเหตุ : สำหรับผู้สนใจประเด็นนี้ อ่านบทชี้แจงในรายละเอียดของ กฟผ. ได้ที่เว็บไซต์
www.egat.co.th/wwwthai/images/stories/10faq28oct2554.doc
www.egat.co.th/wwwthai/images/stories/10__32554.doc
ส่วนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อผิดพลาดในการจัดการปล่อยน้ำของเขื่อน เช่น การปล่อยน้ำมากเกินไป การปล่อยน้ำล่าช้าเกินไป  อ่านลับสมองเพิ่มได้ที่
http://www.vcharkarn.com/vblog/115166/1

http://www.oknation.net/blog/anonym/2011/10/14/entry-1
http://prachatai.com/journal/2011/11/37817