7question04

ผังเค้าโครงเมืองศูนย์กลางกรุงเทพมหานคร (ที่มา : ดัดแปลงจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี ๒๕๒๖)

น้ำท่วมครั้งนี้เสียหายรุนแรงและระบายน้ำลงทะเลได้ช้าเพราะมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวาง จริงหรือไม่

เรื่อง : สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

นักวิชาการเกือบทุกสำนักออกมาประสานเสียงต่อคำถามนี้ว่า ใช่ ด้วยข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมร่วมกันประการหนึ่งว่า ต้องมีการวางผังเมืองอย่างจริงจัง และต้องควบคุมกรุงเทพฯ ไม่ให้โตไปกว่านี้

ย้อนเวลาไป ๓๐ ปีก่อน ปัญหาการขยายตัวของเมืองหลวงอย่างไร้ทิศทาง ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีใครคิดถึง

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (๒๕๒๕-๒๕๒๙) กำหนดนโยบายพัฒนาเมืองไว้แล้ว โดยวางมาตรการมิให้ตัวเมืองกรุงเทพมหานครขยายออกไปยังพื้นที่เกษตรซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูงและรัฐได้ลงทุนด้านระบบชลประทานไว้  ซึ่งต้องอาศัยการปรับปรุงกฎหมายผังเมือง การควบคุมการจัดสรรที่ดิน การควบคุมอาคาร ฯลฯ

การศึกษาเรื่องการพัฒนาเมืองของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี ๒๕๒๖ เสนอให้พื้นที่เขตชานเมือง ประกอบด้วยเขตทางฝั่งตะวันออกของเจ้าพระยา คือ มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง และเขตทางฝั่งตะวันตก คือ ตลิ่งชัน หนองแขม บางขุนเทียน รวมทั้งหมด ๖ เขต และถึงรวมพื้นที่บางส่วนในจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ

พื้นที่เหล่านี้กำหนดเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับการทำการเกษตร ป้องกันการขยายตัวของเมืองหลวง และเป็นที่รับน้ำหลากก่อนระบายลงสู่ทะเล

การศึกษาระบุถึงปัญหาในสมัยนั้นว่า คือ นโยบายที่ไม่ชัดเจนและไม่มีการบังคับใช้ผังเมือง มีการส่งเสริมการลงทุนและอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น และการทำลายพื้นที่เกษตรกรรมชานเมืองปีละจำนวนมากเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และอาคารที่อยู่อาศัย

เกือบ ๓๐ ปีผ่านไป น่าตกใจว่าปัญหาทั้งหลายที่กล่าวไว้ ไม่แตกต่างจากอดีตเลย

มาดูผังเค้าโครงเมืองศูนย์กลางกรุงเทพมหานครที่จัดทำในครั้งนั้น จะเห็นทันทีว่าสถานที่ซึ่งได้รับความเสียหายจากอุทกภัยปีนี้ ล้วนอยู่ในพื้นที่ซึ่งควรจะรักษาให้เป็นพื้นที่สีเขียวระบายน้ำลงทะเลมาตั้งแต่ ๓๐ ปีก่อน

สนามบินสุวรรณภูมิก็ถือเป็นตัวอย่างของสิ่งก่อสร้างจากนโยบายของรัฐบนพื้นที่ผิดธรรมชาติ เพราะสร้างบนหนองงูเห่า พื้นที่แก้มลิงกว้างใหญ่กว่า ๒ หมื่นไร่

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

“ในอดีตฝั่งตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำขังตามธรรมชาติ หรือเรียกว่า ทุ่งน้ำขัง ความลึก ๒-๗ เมตร เช่น ทุ่งบางบัวทอง ลาดหลุมแก้ว ทุ่งหลวงหรือทุ่งรังสิต ทุ่งบางเขน…ต่อมามีการขุดคลองลัดแม่น้ำ คลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำ จากนั้นสร้างถนนกั้นขวางทางน้ำท่วมไหลหลาก และเกิดชุมชนเมืองต่อมา…

“ปัจจุบันนักศึกษาที่เรียนจบร้อยละ ๙๐ เข้ามาทำงานใน กทม. ซื้อบ้านอยู่ตามนอกเมือง เกิดการถมที่ถมคลองขยายทำหมู่บ้านจัดสรรแถวรังสิต ลำลูกกา บางบัวทอง สภาพพื้นที่เดิมเป็นที่รับน้ำหลาก ก็เป็นปัญหางูกินหาง…ปัจจุบันคนไล่ที่น้ำ เมืองยิ่งโตยิ่งท่วมหนัก เดี๋ยวนี้ไม่มีพื้นที่ให้น้ำ ธรรมชาติก็เอาคืน…” (ไทยโพสต์ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๔)

ผลจากแนวถนนและชุมชน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งสร้างกลางพื้นที่กลางทุ่งนาเดิมอันเป็นที่ต่ำ คือการแบ่งกั้นพื้นที่
ออกเป็นบล็อกๆ  เมื่อน้ำไหลหลากมา น้ำซึ่งเคยไหลผ่านไปอย่างสะดวกจึงเข้าไปท่วมขังอยู่ภายในบล็อก และยากต่อการระบายน้ำออก

ย้อนกลับไปดูตัวอย่างจากจุดวิกฤตหนึ่งของอุทกภัยครั้งนี้ คือการป้องกันมวลน้ำเข้ากรุงเทพฯ โดยใช้แนวคลอง
ระพีพัฒน์เป็นด่านปราการสำคัญ

ในอดีตพื้นที่ใต้คลองระพีพัฒน์คือทุ่งหลวงหรือทุ่งรังสิต เขตเกษตรกรรมซึ่งมีการจัดการด้านชลประทานโดยมีคลองสาขามากมายรับน้ำต่อลงมาจากคลองระพีพัฒน์และคลองรังสิต-ประยูรศักดิ์  แต่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยหนาแน่น  เมื่อมวลน้ำในทุ่งฝั่งตะวันออกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลหลากมาถึงและไม่สามารถผ่านแนวคลองระพีพัฒน์ที่ปิดประตูระบายน้ำเข้าคลองสาขาต่างๆ รวมทั้งชาวบ้านได้ช่วยกันเสริมคันกั้นน้ำไว้  มวลน้ำจึงไหลเทไปทางตะวันตกเข้ารวมกับมวลน้ำซึ่งไหลบ่าลงมาจากทุ่งฝั่งตะวันตก  เป็นเหตุให้ในเวลาต่อมา ปทุมธานี นนทบุรี และฝั่งธนบุรี ได้รับผลกระทบหนักและรุนแรงจากมวลน้ำที่มีปริมาณมากกว่าทางฝั่งตะวันออก

แต่ปราการคลองระพีพัฒน์ก็ไม่อาจรับมือมวลน้ำมหาศาลไว้ได้นาน ในที่สุดมวลน้ำก็เอ่อท่วมดันปราการพังทลาย น้ำไหลหลากเข้าสู่ทุ่งรังสิตตามเส้นทางน้ำนับแต่อดีต

มวลน้ำที่ไหลเทไปรวมกันทางตะวันตกตั้งแต่แรกยังเอ่อท่วมทะลุเข้าทำลายนิคมอุตสาหกรรมนวนคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ตลาดไท และเคลื่อนเข้าสู่กรุงเทพมหานครทางด้านดอนเมือง ซึ่งถือเป็นทัพแรกของมวลน้ำที่เข้าสร้างความเสียหายแก่กรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา

น่าคิดไม่น้อยว่า หากน้ำเดินทางผ่านตามเส้นทางระบายน้ำดั้งเดิมได้ สถานการณ์และความเสียหาย รวมถึงการระบายน้ำลงทะเล จะเปลี่ยนไปจากที่เกิดขึ้นแล้วมากน้อยแค่ไหน

ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง หัวหน้าศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้แง่คิดประเด็นนี้ว่า

“เราต้องค่อยๆ จำกัดการเติบโตของเมืองไม่ให้โตในที่ที่ไม่ควรโต เราเปลี่ยนธรรมชาติ แล้วเราก็โทษธรรมชาติว่าเขารุนแรง ความจริงเราไม่เข้าใจเขาต่างหาก  เราต้องจัดโซนพื้นที่ จำกัดพื้นที่  ที่ผ่านมาพื้นที่ซึ่งเป็นที่นา เราปล่อยให้เป็นที่อยู่อาศัยได้อย่างไร  เราปล่อยปละละเลยกับการจัดผังเมือง ปล่อยให้เกิดการบุกรุกในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ผ่านน้ำ เราปล่อยให้เมือง หมู่บ้านจัดสรร ไปโตอยู่ในทุ่งนา  นั่นคือสิ่งที่เราไม่เข้าใจธรรมชาติ”

อ้างอิง : เอกสาร “การพัฒนาและการขยายเมือง : แนวความคิด ทฤษฎี และระเบียบวิธีวิจัย” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เอกสารทางวิชาการ หมายเลข ๗๔