ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : รายงาน /  มูลนิธิสืบนาคะเสถียร : ภาพ

jompa01ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ตั้งอยู่ประชิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แบ่งเป็น ๔ หมู่บ้าน คือ บ้านใต้ บ้านคลองเสลา บ้านใหม่คลองอังวะ และบ้านอีมาดอีทราย ทั้งหมดอยู่ในเขตรอยต่อของผืนป่าตะวันตก เป็น Buffer zone หรือแนวกันชนก่อนเข้าสู่พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

ชาวบ้านกว่า ๑,๐๐๐ คนเป็นชนเผ่ากะเหรี่ยงโปซึ่งเดิมตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณลำห้วยกรึงไกรตอนกลางของเขตฯ ห้วยขาแข้ง กระทั่งเกิดการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทำให้ต้องอพยพลี้ภัย สิ้นเสียงปืนจึงลงหลักปักฐานในถิ่นใหม่ซึ่งเดิมถูกประกาศเป็นพื้นที่สีชมพูและปัจจุบันมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติ

“ยังมีชาวบ้านที่อพยพมาจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ด้วย” บุญช่วย น้ำพุ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๓ เล่าให้ฟัง

ชุมชนกะเหรี่ยงโปตำบลแก่นมะกรูดยังคงยึดมั่นในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม คือนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าวัดหรือผู้นำพิธีกรรมประจำหมู่บ้าน แต่วิถีทำกินเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

อ้วน คลองวะ ชาวบ้านหมู่ ๑ เล่าว่า “เดิมเราทำไร่หมุนเวียน กระทั่ง ๑๐ ปีที่ผ่านมาชาวบ้านเริ่มหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น ทั้งข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม เพื่อป้อนโรงงาน”

ปัจจุบันเริ่มมีการขยับขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว บ้างก็ปรับพื้นที่ไร่หมุนเวียนมาเป็นไร่ถาวร ทำให้การใช้ที่ดินในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป และบ่อยครั้งนำมาสู่ความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ

นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรริเริ่มโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก หรือโครงการจอมป่า (JoMPA-Joint Management of Protected Areas) โดยยึดหลักว่าการจัดการพื้นที่ป่าต้องดำเนินไปอย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้คน ผืนป่า และสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน มูลนิธิสืบฯ รับเป็นคนกลางประสานงานระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ ลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนในป่าทั้งหมด ๑๒๙ ชุมชน กระทั่งเริ่มต้นโครงการระยะที่ ๒ (๒๕๕๓-๒๕๕๗) พื้นที่ตำบลแก่นมะกรูดจึงถูกเลือกเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย

jompa02นริศ บ้านเนิน หัวหน้าภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียรพื้นที่สุพรรณบุรี ให้ข้อมูลว่า “ตำบลแก่นมะกรูดแตกต่างจากพื้นที่อื่นที่เราเคยใช้โมเดลจอมป่า เพราะมีหน่วยงานรัฐเกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ หน่วยทหารพราน ฯลฯ อีกทั้งชาวบ้านเป็นกะเหรี่ยงแทบทั้งหมด พื้นที่นี้เป็นป่ากันชน และเป็นป่าต้นน้ำห้วยแม่ดีหรือคลองอังวะที่ไหลไปในเขตฯ ห้วยขาแข้งผ่านหน้าบ้านคุณสืบ นาคะเสถียร ส่วนหนึ่งไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์”

การทำงานเพื่อแสวงหาแนวทางจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ ร่วมกับชาวบ้านออกสำรวจแนวเขตพื้นที่การเกษตรเพื่อบันทึกพิกัดลงบนแผนที่ ว่าแหล่งที่ทำกินแปลงสุดท้ายของชุมชนสิ้นสุดที่ตรงไหน มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์หรือ GIS มาใช้ร่วมด้วย

ถัดมาจึงวางแผนแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์เป็น ๒ ส่วน คือ พื้นที่ทำกินดั้งเดิมซึ่งทุกฝ่ายตกลงกันว่าจะควบคุมไม่ให้มีการขยายเพิ่มขึ้นโดยเด็ดขาด กับพื้นที่คงสภาพป่าซึ่งจะประสานงานกับกรมป่าไม้และหน่วยทหารพรานจัดตั้งเป็นป่าชุมชนตำบลแก่นมะกรูดเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

ผู้ใหญ่บุญช่วยเล่าถึงแนวทางการดูแลป่าของชุมชนว่ามีการกำหนดข้อห้าม เช่น ห้ามนายทุนเข้าแสวงประโยชน์จากที่ทำกิน ห้ามซื้อ-ขายที่ดิน ห้ามทำรีสอร์ต ห้ามตัดไม้และล่าสัตว์เพื่อการค้า เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าหย่อมป่าแม้ถูกล้อมด้วยที่ทำกินก็จะไม่ถูกบุกเบิกเพิ่ม ขณะเดียวกันชาวบ้านในตำบลแก่นมะกรูดก็จะยังคงอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน