สุเจน กรรพฤทธิ์ : รายงาน
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

anek musuem

มหาอุทกภัยช่วงปลายปี ๒๕๕๔ ส่งผลให้ “บ้านพิพิธภัณฑ์” พิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยตั้งแต่ยุครัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบัน ที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ตกอยู่ในสภาพน้ำท่วมสูงร่วมเดือน

เอนก นาวิกมูล ภัณฑารักษ์บ้านพิพิธภัณฑ์ เล่าว่าต้นเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ เขากังวลกับสถานการณ์น้ำเหนือและตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการขนย้ายสิ่งของจำพวกฟิล์มและของเล่นขึ้นชั้น ๒  ส่วนของที่อยู่ชั้นล่างก็ยกขึ้นในตำแหน่งที่คาดว่าน้ำคงท่วมไม่ถึง

เอนกและครอบครัวอพยพหนีน้ำไปอยู่จังหวัดเพชรบุรีชั่วคราว ด้วยบ้านพักของเขาที่ถนนเพชรเกษม ๔๘ ก็ประสบภาวะน้ำท่วมไม่ต่างกัน

๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๔ น้ำมาถึงจังหวัดนครปฐม และท่วมบ้านพิพิธภัณฑ์สูงระดับเอว  ขณะนั้นเอนกเล่าว่า “ผมใช้เวลาว่างสำรวจวัด ภูเขา ถ้ำ ทะเล มีข้อมูลจำนวนมากที่เก็บมาได้  แน่นอนเรากังวลถึงสถานการณ์ที่บ้านพิพิธภัณฑ์ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”

ปลายเดือนพฤศจิกายน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสส่งทีมข่าวพร้อมเรือท้องแบนพาเขากลับมาสำรวจบ้านพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดมหาอุทกภัย

พอเปิดบานเลื่อนด้านหน้า ภาพที่เห็นคือ “ของจำนวนมากเสียหาย ส่วนมากก็กระป๋อง กล่อง กลัก ตู้ไม้ อีกส่วนคือของเล่นในอดีต เช่น รางลูกดีด ภาพวาด ภาพพิมพ์ชุดกึ่งพุทธกาล พวกนี้ราขึ้นและต้องทิ้งทั้งหมด บางส่วนก็เหลือแค่ภาพถ่ายที่เราถ่ายเก็บเอาไว้ได้” แม้แต่พื้นที่ติดกับบ้านพิพิธภัณฑ์ที่เขาสร้างไว้เป็นโกดังเก็บของ ก็ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน

๒ ธันวาคม เมื่อน้ำลดจนแห้งสนิท เอนกก็เริ่มฟื้นฟูบ้านพิพิธภัณฑ์โดยผู้มีจิตอาสามาช่วยกันทำความสะอาดในวันหยุดสุดสัปดาห์ จากนั้นก็ขนของที่พอจะซ่อมได้ส่งซ่อมทั้งหมด  เขาเล่าแผนฟื้นฟูหลังน้ำลดไว้ว่า “มูลค่าความเสียหายผมคิดว่าสูงมาก ของบางอย่างคงหามาแทนไม่ได้  ส่วนโครงการบ้านพิพิธภัณฑ์ ๒ ที่ ต.งิ้วราย อ.พุทธมณฑล นั้น ผมยังจะเดินหน้าต่อพร้อมกับการฟื้นฟูบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แม้จะไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกกี่ปีจึงสำเร็จ”

เขาสรุปบทเรียนว่ามหาอุทกภัยรอบนี้เกิดจากการบริหารจัดการน้ำผิดพลาด

“สมัยก่อนน้ำไม่เน่า และน้ำจะแผ่กว้าง ไม่ท่วมสูง  แต่ปี ๒๕๕๔ ผิดปรกติ  ที่ตั้งบ้านพิพิธภัณฑ์อยู่ระหว่างคลองมหาสวัสดิ์กับคลองโพธิ์ คลองทั้งสองไม่เคยขุดลอกมานานและมีขยะตกค้าง หลังน้ำท่วมจะต้องฟื้นฟูคลองและใช้ให้คุ้มค่า  รอบนี้มีพิพิธภัณฑ์จำนวนมากเสียหาย ผมพูดมาหลายสิบปีแล้วว่ารัฐบาลควรหาทางรักษาต้นทุน
ทางปัญญาคือสิ่งของเหล่านี้ไว้ ที่ผ่านมาดูแลเฉพาะโบราณสถานแต่ไม่ครอบคลุมหมวดอื่น ๆ  บ้านพิพิธภัณฑ์มีที่เก็บของจำกัดจึงเสียหายมาก โกดังเก็บของตามภาคต่าง ๆ ต้องทำและประกาศรับของมีคุณค่า มันต้องการนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจน  ผมอยากให้คนมีฐานะหรือเอกชนที่อยากทำ CSR แบ่งงบประมาณมาสนับสนุน เพราะที่ผ่านมาประชาชนช่วยด้วยการบริจาคของเก่ามานานแล้ว”

เขาทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ยัง “จะทำงานต่อไปเท่าที่จะมีกำลังเหลือ”