จำไม่ได้เลยว่าหัดใช้ตะเกียบเป็นตอนอายุเท่าไร แต่เมื่อเป็นลูกหลานเชื้อสายจีนก็เดาว่าแม่น่าจะสอนมาตั้งแต่เล็กๆ พอโตขึ้นเวลาไปกินก๋วยเตี๋ยวกับกลุ่มเพื่อน ใครใช้ตะเกียบคล่องหรือไม่ ก็พอเดาได้ว่ามาจากครอบครัวจีนไหม แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบางคนลูกหลานจีนก็จริงแต่ใช้ตะเกียบไม่คล่องก็มี

ตะเกียบ - จากบรรณาธิการ ฉบับที่ 480

ตะเกียบมีประวัติความเป็นมายาวนานมาก หลักฐานว่าตั้งแต่ราว ๕,๐๐๐ ปีก่อนเลยทีเดียว แต่ใช้เป็นอุปกรณ์ทำครัว สำหรับคนหรือคีบอาหารในหม้อต้มใบใหญ่ ส่วนตะเกียบกินอาหารพบหลักฐานเป็นโบราณวัตถุอายุราว ๓,๐๐๐ ปี ทำด้วยทองเหลือง และยังมีบันทึกถึงการใช้ตะเกียบของจักรพรรดิจีนสมัยนั้นด้วย มีข้อสันนิษฐานว่าตะเกียบเริ่มแพร่หลายในยุคนั้นเพราะประชาการจีนเพิ่มมากขึ้นจนต้องหาวิธีประหยัดฟืนทำครัว โดยหั่นวัตถุดิบเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งจะสุกง่ายขึ้น และตะเกียบก็เหมาะพอดกับการใช้คีบอาหารชิ้นเล็กๆ ยิ่งต่อมาเมื่อคนจีนรู้จักทำเส้นหมี่ราว ๒,๐๐๐ ปีก่อน ก็ไม่ต้องสงสัยว่าตะเกียบจะยิ่งเป็นที่นิยม

อุปกรณ์กินอาหารตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมีแค่ไม่กี่อย่าง หนึ่ง มือ สำหรับหยิบ-จับ-ฉีก อาหารแข็ง สอง ช้อน สำหรับตักอาหารอ่อนหรือเหลว ซึ่งสองอย่างนี้น่าจะเก่าแก่ที่สุดและพบในทุกอารยธรรมทั่วโลก และสาม มีด สำหรับหั่นอาหารให้เป็นชิ้นเล็ก

ส้อมน่าจะมาหลังสุด คือประมาณ ๑,๖๐๐ ปีก่อนในจักรวรรดิไบแซนไทน์หรือโรมันตะวันออก หลังจากนั้นใช้เวลาอีกหลายร้อยปีกว่าจะแพร่หลายไปถึงยุโรปจนกลายเป็นอุปกรณ์คู่กับมีด แทนการใช้มือจับอาหารที่ตัดแล้ว โดยเฉพาะชาวอิตาลีใช้ส้อมม้วนกินพาสต้าจนเป็นวัฒนธรรมบนโต๊ะอาหาร เช่นเดียวกับที่คนจีนใช้ตะเกียบคีบเส้นหมี่และกินอาหารทุกอย่าง

ความเรียบง่ายของแท่งไม้เรียวยาวสองอัน ทำให้ตะเกียบเป็นอุปกรณ์ที่น่าทึ่งมากๆ

ใครจะคิดว่าเราสามารถถือวัตถุยาวๆ สองชิ้นด้วยมือข้างเดียว (เทียบกับการจับช้อน ส้อม มีด ซึ่งเป็นวัตถุชิ้นเดียว) แล้วใช้ส่วนปลายที่อยู่ห่างออกไปจากมือคีบอาหาร ไม่ว่าชิ้นใหญ่หรือเล็ก กลมหรือยาว หนักหรือเบา ยกขึ้นมาเข้าปากได้อย่างง่ายดาย

การร่วมกันอย่างเหมาะเจาะของคู่หยินหยาง ทำให้ตะเกียบแฝงพลังที่ทำงานได้อย่างสมดุลและดีงามจนเหลือเชื่อ

ตามหลักเต๋า สรรพสิ่งทุกอย่างประกอบด้วยหยินและหยาง แม้จะมีคุณสมบัติตรงข้ามกัน อ่อนกับแข็ง เย็นกับร้อน นิ่งกับเคลื่อนไหล แต่ทั้งคู่ต้องพึ่งพากันเพื่อให้อยู่ในสภาวะสมดุล ถ้าอย่างใดมากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็จะเกิดปัญหา

ขงจื๊อ นักคิดคนสำคัญของจีนและของโลก มีชีวิตอยู่ปลายยุคสงครามวุ่นวายระหว่างรัฐราว ๒,๕๐๐ ปีก่อน เขาสนับสนุให้คนจีนใช้ตะเกียบ เพราะไม่ชอบมีดบนโต๊ะอาหาร เขาเห็นว่ามีดคมๆ เป็นตัวแทนของอาวุธและความรุนแรง ขณะที่ตะเกียบปลายทื่อเป็นตัวแทนของสันติภาพและความสุขในครอบครัว ขงจื๊อยังเป็นผู้เสนอหลัก “มนุษยธรรม” ในการปกครองบ้านเมืองด้วยคุณธรรมและความรักต่อประชาชน

งานวิจัยใหม่ๆ พบว่าการฝึกให้เด็กเล็กๆ ใช้ตะเกียบคีบอาหารเป็น ยังช่วยพัฒนาสมองส่วนการคิดและวางแผน ฝึกความอดทนและการควบคุมตนเอง รวมถึงพัฒนาความจำและการเรียนรู้

ชวนให้คิดถึงความรักความอบอุ่นที่ยังเห็นได้บนโต๊ะอาหาร เวลาพ่อหรือแม่สอนให้ลูกใช้ตะเกียบ หรือช่วยคีบอาหารให้ลูกเล็กๆ ที่ยังใช้ตะเกียบไม่คล่อง

ฉบับนี้ สารคดี ขึ้นปีที่ ๔๑ ถือโอกาสชวนคนอ่านมากินอาการเส้นอร่อยๆ เพื่อการมีอายุยืนยาว และเวลาจับตะเกียบคีบเส้นก็อย่าลืมคิดถึงความสุขและสมดุลในชีวิตตามหลักหยินหยางด้วยนะครับ

สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ
บรรณาธิการบริหารนิตยสาร สารคดี